บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง, คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

ตัวอย่างการฟ้องคดีแพ่ง เรื่อง ทางจำเป็น ตาม ม.1350 กรณีแบ่งแยกที่ดินทำให้ที่ดินแปลงในไม่มีทางออก

ตัวอย่างการฟ้องคดีแพ่งในวันนี้ เป็นเรื่อง ทางจำเป็น ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เราจะต้องพบเจอและได้ใช้บ่อย เรื่องราวเป็นอย่างไรติดตามชมได้เลยครับ 

ข้อเท็จจริง -พฤติการณ์แห่งคดี – ทางจำเป็น

คดีนี้โจทก์ มาหาผมแจ้งว่าได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง โดยขณะที่เข้าไปซื้อกันนั้น ก็ปรากฏว่ามีทางเข้าออกได้ปกติ 

แต่ปรากฏว่าเมื่อกลับเข้าไปดูที่ดินอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าถูกก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขวางบริเวณที่เป็นทางและปิดทางไม่ให้เข้าออก 

โจทก์จึงมาหาผมให้หาวิธีแก้ไขปัญหา 

ผมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยการลงพื้นที่เกิดเหตุและตรวจสอบสารบบเอกสารแล้วปรากฏว่า 

ที่ดินของโจทก์ แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่แปลงหนึ่ง ซึ่งมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้

ต่อมาที่ดินแปลงใหญ่แปลงนั้นได้มีการแบ่งออกเป็นที่ดินแปลงเล็กจำนวน 5 แปลง 

ซึ่งที่ดินที่โจทก์ซื้อมานั้นเป็นที่ดิน 1 ใน 5 แปลงที่ถูกแบ่งแยกและอยู่ด้านใน ไม่ได้ติดทางสาธารณะประโยชน์ 

แต่อย่างไรก็ตาม หนึ่งในที่ดินในจำนวน 5 แปลงนั้น ได้แบ่งแยกไว้เป็นทางโดยเฉพาะ เพียงแต่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียน แบ่งให้เป็นภาระจำยอม

เจ้าของที่ดินจำนวนหนึ่งในห้าแปลงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่เป็นทางด้วยนั้น ไม่พอใจที่พี่น้องของตนได้ขายที่ดินให้กับคนนอกไม่ขายให้กับพี่น้องด้วยกันเอง (ต้องการซื้อแบบกดราคา)

เมื่อเห็นว่าพี่น้องของตนเองได้ขายที่ดินให้กับบุคคลภายนอกจึงแกล้งทำการปิดทางไม่ให้โจทก์เข้าออก 

แต่เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ต่อมาแปลงแย่งเป็น 5 แปลง แปลงของโจทก์อยู่ด้านใน (ลูกศรแดง) ทำให้ออกไปสู่ทางสาธารณะไม่ได้ โดยมีการแบ่งที่ดินไว้ 1 แปลงสำหรับเป็นทางอยู่แล้ว (สีฟ้า) แต่เจ้าของที่ดินกลับปิดทาง

ข้อกฎหมาย เรื่อง ทางจำเป็น 

ตัวบทกฎหมาย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ

ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้

ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน

คำอธิบาย

ตามกฎหมายแล้ว ที่ดินทุกแปลงควรจะมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ เพราะหากที่ดินแปลงไหนไม่มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ย่อมไม่อาจใช้ประโยชน์ได้โดยสภาพ 

ดังนั้นหากที่ดินแปลงใด ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ เพราะถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่  กฎหมายจึงให้อำนาจ เจ้าของที่ดินแปลงที่ไม่มีทางเข้าออก สามารถผ่านทางจากที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ได้ซึ่งเรียกว่า ทางจำเป็น 

แต่การเปิดทางจำเป็นนั้น จะต้องทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ผ่านน้อยที่สุด และจะต้องใช้ค่าทดแทนเป็นค่าใช้ที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินด้วย

แต่ถ้าหากที่ดินแปลงใดแต่เดิมสามารถมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้อยู่แล้ว แต่ไปทำการแบ่งแยกที่ดิน 

จนทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกซึ่งอยู่ด้านใน ไม่สามารถเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้ เช่นนี้ จะไม่สามารถไปเปิดทางจำเป็นในที่ดินแปลงอื่นได้ แต่จะต้องเปิดทางจำเป็นจากที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาเท่านั้น 

สาเหตุที่กฎหมายวางหลักไว้เช่นนี้ เนื่องจากหากปล่อยให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินแปลงใดก็ได้ ก็จะมีคนหัวหมอแบ่งแยกที่ดินของตนเองซึ่งติดถนนสาธารณะออกเป็นแปลงย่อย

โดยทำให้ที่ดินแปลงที่แบ่งออกมา ไม่มีทางเข้าออกแล้วก็ไปขอเปิดทางในที่ดินแปลงอื่น ซึ่งจะทำให้เกิดความเดือดร้อนในสังคม 

ในกรณีที่แบ่งแยกที่ดินจนทำให้ที่ดินแปลงที่แบ่งแยกไม่มีทางออกนั้น กฎหมายจึงให้เปิดทางจำเป็นได้เฉพาะในที่ดินแปลงเดิมที่แบ่งแยกมาเท่านั้น และในกรณีนี้ไม่ต้องเสียค่าทดแทนในการใช้ที่ดินแต่อย่างใด 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 บัญญัติว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันดังนั้น การที่ที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงเดิมของ ข. และ ห. ทำให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จะฟ้องเรียกร้องทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งมิใช่ที่ดินแปลงเดิมที่ถูกแบ่งแยกหรือแบ่งโอนหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2686/2519 ที่ดินโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมโดยรอบ โจทก์มีความจำเป็นจะต้องมีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่ที่ดินของโจทก์นี้แบ่งแยกออกมาจากที่ดินซึ่งอยู่ติดกับทางสาธารณะ จึงเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ที่ให้โจทก์มีสิทธิ์เรียกร้องเอาทางเดินจากที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกได้ โจทก์จะเอาทางเดินจากที่ดินแปลงอื่นหาได้ไม่ และเมื่อกรณีต้องด้วยมาตรา 1350 ก็จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายและพาณิชย์ มาตรา 1349 มาปรับแก่คดีของโจทก์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2547 ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกออกมาจากที่ดินจำเลย ที่ดินโจทก์มีที่ดินบุคคลอื่นล้อมอยู่ทุกด้าน แม้จะมีทางเดินออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม แต่โจทก์ต้องผ่านที่ดินบุคคลอื่นอีกทั้งมีระยะทางไกลและรถยนต์ผ่านไม่ได้ ถือว่าที่ดินโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ทั้งสภาพบ้านเมืองปัจจุบันใช้รถยนต์เป็นพาหนะจำนวนมากทางที่ใช้เข้าออกสู่ที่ดินไม่ใช่เป็นทางเดินสถานเดียวแต่ต้องให้รถยนต์ผ่านด้วย โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยประสงค์ใช้เป็นที่ปลูกบ้านและใช้ปลูกพืชผักต้องใช้รถยนต์กระบะผ่านเข้าออกสู่ที่ดิน ทางพิพาทเป็นทางที่ใกล้และสะดวกแก่การเดินทางออกสู่ทางสาธารณะพอแก่ความจำเป็น และเมื่อที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินจำเลย โจทก์มีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินจำเลยได้โดยไม่ต้องใช้ค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2544 ที่ดินของโจทก์และจำเลยแบ่งแยกออกจากที่ดินแปลงเดียวกันแต่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นรวมทั้งที่ดินของจำเลยล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โจทก์ย่อมมีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งอยู่ติดทางสาธารณะไปสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 โดยไม่ต้องคำนึงว่า ข้อตกลงที่จะเปิดทางเพื่อใช้เป็นทางออก สู่ทางสาธารณะที่โจทก์จำเลยได้ตกลงกันไว้ด้วยวาจาจะใช้บังคับได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3758/2543 การเรียกร้องเอาทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 เป็นกรณีที่มีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนที่ดินกันจนเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ หมายความว่า ที่ดินแปลงเดิมก่อนแบ่งแยกมีทางออกไปสู่ทางสาธารณะและการแบ่งแยกเป็นเหตุให้แปลงที่แบ่งแยกแปลงใดแปลงหนึ่งออกไปสู่ทางสาธารณะไม่ได้ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นได้เฉพาะที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน

เมื่อที่ดินโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อม โจทก์ย่อมได้รับการคุ้มครองถึงการใช้ยานพาหนะผ่านทางในสภาพที่เป็นถนนได้ มิได้จำกัดเฉพาะให้ใช้ทางเดินได้ด้วยเท้าแต่อย่างเดียว และตามสถานการณ์ความเจริญของบ้านเมืองในปัจจุบันรถยนต์เป็นพาหนะที่จำเป็น และที่พิพาทอยู่ห่างถนนประมาณ 200 เมตร เป็นพื้นที่มีความเจริญมีอาคารสูงหลายอาคารและ ห่างจากย่านการค้าเพียง 500 เมตร หากจะมีการพัฒนาที่ดินเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดและเป็นการพัฒนาบ้านเมืองไปสู่ความเจริญแล้ว สมควรที่จะเปิดทางเพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้

ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมาย 

เมื่อที่ดินแปลงของโจทก์ซึ่งเป็นลูกความผม แต่เดิมเป็นที่ดินแปลงที่มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้ตามกฎหมาย แต่ต่อมาได้มีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 5 แปลง ทำให้ที่ดินของลูกความผมไม่มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้

ลูกความผมย่อมมีสิทธิ์ฟ้องเปิดทางจำเป็นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 โดยฟ้องในที่ดินแปลงเดิม ที่ได้ทำการแบ่งแยก  ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีข้อตกลงอะไรกันไว้หรือไม่แต่อย่างใด 

ตัวอย่างคำฟ้อง ทางจำเป็น 

เมื่อปรับข้อเท็จจริงเท่ากับข้อกฎหมายแล้วเห็นว่าคดีสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ผมจึงได้เรียบเรียงคำฟ้องและยื่นต่อศาลไป 

ตัวอย่างคำฟ้องในคดีนี้

ศาลจังหวัดชลบุรี

นางสาว ย.  โจทก์

นาย ช.กับพวกรวม 3 คน จำเลย

ข้อหา ทางจำเป็น

ข้อ ๑. โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๔อําเภอพาน ทอง จังหวัดชลบุรี โดยโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากนาย ม. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน๒๕๕๖ รายละเอียดปรากฏตามสําเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑ 

จําเลยทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๘อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี โดยจําเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับ นาย ม. รายละเอียดปรากฏ ตามสําเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒

ข้อ ๒ . แต่เดิมที่ดินของโจทก์และจําเลยทั้งสามเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน คือ แต่เดิมที่ดินของโจทก์เป็น ส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๔ อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี แต่เดิม มีเนื้อที่ ประมาณ ๒ ไร่ ๙๖ ตางรางวา ซึ่งมีจําเลยทั้งสามและนาย ม. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๓ จําเลยทั้งสามและเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมคนอื่นๆ ได้ดําเนินการ รังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็นจํานวน ๕ แปลง ดังนี้

๑.ที่ดินโฉนดเลขที่ : ๔๒ อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ ๑ งาน ๖๐ ตารางวาออกให้แก่ นายช. จําเลยที่ ๑ ปัจจุบันมีนายว. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ รายละเอียดปรากฏตามสําเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓

๒.ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๓ อําเภอพานทองจังหวัดชลบุรีเนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๓๑ ตารางวา ซึ่งแบ่งแยกออกให้แก่ นางสาวป. จําเลยที่ ๒ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ รายละเอียดปรากฏตามสําเนาที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔

ต.ดินโฉนดเลขที่ ๕๔ – อําเภอพานทองจังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ ๒ งาน ๒๑ ตารางวา ซึ่งแบ่งแยกออกให้แก่นาย ม. และต่อมาโจทก์ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวต่อ จากนาย ม. รายละเอียดปรากฏตามสําเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑

๔.ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕ . อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ ๑ งาน ๓๗ ตารางวา ซึ่งแบ่งแยกออกให้แก่ นาง ป. จําเลยที่ ๓ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ปัจจุบันมีนางจ.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในฐานะผู้รับซื้อฝากจากนางป. รายละเอียดปรากฏตามสําเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟองหมายเลข ๕

๕.แปลงสุดท้ายเป็นแปลงคงเหลือ คือ ดินโฉนดเลขที่ ๗๘อําเภอพานทองจังหวัดชลบุรี มีเนื้อที่คงเหลือ ประมาณ ๔๑ ตารางวา ซึ่งจําเลย และเจ้าของร่วมคนอื่นๆ ยังคงเป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน รายละเอียดปรากฏตามสําเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒

ข้อ ๓. ที่ดินของโฉนดเลขที่ ๔๔. อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรีของโจทก์ ซึ่งแต่ เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดิน โฉนดเลขที่ ๒๔ . อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ของจําเลยทั้งสาม แต่เดิมมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ 

แต่เมื่อได้ทําการแบ่งแยกจากที่ดินของจําเลย ทั้งสามแล้ว ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เพราะถูกที่ดินแปลงอื่นๆ ล้อมไว้จนหมด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องใช้ทางเดินและทางรถยนต์ตามกฎหมายบนที่ดินของจําเลยทั้งสามซึ่งเป็นที่ดิน แปลงที่ได้ทําการแบ่งแยกได้

ทั้งนี้แต่เดิมจําเลยทั้งสามและเจ้าของร่วมในที่ดินคนอื่นๆ ในขณะนั้น ได้ตกลงจะให้ที่ดินแปลง โฉนดเลขที่ ๗๔ อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นแปลงคงเหลือ ใช้เป็นทางเดิน และทางรถยนต์ของที่ดินทั้งสี่แปลงที่แบ่งแยกกัน ตามข้อ ๑-๔ และปัจจุบันทุกฝ่ายได้ทําการปรับสภาพ ที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงให้เป็นทางรถยนต์เรียบร้อยแล้ว

และเจ้าของที่ดินแปลงอื่นๆก็ได้ใช้ทาง รถยนต์บนที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมา มีเพียงที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒ ที่ได้ดําเนินการจดทะเบียนภาระจํายอมไปก่อนแล้วรายละเอียดปรากฏตามแผนที่สังเขปหมายเลข 5 และบันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๗

แต่เดิมจําเลยมีความประสงค์จะซื้อที่ดินของนาย ม. แต่นายม. ไม่ได้ขายให้แก่จําเลย แต่กลับมาขายให้แก่โจทก์ ทําให้จําเลยทั้งสามเกิดความไม่พอใจแก่โจทก์ 

ข้อ ๔. เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โจทก์มีความประสงค์เข้าไปทําประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ซึ่งซื้อมาจากนาย ม. ปรากฏว่าจําเลยทั้ง สามได้นําสิ่งปลูกสร้างมาปิดกั้นบริเวณที่ดินโฉนดเลขที่ :๗๔อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ซึ่งจําเลยทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้อื่น เพื่อไม่ให้โจทก์เข้าไปทําประโยชน์ในที่ดิน 

โจทก์ได้พยายามพูดคุยเจรจากับจําเลยทั้งสามให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปแต่ จําเลยทั้งสามก็ยังเพิกเฉยรายละเอียดปรากฏตามรูปถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4

การกระทําของจําเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทําให้โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์และมีสิทธิใช้ที่ดินของจําเลยทั้งสามเป็นทางจําเป็นเสียหาย จําเลยทั้งสามมีหน้าที่รื้อถอนสิ่ง กีดขวางออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๘ – อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และห้าม กระทําการใดอันเป็นการรบกวนการใช้ทางจําเป็นของโจทก์ 

และขอศาลโปรดมีคําพิพากษาว่า ที่ดิน โฉนดเลขที่ ๗๔ อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ของจําเลยทั้งสามทั้งแปลงเป็นทาง จําเป็นของที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๔อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ของโจทก์ 

อนึ่งที่ดินของโจทก์ หากนําออกให้เช่าจะได้ไม่ต่ํากว่าเดือนละ ๕,๐๐๐ บาทดังนั้นโจทก์ จึงขอเรียกค่าเสียหายจากจําเลยทั้งสามเป็นเงินจํานวน ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่า จําเลยทั้งสามจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน

ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในคดีนี้ตั้งอยู่ที่ อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรีซึ่งอยู่ ในเขตอํานาจของศาลนี้ โจทก์ไม่มีทางใดจะบังคับจําเลยทั้งสามได้ จึงต้องนําคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

คําขอท้ายคําฟ้องแพ่ง

เพราะฉะนั้นขอศาลออกหมายเรียกตัวจําเลยมาพิจารณาพิพากษา และบังคับจําเลยตามคําขอ ต่อไปนี้

๑. ให้จําเลยทั้งสามรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกสร้างปิดกั้นทางบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๔ ตําบล

อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรีของจําเลยทั้งสาม โดยให้จําเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ทั้งหมด หากจําเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้จัดการรื้อถอนผ่านขั้นตอนและอํานาจของเจ้า พนักงานบังคับคดีตามกฎหมาย โดยให้จําเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

๒. ให้จําเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจํานวน ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือนนับแต่ วันฟ้องจนกว่าจําเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตามข้อ ๑. เสร็จสิ้น

๓. ให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๔อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ของจําเลยทั้งสามทั้งแปลงเป็นทางจําเป็นของที่ดินโฉนดเลขที่อําเภอพาน ทอง จังหวัดชลบุรีของโจทก์และห้ามมิให้จําเลยกระทําการใดอันเป็นการรบกวนการใช้ทางจําเป็นของ โจทก์

๔. ให้จําเลยทั้งห้าร่วมกันชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ในอัตราอย่างสูง

ผลการดำเนินคดี 

คดีนี้หลังจากยื่นฟ้องไปแล้วฝ่ายจำเลยได้ติดต่อหาทางผมเข้ามาแจ้งว่าไม่ประสงค์จะต่อสู้คดีและยินยอมทุกอย่าง 

คดีนี้จึงสามารถตกลงกันได้ โดยจำเลยยอมรื้อถอนสิ่งกีดขวางต่างๆ และยอมให้โจทก์ใช้ทางจำเป็นดังกล่าวเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้

ส่วนประตูที่ใช้เข้าออกนั้นก็ถือว่าเป็นประตูที่ใช้ร่วมกันโดยมอบกุญแจไว้ให้โจทก์ใช้ ซึ่งโจทก์ก็พอใจ คดีจึงได้จบลงด้วยดี

รายละเอียด สัญญาประนีประนอมยอมความ

สรุป

การฟ้องเปิดทางจำเป็น ก่อนฟ้องร้องดำเนินคดีทนายความจะต้องตรวจสอบ สารบบที่ดินเพื่อทราบความเป็นไปเป็นมาของที่ดินแปลงพิพาท

เพื่อที่จะทราบว่าแต่เดิมที่ดินพิพาทมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มีการแบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงไหนหรือไม่ 

หากปรากฏว่าแต่เดิมที่ดินแปลงพิพาทมีทางเข้าออกอยู่แล้ว และภายหลังได้มีการแบ่งแยกทำให้ที่ดินพิพาทไม่มีทางเข้าออกก็จะต้องฟ้องเปิด ทางจำเป็น ในที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 

ซึ่งการฟ้องเปิดทางจำเป็นในกรณีเช่นนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเสียค่าทดแทนแต่อย่างใดครับ 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น