บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อสังเกตในการชั่งน้ำหนักน้ำหนักคำให้การพยานที่เป็นเด็ก

การชั่งน้ำหนักพยานเด็ก

ข้อสังเกตในการชั่งน้ำหนักน้ำหนักคำให้การพยานที่เป็นเด็ก

กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดอายุของบุคคลที่จะมาให้การเป็นพยานต่อศาลไว้ ดังนั้นเด็กแม้จะมีอายุเพียงใด หากพอที่จะเข้าใจและตอบคำถามได้ย่อมสามารถเป็นพยานในคดีความต่างๆได้ เพียงแต่จะมีสิทธิพิเศษคือหากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจะได้รับยกเว้นไม่ต้องสาบานตัวก่อนเบิกความ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ประกอบมาตรา 112 ) ทั้งนี้แต่เดิมกฎหมายของไทยคือ กฎหมายลักษณะพยาน พ.ศ. 1894 ได้กำหนดไว้ว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี ถือเป็น ”อุตริพยาน “ คือพยานที่ศาลไม่ควรรับฟัง ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะถือยังเป็นเด็กเล็กเกินกว่าที่คำพูดจะรับฟังได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะพยาน ร.ศ.113 ก็ได้ยกเลิกหลักการดังกล่าวไป โดยให้ถือว่าแม้เด็กจะมีอายุน้อยเพียงใดก็ตามหากพอรู้เรื่องหรือพอที่จะให้ข้อเท็จจริงต่อศาลแล้ว ก็สามารถรับฟังเป็นพยานต่อศาลได้ ซึ่งหลักการนี้ก็ได้ใช้ต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

อย่างไรก็ดีในกรณีที่พยานเป็นเด็กโดยเฉพาะกรณีเป็นเด็กอายุน้อยมากนั้น โดยสภาพแล้วจะมีข้อจำกัดในการให้การเป็นพยาน เนื่องจากเด็กนั้นมีความด้อยประสบการณ์ทั้งในด้านการศึกษาอบรม ตลอดจนประสบการณ์เรียนรู้ของชีวิต เป็นเหตุให้เด็กไม่รู้สภาพของความจริง ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แยกแยะเหตุการณ์ได้ยากและไม่สามารถถ่ายทอดข้อเท็จจริงตลอดจนเหตุผลที่จะนำมาสนับสนุนหรือยืนยันหรืออธิบายข้อเท็จจริงที่พบเห็นได้ ประกอบกับความรับรู้และจดจำรายละเอียดเหตุการณ์จะมีน้อย โดยเด็กจะจำได้เฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ส่วนรายละเอียดมักจะจำไม่ได้ อีกทั้งมีข้อจำกัดในการใช้และความเข้าใจภาษาและศัพท์ มีความทรงจำและสมาธิด้อยกว่าผู้ใหญ่ ทั้งยังมีโอกาสถูกชักจูงหรือเสี้ยมสอนได้โดยง่าย การถามคำให้การพยานของเด็กกฎหมายจึงกำหนดวิธีการไว้แตกต่างจากผู้ใหญ่หลายประการ เช่นในคดีอาญาหากทนายความหรืออัยการจะถามพยานเด็กจะต้องถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งจะเรียบเรียงคำถามของทนายความหรืออัยการให้เป็นคำถามที่เหมาะสมกับเด็ก และคอยตีความภาษาหรือลักษณะอาการท่าทางของเด็กขณะตอบคำถาม (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี)

ซึ่งหลักโดยสังเขปในการพิจารณาว่าคำให้การของพยานเด็กนั้นน่าเชื่อถือเพียงใด อาจพิเคราะห์อย่างกว้างๆได้ดังนี้

1.พิจารณาจากอายุของเด็ก และสติปัญญาของเด็ก

2.พิจารณาความสามารถในการจดจำของเด็ก เช่นธรรมดาเด็กสามารถจำเหตุการณ์ได้ในระยะเวลาเท่าใด และเด็กมาเบิกความหลังเกิดเหตุแล้วเท่าใด

3.พิจารณาความสามารถในการที่จะเข้าใจและตอบคำถามได้

4.พิจารณาโอกาสที่เด็กจะได้รับการชักจูงหรือทำให้โน้มเอียงในการให้ข้อเท็จจริงจากปัจจัยต่างๆ เช่นการถูกซักซ้อม หรือการมีส่วนได้เสียในคดี หรือขณะเบิกความถูกกดดันจากผู้ปกครอง

5.พิจารณาจากกิริยาและลักษณะคำพูดขณะเบิกความว่าเป็นไปตามธรรมชาติของเด็ก หรือมีลักษณะเหมือนการแกล้งทำ แสดงท่าทางที่ผิดปกติไปจากวัย

6.พิจารณาจากลักษณะของคำเบิกความ ว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่

ซึ่งข้อเท็จจริงต่างๆที่จะใช้ชั่งน้ำหนักและพิสูจน์ความน่าเชื่อของพยานเด็กนั้น ย่อมได้มาจากการถามค้านพยานของทนายความ ซึ่งหลักการตั้งคำถามค้านพยานเด็กเบื้องต้นนอกจากการหลักการถามค้านธรรมดาแล้ว ควรถามเพิ่มเติมเรื่องเกี่ยวกับเรื่องความทรงจำของเด็กว่าสามารถจดจำเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้ดีแค่ไหน และความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเด็กเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคลาดเคลื่อนไปหรือไม่ และความความเข้าใจเกี่ยวกับคำถามต่างๆ และความสามารถในการสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจของเด็ก หรือประเด็นว่ามีใครซักซ้อมให้พยานเบิกความเช่นนี้หรือไม่ โดยเฉพาะจากตัวผู้ปกครองที่อาศัยอยู่ด้วยกัน เนื่องจากพยานเด็กนั้น หากได้รับการซักซ้อมให้เบิกความจากผู้ปกครองอย่างไรแล้วก็มักจะเบิกความให้ได้ตามนั้นอย่างสุดชีวิต แต่มักจะมีข้อพิรุธอยู่เสมอหากใช้ไหวพริบก็สามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น