บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

พกปืนยังไงไม่ผิดกฎหมาย ?  ตัวอย่างการต่อสู้คดีพกพาอาวุธปืน พร้อมข้อกฎหมายและแนวคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์

พกปืนให้ถูกกฎหมาย การพกปืน กฎหมาย พกปืน

“อาวุธปืน” ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุจริตชน ผู้ที่มีอาชีพหรือต้องทำงานที่สุ่มเสี่ยงกับอันตราย เช่น นักธุรกิจที่บางครั้งต้องพกพาเงินสดเป็นจำนวนมากและเดินทางไปยังสถานที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย หรือทนายความที่ต้องเดินทางในพื้นที่เสี่ยงอันตราย มีศัตรูเป็นฝ่ายตรงข้ามเป็นจำนวนมาก หรือสุจริตชนอื่นๆที่การทำงานมีความสุ่มเสี่ยงต่ออันตราย

ซึ่งปัญหาทางกฎหมายที่น่าสนใจก็คือ  สุจริตชน จะสามารถพกพาอาวุธปืนไว้ เพื่อป้องกันชีวิตทรัพย์สินของตนเองและครอบครัว ได้แค่ไหน เพียงใด?  ปัญหานี้เป็นปัญหาน่าสนใจมาก เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพกพาอาวุธปืน ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนไว้แบบกว้างๆเท่านั้น กล่าวคือ

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ  วางหลักไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371  วางหลักไว้ว่า  “ ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณโดย เปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มี ขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริงหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน หนึ่งร้อยบาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น “

เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ตามกฎหมายแล้ว การพกพาอาวุธปืนอาจแบ่งได้ออกเป็น 2 ลักษณะ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่ให้อำนาจประชาชนในการพกพาอาวุธปืนที่ต่างกัน คือ การพกพาปืนติดตัวตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ  และการพกพาอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งข้อแตกต่างดังกล่าว แบ่งแยกตามลักษณะการพกพา กล่าวคือ

 1.การพกพาปืนติดตัวตามพร.บ.อาวุธปืนฯ เป็นการพกพาอาวุธปืนในลักษณะที่พร้อมใช้งานได้ทันที เช่นเหน็บเอวไว้ หรือใส่กระเป๋าสะพายติดตัวไว้ หรือวางไว้ในรถในระยะที่สามารถหยิบฉวยมาใช่ได้ทัน แบบนี้ถือว่าเป็นการพกพาอาวุธปืนติดตัว ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพกพาต้องพิจารณาหลักกฎหมายตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ

2.หากเป็นการพกพาในลักษณะที่ไม่พร้อมใช้งานได้ทันที ช่นเอาไว้ท้ายรถ หรือแยกกันเก็บกับเครื่องกระสุนใส่กล่องเก็บปืนไว้ท้ายรถ หรือพกพาอยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถหยิบฉวยมาใช้ได้ทันที จะถือว่าเป็นเพียงการพาอาวุธปืนแบบไม่ติดตัว ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพกพาจะต้องพิจารณาหลักกฎหมายคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371

ทั้งนี้ผู้สนใจโปรดอ่านรายละเอียด เรื่อง ข้อแตกต่างระหว่างการพกพาอาวุธปืนติดตัว ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ กับการพาอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญาพร้อมตัวอย่างการต่อสู้คดี

ซึ่งหลักเกณฑ์ที่จะทำให้ประชาชนมีสิทธิในการพกพาอาวุธปืน ตามกฎหมายทั้งสองฉบับนั้น มีข้อแตกต่างกัน ดังนี้

สาเหตุที่จะทำให้มีสิทธิในการพกพาอาวุธปืนติดตัว ตาม พรบอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ  ประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ข้อ คือ

1.มีเหตุจำเป็น คำว่า เหตุจำเป็น  ตัวอย่างเช่น การต้องพกเงินสดจำนวนมากไปทำธุระในท้องที่ที่อาจมีอันตราย หรือในเวลากลางคืน การต้องเข้าไปทำธุระสำคัญ ในท้องที่หรือสถานการณ์ที่อาจเกิดเหตุอันตราย เช่น ทนายความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำกำลังพร้อมเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินในบ้านลูกหนี้ที่มีประวัติดุร้าย เป็นต้น

2.มีเหตุเร่งด่วน คำว่า เหตุเร่งด่วน หมายถึงสาเหตุหรือสถานการณ์ที่ต้องพกพาอาวุธปืนออกไปในตอนนั้น ไม่อาจหลีกเลี่ยงไปทำในช่วงเวลาอื่นได้ ตัวอย่างเช่น การพกพาเงินสดไปทำธุรกรรมต่างๆ มีความจำเป็นต้องทำเวลานั้นๆ ไม่สามารถเลื่อนไปทำเวลาอื่นได้ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหาย ซึ่งถ้าหากปรากฎว่าธุระดังกล่าวสามารถเลื่อนไปทำในเวลาอื่น ซึ่งจะมีความปลอดภัยกว่าได้ ไม่มีความจำเป็นต้องทำในตอนนั้น  ย่อมไม่ถือเป็นเหตุเร่งด่วน

 การพกพาอาวุธปืนติดตัวตามพรบอาวุธปืนจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 2 ประการคือมีทั้งเหตุจำเป็นและเหตุเร่งด่วนถ้ามีเหตุจำเป็นแต่ไม่เร่งด่วนก็ไม่อาจพกพาอาวุธปืนติดตัวได้ ถ้ามีเหตุเร่งด่วน แต่เหตุดังกล่าวไม่ใช่เหตุจำเป็น ก็ไม่อาจพกพาอาวุธปืนติดตัวได้

ส่วนสาเหตุที่จะทำให้มีอำนาจพกพาปืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าต้องมี “เหตุสมควร”  ซึ่งเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญาไม่จำเป็นต้องเป็นมีเหตุเร่งด่วนเหมือนกับการพกพาอาวุธปืนติดตัวตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ  และคำว่า “เหตุสมควร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มีความหมายกว้างกว่า คำว่า “เหตุจำเป็น” ตาม พ.ร.บ อาวุธปืน ฯ พราะคำว่า เหตุสมควร หมายถึงมีเหตุอันเหมาะสมที่จะต้องพกพาอาวุธปืนไป  แต่เหตุนั้นอาจจะไม่จำเป็นก็ได้ เช่นการพกพาอาวุธปืนไปสนามยิงปืนเพื่อซ้อมยิง แบบนี้ไม่ใช่เหตุจำเป็น เพราะถึงไม่ได้ซ้อมยิงปืน ก็ไม่เกิดผลเสียหรืออันตรายแต่อย่างใด แต่ถือได้ว่าเป็นเหตุสมควร  

คำว่าเหตุสมควร ตัวอย่างเช่น  การนำอาวุธปืนใส่รถเพื่อเดินทางไปซ้อมยิงปืนเพื่อการกีฬา  การขนของย้ายบ้านที่จะต้องพาอาวุธปืนติดรถไปด้วย รวมทั้งสาเหตุจำเป็น ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ ย่อมถือเป็น สาเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ด้วยเสมอ เช่น การพกพาเงินจำนวนมากไปทำธุระในสถานที่หรือสถานการณ์ที่อาจเกิดอันตราย การเข้าปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติงานในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง เป็นต้น

ทั้งนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับเรื่อง เหตุจำเป็น เหตุเร่งด่วน และ เหตุสมควรที่น่าสนใจและสมควรศึกษาไว้ ดังนี้

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2554 ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้พาอาวุธปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาต หรือเป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จากบทบัญญัติดังกล่าว การพาอาวุธปืนติดตัวไปได้ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หากมิได้รับใบอนุญาตจะต้องเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ การที่จำเลยนำอาวุธปืนติดตัวไปในการประกอบธุรกิจของจำเลยเป็นปกติ ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์แต่อย่างใด มิฉะนั้นเท่ากับว่าจำเลยสามารถพาอาวุธปืนไปได้ตลอดโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5925/2540 ขณะถูกจับกุมจำเลยกำลังรอรับเงินตามเช็คจากธนาคารจำนวน 700,000 บาท ซึ่งเป็นการเบิกเงินสดจำนวนมาก ดังนั้น การที่จำเลยนำอาวุธปืนของกลางติดตัวไป ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่มีเหตุอันสมควรเพราะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันทรัพย์สินอันมีค่าของตน อีกทั้งอาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนของจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย และการพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปของจำเลย ก็เป็นการใส่ไว้ในกระเป๋าถืออย่างมิดชิดอีกด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการพาไปโดยมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ การที่จำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปดังกล่าวจึงไม่มีความผิดต่อกฎหมาย

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2540 เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจค้นและพบอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืนของกลางในกระเป๋าเอกสารซึ่งปิดอยู่และวางอยู่ที่เบาะหลังรถยนต์ซึ่งจำเลยเป็นผู้ขับเมื่อปรากฎว่ากระเป๋าเอกสารที่อาวุธปืนของกลางบรรจุอยู่ภายในนั้นโดยสภาพมีกุญแจล็อกถึง 2 ด้านทั้งวางอยู่ที่เบาะด้านหลัง การจะหยิบฉวยอาวุธปืนมาใช้ทันทีทันใดนั้นย่อมเป็นได้ยาก ทั้งจำเลยมีเจตนาเพียงขนย้ายสิ่งของจึงมิอาจถือได้ว่าเป็นการพาติดตัว

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1473/2546 แม้ถั่วฝักยาวที่จำเลยปลูกไว้จะเคยถูกคนร้ายลักไป จำเลยสามารถแจ้งความต่อเจ้าพนักงานเพื่อให้สืบสวนหาตัวคนร้ายได้ แต่จำเลยก็หาดำเนินการไม่ จำเลยกลับพาอาวุธปืนจากบ้านซึ่งอยู่ห่างจากแปลงนาที่ปลูกถั่วฝักยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ติดตัวมาเพื่อรดน้ำและเฝ้าถั่วฝักยาว ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น การกระทำของจำเลยจึงมิใช่กรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

5.คำพิพากษาฎีกาที่ 3027/2526 จำเลยเก็บปืนและเงิน 70,000 บาท ไว้ในลิ้นชักรถ เมื่อจำเลยนั่งรถไปด้วย ถือได้ว่าจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไป และการที่จำเลยขับรถไปส่งผู้เสียหายกับพวกแล้วพากันไปนั่งดื่มสุราและเบียร์ โดยทิ้งเงินไว้ในรถซึ่งจอดอยู่ห่างจากจำเลยประมาณ 5 – 6 วา แสดงว่าจำเลยมิได้ห่วงใยเกี่ยวกับความปลอดภัยของทรัพย์สิน การที่จำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปจึงถือไม่ได้ว่ามีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์

6.คำพิพากษาฎีกาที่ 1053/2529 จำเลยพาอาวุธปืนไปที่หน้าโรงงานของบริษัทที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้มีอาวุธปืนติดตัว เนื่องจาก นาง ก. พานางสาว น. ไปพบบิดามารดาของจำเลยที่บ้านจำเลยเพื่อเจรจาในการที่จะสู่ขอนางสาว น. เป็นภรรยาจำเลย นาง ก. และนางสาว น. จะกลับบ้าน เป็นเวลาดึกมากแล้ว จำเลยจึงนั่งรถไปส่งบุคคลทั้งสองที่บริษัท การที่จำเลยพาอาวุธปืนไปดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เพราะไม่แน่ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นแต่เป็นกรณีที่สมควรรอการลงโทษจำเลย

ดังนั้นแล้ว หลักเกณฑ์ในการพกพาอาวุธปืนให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีวิธีการโดยสังเขปดังนี้

1.ไม่พกพาอาวุธปืนไว้กับตัวเป็นปกตินิสัย การพกพาจะกระทำได้เมื่อมีเหตุสมควรหรือเหตุจำเป็น โดยการพิจารณาว่า เหตุในการพกพาปืน เป็นเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรหรือไม่ ต้องศึกษาตามหลักกฎหมายแนวคำพิพากษาที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น ว่าเหตุในการพกพาอาวุธปืนของตนเองเป็นเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรจริงหรือไม่

2.ถ้ามีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรในการพกพาอาวุธปืน จะต้องไม่ทำการพกพาอาวุธปืนติดตัว หรือพกพาอาวุธปืนอยู่ในลักษณะที่พร้อมจะใช้งานได้ในทันที แต่จะต้องเก็บไว้ในสถานที่หรือลักษณะที่ไม่สามารถหยิบฉวยมาใช้ได้ในทันทีเช่นเก็บไว้กล่องเก็บของท้ายรถพร้อมกับแยกกันเก็บกับกระสุนปืนพร้อมใส่กล่องเก็บปืนไว้ เป็นต้น

3.เมื่อมีเหตุเร่งด่วนขึ้นมา เช่น เห็นได้ว่าอาจจะมีอันตรายเกิดขึ้น จึงจะสามารถนำอาวุธปืนนั้นขึ้นมาพกพาติดตัวในลักษณะพร้อมใช้งานได้

ทั้งนี้ทางสำนักงาน ขอนำตัวอย่างคำการต่อสู้คดีและคำพิพากษาของศาล ในคดีเรื่องการพกพาอาวุธปืน ของผู้เขียน มาเผยแพร่ให้ผู้สนใจชมเป็นแนวทางการต่อสู้คดีครับ

 โดยคดีนี้มีข้อเท็จจริงโดยสังเขปอยู่ว่า วันเวลาเกิดเหตุจำเลยซึ่งประกอบอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างได้พกพาอาวุธปืนไว้ในรถโดยวางไว้ท้ายรถใส่กระเป๋าเดินทางไว้ เนื่องจากในเวลาเกิดเหตุจำเลยมีความจำเป็นจะต้องไปรับเงินสด และเช็คเงินสดจากลูกค้าเป็นจำนวนมากซึ่งจะต้องทำในวันนั้น เนื่องจากลูกค้ากำลังจะเดินทางกลับไปต่างประเทศ และในวันรุ่งขึ้นจะต้องรีบนำเงินดังกล่าวไปให้ผู้รับเหมาช่วงต่อไป แต่ปรากฏว่าจำเลยได้ถูกตรวจค้นและจับกุมในขณะเดินทางกลับจากธุระซึ่งเป็นเวลากลางคืนแล้ว  ซึ่งบริเวณถนนที่เกิดเหตุนั้นมีเหตุอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

คดีนี้จำเลยได้นำพยานหลักฐานต่างๆ เช่น รายการเดินบัญชีเบิกถอนเงิน หนังสือรับรองการหักภาษีณ.ที่จ่าย รวมทั้งพยานบุคคล พยานเอกสารต่างๆมายืนยันกับผู้เขียนว่า วันเกิดเหตุ จำเลยมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องไปรับเงินจำนวนมากจริงๆ และการพกพาอาวุธปืนของจำเลยไม่ได้เป็นการพกพาแบบติดตัว ซึ่งผู้เขียนก็ได้นำพยานเอกสารและพยานบุคคลต่างๆไปแสดงต่อศาล จนศาลเชื่อว่าวันเกิดเหตุจำเลยมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องไปรับเงินจำนวนมากจริง ศาลจึงได้โปรดเมตตายกฟ้องจำเลย ซึ่งคดีนี้ฝ่ายอัยการโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์คำพิพากษาแต่อย่างใดและคดีถีงทึ่สุดแล้ว ผู้เขียนจึงขอนำตัวอย่างคดีนี้มาเพื่อเป็นแนวทางการต่อสู้คดีให้กับผู้ที่สนใจได้ศึกษากันครับ

กดคลิกเพื่ออ่านคำพิพากษาและคำแถลงการณ์ปิดคดีได้เลยครับ

คำแถลงการณ์ปิดคดี 

คำพิพากษา

อ่านบทความอื่นๆของสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ

บทความเกี่ยวกับกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง 

บทความเกี่ยวกับกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา 

บทความน่ารู้เกี่ยวกับการว่าจ้างทนายความ 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts