บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

ผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายทรัพย์มรดก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทหรือไม่ ? รวมข้อกฎหมายและคำพิพากษาครบทุกประเด็น

ผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายทรัพย์มรดก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทหรือไม่ ? 

ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาที่ทนายความและนักกฎหมายจะได้พบเจอในทางปฏิบัติเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเอง ยังมีแนวการวินิจฉัยที่แตกต่างกันไปในแต่ละคดี

จึงเป็นปัญหาที่น่าสนใจว่า ความจริงแล้วผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายทรัพย์มรดกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทหรือไม่ ?

เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจและทบทวนหลักกฏหมายเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการมรดกและผู้จัดการมรดกก่อนว่า   เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดได้แก่ทายาท

และในการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกันนั้น ถ้าไม่มีเหตุขัดข้องใด ทายาทก็สามารถดำเนินการแบ่งทรัพย์สินกันเองได้

แต่ถ้าหากมีเหตุขัดข้องในการแบ่งทรัพย์มรดก เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการให้  หรือทายาทไม่สามารถตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันได้ ก็จะต้องมีการจัดตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น

โดยทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจะต้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาล เพื่อขอให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น

และเมื่อมีการจัดตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว การจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ก็ต้องกระทำผ่านทางผู้จัดการมรดก ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 

เมื่อศาลตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว บุคคลนั้นย่อมมีอำนาจและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อย่างเดียวคือ

เพื่อจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้กับทายาทให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือตามพินัยกรรม ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 

ทรัพย์มรดกที่มายังไม่ได้แบ่งนั้น ทายาททุกคน มีสิทธิและหน้าที่ เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว  และกฎหมายให้นำบทบัญญัติว่าด้วย กรรมสิทธิ์รวมมาใช่เท่าที่ไม่ขัดกันกับบทบทบัญญัติในบรรพ 5 

หรืออธิบายง่ายๆว่า กฎหมายให้ถือเสมือนหนึ่งว่าทายาททุกคนถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์มรดก และสิทธิหน้าที่ต่างๆของทายาทที่มีต่อทรัพย์มรดกย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1356-1366

เว้นแต่บทบัญญัติใดในเรื่องกรรมสิทธิ์รวมขัดกับบทบัญญัติ ในบรรพ 5 เรื่องมรดก ก็จะไม่นำกฎหมายเรื่องกรรมสิทธิ์รวมมาใช้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1745 

การแบ่งทรัพย์มรดก ระหว่างทายาทนั้น เมื่อกฎหมายให้นำข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์รวมมาบังคับใช้ เท่าที่ไม่ขัดบรรพ 5 ดังนั้นในการแบ่งทรัพย์มรดก จึงต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

คือ การแบ่งทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวม อาจตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมหรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน

แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ว่าจะแบ่งกันอย่างไร เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งไม่เท่ากันจะสั่งให้ทดแทนเป็นเงินก็ได้

ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนัก ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้  ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1364 

ถ้าทรัพย์มรดกเป็นทรัพย์สินที่สามารถแบ่งกันได้ง่ายๆเช่นเงินสด หรือเงินฝากในบัญชี  หรือหุ้น ทายาทย่อมสามารถแบ่งกันได้ตามสัดส่วนและสิทธิแต่ละคนมี

แต่ในกรณีที่ทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน หรือเป็นรถยนต์  ทายาทไม่สามารถจะตกลงกันได้ว่า ทายาทคนไหนจะได้ส่วนไหน หรือทายาทคนไหนจะได้ทรัพย์ชิ้นไหน หรือในกรณีที่ทายาทบางส่วนอยากให้ เก็บที่ดินทรัพย์มรดกไว้ แต่ทายาทบางส่วนต้องการให้ขาย

ปัญหาข้อกฎหมายที่น่าสนใจในเรื่องนี้ ก็คือ

  1. ผู้จัดการมรดกมีสิทธิในการขายทรัพย์มรดก เพื่อนำเงินที่ได้มาแบ่งให้กับทายาท โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทบางคนได้หรือไม่ ?
  2. การขายทรัพย์มรดกดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอมหรือขออนุญาตศาลก่อนหรือไม่ ?
  3. ถ้าหากบุคคลภายนอกผู้สุจริตได้ซื้อทรัพย์มรดกดังกล่าวไปแล้ว ทายาทคนอื่นๆที่ไม่ได้ให้ความยินยอมสามารถฟ้องขอเพิกถอนการซื้อขายได้หรือไม่ ?

ในประเด็นนี้ ถ้าดูจากข้อกฎหมายในเรื่องกรรมสิทธิ์รวมคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1364 ได้บัญญัติไว้ว่าก่อนจะนำทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมออกขาย เจ้าของรวมต้องขออนุญาตศาลก่อน

  แต่หากดูจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา มาตรา 1719  ได้วางหลักไว้ว่า ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นทุกประการ เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก

เพราะจะเห็นได้ว่า บทบัญญัติ บรรพ 5 เรื่องมรดก คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 ได้วางหลักเกณฑ์แนวทางในเรื่องนี้ไว้แล้วว่า ผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจกระทำการที่จำเป็นเพื่อทำการแบ่งปันทรัพย์มรดกได้

ดังนั้นถ้าทายาทไม่สามารถตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันได้ การขายทรัพย์มรดกในราคาที่สมควรเพื่อนำเงินที่ได้มา แบ่งให้แก่ทายาทนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดก 

อีกทั้งจะเห็นได้ว่า ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ย่อมผ่านกระบวนการกลั่นกรองของศาลมาแล้วก่อนตั้งผู้จัดการมรดก ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ย่อมมีอำนาจขายทรัพย์มรดกได้ โดยไม่ต้องไปขออนุญาตศาลขายทรัพย์มรดกอีกครั้งหนึ่ง

และการขายดังกล่าว หากเป็นการขายเพราะมีความจำเป็นเพื่อดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท การขายดังกล่าวไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน เพราะเป็นอํานาจหน้าที่ของ ผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 อยู่แล้ว 

ตามความเห็นของผู้เขียน จึงเห็นว่า

“ผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจขายทรัพย์มรดกได้ โดยไม่จำต้องขออนุญาตศาลอีก และไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน และหากผู้ซื้อทรัพย์ซื่อทรัพย์โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน ทายาทก็เพิกถอนไม่ได้”

โดยแนวคำพิพากษาศาลฎีกา วินิจฉัยไปสอดคล้องกับความเห็นของผู้เขียนดัง ดังนี้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1701/2520 วินิจฉัยทำนองว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายฝากทรัพย์มรดกได้ โดยมีการอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่  1236/2491 ซึ่งเป็นฎีกาประชุมใหญ่ ที่วินิจฉัยว่าผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายทรัพย์มรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19759/2557 วินิจฉัยทำนองว่าผู้จัดการมรดกซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายด้วย โอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองแต่เพียงผู้เดียว ในฐานะที่ตนเองเป็นทายาทที่มีสิทธิ์ได้รับมรดก สามารถกระทำได้ ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท หากการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทายาทคนอื่นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ทายาทคนอื่นจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก และหากผู้จัดการมรดกจัดการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์มรดกดังกล่าวไปให้แก่บุคคลภายนอกผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทนไปแล้ว ทายาทคนอื่นไม่มีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนการจำหน่ายจ่ายโอนดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1241/2531 วินิจฉัยทำนองว่า หากทายาทไม่สามารถรังวัดแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกกันได้เนื่องจากที่ดินมรดกติดถนนไม่เท่ากัน ผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจขายทรัพย์มรดกเพื่อนำเงินที่ได้มาแบ่งให้กับทายาทได้  โดยอาศัยความเห็นชอบของทายาทของส่วนใหญ่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21793/2556 วินิจฉัยทำนองว่า ในการแบ่งทรัพย์มรดก ผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายทรัพย์มรดกได้ เพื่อนำเงินที่ได้มาแบ่งให้แก่ทายาทได้ ถ้าขายในราคาที่เหมาะสม และโดยสุจริต และด้วยความเห็นชอบของทายาทส่วนใหญ่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6595/2539 วินิจฉัยทำนองว่าการขายทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก เป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตศาลก่อนและไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 711/2545 วินิจฉัยทำนองว่า อำนาจในการนำทรัพย์มรดกขายทอดตลาดหรือประมูลขายกันเองนั้นเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 อยู่แล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะมายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตขายทรัพย์มรดกอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6219/2559 วินิจฉัยจำนองว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายทรัพย์มรดกได้ เมื่อได้รับความยินยอมจากทายาทเสียงส่วนใหญ่แล้ว ถึงแม้จะมีทายาทบางคนคัดค้าน ก็ตาม ผู้จัดการมรดกก็มีอำนาจขายได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตศาลอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2387/2529 วินิจฉัย ว่าผู้จัดการมรดกมีอำนาจทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมรดก แม้ทายาทไม่ได้เห็นชอบยินยอมด้วยก็เป็นเรื่องที่ทายาทจะต้องว่ากล่าวกับผู้จัดการมรดกเป็นอีกส่วนหนึ่ง หาทำให้สัญญาจะซื้อจะขายเสียไปไม่

อย่างไรก็ดีมีคำพิพากษาศาลฎีกาส่วนหนึ่งที่วินิจฉัยทำนองว่า ผู้จัดการมรดกไมมีสิทธิขายทรัพย์มรดกในส่วนของทายาทคนอื่น โดยไม่ได้รับได้รับความยินยอมจากทายาทคนนั้นก่อน

แต่หากวิเคราะห์ให้ละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ล้วนแต่มีข้อเท็จจริงเฉพาะคดีที่พิเศษกว่าคดีอื่นๆ เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2551 วินิจฉัยทำนองว่าผู้จัดการมรดกไม่มีอำนาจนำทรัพย์มรดกไปขายได้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาท และถ้าได้ทำการขายไปแล้วบุคคลภายนอกแม้จะสุจริตเสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว ก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินมรดกในส่วนของทายาทที่ไม่ได้ให้ความยินยอม

อย่างไรก็ดีเมื่อวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ ปรากฏว่าทายาทมีการฟ้องคดีขอให้ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้จัดการมรดกโอนแบ่งที่ดินมรดกให้กับทายาทแล้ว แต่ผู้จัดการมรดกไปชิงขายทรัพย์มรดกเสียก่อน โดยหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล จึงเห็นได้ชัดเจนว่าการขายทรัพย์มรดกดังกล่าว  ไม่ได้ทำไปเพื่อแบ่งทรัพย์มรดก แต่ทำไปเพื่อฉ้อฉลและเพื่อเจตนาไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจกระทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2559 วินิจฉัยทำนองว่าผู้จัดการมรดกไม่มีอำนาจนำทรัพย์มรดกไปขายได้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาท ถ้าขายไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาท ทายาทมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนได้

แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ซื้อทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ใช่บุคคลภายนอก แต่เป็นทายาทคนหนึ่งในกองมรดกนั้น และการซื้อขายทรัพย์มรดกก็็เป็นการซื้อโดยไม่สุจริต และการขายทรัพย์มรดกดังกล่าว มีลักษณะของการฉ้อฉล ไม่ได้เป็นการขายเพื่อแบ่งทรัพย์มรดกแต่อย่างใด ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814/2554 วินิจฉัยทำนองว่าผู้จัดการมรดกไม่มีอำนาจนำทรัพย์มรดกไปขาย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาท และถ้าได้ทำการขายไปแล้วบุคคลภายนอกแม้จะสุจริตเสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนแล้ว ก็ไม่ได้สิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินมรดกในส่วนของทายาทที่ไม่ได้ให้ความยินยอม

ซึ่งถ้าพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงในคดีนี้โดยละเอียดแล้ว ปรากฎว่า ผู้จัดการมรดกไม่ได้เป็นทายาทที่มีสิทธิ์ได้รับมรดก และทำการขายทรัพย์มรดกไปโดยไม่ได้ปรึกษาทายาทคนอื่นเลย แต่ทำไปโดยพลการลำพังคนเดียว โดยที่ทายาทโดยธรรมทุกคนไม่ได้ให้ความยินยอมหรือเห็นด้วยแต่อย่างใดมีลักษณะของการขายเพื่อนำเงินไปใช้ประโยชน์ ของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้เป็นการขายเพื่อนำไปแบ่งให้แก่ทายาท ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจขาย

จะเห็นได้ว่า ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกามีข้อเท็จจริงเฉพาะคดีที่พิเศษกว่าคดีอื่นๆ  ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการขายทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดกดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้กับทายา แต่เป็นไปโดยฉ้อฉล และโดยทุจริต เป็นการขายทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และทำให้กองมรดกเสียหาย 

ดังนั้นแล้ว จึงไม่อาจถือแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เป็นหลักได้ว่า ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จะต้องได้รับความยินยอมจากทายาทในการขายทรัพย์มรดกเสียก่อน

แต่คงจะต้องถือตามหลักกฎหมายที่ว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายทรัพย์มรดกได้หากมีความจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อแบ่งทรัพย์มรด

อย่างไรก็ตามถ้าหากผู้จัดการมรดก กระทำการฉ้อฉล เบียดบังทรัพย์มรดกมาเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียว หรือร่วมมือกับบุคคลภายนอกผู้ไม่สุจริตหรือไม่เสียค่าตอบแทน เพื่อนำทรัพย์มรดกเป็นของตนเองหรือของผู้อื่นโดยไม่สุจริต

เช่นนี้การกระทำของผู้จัดการมรดกไม่ถือว่าเป็นการใช้อำนาจในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719

แต่ถือว่าเป็นการทำนิติกรรมโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นอันบุคคลภายนอกได้ให้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1724 วรรค 2 และเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์แก่กองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 17222 ถือเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดก  ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจกระทำการดังกล่าว

และถ้าผู้จัดการมรดกได้กระทำการดังกล่าวไปแล้ว การกระทำดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันทายาทคนอื่นที่ไม่ได้ให้ความยินยอมด้วย ทายาทย่อมมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนการดังกล่าวแล้ว และถ้าทรัพย์มรดกดังกล่าวได้มีการโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้ว แม้บุคคลภายนอกสุจริต เสียค่าตอบแทน ก็อาจถูกเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ได้

โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3568/2548 วินิจฉัยว่าผู้จัดการมรดกโอนขายทรัพย์มรดกให้แก่บุคคลภายนอก โดยบุคคลภายนอกไม่เสียค่าตอบแทนและไม่สุจริต ทายาทโดยธรรมมีสิทธิ์ฟ้องขอเพิกถอนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2541 วินิจฉัยทำนองว่าในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดกนั้นถ้ามีความจำเป็นต้องขายทรัพย์มรดกเพื่อทำการแบ่งมรดกให้แก่ทายาทย่อมกระทำได้ แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าการขายทรัพย์มรดกนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริต และไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะขายเพื่อประโยชน์ของกองมรดกหรือเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาท ย่อมเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจของผู้จัดการมรดก ผู้จัดการมรดกไม่มีอำนาจจะทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2534 วินิจฉัยทำนองว่าผู้จัดการมรดกไม่มีอำนาจนำทรัพย์มรดกไปจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ส่วนตัวของตนเอง เมื่อผู้รับจำนองรับจำนองไว้โดยไม่สุจริตทายาทคนอื่นจึงมีสิทธิ์ฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการจดจำนองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 111/2528 วินิจฉัยทำนองว่าผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกมาเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียว แล้วโอนขายให้ทายาทอีกคนหนึ่งซึ่งรับซื้อไว้โดยไม่สุจริต ไม่ใช่การใช้อำนาจจัดการมรดกแต่เป็นการฉ้อฉล ทายาทมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนได้

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2557 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มาเป็นของตนเองคนเดียว และต่อมาได้โอนยกให้ จำเลยที่ 2 ซึ่งบุคคลภายนอก โดยไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทน ต่อมาจำเลยที่ 2 ขายทรัพย์นั้นให้กับจำเลยที่ 3 ซื้อทรัพย์ไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและจดทะเบียนแล้ว ทายาทคนอื่นก็มีสิทธิ์ฟ้องขอเพิกถอนได้

ทั้งนี้ให้สังเกตว่า สาเหตุที่คดีนี้สามารถฟ้องขอเพิกถอน การซื้อขายได้ทั้งๆที่จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็เนื่องจากการโอนทรัพย์มรดกระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น โดยผู้โอนไม่มีสิทธิโอนมาตั้งแต่ต้น เพราะนิติกรรมระหว่างจำเลยที่1 และจำเลยที่ 2 ไม่ใช่การโอนขายทรัพย์มรดกมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นการโอนยกให้โดยไม่มีค่าตอบแทน 

สรุป

การที่ผู้จัดการมรดกจะมีอำนาจขายทรัพย์มรดกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า การขายทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดกนั้น เป็นการกระทำไปเพื่อกระทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกเพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือไม่

ถ้าเป็นการขายตามอำนาจหน้าที่ เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกย่อมมีอำนาจจะขายได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน เพราะเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดกที่สามารถกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719

แต่ถ้าการขายหรือจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดกเป็นไปโดยไม่สุจริต มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบให้กับตนเองหรือผู้อื่น ไม่ได้กระทำไปเพื่อนำเงินที่ได้มาแบ่งให้กับทายาท

เช่นนี้ ย่อมถือเป็นการกระทำเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1722 และเป็นการทำหน้าที่โดยฉ้อฉลและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1724 วรรคสอง เจ้ามรดกย่อมไม่มีอำนาจกระทำได้

ตัวอย่าง เช่น

ในกรณีดังต่อไปนี้ผู้จัดการมรดกมีสิทธิ์ขายทรัพย์มรดกได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน 

1.ทายาทเสียงส่วนใหญ่ให้ความยินยอมในการขาย มีเพียงเสียงส่วนน้อยไม่ต้องการให้ขาย

2.การขายเป็นการขายตามราคาสมควรในท้องตลาด ของทรัพย์มรดกนั้นๆ  

3.มีความจำเป็นต้องขาย เพราะไม่สามารถตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันด้วยวิธีอื่นได้ 

4.เป็นการขายเพื่อนำเงินที่ได้ไปแบ่งปันให้แก่ทายาท 

5.ผู้จัดการมรดกกระทำการโดยสุจริต ไม่ได้ผลประโยชน์ใดๆในการดังกล่าว 

เช่นนี้การขายทรัพย์มรดกเพื่อนำเงินที่ได้มาแบ่งให้แก่ทายาท ถือเป็นการกระทำการเท่าที่จำเป็น เพื่อจัดการแบ่งทรัพย์มรดกซึ่ง ผู้จัดการมรดกมีอำนาจกระทำได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 ถึงแม้ทายาทบางคนจะไม่ยินยอมก็ตาม ทายาทที่ไม่ได้ให้ความยินยอมนั้น ย่อมไม่มีสิทธิ์ฟ้องเพิกถอนการซื้อขายดังกล่าวได้ 

แต่หากเป็นกรณีดังต่อไปนี้ ผู้จัดการมรดกไม่มีอำนาจกระทำได้ 

1.เป็นการโอนให้แก่บุคคลภายนอก โดยไม่เสียค่าตอบแทน 

2.ทำการขายโดยไม่สุจริต เพราะเห็นแก่ประโยชน์ที่บุคคลภายนอกเสนอให้ หรือโดยทุจริต

3.ขายในราคาต่ำเกินสมควร หรือต่ำกว่าราคาท้องตลาด 

4.เป็นการฝ่าฝืนความยินยอมของทายาทเสียงส่วนใหญ่ เช่นทายาทส่วนใหญ่ต้องการให้ ประมูลขายกันเองระหว่างทายาทก่อน หรือต้องการให้ทำการแบ่งกันเองก่อน แต่ผู้จัดการมรดกชิงเอาไปขายให้แก่บุคคลภายนอก 

5.มีพฤติการณ์อื่นๆที่ชี้ให้เห็นว่าการขายทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท แต่เป็นการขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือโดยทุจริต และการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้จัดการมรดกได้ประโยชน์ที่ตนเองไม่ควรได้ แต่กองมรดกรวมทั้งทายาทอื่นๆต้องเสียประโยชน์ที่ไม่ควรเสีย 

เช่นนี้การขายทรัพย์มรดกดังกล่าว ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจของผู้จัดการมรดกเพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันทรัพย์มรดก แต่เป็นการทำหน้าที่โดยฉ้อฉลและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1722 และมาตรา 1724 วรรค 2 ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจขายทรัพย์มรดกส่วนของทายาทคนอื่น ที่ไม่ได้ให้ความยินยอมได้ และถ้าได้ทำการขายทรัพย์ไปแล้วการกระทำดังกล่าวก็ไม่ผูกพันทายาทที่ไม่ได้ให้ความยินยอมด้วย 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts