ตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญาที่ผมหยิบยกมาเผยแพร่ในวันนี้ เป็นคดีอาญายอดนิยมที่ฟ้องกันอยู่บ่อยครั้ง ก็คือคดีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
สำหรับรายละเอียดการฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ ฝ่ายโจทก์ฟ้องอ้างบรรยายว่าจำเลยมีเจตนาฉ้อโกง นำเงินของโจทก์ไปลงทุนปล่อยกู้ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนสูง และถึงเวลาจำเลยไม่นำเงินมาคืนภายในกำหนด รวมเป็นเงินประมาณ 1,500,000 บาท
สำหรับข้อเท็จจริงที่ได้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกความผมได้ความว่า จำเลยได้รับเงินมาจากโจทก์จริง เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับบุคคลอื่น โดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในอัตราร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 30
หลังจากที่ทำการกู้ยืมเงินกันไปได้สักระยะหนึ่งจำเลยก็คืนดอกเบี้ยและต้นเงินให้กับโจทก์ตรงมาตลอด จนกระทั่งภายหลังเกิดปัญหาบุคคลที่จำเลยนำเงินไปปล่อยกู้ต่อไม่ส่งต้นเงินพร้อมดอกเบี้ย ทำให้จำเลยติดปัญหาไม่มีเงินนำมาคืนให้กับโจทก์ได้
หลังจากได้รับข้อเท็จจริงจากจำเลยแล้วผมจึงมองว่าคดีนี้เป็นคดีที่ต่อสู้ได้อย่างง่ายมาก และผมได้ตั้งประเด็นข้อต่อสู้คดีนี้ไว้ 2 ประเด็นก็คือ
1.คดีนี้ไม่ใช่เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกง
เนื่องจากการจะเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 นั้น จะต้องเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความมันเป็นเท็จหรือการปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง ทำให้ได้ทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวง
แต่ลักษณะการกระทำของคดีนี้จำเลยเพียงกู้ยืมเงินจากโจทก์ไปปล่อยกู้ต่อและแบ่งปันดอกเบี้ยผลกำไรกับโจทก์เท่านั้น ซึ่งมีลักษณะเป็นการผิดสัญญาทางแพ่งหรือข้อตกลงอย่างชัดเจน จึงไม่ใช่ความผิดฐานฉ้อโกง
2.โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
เนื่องจากการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญานั้น ฝ่ายโจทก์จะต้องมีฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด และไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
แต่พฤติการณ์ของโจทก์ในคดีนี้ ที่รู้เห็นและยินยอมรวมทั้งเป็นตัวการในการนำเงินไปให้จำเลยปล่อยกู้กับบุคคลอื่น โดยเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ถือว่าเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๕๖๐ ดังนั้นจึงถือได้ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีสิทธิ์จะฟ้องจำเลยได้
เพราะหากให้ทำอย่างนั้นก็เหมือนกับรัฐสนับสนุนให้บุคคลทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและฟ้องร้องบังคับกันได้
ตัวอย่างเช่นหากโจทก์เป็นนายทุนค้ายาเสพติดหรืออาวุธปืนผิดกฎหมาย หากโจทก์ถูกบุคคลอื่นหลอกลวงเอาเงินค่ายาเสพติดหรืออาวุธผิดกฎหมายไป
โจทก์ก็ไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลอื่นนั้นในข้อหาฉ้อโกง มิฉะนั้นก็เท่ากับศาลและรัฐยินยอมให้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนตามกฎหมายและรองรับบังคับให้คนกระทำผิดกฎหมายอาญา ฟ้องร้องบังคับกันได้
โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7869/2560
โจทก์ร่วมเป็นนายทุนปล่อยกู้โดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์ที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายอันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมหรือไม่ก็ตาม ถือได้ว่าโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่อาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 และมาตรา 120
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ผมเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่ไม่ยากมาก และไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงที่ซับซ้อน จึงได้ส่งทีมงานทนายความมือดีของสำนักงานไป คือ ทนายแพรวพรรณ เชี่ยวประสิทธิ์ เป็นคนคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล และเป็นคนถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
ซึ่งผลปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลที่ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำเงินไปปล่อยกู้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ดังกล่าว
ผมจึงได้นำตัวอย่างการทำคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล และตัวอย่างคำพิพากษามาเพื่อเผยแพร่เป็นวิทยาทานและแนวทางในการทำงานให้กับเพื่อนๆต่อไปครับ