บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญาเรื่อง แจ้งความเท็จ ตอน ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้อง

ตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญาในวันนี้ เป็นคดีง่ายๆอีกคดีหนึ่ง ที่หลายคนมักจะพลาดและเข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน 

ก็คือความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

หลักกฎหมายเบื้องต้น

ในคดีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานนั้น เป็นการกระทำความผิดที่ทำต่อรัฐและเจ้าพนักงานของรัฐโดยตรง ธรรมดาแล้วตัวบุคคลธรรมดาไม่ได้เป็นผู้เสียหาย

ยกเว้นแต่กรณีที่บุคคลนั้นมีความเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้เสียหายในกรณีพิเศษ ตัวอย่างเช่น การแจ้งความเท็จนั้นเป็นการพาดพิงไปถึงตัวผู้เสียหาย  หรือผลของการแจ้งความเท็จนั้นกระทบสิทธิต่อผู้เสียหายโดยตรง 

แต่หากการแจ้งความเท็จนั้น ไม่ได้เป็นการกระทำที่พาดพิงไปถึงผู้เสียหาย หรือกระทบสิทธิของผู้เสียหายโดยตรง ผู้เสียหายย่อมไม่มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดี 

ตัวอย่างเช่น 

ถ้าหาก นาย ก.นำโฉนดที่ดิน หรือสำเนาสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ มาวางไว้เป็นหลักประกันกับ นาย ข. เพื่อประกันหนี้เงินกู้หรือหนี้อย่างอื่น

และต่อมา นาย ก.ไปแจ้งต่อนายทะเบียน หรือเจ้าพนักงานที่ดินว่าโฉนดที่ดินหรือสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หาย เพื่อขอออกโฉนดที่ดินใหม่ หรือขอสมุดคู่มือจดทะเบียนรถฉบับใหม่ 

หากพิจารณาเพียงเพินๆก็จะมองเหมือนกับว่า นาย ข.น่าจะเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีในความผิดฐานแจ้งความเท็จกับ นาย ก. เพราะว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองสิทธิ์ยึดถือ โฉนดที่ดินหรือสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ 

แต่ความจริงแล้ว ลำพังเพียงโฉนดที่ดิน หรือสำเนาสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ไม่ใช่สิ่งที่มีค่า หรือสามารถสามารถใช้บังคับได้ตามกฎหมาย 

หากลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้ โชคดีก็ต้องฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายยึดที่ดินและรถยนต์ตามกฎหมายต่อไป ไม่สามารถยึดเอาโฉนดที่ดินหรือสำเนาสมุดคู่มือจดทะเบียนรถมาใช้แทนการชำระหนี้ได้ 

ดังนั้นเจ้าหนี้ผู้ถือโฉนดที่ดินหรือสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ จึงไม่ได้มีฐานะเป็นผู้เสียหายพิเศษตามกฎหมายที่มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีในความผิดฐานแจ้งความเท็จ 

ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกา ดังต่อไปนี้ 

ฎ.1261/2517 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไป โดยมอบใบทะเบียนเรือของตนให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ต่อมาได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าใบทะเบียนเรือนั้นหายไป เป็นหลักฐานซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 ขอให้กรมเจ้าท่าออกใบทะเบียนเรือให้จำเลยที่ 1 ได้ใหม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะสามารถขายเรือให้ผู้อื่นได้โดยไม่ต้องใช้ใบทะเบียนเดิมฉบับที่อยู่ที่โจทก์แต่เมื่อการแจ้งความเท็จนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อเจ้าพนักงานและตามคำแจ้งความนั้น จำเลยมิได้แจ้งเจาะจงกล่าวถึงโจทก์อันจะถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4) ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จ

(ประชุมใหญ่ครั้งที่7/2517)

ฎ.6858/2541 จำเลยแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจอันเป็นเจ้าพนักงานว่าจำเลยทำสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์ และบัตร เอ.ที.เอ็มที่ธนาคารออกให้แก่จำเลยสูญหายไป ก็เพื่อประสงค์จะให้เจ้าพนักงานออกหลักฐานเพื่อจะนำไปเป็นหลักฐานขอสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์ และบัตร เอ.ที.เอ็ม ใหม่จากธนาคารเท่านั้น อันเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรงแม้ความจริงจำเลยมิได้ทำสูญหาย หากแต่จำเลยได้มอบสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม ดังกล่าว ให้ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินก็ตาม และการแจ้งความดังกล่าวจำเลยมิได้เจาะจงว่ากล่าวถึงโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิ ตามกฎหมายที่จะบังคับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมจาก สมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม. ดังกล่าว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

ฎ.961/2559 แม้ข้อความที่จำเลยแจ้งจะเป็นความเท็จเพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่ ภ. และจำเลยนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อพันตำรวจโท บ.เจ้าพนักงาน ธ. และ พ. เจ้าพนักงานที่ดิน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึง ภ. หรือนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างต่อ ภ. อันจะถือว่า ภ. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย อีกทั้งจำเลยมอบให้มารดานำโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับ ภ. เท่านั้น ซึ่ง ภ. ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย ภ. จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ภ. เข้าร่วมเป็นโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อ ภ. มิใช่คู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของ ภ. จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน

ฎ.9557/2558บเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ท.บ. 5) ไม่ใช่เอกสารที่แสดงว่าผู้ชำระค่าภาษีมีสิทธิในที่ดิน คือ สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพราะเอกสารที่แสดงถึงสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมเป็นไปตาม ป.ที่ดิน มาตรา 1 คือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน การกระทำการเกี่ยวกับใบภาษีบำรุงท้องที่ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่กระทบถึงการที่โจทก์ยึดถือที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิที่จำเลยทั้งหกมอบให้ไว้เป็นหลักประกันเมื่อเข้าร่วมโครงการปลูกพืชพลังงานทดแทนกับโจทก์ ทั้งโจทก์ก็ไม่เคยมีเจตนาจะชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งต้องนำใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ท.บ. 5) ท่อนที่มอบให้เจ้าของที่ดินนี้มาแสดงด้วยเมื่อมาติดต่อขอชำระภาษีบำรุงท้องที่ การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความว่าใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่มอบให้โจทก์ยึดถือไว้หาย แล้วไปขออกใบแทนใหม่ จึงไม่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย 

เนื้อหาโดยสังเขปของคดี

คดีนี้จำเลยมาหาผม ตั้งแต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

โดยข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า จำเลยถูกฟ้องกล่าวหาว่าได้นำรถยนต์เป็นหลักประกันเงินกู้กับโจทก์ และต่อมาจำเลยได้ไปแจ้งความเท็จว่าสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หาย และออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ฉบับใหม่ 

จึงได้มายื่นฟ้องจำเลยเป็นความผิดข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 

ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่ได้นำสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวไปวางไว้เป็นหลักประกันได้แต่อย่างใด แต่โจทก์ยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนดังกล่าวไว้โดยพลการเนื่องจากมีปัญหาข้อพิพาทกัน และจำเลยไม่รู้ว่าโจทก์ยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ไว้และหาไม่เจอจึงได้ไปแจ้งหาย 

ผมตรวจสอบดูข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่าคดีนี้มีประเด็นข้อต่อสู้แบบง่ายๆไม่ต้องลงลึกในเนื้อหามากนัก เพราะโจทก์ไม่ได้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีนี้อยู่แล้ว เนื่องจากโจทก์ไม่มีสิทธิ์บังคับใดๆเอากับสำเนาคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเลย 

ผมจึงตั้งประเด็นข้อต่อสู้ในคดีนี้ไว้ตั้งแต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและทำ คำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล เพื่อชี้แจงในประเด็นดังกล่าว 

แต่อย่างไรก็ตาม ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลสั่งประทับรับฟ้องว่าคดีมีมูลไปก่อน

ชั้นพิจารณา

ในชั้นพิจารณาผมเห็นว่าเป็นคดีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนมาก จึงได้ส่งทนายความมือใหม่ของสำนักงาน คือทนายเอเซีย บุณยวีย์ น้อยสุขขะ ขึ้นซักถามพยานและนำสืบในชั้นพิจารณา เพื่อเก็บประสบการณ์ 

ซึ่งสุดท้ายผลคดีก็เป็นไปตามคาดศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ 

ผมจึงได้นำตัวอย่างข้อกฎหมายและแนวทางการต่อสู้คดีมาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆและผู้สนใจต่อไปครับ 

ติดตามตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญาที่น่าสนใจคดีอื่นๆได้ใน “ตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญา ด้านท้ายบทความนี้ครับ”

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น