ฟ้องคดีแพ่ง เช่น คดีกู้ยืมเงิน ผิดสัญญา ไม่ชำระค่าสินค้า เรียกค่าเลี้ยงดูบุตร ฟ้องชู้ ฟ้องหย่า ละเมิด ขับไล่ เปิดทางภาระจำยอม จะจ้างทนายความฟ้อง ต้องทำยังไงบ้าง มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ขึ้นศาลกี่ครั้ง ใช้เวลานานไหม จะได้เงินคืนไหม ถ้าจำเลยไม่มีทรัพย์สินให้ยึด ต้องทําอย่างไร ฯลฯ
คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่ผมจะต้องพบเจอ อยู่แทบทุกวันในการให้คำปรึกษากฎหมายกับลูกความ รวมทั้งทนายความคนอื่นๆ ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน
ดังนั้นวันนี้ผมจะมารวบรวมคำตอบ จากคำถามที่พบบ่อย ให้ผู้สนใจได้อ่านไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้น เพื่อที่จะทราบว่า การว่าจ้างทนายความเพื่อ ฟ้องคดีแพ่ง มีกระบวนการอย่างไร ก่อนการตัดสินใจว่าจ้างทนายความครับ
ขั้นตอนว่าจ้างทนาย ฟ้องคดีแพ่ง โดยสังเขป
ขั้นตอนแรก รวบรวมพยานหลักฐาน
ธรรมดาแล้วคดีแพ่งนั้น เป็นคดีที่ตัดสินแพ้ชนะกันด้วยพยานเอกสารและพยานวัตถุเป็นหลัก พยานบุคคลในคดีแพ่งนั้น จะเป็นพยานที่มีความสำคัญรองลงมาจากพยานวัตถุและพยานเอกสาร
ตัวอย่างเช่น
คดีกู้ยืมเงิน ก็ตัดสินแพ้ชนะกันที่สัญญากู้ยืมหรือหลักฐานการกู้ยืม ถ้าไม่มีสัญญากู้ยืมหรือหลักฐานการกู้ยืม เอาพยานบุคคลมาสืบยังไงก็แพ้
คดีผิดสัญญา ก็ตัดสินแพ้ชนะกันที่สัญญาและเอกสารประกอบการทำสัญญา การนำสืบเอกสารหลักฐานนอกเหนือสัญญา ย่อมมีน้ำหนักน้อย
คดีฟ้องชู้ ตัดสินผลแพ้ชนะ กันที่ทะเบียนสมรสและหลักฐานในการเป็นชู้ ถ้าไม่มีทะเบียนสมรส ยังไงก็ฟ้องไม่ได้ และถ้าไม่มีพยานหลักฐานในการเป็นชู้ ก็ฟ้องไม่ได้
ดังนั้นแล้ว การที่ทนายความจะให้คำปรึกษากับท่าน ในเรื่องของข้อพิพาททางแพ่งต่างๆ ทนายความจะต้องตรวจสอบหลักฐาน ทั้งพยานเอกสารเช่น สัญญา หรือเอกสารหลักฐานต่างๆที่ทำขึ้นระหว่างกันก่อน
เช่น ใบส่งของ ใบสั่งซื้อสินค้า ใบวางบิล หรือหลักฐานที่เป็นการพูดคุยโต้ตอบกัน เช่น อีเมลโต้ตอบ หลักฐานการสนทนาผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น facebook หรือ LINE กล้องวงจรปิด หรือคลิปวีดีโอ เป็นต้น
เมื่อตรวจสอบเอกสารและหลักฐานดังกล่าวที่เกี่ยวข้องแล้ว ทนายความจึงจะสามารถให้คำปรึกษาในการฟ้องร้องคดีแพ่งได้อย่างถูกต้อง และเป็นประโยชน์กับท่านมากที่สุด เช่น สามารถแนะนำว่าคดีสามารถฟ้องร้องได้หรือไม่ จะมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ ใช้เวลานานแค่ไหน
หากท่านพยายามโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยปรึกษาคดีแพ่ง โดยที่ไม่มีเอกสารหลักฐานต่างๆเข้ามาให้ทนายความดู เป็นการยากที่ทนายความจะให้คำปรึกษาอย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์กับท่านได้ และถ้าทนายความฝืนให้คำปรึกษาไปตามที่ท่านรบเร้าให้ตอบ ก็อาจจะผิดพลาด ซึ่งก็จะเกิดความเสียหายกับทุกฝ่าย
ดังนั้นก่อนปรึกษาทนายความ ท่านจึงควรเก็บรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องก่อน
และจำไว้ว่าให้เตรียมเอกสารหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องมาทั้งหมดมามอบให้ทนายความ แม้จะเป็นเอกสารเล็กๆน้อยๆ หรือท่านมองว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่ความจริงแล้วเอกสารดังกล่าวอาจจะเป็นพยานหลักฐานสำคัญในแง่ของกฎหมายก็ได้
ท่านจึงควรนำเอกสารหลักฐานทุกอย่างมาให้ทนายความเป็นผู้ทำการตรวจสอบและคัดเลือกครับ อย่าไปตัดเอกสารหลักฐานที่ตนเองคิดว่าไม่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง
ขั้นตอนที่สอง เรียบเรียงเรื่องราวและส่งเอกสารให้ทนายความ
เนื่องจากคดีแพ่งเป็นคดีที่แพ้ชนะกันที่พยานเอกสารและพยานวัตถุเป็นหลัก ซึ่งบางครั้งเอกสารหลักฐานในคดีก็มีเป็นจำนวนมาก
เช่น คดีผิดสัญญาซื้อขายที่มีเอกสารต่างๆเป็นจำนวนมาก คดีก่อสร้างที่มีสัญญารายละเอียดสลับซับซ้อนเป็นต้น
ดังนั้นก่อนเข้ามาปรึกษาทนายความ หากท่านอยากได้คำปรึกษาเบื้องต้นว่า คดีนี้พอจะมีโอกาสฟ้องร้องดำเนินคดีได้หรือไม่ หรือจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ ท่านก็สามารถส่งเอกสารหลักฐานต่างๆให้กับทนายความตรวจสอบเบื้องต้นก่อนได้
โดยอาจจะส่งทางไลน์ อีเมล หรือช่องทางอื่นๆ พร้อมกับเล่าข้อเท็จจริงโดยสังเขป เพื่อประกอบเพื่อขอคำแนะนำเบื้องต้นได้ครับ
เมื่อทนายความตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็จะสามารถตอบคำถามเบื้องต้นได้ เช่น ในการฟ้องร้องดำเนินคดีว่าคดีนี้สามารถฟ้องร้องได้หรือไม่ มีค่าใช้จ่ายค่าทนายความประมาณเท่าไหร่ เป็นต้น
และถ้าหากรูปคดีของท่านไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ หรือฟ้องไปแล้วมีโอกาสแพ้สูง ตัวอย่างเช่น คดีกู้ยืมที่เกินกว่า 10 ปีแล้วขาดอายุความ คดีละเมิดที่พนักงานสอบสวนชี้ขาดเบื้องต้นว่าท่านเป็นฝ่ายผิด ทนายความจะได้ให้คำแนะนำกับท่านอย่างถูกต้องครับ
แต่ถ้าท่านไม่สะดวกส่งเอกสารให้ตรวจสอบก่อนก็อาจจะนัดหมายทนายความเข้ามาปรึกษา โดยข้ามไปข้อ 3 ได้เลยครับ
ส่วนใหญ่แล้ว ขั้นตอนในการให้คำปรึกษาเบื้องต้น ว่าคดีฟ้องได้หรือไม่ ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ทนายความส่วนใหญ่ก็ยินดีให้คำปรึกษาฟรีไม่คิดค่าใช้จ่ายครับ
ขั้นตอนที่สาม นัดหมายเข้ามาพูดคุยปรึกษากับทนายความ
เมื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานเบื้องต้นแล้วเห็นว่าคดีพอมีทางที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ผมแนะนำว่า ควรนัดหมายเข้ามาพูดคุยรายละเอียดกับทนายความที่สำนักงาน เพื่อสอบข้อเท็จจริงกันอย่างละเอียดจะดีที่สุด
เพราะก่อนฟ้องร้องดำเนินคดี ทนายความจะต้องรู้รายละเอียดข้อเท็จจริงในคดีทุกเรื่องอย่างรอบด้าน เพื่อที่จะได้ตั้งรูปคดี ประเมินทางได้ทางเสีย และหาทางปิดช่องว่างของคดีได้ถูกต้อง
ซึ่งวิธีการปรึกษาทนายความที่ดีที่สุด จากประสบการณ์ของผม คือการมานั่งคุยกันต่อหน้า เพราะการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ทาง LINE หรือทางสื่อการประชุมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น zoom / google meet อย่างไรเสียก็ไม่มีความสะดวกหรือทำความเข้าใจกันได้ดีเท่ากับการคุยกันต่อหน้า
สถานที่ที่สะดวกที่สุดในการนั่งพูดคุยให้คำปรึกษา ก็คือที่สำนักงานทนายความครับเพราะมีความเป็นส่วนตัว อีกทั้งหากจะหาเอกสารหลักฐานอะไรอ้างอิง เช่นตัวอย่างคดีเพื่อประกอบการให้คำปรึกษาก็สามารถนำมาให้ดูได้โดยสะดวก
ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า หากทนายความเข้าใจเรื่องราวผิด หรือสอบข้อเท็จจริงตกหล่นในบางประเด็นไป ย่อมอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดีในชั้นพิจารณา จนถึงขั้นแพ้คดีในชั้นศาลได้
ดังนั้นแล้ว ก่อนที่จะตกลงว่าจ้างทนายความหรือมอบหมายให้ทนายความดำเนินคดี ควรจะนัดหมายเข้ามาพูดคุยสอบถามรายละเอียดกันสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในทุกเรื่องทุกประเด็นครับ
ทั้งนี้ยกเว้นแต่บางคดีที่เป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงง่ายๆไม่ซับซ้อน เช่นคดีกู้ยืมที่มีพยานหลักฐานชัดเจน คดีเรื่องผิดสัญญาซื้อขาย ซึ่งมีใบกำกับภาษีใบส่งของใบสั่งซื้อสินค้าชัดเจน เป็นต้น
ขั้นตอนที่สี่ เซ็นสัญญาและเอกสารแต่งตั้งทนายความ
เมื่อพูดคุยทำความเข้าใจกันครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว ทนายความก็จะอธิบายให้ท่านเข้าใจว่าในการฟ้องร้องดำเนินคดีนี้จะฟ้องร้องกฎหมายเรื่องอะไร ฟ้องที่ศาลไหน มีโอกาสแพ้ชนะมากแค่ไหน มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ มีกำหนดการจ่ายเงินอย่างไร แนวทาวการทำงานเป็นอย่างไร
เมื่อตกลงค่าทนายความกันได้ทนายความก็จะจัดทำสัญญาว่าจ้าง รวมทั้งหนังสือมอบอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดี และใบแต่งตั้งทนายความให้ท่านเซ็น และเก็บสัญญาไว้คนละฉบับเพื่อเป็นหลักฐานระหว่างการทำงาน
โดยในวันดังกล่าว ท่านจะต้องชำระค่าทนายความส่วนหนึ่งตามตกลงกัน เพื่อที่ทนายความจะได้ดำเนินการคัดถ่ายเอกสารและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และลงมือร่างฟ้องให้กับท่าน
โดยหลังจากเซ็นสัญญาว่าจ้างและแต่งตั้งทนายความแล้ว ทนายความจะใช้เวลาร่างฟ้องเพื่อเตรียมยื่นต่อศาล ประมาณ 3-10 วัน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความซับซ้อนของรูปคดี และความยากง่ายในการหาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนที่ห้า ทนายความยื่นฟ้องคดีต่อศาล
เมื่อทนายความจัดทำคำฟ้องเรียบร้อยแล้ว ทนายความก็จะยื่นฟ้องคดีนั้นต่อศาล โดยวันยื่นฟ้องนั้น ท่านไม่ต้องเดินทางไปพร้อมทนายความแต่อย่างใด
ทนายความจะเป็นคนเดินทางไปยื่นฟ้องคดีให้กับท่าน โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้งทนายความที่ท่านเซ็นไว้ให้ในวันที่ทำสัญญาว่าจ้างนั่นเอง
โดยปัจจุบันนี้การยื่นฟ้องออนไลน์ในคดีแพ่งนั้นสามารถทำได้แล้ว และเป็นระบบที่ดีมาก ซึ่งทางสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ก็มักจะใช้วิธีการยื่นฟ้องผ่านระบบออนไลน์มากกว่าเดินทางไปฟ้องที่ศาล เพราะสะดวกในการติดตามคดีในระบบออนไลน์
ยกเว้นคดีบางประเภทเช่น คดีครอบครัว เช่นการฟ้องชู้ ฟ้องค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือคดีแรงงาน ที่ศาลยังไม่เปิดให้ฟ้องออนไลน์ในคดีแพ่งได้ในตอนนี้
ดังนั้นในการยื่นฟ้อง ท่านมีหน้าที่เพียงการชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าส่งหมายศาลให้กับทนายความเท่านั้น
โดยในวันยื่นฟ้องนั้น ศาลก็จะกำหนดนัดวันขึ้นศาลนัดแรก ตามลำดับตารางการพิจารณาของศาล
การกำหนดวันนัดขึ้นศาลครั้งแรกนั้น จำไว้ว่าไม่มีใครสามารถไปลัดคิวนัดพิจารณาของศาลให้นัดเร็วขึ้นได้ ถ้าไปปรึกษาใครแล้วบอกว่าสามารถลัดคิวขอศาลให้ขึ้นเร็วได้เช่นฟ้องไปแล้ว 2 อาทิตย์ขึ้นศาล จำไว้เลยว่าท่านกำลังถูกหลอกครับ
ธรรมดาแล้วกำหนดนัดขึ้นศาลครั้งแรกจะอยู่ที่ประมาณ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน นับจากวันที่ยื่นฟ้อง แต่ถ้าเป็นบางศาล ที่มีคดีเป็นจำนวนมาก เช่น ศาลมีนบุรี ก็อาจจะนัดขึ้นศาลนัดแรกยาวนานถึง 4 ถึง 6 เดือนเลย
ทั้งนี้ความล่าช้าดังกล่าว เป็นปัญหาด้านการจัดการคดีของศาลยุติธรรม และระบบกฎหมายที่ยังล้าหลัง ทนายความก็อยากให้คดีขึ้นศาลเร็วๆ แต่ไม่สามารถไปเร่งกระบวนการของศาลได้จริงๆครับ
ขั้นตอนที่หก ขึ้นศาลนัดแรก
ธรรมดาแล้วในคดีแพ่ง ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งสามัญ คดีผู้บริโภค คดีมโนสาเร่ คดีของศาลเยาวชนและครอบครัว คดีแรงงาน หรือคดีแพ่งอื่นๆ
ในวันนัดขึ้นศาลนัดแรก ศาลมักจะนัดคู่ความทุกฝ่ายมาเจรจาไกล่เกลี่ยกันก่อน เพราะวัตถุประสงค์ของคดีแพ่งนั้น ต้องการให้ทุกฝ่ายเจรจาตกลงประนีประนอมยอมความกันมากกว่าจะสู้คดีกันจนถึงที่สุด
โดยในวันนัดแรกนี้ ศาลจะเรียกคู่ความทุกฝ่าย มานั่งพูดคุยกันที่ห้องไกล่เกลี่ย เพื่อเจรจาหาข้อสรุปตกลงกัน บางครั้งก็นั่งไกล่เกลี่ยกันอยู่ในบัลลังก์ศาล แต่ส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในห้องแยกเป็นสัดส่วนต่างหากเลย ขึ้นอยู่กับความพร้อมของศาลแต่ละที่
ทั้งนี้ในการเจรจาไกล่เกลี่ย จะมีคนกลางคนหนึ่งที่ไม่ใช่ผู้พิพากษามานั่งเป็นผู้ไกล่เกลี่ย โดยคนเหล่านี้มักจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีหน้าตาในสังคม อาสาสมัครเข้ามาทำหน้าที่ เป็นคนกลางในการเจรจาข้อพิพาทให้ทุกฝ่าย ด้วยจิตอาสา
หรือบางครั้งถ้าผู้ไกล่เกลี่ย พยายามไกล่เกลี่ยแล้วไม่ลงตัวหรือยังติดปัญหาข้อพิพาทบางอย่าง ผู้พิพากษาที่รับผิดชอบศูนย์ไกล่เกลี่ย หรือผู้พิพากษาเวรวันนั้น ก็อาจจะมาช่วยไกล่เกลี่ยให้อีกครั้งครับ
การเตรียมตัวในการไกล่เกลี่ยที่ถูกต้องนั้น ท่านจะต้องเข้าใจถึงรูปคดีและทางได้ทางเสียของตน จึงจะเกิดประโยชน์ที่สุด อ่าน ข้อควรรู้ในการเจรจาไกล่เกลี่ยคดีแพ่ง
ถ้าสามารถตกลงกันได้จะเข้าสู่กระบวนการจบคดีกัน ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามข้อต่อไป
แต่ถ้าในวันนัดแรกนี้ จำเลยไม่มาศาล ศาลจะพิจารณาพิพากษาชี้ขาดคดีไปฝ่ายเดียวให้ท่านเป็นฝ่ายชนะคดี และให้ท่านข้ามไปดูข้อ 9. เลยครับ
ถ้าตกลงกันได้
ธรรมดาแล้วในคดีแพ่งที่ผมทำ ไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลย มักจะจบที่การเจรจาไกล่เกลี่ยกันมากกว่า 70% โดยเฉพาะถ้าเจอกับฝ่ายตรงข้ามที่เป็นทนายความที่เป็นมืออาชีพเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้เพราะทนายความที่เป็นมืออาชีพ ย่อมประเมินรูปคดีของตนออกว่ามีโอกาสแพ้ชนะมากแค่ไหน ไม่หลอกตัวเอง และไม่หลอกลูกความ
ตัวอย่างเช่น ถ้าผมเป็นทนายความจำเลยในคดีเงินกู้ สอบข้อเท็จจริงได้แล้วว่า จำเลยกู้ยืมเงินจริง ผมก็จะขอเจรจาไกล่เกลี่ยขอผ่อนชำระหนี้กับเจ้าหนี้
หรือผมเป็นทนายความจำเลยคดีฟ้องชู้ สอบข้อเท็จจริงแล้วได้ความว่าจำเลยเป็นชู้กับสามีโจทก์จริง ผมก็จะแนะนำให้จำเลยห้ามยุ่งเกี่ยวกับสามีโจทก์ และขอเจรจาชำระค่าเสียหาย
และเมื่อผมเป็นทนายความโจทก์ หากฝ่ายตรงข้ามมาเจรจายอมความด้วยดี ผมก็จะให้โอกาสเปิดทางเดินให้เขาผ่อนชำระหนี้ หาทางออกที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ไม่บีบจนจำเลยไม่มีทางออก
ทั้งนี้หากฝ่ายโจทก์บีบบังคับจำเลยจนเกินไป เช่นสั่งให้จำเลยชำระหนี้ก้อนเดียวภายใน 1 เดือน เช่นนี้เท่ากับว่าเป็นการบีบให้จำเลยไม่มีทางเลือกและต้องสู้คดี
ซึ่งการต่อสู้คดีกันย่อมทำให้โจทก์ต้องเสียเวลา และโจทก์อาจจะได้รับชำระหนี้ช้ากว่าการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน
ดังนั้นแล้ว ในคดีแพ่งส่วนใหญ่ที่ ผมรับว่าความ จะจบที่การเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นส่วนมากครับ
ยกเว้นบางคดีที่มีเหตุผลพิเศษ เช่น จำเลยไม่ยอมชำระหนี้ โจทก์ไม่ยอมให้โอกาสจำเลยผ่อนหนี้ หรือคดีที่โจทก์ฟ้องมาไม่มีมูลจริงๆ จึงจะทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้
เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้ว จะต้องทำสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “สัญญาประนีประนอมยอมความ” ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงถึงข้อตกลงว่าโจทก์จำเลยตกลงกันว่าอย่างไร เช่น
จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้เงินกู้จริง และขอเวลาในการผ่อนชำระหนี้
จำเลยยอมรับว่าเป็นชู้กับสามีโจทก์จริง และตกลงว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับสามีโจทก์อีก
จำเลยยอมรับว่า ปิดทางภาระจำยอมจริงและยินยอมเปิดทางให้
ทั้งสองฝ่ายจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาล โดยศาลจะพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นระหว่างกัน ว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่
ถ้าศาลเห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ศาลก็จะพิพากษารับรองสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวให้
และสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจะมีผลเสมือนเป็นคำพิพากษา และสามารถบังคับให้คู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวได้
หากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงก็จะต้องถูกดำเนินการยึดทรัพย์หรือบังคับคดีตามกฎหมายต่อไป (ข้ามไปดูข้อ ศาลตัดสิน บังคับคดี)
ถ้าตกลงกันไม่ได้
ถ้าผู้ประนีประนอมยอมความรวมทั้งผู้พิพากษา ไกล่เกลี่ยแล้ว ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถจะตกลงกันได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
ศาลจะนัดเลื่อนคดีไป เพื่อนัดพร้อมหรือนัดชี้สองสถาน(กำหนดประเด็นข้อพิพาทที่จะนำสืบ) และกำหนดวันนัดสืบพยานต่อไป
โดยในวันนัดสืบพยาน ทนายความมีหน้าที่จะต้องเตรียมซักซ้อมกับท่านเรื่องการเบิกความในชั้นศาล อ่าน การเบิกความเป็นพยานที่ศาล
นอกจากนี้ ทนายความจะเป็นผู้รับผิดชอบ ทำการหาพยานหลักฐาน การออกหมายเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสารรวมทั้งพยานวัตถุที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำสืบไปตามรูปคดีที่วางแนวไว้ตั้งแต่ต้นต่อไป
หากวางรูปคดีไว้ดี ตั้งแต่ต้น และเตรียมพยานหลักฐานซักซ้อมพยานดีแล้วรูปคดีย่อมไม่มีปัญหา ศาลย่อมพิพากษาให้เราชนะคดี
ศาลตัดสิน-บังคับคดี
เมื่อศาลตัดสินให้เราชนะคดีแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ขั้นตอนต่อไปคือทนายความจะออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการสืบทรัพย์และยึดทรัพย์สินของจำเลยต่อไป
โดยก่อนการออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี จะต้องรอให้พ้นกำหนดระยะเวลาประมาณ 15-30 วัน นับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จก่อน เพราะศาลจะต้องออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา
ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาตามคำบังคับแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ทนายความก็จะขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี
และเมื่อได้หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีมาแล้วทนายความก็จะ นำหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวไปขออำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีกับจำเลยต่อไป
ถ้าเป็นหนี้เงินก็ทำการยึดทรัพย์ไม่ว่าจะเป็น บ้านที่ดิน รถยนต์ เงินในบัญชี หรืออายัดเงินเดือน อายัดรายได้ต่างๆ
ถ้าเป็นหนี้ให้กระทำการ เช่นเปิดทางภาระจำยอม หรือขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน ก็ใช้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนเปิดทาง หรือบังคับขับไล่จำเลยถ้าจำเลยไม่ยอมก็อาจจะถูกจับกุมกักขัง
ถ้าเป็นหนี้ที่ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ เช่นการให้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือการจดทะเบียนหย่า ก็ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาไปดำเนินการตามกฎหมายได้
อุทธรณ์ ฎีกา
ถ้าเกิดปัญหาอะไรก็ตามที่ทำให้ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ เช่นพิพากษายกฟ้อง หรือพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ไม่เต็มตามฟ้อง เราก็มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาได้ตามกฎหมาย โดยใช้เวลาพิจารณาของศาลอุทธรณ์ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีในศาลฎีกาประมาณ 1-2 ปี
ในทำนองเดียวกันฝ่ายจำเลยเองก็มีสิทธิ์อุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาที่ให้เขาแพ้คดีเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามระหว่างที่จำเลยอุทธรณ์หรือฎีกา
หากหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน เราก็ยังมีสิทธิดำเนินการบังคับคดีกับจำเลย เว้นแต่ตัวจำเลยจะขอทุเลาการบังคับคดี และวางทรัพย์สินไว้เป็นหลักประกันระหว่างการพิจารณาชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา
ถ้าจำเลยไม่มีทรัพย์สินทำอย่างไร ?
ในกรณีที่เป็นหนี้เงิน หากฟ้องร้องดำเนินคดีแล้วจำเลยไม่มีทรัพย์สินอะไรให้ยึด รวมทั้งไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ เช่นนี้เราจะทำอะไรได้หรือไม่
ในกรณีเช่นนี้ถ้าจำเลยยังไม่มีทรัพย์สินใดๆ ไม่ได้ทำงานหรือไม่มีรายได้ เราก็ยังทำอะไรไม่ได้ แต่ทนายความเองก็จะคอยตามสืบทรัพย์สินให้ และคำพิพากษาของศาลจะมีผลใช้บังคับได้ 10 ปีนับแต่วันที่ศาลตัดสิน
ดังนั้นถึงจำเลยจะไม่มีทรัพย์สินอะไรแต่หากภายหลังเกิดทำงานหรือมีทรัพย์สินมาภายในระยะเวลา 10 ปีก็สามารถตามยึดหรืออายัดได้ หรืออย่างน้อยจำเลยก็ยังใช้ชีวิตอย่างปกติไม่ได้เป็น 10 ปีต่ำ
สรุปแล้ว ใช้เวลานานประมาณเท่าไหร่ ?
คดีจะเสร็จสิ้นนานไหม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่สามารถสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้
1.ถ้าขึ้นศาลนัดแรกทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ก็ใช้เวลาไม่นานประมาณ 2-3 เดือนก็เสร็จคดี แต่การได้รับชำระหนี้อาจจะได้เป็นการผ่อนชำระในระยะเวลาประมาณ 6 เดือนถึง 2 ปีขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง
2.ถ้าขึ้นศาลนัดแรกตกลงกันไม่ได้ต้องต่อสู้คดีกันใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนศาลชั้นต้นตัดสินประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
3 ถ้ามีการอุทธรณ์ฎีกา ใช้เวลาชั้นอุทธรณ์ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีชั้นฎีกาประมาณ 1-2 ปีรวมแล้วประมาณ 2-3 ปี
จะเห็นได้ว่าถ้าต่อสู้คดีจนถึงที่สุดใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ดังนั้นแล้วการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในกำหนด 6 เดือน 1 ปีหรือ 2 ปีก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเจ้าหนี้ เพราะการต่อสู้คดีไปก็จะใช้เวลายาวนานมากกว่าหรือพอๆกัน
ค่าทนายความประมาณเท่าไหร่ ?
ค่าทนายความคดีแพ่งของแต่ละสำนักงานนั้นไม่มีกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละคดีไป แต่พอจะบอกอัตราโดยสังเขปได้ว่า
ถ้าเป็นคดีง่ายๆ เช่นเรื่องฟ้องชู้ ฟ้องค่าอุปการะเลี้ยงดู ฟ้องกู้ยืม ฟ้องหย่า ผิดสัญญาซื้อขาย ก็อาจจะอยู่ประมาณ 30,000-50,000 บาท
คดีที่มีทุนทรัพย์สูงมีความยุ่งยากซับซ้อนก็จะมีค่าทนายความที่สูงตามขึ้นมา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องไปครับ
ตัวอย่างการฟ้องคดีที่น่าสนใจ
วันนี้ผมได้รวบรวมตัวอย่างการฟ้องคดีแพ่งที่น่าสนใจบางส่วน ของทาง สำนักงานพิศิษฐ์ ศรีสังข์ มาให้ดูเป็นตัวอย่างครับ กดคลิกเพื่ออ่านเนื้อหาได้เลยครับ
- ตัวอย่างการฟ้องคดีแพ่ง เรื่องฟ้องชู้ ตอน ฟ้องชู้อย่างไรให้ได้เงินล้าน
- ตัวอย่างการฟ้องคดีแพ่ง เรื่องแบ่งแยกโฉนด แบ่งกรรมสิทธิ์
- ตัวอย่างการฟ้องคดีแพ่ง เรื่องเรียกโฉนดคืน มูลค่ากว่า 20 ล้าน
- ตัวอย่างคดี ฟ้องขับไล่ – รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ (ป.พ.พ.ม.1312) อธิบายข้อกฎหมายและเทคนิคการดำเนินคดี จากประสบการณ์จริง
- ตัวอย่างการฟ้องคดีแพ่ง เรื่องนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ เรียกเงินคืนตามสัญญาเช่ามูลค่ากว่า 60 ล้าน
- ตัวอย่างคดีฟ้องชู้ ที่ศาลให้เหตุผลในการกำหนดเงินค่าเสียหายได้อย่างน่าสนใจ
- ตัวอย่างคดีฟ้องชู้ ตอน เพื่อนเก่าสมัยเรียน ศาลพิพากษาคดีให้เต็มตามฟ้อง
- ตัวอย่างคดีฟ้องชู้ ตอน แม่บ้านตัวแสบ ศาลพิพากษาให้ชนะคดีเต็มตามฟ้อง
- ตัวอย่างการการฟ้องคดีละเมิด เรียกค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหนี้ ศาลพิพากษาให้ชนะคดีให้เต็มตามฟ้อง
- ตัวอย่างการฟ้องคดีกู้ยืม ใช้หลักฐานการกู้ยืมผ่านการสนทนาในเฟสบุ๊กและไลน์ ศาลพิพากษาให้ชนะคดีตามฟ้อง
- ตัวอย่างการฟ้องคดีแพ่ง ขอมีอำนาจจัดการสินสมรสเพียงผู้เดียว โดยไม่ต้องฟ้องหย่า
สุดท้ายนี้ หวังว่าท่านจะได้ความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับการว่าจ้างทนายความเพื่อ ฟ้องคดีแพ่ง และการดำเนินคดีแพ่งในชั้นศาลนะครับ ถ้ามีข้อสงสัยตรงไหนเพิ่มเติมสอบถามได้เลยครับ ยินดีตอบให้ทุกคำถาม