บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ต่อสู้คดีเช็ค จากประสบการณ์จริง ตอน เช็คค้ำประกัน – รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินตามเช็คได้ 

สำหรับตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญาในวันนี้ จำเลยพร้อมสามีมาหาผมที่สำนักงาน โดยแจ้งว่า เป็นแฟนเพจติดตามเพจผมมาเป็นเวลานาน และพอดีเกิดมีคดีความขึ้นเลยนึกหาผม และมาหาให้ผมช่วยต่อสู้คดีให้ 

โดยแจ้งว่าตนเองถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค เป็นยอดเงินประมาณ 3 ล้านบาท โดยมีเช็คจำนวน 3 ใบ ขอให้ผมช่วยต่อสู้คดีให้ 

ข้อเท็จจริงในคดี 

โดยจำเลยเล่าให้ฟังว่า ตัวจำเลยและสามีประกอบอาชีพขายเครื่องประดับประเภท Jewelry ต่างๆโดยจะรับสินค้ามาจากตัวโจทก์มาเพื่อทำการขายต่อ ได้ทำการค้าขายกับตัวโจทก์มาเป็นเวลานาน 

ธรรมดาแล้วตัวโจทก์จะให้เครดิตกับจำเลยในการรับสินค้าไปก่อน แล้วค่อยเอาไปจ่ายเงินทีหลัง ทำการค้าขายเช่นนี้มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว 

โดยที่ผ่านมาทั้งตัวโจทก์และจำเลยไม่เคยค้าขายโดยการใช้เช็คต่อกันเลย แต่เป็นการค้าขายด้วยการใช้เงินสดหรือการโอนเงินเข้าบัญชีด้วยกันตลอดมา 

ต่อมาจำเลยประสบปัญหาด้านการเงิน ทำให้หมุนเวียนเงินไม่ทัน และได้นำสินค้าบางส่วนของโจทก์ออกไปขาย และเอาไปจำนำเอาเงินมาหมุนเวียน และไถ่ถอนไม่ทันทำให้เป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนหนึ่ง 

หลังจากนั้นโจทก์ได้พยายามกดดัน และเรียกร้องให้จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ จำเลยพยายามปฏิเสธอยู่หลายครั้ง พ่อบอกว่าตั้งแต่เกิดมาจนอายุ 50 กว่าปี ก็ไม่เคยมีสมุดบัญชีเช็ค ไม่เคยใช้เช็คมาก่อน 

แต่โจทก์ก็ได้แนะนำแกมบังคับ ให้ตัวจำเลยไปเปิดเช็คในธนาคารแห่งหนึ่ง โดยโจทก์เป็นคนแนะนำกระบวนการขั้นตอนต่างๆทั้งหมดในการออกเช็ค และการเปิดสมุดบัญชีเช็ค 

และหลังจากนั้นโจทก์ก็เป็นคนกำหนดยอดหนี้ ประเมินตามราคาตามความพอใจของโจทก์ และให้จำเลยออกเช็คตามจำนวนยอดหนี้ที่โจทก์เป็นคนกำหนด และส่งมอบเช็คให้กับตัวโจทก์ไว้ และได้กำหนดวันและเวลาให้ตัวจำเลยจะต้องชำระหนี้ไว้ 

ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนด จำเลยก็ไม่สามารถชำระหนี้ตามเช็คได้ ตัวโจทก์จึงให้นำเช็คฉบับเดิมมาคืนและให้ออกเช็คฉบับใหม่ และเช็คฉบับใหม่ก็ไม่สามารถขึ้นเงินได้อีก 

หลังจากนั้นตัวโจทก์ก็ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน และได้ยื่นฟ้องคดีเองโดยตรงต่อศาลต่อมา 

ประเด็นข้อต่อสู้ 

คดีนี้ผมตั้งประเด็นข้อต่อสู้ไว้หลักๆ 2 ประเด็นด้วยกันก็คือ 

1.เช็คดังกล่าวเป็นเช็คที่ไม่มีมูลหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยโจทก์ไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆเกี่ยวกับข้อมูลที่มาแสดง มู่ลี่ที่ปรากฏในเช็คเป็นมูลที่โจทก์สรุปยอดหนี้เอาเอง โดยไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆมาประกอบ 

2.เช็คดังกล่าวเป็นเช็คค้ำประกัน โดยโจทก์ให้จำเลยออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยสถานะทางการเงินไม่ดี ติดปัญหาหลายอย่าง และจำเลยไม่เคยใช้เช็คไม่เคยออกเช็คมาก่อน ไม่สามารถชำระเงินตามเช็คได้ 

ข้อกฎหมาย 

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. ๒๕๓๔

มาตรา ๔  ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น

(๒) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้

(๓) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น

(๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้

(๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต

เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

คำอธิบาย 

ในความผิดตามพรบเช็ค จะต้องได้ความว่าการออกเช็คนั้นจะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย หากปรากฏว่าหนี้นั้นเป็นหนี้ที่ไม่มีอยู่จริง ไม่มีพยานหลักฐาน เป็นหนี้ที่ไม่แน่นอน ย่อมไม่เป็นความผิดตามพรบเช็ค 

นอกจากนี้จะต้องได้ความว่า เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ไม่ใช่เป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันหนี้ หากปรากฏว่าเจตนาของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย รู้ดีอยู่แล้วว่าเช็คดังกล่าวไม่สามารถที่จะขึ้นเงินได้อย่างแน่นอน แต่ต้องการจะให้ออกเช็คไว้เพื่อเป็นหลักประกัน เพื่อความสบายใจ หรือเพื่อจะใช้ดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้ในภายหลัง ยอมไม่เป็นความผิดตามพรบเช็ค 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2556 แม้หนังสือสัญญาเงินกู้และหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน จะมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงและจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย โดยเฉพาะพฤติการณ์แห่งการกระทำทั้งหลายในขณะที่มีการออกเช็ค หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งความสัมพันธ์และการกระทำซึ่งโจทก์ทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้น เชื่อว่าขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ล่วงหน้า โจทก์ทราบดีแล้วว่าจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ แต่ที่โจทก์ยอมรับเช็คก็เพื่อเป็นประกันหนี้และอาจนำมาฟ้องร้องบีบบังคับจำเลยเป็นคดีอาญาได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6223/2534  ครั้งแรกที่จำเลยยืมเงินโจทก์ โจทก์ได้ไปเปิดบัญชีให้จำเลยเพื่อให้จำเลยออกเช็คมาใช้เงินแก่โจทก์ หลังจากนั้นจำเลยได้นำเงินสดมาชำระแก้โจทก์การยืมเงินครั้งที่สองครั้งที่สามจำเลยออกเช็คมอบให้โจทก์ไว้ครั้งละ 1 ฉบับ ก็เพื่อเป็นประกันว่าจำเลยจะไม่โกงเงินที่จำเลยยืมไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ออกเช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันเงินที่จำเลยยืมไปจากโจทก์เท่านั้นเช็คพิพาท 2 ฉบับเป็นเช็คที่จำเลยมอบให้โจทก์ในการยืมเงินครั้งที่ 4 และครั้งที่ 5 เพื่อประกันเงินจำนวนที่จำเลยยืมไปเช่นเดียวกับเช็คฉบับก่อน ๆ โดยโจทก์จำเลยไม่มีเจตนาจะให้ใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1498/2514  จำเลยออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ โดยไม่มีเจตนาที่จะให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นมอบให้แก่ ต. แล้วต่อมา ต. ได้นำเช็คฉบับนี้ไปขอแลกเงินสดจากผู้เสียหาย โดยขณะที่ผู้เสียหายรับเช็คไว้รู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นเช็คที่ไม่มีเงินดังนี้แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อผู้เสียหายนำไปยื่นขอรับเงิน จำเลยก็ยังไม่มีความผิดฐานออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น


การถามค้าน 

ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง 

คดีนี้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ผมมองว่าเป็นคดีที่ไม่มีความยากนัก ข้อเท็จจริงไม่ซับซ้อน ผมจึงมอบหมายให้ทนายความประจำสำนักงานคือ ทนายอภิสิทธิ์ สมรูป หรือทนายเบียร์ เป็นคนไปถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง 

ซึ่งปรากฏว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ทนายอภิสิทธิ์ ได้ถามค้าน พยานโจทก์ไว้หลายประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์กับรูปคดีอย่างมาก 

เช่น ตัวโจทก์ตอบคำถามค้านว่า “ ตั้งแต่มีปัญหาจำเลยไม่จ่ายเงินให้กับข้าฯจนถึงวันที่จำเลยออกเช็คใหเข้าฯ ข้าทราบสถานะทางการเงินของจำเลยว่าไม่สามารถจ่ายเงินคืนตามเช็คให้กับข้าฯได้ “ 

ซึ่งแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่าในขณะที่ตัวโจทก์รับเช็คจากจำเลย ตัวตนเองก็ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะจ่ายเงินตามเช็คได้

อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นเพียงแค่คดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ถึงแม้การถามค้านจะถามไว้ค่อนข้างดี และมีประเด็นต่างๆที่พยานฝ่ายโจทก์ตอบไว้เป็นประโยชน์กับฝ่ายจำเลยหลายประเด็น แต่ศาลชั้นต้นก็ได้สั่งประทับรับฟ้องไว้ก่อน 

ชั้นพิจารณา 

เมื่อคดีมาถึงชั้นพิจารณา ผมจึงได้ออกว่าความถามค้านในคดีนี้เอง โดยได้ทำการตั้งประเด็นถามค้านไปตามแนวข้อต่อสู้ที่ได้วางไว้

ซึ่งปรากฏว่าพยานโจทก์ได้ตอบคำถามค้านหลายอย่างที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เช่น 

  • ยอมรับว่าในการค้าขายกันที่ผ่านมา ไม่เคยใช้เช็คกันเลย 
  • ยอมรับว่าจำเลยเคยแจ้งว่า ไม่เคยใช้เช็คมาก่อนในชีวิต 
  • ยอมรับว่าเป็นคนแนะนำ และแจ้งให้จำเลยเป็นคนไปเปิดสมุดบัญชีเช็ค 
  • ยอมรับว้่เป็นคนแนะนำธนาคารและสาขาที่จะไปเปิดเช็คให้จำเลย
  • เป็นคนแนะนำให้จำเลยเขียนเช็ค และระบุจำนวนเงิน และวันที่สั่งจ่าย
  • สถานะทางการเงินดีอยู่แล้วว่าจำเลยน่าจะไม่สามารถจ่ายตามเช็คได้ 
  • ยอมรับว่าที่ให้ออกเช็ค ก็เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินคดีอาญา 
  • ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนเช็คมาก่อนหน้านี้เนื่องจากจำเลยไม่มีเงินชำระตามกำหนดเดิม 

ทั้งนี้ในการถามค้านนั้น ผมได้ใช้เทคนิคต่างๆที่เคยได้เขียนอธิบายอย่างละเอียด ในบทความเรื่องนี้ไปติดตามอ่านกันได้เลยครับ

” ถามค้าน 101 ” – รวมพื้นฐาน 12 เทคนิคการถามค้าน ที่ทนายความต้องรู้ก่อนขึ้นว่าความ

 


ผลคำพิพากษา

คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยให้เหตุผลทำนองว่า การที่โจทก์ให้จำเลยออกเช็คในคดีนี้นั้น โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยไม่เคยใช้เช็ค การค้าขายระหว่างทางไม่เคยออกเช็คมาก่อน และเมื่อเช็คถึงกำหนดก็มีการเปลี่ยนเช็ค ทำให้เห็นได้ว่าตัวโจทก์เองรู้อยู่แล้วว่าจำเลยไม่สามารถชำระเงินตามเช็คได้

รายละเอียดคำพิพากษา

ซึ่งคดีนี้คงจะมีการยื่นอุทธรณ์ฎีกากันต่อไป อ่านผลเป็นอย่างไรผมจะมาแจ้งให้ทราบแต่คิดว่าโอกาสที่คดีจะเปลี่ยนแปลงหรือกลับผลนั้นเป็นไปได้ยากมากแล้ว 


สรุป 

คดีเช็คเป็นคดีที่มีแนวทางการต่อสู้คดีได้หลากหลาย ซึ่งในประเด็นที่นิยมใช้ในการต่อสู้คดีกันก็คือ อ้างว่าเป็นเช็คค้ำประกัน หรือมูลหนี้ไม่มีอยู่จริงหรือไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย 

ดังนั้นหากเราเป็นฝ่ายโจทก์ จึงจะต้องวิเคราะห์ข้อเท็จจริงให้ดีก่อนยื่นฟ้อง และสืบพยานโดยป้องกันหรือปิดแนวทางการต่อสู้คดีดังกล่าวให้ดี 

และหากเราเป็นฝ่ายจำเลยก็สามารถใช้ตัวอย่างการทำงานในคดีนี้ มาเป็นประโยชน์ในการทำงานหรือปรับใช้ตามรูปคดีของตนเองได้ครับ 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น