ธรรมดาแล้วหากหญิงชายจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ด้วยกันนั้นย่อมเป็นสินสมรสร่วมกันจึงทั้งหมดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474
แต่ถึงแม้หญิงชายไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วยกัน แต่ได้อยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยา ร่วมกันทำมาหาได้ด้วยกัน หรือร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในลักษณะของหุ้นส่วนชีวิต หากมีทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น ย่อมถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมที่ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์เช่นเดียวกัน
การฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ในคดีที่มีข้อเท็จจริงลักษณะเช่นนี้ เป็นเรื่องที่มีเกิดขึ้นบ่อยมาก ดังนั้นในวันนี้ผมจึงได้นำข้อกฎหมาย ตัวอย่างคดีการฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม มาเผยแพร่ให้เพื่อนๆรับชมและเป็นคู่มือในการทำงานครับ
ข้อกฎหมาย-อธิบาย-คำพิพากษาศาลฎีกา
ข้อกฎหมาย
มาตรา 1357 ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน
มาตรา 1363 เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้
สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินนั้น ท่านว่าจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้
ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้
มาตรา 1634 การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน
ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้ เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร้ จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้
คำอธิบาย
การที่ชายและหญิงได้อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา ถึงแม้มิได้จดทะเบียนสมรสกัน ทรัพย์สินที่ได้มานั้นย่อมไม่ถือว่าเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474
แต่อย่างไรก็ตามหากปรากฎว่าระหว่างที่อยู่กินร่วมกันนั้น มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน เช่น
ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ร่วมกันทำมาหาได้ ประกอบธุรกิจร่วมกัน หรือต่างคนต่างทำงานประจำ ต่างคนต่างประกอบธุรกิจของตนเองแต่นำเงินที่ได้มาใช้จ่ายในครอบครัว ซื้อทรัพย์สินร่วมกัน
หรือแม้จะเป็นกรณีที่ฝ่ายชายแต่ฝ่ายเดียวเป็นฝ่ายทำมาหาได้ เป็นฝ่ายประกอบธุรกิจ ฝ่ายหญิงไม่ได้ทำมาหาได้ร่วมกันก็ตาม แต่หากฝ่ายหญิงเป็นแต่เพียงอยู่บ้าน ดูแลงานบ้าน อบรมดูแลลูก จัดการกิจการต่างๆในบ้านแต่เพียงผู้เดียว
กฎหมายก็ถือว่าทรัพย์สินที่งอกเงยขึ้นมาระหว่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อใครก็ตาม ถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของฝ่ายชายและหญิง
เพราะกฎหมายถือว่า การที่ฝ่ายหญิงดูแลจัดการงานบ้าน อบรมดูแลลูก ก็เป็นการทำให้ฝ่ายชายได้มีโอกาสทำหน้าที่การงานของตนเองได้อย่างเต็มที่ หากไม่มีฝ่ายหญิงคอยเป็นหลังบ้านที่ดี ฝ่ายชายก็ไม่สามารถประกอบการงานได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นหลักการที่เรียกว่า การเป็นหุ้นส่วนชีวิตซึ่งกันและกัน
ดังนั้นแล้วการที่ชายหญิง หรือแม้กระทั่งเป็นคู่รักร่วมเพศ เช่นระหว่างชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ถ้าหากได้อยู่กินกันอย่างคนรัก อยู่กินกันอย่างเป็นครอบครัว มีการแบ่งหน้าที่ในครอบครัวกันอย่างชัดเจน มีการเอื้อเฟื้อสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นหุ้นส่วนชีวิต และทรัพย์สินที่งอกเงยขึ้นมาระหว่างการเป็นหุ้นส่วนชีวิต ก็ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่าย
โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ดังต่อไปนี้
ฎ.684/2508 โจทก์จำเลยแต่งงานกันตามประเพณีนิยม (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส)อยู่กินกันฉันสามีภริยาทำมาหากินร่วมกันมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมานี้ย่อมเป็นของโจทก์จำเลยร่วมกัน จำเลยมีสิทธิขอแบ่งได้ครึ่งหนึ่ง
ตามที่จำเลยอ้างว่าการสมรสระหว่างโจทก์จำเลยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งเงินที่ทำมาหาได้ในระหว่างอยู่กินร่วมกับจำเลยนั้นได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งก็แต่เฉพาะทรัพย์ที่จำเลยได้มาโดยโจทก์มิได้ร่วมในการหาได้มาด้วยเท่านั้น แต่ในคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากที่โจทก์จำเลยอยู่กินร่วมกันและช่วยกันประกอบการค้าหาเลี้ยงชีพอย่างสามีภริยาแล้ว มีเงินฝากในธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่จำเลยได้ฝากไว้แต่เดิม 11,782.11 บาท โดยฟังไม่ได้ว่าเป็นเงินที่จำเลยหาได้มาแต่ฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้มีส่วนช่วยหาจึงต้องแบ่งครึ่งกัน
ฎ.516/2508หญิงชายอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ได้ร่วมกันซื้อนาและทำกินเป็นการแสดงเจตนาให้ถือได้ว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน ส่วนเงินที่ซื้อฝ่ายใดจะยืมใครมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์ เพราะหญิงชายนั้นระคนปนทรัพย์กันใช้สอยและทำมาหากินด้วยกัน ต้องถือว่าต่างสิทธิเป็นเจ้าของคนละครึ่ง (อ้างฎีกาที่ 303/2488)
ฎ.561/2510 ผู้ตายมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อน ต่อมาภริยาได้แยกร้างไปอยู่ต่างหากโดยมิได้หย่าขาดจากกัน โจทก์ผู้ตายจึงมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์กับผู้ตายได้ช่วยกันทำมาหากินโดยภริยาเก่ามิได้มาร่วมปะปนด้วย โจทก์ได้นำทรัพย์ของโจทก์มาให้ผู้ตายหาดอกผล และได้ทำการค้าขาย ช่วยผู้ตายเก็บค่าเช่า ดังนี้ ถือได้ว่าผู้ตายและโจทก์ทำนามาได้ร่วมกัน จึงเป็นเจ้าของร่วมและมี่ส่วนเท่ากัน เมื่อผู้ตาย ตายภรรยาเก่าจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์ส่วนที่เป็นของภรรยาใหม่แต่อย่างใด
ฎ.83/2512 การที่ชายหญิงแต่งงานกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส. แม้ทางกฎหมายจะไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย. ก็หากระทบกระเทือนถึงสิทธิในทรัพย์สินที่ชายหญิงจะพึงมีพิงได้ตามกฎหมายทั่วไปไม่.
ในระหว่างที่ผู้ร้องกับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน.แต่ตามพฤติการณ์ที่ผู้ร้องกับจำเลยปฏิบัติต่อกัน. เช่นผู้ร้องไปทำมาค้าขายโดยตนเอง. ส่วนจำเลยเลี้ยงบุตรเป็นแม่บ้าน. และผู้ร้องออกเงินซื้อที่ดินปลูกตึกและสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดิน. แล้วผู้ร้องจำเลยกับบุตรก็เข้าอยู่ด้วยกันตลอดมา. ก็เป็นการแสดงว่าผู้ร้องกับจำเลยได้ร่วมกันทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติของผู้ร้องและจำเลยร่วมกัน. ทั้งมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของในทรัพย์พิพาทโดยใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน. พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าบรรดาทรัพย์ที่ผู้ร้องหรือจำเลยหามาได้ระหว่างนั้น แม้จะเป็นด้วยแรงหรือเงินของฝ่ายใดก็ไม่สำคัญ.ก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของร่วมกัน. และเมื่อผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกัน. ทรัพย์ทั้งหมดโดยเฉพาะทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินบริคณห์ประเภทสินเดิมของผู้ร้องและจำเลยเท่าๆกัน.
ฎ.1512/2519 โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และได้ร่วมกันทำมาหากินในการประกอบการค้า ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยทำมาหาได้มาด้วยกัน ฉะนั้น โจทก์จำเลยจึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์เหล่านั้น การแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวจึงต้องแบ่งให้โจทก์จำเลยเท่า ๆ กัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์จำเลยอยู่กินเป็นสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และได้ร่วมกันประกอบการค้า มีรายได้และเกิดทรัพย์สินขึ้นหลายอย่างดังที่ระบุไว้ในฟ้อง จึงขอแบ่งรายได้และทรัพย์สินตามฟ้องครึ่งหนึ่งให้โจทก์นั้น เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว และจำเลยก็ให้การต่อสู้มาทุกประเด็น แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาอย่างแจ้งชัด ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
สิทธิการเช่าเป็นทรัพย์สิน และต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายและสัญญาซึ่งผู้เช่าจะโอนโดยผู้ให้เช่าไม่ยินยอมไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์จำเลยมีสิทธิในการเช่าร่วมกัน ก็ย่อมจะแบ่งสิทธินั้นกันได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด
ฎ.3725/2532 แม้โจทก์จะเป็นหญิงแต่ก็มีนิสัยและทำตัวอย่างผู้ชาย คนทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์เป็นชาย โจทก์มีความรักใคร่จำเลยฉันชู้สาวจึงพาจำเลยมาอยู่กับโจทก์ในฐานะเป็นแม่บ้านของโจทก์เป็นเวลาเกือบ 20 ปี โดยโจทก์จำเลยได้ร่วมกันทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินซึ่งไม่ว่าจะเป็นด้วยแรงหรือเงินของฝ่ายใดก็ตาม ถือว่าทรัพย์ที่ได้มานั้นเป็นทรัพย์ที่ทั้งโจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์และจำเลยจึงมีส่วนในทรัพย์ที่พิพาททั้งหมดคนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357. มี ฎ.1593-1594/2544 วินิจฉัยไปในทำนองเดียวกัน
ฎ.786/2533 การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่พิพาทมาในระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสนั้นถือว่าเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละครึ่ง แม้ที่พิพาทจะมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียวก็เป็นการกระทำแทนโจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเอาที่พิพาทส่วนของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงเป็นการไม่สุจริต ไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาทด้วย.
ฎ.678/2535 ผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาร่วมกันทำกิจการโรงแรมมีเจตนาเป็นเจ้าของร่วมกัน เงินที่ใช้เป็นทุนปลูกสร้างโรงแรมจะเกิดจากฝ่ายใดหามาไม่สำคัญ ต้องถือว่าโรงแรมเป็นทรัพย์สินร่วมกันระหว่างผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 เมื่อผู้ตายยินยอมให้ใช้ที่ดินดังกล่าวปลูกสร้างโรงแรมเพื่อทำกิจการค้าร่วมกันกับโจทก์ที่ 1โรงแรมจึงไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109 จำเลยที่ 5 จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย แม้จำเลยที่ 5 จะเลิกร้างกับผู้ตายไปนานแล้ว แต่เมื่อไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน ทรัพย์ที่ผู้ตายได้มาระหว่างที่เป็นสามีภรรยากับจำเลยที่ 5 ย่อมเป็นสินสมรส เงินรายได้จากกิจการโรงแรมรวมทั้งร้านตัดผมที่ได้มาหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่กรรมแล้ว มิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายเพราะมิใช่ทรัพย์ที่มีอยู่ก่อนหรือในขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แต่เป็นดอกผลของโรงแรมตกได้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของโรงแรมตามสัดส่วนแห่งความเป็นเจ้าของโรงแรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 111และมาตรา 1360 และเมื่อเงินดังกล่าวมิใช่มรดกของผู้ตาย แม้ทายาทคนหนึ่งปิดบังหรือยักย้ายเงินส่วนนี้ ทายาทคนนั้นก็ไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก
ฎ.5438/2537 โจทก์กับจำเลยอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสแม้ตามกฎหมายจะไม่ถือว่าเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาก็ตาม แต่ก็หากระทบกระเทือนถึงสิทธิในทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยจะพึงมีพึงได้ตามกฎหมายทั่วไปไม่ โจทก์กับจำเลยอยู่กินและมีบุตรด้วยกัน 4 คน โจทก์เป็นแม่บ้านมีหน้าที่เลี้ยงดูบุตร ส่วนจำเลยเป็นผู้ทำมาค้าขายแล้วออกเงินซื้อที่ดินและบ้านพิพาทใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วยกันตลอดมา พฤติการณ์ย่อมถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยร่วมกันทำมาหากินและมีเจตนาเป็นเจ้าของในทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน แม้จำเลยจะให้การว่าโจทก์กับจำเลยเลิกร้างกันได้ตกลงแบ่งที่ดินและบ้านพิพาท และโจทก์ได้รับส่วนแบ่งเป็นเงิน 400,000 บาทไปจากจำเลยแล้ว แต่เมื่อศาลชั้นต้นชี้สองสถานไม่ได้กำหนดปัญหานี้เป็นประเด็นข้อพิพาท จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อนี้แล้ว การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกประเด็นข้อดังกล่าวขึ้นฎีกา ศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2543 ฉ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ช. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันทำมาหากินโดยการปล่อยเงินกู้ ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากประจำเป็นทรัพย์สินที่ ช. และ ฉ. ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ช. และ ฉ. จึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน โดยเป็นทรัพย์มรดกของ ช. กึ่งหนึ่ง และเป็นทรัพย์มรดกของฉ. กึ่งหนึ่ง
การที่ ฉ. ฝากเงินประจำไว้แก่ธนาคารจำเลยที่ 2 เงินที่ฝากประจำย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ฝากประจำให้ครบจำนวนเมื่อถึงกำหนดแก่ ฉ.
ฉ. มีเจตนาเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 และทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 ให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้แทนการถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 เนื่องจากเงินที่ฝากประจำยังไม่ครบกำหนด หากถอนเงินในขณะนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ย ถือได้ว่า ฉ. มีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องของฉ. ที่ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง โดย ฉ. ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากประจำของ ฉ. ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นอันสมบูรณ์สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เงินฝากประจำจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 กรณีไม่ใช่เป็นเพียงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากแทน ฉ. เท่านั้น
ฎ.7063/2544ขณะที่ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจำเลยกับผู้ร้องยังอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ร่วมกันประกอบกิจการค้าขายเสื้อผ้าจนกระทั่งจดทะเบียนตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดในเวลาต่อมา ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างอยู่กินด้วยกัน แม้จะมีชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยและผู้ร้องทำมาหาได้ร่วมกันและมีเจตนาเป็นเจ้าของในทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน จำเลยและผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
ฎ.9577/2552ขณะจำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ โดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองเพียงผู้เดียวก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับนิคม เมื่อโจทก์กับจำเลยมีสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกึ่งหนึ่ง แม้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคสอง จะบัญญัติว่าที่ดินในนิคมซึ่งได้รับการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีภายในห้าปี ศาลก็พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งได้มิใช่เป็นการบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้โจทก์แต่อย่างใด กรณีไม่ขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว
ข้อยกเว้น ที่ไม่ใช่เป็นหุ้นส่วนชีวิต
ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ทำมาหาได้ร่วมกัน ถึงแม้จะมีการคบหากันอย่างคนรัก อยู่กินกันอย่างสามีภรรยา ก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันและไม่เป็นกรรมสิทธิ์รวม
เช่นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมรดก ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยการให้โดยเสน่หา
หรืออยู่ในฐานะเป็นเมียน้อย เป็นบ้านเล็ก หรือเป็นเพียงนางบำเรอ การที่เพียงแต่พูดคุยคบหากัน แต่ไม่ได้มีลักษณะเป็นการอยู่กินกันอย่างครอบครัว ไม่ได้ร่วมกันทำมาหาได้ ไม่ได้มีการแบ่งหน้าที่กันในครอบครัว ก็ไม่ได้มีสิทธิแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในฐานะหุ้นส่วนชีวิตแต่อย่างใด
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
ฎ.1128/2506การที่โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยแต่มิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายนั้น ทรัพย์ที่โจทก์ได้รับมรดกมาในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกับจำเลย เพราะการที่โจทก์ได้รับมรดกทรัพย์นั้นมาย่อมไม่ใช่ทรัพย์ที่โจทก์และจำเลยร่วมกันหามา
ฎ.524/2506ผู้ตายมีภริยาชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วคนหนึ่งต่อมาได้ภริยาน้อยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาอยู่ร่วมด้วยอีกคนหนึ่งดังนี้ ถือว่าภริยาน้อยเข้ามาอยู่ในครอบครัวของผู้ตายในฐานะเป็นบริวารหรือนางบำเรอเท่านั้นจึงหามีสิทธิที่จะเข้ามามีส่วนเป็นเจ้าของรวมในกองทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างผู้ตายกับภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่
การที่สามีเอาที่ดินอันเป็นสินบริคณห์โอนยกให้แก่บุตรโดยเสน่หานั้นเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี ภริยาจะขอให้เพิกถอนไม่ได้
และให้ดูคำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้
ฎ.12734/2558 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าขณะแต่งงานกับผู้ตายโจทก์มีเงินหรือทรัพย์สินอะไรที่สามารถขายได้เงินมากพอที่จะนำมาร่วมซื้อที่ดินกับผู้ตาย ก่อนแต่งงานกับผู้ตายไม่ปรากฏว่า โจทก์ซึ่งมีอายุ 19 ปี ประกอบอาชีพที่มั่นคง มีรายได้แน่นอน เพียงแต่ช่วยบิดามารดาค้าขายอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา หลังจากแต่งงานกับผู้ตายแล้วก็ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไปเรียนเสริมสวยที่โรงเรียนเสริมสวยเกศสยาม โดยไม่ปรากฏว่าใช้เวลาเรียนนานเท่าไร หลังเรียนจบก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้วิชาที่เรียนมาประกอบวิชาชีพหรือประกอบอาชีพใดที่จะได้เงินมาร่วมลงทุนซื้อที่ดินกับผู้ตายกึ่งหนึ่งดังที่เบิกความ ทั้งไม่ปรากฏว่าได้เข้าไปช่วยเหลือกิจการงานหรือธุรกิจใดของผู้ตายเป็นกิจจะลักษณะพอที่จะถือได้ว่าช่วยกันประกอบอาชีพ แม้กระทั่งการเก็บค่าเช่าก็ไม่เคยเกี่ยวข้องทั้งขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม
เงินที่ผู้ตายได้มาจากการขายที่ดินโจทก์ก็ไม่เคยได้รับโดยส่วนหนึ่งผู้ตายนำไปให้ผู้อื่นกู้ การที่โจทก์เพียงแต่เบิกความลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทั้งไม่ปรากฏว่าเคยเรียกร้องให้ผู้ตายใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินรวมทั้งเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการถือหุ้น ทั้งๆที่โจทก์เพียงอยู่กินกับผู้ตายโดยไม่จดทะเบียนสมรส ในขณะที่ผู้ตายมีบุตรและหญิงอื่นที่เคยอยู่กินฉันสามีภริยามาก่อนถือเป็นเรื่องผิดวิสัยอย่างยิ่ง ฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า เงินที่ผู้ตายนำไปซื้อที่ดินทุกแปลงเป็นเงินส่วนตัวของผู้ตายโดยโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ตายนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย โดยโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมทั้งไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ไม่เคยได้รับมอบอำนาจจากผู้ตายให้ไปซื้อที่ดินและเก็บค่าเช่า
โจทก์มีฐานะยากจน หลังจากมาพักอาศัยอยู่กับผู้ตายโจทก์ไม่เคยเข้ามาช่วยเหลือกิจการงานของผู้ตาย ผู้ตายประกอบธุรกิจค้าอสังหาริมทรัพย์ และมีรถให้เช่า โดยมีนายมะเดื่อ น้องต่างมารดาของผู้ตาย และนายชงโค เบิกความสนับสนุน ซึ่งนายมะเดื่อเบิกความว่า ผู้ตายประกอบธุรกิจซื้อขายที่ดินมาตั้งแต่ปี 2487 มีตึกแถวบริเวณซอยมหาพฤฒารามปัจจุบันคือซอยสว่าง ประมาณ 100 ห้อง โดยผู้ตายนำมาแบ่งขาย และนายชงโคเบิกความว่า พยานเคยรับราชการที่สำนักงานเขตพระโขนงระหว่างปี 2518 ถึงปี 2533 เคยไปทำหนังสือมอบอำนาจเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินให้ผู้ตายที่บ้านผู้ตายประมาณ 10 ครั้ง โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้โทรศัพท์แจ้งให้ทราบและไปรับพยาน โจทก์ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการซื้อที่ดินของผู้ตาย เชื่อว่าผู้ตายประกอบธุรกิจซื้อขายที่ดิน ให้เช่าบ้านและรถยนต์ รวมทั้งให้กู้ยืมเงินก่อนที่จะแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์มานับสิบปี หลังจากแต่งงานกับโจทก์แล้วผู้ตายก็ยังคงประกอบธุรกิจเดิมโดยที่โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจต่างๆของผู้ตายที่ทำมาแต่เดิมให้พอฟังว่าร่วมกันทำมาหากินก่อร่างสร้างตัวกับผู้ตาย ส่วนบัญชีเงินฝากที่ผู้ตายเปิดร่วมกับโจทก์ก็เพิ่งเปิดเมื่อปี 2525 หลังจากผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์สิบปีเศษ และเป็นช่วงที่ผู้ตายเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลพญาไทก่อนที่จะถึงแก่ความตายเพียง 1 ปีเศษ ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ผู้ตายจะร่วมประกอบธุรกิจการค้าใดๆกับโจทก์ได้อีก จะมีก็เพียงเรื่องขายที่ดินซึ่งก็ปรากฏว่าผู้ที่ดำเนินการให้แก่โจทก์ก็คือจำเลยที่ 1 การเปิดบัญชีร่วมกับโจทก์ในช่วงดังกล่าวจึงน่าจะเป็นเพียงเพื่อการเบิกถอนเงินในกรณีจำเป็นในการรักษาพยาบาลและดำรงชีพในช่วงเวลานั้นมากกว่า ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ผู้ตายซื้อที่ดินและหุ้นดังกล่าวแล้ว โจทก์มิได้มีส่วนร่วมทำมาหาได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้แบ่งที่ดินและหุ้นดังกล่าวอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย
หลักการบรรยาย ฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม กรณีสามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
1.จะต้องบรรยายว่า ตัวเราและตัวจำเลยมีฐานะเป็นสามีภรรยา ด้วยคบหากันตั้งแต่เมื่อไหร่ เริ่มอยู่กินกันตั้งแต่เมื่อไหร่ หากมีการแต่งงานก็ให้บรรยายข้อเท็จจริงประกอบไปด้วย
2.ให้บรรยายว่า ระหว่างอยู่กินกัน มีการแบ่งหน้าที่กันในครอบครัวอย่างไร เช่น ทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างทำมาหาได้นำเงินที่ได้มาใช้ร่วมกันในครอบครัว หรือฝ่ายชายเป็นคนทำงานแต่เพียงคนเดียว ฝ่ายหญิงเป็นคนดูแลบ้านดูแลลูก หรือเป็นการประกอบธุรกิจร่วมกัน
3.ต้องบรรยายว่าทรัพย์สินที่จะฟ้องขอแบ่ง เป็นทรัพย์สินอะไร ได้มาอย่างไร และเหตุใดจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมที่เรามีสิทธิ์ได้รับ
4.บรรยายว่าทรัพย์สินที่ฟ้องขอแบ่งมีมูลค่าประมาณเท่าไหร่ และเรามีส่วนด้วยกึ่งหนึ่ง คิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่
5.ในช่วงท้ายของการบรรยายฟ้องให้ขอให้ดำเนินการแบ่งทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าว โดยใช้หลักในการฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1363 -1364 กล่าวคือขอให้ดำเนินการแบ่งกันเองก่อน หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลขายระหว่างกัน และหาประมูลขายกันไม่ได้ก็ให้นำขายทอดตลาดนำเงินที่ได้มาแบ่งกัน
ตัวอย่างคำฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม
ตัวอย่างแรกกรณีอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้เช่าซื้อรถร่วมกัน
ข้อ ๑.โจทก์และจำเลยได้อยู่กินฉันสามีภรรยา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมาตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๕๒ จนถึงประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ข้อ
๒. เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๕ ระหว่างที่โจทก์และจำเลยยังอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา โจทก์และจำเลยได้ร่วมกันทำสัญญาเช่าซื้อแบบลีสซิ่ง รถยนต์ HONDA CITY สีดำ หมายเลขทะเบียน ๑ กม ๓๙๐๓ กรุงเทพมหานคร จากบริษัท ไทยพาณิชย์ลิสซิ่งจำกัด โดยราคาเช่าซื้อรวมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวนประมาณ ๘ แสนบาทเศษ ซึ่งมีเงินดาวน์งวดแรก เป็นเงินจำนวน ๒ แสนบาท โดยโจทก์และจำเลยได้ใช้เงินที่รวมกันเก็บไว้ชำระมาชำระเงินดาวน์งวดแรกดังกล่าว และตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อทุกวันที่ ๑๕ ของเดือน เดือนละ ๘,๒๖๐ บาท จนกว่าจะครบถ้วน โดยโจทก์และจำเลยตกลงใช้ชื่อจำเลยเป็นผู้เช่าซื้อ และใช้ชื่อโจทก์ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน
ข้อ ๓. ปรากฏว่าภายหลังโจทก์และจำเลย ได้ช่วยกันนำรายได้ระหว่างที่อยู่กินกันฉันสามีภริยา ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่บริษัทไทยพาณิชย์ลิสซิ่งจำกัดทุกเดือนตลอดมา ตั้งแต่งวดวันที่ 15 กุมพันธ์ 2555 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2559 เป็นจำนวน 51 งวด รวมเป็นเงิน 421,260 บาท โดยรวมเป็นเงินที่โจทก์และจำเลยได้ชำระให้แก่ บริษัท ไทยพาณิชย์ลิสซิ่งจำกัด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 621,260 บาท ดังนั้นสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ HONDA CITY สีดำ หมายเลขทะเบียน ๑ กม ๓๙๐๓ กรุงเทพมหานครระหว่าง จำเลย กับ บริษัท ไทยพาณิชย์ลิสซิ่งจำกัด เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างโจทก์และจำเลยคนละกึ่งหนึ่ง เนื่องจากได้นำเงินเก็บและรายได้ของทั้งโจทก์และจำเลยระหว่างที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาชำระค่าวางดาวน์และค่าเช่าซื้อดังกล่าว ด้วยเจตนาจะให้สิทธิเช่าซื้อและกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
ซึ่งหลังจากโจทก์และจำเลยเลิกรากันแล้ว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยแบ่งสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์คันกล่าวให้แก่โจทก์ โดยขายสิทธิเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวแล้วนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ หรือชำระเงินให้แก่โจทก์ตามส่วนที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์ แต่จำเลยเพิกเฉยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยมีหน้าที่แบ่งสิทธิเช่าซื้อรถยนต์คันกล่าวให้แก่โจทก์ โดยการขายสิทธิเช่าซื้อและนำเงินที่ได้มาแบ่งให้แก่โจทก์ หรือชำระเงินให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์มีสิทธิ คือจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินจำนวน 621,260 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 310,810 บาท แต่โจทก์ติดใจเรียกร้องเพียง 300,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในคดีนี้
โจทก์และจำเลยได้ทำการเช่าซื้อรถยนต์ ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ที่อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรีมูลคดีนี้เกิดที่ ในอำนาจของศาลนี้
อนึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อ หลักฐานการผ่อนชำระได้อยู่ที่จำเลยทั้งหมด ซึ่งโจทก์จะหมายเรียกมาในชั้นพิจารณาต่อไป
จำเลยไม่มีทางอื่นที่จะบังคับเอากับจำเลยได้ จึงนำคดีมายื่นต่อศาลเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งบังคับเอากับจำเลยต่อไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
คำขอท้ายฟ้อง
๑. ให้จำเลยขายสิทธิเช่าซื้อรถยนต์รถยนต์ HONDA CITY สีดำ หมายเลขทะเบียน ๑ กม ๓๙๐๓ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เช่าซื้อจาก บริษัท ไทยพาณิชย์ลิสซิ่งจำกัด และนำเงินที่ได้มาชำระให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่อาจขายได้ ให้นำออกประมูลกันเอง หรือขายทอดตลาด นำเงินที่มาแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง หรือหากสภาพแห่งหนี้ไม่อาจเปิดช่องให้ทำได้ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อย 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
๒. ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์
ตัวอย่างที่ 2 กรณีอยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และได้ออกรถมาผ่อนหมดแล้วได้แบ่งรถไปคนละคัน แต่ฝ่ายจำเลยไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์
ข้อ 1.โจทก์และจำเลยได้อยู่กินฉันสามีภรรยา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมาตั้งแต่ประมาณปี 2551 ถึงประมานเดือนมีนาคม 2556
ข้อ2. เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2556 ระหว่างที่โจทก์และจำเลยยังอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ MITSUBISHI แบบLANCER JT 1.6 A/T รุ่นปี 2005 สีดำ หมายเลขทะเบียน สฎ9576 กรุงเทพมหานคร จากธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)โดยราคาเช่าซื้อรวมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวนประมาณ 5 แสนบาทเศษ ซึ่งมีเงินดาวน์งวดแรก เป็นเงินจำนวน 10,000บาท โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินดาวน์งวดแรกดังกล่าว และเป็นผู้ชำระค่าผ่อนชำระค่าเช่าซื้อทุกวันที่ 25 ของเดือน เดือนละ 8,747 บาท จนกว่าจะครบถ้วน โดยโจทก์และจำเลยตกลงใช้ชื่อจำเลยเป็นผู้เช่าซื้อ และใช้ชื่อโจทก์ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน รายละเอียดปรากฏตามสำเนารายการจดทะเบียน รถยนต์ MITSUBISHI แบบLANCER JT 1.6 A/T รุ่นปี 2005 สีดำ หมายเลขทะเบียน สฎ9576 กรุงเทพมหานครเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1
ข้อ 3. หลังจากได้ทำการเช่าซื้อรถยนต์คันดันกล่าวได้ไม่นาน โจทก์และจำเลยได้เลิกรากัน และได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว โดยจำเลยได้รถยนต์กระบะอีกคันหนึ่งซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไป ส่วนโจทก์ได้สิทธิในรถยนต์ MITSUBISHI แบบLANCER JT 1.6 A/T รุ่นปี 2005 สีดำ หมายเลขทะเบียน สฎ9576 กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นโจทก์เป็นคนเดียวที่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่ธนาคารเกียรตินาคิน ทุกเดือนตลอดมา ตั้งแต่งวดวันที่ 25 กุมพันธ์ 2556 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2561 เป็นจำนวน 60 งวด รวมเป็นเงิน 524,820 บาท โดยรวมเป็นเงินที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ ธนาคารเกียรตินาคิน เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 524,820 บาท ดังนั้นกรรมสิทธิ์และสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถยนต์ MITSUBISHI แบบLANCER JT 1.6 A/T รุ่นปี 2005 สีดำ หมายเลขทะเบียน สฎ9576 กรุงเทพมหานครระหว่าง จำเลย กับ ธนาคารเกียรตินาคิน จึงเป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากโจทก์เป็นคนชำระค่าวางดาวน์และค่าเช่าซื้อดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ด้วยเจตนาจะให้สิทธิเช่าซื้อและกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และได้มีการตกลงกันหลังโจทก์เลิกรากับจำเลยแล้วให้ โจทก์เป็นผู้ได้สิทธิรถยนต์คันดังกล่าว รายละเอียดจะนำสืบในใช้พิจารณาต่อไป ซึ่งหลังจากโจทก์และจำเลยเลิกรากันและโจทก์ผ่อนชำระจนครบถ้วนแล้ว ทางธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ได้โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวให้แก่จำเลย และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์MITSUBISHI แบบLANCER JT 1.6 A/T รุ่นปี 2005 สีดำ หมายเลขทะเบียน สฎ9576 กรุงเทพมหานครให้แก่โจทก์
โจทก์และจำเลย ได้ทำการเช่าซื้อรถยนต์ ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ที่อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรีมูลคดีนี้เกิดที่ ในอำนาจของศาลนี้
อนึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อ หลักฐานการผ่อนชำระได้อยู่ที่จำเลยทั้งหมด ซึ่งโจทก์จะหมายเรียกมาในชั้นพิจารณาต่อไป
อนึ่ง คดีนี้เป็นการฟ้องให้จำเลยเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนรถยนต์ ซึ่งกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวเป็นของโจทก์ตั้งแต่มีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันแล้ว จึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลนี้
ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย รายละเอียดปรากฏตามหนังสือทวงถามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2
โจทก์ไม่มีทางอื่นที่จะบังคับเอากับจำเลยได้ จึงนำคดีมายื่นต่อศาลเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งบังคับเอากับจำเลยต่อไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
คำขอท้ายฟ้อง
1.ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ เปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียน รถยนต์MITSUBISHI แบบLANCER JT 1.6 A/T รุ่นปี 2005 สีดำ หมายเลขทะเบียน สฎ9576 กรุงเทพมหานครให้เป็นชื่อของโจทก์ หากจำเลยไม่กระทำให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
2.ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
สรุป
ข้อกฎหมายเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างสามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสนั้น มีหลักการอยู่ว่า หากทั้งสองฝ่ายได้ตกลงปลงใจอยู่กินกันอย่างครอบครัว ร่วมกันทำมาหาได้ รวมกันก่อร่างสร้างครอบครัวขึ้นมา
ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ระหว่างนั้น ย่อมถือเป็นกรรมสิทธ์รวมที่ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิร่วมกัน ถึงแม้จะอยู่ในชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงคนเดียว อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องขอให้แบ่งได้
แต่ถ้าหากทั้งสองฝ่ายมีการคบหากันก็จริง แต่เป็นไปในลักษณะแบบผิวเผิน ไม่มีการทำมาหาได้ร่วมกัน ไม่ได้อยู่กินกันอย่างครอบครัว เช่นนี้ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นหุ้นส่วนชีวิตที่มีสิทธิฟ้องแบ่งทรัพย์สินครับ
สุดท้ายนี้ผมหวังว่าบทความและตัวอย่างการทำงานนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆและผู้สนใจทุกคนครับ