เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา (เจ้าหนี้) มีสิทธิร้องขอให้ เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา (ลูกหนี้) เช่น อายัดเงินเดือน อายัดเงินในบัญชีธนาคาร หรืออายัดเงินค่าจ้างของลูกหนี้ เพื่อนำมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ (ปวิพ.ม.296 ประกอบ ม.316)
แต่ถ้าบุคคลภายนอก ไม่ยอมส่งเงินมาตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าหนี้จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร ?
วันนี้ผมจะมาอธิบายข้อกฎหมาย และวิธีแก้ไขปัญหาโดยละเอียดครับ
1.ทบทวนกระบวนการเรื่อง อายัดเงินเดือน หรือสิทธิเรียกร้องอื่นๆกันก่อน
เมื่อศาลตัดสินให้ลูกหนี้ชำระเงินแล้วแต่ลูกหนี้ไม่ยอมชำระ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิขอให้ศาล ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ (ปวิพ.ม.274)
เมื่อเจ้าหนี้สืบทราบว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องอยู่กับบุคคลภายนอก เช่น สืบทราบว่า ลูกหนี้มีเงินฝากในบัญชีธนาคาร ทำงานกินเงินเดือนอยู่ที่บริษัทไหน หรือ มีสิทธิรับเงินตามสัญญาจ้างจากใคร
เจ้าหนี้ก็มีหน้าที่จะต้องไปตั้งเรื่องกับเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการ อายัดเงินในบัญชี เงินเดือน เงินโบนัส หรือเงินค่าจ้าง จากบุคคลภายนอก
ทั้งนี้คำว่า “บุคคลภายนอก” หมายถึง บุคคลที่มีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินหรือโอนทรัพย์สินให้กับลูกหนี้ ตามนิติกรรมหรือสิทธิหน้าที่ระหว่างกัน เช่น สิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน สิทธิตามสัญญาจ้างทำของ สิทธิสัญญาฝากทรัพย์ เป็นต้น
เจ้าพนักงานบังคับคดีรับคำร้องแล้ว ทำอย่างไรต่อ ?
เมื่อตรวจคำร้องจากเจ้าหนี้เสร็จแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดี ก็จะมีหนังสือคำสั่งแจ้งการอายัดสิทธิเรียกร้องไปยังบุคคลภายนอก และลูกหนี้
ในคำสั่งอายัด เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีคำสั่งห้ามบุคคลภายนอกชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ถูกอายัด ให้กับลูกหนี้ และมีคำสั่งให้บุคคลภายนอกชำระหนี้ดังกล่าว ให้กับเจ้าพนักงานบังคับคดีแทน เพื่อที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้นำไปชำระให้กับเจ้าหนี้ต่อไป (ปวิพ ม.316)
บุคคลภายนอกที่ได้รับคำสั่งอายัดจากจากเจ้าพนักงานบังคับคดี มีสิทธิโต้แย้งคัดค้านว่าคำสั่งอายัดดังกล่าวไม่ถูกต้อง ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งอายัด (ป.วิ.พ.325)
ตัวอย่างการโต้แย้ง เช่น ลูกหนี้ไม่มีเงินฝากในบัญชีธนาคาร หรือเงินฝากไม่ถึงจำนวนยอดที่อายัด จำเลยไม่ได้ทำงานอยู่ที่บริษัทนี้ หรือจำเลยออกจากงานไปแล้ว เป็นต้น (เทียบเคียง ฎ.3793/2535 , ฎ.652/2508 , ฎ.2202/2554 )
ทั้งนี้เมื่อบุคคลภายนอกรับทราบคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ยังชำระหนี้ให้ลูกหนี้ไปโดยฝ่าฝืนคำสั่ง จะไม่สามารถอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิด ได้ว่าตนเองได้ชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ไปแล้ว และบุคคลภายนอกก็ยังมีหน้าที่จะต้องชำระเงิน ตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี (ปวิพ ม.320 (1) )
ตัวอย่างเช่น
บริษัทนายจ้าง ได้รับคำสั่งอายัดเงินเดือน และเงินโบนัส ของลูกหนี้ จากกรมบังคับคดี แต่ก็ยังฝืนจ่ายเงินเดือนให้ลูกหนี้ไป เช่นนี้ บริษัทนายจ้างไม่สามารถอ้างได้ว่า ได้จ่ายเงินเดือนและเงินโบนัสให้ลูกหนี้ไปหมดแล้ว (เทียบ ฎ.959/2537 ,ฎ.3729/2552 )
2.บุคคลภายนอกไม่ยอมส่งเงินมาตามคำสั่งอายัด จะต้องทำอย่างไร
ถ้าบุคคลภายนอกยังไม่ส่งเงินมาตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะแจ้งให้เจ้าหนี้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
หลังจากนั้นหากเจ้าหนี้มีความประสงค์จะดำเนินการบังคับคดีต่อไป เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้จะต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลภายนอกปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี หรือชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ (ปวิพ ม.321)
ซึ่งทั้งสองแบบนั้น ใช้ในกรณีแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
1.ให้บุคคลภายนอกปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
กรณีเช่นนี้ พบเจอบ่อยที่สุด และมักใช้กับการอายัดเงิน เช่น ลูกหนี้ได้รับคำสั่งอายัดแล้ว ไม่ยอมชำระเงินให้กับเจ้าพนักงานบังคับคดี หรือยังฝืนไปชำระเงินให้กับลูกหนี้
2.ชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้
ใช้ในกรณี ใช้กับการอายัดทรัพย์เฉพาะสิ่ง เช่น เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งอายัดรูปภาพมูลค่าหลายสิบล้านไว้ และแจ้งให้บุคคลภายนอกทราบแล้ว แต่บุคคลภายนอกกลับนำรูปภาพดังกล่าวไปมอบให้ลูกหนี้โดยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ต่อมารูปภาพดังกล่าวสูญหายหรือเสียหาย ย่อมทำให้เจ้าหนี้เสียหายกรณีเช่นนี้ กฎหมายให้อำนาจเจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลภายนอกชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่
แต่กรณีเช่นนี้ ไม่ค่อยมีในทางปฏิบัติครับ เพราะส่วนมากจะเป็นการอายัดเงินเสียมากกว่า
ยื่นคำร้องเสร็จแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ
เมื่อศาลได้รับคำร้องขอให้ศาลบังคับบุคคลภายนอกชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ตาม ปวิพ ม.321 แล้ว ศาลจะทำการไต่สวนตัวโจทก์ พร้อมกับออกหมายเรียก ลูกหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดี และบุคคลภายนอก มาศาล เพื่อทำการค้นหาความจริงว่าเป็นอย่างไร
โดยศาลมักจะมีคำสั่งว่า หากจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือบุคคลภายนอกจะโต้แย้งคัดค้านคำร้องของเจ้าหนี้ ก็ให้คัดค้านมาภายในวันนัด
ในวันนัด ต้องทำอย่างไร
ในวันนัดเจ้าหนี้จะต้องเตรียมพยานหลักฐานต่างๆไปให้พร้อมไต่สวน เพื่อแสดงว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องอยู่กับบุคคลภายนอกจริง โดยพยานหลักฐานที่ใช้ในการไต่สวน เช่น สลิปเงิน สัญญาจ้าง หลักฐานการส่งประกันสังคม คำขอเปิดบัญชีและรายการเดินบัญชี เป็นต้น
เมื่อศาลไต่สวนแล้วได้ความว่า บุคคลภายนอกทราบคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว แต่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง
ศาลจะมีคำสั่ง ให้บุคคลภายนอกชำระหนี้ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่ง หรือให้บุคคลภายนอกชำระค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่เห็นสมควร แล้วแต่กรณีและเมื่อศาลมีคำสั่งดังกล่าวแล้ว ศาลจะออกคำบังคับให้บุคคลภายนอกชำระหนี้ภายในกำหนด(เทียบ ฎ.773/2549)
ถ้าศาลสั่งแล้วยังไม่ปฏิบัติตามจะเป็นยังไง
ถ้าบุคคลภายนอกยังไม่ปฏิบัติตาม ขั้นตอนต่อไป เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอให้ศาลบังคับคดีกับบุคคลภายนอกเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
และศาลจะออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดและอายัดทรัพย์สินของบุคคลภายนอก มาชำระหนี้ตามคำพิพากษา เสมือนกับบุคคลภายนอกเป็นลูกหนี้เองครับ
ทั้งนี้คำสั่งของศาลตามมาตรา 321 นี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ถึงที่สุด หรือห้ามอุทธรณ์ฎีกาแต่อย่างใด ดังนั้นหากคำสั่งดังกล่าวกระทบสิทธิผู้ใด ผู้นั้นย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ เช่นถ้าศาลยกคำร้อง เจ้าหนี้ก็อุทธรณ์ได้ หรือถ้าศาลสั่งให้บุคคลภายนอกชำระหนี้ บุคคลภายนอกก็อุทธรณ์ ฎีกาได้ (เทียบเคียง ฎ.6976/2556)
สรุป
ถ้าท่านเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา อายัดเงินเดือน จากบริษัทนายจ้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไปแล้ว บริษัทนายจ้างไม่ยอมส่งเงินมาให้ ท่านก็แก้ปัญหาได้ง่ายๆ ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาล ตาม ปวิพ. ม.321
และหากศาลมีคำสั่งแล้ว บริษัทนายจ้างยังดื้อแพ่งไม่ยอมจ่ายเงิน ท่านก็สามารถขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ยึดอายัดทรัพย์สินของบริษัทนายจ้างได้ เสมือนบริษัทนายจ้างเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเองครับ
ซึ่งวิธีการเดียวกันนี้ ก็นำไปใช้กับการอายัดสิทธิเรียกร้องอื่นๆ เช่น การอายัดเงินฝากในบัญชีธนาคาร หรืออายัดเงินค่าจ้าง ด้วยครับ
หนังสือค้นคว้าและอ้างอิงประกอบการเขียนบทความ
การบังคับดคีแพ่ง เอื้อน ขุนแก้ว
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วย การบังคับคดี จรัญ ภักดีธนากุล