คัมภีร์ ขอพิจารณาคดีใหม่ ภาคปฎิบัติสำหรับคนทำงาน
การขอพิจารณาคดีใหม่ คืออะไร
ถ้าหากเราตกเป็นจำเลยในคดีแพ่ง และไม่ได้รับหมายเรียกจากศาลหรือไม่ทราบว่าถูกฟ้องคดี ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆก็ตาม
เราย่อมไม่ได้ไปศาลตามกำหนด ซึ่งตามกฎหมายจะถือว่าเราขาดนัดยื่นคำให้การ และศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว
กรณีเช่นนี้ศาลมักจะมีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี และให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล เพราะเป็นการฟังความจากโจทก์ข้างเดียว ( ป.วิ.พ. ม.198)
ทั้งนี้เมื่อศาลตัดสินให้จำเลยแพ้คดีแล้ว ศาลมักจะมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ หรือขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน หรือสั่งให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้โจทก์ แล้วแต่กรณี
ซึ่งในกรณีที่เราเป็นจำเลย และมาทราบภายหลังว่าถูกพิพากษาให้แพ้คดี และต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา ตามกฎหมาย เราสามารถดำเนินการได้สองทาง คือ
1.อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา
2.ขอพิจารณาคดีใหม่
ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ ต้องเลือกทางใดทางหนึ่งทำพร้อมกันไม่ได้ ( ป.วิ.พ.ม.199 ตรี)
ผมแนะนำอย่างยิ่งที่ต้องใช้การ ขอพิจารณาคดีใหม่ เพราะกรณีที่เราไม่ได้ยื่นคำให้การตั้งแต่ต้น อีกทั้งไม่ได้สืบพยานของตนเอง โอกาสที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับให้เราชนะคดีแทบเป็นไปไม่ได้เลย
นอกจากนี้ธรรมดาแล้วกว่าเราจะทราบเรื่อง ก็มักจะพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปแล้ว
ดังนั้นทางปฏิบัติในความจริง จึงมีทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือการ ” ขอพิจารณาคดีใหม่ “
ซึ่งผมแนะนำว่า ควรรีบเข้ามาปรึกษาทนายความให้เร็วที่สุด เพราะตามกฎหมายแล้ว การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ จะต้องยื่นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
กำหนดเวลาในการ ขอพิจารณาคดีใหม่
เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีแล้ว ศาลจะส่งคำบังคับให้จำเลย เพื่อแจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา ภายในกำหนดระยะเวลาประมาณ 15-30 วัน (ปวิแพ่ง ม.272 -273)
การส่งคำบังคับมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จำเลยทราบว่า ศาลพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติอย่างไร และให้โอาสจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาก่อนที่จะถูกดำเนินการบังคับคดี
การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ จะต้องยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ส่งคำบังคับ
ถ้ายังไม่มีการเริ่มส่งคำบังคับ หรือการส่งคำบังคับไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระยะเวลาการยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ก็ยังไม่เริ่ม (ฎ.2433/2523,ฎ.244/2524)
โดยการนับวันนั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่คำบังคับมีผล ไม่ใช่นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาปฏิบัติตามคำบังคับ (ฎ.2812/2536 ,ฎ.1630/2527, ฎ.2176/2542 )
คำบังคับจะมาส่งให้จำเลย ตามภูมิลำเนาของจำเลยตามทะเบียนบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ศาลจะเป็นคนถือมาส่ง หากมีคนอยู่ก็จะต้องเซ็นรับ
หากตอนเจ้าหน้าที่ศาลถือหมายมาส่งให้จำเลย ไม่มีคนเซ็นรับเอกสาร เจ้าหน้าที่ศาลก็จะการแขวนหรือปิดคำบังคับไว้ที่หน้าบ้าน ซึ่งกรณีนี้ระยะเวลาที่คำบังคับมีผลก็จะบวกไปอีก 15 วัน
ถ้าเราไม่ได้รับคำบังคับ เพราะความผิดพลาดในกระบวนการส่งหมาย เช่น
บ้านที่เจ้าหน้าที่ศาลไปส่งคำบังคับไม่ใช่บ้านของเรา (ส่งผิดบ้าน)
บ้านที่ส่งคำบังคับไม่มีสภาพเป็นบ้านแล้วเหลือแต่เสา
คำบังคับที่ปิดไว้ปิดไม่แข็งแรงจนหมายตกหล่นสูญหาย
ย่อมถือว่าเป็นการส่งคำบังคับโดยไม่ชอบ ระยะเวลายื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ก็จะยังไม่เริ่มนับ
( ฎ.664/2539 ,ฎ.5698/2541 )
แต่ถ้าเราไม่ได้รับคำบังคับ โดยไม่ใช่ความผิดพลาดในการส่งหมาย เช่น
เจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายให้ตรงที่อยํูตามทะเบียนบ้านเราแล้ว แต่เราไม่อยู่ที่บ้านเอง
คนในบ้านของเรารับหมายไว้แล้ว แต่ไม่ได้บอกให้เราทราบ
กรณีเช่นนี้ ระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ก็คือ 15 วัน เช่นเดิม
ถ้ายื่นไม่ทันกำหนดเวลาตามกฎหมาย ต้องทำอย่างไร ?
ถ้าปรากฎว่าเรามาทราบเรื่องว่าถูกฟ้องคดี ภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลายื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ตามกฎหมายแล้ว กฎหมายก็ยังให้สิทธิเราที่จะยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ได้อยู่
เพียงแต่เราจะต้องอธิบายให้ศาลทราบในคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ว่า มีสาเหตุอะไรเราจึงไม่อาจยื่นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสาเหตุดังกล่าวกฎหมายเรียกว่า “พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้
ตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ได้ เช่น
จำเลยเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ จึงไม่ทราบว่าถูกฟ้อง (ฎ.42/2506)
จำเลยเอาบ้านให้บุคคลอื่นเช่า จึงไม่ทราบว่าถูกฟ้อง (ฎ.7331/2540)
จำเลยเจ็บป่วยหนัก ไม่สามารถไปดำเนินการขอพิจารณาคดีใหม่ได้ (ฎ.1128/2519)
เจ้าหน้าที่ศาลคัดถ่ายเอกสารในสำนวนให้จำเลยล่าช้า ทำให้จำเลยไม่สามารถทำคำร้องได้ทัน
ซึ่งเราจะต้องยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เรา “รู้ว่าจะต้องยื่นหรือรู้ว่าถูกฟ้อง” หรือที่ตามกฎหมายใช้คำว่า “พฤติการณ์ดังกล่าวสิ้นสุดลง” (ฎ.2593/2522 )
อย่างไรก็แล้วแต่ การยื่นนั้นจะต้องไม่เกินกำหนด 6 เดือนนับจากวันที่เริ่มมีการยึดทรัพย์หรือบังคับคดีไปแล้ว ถึงแม้เราจะไม่เคยทราบว่าถูกฟ้องเลยก็ตาม
หากเลยกำหนด 6 เดือนนับจากวันที่เริ่มมีการบังคับคดี เราก็จะสิ้นสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ทันที ปวิพ ม.199 จัตวา
เพราะหากไม่มีกำหนดเวลาเลย ก็เท่ากับว่าจำเลยจะมาขอพิจารณาคดีใหม่เมื่อใดก็ได้ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาและการบังคับคดี จะถูกเพิกถอนเมื่อใดก็ได้
ซึ่งย่อมทำให้คำพิพากษาของศาลไม่มีผลเด็ดขาด และทางปฏิบัติเมื่อเริ่มมีการบังคับคดีแล้ว จำเลยก็ควรจะทราบเรื่อง
ตัวอย่างการบังคับคดี เช่น
โจทก์ตั้งเรื่องยึดที่ดินของจำเลย
โจทก์ตั้งเรื่องอายัดเงินเดือนของจำเลย
โจทก์บังคับคดีขับไล่จำเลย
โจทก์การนำเอาคำพิพากษาของศาลไปจดทะเบียนหย่ากับจำเลย (ฎ.1330/2538)
กรณีดังกล่าวนี้ ระยะเวลายื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ย่อมเริ่มนับแต่วันที่มีการบังคับคดี โดยการเริ่มนับนั้น นับตั้งแต่วันเริ่มบังคับคดี ไม่ใช่วันที่บังคับคดีเสร็จสิ้น (ฎ. 1240/2531)
สรุป
การ ขอพิจารณาคดีใหม่ ต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ส่งคำบังคับ แต่ถ้าเราไม่ทราบว่าถูกฟ้องหรือไม่อาจยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ได้ จนเลยกำหนดดังกล่าว ก็ยังสามารถยื่นได้ แต่คำร้องจะต้องบรรยายเพิ่มเติมว่า เหตุใดจึงไม่ยื่นภายในกำหนดหรือไม่ทราบว่าถูกฟ้อง และมาทราบว่าจะต้องยื่นเมื่อไหร่
แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ถ้าเริ่มมีการยึดทรัพย์บังคับคดีแล้ว จะต้องยื่นภายในไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันเริ่มยึดทรัพย์หรือบังคับคดี ( ป.วิ.พ.ม.199 จัตวา)
หลักการบรรยายคำร้อง ขอพิจารณาคดีใหม่
1.บรรยายถึงเหตุที่เราได้ขาดนัดยื่นคําให้การ
ซึ่งหมายถึง สาเหตุที่เราไม่มาศาลตามกำหนด หรือไม่ทราบกำหนดนัดของศาล ถ้าเราไม่บรรยายประเด็นนี้ให้ชัดเจน จะถือว่าเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ ศาลยกคำร้องได้เลยโดยไม่ต้องไต่สวน (ฎ.1481/2510 , ฎ.2365/2518)
ตัวอย่างการบรรยายคำร้อง ประเด็นนี้
• ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยมาทำงานอยู่ที่ บริษัท อุตสาหรกรรมชลบุรี จำกัด และมาเช่าที่พักเป็นคอนโด อยู่ที่ บ้านเลขที่ 51/29 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
จำเลยจึงไม่ได้พักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่บ้านเลขที่ 9999 ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ตามทะเบียนราษฎร ซึ่งเป็นที่อยู่ตามฟ้อง
และที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ดังกล่าว ไม่มีผู้ใดพักอาศัยอยู่ จำเลยจึงไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ รายละเอียดเบื้องต้นปรากฏตาม สัญญาเช่า หนังสือรับรองการทำงาน และทะเบียนบ้าน เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1-3
• ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยเดินทางไปทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2564 และที่บ้านของจำเลยตามทะเบียนราษฎรไม่มีผู้ใดพักอาศัยอยู่ จำเลยจึงไม่ทราบว่าถูกฟ้องคดี รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือเดินทาง เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1
2.บรรยายถึงข้อคัดค้านคำชี้ขาด(คำพิพากษา)ของศาล
ซึ่งหมายถึง การอธิบายว่า คำพิพากษาของศาลคลาดเคลื่อนไปจากความจริงอย่างไร และหากให้โอกาสเรากลับเข้ามาสู้คดี เราจะมีโอกาสชนะคดีได้อย่างไร
โดยจะต้องระบุให้ชัดเจนถึง ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ข้อต่อสู้ แนวทางนำสืบพยานหลักฐาน หากไม่ระบุข้อนี้ ถือเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ ศาลยกคำร้องได้โดยไม่ต้องไต่สวน (ฎ.2595/2529 ฎ.1587/2542 ,ฎ.3123/2545, ฎ.2018/2528 ,ฎ.1425/2509 )
ตัวอย่างการบรรยายคำร้อง ประเด็นนี้
• คดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท
ซึ่งจำเลยขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องนั้นเป็นสัญญาปลอม จำเลยไม่ได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าว รายละเอียดเบื้องต้นปรากฏตามตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยซึ่งปรากฏในเอกสารราชการ เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2
ดังนั้นถ้าจำเลยได้เข้ามาต่อสู้คดีนี้ ย่อมมีโอกาสที่จำเลยจะชนะคดี
• คดีนี้ศาลพิพากษาขับไล่ให้จำเลยและบริวาร ออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 10,000 บาท
ซึ่งความจริงแล้ว จำเลยมีสิทธิ์อยู่ในที่ดินพิพาทเนื่องจากได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ไว้ รายละเอียดปรากฏตาม สัญญาเช่าเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2
ดังนั้นถ้าจำเลยได้เข้ามาต่อสู้คดีนี้ย่อมมีโอกาสที่จำเลยจะชนะคดีได้
3.บรรยายว่าเรายื่นคำขอภายในกำหนดเวลา
ประเด็นนี้กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ว่าเราจะต้องระบุไว้ในคำร้องด้วย แต่ทางปฏิบัติเราก็ควรระบุไว้ เพื่อเป็นข้อมูลให้ศาลตรวจสอบได้โดยง่าย
ตัวอย่างการบรรยายคำร้อง ประเด็นนี้
• คดีนี้ศาลส่งคำบังคับให้กับจำเลยโดยจำเลยเป็นคนเซ็นรับเอง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาที่จำเลยจะต้องยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 จำเลยยื่นคำขอพิจารณาใหม่ในวันนี้ จึงเป็นการยื่นภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
• คดีนี้ยังไม่มีการส่งคำบังคับให้กับจำเลย ระยะเวลาการยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ถึงยังไม่นับ จึงถือว่าจำเลยยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
4.ถ้ายื่นเกินกำหนดเวลา ก็ต้องอธิบายว่าทำไมยื่นเกิดกำหนด
ซึ่งหมายความว่าถ้าเราไม่ได้ยื่นตามกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย เราก็ต้องอธิบายศาลว่าเหตุใดเราถึงไม่อาจยื่นได้ภายในกําหนดและเรามาทราบว่าจะต้องยื่นเมื่อไหร่ หรือที่กฎหมายใช้คำว่า พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้
และที่สำคัญเราจะต้องบรรยายให้ชัดเจนถึง “เวลาเริ่มต้น” และเวลา”สิ้นสุด” ของเหตุการณ์ดังกล่าว ถ้าไม่บรรยายมาให้ชัดแจ้ง ถือว่าเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ ศาลยกคำร้องได้เลยโดยไม่ต้องไต่สวน (ฎ.1817/2547)
ตัวอย่างการบรรยายคำร้อง ประเด็นนี้
• คดีนี้จำเลยทราบว่าถูกฟ้องเป็นคดีนี้ เนื่องจากจำเลยได้ถูกอายัดเงินเดือนโดยฝ่ายบุคคลของบริษัทจำเลยแจ้งให้จำเลยทราบว่าถูกฟ้องคดีนี้ จำเลยจึงมอบหมายให้ทนายความมาตรวจสำนวนที่ศาล และพบว่าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รายละเอียดปรากฏในสำนวนของศาลแล้วนั้น
จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำขอได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ส่งคำบังคับ เนื่องจากจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ จนมาทราบเมื่อทนายความหมายตรวจสำนวนที่ศาลและแจ้งให้จำเลยทราบ
• คดีนี้จำเลยเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือเดินทางของจำเลยเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1
เมื่อกลับมาถึงบ้านจำเลยจึงพบว่ามีคำบังคับและหมายศาลติดอยู่ที่หน้าบ้าน ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 15 วันนับแต่วันที่ส่งคำบังคับ จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำขอได้ภายในกําหนดเพราะเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
5.บรรยายว่าคดีมีเหตุสมควรที่ศาลควรอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่
ประเด็นนี้กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องระบุไว้ในคำร้อง แต่ควรอย่างยิ่งที่ทนายความจะต้องระบุไว้ เพราะการที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่นั้น เป็นอำนาจที่ศาลใช้ดุลยพินิจได้กว้างขวาง
ถึงแม้การขาดนัดยื่นคำให้การของเราเป็นไปโดยจงใจ คือ รู้อยู่แล้วว่าต้องมาศาล แต่ไม่ยอมมาสู้คดี แต่ศาลก็อาจจะอนุญาตให้เรายื่นคำให้การได้หากมี “เหตุอันสมควร” (ปวิพ ม.199 เบญจ วรรคสอง และ ฎ.468/2539)
ตัวอย่างการบรรยายคำร้อง ประเด็นนี้
• คดีนี้มีทุนทรัพย์สูงเป็นเงินจำนวนถึง 30 ล้านบาท ดังนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ความจริง
• คดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวด้วยเรื่องอำนาจปกครองบุตร เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลกระทบต่อความผาสุกและสวัสดิภาพของบุตรผู้เยาว์
• คดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิอสังหาริมทรัพย์ มีผลกระทบต่อบุคคลเป็นจำนวนมากซึ่งพักอาศัยอยู่ในอสังหาริมทรัพย์พิพาท จึงควรเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีรายชื่อแจ้งข้อเท็จจริงให้ชัดแจ้ง
เทคนิคทางปฏิบัติในชั้นศาล
3.1 สอบข้อเท็จจริงและประเมินรูปคดี
ก่อนที่จะยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ทนายความจะต้องสอบข้อเท็จจริงให้ได้ความครบถ้วนว่า เหตุใดจำเลยจึงไม่ไปศาลตามกำหนดนัด และรูปคดีเป็นอย่างไร มีโอกาสที่จะต่อสู้คดีได้หรือไม่
ถ้ารูปคดีดูแล้วถึงพิจารณาคดีใหม่ไปก็ไม่มีโอกาสที่จะชนะคดีได้ อาจจะใช้วิธีเจรจากับโจทก์ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ไขปัญหา
3.2รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง
ในการจัดทำคำร้อง ทนายความจะต้องรวบรวมข้อมูล เช่น สัญญาเช่าที่พัก หนังสือรับรองการทำงาน หนังสือเดินทาง และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดี เพื่อใช้ในการทำคำร้อง
3.3 คัดถ่ายเอกสารในสำนวนศาล
ก่อนยื่นคำร้อง ทนายความควรต้องไปคัดสำเนาคำฟ้อง คำเบิกความ รายงานกระบวนพิจารณา รายงานการส่งหมาย และเอกสารต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการทำคำร้อง
เช่น เพื่อที่จะทราบว่าศาลตัดสินคดีว่าอย่างไร การส่งหมายให้แก่จำเลยมีข้อผิดพลาดหรือไม่ คำฟ้องของโจทก์มีข้อคลาดเคลื่อนจากความจริงหรือไม่
3.4 ทำคำร้องของดการบังคดี
เป็นอำนาจของศาลตามปวิแพ่งมาตรา 199 เบญจ ที่จะงดการบังคับคดีไว้เป็นการชั่วคราว ระหว่างพิจารณาคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งศาลจะใช้อำนาจหรือไม่ก็ได้ เป็นดุลยพินิจของศาล
ดังนั้นเราจึงควรยื่นคำร้องขอให้ศาลงดการบังคับคดีไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นถ้าหากจำเลยถูกบังคับคดีระหว่างการดำเนินการขอพิจารณาคดีใหม่ โดยจะเขียนขอไปในคำร้องพิจารณาคดีใหม่ หรือทำเป็นคำร้องของดการบังคับคดีแยกอีกฉบับก็ได้
ตัวอย่างการบรรยายคำร้อง ของดการบังคับคดี
คดีนี้ จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่มาในวันนี้รายละเอียดปรากฏตามคำร้องที่ยื่นมาพร้อมกันแล้ว
เนื่องจากปัจจุบันโจทก์อยู่ระหว่างการบังคับคดียึดที่ดินจำเลยออกขายทอดตลาดรายละเอียดปรากฏตามสำเนารายงานการยึดทรัพย์เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1
ซึ่งถ้าหากระหว่างการขอพิจารณาคดีใหม่ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินคดีใหม่แต่ปรากฏว่าทรัพย์ดังกล่าวได้ถูกขายทอดตลาดออกไปแล้วก็จะเกิดความเสียหายแก่จำเลยและเกิดความยุ่งยากแก่ทุกฝ่าย
ดังนั้นจึงขอศาลที่เคารพโปรดงดการบังคับคดีไว้เป็นการชั่วคราวระหว่างการดำเนินคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
3.4 วางเงินค่านำส่งหมายและค่าธรรมเนียม
คำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ไม่ใช่คำร้องฝ่ายเดียว ดังนั้นศาลจะต้องส่งสำเนาให้แก่โจทก์ เพื่อทราบว่าโจทก์จะคัดค้านหรือไม่ ตาม ปวิพ ม.21
เมื่อยื่นคำร้องไปแล้วศาลจะสั่งให้เราส่งสำเนาให้กับโจทก์ และหากมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวศาลจะมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำสั่งและคำร้องให้กับเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย
ทางปฏิบัติเราจะต้องวางเงินค่านำส่งหมายให้กับโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดี หากไม่วาง จะถือว่าเราทิ้งคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (ฎ.821/2511)
นอกจากนี้เราจะต้องเตรียมคำร้องขอปิดหมาย/ขอส่งหมายข้ามเขตไปพร้อมกันด้วย
3.5 การไต่สวนคำร้อง
ในวันนัดไต่สวนคำร้องเราจะต้องเตรียมพยานบุคคลพยานเอกสารและพยานวัตถุไปให้พร้อม เพราะถ้าโจทก์คัดค้านคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลจะอนุญาตตามคำขอเราไม่ได้ จนกว่าจะได้ทำการไต่สวนก่อนมีคำสั่ง
ถ้าพยานบุคคลพยานเอกสารหรือพยานวัตถุใดที่เราไม่สามารถนำมาศาลด้วยตนเองได้ เราก็สามารถออกหมายเรียกจากศาลได้ทั้งนี้ควรจะยื่นบัญชีระบุพยานไปพร้อมกับการยื่นคำร้องเลย
โดยในบัญชีระบุพยานก็ควรระบุว่า เป็นบัญชีพยานชั้นไต่สวนคำร้องและชั้นพิจารณาด้วย
และทางปฏิบัติให้เตรียมคำเบิกความพยานไปเลย แล้วเตรียมใส่คำเบิกความพยานไปด้วยเพื่อความสะดวกของความทุกฝ่าย เพราะศาลเองก็นิยมใช้วิธีนี้
อย่างไรก็ตามถ้าฝ่ายโจทก์ไม่คัดค้าน ศาลก็สามารถอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ไปได้เลย โดยไม่ต้องไต่สวน (ฎ.6844/2540)
3.6 อย่าลืมเช็คใบแต่งทนายความ
คำร้องพิจารณาคดีใหม่เป็นกิจการพิเศษที่ต้องระบุไว้โดยเฉพาะในใบแต่งทนายความ ตาม ปวิพ.ม. 62 ดังนั้นในใบแต่งทนายความ จะต้องระบุให้อำนาจไว้ด้วยว่า ให้พิจารณาคดีใหม่
ถ้าใบแต่งทนายความลืมระบุว่าข้อความว่าให้ทนายความมีอำนาจยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ มิฉะนั้นย่อมถือว่า เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลไม่พึงรับไว้พิจารณา
3.7 ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นเท่านั้น
ถ้าหากฝ่ายโจทก์ไม่พอใจผลของคำพิพากษา เช่น โจทก์ฟ้องมายอด 1 ล้านบาท ศาลตัดสินให้เพียง 1 แสน บาท และโจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาอยู่
เช่นนี้การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นเท่านั้น แม้คดีจะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ หรือฎีกา ก็ตาม ทั้งนี้ตาม ปวิพ ม.7(1) เทียบ ฎ.76/2523
3.8 ถ้าจำเลยถึงแก่ความตายไปก่อน ทายาทของจำเลยขอพิจารณาใหม่ได้
เพราะคำขอพิจารณาคดีใหม่ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว โดยทายาทที่จะต้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ ตาม ปวิพ ม.43 เสียก่อน และยื่นคำร้องพิจารณาคดีใหม่ต่อไป (ฎ.1890/2536)
3.9 ถ้าศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่
คำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ถือว่าเป็นที่สุด โจทก์อุทธรณ์ไม่ได้ (ฎ.2770/2549)
และเมื่อศาลอนุญาตให้ทำการพิจารณาคดีใหม่แล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้ยื่นคำให้การภายในกำหนด เช่นมีคำสั่งให้จำเลยยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับจากวันนี้ หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนพิจารณาต่อไป โดยทำการนัดไกล่เกลี่ย ชี้สองสถาน หรือสืบพยาน (ปวิพ ม.199 เบญจ วรรคสาม)
โดยผลของคำพิพากษาทั้งหมดจะเป็นอันยกเลิกไป และการบังคับคดีต่างๆที่ได้ทำลงก็จะถูกเพิกถอนไป (ฎ.3368/2537)
3.10 ถ้าศาลไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่
แต่ถ้าศาลไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ จำเลยยื่นอุทธรณ์ได้เลย ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
อย่างไรก็ตามหากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเรื่องการขอพิจารณาคดีใหม่เป็นอย่างไรแล้ว ถือว่าเป็นที่สุด จำเลยฎีกาต่อไม่ได้ ตามปวิพ ม.199 เบญจ วรรคสี่ (ฎ.3529/2546 )
การยื่นอุทธรณ์คำสั่งจะต้องวางค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ตาม ปวิพ ม229 ด้วย มิฉะนั้นถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ (ฎ.7489/2546 ,2689/2546 )
ตัวอย่าง คําร้องขอพิจารณาคดีใหม่
ผมได้นำตัวอย่างคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ จากประสบการณ์จริง มาให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เห็นภาพกันง่ายๆ โดยคดีดังกล่าว จำเลยถูกฟ้องหย่า เรียกอำนาจปกครองบุตรและค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
ซึ่งปรากฏว่าจำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ตามทะเบียนบ้าน จำเลยจึงไม่ทราบว่าถูกฟ้อง ศาลจึงพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไปฝ่ายเดียว
จำเลยมาทราบเรื่องเนื่องจากฝ่ายโจทก์โทรมาข่มขู่ ว่าจำเลยแพ้คดีแล้วจะต้องโดนยึดทรัพย์ ผมจึงไปตรวจสำนวนที่ศาล จึงทราบว่าจำเลยถูกพิพากษาให้แพ้คดีไปแล้ว เนื่องจากไม่ทราบว่าถูกฟ้อง
ผมจึงได้จัดการทำคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ยื่นต่อศาล และสุดท้ายศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่และทั้งสองฝ่ายก็ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลกัน คดีเสร็จสิ้นไปด้วยดีครับ
ดูตัวอย่างคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ได้ด้านล่างเลยครับ
ตัวอย่างเพิ่มเติม
1.การร้องขอพิจารณาคดีใหม่ กรณีเข้าใจกำหนดวันนัดคลาดเคลื่อนในสถานการณ์โควิท (คลิกเพื่ออ่าน)
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่
1.ค่าทนายความไม่มีการกำหนดตายตัว แต่สำหรับ สำนักงาน พิศิษฐ์ศรีสังข์ ทนายความ คดีลักษณะนี้มีค่าใช้จ่ายโดยรวม ประมาณ 15,000 ถึง 25,000 บาท ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและระยะเวลาเดินทางการทำงาน
2.ค่าส่งหมายให้กับโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดี ตามจริงประมาณ 500-1,500 บาท
3.ค่าคัดถ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องประมาณ 500 บาท
ตำราอ้างอิงที่ใช้ประกอบการเขียนบทความ ฉบับนี้
1.คำอธิบาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 2 ว่าด้วย วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น ของท่านอาจารย์ มนตรี ยอดปัญญา อดีตประธานศาลฎีกา
2.คำอธิบาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 2 ลักษณะ 2 ว่าด้วย วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น หมวด 2 ของท่านอาจารย์ ศ.ไพโรจน์ วายุภาพ อดีตประธานศาลฎีกา
3.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับอ้างอิง ดร.วรรณชัย บุญบำรุง กับพวก
4.คู่มือปฏิบัติราชการของตุลาการ ส่วนวิธีพิจารณาความแพ่ง
สุดท้ายนี้ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ กับเพื่อนทนายความและผู้สนใจ ผมตั้งใจจะเขียนบทความให้ครบทุกประเด็น เพื่อใช้เป็นคู่มือในการทำงาน ถ้าเพื่อนๆมีความจำเป็นจะต้องยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่สามารถอ่านข้อมูลจากบทความนี้และสามารถไปทำงานได้เลยครับ