บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการต่อสู้คดียักยอกทรัพย์ ตอน สินสมรสมูลค่า 25 ล้านบาท ทำไมศาลฎีกาจึงยกฟ้อง ? เล่าประสบการณ์และเทคนิคในการสู้คดี

ตัวอย่างการต่อสู้ คดียักยอกทรัพย์ มูลค่ากว่า 25 ล้านบาท วางรูปต่อสู้คดีอย่างไร ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสามศาล

วันนี้ผมจะมาเล่าประสบการณ์และเทคนิคในการต่อสู้คดีนี้ พร้อมนำคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2749/2562 ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาให้ก่อน มาลงให้เพื่อนๆได้ศึกษากันครับ

คดีนี้มีที่มาคือ จำเลยและโจทก์ร่วมแต่เดิมมีฐานะเป็นสามีภริยา จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย และต่อมาทั้งสองฝ่ายได้ทำการจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน

โดยขณะทำการจดทะเบียนหย่านั้น ทั้งคู่ไม่ได้ระบุเรื่องสินสมรสกันไว้ ทั้งๆที่ระหว่างสมรสมีสินสมรสด้วยกัน

นัยว่าตอนนั้น ต่างฝ่ายต่างรีบไปหย่า จึงไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ท้ายทะเบียนสมรส

แต่ทั้งจำเลยและโจทก์ร่วมได้ตกลงกันด้วยวาจาว่า

สินสมรสที่เป็นกิจการค้าขายที่มีขึ้นระหว่างสมรส สองอย่าง  คือ

1.ที่ดินมีโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ตั้งของกิจการร้านวงกบ มีมูลค่าขณะนั้นประมาณเกือบ 20 ล้านบาท ตามการประเมินของธนาคาร มีชื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตกลงให้โจทก์ร่วมได้สินสมรสส่วนนี้ไป

2.สิทธิตามสัญญาเช่ากิจการร้านอาหารทะเล มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท และยังตั้งอยู่บนที่ดินที่มีแค่สิทธิการครอบครอง มีชื่อจำเลยเป็นผู้เช่า ตกลงให้จำเลยได้สินสมรสส่วนนี้ไป

ตอนนั้นจำเลยยินยอมตามข้อตกลงแม้จะเสียเปรียบ คิดว่าตนเองเป็นผู้ชาย มีความสามารถก็สร้างเอาใหม่ก็ได้ จึงยอมให้ร้านวงกบที่มูลค่าสูงกว่าแก่โจทก์ร่วมไป คิดว่าอย่างน้อยก็ให้โจทก์ร่วมหารายได้เอาไว้เลี้ยงลูก

ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ เช่นรถยนต์ เงินฝากต่างๆ ก็ตกลงกันว่า มีชื่อของใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ก็ให้ตกเป็นของคนนั้น และทั้งสองฝ่าย ก็ปฏิบัติตามข้อตกลงตลอดมา

เวลาผ่านไปประมาณ 10 ปี

โจทก์ร่วม ที่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน เมื่อเข้ามาบริหารงานกิจการร้านวงกบด้วยตนเอง ปรากฎว่าคุมลูกน้องและบริหารธุรกิจไม่เป็น

ประกอบกับโจทก์ร่วมได้นำกิจการร้านวงกบ ไปกู้ยืมเงินเพื่อทำการขยายกิจการ แต่ไม่มีประสบการณ์ ทำให้โจทก์ร่วมเป็นหนี้สินจำนวนมาก สุดท้ายกิจการร้านวงกบเจ๊ง และถูกธนาคารยึดทรัพย์

ในทางกลับกัน จำเลยซึ่งเป็นผู้บริหารธุรกิจของครอบครัวตลอดมา มีประสบการณ์การทำธุรกิจเป็นอย่างดี จึงได้ปลุกปั้นร้านอาหารจนรุ่งโรจน์ ขายดิบขายดี มีมูลค่าสูงขึ้นมาเป็นอย่างมาก

ต่อมามีผู้มาเสนอขอเซ้งกิจการต่อ จำเลยจึงได้ทำสัญญาขาย ร้านอาหารดังกล่าวให้กับบุคคลภายนอกในราคา 25 ล้านบาท และรับเงินมัดจำมาบางส่วน เป็นเงิน 3 ล้านบาท

เมื่อโจทก์ร่วมทราบเรื่อง จึงมาแจ้งความกับจำเลยเป็น คดียักยอกทรัพย์

โดยโจทก์ร่วมอ้างว่า ร้านอาหารดังกล่าวเป็นสินสมรสที่ยังไม่ได้แบ่ง ดังนั้นโจทก์ร่วมมีสิทธิในร้านอาหารดังกล่าวอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง การที่จำเลยทำการขายร้านอาหารดังกล่าวให้กับบุคคลภายนอก จึงเป็นการกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์

ทั้งๆที่ขณะหย่าขาดจากกันนั้น โจทก์ร่วมได้ทรัพย์สินเป็นที่ดินมีโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองรับเงินมากว่า 18 ล้านบาท และนำเงินไปใช้ส่วนตัวคนเดียว รวมทั้งกิจการร้านวงกบมีรายได้ปีละ 1.8 ล้านบาท  โจทก์ร่วมก็นำไปใช้ส่วนตัวทั้งหมดไม่เคยแบ่งให้กับจำเลย

ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวน ทำการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล จึงสั่งไม่ฟ้อง แต่พนักงานอัยการกลับมีความเห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยได้ จึงสั่งฟ้องจำเลย

คดีนี้ผมรับเป็นทนายความให้กับจำเลย ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น 

ผมตั้งประเด็นต่อสู้คดีไว้ประเด็นหนึ่งว่า

โจทก์ร่วมและจำเลยได้แบ่งสินสมรสกันอย่างชัดเจนแล้ว  ดังนั้นการที่จำเลยขายทรัพย์สินพิพาทไปจึงเป็นสิทธิของจำเลยที่กระทำได้  จำเลยจึงไม่ได้กระทำผิด

โดยพฤติการณ์แหังคดี ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยได้มีการแบ่งสินสมรสกันอย่างชัดเจนแล้ว โดยจำเลยเป็นฝ่ายได้กิจการร้านอาหารทะเล ส่วนโจทก์ได้กิจการร้านวงกบไม้

โดยต่างฝ่ายต่างแยกกันบริหารกิจการและเก็บรายได้ต่างหากจากกันเป็นเวลากว่า 10 ปี และโจทก์ร่วมนำกิจการร้านวงกบไม้ไปจำนองเป็นเงินกว่า 18 ล้าน โดยไม่เคยปรึกษาจำเลย และนำเงินไปใช้ส่วนตัวทั้งหมด

เมื่อโจทก์ร่วมล้างผลาญสินสมรสส่วนที่ตนเองได้ไปจนหมดแล้ว ก็เลยจะมาเอาส่วนแบ่งจากจำเลยอีก โดยอ้างอย่างเดียวว่า ตอนจดทะเบียนหย่าขาดจากกันนั้น ไม่มีการระบุเรื่องการแบ่งสินสมรสไว้ จึงถือว่าร้านอาหารดังกล่าวยังเป็นสินสมรสอยู่

ซึ่งถึงแม้การตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยจะไม่ได้ทำเป็นหนังสือ หรือ บันทึกไว้ท้ายทะเบียนการหย่าก็ตาม

แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลย ได้มีแบ่งสินสมรสกันด้วยวาจา และแบ่งแยกกันครอบครองทรัพย์สินแบ่งแยกรายได้แบ่งแยกการบริหารกิจการ เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วย่อมถือได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยได้มีการแบ่งสินสมรสกันโดยพฤตินัยแล้ว

ดังนั้นแล้วโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิใดๆในร้านอาหารพิพาทดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายที่มีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจำเลย และการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ผมนำมาปรับใช้กับ คดียักยอกทรัพย์ คดีนี้ได้ คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2556 

ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจกระทำในขณะจดทะเบียนหย่า โดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ๆ กำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การจะฟังว่ามีข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพยานทั้งสองฝ่ายประกอบกับพฤติการณ์ของแต่ละคดีไป

พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ภายหลังการหย่าจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี แม้ไม่มีหลักฐานข้อตกลงแบ่งสินสมรสในขณะจดทะเบียนหย่าแต่ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาโดยให้สินสมรสทั้งสองรายการรวมทั้งหนี้สินตกแก่จำเลย

การที่โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกัน มีผลให้แต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินและมีภาระหนี้ต้องชำระหนี้สินซึ่งเป็นหนี้ร่วมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผิดแผกแตกต่างจาก ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1535 บัญญัติไว้ แต่มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับและไม่ตกเป็นโมฆะ

ในชั้นสืบพยานและถามค้าน ผมได้นำสืบและต่อสู้คดี ไปตามที่วางรูปคดีและค้นคว้าข้อกฎหมายไว้

สุดท้ายทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ก็มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย

โดยศาลฎีกาได้ให้เหตุผลไว้ตอนหนึ่งว่า ฎ.2749/2562

” พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมและจำเลย ที่ต่างครอบครองและจัดการสินสมรสแยกต่างหากจากัน โดยโจทก์ร่วมประกอบกิจการร้านวงกบโดยลำพัง  ตามที่โจทก์ร่วมมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน และยังได้นำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจำนองนำเงินมาใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียว ถือว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้บริหารร้านวงกบแต่โดยลำพัง

ส่วนจำเลยประกอบกิจการร้านอาหาร เป็นผู้ชำระเงินค่าหุ้นส่วนที่ร่วมหุ้นกิจบุคคลภายนอกแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ร่วมไม่ส่วนชำระด้วย อีกทั้งจำเลยเป็นผู้บริหารกิจการร้านอาหารแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ร่วมไม่เคยร่วมบริหารมาเป็นเวลากว่า 10 ปี

รูปคดีมีเหตุผลเชื่อว่า โจทก์ร่วมและจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสกันด้วยวาจาแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมและจำเลยตกลงกันให้ร้านอาหารพิพาทเป็นของจำเลย การที่จำเลยขายร้านอาหารดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ”

อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2749/2562 

1

1

2

2

3

3

4

4

5

5

6

6

7

7

8

8

9

9

10

10

11

11

12

12

อุททาหรณ์จากเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า

1.การจดทะเบียนหย่านั้น  ควรจะระบุเรื่องการแบ่งสินสมรสให้ชัดเจน เพราะถึงแม้ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาจะระบุว่า  การตกลงแบ่งสินสินสมรส อาจจะทำได้ด้วยวาจาก็ได้ แต่ก็เป็นการยุ่งยากที่จะต้องมาพิสูจน์ภายหลัง ดังเช่นคดีนี้

2.การตั้งรูปคดีในการต่อสู้คดีอาญานั้นมีความสำคัญมาก และการค้นคว้าข้อกฎหมายในการต่อสู้คดี ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะข้อกฎหมายอาญาเท่านั้น แต่จะต้องค้นคว้าไปถึงคำพิพากษาในส่วนแพ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องกันด้วย

3.การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ น่าจะมีความรัดกุมรอบคอมมากกว่านี้ ความจริงแล้วคดีนี้ อย่างมากก็เป็นข้อพิพาททางแพ่งเท่านั้น ซึ่งพนักงานสอบสวนเองก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

แต่เนื่องจากโจทก์ร่วม ไปร้องเรียนจนอัยการกลัว สั่งฟ้องให้พ้นๆตัวเองไป จนสุดท้ายศาลก็พิพากษายกฟ้องทั้งสามศาล แต่จำเลยทั้งเสียเวลาเสียเงิน เสียสุขภาพจิตเป็นอย่างมากครับ

สุดท้ายหวังว่าตัวอย่างการทำงานนี้ จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆทนายความ และผู้สนใจนะครับ ผมจะทยอยนำคดีต่างๆที่น่าสนใจ พร้อมอุทาหรณ์จากคดีมาลงให้ดูต่อไปครับ

 

 

 

 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts