บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญา เรื่อง ฟ้องเท็จ – เบิกความเท็จ ตอน “การบรรยายฟ้องคดีฟ้องเท็จ-เบิกความเท็จ” 

ตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญาในวันนี้เป็นเรื่องของคดีอีกประเภทหนึ่งที่คู่ความมักจะนำมาฟ้องกันอยู่บ่อยครั้งก็คือความผิดฐานฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175 และความผิดฐานเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177

ซึ่งในความผิดฐานฟ้องเท็จ รวมทั้งความผิดฐานเบิกความเท็จ และแจ้งความเท็จ ผมเคยได้ทำสรุปประเด็นข้อต่อสู้ไว้แล้วว่าในคดีประเภทดังกล่าวมีข้อต่อสู้ที่สำคัญอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน ก็คือ 

1.ข้อความเป็นความเท็จหรือไม่

2.ผู้กระทำรู้หรือไม่ว่าเป็นความเท็จ

3.ความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ 

ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดได้ในบทความด้านล่างนี้ 

ตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญา เรื่อง ฟ้องเท็จ – เบิกความเท็จ ตอน “การบรรยายฟ้องคดีฟ้องเท็จ-เบิกความเท็จ” 

 


อย่างไรก็ตามมีประเด็นข้อต่อสู้ และข้อควรระมัดระวังอีกข้อนึงของฝ่ายโจทก์ ที่หากทำผิดพลาดไป จะทำให้แพ้คดีได้ โดยศาลไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยในเนื้อหาเลย

ก็คือข้อผิดพลาดในการบรรยายฟ้องในความผิดฐานฟ้องเท็จ แจ้งความเท็จ หรือเบิกความเท็จ

โดยในการบรรยายฟ้องในคดีประเภทนี้ ฝ่ายโจทก์ที่เป็นฝ่ายฟ้องคดีจะต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนถึงเรื่องราวดังต่อไปนี้ 

1.เนื้อหาในส่วนที่เป็นความเท็จ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องเท็จในคดีก่อน การเบิกความในคดีก่อน หรือการแจ้งความเท็จ 

2.บรรยายว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร เช่นความเท็จดังกล่าวมีส่วนทำให้เกิดผลแพ้ชนะในคดี หรือทำให้เกิดความเสียหายกับฝ่ายโจทก์อย่างไร 

3.บรรยายว่าความจริงเป็นอย่างไร 

4.บรรยายว่าฝ่ายจำเลยรู้อยู่แล้วว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ 

หากการบรรยายฟ้อง ของฝ่ายโจทก์ บรรยายไม่ครบองค์ประกอบดังกล่าว ถึงแม้ว่าจำเลยจะกระทำความผิดจริง ศาลก็ต้องยกฟ้องไม่อาจลงโทษจำเลยได้ และไม่สามารถนำคดีกลับมาฟ้องใหม่ได้ ดังนั้นในการบรรยายฟ้องในคดีฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ หรือแจ้งความเท็จ จะต้องระมัดระวังเรื่องดังกล่าวให้ดี 


ในวันนี้ผมได้นำอุทาหรณ์คดีตัวอย่าง ที่เป็นการต่อสู้คดีในความผิดฐานฟ้องเท็จที่เป็นการต่อสู้คดีในความผิดฐานฟ้องเท็จ ที่โจทก์เป็นฝ่ายยื่นฟ้องคดี และผมรับหน้าที่เป็นทนายความจำเลยในคดีดังกล่าว 

คดีนี้ผมสังเกตแล้วว่าในการบรรยายฟ้องของฝ่ายโจทก์ บรรยายเพียงว่าฝ่ายจำเลยยื่นฟ้องคดีอาญาในคดีก่อน แล้วต่อมาศาลในคดีก่อนยกฟ้อง

 แต่ไม่ได้บรรยายเลยว่าคำฟ้องหรือคำเบิกความในคดีดังกล่าว ตรงส่วนไหนบ้างที่เป็นความเท็จ และความจริงเป็นอย่างไร และความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร และจำเลยรู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ 

คดีนี้ผมจึงได้ทำคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล 

https://srisunglaw.com/clarifymotion/


โดยตัวอย่างเนื้อหาคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดีดังกล่าว มีดังนี้ 

คำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล 

คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 19 กันยายน 2565 

จำเลยที่ 1 ขอยื่นคำแถลงฉบับนี้ เพื่อชี้แจงว่าคดีของโจทก์ ไม่มีมูลเพียงพอที่จะทำให้ศาลควรรับไว้พิจารณาด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังจำเลยที่ 1 จะประทานกับเรียนต่อศาลที่เคารพต่อไปนี้ 

1.คำฟ้องของโจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

การบรรยายฟ้องคดีฟ้องเท็จหรือเบิกความเท็จโจทก์จะต้องบรรยายว่า 

1.1คำฟ้องคดีเดิมของจำเลยส่วนไหนบ้างที่เป็นความเท็จ /การเบิกความคดีเดิมของจำเลยตรงไหนบ้างที่เป็นการเบิกความเท็จ 

1.2 ความจริงหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร 

1.3ความเท็จในคำฟ้องหรือการเบิกความดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญในคดีที่ส่งผลต่อการแพ้ชนะคดีอย่างไร

1.4จำเลยรู้อยู่แล้วว่าความจริงเป็นอย่างไร แล้วตั้งใจเอาความเท็จมาฟ้องหรือมาเบิกความ 

เพื่อให้จำเลยได้เข้าใจข้อหาที่ตนถูกกล่าวหาว่าฟ้องเท็จหรือเบิกความเท็จว่าเป็นอย่างไรเพื่อที่จะต่อสู้คดีได้ถูกต้อง และเพื่อที่ศาลจะได้พิจารณาคดีไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้รายละเอียดตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.2192/2537 ฎ.19980/2555 ฎ.888/2523 ฎ.18211/2555 ฎ.2644/2554 ฎ.274/2546 ที่ได้แนบมาพร้อมกันนี้ 

แต่คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เพียงหยิบยกเอาข้อเท็จจริงมาว่าจำเลยมีการยื่นฟ้องและศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง และสรุปเอาว่าการฟ้องและการเบิกความในคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ 

โดยไม่มีการบรรยายข้อเท็จจริงว่า คำฟ้องส่วนไหนบ้างที่เป็นเท็จ คำเบิกความส่วนไหนบ้างที่เป็นเท็จ ความจริงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร  และความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร แล้วจำเลยรู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าความดังกล่าวเป็นความเท็จ 

คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย   และศาลไม่อาจรับไว้พิจารณาได้เลย โดยที่ศาลไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในส่วนอื่นๆอีกต่อไป 

2.การฟ้องและการเบิกความคดีเดิมของจำเลยทั้งสองเป็นไปโดยความสุจริต 

โดยสาเหตุที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ในคดีนี้ สาเหตุสืบเนื่องมาจากโจทก์มีพฤติกรรมไม่สุจริต ส่อไปในทางหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย 

โดยแต่เดิมโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและมีหน้าที่ในการทำการโฆษณาผ่าน facebook ให้กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 จะทำการโฆษณาผ่าน facebook ของจำเลยที่ 1 

ต่อมาโจทก์ซึ่งน่าจะได้วางแผนมาตั้งแต่ต้นแล้ว ได้แกล้งทำการโฆษณาผิดกฎของ facebook หลายครั้ง ทั้งๆที่ได้รับการตักเตือนทั้งจากตัวจำเลยที่ 1 และบริษัท facebook หลายครั้งแล้ว โดยโจทก์มีเจตนาเพื่อให้บัญชี facebook ของจำเลยที่ 1 ถูกระงับเป็นการถาวร ซึ่งทำให้บัญชีโฆษณา facebook ของจำเลยที่ 1 ถูกระงับตามความตั้งใจของโจทก์

เมื่อบัญชีโฆษณาของจำเลยที่ 1 ถูกระงับเพราะการกระทำของโจทก์ ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีทางเลือกจึงจำเป็นต้องใช้บัญชีโฆษณาของโจทก์ ในการทำการโฆษณา ให้กับจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์เป็นคนเสนอ 

โดยโจทก์อ้างว่ายินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้บัญชีของตนเองเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่บัญชีของจำเลยที่ 1ถูกระงับ แต่แท้จริงแล้วน่าจะเกิดจากการวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นของโจทก์ 

ซึ่งรายละเอียดส่วนนี้ศาลแรงงานได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยผิดพลาดของโจทก์ในคดีนี้ทำให้เกิดความเสียหายกับจำเลยที่ 1 รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาที่แนบมาพร้อมกันนี้ 

โดยในการทำโฆษณาให้กับบริษัทจำเลยที่ 1 ผ่านบัญชีของโจทก์นั้น การชำระค่าโฆษณาจะทำการชำระผ่านบัตรเครดิตของฝ่ายบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ได้ทำการผูกติดไว้กับบัญชีโฆษณา  ส่วนรายละเอียดในการดำเนินการโฆษณา เช่นดำเนินการโฆษณาอะไรบ้าง โจทก์จะรับผิดชอบดำเนินการ โดยไม่ให้จำเลยที่ 1 เข้าไปยุ่งเกี่ยว โดยอ้างทำนองว่าจะต้องไว้ใจจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ตัดสินใจ รายละเอียดปรากฎตามหลักฐานการสนทนาผ่านโปรแกรมไลน์ที่แนบมาพร้อมกันนี้ 

โดยค่าโฆษณาดังกล่าว เมื่อมีการตัดชำระเงินค่าโฆษณาผ่านบัตรเครดิตของฝ่ายจำเลยที่ 1 จะมีการส่งอีเมลแจ้งมายังจำเลยที่ 1 ว่ามีการตัดเงินค่าโฆษณา แต่จะไม่มีใบเสร็จตัวเต็มที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการชำระค่าโฆษณาอะไรให้กับบริษัทไหน รายละเอียดปรากฏตามตัวอย่างอีเมลแจ้งเตือนการชำระค่าโฆษณา เอกสารที่แนบมาพร้อมกันนี้ 

แต่ใบเสร็จฉบับจริงที่จะต้องใช้สำหรับการอ้างเพื่อประโยชน์ทางภาษีกับสรรพากร และเพื่อใช้ยืนยันว่าใบเสร็จดังกล่าวเป็นใบเสร็จที่ออกเพื่อใช้เป็นค่าโฆษณาให้กับบริษัทอะไร จะอยู่ในความควบคุมดูแลและบัญชีของโจทก์ และโจทก์มีหน้าที่จะต้องปริ้นเอกสารดังกล่าวมาให้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งรายละเอียดปรากฏตามตัวอย่างใบเสร็จฉบับสมบูรณ์ที่แนบมาพร้อมกันนี้ 

จนกระทั่งเมื่อโจทก์ออกจากงานไปและจำเลยที่ 1 เข้ามาใช้บัญชีโฆษณา facebook ของโจทก์ จำเลยที่ 1มีความจำเป็นต้องใช้ใบเสร็จเพื่อประโยชน์ในทางภาษี ได้ตรวจสอบพบว่า โจทก์ได้มีพฤติการณ์ นำบัญชีโฆษณาของตนเองไปทำการโฆษณาให้กับบริษัทอื่นๆ เท่าที่ทราบคือ บริษีทเวลเกท แต่ให้เรียกเก็บเงินค่าโฆษณาผ่านบัญชีบัตรเครดิตของจำเลยที่ 1 ที่ได้ผูกติดไว้กับบัญชีดังกล่าว 

ซึ่งใบเสร็จฉบับเต็มซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์จะปรากฏอย่างชัดเจนว่า โจทก์ได้ใช้เงินจากบัตรเครดิตของจำเลยที่ 1 ไปทำการโฆษณาให้กับบริษัทอื่น ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ทราบเรื่อง จึงได้พยายามทำการตรวจสอบ และขอให้โจทก์ทำการส่งใบเสร็จฉบับเต็ม 

แต่ปรากฏว่า  โจทก์ปกปิดไม่ส่งใบเสร็จค่าโฆษณาฉบับเต็มซึ่งมีแต่เพียงโจทก์สามารถเข้าไปดู และพิมพ์เอกสารออกมาได้เนื่องจากบัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีของโจทก์ 

จำเลยที่ 1 จึงได้พยายามทวงถามและส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้โจทก์ส่งมอบใบเสร็จดังกล่าวเพื่อใช้ในการดำเนินเรื่องที่สรรพากรและเพื่อตรวจสอบความจริง แต่โจทก์ก็ปกปิดและปิดบังไม่ส่งมอบใบเสร็จหรือบัญชีที่ใช้สำหรับการตรวจสอบใบเสร็จดังกล่าว รายละเอียดปรากฏตามหลักฐานการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามที่ได้แนบมาพร้อมกันนี้ 

จนกระทั่งปัจจุบัน ก็มีแต่เพียงโจทก์ที่สามารถเข้าไปตรวจสอบบัญชี และพิมพ์ใบเสร็จดังกล่าวออกมาได้

จำเลยที่ 1 และบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือพิมพ์ใบเสร็จฉบับเต็มได้ และโจทก์ก็ยังไม่ส่งมอบบัญชี หรือใบเสร็จดังกล่าวให้กับจำเลยที่ 1เพราะรู้ดีว่า หากส่งมอบเอกสารดังกล่าวจะพบเห็นการกระทำทุจริตของตนเอง 

จำเลยที่ 1 จึงจำเป็นจะต้องยื่นฟ้องคดีเดิมในคดีดังกล่าว ตามที่ได้รับคำแนะนำจากทนายความซึ่งมีความรู้ทางกฎหมาย ซึ่งเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารและยักยอกทรัพย์

 การกระทำของจำเลยทั้งสองในคดีนี้จึงเป็นไปโดยความสุจริตเพื่อรักษาสิทธิ์ของตนเอง อันเกิดจากการกระทำที่ไม่สุจริตของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลความผิดฐานฟ้องเท็จหรือเบิกความเท็จ ตามนัยคำพิพากาษาศาลฎีกาที่ ฎ.9941/2553 ,ฎ.6403/2545 , ฎ.984/2550 ฎ.389/2542 เป้นต้น

3.การบรรยายฟ้องและการเบิกความของจำเลยทั้งสอง เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือนำความเท็จมากล่าว  

ในการยื่นฟ้องหรือบรรยายฟ้องของจำเลยทั้งสองในคดีเดิม ไม่ได้มีการบิดเบือนเอาความเท็จมาว่ากล่าวหรือฟ้องร้องดำเนินคดีกับโจทก์เลย 

แต่จำเลยทั้งสองได้ยื่นฟ้องและเบิกความไปตามความจริงไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ตั้งแต่การที่โจทก์มีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 โจทก์มีหน้าที่จะต้องปริ้นใบเสร็จดังกล่าวและส่งมอบให้กับจำเลยที่ 1 ส่วนในทางความจริงโจทก์จะได้ปริ้นเอกสารดังกล่าวมาหรือไม่ จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ยืนยัน 

หากจำเลยทั้งสองจะบิดเบือนหรือกลั่นแกล้งโจทก์ก็อาจจะบิดเบือนความจริงไปว่า เคยพบเห็นโจทย์เป็นเอกสารดังกล่าวแล้วไม่ส่งมอบให้กับจำเลยที่ 1 ก็สามารถทำได้แต่จำเลยทั้งสองก็ได้ฟ้องและเบิกความไปตามความจริงที่เกิดขึ้น 

ซึ่งในความผิดฐานฟ้องเท็จหรือเบิกความเท็จนั้นจะต้องเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ใช่เพียงแต่การเล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือบรรยายฟ้องไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและศาลเห็นว่าไม่เป็นความผิดก็จะเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จหรือเบิกความเท็จ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.9696/2558  ,ฎ.5263/2549 ,ฎ.2550/2529 

ดังนั้นการบรรยายฟ้องหรือการเบิกความของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นความเท็จแต่อย่างใด 

4.ในคดีเดิมศาลไม่ได้พิพากษาหรือยืนยันว่า จำเลยทั้งสองคดีนี้ฟ้องเท็จหรือเบิกความเท็จ 

ในคดีเดิมศาลในคดีดังกล่าว ก็ไม่ได้พิพากษาหรือวินิจฉัยยืนยันเลยว่า คำฟ้องหรือคำเบิกความของจำเลยทั้งสอง ส่วนไหนที่เป็นความเท็จมีข้อพิรุธไม่น่าเชื่อถือและความจริงน่าจะเป็นอย่างไร 

ศาลเพียงวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า ลักษณะการกระทำของโจทก์ในคดีนี้ อาจจะไม่เข้าข้อหาฐานความผิดที่ฟ้อง 

ซึ่งในการกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จหรือเบิกความเท็จก็ดี จะต้องมีลักษณะเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงไม่ใช่แต่เพียงการบรรยายฟ้องหรือเบิกความไปตามที่ปรากฏตามความเป็นจริงแล้วศาลเห็นว่าการกระทำอาจจะยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8520/2544 ,ฎ. 389/2542 ฎ.489/2539 ฎ.606/2537  ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด 

5.ปัจจุบันคดีเดิมยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่แน่นอนว่าผลคดีจะเป็นอย่างไร

ความจริงแล้วในคดีดังกล่าว อาจจะยังมีประเด็นที่ศาลชั้นต้นยังเข้าใจข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน เนื่องจากการอธิบายที่ยังไม่ชัดเจนของจำเลยทั้งสอง 

ความจริงแล้วการกระทำของโจทก์ในคดีนี้ มีมูลความผิด ตามคำฟ้องของจำเลยทั้งสอง เนื่องจากโจทก์ในคดีนี้กระทำการโดยไม่สุจริต ปกปิดและปิดบังใบเสร็จอันตนเองได้กระทำโดยทุจริตนำเงินของจำเลยที่ 1 ไปใช้โฆษณาให้กับบริษัทอื่น และปิดบังการกระทำความผิดของตนเองโดยการไม่ส่งมอบใบเสร็จดังกล่าวให้กับโจทก์ 

ซึ่งปัจจุบันจำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาคดีเดิมดังกล่าวไว้แล้ว รายละเอียดปรากฏตามสำเนาอุทธรณ์ที่ได้แนบมาพร้อมกันนี้ ซึ่งผลคดีดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ 

ข้อ 3. ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังจำเลยที่ 1 ได้ประทานกราบเรียนมาอย่างเป็นลำดับ ชี้ให้เห็นว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลเพียงพอที่ควรจะรับไว้พิจารณา จึงขอศาลที่เคารพโปรดยกฟ้องโจทก์เสียทั้งสิ้น  จะเป็นพระคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้

ควรไม่ควรแล้วแต่จะโปรด 

 


ผลคำพิพากษา

คดีนี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เนื่องจากสาเหตุว่าการบรรยายคำฟ้องของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ครบองค์ประกอบความผิด โดยที่ศาลไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในเนื้อหาเลย 

 


สรุป

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเตือนใจแก่เพื่อนๆที่ตั้งใจจะยื่นฟ้องคดีฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ หรือแจ้งความเท็จ ว่าการบรรยายฟ้องในคดีประเภทดังกล่าว จะต้องมีการบรรยายให้ชัดเจนถึงองค์ประกอบ 4 ข้อ คือ 

1.เนื้อหาในส่วนที่เป็นความเท็จ คืออะไร 

2.ความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร 

3.บรรยายว่าความจริงเป็นอย่างไร 

4.ฝ่ายจำเลยรู้อยู่แล้วว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ 

หากไม่บรรยายให้ครบถ้วนถึง 4 ประเด็นดังกล่าว ก็มีโอกาสที่ศาลจะยกฟ้องโดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงเนื้อหาของคดีเลย ดังตัวอย่างที่ยกมานี้ครับ 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น