ความรู้เกี่ยวกับการว่าจ้างทนายความ

“ถามติง101” ข้อกฎหมายและเทคนิคทางปฏิบัติในการถามติง เบสิคพื้นฐานที่ทนายความต้องรู้

การถามติง เป็นอีกหนึ่งงานในหน้าที่ของทนายความที่ว่าความในชั้นศาลที่จะต้องปฏิบัติอยู่ในแทบทุกคดี 

แต่อย่างไรก็ตามในการเรียนการสอนไม่ว่าจะเป็นในชั้นปริญญาตรี เนติบัณฑิต หรือสภาทนายความเอง ก็มักไม่ค่อยมีการเรียนการสอนวิธีการถามติงอย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติมากเท่าไหร่เน้นไปในการเรียนเพื่อใช้ในการสอบเสียมากกว่า 

วันนี้ผมจึงจะมาอธิบายเรื่องการถามติง โดยเน้นเป็นเรื่องทฤษฎี รวมทั้งเทคนิคทางปฏิบัติ เพื่อให้ใช้เป็นคู่มือประกอบการทำงานของเพื่อนๆทนายความครับ

การถามติงคืออะไร ? 

การอธิบายว่า การถามติง คืออะไรนั้น ต้องเข้าใจระบบการถามพยานในศาลเสียก่อน ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้ 

ข้อกฎหมาย 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๑๗  

คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้สาบานตนและแสดงตนตามมาตรา ๑๑๒ และ ๑๑๖ แล้ว หรือถ้าศาลเป็นผู้ซักถามพยานก่อน ก็ให้คู่ความซักถามได้ต่อเมื่อศาลได้ซักถามเสร็จแล้ว

เมื่อคู่ความฝ่ายที่ต้องอ้างพยานได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะถามค้านพยานนั้นได้

เมื่อได้ถามค้านพยานเสร็จแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะถามติงได้

คำอธิบาย

ธรรมดาแล้วในการถามพยานจะแบ่งขั้นตอนการถามออกเป็น 3 ขั้นตอนด้วยกันคือ 

1.ซักถาม

คือการถามที่ทนายความฝั่งที่อ้างพยานมานั้นจะเอาพยานของตนเอง ขึ้นเบิกความต่อศาลและซักถามพยานของฝ่ายตัวเองเพื่อให้พยานเบิกความข้อเท็จจริงตามที่ตนเองต้องการ เพื่อสนับสนุนรูปคดีของตนเอง การหารแบบนี้คือการ ซักถามพยาน

การถามพยาน ตอนที่ 1 ” ซักถามพยาน ” – รวม 13 เคล็ดลับที่ทนายความต้องรู้ก่อนขึ้นถามพยานในชั้นศาล

2.ถามค้าน 

คือภายหลังจากที่ทนายความฝั่งที่อ้างพยานมาซักถามจบ ทนายความฝั่งที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม จะมีสิทธิ์ถามพยานคนดังกล่าวได้ ซึ่งเรียกว่าการถามค้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานฝ่ายตรงข้าม หรือเพื่อให้พยานฝ่ายตรงข้ามเบิกความให้เป็นประโยชน์กับรูปคดีของตน 

” ถามค้าน 101 ” – รวมพื้นฐาน 12 เทคนิคการถามค้าน ที่ทนายความต้องรู้ก่อนขึ้นว่าความ

3.ถามติง 

คือภายหลังจากที่พยานเบิกความตอบคำถามค้านของฝ่ายตรงข้ามแล้ว ทนายความฝั่งที่อ้างพยานมีสิทธิ์ลุกขึ้นมาถามได้อีกรอบเรียกว่าถามติงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้พยานเบิกความอธิบายถึงเรื่องที่ตอบคำถามค้านทนายความฝั่งตรงข้ามไป แล้วเกิดความเสียหายกับรูปคดีหรือยังไม่ชัดเจน 

วัตถุประสงค์ของการถามติง 

ธรรมดาแล้วเมื่อเราเป็นทนายความและอ้างพยานเบิกความต่อต่อศาล เมื่อตอนที่เบิกความตอบคำถามของเราไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราสามารถซักซ้อมหรือทำความเข้าใจกันได้อยู่แล้ว 

แต่เวลาที่พยานเบิกความตอบคำถามทนายความฝั่งตรงข้าม หรือการตอบคำถามค้านนั้น พยานเองก็อาจจะเบิกความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เบิกความไม่กระจ่างชัดเจน เบิกความคลุมเครือตีความได้หลายทาง หรือเบิกความในลักษณะที่อาจจะเกิดความเสียหายกับรูปคดีของเรา 

ทั้งนี้อาจจะเกิดได้หลายสาเหตุ เช่นพยานสับสนกับคำถามของทนายความฝั่งตรงข้าม พยานเข้าใจคำถามไม่ถูกต้อง ตกใจหรือประมาททำให้ตอบผิดพลาดไป คล้อยตอบตามคำถามนำของฝ่ายตรงข้ามไปโดยไม่คิด รีบตอบเกินไป หรือไม่เข้าใจวิธีการตอบคำถามที่ถูกต้อง ฯลฯ

ดังนั้นกฎหมายจึงให้โอกาสทนายความฝั่งที่อ้างพยาน ลุกขึ้นถามพยานได้อีกรอบนึง เรียกว่าการถามติง เพื่อให้พยานเบิกความอธิบายในเรื่องที่ตอบคำถามค้านทนายความฝั่งตรงข้ามไป เพื่อให้เกิดความถูกต้องหรือชัดเจนขึ้น 

ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการถามติงจึงมีดังนี้

1.ให้พยานเบิกความอธิบายว่า สาเหตุที่ตอบคำถามค้านผิดพลาดไปจากความเป็นจริงเป็นเพราะอะไร 

2.ให้พยานเบิกความอธิบาย ถึง คำถามที่ตอบไปแล้วยังไม่ชัดเจน คลุมเครือหรือตีความได้หลายทาง หรือยังไม่สิ้นกระแสความ 

ข้อห้ามในการถามติง 

ในการถามติงนั้น ไม่ใช่ว่าทนายความอยากจะถามคำถามไหนก็ได้ แต่มีข้อห้ามที่สำคัญอยู่ 2 ประการก็คือ 

ข้อกฎหมาย 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา ๑๑๘  

ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะซักถามพยานก็ดี หรือถามติงพยานก็ดี ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คำถามนำ เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากศาล

ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะถามติงพยาน ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คำถามอื่นใดนอกจากคำถามที่เกี่ยวกับคำพยานเบิกความตอบคำถามค้าน

คำอธิบาย 

ห้ามใช้คำถามนำ 

คำถามนำ หมายถึงคำถามที่แนะนำคำตอบให้พยานทราบอยู่ในตัว เช่น คำถามว่า

  • ใช่หรือไม่ใช่
  • ใช่ไหมครับ
  • ถูกต้องไหมครับ 
  • เป็นแบบนี้นะครับ  
  • ซ้ายหรือขวา 
  • ขาวหรือดำ

 ฯลฯ

 หรือพูดง่ายๆเป็นคำถามที่พยายามแค่พยักหน้าหรือตอบว่าใช่อย่างเดียวก็ได้แล้ว 

ทั้งนี้เพราะหากปล่อยให้ทนายความถามนำพยานได้ ก็เท่ากับว่าพยานไม่ต้องตอบอะไรเลย เพียงแค่ตอบตามที่ทนายความฝั่งของตนเองถามนำก็เพียงพอแล้ว ซึ่งจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียเปรียบเป็นอย่างยิ่ง 

ดังนั้นจำไว้ว่าในการถามติง จึงห้ามใช้คำถามนำ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือได้รับอนุญาตจากศาล 

หากเราถามติงโดยใช้คำถามนำ ศาลที่เคร่งครัดก็จะไม่บันทึกคำตอบของพยานให้ หรือเมื่อเจอฝ่ายตรงข้ามโต้แย้งคัดค้านศาลก็จะไม่บันทึกคำตอบให้เช่นเดียวกัน 

ถามได้เฉพาะเรื่องที่พยานตอบคำถามค้าน

เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการถามติง ก็เพื่อให้พยานเบิกความอธิบายในเรื่องที่ตอบคำถามค้านผิดพลาดหรือยังไม่ชัดเจนอย่างที่ผมอธิบายตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว 

ดังนั้นสิทธิ์ในการถามติง จึงมีสิทธิ์ถามได้เฉพาะเรื่องที่พยานเบิกความตอบคำถามค้านไปเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ถามในเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พยานเบิกความตอบคำถามค้าน หรือถามเพื่อให้พยานเบิกความอธิบายในเรื่องใหม่ 

หากกฎหมายปล่อยให้เราถามพยานติงพยานในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องที่ตอบคำถามค้านได้ ก็เท่ากับให้สิทธิ์เราในการถามพยานเรื่องใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียเปรียบเพราะไม่มีโอกาสถามค้านอีกรอบนึง 

เคล็ดลับและวิธีการถามติง

1.คอยฟังและจดบันทึกขณะพยานของเราตอบคำถามค้าน

ในขณะที่พยานของเราเบิกความตอบคำถามค้านของทนายความฝั่งตรงข้ามอยู่นั้น เราจะต้องคอยฟังอยู่ตลอดและคอยจดว่าพยานของตอบเราตอบคำถามอะไรไปบ้าง 

หากพยานของเราเบิกความตอบคำถามค้านผิดไปจากความเป็นจริง คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่อยู่ในสำนวน หรือตอบไม่ชัดเจนกำกวมตีความได้หลายทาง เราจะต้องจดบันทึกไว้เลยว่าพยานตอบคำถามแบบนั้นไป 

หลังจากนั้นเมื่อจบคำถามค้านแล้วให้เราขึ้นถามติงพยาน โดยพยายามให้พยานอธิบายในเรื่องที่ตนเองต่อผิดพลาดไปดังนี้ 

  • ให้พยานอธิบายว่า ที่ตอบคำถามค้านแบบนั้นไป เข้าใจคำถามว่าอย่างไร 
  • ให้พยานอธิบายว่า เหตุผลที่ตอบคำถามค้านแบบนั้น เป็นเพราะอะไร ทำไม 
  • ให้พยานอธิบายถึงคำตอบที่ยังอาจกำกวมหรือไม่ชัดเจน ตีความได้หลายทาง ยังไม่สิ้นกระแสความ 

อย่างไรหากพยานตอบดีหรือชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกับรูปคดีเราก็ไม่จำเป็นต้องถามติงเสมอไป

2.เริ่มคำถามจากการทวนคำตอบ

ธรรมดาแล้วในการถามติง เรามักจะเริ่มจากการทวนคำตอบของพยานที่ตอบคำถามค้านทนายความฝั่งตรงข้าม เพื่อให้พยานนึกคิดได้ว่า สิ่งที่ตอบไปนั้นไม่ถูกต้องตรงไหน

การตั้งคำถามติง โดยอ้างอิงจากการตอบคำถามยังเป็นการป้องกันปัญหาที่ฝ่ายตรงข้ามจะคัดค้านว่า คำถามติงนั้นไม่เกี่ยวข้องกับคำถามค้านได้เป็นอย่างดีด้วย 

ตัวอย่างการตั้งคำถาม 

ตัวอย่างแรก

ในคดีฆาตกรรม พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายความจำเลยว่า “ วันเกิดเหตุแสงไฟในที่เกิดเหตุมืดมาก พยานไม่เห็นจำเลยในขณะเกิดเหตุ “ ซึ่งทำให้มีข้อสงสัยว่าพยานโจทก์ปากนี้เห็นจำเลยในวันเกิดเหตุหรือไม่

ทนายความโจทก์อาจตั้งคำถามติงเช่นนี้

พยานครับที่พยานเบิกความตอบท่านทนายความจำเลยถามค้านไปว่า “ วันเกิดเหตุแสงไฟในที่เกิดเหตุมืดมาก พยานไม่เห็นจำเลยในขณะเกิดเหตุ “ แล้วเหตุใดพยานจึงยืนยันว่าจำเลยเป็นคนกระทำความผิดครับ 

พยานอาจจะตอบว่า “ในขณะเกิดเหตุผมไม่เห็นจำเลย แต่หลังจากเหตุการณ์เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยวิ่งออกจากที่เกิดเหตุวิ่งสวนกับผมไป เห็นจำเลยถืออาวุธปืนจึงมั่นใจว่าจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุ “

ซึ่งคำตอบนี้จะทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่พยานตอบคำถามค้านหายไป 

ตัวอย่างที่สอง

ในคดีฆาตกรรม พยานจำเลยซึ่งเป็นพยานยืนยันฐานที่อยู่ของจำเลย เบิกความตอบอัยการโจทก์ถามค้านไปว่า “วันเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ว่าพยานอยู่กับจำเลยหรือไม่ “  ซึ่งทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานปากนี้ลดลง

ทนายความจำเลยอางจะตั้งคำถามติงเช่นนี้

ที่พยานเบิกความตอบท่านอัยการโจทก์ ถามค้านไปว่า “ พยานจำไม่ได้ว่า จำเลยอยู่กับพยานหรือไม่ “ พยานเข้าใจคำถามว่าอย่างไรครับ

พยานอาจจะตอบว่า “ ผมจำไม่ได้ว่าเขาอยู่กับผมทั้งวันหรือไม่ เลยตอบไปแบบนั้น แต่ตอนบ่ายสอง เวลาเกิดเหตุเขานั่งเล่นเกมส์อยู่กับผมจนถึง 5 โมงเย็น” 

คำตอบลักษณะนี้จะทำให้คำเบิกความของพยานชัดเจนขึ้นและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตอบคำถามค้านก็จะหายไป 

ตัวอย่างที่สาม คดีทางภารจำยอม ฝ่ายโจทก์ต่อสู้ว่าการใช้ทางพิพาทเป็นการใช้โดยวิสาสะในหมู่ญาติ จึงไม่ได้สิทธิภารจำยอม แต่ปรากฎว่าพยานโจทก์กลับตอบคำถามค้านทนายความจำเลยว่า “ใครจะเข้าออกทางพิพาทก็ได้” ซึ่งทำให้ตีความได้ว่า ผู้ใดก็เข้าออกทางพิพาทได้ เป็นการใช้อย่างปรปักษ์ 

ทนายความโจทก์ก็อาจจะถามติงว่า

ที่พยานเบิกความตอบทนายความโจทก์ถามค้านว่า “ใครจะเข้าออกทางพิพาทก็ได้” หมายความว่าอย่างไรครับ

พยานอาจจะตอบว่า “คำว่าใครที่ผมตอบไปนั้น หมายถึงญาติพี่น้องหรือคนสนิทที่รู้จักกันเท่านั้น ไม่ใช่หมายถึงคนทั่วไปที่ไม่รู้จักกัน” 

คำตอบแบบนี้ก็ทำให้คำเบิกความของพยานที่ไม่ชัดเจนตีความได้หลายทางชัดเจนขึ้นและความเสียหายที่เกิดจากการตอบคำถามค้านก็ลดลงไป 

3.พยายามใช้คำถามว่าทำไม 

ธรรมดาแล้วเนื้อหาของการถามติง ก็คือให้พยานเบิกความอธิบายในเรื่องที่ตนเองเบิกความตอบคำถามค้านผิดพลาดหรือไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงควรใช้คำถามว่า “ทำไม” ซึ่งเป็นคำถามปลายเปิดให้พยานอธิบาย 

เช่น

  • ทำไมพยานถึงเบิกความตอบคำถามเช่นนั้น 
  • ทำไมถึงได้ยืนยันว่าเห็นเหตุการณ์ 
  • ทำไมจึงมั่นใจว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด

ฯลฯ

4.อย่าใช้อารมณ์หรือความโกรธหรือดูพยานที่เบิกความผิดไปจะยิ่งทำให้พยานเตลิด 

ธรรมดาแล้ว เมื่อพยานเบิกความตอบคำถามค้านผิดพลาด คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง มันจะทำให้เราเกิดอาการอารมณ์เสียที่พยานเบิกความไม่ถูกต้อง ซึ่งเราต้องพยายามข่มอารมณ์โกรธไว้ และคุยกับพยานด้วยความใจเย็น 

หากเรายิ่งแสดงอารมณ์โกรธหรือดูพยานที่ตอบผิดพลาดจะยิ่งทำให้พยานเตลิด แล้วเบิกความผิดพลาดยิ่งขึ้นไปอีกเราควรจะค่อยๆคุยกับพยานชี้ให้เห็นว่าพยานเบิกความผิดพลาดเพราะอะไรและพยานเบิกความแก้ 

สรุป

การถามติงเป็นหนึ่งในเบสิคพื้นฐานในการทำงานของทนายความที่จะต้องใช้อยู่ตลอดชีวิต ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจวิธีการถามติงที่ถูกต้อง ทั้งเรื่องวัตถุประสงค์ ข้อห้ามในการถาม วิธีการถาม และเทคนิคเคล็ดลับในทางปฏิบัติ 

 ซึ่งผมหวังว่า บทความเรื่องการถามติงนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำงานและการว่าความในชั้นศาล ของเพื่อนๆทนายความครับ

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น