ความรู้เกี่ยวกับการว่าจ้างทนายความ, คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

ผู้จัดการมรดกไม่ยอมแบ่งมรดก ต้องทำอย่างไร ? รวม 4 วิธีติดตามทรัพย์มรดก แบบเข้าใจง่าย-ละเอียดครบทุกประเด็น

ผู้จัดการมรดกไม่ยอมแบ่งมรดก ให้กับทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก หรือ ทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ทำให้ทายาทได้รับความเสียหาย  จะแก้ปัญหาอย่างไร ? 

วันนี้ผมจะมาอธิบาย 4 วิธีติดตามทรัพย์มรดก  คือ การถอนผู้จัดการมรดก ,การฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์มรดก , การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรม และ การดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานยักยอก 

พร้อมทั้งอธิบายกระบวนการ ข้อกฎหมาย และเทคนิคการดำเนินคดีแต่ละประเภท แบบละเอียดและเข้าใจง่ายครับ 

ดูแบบเป็นวีดีโอใน youtube


ถอนผู้จัดการมรดก 

การแก้ไขปัญหา ผู้จัดการมรดกไม่แบ่งมรดก วิธีแรก คือการขอให้ศาลถอนผู้จัดการมรดกและตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่เข้าทำหน้าที่แทน 

ตัวบทกฎหมาย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1727 ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง

คำอธิบาย

หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้จัดการมรดกทำผิดหน้าที่ หรือมีเหตุสมควรให้ศาลถอนผู้จัดการมรดก

ตัวอย่างเช่น

  1. ผู้จัดการมรดกไม่เริ่มทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน หรือไม่ยื่นบัญชีทรัพย์มรดกส่งต่อศาลภายใน 1 เดือน ตามที่กฎหมายกำหนด (ป.พ.พ.ม. 1728-1729) ฎ.1555/2534 , ฎ.822/2524 , ฎ.5229/2534 , ฎ.5789/2533
  2. ผู้จัดการมรดกยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก โดยปิดบังจำนวนทายาทที่แท้จริง หรือปิดบังจำนวนทรัพย์มรดก ส่อเจตนาให้เห็นว่าไม่สุจริต , ฎ.1914/2529 , ฎ.3357/2531 ,ฎ.4812/2531 
  3. ผู้จัดการมรดกไม่ดำเนินการแบ่งทรัพย์สินให้กับทายาทให้เสร็จสิ้น และไม่ทำรายงานแสดงบัญชีการแบ่งทรัพย์มรดกต่อศาล ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด ( ป.พ.พ.1732) ฎ.2516-2517/2521 , ฎ.473/2535 
  4. ผู้จัดการมรดก ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกไปในทางที่จะเกิดความเสียหายแก่ทายาทโดยธรรม เช่นประกาศขายทรัพย์มรดกในราคาที่ต่ำเกินสมควร โอนทรัพย์มรดกให้ตนเองคนเดียว หรือมีพฤติการณ์ไม่รักษาผลประโยชน์ของกองมรดก  ฎ.1476/2523 , ฎ.6847/2555 , ฎ.3414/2537
  5. ผู้จัดการมรดก ปฏิเสธหรือเพิกเฉย ไม่ทำการแบ่งทรัพย์มรดกให้กับทายาทเมื่อทายาททวงถาม ฎ.4730/2552  , ฎ.201/2537 

หากเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งในทำนองดังกล่าว ทายาทผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดก ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิม และขอตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนได้

ทางปฏิบัติก็อาจจะเป็นตัวทายาทที่ขอเพิกถอน ที่ขอตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่ หรืออาจจะเป็นคนอื่นๆก็ได้ ที่ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย และทายาทเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ

หลังจากยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกต่อศาลไปแล้ว ศาลก็จะนัดไต่สวนคำร้องหลังจากนั้นประมาณ 1-2 เดือน โดยจะส่งสำเนาคำร้องให้ผู้จัดการมรดกทราบ

เมื่อถึงวันนัดไต่สวน ทางปฏิบัติศาลก็จะไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกัน 

หากตกลงกันได้ว่าจะดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกกันแบบไหนอย่างไร คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ก็สามารถจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดกกันที่ศาลได้เลย 

และเพื่อการปฏิบัติให้เสร็จตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งสองฝ่ายอาจจะตกลงว่าทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน และจัดการแบ่งทรัพย์มรดกไปตามวิธี และสัดส่วนตามที่ตกลงกันก็ได้ 

แต่หากทุกฝ่ายไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ศาลจะต้องทำการไต่สวน และพิจารณาว่า

1.ผู้จัดการมรดกคนเดิมบกพร่องต่อหน้าที่หรือไม่ 

2.และมีเหตุสมควรถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมหรือไม่ 

3.ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่มีสิทธิและมีความเหมาะสมที่จะขอเข้าเป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่หรือไม่ 

ทั้งนี้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจจะถอนหรือไม่ถอนผู้จัดการมรดกก ตามที่ศาลเห็นสมควร 

ไม่ใช่ว่าเมื่อผู้จัดการมรดกทำผิดหน้าที่แล้ว จะเป็นบทบังคับศาลต้องเพิกถอน 

ซึ่งธรรมดาแล้ว ศาลจะพิเคราะห์ผลเสียหายที่เกิดจากกองมรดกและทายาท ตลอดจนเจตนาของผู้จัดการมรดกว่าจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ในการทำหน้าที่หรือไม่ 

ตลอดจนวิเคราะห์เรื่องที่ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่ เพื่อประกอบการใช้ดุลยพินิจในการเพิกถอน  

โดยแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา วินิจฉัยไปในทำนองว่า การจะเพิกถอนผู้จัดการมรดกหรือไม่นั้น ไม่ใช่บทบังคับว่าเมื่อผู้จัดการมรดกทำผิดหน้าที่แล้วศาลต้องถอน 

แต่ศาลมีอำนาจใช้ดุลยพินิจว่า สมควรให้ผู้จัดการมรดกทำหน้าที่ต่อหรือไม่ โดยพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงโดยรวม

ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้  ฎ.5016/2541ฎ.124/2509 , ฎ.3228/2532  , ฎ.1685/2530 , 5967/2540 , ฎ.6385/2539

หากศาลพิพากษาเพิกถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมและแต่งตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่เข้าทำหน้าที่ ผู้จัดการมรดกคนใหม่ก็มีหน้าที่ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้กับทายาทตามกฎหมายต่อไป 

สรุปแล้ววิธีการนี้ จึงเป็นการแก้ไขปัญหาผู้จัดการมรดกคนเดิมที่ไม่ยอมแบ่งมรดก  ด้วยการถอนผู้จัดการมรดกคนเดิม และแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเข้าใหม่ เข้ามาทำการแบ่งมรดกนั่นเอง

อายุความในการเพิกถอนผู้จัดการมรดก

การขอเพิกถอนผู้จัดการมรดก จะต้องร้องขอก่อนการจัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้น 

เพราะถ้าการจัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้ว หรือหรือผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์ให้บุคคลอื่นไปหมดแล้ว 

ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ หรือถอนผู้จัดการมรดกคนเดิม เพราะไม่เหลือทรัพย์มรดกใดให้จัดการต่อไป

หากการจัดแบ่งทรัพย์มรดกไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปฟ้องร้องดำเนินคดี ตามข้ออื่นๆที่จะกล่าวต่อไป 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่.2894/2552 การร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้นั้นต้องมีเหตุจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 (1) ถึง (3) เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกอื่นนอกจากที่ดินพิพาทซึ่งหลังจากศาลชั้นต้นตั้ง ม. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ม. ได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วก่อนที่ ม. จะถึงแก่ความตายโดยจดทะเบียนใส่ชื่อตนเองในโฉนดที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ม. ในฐานะทายาทกรณีจึงไม่จำเป็นต้องตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีก ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าการจัดการมรดกของ ม. ดังกล่าวไม่ถูกต้องนั้นเป็นข้อพิพาทในเรื่องของส่วนแบ่งมรดกซึ่งผู้ร้องชอบที่จะเสนอคดีเรียกร้องต่อกันโดยตรงอย่างคดีมีข้อพิพาทต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2150/2561 (ป.) การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้วโดยไม่มีทรัพย์มรดกของผู้ตายหลงเหลือให้จัดการอีกต่อไป จึงถือได้ว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว แม้ผู้คัดค้านจะอ้างเหตุว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดผู้คัดค้านและบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ทั้งได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ หรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายอันอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าการปันมรดกรายดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2561)

ถอนผู้จัดการมรดก ยื่นที่คดีเดิมหรือฟ้องเป็นคดีใหม่  ?

การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกนั้น จะยื่นต่อศาลในคดีเดิม ที่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก  หรือจะยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ทางปฏิบัตินิยมยื่นเข้าไปในคดีเดิม 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น ฎ.1407/2515  , 3050/2529 , 4776/2531 

ตัวอย่าง คำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกและขอตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ 

     ข้อ 1. ผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ นาย ช. ผู้ตาย รายละเอียดปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรเอกสารท้ายคำร้องคัดค้านหมายเลข 1.

     นาย ช. ได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว โดยขณะถึงแก่ความตายนั้นมีทายาทโดยธรรมได้แก่นาง บ. ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายและบุตรร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 5 คน ได้แก่ 1. นาย ส. 2. นาง ส.  3. นายไพ 4 .ผู้คัดค้าน 5. ผู้ร้อง ทั้งนี้ บิดามารดาของนาย ช. ได้แก่ความตายไปก่อนหน้านี้นานแล้ว

       ข้อ 2. หลังจากที่ผู้ตายได้ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อศาลเป็นคดีนี้ ซึ่งศาลได้ไต่สวนคำร้องของผู้ร้องและศาลโปรดมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย รายละเอียดปรากฏในสำนวนของศาลท่านแล้วนั้น

       ข้อ 3. ผู้ร้องซึ่งมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกและมีหน้าในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามกฎหมายให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคน 

แต่ปรากฏว่าหลังจากศาลที่เคารพมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้วเมื่อวันที่  2 กรกฎาคม 2552 จวบจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 6 ปี ผู้คัดค้านและทายาทคนอื่นต่างได้พยายามเรียกร้องให้ผู้ร้องดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านและทายาทคนอื่นๆ ให้เสร็จสิ้น

 แต่ปรากฏว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ยอมดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายให้เสร็จสิ้น 

โดยเมื่อผู้คัดค้านทวงถามหรือเรียกร้องให้ผู้ร้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยการลงชื่อผู้คัดค้านและทายาทคนอื่นๆในที่ดินที่เป็นทรัพย์มรดก ผู้ร้องก็จะบ่ายเบี่ยงและแจ้งทำนองว่าผู้ร้องเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกจะดำเนินการกับทรัพย์มรดกอย่างไรก็ได้ ทำให้ผู้คัดค้านและทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายรายอื่นๆได้รับความเสียหาย

 ซึ่งปัจจุบันมีทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องยังไม่ทำการแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรม เท่าที่ผู้คัดค้านทราบ ได้แก่  ที่ดินโฉนดเลขที่ ….. ตำบลหนองยาว อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา รายละเอียดปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายคำร้องคัดค้านหมายเลข 2 

 โดยครั้งสุดท้ายก่อนยื่นคำร้องคดีนี้ผู้คัดค้านเคยมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านและทายาทแล้ว แต่ผู้ร้องก็ยังคงเพิกเฉย รายละเอียดปรากฏตามหนังสือทวงถามและใบตอบรับของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เอกสารท้ายคำร้องคัดค้านหมายเลข 3-4  แต่ผู้ร้องก็ยังเพิกเฉย

    นอกจากนี้นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 แล้วผู้ร้องก็มิได้ดำเนินการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด การกระทำของผู้ร้องถือเป็นการละเลยไม่กระทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามที่กฎหมายกำหนด และประพฤติตนไม่สมควรแก่การเป็นผู้จัดการมรดก 

ประกอบกับปัจจุบันการแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น ผู้คัดค้านในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงขอศาลที่เคารพถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป

     ข้อ 4. ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย อีกทั้งบรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถและบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย มีความประสงค์จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้อง เพื่อดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้ถูกต้องและเป็นไปตามที่กฎหมายต่อไป ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น เมื่อศาลที่เคารพโปรดมีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว โปรดมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ช. ผู้ตาย เพื่อให้มีสิทธิและหน้าที่ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามกฎหมายต่อไป

                                                         ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

                       ลงชื่อ                                    ผู้คัดค้าน

         คำร้องคัดค้านฉบับนี้ข้าพเจ้า นายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์ ทนายความผู้คัดค้าน เป็นผู้เรียงและพิมพ์

                    ลงชื่อ                                    ผู้เรียงและพิมพ์


ฟ้องแบ่งทรัพย์มรดก 

วิธีการติดตามทรัพย์มรดก กรณีนี้ ต่างจากกรณีแรก เพราะทายาทไม่ได้ต้องการขอถอนผู้จัดการมรดก หรือแต่งตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ 

แต่ทายาทต้องการให้ผู้จัดการมรดกคนปัจจุบัน ทำการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้กับทายาทตามกฎหมาย

ตัวบทกฎหมาย 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719  ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก

คำอธิบาย

ผู้จัดการมรดกย่อมมีหน้าที่ในการแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้กับทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 1719 

ตัวอย่าง วิธีการแบ่งทรัพย์มรดกเช่น

1.ทรัพย์มรดกเป็นเงินในบัญชีก็ให้นำมาแบ่งตามสัดส่วนให้กับทายาททุกคน

2.ทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน คอนโด หรืออสังหาริมทัพย์  ก็ให้ดำเนินการจัดแบ่งให้กับทายาททุกคนหรือขายนำเงินมาแบ่งกัน

ทั้งนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ไหมบทความเรื่อง วิธีการแบ่งทรัพย์มรดกประเภทบ้านพร้อมที่ดิน 

3.กรณีเป็นรถยนต์ก็ให้ขายนำเงินมาแบ่งกัน 

4.กรณีเป็นหุ้นในบริษัท ก็ให้นำมาแบ่งตามสัดส่วนกัน 

หากทายาทได้พยายามขอให้ผู้จัดการมรดกทำการแบ่งทรัพย์มรดกให้กับทายาทแล้ว แต่ผู้จัดการมรดกไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้กับทายาท ตามที่กฎหมายกำหนด  

เช่น อ้างว่าเป็นทรัพย์ของกงสีห้ามแบ่ง หรือผัดผ่อนการแบ่งไปเรื่อยๆ หรือปฏิเสธไม่แบ่งด้วยเหตุผลอื่นๆ

การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ของผู้จัดการมรดก  และย่อมถือเป็นการโต้แย้งสิทธิในการรับมรดกของทายาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 

ในกรณีเช่นนี้ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก ย่อมสามารถฟ้องขอให้ผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกให้กับทายาทได้

โดยการฟ้องร้องดำเนินคดีแบ่งทรัพย์มรดกนั้น ทายาทคนใดคนหนึ่งจะเป็นคนฟ้อง หรือทายาทหลายคนจะรวมกันฟ้องเป็นคดีเดียวกันก็ได้ 

ถอนผู้จัดการมรดก กับ ฟ้องแบ่งมรดก ทำพร้อมกันได้ไหม ?

ธรรมดาแล้วทายาทผู้ฟ้องคดี จะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  จะขอถอนผู้จัดการมรดกและขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่  หรือ จะขอให้ผู้จัดการมรดกคนเดิมแบ่งทรัพย์สินให้กับตน 

เพราะจะเห็นได้ว่าคำขอของทั้งสองคดีนั้นแตกต่างกันและขัดแย้งกันเอง เพราะหากจะให้ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมออกไป ผู้จัดการมรดกคนเดิมย่อมไม่มีอำนาจและหน้าที่ที่จะแบ่งทรัพย์มรดกอีกต่อไป

แต่อย่างไรก็ตามบางครั้งทายาทก็อาจใช้วิธีดำเนินคดีทั้งสองประเภทไปพร้อมกัน แล้วค่อยไปเลือกถอนฟ้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่งทีหลังก็ได้ 

สาเหตุที่บางครั้งต้องดำเนินคดี 2 อย่างพร้อมกัน เป็นเพราะการขอถอนผู้จัดการมรดก ถึงแม้จะเป็นกระบวนการที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เพราะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เหมือนการฟ้องให้ผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดก 

แต่ในคดีร้องขอถอนผู้จัดการมรดก ทายาทไม่สามารถดำเนินการขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254 ถึง 264 ได้ ( คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6027/2534 )

ดังนั้นหากไม่มีการฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์มรดกพร้อมกันไปด้วย และปรากฏว่า ยังมีทรัพย์มรดกเป็นชื่อของผู้ตายอยู่ และคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกฉบับเดิมยังมีผลใช้บังคับอยู่ 

ผู้จัดการมรดกคนเดิมก็อาจจะยักย้ายถ่ายเท โอนทรัพย์มรดกไปเป็นของผู้อื่น หรือขายนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหาย และยุ่งยากในการดำเนินคดีมากขึ้น   

ดังนั้น ทนายความ อาจจะเลือกใช้วิธีการฟ้องขอให้ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกไปพร้อมกับการขอถอนผู้จัดการมรดก 

เพื่อทำการขอคุ้มครองชั่วคราว และขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองไม่ให้ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์สินให้กับทายาทระหว่างการดำเนินคดี 

แล้วค่อยไปต่อรองหรือตัดสินใจเลือกเอาว่า จะเป็นผู้จัดการมรดกเอง หรือจะให้ผู้จัดการมรดกคนเดิมแบ่งทรัพย์มรดกให้

อายุความ ฟ้องแบ่งทรัพย์มรดก

ธรรมดาแล้วอายุความคดีขอแบ่งมรดก มีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยไปในทำนองว่า เมื่อศาลตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ถือว่าผู้จัดการมรดกได้ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาททุกคน อายุความสะดุดหยุดลง 

ดังนั้นหากยังมีผู้จัดการมรดกอยู่ ทายาทก็ยังสามารถฟ้องได้ตลอด โดยไม่มีอายุความ

และผู้จัดการมรดก ไม่อาจอ้างเรื่องอายุความมาต่อสู้ เพื่อไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้กับทายาทได้ 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

 ฎีกาที่ 5051/2541  ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ค. เมื่อ ค. ถึงแก่ความตาย  จำเลยที่ 1  ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1  เป็นผู้จัดการมรดก  ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1  เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว  จำเลยที่ 1  ได้ใส่ชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดกลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทรัพย์มรดก  ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 1  ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นเช่นเดียวกัน  โจทก์ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ค. จึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง  โดยไม่มีอายุความ

 ฎีกาที่ 7036/2557  กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754  ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย  หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก  แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น  ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน  แต่สำหรับกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาทนั้น  ตราบใดที่ยังมิได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่แล้วเสร็จถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ระหว่างการจัดการมรดก  ทายาทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกเมื่อใดก็ได้  ไม่มีกำหนดอายุความ เมื่อที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกยังมิได้จัดสรรแบ่งปันแก่ทายาท  จึงถือว่าอยู่ในระหว่างการจัดการทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก  อายุความตามมาตรา 1754  จึงไม่นำมาใช้บังคับ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418/2535 ตามคำให้การจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก และเด็กชายยี่หุบเป็นทายาทคนหนึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกรายนี้ร่วมกับทายาทคนอื่นคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน จำเลยได้รวบรวมทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกเพื่อแบ่งให้กับทายาทแล้ว กรณีจึงฟังได้ว่า เป็นเรื่องมรดกมีผู้จัดการ อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันตั้งผู้จัดการมรดกทายาทจึงไม่จำต้องฟ้องเรียกให้แบ่งมรดกภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

ตัวอย่างคำฟ้อง ขอแบ่งทรัพย์มรดก

ข้อ 1.โจทก์มีฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ นาย ก. ผู้ตาย ซึ่งเป็นเจ้ามรดก กับนาง บ. รายละเอียดปรากฏตามสำเนาสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1-2

โดยนาย ก. บิดาของโจทก์และจำเลย กับ นาง บ. จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย รายละเอียดปรากฎตามสำเนาใบสำคัญการสมรสเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 

จำเลยมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ นาย ก. ผู้ตายตามคำสั่งของศาลนี้ และจำเลยยังมีฐานะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาของโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามสำเนารายการทะเบียนราษฎร์และคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4-5

ข้อ 2.  เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ผู้ตายถึงแก่ความตายลงด้วยโรคชรา รายละเอียดปรากฏตามสำเนาใบมรณบัตร เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2559 ศาลนี้ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ดังนั้นจำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้กับทายาทตามกฎหมาย ทายาทตามกฎหมายของผู้ตายมีเพียงโจทก์และจำเลย เท่านั้น รายละเอียดปรากฏตามบัญชีเครือญาติ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 7 

ปัจจุบันระยะเวลาผ่านล่วงเลยมาเป็นเวลาประมาณ 2 ปีเศษแล้ว จำเลยกลับไม่ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ตามกฎหมายแต่อย่างใด โดยทรัพย์มรดกของผู้ตายในคดีนี้มีเพียงอย่างเดียวคือ บ้านเลขที่…ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ …… ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี สำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 8โจทก์ได้พยายามพูดคุยและบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้กับโจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย 

ข้อ 3. ก่อนฟ้องร้องดำเนินคดีนี้โจทก์ได้มอบหมายให้ทนายความส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลย ทำการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้กับโจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย  รายละเอียดปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถาม และสำเนาใบตอบรับของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 8 ถึง 9

ดังนั้นโจทก์จึงขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพโปรดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกให้กับโจทก์ ดยให้ดำเนินการตกลงแบ่งกันเองก่อนหากแบ่งไม่ได้ ให้นำที่ดินแปลงดังกล่าวออกประมูลขายระหว่างกันเอง และหากประมูลขายระหว่างกันเองไม่ได้ให้ดำเนินการขายทอดตลาด นำเงินที่ได้มาแบ่งกันตามกฎหมายต่อไป 

โจทก์ไม่มีทางใดจะบังคับจำเลยได้จึงต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง 

อนึ่ง มูลคดีและทรัพย์พิพาทนี้เกิดที่ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้ 

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

คำขอท้ายฟ้อง 

1.ให้จำเลยดำเนินการแบ่งบ้านเลขที่…ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ …… ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้กับโจทก์ 

โดยการแบ่งนั้น ตกลงแบ่งกันเองก่อนหากแบ่งไม่ได้ ให้นำที่ดินแปลงดังกล่าวออกประมูลขายระหว่างกันเอง และหากประมูลขายระหว่างกันเองไม่ได้ให้ดำเนินการขายทอดตลาดนำเงินที่ได้มาแบ่งกันตามกฎหมายต่อไป 

2.ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความอย่างสูงแทนโจทก์


ฟ้องเพิกถอนการโอนทรัพย์มรดก

วิธีการติดตามทรัพย์มรดก วิธีที่สามนี้ เป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกได้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์มรดก ไปเป็นของตนเองหรือบุคคลอื่นแล้ว 

ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้วิธีการถอนผู้จัดการมรดก หรือ เรียกให้แบ่งทรัพย์มรดก แต่เพียงอย่างเดียวได้ 

ตัวบทกฎหมาย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719  ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1724    ทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก

        ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นใด อันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัว ทายาทหาต้องผูกพันไม่ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย

คำอธิบาย

ถ้าผู้จัดการมรดกได้ทำการโอนทรัพย์มรดกเป็นของบุคคลอื่น ไม่ว่าจะทำเป็นการโอนขายให้กับบุคคลอื่น โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์ส่วนตัว

ตัวอย่างเช่น

  1. ขายทรัพย์มรดก โดยไม่ได้เป็นการขายในราคาที่สมควรตามราคาของท้องตลาดฎ.2239/2559 
  2. ผู้รับซื้อหรือผู้รับโอนรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์มรดกที่ทายาททุกคนมีสิทธิ์ได้รับ  ฎ.713/2557
  3. ขายทรัพย์มรดก โดยไม่ได้เป็นการขายเพื่อนำทรัพย์มรดกมาแบ่งให้กับทายาท ฎ.814/2554  , ฎ.1107/2541
  4. โอนมรดกให้กับบุคคลอื่น โดยเป็นการโอนให้โดยไม่มีค่าตอบแทน ฎ.3568/2548
  5. เป็นการรับโอนทรัพย์มรดกเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ให้กับทายาทคนอื่น  ฎ. 111/2528  ฎ.394/2534

การกระทำดังกล่าวของผู้จัดการมรดก ย่อมถือเป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ซึ่งผู้จัดการมรดกไม่มีอำนาจกระทำได้ เป็นนิติกรรมที่ไม่ผูกพันทายาทคนอื่นๆ 

ในกรณีเช่นนี้ทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนหรือการขายทรัพย์มรดกดังกล่าวได้ 

แต่การเพิกถอนดังกล่าว จะต้องไม่กระทบต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เช่น ผู้รับจำนองโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน

แต่ไม่ใช่ว่าทายาทจะเพิกถอน การโอนหรือขายทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก ได้ทุกกรณี 

ถ้าการโอนขายทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก มีลักษณะดังต่อไปนี้ 

1 เป็นการขายในราคาตามท้องตลาด เพื่อแบ่งปันให้กับทายาท 

2.ได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของทายาทแล้ว

3.ผู้รับโอนสุจริตและเสียค่าตอบแทน 

การกระทำดังกล่าวถือว่ายังอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ซึ่งสามารถทำได้และมีผลผูกพันทายาทโดยธรรม และ ทายาทโดยธรรมไม่มีสิทธิขอเพิกถอนแต่อย่างใด 

หลักการพิจารณาว่า การโอนทรัพย์มรดกลักษณะไหนสามารถเพิกถอนได้หรือไม่ได้ ผมเคยได้อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้ว สามารถอ่านได้ใน บทความเรื่อง  “ผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายทรัพย์มรดกได้หรือไม่ ” 

ทั้งนี้การฟ้องคดีเพิกถอนการโอนทรัพย์มรดก ทายาทอาจจะมีคำขอต่อไปว่าภายหลังจากเพิกถอนแล้ว ให้ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์ให้กับทายาทตามสิทธิที่มีต่อ (ดูตัวอย่างการฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ด้านล่างเลยครับ )

อายุความการฟ้อง เพิกถอนการโอนทรัพย์มรดก

ธรรมดาแล้วอายุความคดีมรดก มีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754

แต่ถ้ามีการแบ่งทรัพย์มรดกโดยไม่ชอบ โดยผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่ชอบ ก็ยังถือว่าผู้จัดการมรดกยังครอบครองทรัพย์แทนทายาทคนอื่นอยู่ อายุความก็หยุดลง และทายาทก็มีสิทธิฟ้องติดตามเอาทรัพย์คืนได้ โดยไม่มีอายุความ 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2558  จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส.  ซึ่งมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนซึ่งรวมถึง ป. คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย  การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้ง 3 แปลงให้แก่ตนเองเพียงผู้เดียวจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว  และถือได้ว่าการที่ชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าว  เป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของ ส. ทุกคนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754  ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกได้แก่ ป. บิดาบุญธรรมของโจทก์  คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2539 เดิมป.เจ้ามรดกเป็นเจ้าของที่ดินรวม6แปลงเมื่อป.ถึงแก่กรรมศาลได้มีคำสั่งตั้งจ.เป็นผู้จัดการมรดกของป.และจ.ได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกทั้ง6แปลงดังกล่าวมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจ.ในฐานะผู้จัดการมรดกจ.จึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงเด็กหญิงส. บุตรของป.ซึ่งเกิดกับโจทก์ด้วย

แม้ภายหลังจากที่จ. ได้โอนที่พิพาททั้ง6แปลงมาเป็นของจ.ในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วจ. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่พิพาททั้ง6แปลงไปให้แก่จ.เองในฐานะส่วนตัวนั้นก็จะถือว่าจ. ในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่พิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวยังมิได้เพราะจ.ยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1381

ดังนั้นการที่จ.ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องนำมาแบ่งให้ทายาทไปให้แก่ตนเองทั้งหมดในฐานะเป็นทายาทคนหนึ่งแล้วนำไปโอนให้แก่จำเลยที่2ทั้งหมดก็เป็นการกระทำของในฐานะผู้จัดการมรดกที่กระทำไปโดยปราศจากอำนาจจึงหามีผลผูกพันโจทก์และทายาทอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1720,823 

เมื่อจ.ยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้หรือตามที่ทายาทตกลงกันก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้นจึงจะนำอายุความ5ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1733วรรคสองมาใช้บังคับไม่ได้ 

จ.ครอบครองที่พิพาทแทนทายาททุกคนจึงถือได้ว่าได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ผู้รับมรดกเด็กหญิงส. ด้วยเมื่อโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่ยังมิได้แบ่งกันโจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดเวลาห้ามฟ้องคดีมรดก1ปีและ10ปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1754บัญญัติไว้ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1748เมื่อจ.ได้โอนที่ดินมรดกพิพาททั้ง6แปลงไปให้แก่ตนเองทั้งหมดและโอนให้แก่จำเลยที่2ไปโดยไม่ชอบโจทก์ในฐานะผู้รับมรดกของเด็กหญิงส.ก็ชอบที่ใช้สิทธิในฐานะการเป็นทายาทของเด็กหญิงส.ที่มีอยู่ต่อกองมรดกฟ้องบังคับให้เพิกถอนการโอนที่มรดกดังกล่าวเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2534 ม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 และจำเลยที่ 1 เป็นทายาทของ ล.เจ้ามรดกโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล และได้จัดการโอนมรดกมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามลำพังแล้วนำไปจำนองหนี้ส่วนตัวไว้กับจำเลยที่ 2 โดยทายาทอื่นมิได้รู้เห็นยินยอมย่อมเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 การจำนองดังกล่าวจึงเป็นกิจการที่ได้นำไปนอกชอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิขัดขวางมิให้จำเลยทั้งสองสอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้เสมอ ฟ้องโจทก์จึงไม่เกี่ยวกับคดีมรดก จะนำอายุความตามมาตรา 1754มาบังคับมิได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของล.ที่ตกได้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งเจ็ดไว้กับจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน เมื่อจำเลยที่ 2 รับจำนองไว้โดยไม่สุจริต จึงชอบที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ล.ซึ่งมีทายาทด้วยกัน 11 คนรวมทั้งโจทก์ทั้งเจ็ด การที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองย่อมเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแก่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาทด้วยกันทั้งหมดทุกคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท 1 ใน 11 ส่วน จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งเจ็ดและทายาทอื่นซึ่งรวมแล้วเพียง10 ใน 11 ส่วนเท่านั้น

ตัวอย่าง คำฟ้องเพิกถอนการโอนทรัพย์มรดก 

เรื่อง เพิกถอนนิติกรรม เรียกทรัพย์มรดก

โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของ นาย จ. (ผู้ตาย) กับนาง บ.  ซึ่งบิดามารดาของโจทก์ทั้งสองมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่นาย จ.( ผู้ตาย ) นั้นได้ให้การรับรอง โดยพฤตินัย แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว กล่าวคือ ผู้ตายได้ให้โจทก์ทั้งสองใช้นามสกุล อีกทั้งยังได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองอย่างบุตร โดยแสดงออกให้บุคคลทั่วไปและ รู้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรมาโดยตลอด ดังนั้นโจทก์ทั้งสองจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้ให้การรับรองแล้ว รายละเอียดปรากฏตามเอกสารใบสูติบัตร เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1-2

โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว จึงถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นโจทก์ทั้งสองจึงเป็น ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย

จำเลยเป็นบุตร ของนาย จ. กับ นางสาว พ. ซึ่งทั้งสองมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย โดยนาย จ.( ผู้ตาย ) นั้นได้ให้การรับรองโดยพฤตินัย แก่จำเลยแล้ว กล่าวคือ ผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูจำเลยอย่างบุตร โดยแสดงออกให้บุคคลทั่วไป และรู้ว่าจำเลยเป็นบุตรมาโดยตลอด  จำเลยจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว

จำเลยมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามคำสั่งของศาลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 โดยจำเลยมีอำนาจในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย และแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของผู้ตายตามกฎหมาย รายละเอียดปรากฏตามคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของนาย จ. .(ผู้ตาย) เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3

โดยทายาทโดยธรรมของ นาย จ. มีทั้งหมด 5 คนด้วยกัน คือ 1. นาง ร. ( โจทก์ที่ 1 ) 2. ส. ( โจทก์ที่ 2 ) 3.นาย ส. 4.นาย ม. 5.นาง ก. (จำเลย) รายละเอียดปรากฏตามบัญชีเครือญาติ ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4

ต่อมาเมื่อวันที่  8 ธันวาคม 2554 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ได้กระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ด้วยการโอนทรัพย์มรดกของผู้ตาย คือ

  1. โฉนดเลขที่…… ตำบลบางจาก อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 23 ตารางวา             
  2. โฉนดที่ดินเลขที่ ……….. ตำบลบางจาก อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร  เนื้อที่ 42 ตารางวา

ไปเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียว โดยการโอนที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าว โจทก์ทั้งสองมิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอมแต่อย่างใด รายละเอียดปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินพร้อมเอกสารประกอบการโอนที่ดิน เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 5-7

การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการกระทำโดยมิชอบ ซึ่งจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นจำต้องมีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามส่วน แต่จำเลยกลับหาทำไม่ กลับโอนที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายไปเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิกระทำได้ นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ  และการดังกล่าวเป็นการทำให้โจทก์ทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกตามส่วนของตน มิได้รับการแบ่งทรัพย์มรดกตามส่วนอันโจทก์ทั้งสองควรจะได้รับ จึงทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย

โจทก์จึงประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพโปรดมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรม ที่จำเลยโอน ที่ดินโฉนดเลขที่……….เลขที่ดิน ……. ตำบลบางจาก อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 23 ตารางวา   และที่ดินเลขที่……. เลขที่ดิน ……. ตำบลบางจาก อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร  เนื้อที่ 42 ตารางวา ให้กับตนเองแต่เพียงผู้เดียว  และให้ที่ดินแปลงดังกล่าวกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ ของนาย จ. ผู้ตายดังเดิมต่อไป

 และให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกทำการโอนทรัพย์มรดกโฉนดที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวให้กับโจทก์ทั้งสอง ตามสัดส่วน คือจำนวน คนละ 1 ใน 5 ส่วน ตามสิทธิต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

อนึ่ง นับแต่วันที่จำเลยได้โอนทรัพย์มรดกโฉนดทั้งสองโฉนดดังกล่าวของผู้ตายไปเป็นของจำเลย กล่าวคือ วันที่  8 ธันวาคม 2554  จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 119 เดือน โดยหากนำที่ดินพิพาททั้งสองโฉนดดังกล่าวออกให้เช่า แก่บุคคลทั่วไป ก็จะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 30,000   บาท คิดเป็นเงินจำนวน  3,570,000 บาท (สามล้านห้าแสนเจ็ดหมื่นบาท) ซึ่งถือเป็นดอกผลของทรัพย์มรดก อันทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิ์ทุกคนต้องได้รับ

 การที่จำเลยยังคงถือครองที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าว และนำที่ดินไปปล่อยเช่าให้แก่บุคคลภายนอกนั้น ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องรับผิด ชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 2 ในส่วน 5 ของเงินจำนวน 3,570,000 บาท (สามล้านห้าแสนเจ็ดหมื่นบาท)  นับแต่วันที่ จำเลย โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองโฉนดเป็นของตนเอง  รวมเป็นเงินจำนวน 1,428,000 บาท  (หนึ่งล้านสี่แสนสองหมื่นแปดพันบาท) พร้อมจำเลยจะต้องชำระเงินค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 12,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ ในดินกลับคืนสู่กองมรดก

อนึ่งมูลคดีนี้เกิดที่ แขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร   ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้

โจทก์ทั้งสองไม่มีทางใดจะบังคับจำเลยได้ จึงต้องนำคดีมาขึ้นสู่ศาล เพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง

อนึ่งโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาเป็นผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์ไว้แล้ว และปัจจุบัน ศาลได้ออกหมายจับจำเลยไว้แล้ว และปัจจุบันจำเลยอยู่ระหว่างการหลบหนี โดยหวังให้คดีขาดอายุความ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

คำขอท้ายฟ้อง

  1. ขอศาลโปรดมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรม ที่จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ …… เลขที่ดิน …… ตำบลบางจาก อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 23 ตารางวา   และที่ดินเลขที่ …….เลขที่ดิน …… ตำบลบางจาก อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร  เนื้อที่ 42 ตารางวา ให้กับตนเองแต่เพียงผู้เดียว  และให้ที่ดินแปลงดังกล่าวกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ ของนาย จ. ผู้ตายดังเดิมต่อไป

  2. ให้จำเลย ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินโฉนดเลขที่ …… เลขที่ดิน ….. ตำบลบางจาก อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 23 ตารางวา   และที่ดินเลขที่ ……เลขที่ดิน …… ตำบลบางจาก อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร  เนื้อที่ 42 ตารางวา ให้กับโจทก์ทั้งสอง ตามสัดส่วน คือจำนวน คนละ 1 ใน 5 ส่วน ตามสิทธิต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ตามให้ถือตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

  3. ให้จำเลยชำระเงินจำนวน จำนวน 1,428,000 บาท  (หนึ่งล้านสี่แสนสองหมื่นแปดพันบาท) ให้กับโจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

  4. ให้จำเลยชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 12,000 บาท ต่อเดือน นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจำเลยจะโอนทรัพย์มรดกให้กับโจทก์ทั้งสอง

  5. ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความอย่างสูงแทนโจทก์ทั้งสอง


การดำเนินคดีอาญา ข้อหายักยอกทรัพย์ 

ตัวบทกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา 

มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 352 หรือมาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำอธิบาย 

ในกรณีที่ผู้จัดการมรดก ไม่ใช่แต่เพียงไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดก หรือแบ่งทรัพย์มรดกไม่ถูกต้อง แต่มีพฤติการณ์ยักยอกทรัพย์มรดกนั้น เป็นของตนเอง หรือของบุคคลอื่นโดยทุจริต 

ตัวอย่างเช่น

  1. แต่ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินทรัพย์มรดกให้กับตนเองผู้เดียว ไม่แบ่งทายาทคนอื่น หรือแสดงเจตนาว่าจะเอาทรัพย์มรดกไว้คนเดียว ไม่แบ่งให้คนอื่น ฎ.128/2537 , ฎ.3281/2552 ,ฎ.987/2554
  2. ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้กับทายาทคนหนึ่ง แต่ไม่แบ่งให้กับทายาทอีกคน ทั้งๆที่มีทายาทโดยธรรมหลายคน ฎ. 8651/2558 , ฎ.113/2535 ,ฎ. 3412/2532
  3. ผู้จัดการมรดก โอนให้กับบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีสิทธิได้รับมรดก และไม่มีค่าตอบแทน  ฎ. 532/2553
  4. ผู้จัดการมรดกโอนขายทรัพย์มรดกและรับเงินจากบุคคลภายนอกมาแล้ว แต่ไม่แบ่งให้กับทายาทผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดก นำเงินไปใช้ประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว
  5. ผู้จัดการมรดกจงใจขายทรัพย์มรดกในราคาที่ต่ำเกินสมควร ในลักษณะสมรู้ร่วมคิดกับผู้ซื้อ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ควรได้ ฎ.3256/2563 

ถ้าผู้จัดการมรดกมีพฤติการณ์ทำนองอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากทายาทจะสามารถ ถอนผู้จัดการมรดก ฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดก และ ฟ้องเพิกถอนการโอนมรดก ได้แล้ว 

ทายาทยังสามารถดำเนินคดีอาญา กับผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352-354 ได้อีกด้วย 

ทั้งนี้การดำเนินคดีอาญานั้น ทายาทสามารถฟ้องคดีเองได้โดยตรง หรือจะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีก็ได้

ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน สามารถอ่านบทความเรื่อง “คดีอาญา แจ้งความหรือฟ้องคดีเองดีกว่ากัน “

ในกระบวนการดำเนินคดี เพื่อติดตามทรัพย์มรดก ทั้ง 4 ประเภท นั้น มีเฉพาะเรื่องผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์เท่านั้นที่เป็นคดีอาญา ส่วนเรื่องอื่นล้วนแต่เป็นคดีแพ่ง 

อ่านเพิ่มเติมเรื่องกระบวนการและขั้นตอน “ ฟ้องคดีแพ่ง “ และ “ ฟ้องคดีอาญา

ดังนั้นกระบวนการดำเนินคดีนี้จึงเป็นกระบวนการดำเนินคดีที่มีประสิทธิภาพ มีผลบังคับสูง และรวดเร็วที่สุดในการดำเนินคดีทั้งหมด 

ทั้งนี้นอกจากตัวผู้จัดการมรดกผู้ทำการโอนยักย้ายทรัพย์มรดกจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 , 354 แล้ว 

ทายาทหรือผู้รับโอนทรัพย์มรดก หากรับโอนโดยไม่สุจริต ก็จะมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ไปด้วย 

ทั้งนี้ทายาทคนอื่นๆ หรือผู้รับโอนทรัพย์มรดก จะเป็นตัวการร่วมในการกระทำผิดได้ เฉพาะในความผิดตามมาตรา 352 เท่านั้น

เพราะความผิดตามมาตรา 354 นั้น เป็นความผิดเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก บุคคลอื่นมีฐานะเป็นได้เพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น (ฎ.987/2554 )

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าในทุกกรณี จะสามารถฟ้องร้องหรือดำเนินคดีอาญาในข้อหาผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์ได้ทั้งหมด 

แต่การจะดำเนินคดีในข้อหานี้จะต้องมีความชัดเจนว่า ผู้จัดการมรดกกระทำการโดยไม่สุจริตยักย้ายถ่ายเทหรือโอนทรัพย์มรดกทำให้เกิดความเสียหายกับทายาท

หากเพียงแต่ผู้จัดการมรดกยังไม่แบ่งทรัพย์มรดก จัดการมรดกบกพร่องเล็กน้อย หรือมีความเห็นไม่ตรงกันในการแบ่งทรัพย์มรดก อาจจะยังเป็นแค่คดีแพ่งเท่านั้น

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ วินิจฉัยว่า ยังไม่เป็นการยักยอก และไม่เป็นการทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ผู้ตายต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ ว. โดยไม่ได้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายไปด้วยวิธีการอันไม่สุจริตหรือมีเจตนาที่จะเบียดบังเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกไว้โดยทุจริตอย่างไร ทั้งก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ก็ไม่เคยทวงถามจำเลยให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสี่การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทำการขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายไปนั้น จึงเป็นวิธีเกี่ยวกับการจัดการและแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719,1750 คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลดังฟ้อง

(สังเกตุว่า จากคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ที่ศาลตัดสินว่าไม่ผิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทายาทยังไม่เคยเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดก ถ้าทายาทเรียกให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายแล้ว ผู้จัดการมรดกไม่ยอมแบ่ง น่าจะถือว่ามีความผิด – ผู้เขียน ) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3250/2537 จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางจ.ผู้ตาย การที่จำเลยเพียงแต่ยื่นคำร้องขอโอนที่ดินเป็นของจำเลยทั้งหมดโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ มิใช่การยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกส่วนที่จำเลยรับชำระหนี้แล้วไม่แบ่งเงินแก่โจทก์ทั้งห้าทันทีนั้นเมื่อการจัดการมรดกยังไม่เสร็จ จำเลยก็มีอำนาจเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้เพื่อแบ่งแก่ทายาทต่อไปได้การที่จำเลยยังไม่แบ่งเงินแก่โจทก์ทั้งห้าทันทีจึงไม่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเช่นเดียวกัน

ประเด็นว่าเป็นความผิดฐานยักยอกหรือไม่ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง  ข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานยักยอกกับการโต้แย้งสิทธิทางแพ่ง ซึ่งผมเคยได้เขียนอธิบายไว้อย่างละเอีนด

อายุความ การฟ้องคดีผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์ 

เนื่องจากคดีเรื่องนี้ เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 356 

ทายาทซึ่งเป็นผู้เสียหาย จึงต้องแจ้งความร้องทุกข์ ภายใน3 เดือน  นับแต่วันรู้เรื่องการกระทำผิด และรู้ตัวผู้กระทำผิด 

และเมื่อได้แจ้งความร้องทุกข์แล้ว ก็จะมีอายุความ 10 ปี ในการติดตามเอาผู้กระทำผิดมาส่งฟ้องศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 94  ฏ.9568/2555

ตัวอย่างคำฟ้องคดีผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์ 

อ่านบทความเรื่อง การฟ้องคดียักยอกทรัพย์มรดกจากประสบการณ์จริง ได้ในบทความเรื่อง

“ตัวอย่างการฟ้องคดีอาญา EP.4 ตอน ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์” 

ตัวอย่างคำฟ้องคดีผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์ เพิ่มเติม 

โจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนาง ส. กับนาย ล. ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านและแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1-3

 เมื่อ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2543 นาง ส. ได้ถึงแก่ความตาย ด้วยโรคไตวายเรื้อรัง ปรากฏตามสำเนาใบมรณบัตร เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4

    ผู้ตายมีทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร คือที่ดินโฉนดเลขที่ ……..ตำบลบ้านเหมือง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เนื้อที่……..แต่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ รายละเอียดปปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 5

    วันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ศาลจังหวัดชลบุรี มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ        นาง ส. ผู้ตาย ปรากฏตามคำสั่งศาลจังหวัดชลบุรี เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6

   วันที่ 26 ธันวาคม 2555 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกนาง ส. ได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ……. ตำบลบ้านเหมือง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ไว้แทนโจทก์ทั้งสองคนละ 1 ใน 3 ส่วน ปรากฎตามสำเนาแบบบันทึกการสอบสวนขอจดทะเบียนโอนมรดก เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 7                                                                                                  ข้อ 2. จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกนาง ส. ผู้ตาย มีหน้าที่แบ่งปันที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ ……… ตำบลบ้านเหมือง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี  ของนาง ส. ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามกฎหมาย แต่จำเลยบังอาจกระทำความผิดอาญาตามกฎหมาย กล่าวคือ

วันที่ 28 ธันวาคม 2555 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจทำสัญญาขายฝากและจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ …….. ตำบลบ้านเหมือง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เนื้อที่………. อันเป็นทรัพย์มรดกไว้กับนาง ม. เป็นเงิน 300,000 บาท มีกำหนด 2 ปี และตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยบังอาจเบียดบังเอาเงินที่ได้จากการขายฝากที่ดินมรดกดังกล่าว จำนวน 300,000 บาท เป็นของจำเลยหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต

       เหตุคดีนี้เกิดที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี  ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

       โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการกระทำความผิดของจำเลย วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 คดีของโจทก์ทั้งสองนับถึงวันฟ้องยังอยู่ในอายุความ 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการกระทำความผิดของจำเลย   

                                    ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด


สรุปเรื่องการดำเนินคดีเพื่อติดตามทรัพย์มรดก 

หากผู้จัดการมรดกไม่ยอมแบ่งมรดกให้กับทายาท  หรือผู้จัดการมรดกได้โอนย้ายถ่ายเททรัพย์มรดกไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่น 

ทายาทสามารถเลือกวิธีการดำเนินคดี เพื่อติดตามทรัพย์มรดก ได้ 4 วิธี ตามที่กล่าวข้างต้น บางอย่างก็ต้องทำพร้อมกันหรือควบคู่กัน และบางอย่างก็สามารถทำได้โดยลำพัง 

ทั้งนี้การดำเนินคดีต่างๆจะต้องวางรูปคดีให้ดีและสอดคล้องต้องกัน มิฉะนั้นจะเสียเวลา หรือเกิดความเสียหายขึ้น อีกทั้งจะต้องระวังเรื่องอายุความในคดีประเภทต่างๆอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในคดีเรื่องการแบ่งทรัพย์มรดกนั้น การเจรจากันเพื่อหาข้อตกลงที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด 

หากเราเป็นฝ่ายโจทก์หรือทนายความโจทก์ ก็ควรผ่อนหนักผ่อนเบา หาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายจะพอไปร่วมกันได้ 

หากเราเป็นฝ่ายจำเลยหรือทนายความจำเลย ก็ต้องเข้าใจว่าฝ่ายโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมาย ไม่ควรยื้อ หรือปฏิเสธไม่แบ่งมรดกโดยไม่มีเหตุอันสมควร 

หากทุกฝ่ายเข้าใจว่าแต่ละคนมีสิทธิและหน้าที่อย่างไร และได้ทนายความที่มีมาตรฐานในทำการงาน เข้าใจข้อกฎหมายที่ชัดเจน และมีคุณธรรม คดีประเภทแบ่งมรดกนี้ ก็มักจะเจรจาจบกันได้ 

เพราะสิทธิของแต่ละคนมีเท่าใดนั้น สามารถตรวจสอบกันได้โดยง่าย  และความจริงแล้วการดำเนินคดีทั้งสี่ประเภท ก็มีเป้าหมายเดียวก็เพื่อให้ผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดก ไปตามสิทธิที่ทายาทแต่ละคนมี

ดังนั้นแล้วคดีแบ่งทรัพย์มรดกเหล่านี้ตามปกติที่ผมทำ ส่วนใหญ่ก็มักจะจบกันได้ด้วยการเจรจาไกล่เกลี่บ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่าครับ 


หนังสืออ้างอิงและค้นคว้า ประกอบการเขียนบทความ

1.คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก เพรียบ หุตางกูร

2.คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์ 

3.คำอธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มรดก รองศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ 

4.มรดก ทฤษฎี ปฏิบัติ สมศักดิ์ เอี่ยมพลับใหญ่ 

5.มรดก กีรติ กาญจนรินทร์ 

6.อธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก รองศาสตราจารย์สุภาพ สารีพิมพ์ 

7.หลักกฎหมายมรดก ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ

8.คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก นายอัมพร ณ.ตะกั่วทุ่ง  

9.กฎหมายอาญา ภาค 2. ตอน 2 และภาค 3 จิตติ ติงศภัทิย์

10.คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคความผิด 3 ศ.ด.ร.คณพล จันทร์หอม

11.กฎหมายอาญา ภาคความผิด เล่ม 3 ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น