การขอให้ศาลสั่งให้เป็น ” คนไร้ความสามารถ “ และขอแต่งตั้ง ” ผู้อนุบาล “ เป็นงานที่ทนายความจะต้องพบเจออยู่ประจำ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน
ซึ่งการทำงานของทนายความ ไม่ควรแต่จะลอกตัวอย่างคำร้อง คำคัดค้าน และทำตามไปโดยที่ไม่เข้าใจข้อกฎหมายอย่างถ่องแท้
แต่ทนายความควรต้องศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แตกฉานก่อน แล้วจึงค่อยลงมือทำงาน เพราะหากเกิดปัญหาเฉพาะหน้า จะได้แก้ไขได้ถูกต้อง อีกทั้งยังป้องกันความผิดพลาดต่างๆได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น วันนี้ผมจะมาอธิบายเกี่ยวกับ คนไร้ความสามารถ และ ผู้อนุบาล พร้อมข้อกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาแบบละเอียดครบถ้วน เพื่อใช้เป็นคู่มือในการศึกษาและทำงานครับ
คนไร้ความสามารถ หมายถึง
คนไร้ความสามารถ คือ คนที่ศาลไต่สวนพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าเป็นบุคคลวิกลจริต จึงมีคำสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถ และประกาศคำสั่งดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ทราบ (ป.พ.พ.ม.28)
ดังนั้นคนไร้ความสามารถ คือ บุคคลวิกลจริต ที่ศาลมีคำพิพากษายืนยันแล้วว่า เป็นบุคคลวิกลจริตจริง
“คนไร้ความสามารถ” จึงเหมือนกับ “ บุคคลวิกลจริต ” ทุกประการ แตกต่างกันเพียงว่า ศาลมีคำสั่งแล้วหรือไม่
คำว่าบุคคลวิกลจริต คือ ?
คำว่าบุคคลวิกลจริต หมายความถึง
1.บุคคลที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ และมีอาการร้ายแรง ถึงขั้นทำให้ไม่สามารถตัดสินใจแยกถูกผิดโดยใช้เหตุผลได้ดังคนปกติ ไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของตนเองได้ และมีอาการดังกล่าวแบบติดตัวหรือเป็นประจำ
2.บุคคลที่ไม่สามารถดูแลหรือจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ เนื่องจากไม่มีสติสัมปชัญญะ ขาดความรำลึกของความรู้สึกเนื่องจากอาการป่วยหนัก (เช่นนอนป่วยติดเตียง ด้วยโรคสมองฝ่อ หรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรง) และมีอาการดังกล่าวแบบติดตัว หรือเป็นประจำ
ซึ่งผมได้อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้ว โปรดอ่านในบทความเรื่อง ” บุคคลวิกลจริต ” <<< คลิกเพื่ออ่าน
ทำไมจึงต้องขอให้ศาลสั่งให้เป็น คนไร้ความสามารถ
บุคคลวิกลจริตสามารถทำนิติกรรมใดๆก็ได้ และนิติกรรมที่บุคคลวิกลจริตทำ จะเป็นโมฆียะต่อเมื่อ พิสูจน์ได้ว่า ขณะทำนิติกรรมบุคคลดังกล่าวมีอาการจริตวิกล และคู่กรณีรู้ว่าบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลวิกลจริต (ปพพ ม.30)
ซึ่งทางปฏิบัติเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะต้องมาพิสูจน์กันในภายหลัง และเมื่อทำนิติกรรมไปแล้ว หากจะต้องมาเพื่อถอนบอกล้างภายหลัง อาจจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลภายนอกได้
นอกจากนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องทำนิติกรรมสัญญาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของบุคคลวิกลจริต เช่น มีความจำเป็นต้องขายที่ดิน หรือถอนเงิน เพื่อมาใช้รักษาตัวบุคคลวิกลจริต เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินย่อมไม่ทำให้ เพราะรับทราบว่าบุคคลดังกล่าวมีอาการวิกลจริต หรืออาจจะทำไม่ได้โดยสภาพ เพราะบุคคลวิกลจริตไม่สามารถแสดงเจตนาได้ เช่น นอนป่วยไม่รู้สึกตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
ดังนั้นกฎหมายจึงเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียกับบุคคลวิกลจริต ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นบุคคลไร้ความสามารถ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา เกี่ยวกับการทำนิติกรรม และทรัพย์สิน ของคนไร้ความสามารถ
ใครเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง
ไม่ใช่ใครก็ได้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถและขอให้ศาลตั้งผู้อนุบาล แต่เฉพาะบุคคลเหล่านี้่เท่านั้น ที่มีสิทธิยื่นคำร้อง
1.คู่สมรส
ซึ่งหมายความถึง สามีหรือภริยา ของบุคคลวิกลจริต เฉพาะที่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแล้วเท่านั้น หากอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แม้จะอยู่กินมานานแค่ไหน ก็ไม่สามารถยื่นคำร้องได้
2.ผู้บุพการี
ซึ่งหมายความถึง บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวดของบุคคลวิกลจริต ซึ่งรวมถึงบิดามารดาบุญธรรมด้วย (ฎ.1886/2492)
แต่กรณีที่ผู้บุพการีเป็นบิดา จะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ปัญหานี้นักกฎหมายหลายคนยังเห็นแย้งกันอยู่ บ้างก็ว่าต้องมีการรับรองโดยพฤตินัยหรือนิตินัยเสียก่อน บ้างก็ว่าไม่ต้อง ให้ถือตามความเป็นจริง และยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ระบุประเด็นนี้ตรงๆ
ดังนั้นถ้าเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผมเห็นว่าน่าจะต้องทำการขอรับรองบุตร เพื่อให้ถือเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อนดีกว่าครับ
อนึ่งคำว่าผู้บุพการี ไม่รวมถึง พี่น้องร่วมบิดามารดา ลุง ป้า น้า อา ลูกพี่ลูกน้อง ถึงเป็นญาติใกล้ชิดเพียงใด แต่ไม่ถือว่าเป็น ผู้บุพการี/ผู้สืบสันดานย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.727/2472 , ฎ.1886/2492,ฎ.5541/2542 แต่อย่างไรก็ตามบุคคลดังกล่าวอาจใช้สิทธิยื่นคำร้องได้หากเป็นผู้ดูแลปกครองผู้วิกลจริต ตามความเป็นจริง (ดูข้อ 4.)
3.ผู้สืบสันดาน
ซึ่งหมายความถึง ลูก หลาน เหลน ลื่อ ของบุคคลวิกลจริต และรวมถึง
1.บุตรบุญธรรมที่ได้จดทะเบียนแล้ว (ฎ.371/2510)
2.บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองทางนิตินัยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับรองทางนิตินัย ด้วยการจดทะเบียนสมรสกับมารดา หรือจดทะเบียนรับรองบุตร
3.บุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองทางพฤตินัยด้วยการ ให้การส่งเสียเลี้ยงดู ดูแลปกครอง ให้การศึกษา ให้ใช้นามสกุล และแสดงต่อบุคคลอื่นๆว่าเป็นบุตรของตน ( ฎ.1340/2534 )
4.ผู้ปกครอง ผู้ดูแล
หมายความรวมถึงผู้ปกครองตามกฎหมาย และผู้ปกครองโดยพฤตินัย คือบุคคลที่ดูแลคนวิกลจริตด้วย
โดยผู้ปกครองนั้น ไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติกับบุคคลวิกลจริตแต่อย่างใด แต่หากเป็นผู้ปกครองหรือ ดูแลเลี้ยงดูบุคคลวิกลจริตตลอดมาก็มีสิทธิยื่นคำร้องได้ (ฎ.964/2504 ญ., ฎ.3866/2545)
แต่หากเป็นเพียงญาติ เช่นเป็นน้า แต่ไม่เคยร่วมปกครองดูแลบุคคลวิกลจริต ก็ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องแต่อย่างใด ฎ.5541/2542
5.ผู้พิทักษ์
หมายถึงบุคคลที่ศาลตั้งให้เป็นผู้พิทักษ์คนเสมือนไร้ความสามารถ
6.พนักงานอัยการ
หมายถึง กรณีที่บุคคลอื่นที่นอกเหนือจากข้อ 1-5 หากมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องขอให้บุคคลใดเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ก็ต้องขอให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้อง
หากบุคคลอื่นนอกเหนือจากบุคคลตาม ข้อ 1.-6 ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะยกคำร้อง แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตจริง เพราะผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง (ฎ.1886/2492 , ฎ.912/2520 )
หลักในการพิจารณาของศาล
การที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถนั้น จะต้องทำการไต่สวนคำร้องและประกาศให้ทราบโดยทั่วไป รวมทั้งทางปฏิบัติจะมีการส่งหมายให้ผู้มีส่วนได้เสียทำการคัดค้านต่อศาลด้วย
ทางปฏิบัติศาลจะค่อนข้างใช้ความระมัดระวังในการที่สั่งให้ใครเป็นคนไร้ความสามารถ เพราะการที่ศาลสั่งให้ใครเป็นคนไร้ความสามารถนั้น จะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นเป็นอย่างมาก
ดังนั้นถ้าพยานหลักฐานไม่ชัดเจนว่า บุคคลนั้นเป็นบุคคลวิกลจริต ศาลก็จะไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ซึ่งศาลอาจจะสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแทนก็ได้ หรืออาจจะยกคำร้องไปเลย
ทั้งนี้หากศาลมีคำสั่งให้ใครเป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าศาลเห็นสมควร เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและทรัพย์ของคนไร้ความสามารถ ศาลจะมีคำสั่งตั้งนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือเจ้าพนักงานอื่น ทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้อำนาจของผู้อนุบาล เกี่ยวแก่ตัวคนไร้ความสามารถหรือทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถ หรือค่าอุปการะเลี้ยงดูและการรักษาพยาบาลคนไร้ความสามารถก็ได้ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.เยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ม.163
ศาลจะตั้งใครเป็นผู้อนุบาล
เมื่อศาลสั่งให้ใครเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว ศาลจะตั้งผู้อนุบาลให้ดูแลคนไร้ความสามารถดังกล่าว และการที่ศาลจะสั่งตั้งใครเป็นคนไร้ความสามารถนั้น จะต้องพิจารณาถึงสถานะของคนไร้ความสามารถ ดังนี้
1.คนไร้ความสามารถ มีคู่สมรสแล้ว
กรณีนี้ศาลจะสั่งให้คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (เฉพาะที่จดทะเบียนสมรส) เป็นผู้อนุบาล ตามปพพ. ม. 1463 เพราะศาลถือว่าคู่สมรสจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดคนไร้ความสามารถที่สุด และสามารถดูแลผู้ไร้ความสามารถได้ดีที่สุด ฎ.6939/2537 ,
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีเหตุสำคัญ ซึ่งทำให้สามีหรือภรรยาของคนไร้ความสามารถนั้น ไม่เหมาะสมจะเป็นผู้อนุบาล เช่น เป็นชู้ มีชู้ มีพฤติกรรมล้างผลาญทรัพย์สิน ชอบตบตีคู่สมรส หรือแยกกันอยู่มานานแล้ว ศาลอาจจะตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาลก็ได้
2คนไร้ความสามารถ บรรลุนิติภาวะแล้ว และยังไม่มีคู่สมรส
กรณีที่คนไร้ความสามารถนั้นยังไม่มีคู่สมรส และบรรลุนิติภาวะแล้ว ศาลย่อมตั้ง บิดาและมารดา หรือบิดา/มารดา คนใดคนหนึ่งย่อมเป็นผู้อนุบาล ปพพ. ม. 1598/18 ว.1 – 1569/1 ว.2 เพราะธรรมดาแล้วในกรณีนี้ บิดาหรือมารดา ย่อมเป็นผู้ดูแลใกล้ชิดกับผู้ไร้ความสามารถที่สุด
ในทำนองเดียวกัน ถ้าศาลเห็นว่าไม่ควรตั้งบิดา มารดา เป็นผู้อนุบาล เช่นมีพฤติกรรมล้างผลาญทรัพย์สิน ติดสุรายาเมา ชอบเล่นการพนัน ศาลก็มีสิทธิตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาลได้
3.ผู้เยาว์ถูกสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
กฎหมายกำหนดให้ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้อนุบาล ซึ่งธรรมดาแล้วผู้ใช้อำนาจปกครองคือ บิดาและมารดา ใช้อำนาจปกครองร่วมกัน กรณีจดทะเบียนสมรส หรือมารดา กรณี บิดาเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ปพพ. ม.1569
หากผู้เยาว์ไม่มีอำนาจปกครอง แต่อยู่ภายใต้การปกครองดูแลของผู้ปกครอง เช่น ตา ยาย ปู่ ย่า ที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ศาลก็จะตั้งผู้ปกครองเป็นผู้อนุบาล
กรณีศาลสั่งให้บุตรบุญธรรมเป็นคนไร้ความสามารถ ผู้รับบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ตาม ปพพ. ม. 1598/28 ย่อมเป็นผู้อนุบาล ตาม ปพพ.ม. 1569
อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือศาลเห็นว่าผู้ใช้อำนาจปกครองไม่เหมาะสมจะเป็นผู้อนุบาลศาลจะตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาลก็ได้ ปพพ. ม.1569/1 คำสั่งศาลที่บุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาล จะเป็นการถอนผู้ใช้อำนาจปกครองไปในตัว
คุณสมบัติของผู้อนุบาล
เนื่องจากผู้อนุบาลนั้น จะต้องดูแลผลประโยชน์ของคนไร้ความสามารถ ดังนั้นจะต้องมีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า เขาจะไม่บกพร่องในหน้าที่ และสามารถกระทำการดังกล่าวได้ ดังนั้นคุณสมบัติเบื้องต้น ของผู้อนุบาลย่อมมีดังนี้
1.บรรลุนิติภาวะแล้ว
2.ไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
3.ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
4.ไม่เป็นผู้ไม่เหมาะสม เช่นมีคดีเคยถูกพิพากษาจำคุก หรือมีพฤติกรรมติดยาเสพติด ติดการพนัน
5.ไม่เป็นผู้ซึ่งมีหรือเคยมีคดีความกับคนไร้ความสามารถ ผ^hบุพการี หรือพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาของคนไร้ความสามารถ
6.ไม่เป็นผู้ที่บิดามารดาที่ตายได้ทำหนังสือระบุไว้ห้ามเป็นผู้อนุบาล
ซึ่งข้อเท็จจริงต่างๆเหล่านี้ หากเราเป็นทนายความ ฝ่ายผู้ร้อง ในการยื่นคำร้องหรือการนำสืบ ควรบรรยายและนำสืบถึงเรื่องคุณสมบัติของผู้อนุบาล ไปพร้อมกันด้วย
และถ้าเราเป็นทนายความฝ่ายผู้คัดค้านในคดีร้องขอตั้งผู้อนุบาล ประเด็นต่างๆเหล่านี้ก็เป็นประเด็นที่เราควรจะใช้คัดค้านการตั้งผู้อนุบาล
ผู้อนุบาล มีอำนาจหน้าที่อย่างไร
การใช้อำนาจของผู้อนุบาลเป็นอย่างไรนั้น โดยหลักทั่วไปแล้ว การใช้อำนาจของผู้อนุบาล จะคล้ายกับกับการใช้อำนาจของผู้ปกครอง เช่น
1.มีอำนาจกำหนดที่อยู่ มีอำนาจเรียกตัวจากบุคคลที่กักไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจทำโทษหรือสั่งให้ทำการงาน ปพพ ม.1567
2.มีหน้าที่ในการให้การอุปการะเลี้ยงดู คนไร้ความสามารถ ตามปพพ ม.1564
ผู้อนุบาลมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของผู้ไร้ความสามารถตาม ปพพ. ม .1571 โดยจะต้องจัดการทรัพย์สินดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ เช่นการขายสังหาริมทรัพย์ในราคาที่เหมาะสม การนำเงินไปใช้รักษาตัวหรือซื้อสิ่งของจำเป็น ตามสมควรแก่ฐานะ
แต่ผู้อนุบาลไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ไร้ความสามารถ ในเรื่องที่สำคัญๆ และอาจกระทบต่อประโยชน์ของคนไร้ความสามารถตาม ปพพ.ม. 1574 เช่นการขาย ขายฝาก หรือจำนอง อสังหาริมทรัพย์ ให้ผู้อื่นกู้ยืมเงิน ให้ทรัพย์สินแก่ผู้อื่นโดยเสน่หา เป็นต้น โดยหากจะกระทำการดังกล่าว ผู้อนุบาลจะต้องขออนุญาตต่อศาลเสียก่อน
นอกจากนี้ผู้อนุบาลจะทำกิจการใด ที่ผลประโยชน์ของตนเอง หรือคู่สมรส หรือบุตร ขัดกับผลประโยชน์คนไร้ความสามารถไม่ได้ เช่นโอนให้เงินตัวเอง ให้บุตร ให้คู่สมรส จะต้องขออนุญาตศาลเสียก่อน ตาม ปพพ. ม.1576
กรณีบิดามารดาเป็นผู้อนุบาลบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว กรณีคู่สมรสเป็นผู้อนุบาล หรือ กรณีศาลตั้งบุคคลอื่นนอกจากคู่สมรสหรือบิดามารดาเป็นผู้อนุบาล ห้ามผู้อนุบาลใช้สิทธิ ในการทำโทษหรือให้คนไร้ความสามารถทำงาน ตาม ปพพ . ม. 1567 (2)-(3)
คนไร้ความสามารถ ทำอะไรเองได้บ้าง
คนไร้ความสามารถ ทำนิติกรรม ได้ไหม
คนไร้ความสามารถไม่สามารถทำนิติกรรมได้เองเลย โดยไม่ต้องคำนึงว่าคู่กรณีอีกฝ่ายจะรู้หรือไม่ว่าบุคคลดังกล่าวเป็นคนไร้ความสามารถ เพราะตามกฏหมายถือว่ามีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หากคนไร้ความสามารถกระทำการใดไปจะถือเป็นโมฆียะ ปพพ. ม. 29
คนไร้ความสามารถ ทำพินัยกรรม หรือ ทำการสมรส ได้หรือไม่
นิติกรรมที่เป็นการเฉพาะตัวเช่น การสมรส หรือ การทำพินัยกรรม ปพพ. ม. 1449 1704 คนไร้ความสามารถก็ไม่สามารถทำได้ หากฝืนกระทำไปในกรณีนี้ การฝ่าฝืนถือเป็นโมฆะ ไม่ใช่เป็นโมฆียะอย่างกรณีทั่วไป ปพพ 1469 1704
คนไร้ความสามารถ ฟ้องร้องคดี ได้หรือไม่
คนไร้ความสามารถไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งได้ด้วยตนเอง ตามปวิพ ม 1(12)
การฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง ของคนไร้ความสามารถ ต้องกระทำโดยผู้อนุบาลเท่านั้น ตามปวิพ ม.1 (13)
ส่วนในการดำเนินดคีอาญาก็เช่นเดียวกัน การดำเนินคดีแทนจะต้องกระทำโดยผู้อนุบาล ตาม ปวิอ ม.5 (1)
การเพิกถอนถอนคำสั่ง
เมื่อศาลสั่งให้ใครเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว คำสั่งของศาลย่อมมีผลตลอดไปจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าว
ดังนั้นแม้ภายหลังคนไร้ความสามารถ จะมีอาการกลับมาเป็นบุคคลปกติไม่มีอาการวิกลจริตแล้วก็ตาม หากยังไม่มีการเพิกถอนคำสั่งของศาลก็จะถือว่าบุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตามหากคนไร้ความสามารถ ได้รักษาอาการวิกลจริตจนกลับมาเป็นบุคคลปกติแล้ว ตัวคนไร้ความสามารถเองหรือบุคคลที่มีสิทธิ์ร้องขอให้เป็นคนไร้ความสามารถตามปพพ ม28 ก็มีสิทธิ์ร้องขอต่อศาลสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถได้
และคำสั่งศาลที่ให้ไปถอนคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถก็จะมีผลทันทีเมื่อศาลมีคำสั่งและจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเช่นเดียวกัน
แนวทางการบรรยายคำร้อง ฉบับปฏิบัติ
1.บรรยายว่าผู้ร้องเป็นใคร
โดยจะต้องบรรยายว่าผู้ร้องเกี่ยวข้องกับบุคคลวิกลจริต ที่จะให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถอย่างไรบ้าง โดยคำนึงหลักตามปพพ ม.28 ที่อธิบายอย่างละเอียดแล้ว ข้างต้น ตัวอย่างเช่น
ผู้ร้องมีฐานะเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของ นาย ก. บุคคลวิกลจริต รายละเอียดปรากฏตามสำเนาใบสำคัญการสมรสเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1
หรือ
ผู้ร้องมีฐานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนาย ก.บุคคลวิกลจริต รายละเอียดปรากฏตาม สำเนาสูติบัตรและใบสำคัญการสมรสเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1
2.บรรยายว่า บุคคลวิกลจริตมีอาการอย่างไรบ้าง
โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ว่าแบบไหนจึงถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริตซึ่งผมเคยได้เขียนอธิบายอย่างละเอียดแล้ว ตัวอย่างเช่น
นายก.เป็นบุคคลวิกลจริต โดยพูดจาไม่รู้เรื่อง พูดถึงแต่เรื่องเทวดาบนฟ้า เมื่อถามคำถามอย่างนึงก็จะตอบคำถามอีกเรื่องนึง ไม่สามารถแสดงเจตนาหรือรักษาผลประโยชน์ของตนเองได้อย่างสมควร โดยแพทย์ลงความเห็นว่า เป็นโรคสมองเสื่อมขั้นรุนแรง รายละเอียดปรากฏตามใบรับรองแพทย์เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2
หรือ
นาย ก. เป็นบุคคลวิกลจริต โดยปัจจุบัน นาย ก. ป่วยเป็นโรคเจ้าชายนิทรา ไม่สามารถพูดคุยตอบโต้หรือกระทำการใดๆได้เลย โดยเป็นอาการดังกล่าวมาเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้วรายละเอียดปรากฏตามใบรับรองแพทย์เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2
3.บรรยายว่าสาเหตุใดจึงต้องการมายื่นคำร้องขอสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
ข้อนี้ธรรมดาแล้วกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ แต่ทางปฏิบัติก็ควรจะบรรยายให้ศาลทราบว่ามีสาเหตุอันใดถึงได้จะต้องมายื่นคำร้องต่อศาล ตัวอย่างเช่น
1.เนื่องจากนาย ก. มีทรัพย์สินต่างๆเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น บ้านพร้อมที่ดิน รถยนต์ เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร หุ้นในบริษัท ซึ่งนาย ก.จะไปทำนิติกรรมที่ทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ได้
หรือ
2.เนื่องจากนาย ก.มีทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่…ตั้งอยู่ที่….. และปัจจุบันมีความจำเป็นจะต้องขายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อนำเงินมารักษาตัวนาย ก. แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากนาย กเป็นบุคคลวิกลจริต
ข้อ 4.บรรยายว่า ต้องการขอให้ตั้งใครเป็น ผู้อนุบาล
โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ซึ่งได้อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว ตัวอย่างเช่น
ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้ง ผู้ร้อง ซึ่งมีฐานะเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผู้อนุบาลของ นาย ก.
หรือ
ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้ง ผู้ร้อง ซึ่งมีฐานะเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผู้อนุบาลของ นาย ก.
ข้อ5.บรรยายว่า ผู้อนุบาล มีคุณสมบัติตามกฎหมาย
โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ซึ่งได้อธิบายไว้ข้างต้น ตัวอย่างเช่น
ผู้ร้องบรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถ คนล้มละลาย ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่มีผลประโยชน์ขัดกันกับนาย ก. และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย
ข้อ6.บรรยายว่าผู้มีส่วนได้เสียให้ความยินยอมแล้วพร้อมกับแนบหนังสือให้ความยินยอม
ทั้งนี้หากไม่แนบหนังสือให้ความยินยอมไปท้ายคำร้อง ศาลจะสั่งให้ส่งหมายให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้คดีนัดไต่สวนช้าขึ้น และต้องเสียค่าส่งหมายเพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น
ในการยื่นคำร้องฉบับนี้ บิดามารดาของนาย ก. ให้ความยินยอมและไม่คัดค้าน รายละเอียดปรากฎตามหนังสือให้ความยินยอมเอกสารท้ายคำร้องฉบับนี้
ข้อ 7.บรรยายว่ามูลคดีเกิดที่ไหน หรือผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน
ทั้งนี้การยื่นคำร้องจะต้องยื่นตามศาลที่มูลคดีเกิด (ศาลเยาวชนและครอบครัว) ซึ่งธรรมดาแล้วก็คือสถานที่ที่ผู้ไร้ความสามารถมีภูมิลำเนา หรือที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาครับ ดังนั้นควรจะต้องบรรยายไปท้ายคำร้องให้ศาลทราบไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น
นาย ก. และผู้ร้อง มีภูมิลำเนาอยู่ที่เดียวกัน คือ บ้านเลขที่ 111 ตำบล…………อำเภอ……………จังหวัด………………. ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้
เทคนิคการดำเนินคดี – พยานหลักฐาน ที่ต้องใช้
หลังจากยื่นคำร้องไปแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้ส่งหมายให้ผู้มีส่วนได้เสีย เช่นบิดามารดาและบุตร หรือสามีภรรยาเป็นต้น เพื่อสอบถามบุคคลดังกล่าวว่าจะคัดค้านคำร้องหรือไม่
ดังนั้นจะต้องเตรียมคัดถ่ายทะเบียนราษฎร์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องนี้ไปด้วย หรือถ้าบุคคลดังกล่าวให้ความยินยอมแล้ว ก็ต้องให้เซ็นหนังสือให้ความยินยอมมาพร้อมกันด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าส่งหมาย
นอกจากนี้ศาลจะสั่งประกาศที่หน้าศาลและประกาศทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นๆเข้ามาคัดค้านได้ภายในกำหนดนัด
ศาลจะกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้อง ธรรมดาแล้วจะใช้เวลา ประมาณ 1- 2 เดือน นับจากวันที่ยื่นคำร้อง
หากท่านเป็นทนายความผู้ร้อง นอกจากจะบรรยายคำร้องให้ครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ท่านก็จะต้องเตรียมพยานหลักฐานต่างๆ ที่แสดงให้เห็นอาการวิกลจริตให้ชัดเจน
เช่น ใบรับรองแพทย์ บัตรประจำตัวผู้พิการ แพทย์ผู้ทำการรักษา ผู้ที่ดูแลบุคคลวิกลจริต รูปถ่ายบุคคลวิกลจริต คลิปวีดีโอแสดงอาการของบุคคลวิกลจริต หรือนำตัวบุคคลวิกลจริตไปศาล เพื่อให้ศาลตรวจสอบและพิเคราะห์ด้วยตนเอง
หากท่านเป็นทนายความผู้คัดค้าน ท่านจะต้องแสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่บุคคลวิกลจริต ยังมีสติสัมปชัญญะหรือสามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือนำบุคคลดังกล่าวไปให้ศาลพิเคราะห์ด้วยตนเอง
พยานหลักฐานส่วนไหนที่ไม่สามารถนำมาศาลด้วยตนเองได้ก็สามารถหมายเรียกกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้เช่น หมายเรียกเวชระเบียนการรักษา หมายเรียกแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นต้น
ธรรมดาแล้วพยานที่ใช้มักจะเป็นตัวผู้ร้อง เบิกความประกอบกับพยานเอกสาร หรือบางครั้งศาลที่เข้มงวดอาจจะให้หนำตัวแพทย์ผู้รักษามาเป็นพยานด้วย หากใบรับรองแพทย์ยังไม่ชัดเจน
หรืออาจจะเรียกเอาตัวบุคคลวิกลจริตมาซักถามต่อหน้าศาลให้ศาลดูอาการด้วยตนเอง
ทั้งนี้การยื่นคำร้องนั้นอาจจะขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้อนุบาลร่วมในทำนองเดียวกันกับการตั้งผู้จัดการมรดกร่วมก็ได้ (ดูตัวอย่างด้านล่าง)
ถ้าไม่มีผู้คัดค้านเข้ามาภายในกำหนดนัดและพยานหลักฐานชัดเจนว่าเป็นบุคคลวิกลจริตจริงกับผู้ร้องมีสิทธิ์ยื่นคำร้องได้ศาลก็จะมีคำสั่งว่าบุคคลดังกล่าวเป็นคนไร้ความสามารถ
ซึ่งคำสั่งของศาลจะต้องส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย แต่ทั้งนี้ตามคำสั่งมีผลทันทีนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งไม่ใช่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หากมีผู้คัดค้านก็ต้องทำการ ต่อสู้คดีและสืบพยานไปดังเช่นคดีแพ่ง โดยมีประเด็นที่พิพาทหลักๆ ในคดีเช่นนี้ ก็คือบุคคลดังกล่าวไม่ใช่บุคคลวิกลจริต หรือต่อสู้กันในประเด็นเรื่องใครมีความเหมาะสมเป็นผู้อนุบาล
ตัวอย่างจากคดีความจริง
ตัวอย่างแรก
บิดาประสบอุบัติเหตุร้ายแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจึงร้องขอให้ศาลสั่งให้บิดาเป็นคนไร้ความสามารถ และขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้อนุบาลบิดา เพื่อจัดการทรัพย์สินของบิดา
ตัวอย่างที่สอง
บิดาเป็นโรคอัลไซเมอร์ ไม่สามารถจัดการงานในกิจการห้างหุ้นส่วนได้ บุตรทั้งสองจึงร้องขอให้ศาลสั่งให้บิดาเป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งตนเองเป็นผู้อนุบาลร่วม
ค่าใช้จ่าย
แบ่งออกเป็น
ค่าคำร้อง 200 บาท
ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท หรือประกาศฟรีทางสื่ออิเล็กโทรนิกส์ ตามระเบียบของศาล
ค่าส่งหมายประมาณ 500-1,000 บาท ต่อผู้มีส่วนได้เสีย 1 คน แต่ถ้าเซ็นให้ความยินยอมมาแล้ว ไม่ต้องเสียครับ
ค่าทนายความอัตราเหมารวมค่าธรรมเนียม กรณีไม่มีผู้คัดค้าน จะอยู่ประมาณ 40,000 -50,000 บาท ครับ
หนังสืออ้างอิงประกอบการเขียนบทความ
หลักกฎหมายบุคคล กิตติศักดิ์ ปกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตาร์
คำอธิบาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย บุคคล ศาสตราจารย์พิเศษ ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล
คนวิกลจริตประทีป อ่าววิจิตรกุล
คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะบุคคล สมภพพิสิษฐ์ สุขพิสิษฐ์
คำอธิบาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยบุคคลธรรมดา ผศ.ดร. เจษฎา ทองขาว
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ หากมีข้อสงสัยตรงไหน คอมเม้นต์สอบถามได้เลยครับ