ความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น พบบ่อยในกรณีลูกหนี้โอนทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่น แต่ในความผิดข้อหานี้ มิใช่เพียงว่าลูกหนี้ โอนย้ายทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่นแล้ว จะเป็นความผิดเสมอไป แต่ยังมีบริบท พฤติการณ์ และเจตนาของจำเลย ที่ศาลจะต้องพิจารณาประกอบเพื่อวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่
วันนี้ผมรวบรวมคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศาลยกฟ้อง ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โดยแบ่งแยกเป็นประเด็น รวมเป็น 13 ประเด็น เพื่อใช้เป็นคู่มือในการทำงานและเตรียมคดีของทนายความ โดยหากท่านเป็นฝ่ายโจทก์ ก็ต้องหาทางอุดช่องว่างดังกล่าว และหากเป็นฝ่ายจำเลย จะต้องอ้างอิงข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อประกอบการตั้งรูปต่อสู้คดีครับ
ตัวบท ความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประเด็นข้อต่อสู้ คดีโกงเจ้าหนี้ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา มี 13 ข้อดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง “ไม่มีหนี้อยู่จริง”
องค์ประกอบของการกระทำผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ ข้อแรกคือ “ต้องมีหนี้อยู่จริงระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้” ถ้าปรากฎว่า มูลหนี้ทางแพ่งระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นไม่มีอยู่จริง เป็นหนี้ที่เป็นโมฆะ หนี้ที่เกิดจากนิติกรรมอำพราง เป็นหนี้เงินกู้ที่ไม่มีการส่งมอบเงินกู้กันจริง เป็นสัญญาปลอม เอกสารปลอม ศาลก็จะต้องยกฟ้อง
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น
ฎ.93/2507 ฟ้องคดีแพ่ง และปรากฎว่าศาลยกฟ้องในคดีแพ่ง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ดังนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.3527/2526 การได้สิทธิด้วยการครอบครองปรปักษ์ เป็นผลของกฎหมาย ไม่ได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างผู้ครอบครองกับผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ดังนั้นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน โอนโฉนดให้บุคคลอื่น จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.1625/2531 จำเลยที่ 1. ยืดทรัพย์มารดาโจทก์ไว้ โจทก์ร้องขอขัดทรัพย์ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของโจทก์ ศาลไต่สวนแล้วยกคำร้อง โจทก์ก็ยังไปยื่นฟ้องคดีแพ่งกับจำเลยที่ 1 และพวก เป็นเรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหาย แบบเห็นได้ชัดเจนว่า คดีแพ่งของโจทก์ไม่มีมูล เป็นการกลั่นแกล้งฟ้อง และศาลยังไม่มีคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดิน ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้
2893/2547 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ในเบื้องต้นต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อยู่ก่อน แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ยังมิได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง มิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินและตึกแถวที่เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างพี่น้องในส่วนของ ด. เป็นสิทธิในทรัพยสิทธิ มิใช่สิทธิในฐานะเป็นเจ้าหนี้อันเป็นบุคคลสิทธิ สิทธิของโจทก์ดังกล่าวมีอยู่อย่างไรย่อมไม่หมดไป เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แม้จำเลยที่ 1 ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วได้โอนที่ดินและตึกแถวให้แก่จำเลยที่ 2 ไป ในราคาต่ำก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
ฎ.1552/2526 โจทก์เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของ ท. บิดา พ. จำเลยเป็นภริยาและเป็นผู้จัดการมรดกของ พ. เจ้ามรดก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ ท. อันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ พ. ที่ตกได้แก่ บุตรผู้เยาว์ของจำเลย จึงเป็นนิติกรรมที่ต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574(8) และไม่มีผลบังคับถึงมรดกของ พ. ทั้งหมดที่ตกได้แก่ทายาท จึงไม่มีสิทธิของ ท. อันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวอันจะพึงตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมของ ท. ดังนั้น โจทก์ไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลย และไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ได้
ฎ.6432/2544โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับ น. เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย ก็ไม่มีสิทธิการเช่าตกทอดเป็นมรดกแก่โจทก์ที่ 2 ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ขาดองค์ประกอบความผิดที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งรับโอนสิทธิการเช่าต่อมาจากจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 350
ฎ.4864/2562 (ประชุมใหญ่)จำเลยที่ 1 โอนขายหุ้นชุดของตนก่อนวันที่ศาลจังหวัดพิพากษาคดีแพ่งเพียง 1 วัน แล้วยักย้ายถ่ายเทหรือย้ายไปเสียซึ่งเงินที่ได้จากการขายห้องชุดดังกล่าว เป็นการส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 อาจมีเจตนาพิเศษเพื่อว่าเมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์จะไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่เมื่อคดีแพ่งที่โจทก์อ้างเป็นมูลเหตุฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาเรื่องนี้ถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาได้พิพากษาว่า จำเลยมิได้ผิดสัญญาซื้อขายหุ้นกับโจทก์จึงไม่ต้องคืนเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์และพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์มีผลให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน เท่ากับโจทก์และจำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้กัน ดังนี้ ก็ไม่อาจมีการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 350
ทั้งนี้ ในเรื่องหนี้ในเรื่องนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นหนี้เงิน อาจจะเป็นหนี้อื่นเช่น เช่นหนี้การโอนที่ดินก็ได้ ตามนัย ฎ.775/2518 (ประชุมใหญ่) ฎ.256/2517 ศาลมีคำพิพากษาให้โอนที่ดินกลับคืนให้โจทก์ แล้วจำเลยโอนที่ดินหนี ก็เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ประเด็นที่สอง “หนี้ไม่สามารถฟ้องบังคับได้ “
หากหนี้ดังกล่าวมีอยู่จริง แต่เป็นหนี้ที่ไม่สามารถฟ้องบังคับตามกฎหมายได้ เช่น เป็นหนี้ค่ายาเสพติด หนี้การพนัน หรือหนี้เงินกู้เงินเกินกว่า 2,000 บาท และไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง หรือเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน และยังไม่ถึงกำหนดเงื่อนไข
หนี้เช่นนี้เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องบังคับทางแพ่งได้อยู่แล้ว ดังนั้นถึงลูกหนี้โอนทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่น ก็ไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ฎ.1406/2512 เจ้าหนี้เงินกู้เงินเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด และไม่มีหลักฐานการกู้ยืมนั้น ไม่สามารถฟ้องบังคับคดีเอากับลูกหนี้ได้ ดังนั้นการที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินไป จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.3204/2528 ทำสัญญากันว่า โจทก์ชำระเงินครบแล้ว จำเลยจะโอนที่ดินและตึกให้บุตร โจทก์ชำระยังไม่ครบตามกำหนด สิทธิของโจทก์ที่จะให้จำเลยโอนที่ดินและตึกให้ จึงยังใช้บังคับไม่ได้ ดังนั้นจำเลยโอนที่ดินให้บุคคลอื่น จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.3120/2559 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องไปทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 8,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายยังมิอาจบังคับกันได้ โจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนที่ดิน 3 แปลงใน 15 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ประเด็นที่สาม “หนี้มีข้อโต้แย้งอยู่” ยังไม่เป็น “หนี้ที่แน่นอน”
ถ้าหนี้ดังกล่าว ลูกหนี้ยังมีข้อโต้แย้งกับเจ้าหนี้อยู่ ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าลูกหนี้จะต้องรับผิดตามกฎหมาย หรือจะต้องชำระหนี้ดังกล่าวให้กับเจ้าหนี้หรือไม่ ถึงเจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ลูกหนี้โอนทรัพย์สินไป และไม่ใช่เป็นการโอนทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควร หรือส่อเจตนาว่าจะหลบเลี่ยงไม่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ก็ไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ฎ.1675/2532 เมื่อถูกฟ้อง จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้หรือไม่ยังโต้เถียงกันอยู่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350.
ฎ.3107/2532 โจทก์ฟ้องคดีแพ่งขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายต้นยางพาราหรือให้คืนเงินมัดจำและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยให้การว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ จึงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยหรือไม่
ฎ.10314/2550 คดีแพ่งดังกล่าวยังโต้เถียงกันถึงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ย่อมไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามความหมายของมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่จะฟ้องจำเลยทั้งสาม ฟ้องโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350
ฎ.6304/2539 แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลยที่ 3กับพวก แต่จำเลยที่ 3 ก็ให้การต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดเมื่อขณะจำเลยที่ 3 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินเท่าใด และยังไม่แน่นอนว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 3 หรือไม่ การโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เป็นการโอนโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อไป จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.1435/2531 โจทก์ฟ้องบริษัท ร. ที่จำเลยทั้งสิบเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในฐานะนายจ้างรับผิดร่วมกับลูกจ้างของบริษัทที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล การที่จำเลยเรียก ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ร.ย้ายสำนักงานแห่งใหญ่ไปอยู่จังหวัดอื่น ดำเนินการชำระบัญชีเลิกกิจการและแบ่งทรัพย์สินของบริษัท และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดว่า ได้ส่งแจ้งความถึงเจ้าหนี้ทุกคนของบริษัทเพื่อขอรับชำระหนี้ในการเลิกบริษัทแล้ว โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบก็ดี เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดีแพ่งก่อนโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ร.อย่างแท้จริง จึงยังไม่แน่นอนว่าโจทก์กับบริษัท ร. จะมีหนี้ต่อกันหรือไม่ และข้อความที่จำเลยที่ 1แจ้งต่อนายทะเบียนก็มิใช่ข้อความเท็จ โจทก์ยังไม่ใช่ผู้เสียหายคดีไม่มีมูลความผิดฐานโกงเจ้าหนี้และฐานแจ้งความเท็จ
อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งดังกล่าวของลูกหนี้ ก็ควรมีเหตุหรือมีน้ำหนักให้พอฟังขึ้นด้วย มิเช่นนั้น ลูกหนี้คงจะอ้างอย่างเดียวว่าหนี้มีข้อโต้แย้ง ไม่เป็นความผิด และโอนทรัพย์สินหนีไป
ถ้าหนี้ดังกล่าว แทบจะไม่มีข้อโต้แย้งได้ตามเหตุผลเลย แต่ลูกหนี้ก็ยังโต้แย้ง และนิติกรรมการโอนนั้น มีลักษณะผิดปกติ เช่น การให้โดยเสน่หา หรือโอนต่ำกว่าราคาปกติมาก ก็ส่อแสดงเจตนาว่าตั้งใจโอนไม่ให้โจทก์รับชำระหนี้ ก็ถือว่าเป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ฎ.6761/2544 แม้คดีแพ่งจะยังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ตาม ถือว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วจึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350
ฎ.12250/2557 โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.16070-16072/2555 ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว
ประเด็นที่สี่ “เจ้าหนี้ยังไม่ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิทางศาล”
ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎว่า เจ้าหนี้ยังไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องคดี หรือยังไม่คิดจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล ถึงแม้ลูกหนี้จะโอนทรัพย์สินไประหว่างเวลาดังกล่าว ก็ไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น
ฎ.918/2467 ลูกหนี้ขายช้างเสียระหว่างเจ้าหนี้ทวงหนี้ โดยยังไม่ปรากฎว่าเจ้าหนี้คิดจะฟ้อง ยังไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.2899/2543 ก่อนจำเลยจะโอนขายที่ดินให้บุคคลอื่น โจทก์ยังไม่ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้จะใช้สิทธิทางศาล การที่จำเลยโอนที่ดินไป จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ถึงแม้ว่าจำเลยจะเป็นหนี้โจทก์จริงก็ตาม โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่
ฎ.392/2506 ฟ้องโจทก์ไม่ระบุว่า ในการที่ขายที่ดินนั้น จำเลยได้ทำโดยรู้ว่าเจ้าหนี้จะใช้หรือได้ใช้สิทธิทางศาลเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด
ฎ.184/2541 ฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่า ขณะที่จำเลยโอนที่ดินนั้น โจทก์มีความประสงค์จะใช้หรือได้ใช้สิทธิทางศาลไปแล้ว ดังนั้นการที่จำเลยโอนที่ดินไปจึงไม่เปก็นความผิด
ฎ.1054/2507 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 นั้น เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิทางศาลให้ชำระหนี้แล้วอย่างหนึ่ง หรือว่าจะใช้สิทธิทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกอย่างหนึ่งเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ฉะนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยังไม่ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง หรือการที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีอาญา ก็เพียงเพื่อให้ลูกหนี้หาประกันมาให้เจ้าหนี้เป็นที่พอใจแล้วจะไม่เอาเรื่องแก่ลูกหนี้ อันเป็นการแสดงว่าเจ้าหนี้ยังจะไม่ใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว การที่ลูกหนี้โอนที่ดินให้ผู้อื่นไป จึงยังไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.2976/2524 บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 เนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้และได้ยักย้ายถ่ายเทเอาทรัพย์อันเป็นหลักประกันไปเสีย แม้จะมีข้อความว่าเพื่อมิให้โจทก์จะได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้ได้ก็ตาม แต่เมื่อมิได้บรรยายว่า จำเลยได้กระทำไปโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ย่อมขาดองค์ประกอบแห่งความผิด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ฎ.2220/2533ที่ทนายโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เท้าความถึงกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายได้เพราะมีเหตุขัดข้องเนื่องมาจากฝ่ายจำเลยที่ 1 และตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า “หากไม่ได้รับการติดต่อนัดหมายโอนที่ดินดังกล่าวภายใน 7 วัน… ข้าพเจ้าก็มีความเสียใจที่จะดำเนินการกับท่านตามกฎหมายต่อไป…” นั้น หนังสือดังกล่าวก็ไม่มีข้อความหรือไม่อาจแปลได้ว่าโจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำพร้อมกับเรียกค่าเสียหาย จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมกับชดใช้ค่าเสียหาย
ประเด็นที่ห้า “ลูกหนี้ยังไม่รู้ว่าเจ้าหนี้ใช้หรือจะใช้สิทธิทางศาล”
ถ้าเจ้าหนี้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิทางศาลแล้ว แต่ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงในคำฟ้องหรือทางนำสืบของฝ่ายโจทก์ว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะสิทธิทางศาล การที่จำเลยโอนทรัพย์สินไประหว่างนั้น ก็ไม่มีความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น
ฎ.5175/2547 ในวันตามฟ้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุตามฟ้อง จึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันโอนทรัพย์โดยรู้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ทั้งนี้เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
ฎ.288/2515 คำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่บรรยายแต่เพียงว่าโจทก์มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเท่านั้น กับทั้งมิได้บรรยายว่าจำเลยได้กระทำไปโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตน หรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ย่อมเป็นฟ้องที่ขาดสารสำคัญแห่งองค์ประกอบความผิด
ฎ.4065/2524 โจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จำเลยได้โอนขายที่ดินตามโฉนดฉบับที่จำเลยนำไปมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ โดยรู้อยู่ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของตนได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้ อันเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ฎ.1880/2538 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่1ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา350อ้างว่าจำเลยที่1ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินให้โจทก์แล้วกลับนำไปขายให้แก่บุคคลอื่นเพื่อมิให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาได้รับชำระหนี้ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเอากับจำเลยที่1ได้มิได้บรรยายว่าจำเลยที่1ได้กระทำไปโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ย่อมเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญแห่งองค์ประกอบของความผิดเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5)และเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ฎ.2976/2524 บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 เนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้และได้ยักย้ายถ่ายเทเอาทรัพย์อันเป็นหลักประกันไปเสีย แม้จะมีข้อความว่าเพื่อมิให้โจทก์จะได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้ได้ก็ตาม แต่เมื่อมิได้บรรยายว่า จำเลยได้กระทำไปโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ย่อมขาดองค์ประกอบแห่งความผิด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ฎ.3135/2529 ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยได้กระทำการโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม มาตรา 350
ฎ.5590/2536 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทวงถามและจำเลยรู้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยขนย้ายทรัพย์ไปเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือไม่ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ประเด็นที่่หก “โอนทรัพย์ที่เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้”
ถ้าทรัพย์ที่ลูกหนี้ โอน ยักย้าย ถ่ายเท ไปนั้น เป็นทรัพย์ที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับเอากับลูกหนี้ได้อยู่แล้ว หรือไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็น กรรมสิทธิของลูกหนี้ การที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินดังกล่าวให้บุคคลอื่น ก็ไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ เช่น โอนที่ดิน สปก. โอนสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ฎ.1110/2507 การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันในศาลยินยอมรับผิดจำกัดการชำระหนี้ตามคำพิพากษาเฉพาะทรัพย์ที่เอามาแสดงวางประกันต่อศาล ในเมื่อจำเลยในคดีแพ่งนั้นไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หาได้ยินยอมให้ผูกพันถึงทรัพย์อื่นของตนด้วยไม่ เช่นนี้ เมื่อจำเลยได้โอนที่ดินแปลงอื่น ๆ ของตนไปให้แก่ผู้ใด จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ฎ.2220/2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดิน 1 แปลงจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 1โอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงอื่นของตนจำนวน 3 แปลง ให้จำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงอื่นให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 เพราะหนี้ที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์นั้น เป็นเรื่องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงซึ่งระบุไว้ในสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับที่ดินจำนวน3 แปลงที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2
ฎ.1736-1737/2503 โจทก์ฟ้องคดีอาญาหาว่าจำเลยทุจริตโอนรถยนต์ให้ผู้มีชื่อไปโดยเจตนาไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แล้วฟ้องจำเลยกับผู้รับโอนรถยนต์เป็นจำเลยคดีแพ่งขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์ด้วย ดังนี้ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยเป็นแต่ผู้เช่าซื้อรถยนต์มาแล้วจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจึงโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์นั้นให้แก่ผู้รับโอนซึ่งชำระเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจนครบ โดยผู้รับโอนเป็นเจ้าหนี้จำเลยซึ่งกู้เงินไปชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์นั้นเองด้วย ดังนี้จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องและจะบังคับให้เพิกถอนการโอนก็ไม่ได้ เพราะจำเลยเป็นแต่ผู้เช่าซื้อ หากเพิกถอนได้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องโอนกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อตามเดิม
ฎ.2745/2523 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นผู้ครอบครองที่ดินซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิครอบครองอันจะนำไปโอนให้แก่จำเลยที่ 3 หรือบุคคลอื่นได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350
ฎ.4225/2559 แม้จำเลยมีภาระผูกพันที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินคืนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ แต่การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ น. และ จ. ซึ่งที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลยหรือของบิดาจำเลย จึงมิใช่การโอนไปซึ่งทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 350 ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.1073/2511 จำเลยจำนองที่ดินไว้กับโจทก์. ต่อมาจำเลยนำที่ดินนั้นไปขายฝากผู้อื่นแล้วปล่อยให้ที่ดินหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นไป. การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350. เพราะการโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้ผู้อื่นซึ่งจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายมาตรานี้. จะต้องเป็นการโอนไปเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน. แต่ที่ดินที่จำเลยโอนให้ผู้อื่นไปด้วยการขายฝากนั้นเป็นที่ดินที่จำเลยจำนองไว้กับโจทก์. การจำนองย่อมผูกพันทรัพย์สินที่จำนอง. ถึงแม้จะมีการโอนไปผู้รับโอนก็ต้องรับภารจำนองไปด้วย. โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง. มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังผู้อื่นแล้วหรือหาไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702วรรคสอง. การโอนที่ดินที่จำนองให้แก่ผู้อื่นไม่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้จำนอง. โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายแต่ประการใด.
ฎ.4196/2558 ทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนไปให้ผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น หมายถึงทรัพย์ใด ๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการโอนไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า 2 ฉบับ ฉบับแรกว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 แปรสภาพหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรที่นำมาจำนำแก่องค์การคลังสินค้าเป็นแป้งมันสำปะหลัง ฉบับที่สองเป็นสัญญาเก็บแป้งมันสำปะหลังที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยองค์การคลังสินค้าเป็นผู้ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นสัญญาฝากทรัพย์ ดังนั้นแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 แปรสภาพแล้วเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การคลังสินค้า หาใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ไม่ ทั้งองค์การคลังสินค้าได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อหายักยอก แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันนำเอาแป้งมันสำปะหลังที่เก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปขาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ทั้งแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำไปขายก็มิใช่ทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ใช่การทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือสูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด เพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 187
ฎ.268/2521 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบ้านที่จำเลยที่ 1 นำมาระบุไว้เป็นประกัน ในการกู้เงินจากโจทก์มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 โอนบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทำให้โจทก์เจ้าหนี้ ของจำเลยมิได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ (วรรคแรก วินิจฉัย โดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2519)
ฎ.5222/2557 จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 47526 จำเลยที่ 1 เพียงมีชื่อในโฉนดแทนโจทก์เท่านั้น เมื่อธนาคาร ก. มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองที่ดินดังกล่าว ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 มีการติดต่อระหว่างจำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้ธนาคารดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์และมีสิทธิที่จะยึดที่ดินดังกล่าวมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แต่ที่ดินติดจำนองอยู่กับธนาคาร ก. ซึ่งจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ก็ต่อเมื่อธนาคารดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้จำนองได้รับชำระหนี้เงินกู้จากโจทก์ครบถ้วนแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ต้องเข้าชำระหนี้เงินกู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 และขอรับโอนที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยปลอดจำนองจากธนาคารเป็นการตอบแทน ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 จึงเป็นกระบวนการในการชำระหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดเพราะเป็นการโอนที่ดินของโจทก์ชำระหนี้ของโจทก์เอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350
ประเด็นที่เจ็ด “ยังเหลือทรัพย์สินอื่นให้เจ้าหนี้บังคับคดีได้”
ถ้าลูกหนี้ได้โอนทรัพย์สินไปให้กับบุคคลอื่น แต่ปรากฎว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นๆที่ เหลือเพียงพอกับการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์สินส่วนอื่นที่เหลือได้ การกระทำของลูกหนี้ย่อมไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ฎ.3107/2532 แม้หากจะฟังว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์ตัดโค่นต้นยางพาราตามสัญญาได้ก็ตาม โจทก์ก็ยังต้องชำระเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยตามสัญญาอยู่ดี โจทก์จะได้ผลประโยชน์หรือเป็นเจ้าหนี้เพียงไม่เกินจำนวนตามที่โจทก์ขอเป็นค่าเสียหายตามคำขอท้ายฟ้องซึ่งเมื่อรวมกับเงินมัดจำที่จะได้คืนแล้ว ก็ยังน้อยกว่าทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ การที่ภายหลังจำเลยขายที่ดินและต้นยางพาราให้บุคคลอื่น จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันจะมีมูลความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.2900/2532 ป. กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ร่วม โดยจำนองที่ดิน 7 แปลงเป็นประกันหนี้ และจำนำพืชไร่กับโจทก์ร่วมโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้ ต่อมา ป. ถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นภรรยา ป. จึงเข้าดำเนินกิจการค้าแทนและได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. โจทก์ร่วมทวงถามหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองกับจำเลย ต่อมาจำเลยโอนขายที่ดินซึ่งจำนอง 2 แปลงให้บุคคลภายนอก และโอนทะเบียนรถยนต์จากชื่อ ป. เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนซึ่ง ป. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ดังนี้ การที่จำเลยขายที่ดิน 2 แปลง โดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนทำธุรกิจการค้าเพื่อใช้หนี้ของ ป. และใช้เป็นทุนเลี้ยงดูบุตรของ ป.4 คน นับว่ามีเหตุผลสมควร ทั้งโจทก์ก็ยังมิได้บังคับชำระหนี้จากที่ดินจำนอง จึงยังไม่แน่ชัดว่าไม่เพียงพอชำระหนี้หรือไม่ สำหรับรถยนต์แม้จะโอนทะเบียนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน โจทก์ร่วมก็สามารถบังคับคดีได้ตลอดเวลา นอกจากนี้จำเลยเคยติดต่อให้โจทก์ร่วมขายพืชไร่ที่ ป. จำนำและโอนขายหุ้นของ ป. เพื่อชำระหนี้ แสดงว่าจำเลยมีความสนใจและตั้งใจชำระหนี้ ดังนั้นพฤติการณ์ของจำเลยยังไม่พอฟังว่ามีเจตนาโอนทรัพย์ให้ผู้อื่นเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ฎ.1892/2541 หากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเพียงประมาณ80,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 มีสินทรัพย์ 107,701,733.41 บาทหากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่งดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ยังมีสินทรัพย์พอชำระหนี้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 4 มิใช่มีเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งหกไม่มีมูลความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ฎ.680/2562 เหตุที่โจทก์ขอยึดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นเลขที่ 28/15 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดก็เพื่อบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันฟ้อง กับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหนึ่งเท่านั้น แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ผู้กระทำยังต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนด้วย เมื่อปรากฏว่าขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นดังกล่าว โจทก์คงมีสิทธิได้ค่าเสียหายต่าง ๆ และต่อมาขอรับเงินไปเพียง 478,918.72 บาท ยังมีเงินเหลือที่จะต้องคืนแก่จำเลยที่ 1 กว่า 600,000 บาท ดังนั้นในวันที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอีกแปลงหนึ่งพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นอีกหลังหนึ่งเลขที่ 28/13 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพียงพอต่อการชำระค่าเสียหายพร้อมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทั้งหมดแก่โจทก์อยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองยังถือไม่ได้ว่ามีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้
ฎ.5072/2533 โค 5 ตัวที่โจทก์นำยึดมาเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์นั้นมีราคามากกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้จำนอง จึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้ทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนแต่อย่างใด จำเลยที่ 1จึงไม่ได้กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้.
ประเด็นที่แปด “โอนไปก่อนจะถูกฟ้องคดี หรือหนี้ก่อนถึงกำหนด “
ถ้าปรากฎว่าลูกหนี้ได้โอนทรัพย์สินไป ก่อนเจ้าหนี้จะได้ใช้หรือจะสิทธิทางศาล หรือก่อนหนี้ดังกล่าวจะถึงกำหนด ถึงแม้จะมาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนภายหลัง ย่อมไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ฎ.778/2534 การโอนรถทางทะเบียนนั้น เป็นเพียงหลักฐานเพื่อแสดงว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิใช้รถซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมการใช้รถ ตามนัย พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6,17 เท่านั้นมิใช่เป็นหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโอนรถไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2528ภายหลังการยึดหนึ่งวัน และนำสืบเพียงว่า วันที่ 17 มกราคม2528 เป็นเพียงการโอนทางทะเบียน มิใช่โอนกรรมสิทธิ์ในตัวรถเช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในรถคันที่โจทก์ฟ้องไปก่อนการยึดแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะเพิ่งโอนทะเบียนรถไปหลังจากการยึด 1 วัน ก็เป็นเพียงโอนทางทะเบียน มิใช่โอนกรรมสิทธิ์ในตัวรถ ดังนั้นจำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350.
ฎ.158/2506 ขายฝากไว้ก่อนจะเกิดหนี้ ภายหลังสละสิทธิขายฝาก กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ทำสัญญาขายฝากแล้ว การสละสิทธิไถ่ถอนการขายฝาก ไม่ใช่เป็นการย้ายหรือซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นหรือแกล้งให้ตนเป็นหนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ฎ.123/2523 จำเลยที่ 1 ออกเช็ค 18 ฉบับรวมเป็นเงิน 640,000 บาท สั่งจ่ายเงินโดยไม่ลงวันที่สั่งจ่ายเงินทุกฉบับ บางฉบับออกก่อนและบางฉบับออกภายหลังที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินและบ้านให้จำเลยที่ 2 โดยตกลงกันว่า ถ้าโจทก์ต้องการใช้เงินให้บอกให้ จำเลยที่ 1 ทราบ เพื่อโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีโจทก์เรียกเก็บเงิน ภายหลังจากจำเลยที่1 โอนที่ดินและบ้านให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่1 ออกเช็คชำระหนี้ โจทก์ก็ยอมรับไว้และนำเช็คทั้งหมดมาลงวันที่นำไปเข้าบัญชีโจทก์เรียกเก็บเงิน เช็คทั้ง18 ฉบับ ถึงกำหนดชำระเงินภายหลังจากจำเลยที่ 1 โอนที่ดินและบ้านให้จำเลยที่ 2 ดังนี้ ยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงโอนที่ดินและบ้านให้ให้จำเลยที่ 2 เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ และการที่ตกลงกันว่า ถ้าโจทก์ต้องการใช้เงินให้บอกให้จำเลยที่ 1 ทราบ เพื่อโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินนั้น เป็นการแสดงว่าโจทก์ยังจะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ คดีไม่มีมูลความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ฎ.755/2518 ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้มีทรัพย์สินมากพอที่จะชำระหนี้ค่าเสียหายให้โจทก์ได้ แม้หนี้สินอื่นที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนมาก จำเลยก็ชำระให้โดยไม่บิดพลิ้ว การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์นั้น เป็นเพราะโจทก์กับจำเลยแปลความในสัญญากันคนละทาง มิใช่เพราะมีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ และจำเลยที่ 3 ผู้รับซื้อที่ดินนั้นไว้ ก็ย่อมไม่มีความผิดทางอาญาดุจกัน (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2517 และครั้งที่ 2/2518)
ประเด็นที่เก้า “ขาดเจตนาพิเศษ”
การโอนหนี้ของลูกหนี้ของจะต้องมีเจตนาพิเศษ คือต้องการให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ หากปรากฎว่าลูกหนี้โอนย้ายถ่ายเททรัพย์สินขณะเป็นหนี้จริง แต่ทำไปโดยมีเจตนาสุจริต หรือตามปกติธุระของตน ไม่มีเจตนาจะให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ก็ไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ฎ.1241/2531 จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแบ่งมรดกให้โจทก์ร่วม 1 ใน 6 ส่วน คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยขายที่ดินมรดกไปเพราะการรังวัดแบ่งแยกที่ดินระหว่างทายาทไม่สามารถแบ่งกันได้ โจทก์ร่วมขอแบ่งเงินที่ได้จากการขาย จำเลยไม่ให้อ้างว่ารอให้คดีถึงที่สุดก่อน จำเลยนำเงินจากการขายที่ดินไปรับจำนองที่ดินอื่นเพื่อหารายได้ให้แก่กองมรดก ทั้งที่ดินที่จำนองมีราคาสูงกว่าจำนวนเงินที่จำนอง จำเลยกระทำไปในนามของผู้จัดการมรดกโดยความเห็นชอบของทายาทอื่น และไม่ปรากฏว่ากระทำไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
5073/2533 ดิมห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หลังจากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามกับ จ. ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเข้าหุ้นส่วนเดิมโดยให้จำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการ และถอนเงินลงหุ้นออกไปโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทน ให้จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีหนี้สินและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำเลยที่ 1ต้องการเลิกห้างหุ้นส่วน แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องการดำเนินกิจการต่อ จำเลยที่ 1 กับ จ. กับ จ. จึงถอนหุ้นออกจากการเป็นหุ้นส่วนโดยไม่มีการถอนเงินลงหุ้นไปจริงเพราะห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ไม่มีเงินเหลืออยู่เลย ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ถอนหุ้นจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.1300/2539 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้จะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีปรากฎว่าท. ยอมรับว่าเคยกู้เงินจากจำเลยและยังค้างชำระหนี้อยู่ใกล้เคียงกับจำนวนตามที่จำเลยฟ้องจริงแสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าหนี้อยู่จริงเมื่อไม่ปรากฎพฤติการณ์ระหว่างจำเลยกับป. อันส่อเจตนาเพื่อมิให้กรมตำรวจในฐานะเจ้าหนี้ของป. ได้รับชำระหนี้แล้วการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.1181/2505 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 นั้น การโอนทรัพย์ต้องประกอบด้วยเจตนา เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นประการสำคัญด้วย
การที่ลูกหนี้เลิกห้างเดิมและขยายกิจการตั้งบริษัทขึ้นใหม่มีทุนมากขึ้นนั้น ยังถือไม่ได้ว่าลูกหนี้มีเจตนาย้ายหรือโอนทรัพย์เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
ฎ.411/2508 จำเลยกู้เงินโจทก์ ถึงกำหนดชำระจำเลยไม่ชำระ กลับขายเรือนของจำเลยให้แก่นายแดง แต่การขาย โจทก์เป็นผู้ติดต่อบอกขายและรับชำระหนี้เป็นข้าวเปลือกแทนเงิน ดังนี้ จะถือว่า จำเลยได้โอนเรือนไปให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 350 ไม่ได้
ฎ.6422/2534 มื่อความปรากฏชัดว่าจำเลยที่ 1 ขออนุญาตวางเงินแทนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท และศาลชั้นต้นอนุญาตแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้วโดยนำเงินมาวางศาลตามคำพิพากษา แม้จะเป็นการเลือกขอชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยผิดขั้นตอนก็ดี เหตุดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงินครบถ้วนตามคำพิพากษา การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนยังห่างไกลกว่าเหตุไม่เป็นความผิดเช่นเดียวกัน
ฎ.1676/2557 การโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดอันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 49394 ซึ่งผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนเองนั้น ก็เป็นเพียงการรับโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายจะสละมรดกในที่ดินโฉนดดังกล่าว แต่สิทธิของเจ้าหนี้ในการว่ากล่าวเอาแก่ทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทยังคงมีอยู่ตามเดิม มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.3145/2536 เมื่อกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ประสบการขาดทุน จำต้องเลิกกิจการ และคืนอาคารห้องเช่าแก่เจ้าของ การขนสินค้าที่ยังมิได้ส่งมอบให้ลูกค้าไปเก็บไว้บ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการกระทำที่มีเหตุผลเมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่ไม่สุจริตแจ้งชัดอื่นใด การขนสินค้าของจำเลยที่ 1และที่ 2 จึงมิได้เป็นการขนโดยเจตนามิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มิให้ได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์อยู่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ประเด็นที่สิบ “โอนขายชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้อื่น ในราคาอันสมควร “
ถ้าปรากฎว่าการขายทรัพย์สินของลูกหนี้ ทำไปเพื่อชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้รายอื่น ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อน และขายไปในราคาที่เหมาะสม ย่อมไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ฎ.1134/2537 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้ จำเลยเป็นหนี้ธนาคารเป็นเงิน 696,252.59 บาท โดยจำเลยเอาที่ดินจำนองเป็นประกันธนาคารเจ้าหนี้ได้เร่งรัดให้จำเลยชำระหนี้จำเลยจึงได้ขายที่ดินที่จำนองให้แก่ ก. ไปในราคา 700,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าความเป็นจริง แล้วนำเงินนั้นชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้อันเป็นการชำระหนี้ที่จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องปฏิบัติ แม้จะเป็นการขายภายหลังจากจำเลยทราบว่าเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาแล้วก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยขายที่ดินโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.2585/2524 จำเลยขายที่ดินเพื่อเอาเงินชำระหนี้ซึ่งที่ดินนั้นติดจำนองอยู่ตามที่เจ้าหนี้ผู้รับจำนองเร่งรัดทวงถามให้ชำระและขายได้ราคาซึ่งเป็นจำนวนพอดีๆ ที่จะชำระหนี้จำนองเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยขายที่ดินไปโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ตามฟ้อง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.1736/2503 โจทก์ฟ้องคดีอาญาหาว่าจำเลยทุจริตโอนรถยนต์ให้ผู้มีชื่อไปโดยเจตนาไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แล้วฟ้องจำเลยกับผู้รับโอนรถยนต์เป็นจำเลยคดีแพ่งขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์ด้วย ดังนี้ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยเป็นแต่ผู้เช่าซื้อรถยนต์มาแล้วจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจึงโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์นั้นให้แก่ผู้รับโอนซึ่งชำระเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจนครบ โดยผู้รับโอนเป็นเจ้าหนี้จำเลยซึ่งกู้เงินไปชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์นั้นเองด้วย ดังนี้จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องและจะบังคับให้เพิกถอนการโอนก็ไม่ได้ เพราะจำเลยเป็นแต่ผู้เช่าซื้อ หากเพิกถอนได้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องโอนกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อตามเดิม
ฎ.4183/2542 หลังจากจำเลยตกเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยไปทำสัญญาขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยให้แก่ พ. ในภายหลังอีก เนื่องจากจำเลยและสามีจำเลยถูกธนาคารฟ้องให้ร่วมกันรับผิดชำระหนี้เงินกู้และธนาคารได้ขอบังคับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยนำไปจำนองไว้เป็นประกันการกู้ยืมด้วยแม้ธนาคารจะฟ้องคดีหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วก็ตาม แต่หนี้ที่จำเลยมีอยู่ต่อธนาคารเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนและเป็นหนี้ที่มิได้เกิดจากการสมยอมระหว่างจำเลยกับธนาคาร ดังนั้น การที่จำเลยตกลงยินยอมให้ พ. เป็นผู้ชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินต่อธนาคารแทนจำเลย และรับโอนที่ดินไปโดยมีข้อตกลงให้จำเลยซื้อที่ดินคืนกลับไปได้นั้นจึงเป็นกรณีที่จำเลยต้องกระทำเพื่อมิให้ธนาคารผู้รับจำนองบังคับจำนองแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยถือไม่ได้ว่าจำเลยโอนขายทรัพย์สินของตนไปโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.1892/2541 ในวันที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองจาก อ.ด้วยหากจำเลยที่ 1 ไม่ขายที่ดินดังกล่าวก็ต้องชำระดอกเบี้ยจำนองปีละหลายสิบล้านบาท การที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนองและได้ขายที่ดินที่จำนองได้เงินรวมทั้งสิ้น 721,600,000 บาทจึงเป็นการขายเพื่อชำระหนี้จำนองตามปกติ แม้จะเป็นการขายภายหลังศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก็ตามก็ยังเป็นการขายเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้จำนอ
ฎ.950/2556 แม้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดและจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ว่า จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ก่อนแล้วจึงจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อจากนั้นจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองแก่ธนาคาร อ. โดยกระทำขึ้นในวันเดียวกันทั้งหมด และข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร ก. ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนด ธนาคารจะฟ้องดำเนินคดี จึงทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาอีก และไม่มีเงินชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน โดยโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. แล้วนำเงินไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองให้แก่ธนาคาร ก. ส่วนเงินที่เหลือจำเลยที่ 2 นำไปปลูกสร้างบ้านบนที่ดินดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 และหลานก็พักอาศัยอยู่ในบ้านที่จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างขึ้นด้วย โดยที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร อ. แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคาร ก. จำนวนเท่าใด แต่การที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนองและขายที่ดินที่จำนองเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองก็เป็นการขายเพื่อชำระหนี้ของตนตามปกติ และเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำเพื่อมิให้ถูกธนาคาร ก. เจ้าหนี้ผู้รับจำนองบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 อันมีลักษณะเป็นการขายเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้จำนองของตน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่อาจถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินไปโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามฟ้อง
ฎ.2075/2536 การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาโอนขายสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ให้บุคคลภายนอกเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารซึ่งจำเลยได้นำสิทธิการเช่าอาคารพิพาทไปประกันการกู้ยืมเงินไว้ โดยขายสิทธิการเช่าแล้วก็ยังไม่พอชำระต้นเงินและดอกเบี้ย แต่ธนาคารก็ลดจำนวนหนี้ให้ ยังไม่ถือว่าเป็นการโอนไปโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้
ประเด็นที่สิบเอ็ด “โจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบ”
ถ้าโจทก์ไม่บรรยายว่า ลูกหนี้โอนทรัพย์สินไปให้ใคร หรือไม่บรรยายฟ้องว่าผู้ที่รับโอนเป็นบุคคลภายนอก ไม่ได้บรรยายเวลากระทำผิด ย่อมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจะต้องยกฟ้อง
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ฎ.4180/2535 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา แต่กล่าวถึงเรื่องการยักย้ายทรัพย์เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมิได้กล่าวว่าได้โอนขายไปให้แก่ผู้ใด เอกสารท้ายฟ้องก็ไม่มีไม่อาจทราบได้ว่าใครเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาท จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และแม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกาถึงจำเลยที่ 1 แต่ปัญหาคำฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นี้ เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องรับโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ฎ.2187/2557 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยผู้กระทำต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์ ซ่อนเร้นทรัพย์ หรือโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้แก่ผู้อื่น เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนชื่อที่ดินของ บ. จาก บ. เป็นผู้รับโอนประเภทมรดกใส่ชื่อจำเลยทั้งสอง ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินซึ่งเป็นมรดกของ บ. ที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งสองในฐานะที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับมรดกของ บ. เท่านั้น ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของ บ. ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินของ บ. ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ไปให้แก่ผู้อื่น จึงเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.4434/2549 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำนิติกรรมปลอมแกล้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นหนี้จำเลยที่ 4 เป็นจำนวนอันไม่เป็นความจริง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 แต่โจทก์มิได้บรรยายให้แน่ชัดว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำนิติกรรมปลอมเมื่อใด วันเวลาที่โจทก์อ้างในคำฟ้องตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นเพียงวันเวลาที่แสดงว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อใด และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องโอนกรรมสิทธิ์ไปยังบุคคลอื่นเมื่อใด จะถือเอาวันเวลาระหว่างข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบกันเพื่อจะให้เข้าใจเอาเองว่า ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เกิดระหว่างวันและเวลาดังกล่าวหาได้ไม่ ถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ครบถ้วนแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฎ.2510/2562 จทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของ ส. ตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของ ส. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ที่ตกทอดแก่ทายาท แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม. ที่ศาลจังหวัดชลบุรี เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมซึ่ง ส. ทำไว้ก่อนตาย จึงฟ้องติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจากทายาทของ ส. ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ หาใช่คดีที่โจทก์ฟ้องทายาทของ ส. ให้รับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่ ส. ทำไว้ต่อโจทก์ไม่ การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีที่ศาลจังหวัดชลบุรี จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อจะบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ในส่วนของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพราะโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ประสงค์จะบังคับเอาทรัพย์สินของ ส. ลูกหนี้ซึ่งตกทอดแก่ทายาท เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ประเด็นที่สิบสอง “ไม่ใช่การโอน ยักย้าย ”
ถ้าการกระทำของลูกหนี้ ไม่ใช่การโอนยักย้ายทรัพย์สินไปยังบุคคลอื่น แต่เป็นการกระทำอื่นๆ เช่น นำไปจำนอง นำไปปล่อยเช่า หรือสละสิทธิไถ่ถอนการขายฝาก ที่แม้จะทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้เสื่อมค่า หรือมีภาระผูกพัน แต่ก็ไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ฎ.4557/2531 การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินซึ่งศาลพิพากษาให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนให้โจทก์ไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2นั้น การจำนองมิใช่เป็นการย้ายไปเสีย หรือเป็นการซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าว
ฎ.1050/2507 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์โดยเอาที่ดินเป็นประกันเงินกู้ ต่อมาจำเลยเอาที่ดินแปลงนี้ไปจำนองเสีย การกระทำของจำเลยดังนี้ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 349 และ 350
ฎ.870/2518 การที่จำเลยนำที่ดินซึ่งโจทก์กำลังฟ้องเรียกเอาจากจำเลยไปให้เช่าและจดทะเบียนการเช่านั้น ไม่ใช่เป็นการย้ายไปเสียหรือโอนไปให้ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ฎ.1017-1018/2517 การที่จำเลยสละสิทธิไถ่ถอนการขายฝากไม่ใช่เป็นการย้ายหรือซ่อนเร้นหรือโอนให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ประเด็นที่สิบสาม “คดีขาดอายุความแล้ว”
คดี โกงเจ้าหนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้นโจทก์จะต้องแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องร้องดำเนินคดีกับจำเลยภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้ตัวผู้กระทำผิดและรู้เรื่องการกระทำผิด หากเลยกำหนดดังกล่าว โจทก์ไม่ดำเนินการ คดีย่อมขาดอายุความ
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ฎ.6221/2542 ที่ดินแปลงที่จำเลยโอนขายให้ ด. เป็นแปลงเดียวกับที่โจทก์ขอซื้อจากจำเลยแต่จำเลยโอนให้ไม่ได้เพราะชื่อเจ้าของที่ดินยังเป็นของผู้อื่น ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้ละทิ้ง หากยังติดตามที่ดินแปลงพิพาทอยู่ การที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปยื่นคำขอให้ยึดทรัพย์จำเลยโดยหนังสือมอบอำนาจมีข้อความชัดเจนว่าให้ยึดบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินแปลงนี้กับทรัพย์สินภายในบ้าน ดังนั้นการที่จำเลยโอนขายบ้านให้ ด. ก่อนที่โจทก์จะดำเนินการขอยึดนั้น โจทก์ก็ควรจะรู้หรือน่าจะรู้ว่าจำเลยขายที่ดินดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วันที่การไปขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลย ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้วเกินกว่า 3 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ฎ.2212/2515 กำหนดเวลาที่ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นจะเป็นอันขาดอายุความนั้น เป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ฯลฯ แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์เสียก่อน จะใช้สิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลด้วยตนเองก็ย่อมกระทำได้ภายในกำหนดระยะเวลาเดียวกัน แต่เมื่อวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันหยุด ซึ่งตามประเพณีงดเว้นการงานท่านให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161 ดังนั้น การที่ระยะเวลาที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ในคดีนี้ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 24 อันเป็นวันหยุดราชการ ผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 25ซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานใหม่ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ฎ.4101/2560 โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ข้อ 2.1 และ 2.2 ขาดอายุความหรือไม่ ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์ดำเนินคดีเอง โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดด้วย เมื่อโจทก์ฎีการับว่าผู้แทนโจทก์ทราบว่า จำเลยโอนโฉนดที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2 ไปให้บริษัท พ. และ ช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จึงเกินกว่า 3 เดือน ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ
ฎ.701/2553 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ 25 มีนาคม 2542 แต่โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 โจทก์จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้น คดีในความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
สรุป
ในความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ ไม่ใช่ว่าจำเลยเป็นหนี้แล้ว โอนทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่น จะเป็นความผิดอาญาเสมอไป แต่มีบริบทและพฤติการณ์ประกอบที่จะต้องพิจารณา ดังได้กล่าวไว้โดยละเอียดแล้ว 13 ประการข้างต้น ดังนั้นในการทำงานและเตรียมคดี ไม่ว่าท่านจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลย ก็ต้องพิเคราะห์ถึงประเด็นดังกล่าวเพื่อประกอบการเตรียมคดีด้วยเสมอ
หนังสืออ้างอิงประกอบการค้นคว้าและเขียนบทความ
1.กฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 2 และภาค 3 อ.จิตติ ติงศภัทิย์
2.คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญาภาคความผิด มาตรา 288-366 หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์
3.กฎหมายอาญา ภาคความผิด เล่ม 3 ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์
4.คำอธิบาย กฎหมายอาญาภาคความผิด ศ.ดร. คณพล จันทน์หอม
5.กฎหมายอาญา ภาคความผิด ศ.ดร.คณิต ณ นคร
6.กฎหมายอาญา ภาค 2-3 ศ ดร.หยุด แสงอุทัย
7.คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคความผิด และลหุโทษ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ