บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

ตัวอย่างการต่อสู้คดีที่ดิน ตอน ขายที่ดินสปก.และรับเงินไปแล้ว แต่กลับมาฟ้องขับไล่ผู้ซื้อออกจากที่ดิน 

คดีนี้ โจทก์มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิทำกินในที่ดิน สปก.  ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร เนื้อที่ประมาณ 40 ไร่เศษ  และต่อมาโจทก์ได้ทำการขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไป เป็นเงินรวมประมาณ 6 ล้าน (รวมกับขายที่ดินแปลงอื่นๆด้วย)

โดยการซื้อขาย ที่ดิน สปก ดังกล่าว มีหลักฐานการซื้อขายและหลักฐานการชำระเงิน และมีหลักฐานการส่งมอบที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับฝ่ายจำเลยชัดเจน 

ต่อมาปรากฎว่า หลังจากโจทก์ได้รับเงินจากฝ่ายจำเลย ไปแล้ว โจทก์กลับมายื่นฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง โดยโจทก์อ้างว่าตนเองมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิ์ทำกินในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมีหลักฐานปรากฎตาม สำเนา ที่ดิน สปก และอ้างว่า จำเลยทั้งสองมาบุกรุกเข้าทำกินในที่ดิน สปก. ของโจทก์ จึงขอให้ศาลขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดิน 

โดยในคำฟ้อง ทนายความโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงเรื่องการที่ตนเองขายที่ดินสปก. แปลงดังกล่าวใหักับฝ่ายจำเลย ไปแล้วเลย 

ทั้งนี้ ที่ดิน สปก นั้น มีชื่อเรียกเต็มๆว่า “หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน” ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิที่รัฐออกให้กับประชาชนที่ยากจน เพื่อให้ทำกินในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยที่ผู้ถือที่ดิน สปก จะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน มีเพียงสิทธิครอบครองและทำกินในที่ดินเท่านั้น 

ผู้ที่ถือเอกสาร สปก สามารถทำการเกษตรในที่ดินได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะไม่สามารถขายหรือจะหน่าย สิทธิตาม สปก ให้กับบุคคลอื่นได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น ทั้งนี้  ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39

หากผู้ที่ถือที่ดิน สปก.ทำการโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับบุคคลอื่น นิติกรรมดังกล่าว ย่อมถือเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะ เพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2546 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2546 อ่านคำพิพากษาได้ที่ท้ายบทความ)

โจทก์ปรึกษากับทนายความหัวหมอแล้ว เห็นช่องว่างของกฎหมาย 

ถึงแม้ตนเองจะขายที่ดินและรับเงินค่าที่ดินไปจากฝ่ายจำเลยแล้ว แต่ตามกฎหมายถือว่าสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ ชื่อในเอกสารสิทธิ ที่ดิน สปก ก็ยังเป็นชื่อของโจทก์

โจทก์จึงมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดิน หวังว่าจะได้ที่ดินกลับคืน และได้เงินไปใช้แบบฟรีๆ !!

คดีนี้ผมได้รับว่าความเป็นทนายความให้กับจำเลยทั้งสอง โดยตั้งประเด็นข้อต่อสู้เพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ได้ขายที่ดินให้กับตัวแทนของจำเลย ได้รับเงินค่าที่ดินไปจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้กับตัวแทนของจำเลยแล้ว โดยมีพยานหลักฐานชัดเจน 

ถึงแม้ที่ดินสปก.จะไม่สามารถซื้อขายกันได้ก็ตาม แต่การที่โจทก์ซึ่งรับเงินค่าที่ดินไปแล้วถึง 6 ล้านบาท แต่กลับมาฟ้องขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 วางหลักไว้ว่าการใช้สิทธิต่างๆของบุคคลนั้น จะต้องกระทำการโดยสุจริต 

ดังนั้นการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์ ก็ต้องกระทำโดยสุจริตด้วย การที่โจทก์จะอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย มาเปรียบจำเลย โดยการรับเงินของจำเลยไป แล้วมาฟ้องขับไล่จำเลยทีหลัง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ทั้งนี้โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11165/2558 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2560 เป็นต้น (อ่านคำพิพากษาได้ที่ท้ายบทความ)

เมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นสืบพยาน ฝ่ายโจทก์พยายามบ่ายเบี่ยงเบิกความไปว่า ในการขาย ที่ดิน สปก ของตนเองนั้น เป็นการขายเฉพาะต้นยางที่อยู่บนที่ดิน แต่ไม่รวมถึงการขายที่ดิน และยังเบิกความบ่ายเบี่ยงไปทำนองว่า โจทก์ได้ทำการซื้อที่ดินคืนจากฝ่ายจำเลยแล้ว แต่ก็ขัดแย้งกับพยานหลักฐานทั้งหมด ซึ่งรายละเอียดการถามค้านและนำสืบ ผมจะนำมาเผยแพร่ในตอนต่อไป 

สุดท้ายคดีนี้ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ก็พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของโจทก์ ที่ได้รับเงินค่าที่ดินไปแล้ว และได้ส่งมอบการครอบครองที่ดิน สปก ให้ฝ่ายจำเลยไปแล้ว แต่กลับมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดิน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และการที่โจทก์สละการครอบครองที่ดินสปกไปแล้ว สิทธิครอบครองที่ดิน สปก ย่อมกลับไปเป็นของ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินตามเดิม ไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คดีนี้โจทก์ขยายฎีกาอยู่ 4 ครั้งได้แล้ว ผมคิดว่าโจทก์น่าจะยื่นฎีกา และหากศาลฎีกามีคำพิพากษาอย่างไรผมจะนำมาเผยแพร่อีกครั้งครับ

อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้ ได้ตามนี้ครับ 

จบตอน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องและอ้างถึงในบทความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2546

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างจำเลยยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์จึงต้องห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่เป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยเพราะมิใช่เป็นผลจากการผิดสัญญา แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 412 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้น เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรื่องลาภมิควรได้ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1876/2542

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท(ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน)ระหว่างโจทก์กับจำเลย มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ซึ่งตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลยย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 ที่โจทก์ ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ดังนี้หนังสือ สัญญากู้เงินฉบับพิพาทที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลง ยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้ เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะด้วยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2545

โจทก์ขายที่ดินให้แก่จำเลยและได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของตนเองมาโดยตลอด การที่โจทก์กลับมาอ้างสิทธิว่าเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01)ซึ่งเป็นการได้ภายหลังจากนั้นและมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11165/2558 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2558)

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์เป็นผู้รับสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ท. เมื่อปี 2546 แล้ว ท. สละการครอบครองให้จำเลยทั้งสองเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา แม้ก่อนฟ้องโจทก์กับ ท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะคืนเงินให้แก่ ท. 110,000 บาท และ ท. จะคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่โจทก์ก็มิได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่ ท. แต่อย่างใด การที่โจทก์กลับมาอ้างเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) และมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ท. จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2560

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเทียบเท่ากรม ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินของรัฐ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพียงจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้เข้าทำกินได้เท่านั้น สิทธิการครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์มีเพียงสิทธิทำกินหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนหรืออาศัยสิทธิจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ส่วนจำเลยซึ่งมิได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมไม่อาจยกอายุความการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองแทนและอาศัยสิทธิสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) มีข้อควรทราบและพึงปฏิบัติระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังบุคคลอื่นมิได้ และเมื่อผู้ได้รับอนุญาตสละสิทธิในที่ดินแล้ว ย่อมสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน การที่ ส. มารดาจำเลยและจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทระหว่างปี 2533 ถึง 2535 และโจทก์มอบ ส.ป.ก. 4-01 ให้แก่ ส. และจำเลยยึดถือไว้ตลอดมา พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้สละสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทให้แก่ ส. และจำเลยแล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 การที่โจทก์กลับมาอ้างสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ฟ้องขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts