ตัวอย่างการฟ้องคดียักยอกในตอนนี้ เป็นคดีที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย คือเป็นเรื่อง “ ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์ “
โดยเป็นเรื่องของผู้จัดการมรดก ที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลให้มีอำนาจหน้าที่ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแต่ไม่ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกให้กับทายาท และกลับเบียดบังทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของตนเอง หรือของบุคคลอื่น
ทั้งนี้เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายทรัพย์สินของบุคคลนั้นย่อมตกทอดได้แก่ทายาท (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599)
ถึงแม้กฎหมายจะเขียนว่า ทรัพย์มรดกตกทอดได้แก่ทายาททันที่ที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่กระบวนการในการแบ่งทรัพย์สินให้กับทายาทนั้น มักจะต้องอาศัยคำสั่งศาลในการตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงจะดำเนินการให้ได้
ตัวอย่างเช่น การโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หรืออาคารชุดต่างๆ การเบิกถอนเงินจากบัญชีธนาคาร การโอนเปลี่ยนกรรมสิทธิ์หุ้น การโอนทะเบียนรถยนต์ ส่วนใหญ่จะต้องอาศัยคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกในการดำเนินการทั้งสิ้น หากยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก เจ้าหน้าที่มักจะไม่ดำเนินการให้
ทั้งนี้หากทายาทโดยธรรมมีหลายคน การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกอาจจะแต่งตั้งทายาทคนเดียว หรือทายาทหลายคนเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันก็ได้
กรณีที่เป็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย และทนายความจะต้องพบเจอและแก้ปัญหาดังกล่าว ก็คือ กรณีที่ศาลแต่งตั้งบุคคลคนเดียวเป็นผู้จัดการมรดก
ไม่ว่าจะเป็นเพราะขณะที่ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ทายาทคนอื่นๆไว้ใจให้เป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงคนเดียว จึงได้เซ็นหนังสือให้ความยินยอมในการเป็นผู้จัดการมรดกมาให้
หรือเป็นเพราะขณะยื่นคำร้องทายาทคนอื่นๆไม่รู้เรื่อง มีลักษณะเป็นการยื่นคำร้องโดยปกปิดทายาทคนอื่น ทำให้มีผู้คัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดก
เมื่อศาลแต่งตั้งให้บุคคลคนเดียวเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้กับทายาทคนอื่นๆที่เหลือทุกคน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719)
ดังนั้นการเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ไม่ได้แปลว่าผู้จัดการมรดกเป็นคนที่มีสิทธิรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว แต่หมายความว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจและหน้าที่ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว และมีอำนาจในการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท มักจะเกิดเหตุการณ์ที่ผู้จัดการมรดกทำผิดหน้าที่ ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ทำโอนยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินต่างๆของผู้ตายไปเป็นประโยชน์ส่วนตน
เช่น การโอนทรัพย์มรดกเป็นของตนเองแต่เพียงคนเดียว หรือโอนไปให้ผู้อื่นโดยทุจริต การขายทรัพย์มรดกและนำเงินที่ได้ไปใช้แต่เพียงผู้เดียวไม่แบ่งปันทายาท เป็นต้น
การกระทำดังกล่าว นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ที่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ( ยกเว้นแต่บุคคลภายนอกสุจริตและเสียค่าตอบแทน )
ยังถือว่าเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดก และเป็นการเบียดบังยักยอกมรดกเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352-354 อีกด้วย
ซึ่งทายาทโดยธรรมที่ได้รับความเสียหาย อาจใช้สิทธิ์ฟ้องร้องดำเนินคดีหรือแจ้งความดำเนินคดีได้ ภายในกำหนดอายุความ 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องการกระทำความผิด
โดยในวันนี้ผมได้นำตัวอย่างการฟ้องร้องดำเนินคดี มาเผยแพร่ให้ดูครับ
โดยคดีนี้โจทก์และจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เมื่อมารดาโจทก์และจำเลยเสียชีวิต โจทก์ไว้วางใจให้จำเลย เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว
แต่หลังจากนั้นไม่นาน จำเลยกลับไปโอนทรัพย์สินมรดกคือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียว โดยได้แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทอีกคนหนึ่ง สละสิทธิ์และไม่ประสงค์รับมรดก
แล้วหลังจากนั้นก็ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้กับธนาคาร
โจทก์มาทราบภายหลัง เมื่อธนาคารมาสำรวจที่ดิน และแจ้งว่าจะดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีเอากับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายความไปทำการตรวจสอบโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดิน จึงทราบว่าทรัพย์มรดกได้ถูกโอนและนำไปจำนองต่ออีกทอดหนึ่งแล้ว
ในกรณีนี้การฟ้องเพิกถอนการจำนอง เป็นไปได้ยากมาก เพราะธนาคารย่อมถือว่าเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทน รับจำนองไว้โดยสุจริต
ผมจึงได้ใช้วิธียื่นฟ้องคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์มรดก และแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน (ในส่วนที่แจ้งข้อความกับเจ้าพนักงานที่ดินว่าฝ่ายโจทก์ไม่ประสงค์รับมรดก)
สุดท้ายเมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง จึงได้เข้ามาไกล่เกลี่ยกับโจทก์โดยการหาเงินมาชำระหนี้จำนองและแบ่งที่ดินให้กับโจทก์ ทำให้คดีสิ้นสุดลง จึงทำให้คดีเสร็จสิ้นไปโดยรวดเร็วครับ
สรุป
สำหรับข้อสังเกตในการฟ้องร้องดำเนินคดีประเภทนี้ ก็คือ
1.ธรรมดาแล้วมักจะฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาไปพร้อมกัน โดยในกรณีที่ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์สินเป็นของตนเอง และยังไม่ได้โอนต่อไปให้บุคคลอื่น จะฟ้องเป็นเรื่องการเพิกถอนการทำนิติกรรมควบคู่ไปด้วยเสมอ
2.แต่หากมีการโอนไปยังบุคคลภายนอก หรือทำการขายฝากหรือจดจำนองไว้กับบุคคลภายนอกแล้ว อาจจะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมไม่ได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกกระทำการโดยไม่สุจริต หรือเป็นนิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทน
3.การฟ้องร้องดำเนินคดีจะต้องทำภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องการกระทำความผิด ควรจะใช้วิธีแจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินคดีก็แล้วแต่ความสะดวกและรูปคดี
4.นอกจากการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมแล้ว มักจะมีการยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกและขอตั้งผู้จัดการมรดกแทนที่เข้าไปด้วย แต่ก็ต้องดูว่ายังเหลือทรัพย์สินมรดกส่วนอื่นที่ยังไม่ได้จัดการหรือไม่
หากทรัพย์สินมรดกได้ถูกยักย้ายถ่ายเทโอนไปหมดแล้ว การถอนผู้จัดการมรดกก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะไม่เหลือทรัพย์มรดกให้จัดการแล้ว อาจจะต้องไปเน้นคดีเรื่องการเพิกถอนนิติกรรมและฟ้องขอให้โอนทรัพย์มรดกในฐานะผู้จัดการมรดกมากกว่าครับ
5. กรณีผู้ตายมีทายาทหลายคน การตัดสินใจขตั้งผู้จัดการมรดกร่วมกันสองคนขึ้น ให้แต่ละฝ่ายมีอำนาจตัดสินใจกระทำการต่างๆร่วมกัน ไม่ให้คนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำการโดยลำพัง ก็เป็นวิธีการที่จะป้องกันปัญหาเช่นนี้ได้เป็นอย่างดีครับ
6. อ่านเพิ่มเติมเรื่องการติดตามทรัพย์มรดกได้ใน 4 วิธีติดตามทรัพย์มรดก เมื่อผู้จัดการมรดกไม่ยอมโอนทรัพย์สินให้กับทายาท ซึ่งผมได้เขียนอธิบายไว้อย่างละเอียดครับ
สุดท้ายผมหวังว่า ตัวอย่างและประสบการณ์จากการดำเนินคดีจริงเช่นนี้ จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆ ผู้สนใจทุกคนครับ