คดีพยายามฆ่าเรื่องนี้ เกิดขึ้นประมาณปีพ.ศ 2555-2556 ที่ทางสำนักงานของผม ยังมีฐานะเป็น สภาทนายความจังหวัดชลบุรี รับให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
ขณะนั้นผมยังเป็นทนายความใหม่ๆ โดยมีคุณพ่อคือ ทนายพิศิษฐ์ ศรีสังข์ เป็นผู้ช่วยวางรูปคดีนี้ โดยมีตัวผมและเพื่อนอีกคนหนึ่ง คือ คุณศิริพล ตันติพูล หรือทนายเบียร์ ซึ่งปัจจุบันได้รับราชการเป็นพนักงานอัยการ เป็นผู้ร่วมทำคดีนี้
ภรรยาของจำเลยมาร้องขอให้ทางสำนักงาน ในฐานะสภาทนายความจังหวัดในตอนนั้น ให้ว่าความแก้ต่างให้กับสามีที่ถูกขังอยู่ที่เรือนจำชลบุรีเพราะไม่มีเงินประกันตัวและไม่มีเงินว่าจ้างทนายความ
หลังจากสอบข้อเท็จจริงแล้วทางสำนักงานฯ เชื่อว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ประกอบกับจำเลยเป็นบุคคลยากจนจริง จึงทำความเห็นส่งเรื่องให้ทาง สำนักงานคณะกรรมช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย รับเป็นคดีช่วยเหลือ โดยมีท่านวีรศักดิ์ โชติวานิช เป็นผู้อนุมัติให้รับเป็นคดีช่วยเหลือของสภาทนายความ

ตัวอย่างการร้องขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความ

ตัวอย่างการสอบข้อเท็จจริง ในคดีช่วยเหลือของสภาทนายความ

ตัวอย่างการอนุมัติและให้ความเห็นในคดีช่วยเหลือ ของสภาทนายความ
ภายหลังจากการสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด
ได้ความว่าจำเลยถูกหมายจับและถูกฟ้อง ในข้อหา ” พยายามฆ่า ” โดยตามฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนใช้มีดปาดคอผู้เสียหาย
และสาเหตุที่จำเลยถูกจับกุมนั้น เนื่องจากผู้เสียหายถูกคนร้ายปาดคอทำให้ภายหลังเกิดเหตุไม่สามารถพูดได้ ยังนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในอาการที่แทบไม่มีสติสัมปชัญญะ
เจ้าพนักงานตำรวจสอบถามพยานที่เกี่ยวข้องแล้วได้ความว่า ผู้เสียหายและคนร้ายที่ชื่อว่า “นายสอง”นั้น เป็นคู่เกย์ ชายรักชาย วันเกิดเหตุผู้เสียหายมีปากเสียงกับคนร้าย คนร้ายจึงได้ใช้มีดปาดคอผู้เสียหาย
โดยเจ้าพนักงานตำรวจได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า “นายสอง” มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณที่เกิดเหตุและมีลักษณะสำคัญคือ ไว้ผมยาว
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนจึงได้ค้นทะเบียนราษฎร์ของผู้ชาย ที่มีภูมิลำเนาอยู่บริเวณใกล้เคียงบริเวณที่เกิดเหตุ และไว้ผมยาว ซึ่งปรากฏว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีรูปจำเลยเป็นผู้ชายไว้ผมยาว ขณะถ่ายรูปทำบัตรประชาชนเพียงคนเดียว
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำรูปจำเลยไปให้ผู้เสียหายเซ็นรับรอง และชี้รูปว่าเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ ผู้เสียหายขณะนั้นอยู่ในอาการสะลึมสะลือเพราะฤทธิ์ยา ไม่สามารถพูดจาได้เนื่องจากถูกปาดคอ ทำได้เพียงพยักหน้าหรือส่ายหน้าเท่านั้น
ซึ่งเข้าใจว่า ผู้เสียหายอาจมีการสื่อสารคลาดเคลื่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจับผู้เสียหายพิมพ์ลายนิ้วมือเข้ากับบันทึกการชี้รูป เพื่อยืนยันว่าจำเลยเป็นคนกระทำความผิด และในเอกสารยังบอกว่าจำเลยมีชื่อเล่นว่า “นายสอง” จำเลยจึงได้ถูกออกหมายจับและถูกดำเนินคดี

คดีนี้มีการชี้รูปผู้ต้องหา ขณะผู้เสียหายไม่สามารถพูดได้ มีอาการเบลอ ไม่สามารถเซ็นชื่อตัวเองได้ เนื่องจากถูกทำร้าย จึงใช้การพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือแทน
ด้วยความที่จำเลย เป็นคนยากจนไม่มีเงินประกันตัว จำเลยจึงได้ถูกคุมขังฟรีระหว่างพิจารณาเป็นจำนวนประมาณ 3 เดือนเศษ
แต่ในชั้นพิจารณา ก็ได้ความชัดเจนว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดและจำเลยไม่ได้มีชื่อว่า นายสอง แต่จำเลยมีชื่อว่า นายเติ้ล ขณะที่ผู้เสียหายชี้รูปจำเลยนั้น ผู้เสียหายไม่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน เนื่องจากบาดเจ็บหนักและฤทธิ์ยา
โดยในการถามค้านและนำสืบคดีนี้ มีเทคนิคและรายละเอียด ดังนี
1.ถามค้านและนำสืบว่า ขณะชี้รูปผู้ต้องหานั้น ผู้เสียหายอยู่ในอาการไม่สติสัมปชัญญะครบถ้วน เนื่องจากพึ่งถูกทำร้ายมา และมีอาการมึนเพราะฤทธิ์ยา
โดยการสืบหาตัวผู้กระทำผิด ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน ก็ทำโดยการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหาข้อมูลว่า คนร้ายมีผมยาว และอาศัยอยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ โดยไม่ทราบชื่อนามสกุลจริงของคนร้าย
ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้มาก เพราะในบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุอาจจะมีผู้ชายที่มีผมยาวอีกหลายคน

จากการถามค้าน ตำรวจชุดสืบสวน ได้ความว่า สืบหาตัวคนร้าย โดยอาศัยข้อมูลว่าเป็นชายผมยาว อาศัยอยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ
2.ถามค้านและนำสืบว่า ขณะชี้รูปผู้ต้องหานั้น ไม่มีการนำรูปผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆมาให้ชี้ปะปน ซึ่งเป็นการขัดกับ ระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดี เรื่องการชี้รูปและชี้ตัวผู้ต้องหา ที่กำหนดให้การชี้รูปนั้น จะต้องนำรูปบุคคลอื่นๆมาปะปนด้วย
การที่พนักงานสอบสวนไม่นำรูปบุคคลอื่นมาปะปนขณะชี้รูป ย่อมเป็นการชี้นำให้พยานชี้รูปผู้ต้องหา ประกอบกับขณะนั้นพยานสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ การชี้รูปดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเลย

ตามระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดี ข้อ 262 (2) การจัดให้ชี้รูปผู้ต้องหานั้น จะต้องนำรูปบุคคลอื่นๆมาคละด้วย ไม่ใช่นำรูปผู้ต้องหาคนเดียวมาให้พยานชี้ (ไม่งั้นลิงก็ชี้ได้ครับ ถ้าเอามาแค่รูปเดียว)
3.ถามค้านและนำสืบว่า หลังจากจับกุมตัวจำเลยได้แล้ว พนักงานตำรวจ ก็ไม่ได้มีการจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวอีกครั้ง ซึ่งเป็นการจัดกับระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดี เรื่องการชี้รูปและชี้ตัวผู้ต้องหา เช่นเดียวกัน
เพราะธรรมดาแล้วระหว่างการชี้รูปผู้ต้องหา กับการชี้ตัวผู้ต้องหา การชี้ตัวที่ได้เห็นตัวจริง ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่ทำ

พนักงานสอบสวนเบิกความตอบคำถามค้านรับว่า ไม่ได้จัดให้มีการชี้ตัวผู้ต้องหา ทั้งที่มีโอกาสทำได้
และการชี้รูปผู้ต้องหา ก็ไม่ได้เอารูปบุคคลอื่นมาปะปนตามระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดี
4.ถามค้านและนำสืบว่า จำเลยไม่ใช่ ” นายสอง ” แต่จำเลยมีชื่อเล่นว่า “นายเติ้ล” จำเลยไม่ใช่เกย์ แต่มีภริยาและลูก และความจริงแล้วนายสองเป็นคนอื่น
สรุปแล้ว สาเหตุที่จำเลยถูกจับกุมคดีนี้มีเพียงอย่างเดียวคือจำเลยไว้ผมยาว และมีภูมิลำเนาอยู่บริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุ
นอกจากนี้ ผมยังได้สืบสวนจนกระทั่งทราบชื่อนามสกุลจริงของคนร้ายตัวจริง แล้วได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับคนร้ายตัวจริง แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด

ผู้เสียหายพยายามแจ้งความดำเนินคดีกับคนร้ายตัวจริง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่ทำงาน
สุดท้ายคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ เป็นการยกฟ้องแบบใสสะอาดว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด และอัยการไม่ยื่นฎีกา คดีถึงที่สุดแล้ว
โดยคำพิพากพาของศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์สรุปได้ว่า เหตุที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจาก
1.เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่จัดให้มีการชี้ตัวจำเลย ทั้งๆที่สามารถทำได้
2.การจัดให้มีการชี้รูปของเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่ได้นำรูปบุคคลอื่นมาปะปน
3.ขณะชี้รูป ผู้เสียหายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถพูดได้ ตอบคำถามด้วยการพยักหน้าและส่ายหน้า
4.ผู้เสียหายได้ไปแจ้งความดำเนินคดี โดยระบุชื่อคนร้ายตัวจริงไว้
5.จำเลยแต่งงานและมีบุตร ไม่ได้มีพฤติการณ์เบี่ยงเบนทางเพศ อย่างที่ได้ความในชั้นสืบสวน
อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คดีนี้ <<< กดคลิก
คดีนี้ผมได้นำจำเลยไปยื่นขอเงินชดเชย จากกองทุนยุติธรรมและ และทางกองทุนได้รับอนุมัติได้รับเงินมาเยียวยาจากกองทุนส่วนหนึ่ง ถึงแม้จะไม่เพียงพอกับความเสียหายของจำเลย แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย
ผมจึงได้นำตัวอย่างคำพิพากษาและแนวทางการต่อสู้คดีนี้ มาเพื่อเป็นตัวอย่างใช้ศึกษาและการทำงาน หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆและผู้สนใจครับ