บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

ขั้นตอนการจดทะเบียนรับรองบุตร – การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร ฉบับเข้าใจง่าย

การรับรองบุตร – การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร รวมไปถึงขั้นตอนกระบวนการและวิธีการเป็นอย่างไร วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังแบบละเอียดครับ


บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง

บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ บุตรที่กฎหมายรับรอง และมีสิทธิหน้าที่ต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดอย่างสมบูรณ์ทุกประการ สามารถใช้ยันต่อบุคคลอื่นได้ 

ธรรมดาแล้ว บุตรที่เกิดขึ้นมานั้น ย่อมถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอ ( ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 ) และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1303/2518 

แต่เฉพาะบุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกันเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา

ส่วนบุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  ไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา ( ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 )

ถึงแม้ว่าบิดามารดาจะจัดงานสมรสกันใหญ่โต อยู่กินกันอย่างเปิดเผย ให้บุตรใช้นามสกุลบิดา แต่หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็ไม่ถือว่าบุตรที่เกิดเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาแต่อย่างใด  ( ฎ.452/2553 )

บุตรจึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอ แต่บุตรที่จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาตามที่กฎหมายวางหลักไว้ 

บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา มี 4 ประเภท 

1.บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ได้จดทะเบียนสมรสกัน 

2.บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่บิดามารดาได้มาจดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง 

3.บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่บิดาได้มาจดทะเบียนรับรองบุตรในภายหลัง

4.บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และภายหลังศาลพิพากษาว่าบิดาเป็นบิดาของบุตร 

ทั้งนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร


บุตรนอกกฎหมาย หมายถึง

บุตรนอกกฎหมาย หรือ บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ บุตรนอกสมรส หรือบุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และไม่ได้กระทำการรับรองบุตรให้ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ 

1.บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง 

2.บิดาไม่ได้ทำการจดทะเบียนรับรองบุตร 

3.ศาลไม่ได้พิพากษาให้เป็นบุตรของบิดา 

บุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤตินัย  หมายถึง

บุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤตินัย คือ บุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การอุปการะเลี้ยงดู ให้ใช้นามสกุล ให้ลงชื่อในเอกสารต่างๆว่าเป็นบุตรของตน แสดงออกโดยเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตรของตน 

การกระทำของบิดาเช่นนี้ ถึงแม้จะไม่ทำให้บุตร กลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ทำให้ถือว่า เป็นการยอมรับโดยพฤตินัยว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน 

ส่งผลให้บุตรมีฐานะเป็น “ผู้สืบสันดาน” และบิดาถือเป็น “ผู้บุพการี” ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิบางประการขึ้นแก่บุตรผู้เยาว์ เช่น บุตรนอกกฎหมาย ย่อมมีสิทธิในการรับมรดกของบิดา ในฐานะทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629 (1)

แต่อย่างไรก็ตาม บุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤตินัยนั้น ก็ยังมีสิทธิต่างๆที่ด้อยกว่าบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ  

ข้อแตกต่างเรื่อง สิทธิ-หน้าที่ ระหว่าง บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย กับ บุตรนอกกฎหมาย 

การที่ไม่ได้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา ทำให้ทั้งตัวบิดาและผู้เยาว์ เสียสิทธิตามกฎหมายหลายประการ เช่น 

  1. บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิฟ้องคดีแทนผู้เยาว์ กรณีผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  5 (1)  เพราะถือว่าไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรม ( ฎ.1988/2514 )
  2. บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิฟ้องคดีแพ่งแทนผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 56 
  3. บิดาเสียสิทธิเรื่องอำนาจปกครองบุตร อำนาจในกำหนดที่อยู่อาศัย กำหนดสถานที่ศึกษา การทำโทษ การให้ทำงานตามฐานานุรูป การเรียกคืนบุตรจากบุคคลที่กักไว้โดยไม่ชอบ เพราะถือว่าไม่ใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เป็นผู้ปกครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567
  4. บุตรเสียสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เพราะไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา (ฎ.1601/2492 )
  5. บุตรและบิดา เสียสิทธิในการรับเงินต่างๆ เช่น เงินบำนาญตกทอด หรือเงินช่วยเหลือๆของราชการ ตามที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นมีสิทธิได้รับ อ่านเพิ่มเติมได้ใน บทความเรื่อง  “บุตรกับบำเหน็จตกทอดกรณีบิดาถึงแก่ความตาย”
  6. กรณีบุตรถูกทำร้ายหรือทำละเมิดเสียชีวิต บิดาไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะต่างๆ เพราะถือว่าบุตรไม่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบิดา  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 เนื่องจากไม่ใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย 
  7. กรณีบิดาถูกทำร้ายหรือทำละเมิดเสียชีวิต บุตรก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะต่างๆ เพราะถือเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีหน้าที่ในการให้การอุปการะเลี้ยงดู ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิช์ มาตรา 1564 ทั้งนี้ตามนัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409/2548
  8. บิดาและบุตร เสียสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีตามกฎหมาย ทั้งนี้เพราะ คำว่าบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร หมายถึง บุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ทั้งนี้ตามนัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1437/2526  อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาและบุตร
  9. บิดาไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอุทลุม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บุตรสามารถฟ้องบิดาเป็นคดีแพ่งอละอาญาได้ เนื่องจากไม่ใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย อ่านรายละเอียดได้ในบทความเรื่อง “คำอธิบายเรื่องอุทลุมตามกฎหมาย
  10. บุตรเสียสิทธิในการใช้นามสกุลของบิดา เพราะบุตรที่มีสิทธิจะใช้นามสกุลของบิดาได้นั้น จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561
  11. บิดาไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวหรือดำเนินการใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ รวมทั้งไม่มีอำนาจขออนุญาตต่อศาล เพื่อทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574

ดังนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่า การเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ทั้งบิดามารดาและตัวบุตรผู้เยาว์ ควรจะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง  เพื่อรักษาสิทธิของทั้งสองฝ่าย 

วิธีการทำให้บุตรนอกกฎหมาย กลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา 

วิธีการทำให้บุตรนอกสมรส กลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา มีด้วยกัน 3. วิธี  

1.บิดาและมารดาได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง 

คือการที่บิดาและมารดา ได้สมัครใจจดทะเบียนสมรสกัน ทำให้บุตรกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายทันที โดยไม่ต้องไปดำเนินการใดๆอีก

ทั้งนี้คำว่า “จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง” กฎหมายไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าเป็นระยะเวลาเท่าไหร่

ดังนั้นบิดามารดาจะจดทะเบียนสมรสกันหลังเด็กเกิด เพียง 1 วัน หรือ 10 ปี ก็มีผลทำให้บุตรกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน 

และถึงแม้ภายหลัง บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าขาดจากกันก็ตาม ผลการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก็ยังอยู่ตลอดไป 

2.มีการจดทะเบียนรับรองบุตรภายหลัง 

คือกรณีที่บิดายอมรับว่าเด็กเป็นบุตร และสมัครใจไปจดทะเบียนรับรองบุตร ต่อนายทะเบียน ณ.ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต

เมื่อได้ทำการจดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว บุตรที่เกิดขึ้นจะถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาทันทีที่จดทะเบียนเสร็จสิ้น 

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1548 

3.ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร 

คือ กรณีบิดาปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนรับรองบุตร หรือไม่ยอมรับว่าเด็กเป็นบุตร 

บุตรหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร จึงได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลพิพากษาประกาศรับรองว่าเด็กเป็นบุตรของบิดา เพื่อให้บุตรมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

ผลของคำพิพากษาให้เด็กเป็นบุตรของบิดา มีผลเมื่อคดีถึงที่สุด และทำให้บุตรกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายทันที ถึงแม้จะยังไม่ได้ไปจดทะเบียนตามกฎหมาย

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555 -1558

หลักเกณฑ์ การจดทะเบียนรับรองบุตร 

ตัวบทกฎหมาย 

   มาตรา 1548 บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก

        ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

        ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล

        เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้

คำอธิบาย

การจดทะเบียนรับรองบุตร จะต้องทำตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด

โดยให้บิดาเป็นผู้ยื่นคำร้อง ณ สำนักทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอหรือสำนักงานเขต แห่งใดก็ได้ โดยนำหลักฐานคือ

        –  สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ของบิดา มารดา และ บุตร  

        –  บัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาพาสปอร์ตและหนังสือเดินทาง ของบิดา มารดา สูติบัตรของบุตร ไปแสดง

        – นำพยานบุคคลจำนวน 2 คน

 เมื่อทำสำเร็จแล้ว บิดาจะถือเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรทันที

ทั้งนี้การลงชื่อในสูติบัตรว่าเป็นบุตร หรือการให้การลงชื่อในทะเบียนบ้านว่าเป็นบุตร ไม่ใช่การจดทะเบียนรับรองบุตรตามกฎหมายแต่อย่างใด 

ปัญหาทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในการจดทะเบียนรับรองบุตร

1.ไม่สามารถตามตัวบุตร หรือมารดามาให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับรองบุตรได้ เพราะแยกกันอยู่นานแล้วไม่สามารถหาตัวกันเจอ

2.บุตร หรือมารดาไม่ยอมให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับรองบุตร เพราะมีปัญหาข้อพิพาททะเลาะกันกับบิดาอยู่

3.บุตรหรือมารดาเสียชีวิตไปแล้ว จึงไม่อาจให้ความยินยอมได้ 

4.มารดาหรือบุตรเป็นบุคคลวิกลจริต  ไม่สามารถให้ความยินยอมได้

5.บุตรผู้เยาว์ยังมีอายุน้อยเกินไป จึงทำให้ไม่สามารถให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับรองบุตรได้  เช่นอายุเพียง 5 เดือน – 3 ปี 

ทางแก้กรณีไม่สามารถจดทะเบียนรับรองบุตรได้ 

กรณีพบปัญหาดังกล่าวข้างต้น บิดาสามารถดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตต่อศาลดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 

เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว บิดาต้องนำคำสั่งของศาลไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้สถานะของบุตรนอกสมรส ให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาโดยสมบูรณ์ 

บิดาต้องไปยื่นขอจดทะเบียนรับรองบุตรที่สำนักงานเขต ก่อนไปยื่นคำร้องขอรับรองบุตรที่ศาลหรือไม่ ? 

กรณีที่บิดายื่นฟ้องคดี โดยกล่าวอ้างว่าเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านไม่ให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับรองบุตร 

โดยหลักแล้ว บิดาจะต้องไปยื่นคำขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน และปรากฎข้อมูลว่าบุตรกับมารดาบุตรไม่ให้ความยินยอมภายในกำหนด บิดาเด็กจึงจะฟ้องคดีได้

หากบิดาเด็กไม่ไปยื่นคำขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน และมายื่นฟ้องคดีเลยทันที ศาลอาจมีคำพิพากษายกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2521 บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ถ้า) ประสงค์จะจดทะเบียนบุตรที่เกิดก่อนสมรสให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะต้องไปขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อสำนักทะเบียน ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านการขอจดทะเบียน บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงจะมีอำนาจนำคดีฟ้องศาลได้ โดยฟ้องเด็กและมารดาร่วมกันเป็นจำเลย เมื่อปรากฏทั้งจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์และทางนำสืบว่าก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองเด็กขายโอภาส ต่อนายทะเบียนหรือจำเลยได้คัดค้านการขอจดทะเบียนข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายจึงยังไม่เกิดขึ้นแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาล แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้เกิดขึ้นแก่โจทก์ ไว้ในคำให้การและไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม ศาลฎีกาก็ยกขึ้นได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)

แต่ไม่ใช่ข้อบังคับเด็ดขาด

แต่การเป็นกรณีบิดา ไม่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนรับรองบุตรได้ เนื่องจากบุตรอายุยังน้อย ไร้เดียงวส ยังไม่สามารถให้ความยินยอมได้ หรือมารดาเป็นบุคคลวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ

หรือกรณีที่ปรากฎชัดเจนว่า มารดาเด็กจะไม่ให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับรองบุตรอยู่แล้ว เช่นบิดาเคยมีหนังสือขอให้มารดาไปทำการรับรองบุตร แต่มารดาไม่ยอมไป มีหลักฐานยืนยันชัดเจน

 บิดาสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้เลย โดยไม่ต้องไปขอจดทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนก่อน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13745/2553 ตามเจตนารมณ์ของ ป.พ.พ. มาตรา 1548 บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก โดยทั้งเด็กและมารดาเด็กจะต้องไปแสดงความยินยอมต่อนายทะเบียนด้วยนั้น มีความมุ่งหมายจะคุ้มครองสิทธิที่เด็กจะพึงได้รับจากผู้เป็นบิดาอันเป็นเรื่องประโยชน์ของเด็กและการให้ความยินยอมดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะตัว อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายบังคับให้ผู้ขอรับรองบุตรต้องได้รับความยินยอม ก็ต่อเมื่อเด็กและมารดาเด็กอยู่ในฐานะที่จะให้ความยินยอมได้เท่านั้น เมื่อโจทก์เคยไปติดต่อสำนักงานเขตดุสิตเพื่อจดทะเบียนว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุเพียง 7 ปี เป็นบุตรของตน แม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามระเบียบ แต่เจ้าพนักงานแจ้งโจทก์ว่าต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสองก่อน และโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 มารดาของจำเลยที่ 2 เพื่อดำเนินการ แต่จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบปฏิเสธและจำเลยที่ 2 อยู่ในวัยไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้จึงเป็นที่เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า การที่จะให้โจทก์ไปยื่นคำร้องจดทะเบียนเป็นหนังสือเพื่อให้นายทะเบียนมีหนังสือถึงจำเลยทั้งสองตามมาตรา 1548 วรรคสอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่า โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5982/2551 ป.พ.พ. มาตรา 1548 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ส่วนวรรคสามและวรรคสี่บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยิมยอมเป็นการเฉพาะตัว การที่นายทะเบียนแจ้งแก่ผู้ร้องว่าไม่สามารถรับจดทะเบียนให้ได้โดยไม่แจ้งการขอจดทะเบียนของผู้ร้องไปยังผู้คัดค้านและเด็กก่อนตาม มาตรา 1548 วรรคสอง หรือตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 19 วรรคสอง เพราะปรากฏว่าขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนขอจดทะเบียนนั้น เด็กหญิง ป. อายุเพียง 3 ปีเศษ ยังไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้ จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 19 แล้ว ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาให้ผู้ร้องจดทะเบียนเด็กหญิง ป. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้

รับรองบุตร เมื่อบุตรเสียชีวิตแล้ว ได้หรือไม่ ?

ธรรมดาโดยหลักการแล้ว การจดทะเบียนรับรองบุตรก็ควรกระทำเมื่อตอนบุตรมีชีวิตอยู่ เมื่อบุตรถึงแก่ความตายแล้ว ย่อมถือว่าสิ้นสภาพบุคคลที่จะให้ความยินยอมและจะใช้สิทธิได้แล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 วางหลักว่า การเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลย้อนหลังถึงวันที่เด็กเกิดมา 

ศาลฎีกาเคยตีความไปในทางคุ้มครองสิทธิของบุตรผู้เยาว์ว่า หากบุตรผู้เยาว์ถึงแก่ความตายแล้ว มีผลเสมือนว่าบุตรผู้เยาว์ไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ซึ่งบิดาสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2545 ด.มารดาของช.และช. ผู้เป็นบุตรถึงแก่ความตายแล้ว ไม่อาจให้ความยินยอมในการที่ผู้ร้องขอจดทะเบียนรับ ช. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคสาม ผู้ร้องไม่อาจกระทำได้โดยวิธีอื่นนอกจากดำเนินการทางศาล ในเมื่อบุคคลที่จะต้องให้ความยินยอมในการขอจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีผู้ใดยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิพากษาว่า ช. เป็นบุตรผู้ร้องได้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีแนวคำพิพากษาใหม่ วางหลักเกณฑ์ว่า หากบุตรถึงแก่ความตายไปแล้ว บิดาไม่สามารถยื่นคำร้องขอรับรองบุตรภายหลังได้ คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5660/2559 บุตรที่เกิดนอกสมรสจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาในภายหลังได้ 3 ประการ คือ เมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 เมื่อปรากฏตามคำร้องขอของผู้ร้องว่า ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบิดาตามกฎหมายของ พ. และมีสิทธิได้รับมรดกของ พ. มิใช่เป็นกรณีที่ขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ทั้งการที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 และมาตรา 1555 นั้น เป็นสิทธิของฝ่ายเด็กที่จะฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้กล่าวคือ ในกรณีที่เด็กยังมีอายุไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ฟ้องคดีแทน หรือในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ให้ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็ก มิใช่กรณีที่ให้สิทธิแก่บุคคลที่อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ทั้งผู้ร้องมิได้ร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ร้องจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตรเพื่อนำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 แต่กลับขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ร้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะคำพิพากษาของศาลในกรณีเช่นนี้ไม่มีผลทำให้ผู้ร้องมีสถานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. กรณีของผู้ร้องจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 1547 จึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่5661/2559 การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่บิดาที่มิได้สมรสกับมารดากระทำได้ ไม่ว่าเด็กนั้นจะบรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1548 วรรคสาม และในกรณีที่เด็กยังเป็นผู้เยาว์ เด็กหรือมารดาเด็กอาจแจ้งต่อนายทะเบียนว่าบิดาไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่า ผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่เป็นผู้สมควรใช้อำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1549 วรรคสอง จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้การคุ้มครองประโยชน์และความผาสุกของบุตรโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรตั้งแต่วันที่เด็กเกิด กรณีเช่นนี้แม้กฎหมายจะมิได้กำหนดระยะเวลาในการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกรณีของการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสามและวรรคสี่ และแม้เด็กหรือบิดาของเด็กถึงแก่ความตายแล้ว ก็ให้สิทธิแก่ผู้สืบสันดานของเด็กหรือเด็กที่จะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรับมรดกระหว่างกันอันมีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 1556 วรรคสี่ และมาตรา 1558 สำหรับคดีนี้เป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ซึ่งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิโดยชัดแจ้งว่าให้ผู้อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กนำคดีไปสู่ศาล ขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรในกรณีที่เด็กถึงแก่ความตายแล้วได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่เด็กไม่มีมารดาหรือมารดาถึงแก่ความตาย โดยมีการตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองก่อนมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร บิดาซึ่งจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1552 ย่อมเป็นข้อแสดงว่าความมีอยู่ซึ่งสภาพบุคคลของมารดาหรือไม่ มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ ฉะนั้น ความในมาตรา 1548 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็ก…ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล” คำว่า “ไม่อาจให้ความยินยอม” ย่อมหมายถึงกรณีที่เด็กไม่อยู่ในภาวะที่จะให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กยังไร้เดียงสา หรือเป็นคนวิกลจริต เป็นต้น หาใช่เป็นกรณีที่เด็กสิ้นสภาพบุคคลแล้วไม่ เพราะการพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรโดยอาศัยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ย่อมกระทำได้ยาก ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)

รับรองบุตร เมื่อบิดาเสียชีวิตแล้ว ได้หรือไม่ ?

ธรรมดาแล้วการจดทะเบียนรับรองบุตร จะต้องเริ่มต้นมาจากบิดาเป็นผู้ร้องขอต่อนายทะเบียน หรือยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อศาล

ส่วนการที่มารดาหรือบุตร ฟ้องขอให้บิดารับรองบุตร จะต้องกระทำขณะที่บิดายังมีชีวิตอยู่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1555  

อย่างไรก็ตามศาลฎีกาตีความขยายความไปว่า กรณีบิดาถึงแก่ความตายไปแล้ว มารดาหรือบุตรสามารถยื่นคำร้องขอให้รับรองบุตรได้เช่นเดียวกัน   

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6020/2549    ผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ร้องจนมีบุตรด้วยกันคือ เด็กชาย จ. และผู้ตายให้ความอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย จ. กับได้แสดงต่อมารดา ญาติพี่น้องและบุตรของผู้ตายรวมทั้งบุคคลอื่นว่าเด็กชาย จ. เป็นบุตรของตนอีกคนหนึ่ง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวของผู้ตายเพียงพอให้ถือว่า เป็นกรณีมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเด็กชาย จ. เป็นบุตรผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555 (7) แล้ว ผู้ร้องมีสิทธิฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายไปเสียก่อน ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องเป็นคดีนี้

  ฎีกาที่ 8504/2544  การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาท คือฟ้องบิดาโดยทำเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พมาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 188 (1) ดังนั้น เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่กรรมตายไปแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1558 แห่ง ป.พ.พ. เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผลมาจากการที่ร้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นบุตร มิใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย

ฎีกาที่ 5505/2537  การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในกรณีที่ชายซึ่งถูกล่าวอ้างว่าเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเสนอคดีนั้นจะเสนอคดีเป็นคำฟ้องโดยยื่นคำฟ้องผู้ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วไม่ได้เพราะไม่มีตัวความที่จะฟ้องเป็นจำเลยและในเบื้องต้นก็ยังไม่ทราบว่าจะมีผู้คัดค้านหรือไม่ การเริ่มคดีในชั้นแรกจึงต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทขึ้นมาก่อน เมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้าน ศาลจึงจะดำเนินคดีต่อไปอย่างคดีมีข้อพิพาท

หลักเกณฑ์ การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร 

การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร คือ การที่ตัวบิดาไม่ยอมรับว่าเด็กที่เกิดขึ้น เป็นบุตรของตน และไม่ยอมไปจดทะเบียนรับรองบุตร

กรณีเช่นนี้ ตัวบุตรผู้เยาว์ สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้เองโดยตรง เพื่อให้ศาลพิพากษาว่าตนเองเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา 

การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร แตกต่างจาก การฟ้องขอให้ศาลอนุญาตให้จดทะเบียนรับรองบุตรตรงที่ 

1.การฟ้องขอให้ศาลอนุญาตให้จดทะเบียนรับรองบุตร บิดาสมัครใจจดทะเบียนรับรองด้วยตนเอง แต่มารดาเด็กหรือตัวเด็กไม่ยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้

2.การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร เป็นกรณีที่บิดาไม่ยอมรับว่าเด็กเป็นบุตร และไม่สมัครใจไปจดทะเบียนรับรองบุตร ตัวเด็กจึงต้องยื่นฟ้องบิดาให้ศาลพิพากษาว่าบิดาเป็นบุตร

การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรนั้น หากตัวบุตรยังอายุไม่เกิน 15 ปี ผู้แทนโดยชอบธรรมจะต้องเป็นคนฟ้องคดีแทนบุตร 

แต่หากบุตรมีอายุเกินกว่า 15 ปีแล้ว กฎหมายบังคับว่าบุตรต้องเป็นคนฟ้องคดีเอง  

นอกจากนี้กฎหมายบังคับว่า บุตรผู้เยาว์จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะ มิฉะนั้นจะถือว่าคดีขาดอายุความ

ฎีกาที่ 4786/2549  การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ.มาตรา 1556 วรรคสามบัญญัติว่าในกรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้วจะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะปรากฏว่าขณะยื่นคำร้องผู้ร้องมีอายุ 34 ปี จึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ตายไม่เคยปฏิเสธว่าผู้ร้องมิใช่บุตร ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย จนเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วผู้ร้องไปติดต่อขอรับเงินสงเคราะห์ฯ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบของผู้ตาย นับเป็นเหตุขัดข้องโดยเพิ่งเกิดการโต้แย้งสิทธิเรียกร้อง ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.วิ.พ.มาตรา 55 ก็ตาม แต่การใช้สิทธิทางศาลของผู้ร้องก็ยังต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าวด้วย ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ร้องเพิ่งถูกโต้แย้งสิทธิคดียังไม่ขาดอายุความหาได้ไม่

ในการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรกฎหมายให้ข้อสันนิษฐานในการฟ้องคดีไว้ 7 ประการ ว่า ถ้าเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุตรเป็นบุตรของบิดา 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555  ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

        (1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

        (2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

        (3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน

        (4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น

        (5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้

        (6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น

        (7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร

        พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น

        ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย

ซึ่งทางปฏิบัติในคดีเรื่องรับรองบุตร หรือฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรในปัจจุบัน สามารถพิสูจน์ความจริงในคดีกันได้ง่ายๆอยู่แล้ว ด้วยการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมดีเอ็นเอระหว่างบิดากับบุตร ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน บทความเรื่อง “ข้อกฎหมายเรื่องการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ” ซึ่งผมเคยเขียนไว้อย่างละเอียดครับ

ดำเนินคดีที่ศาลไหน 

คดีเรื่องการฟ้องรับรองบุตรขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นถือว่าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน ซึ่งจะต้องขึ้นศาลชํานัญพิเศษคือ ศาลเยาวชนและครอบครัวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2550 

การขอรับรองบุตรนั้นสามารถทำได้เป็นทั้งคำฟ้องและคำร้องขึ้นอยู่กับกรณีไป

1.กรณีทำเป็นคำร้อง 

คือกรณีที่ไม่ได้มีข้อพิพาท กล่าวคือทั้งบิดามารดา ต้องการที่จะจดทะเบียนรับรองบุตรอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถกระทำได้ เพราะบุตรยังเป็นผู้เยาว์และอายุยังน้อยมากไม่สามารถให้ความยินยอมได้

กรณีนี้การใช้สิทธิ์ทางศาลสามารถทำเป็นคำร้องไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับใคร 

ซึ่งกรณีนี้สามารถยื่นที่ศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ เช่น หากบิดามีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชลบุรีก็สามารถยื่นคำร้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชลบุรีได้เลย 

2.กรณีทำเป็นคำฟ้อง 

คือกรณีที่มารดาหรือบุตรไม่ให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับรองบุตร หรือกรณีบิดาไม่ยอมรับเด็กเป็นบุตร

กรณีนี้ บิดา มารดา หรือบุตร ผู้ฟ้องคดี สามารถเลือกยื่นฟ้องได้ 2 ศาลก็คือ

1.สถานที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ ที่เด็กมีภูมิลำเนาอยู่หรือสถานที่ ที่ถูกปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนรับรองบุตร 

ตัวอย่างเช่น ตัวมารดาเด็กและบุตรผู้เยาว์พักอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มารดาเด็กได้ขอให้บิดาเด็กไปจดทะเบียนรับรองบุตรที่ที่ว่าการอำเภอเชียงใหม่แต่บิดาเด็กไม่ยอมไปเช่นนี้ก็สามารถฟ้องขอให้บิดาเด็กรับว่าเด็กเป็นบุตร เป็นคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ได้ 

2.สถานที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ เช่นสถานที่ที่บิดาเด็กมีภูมิลำเนาอยู่ 

เช่นบิดาเด็กพักอาศัยและมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชลบุรี เช่นนี้มารดาเด็ก หรือตัวเด็กก็สามารถฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชลบุรีได้ 

หนังสืออ้างอิงและบทความประกอบการเขียนบทความ

คำอธิบายกฎหมายครอบครัว ศาสตราจารย์ประสพสุข บุญเดช

คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ชาติชาย อัครวิบูลย์

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัว รศ.ดร. สมชาย กษิติประดิษฐ์

สื่อออนไลน์

https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/10reform/reform76.pdf

http://libdoc.dpu.ac.th/thesis/122118.pdf

 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น