สาระน่ารู้เกี่ยวกับการซื้อ-ขายดาวน์รถ
ทุกวันนี้การขายดาวน์รถหรือที่อาจเรียกได้เป็นภาษากฎหมายว่า “การขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ” นั้นเป็นที่นิยมกันมาก เพราะบางครั้งผู้เช่าซื้อรถ เมื่อเช่าซื้อมาสักพักแล้วเกิดเบื่อรถคันนั้นอยากได้คันใหม่หรือเกิดเหตุติดขัดทางการเงินผ่อนรถต่อไปไม่ไหว ก็มักจะหาทางออกโดยการขายดาวน์รถคนดังกล่าวให้ญาติพี่น้องคนรู้จักหรือเต้นรถ ส่วนฝ่ายผู้ซื้อบางคนก็อยากเช่าซื้อรถแต่เครดิตของตนเองไม่ถึง ไม่สามารถจัดไฟแนนซ์ได้ ก็ต้องใช้วิธีซื้อดาวน์จากคนรู้จัก หรือบางคนเห็นว่าสะดวกดีเพราะบางครั้งเป็นการรับซื้อมาโดยไม่ต้องเสียเงินดาวน์ แค่นำมาผ่อนต่อเฉยๆ ดังนั้นปัจจุบันนี้การขาวดาวน์รถจึงเป็นที่นิยมมาก ซึ่งการขายดาวน์รถมีข้อดีข้อเสียที่ควรรู้ดังต่อไปนี้
1.การขายดาวน์รถหรือการขายสิทธิเช่าซื้อรถยนต์สามารถทำได้หรือไม่
แม้ว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 572 ได้วางหลักว่าผู้ที่มีสิทธินำรถยนต์ออกให้เช่าซื้อคือ“เจ้าของ” เท่านั้น แต่ศาลฎีกาก็ตีความว่า ผู้เช่าซื้อมีสิทธินำรถยนต์ขายดาวน์ต่อให้บุคคลอื่นได้ แม้ขณะนั้นผู้เช่าซื้อจะไม่ใช่เจ้าของรถก็ตาม โดยศาลฎีกาตีความว่า คำว่า “เจ้าของ” หมายถึงผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในขณะที่ทำสัญญาเช่าซื้อและหมายความรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ในอนาคตโดยชอบด้วย ดังนั้นผู้เช่าซื้อซึ่งอยู่ในฐานะผู้ที่”จะมี” กรรมสิทธิ์ในอนาคตโดยชอบ จึงมีสิทธิที่จะออกให้เช่าซื้อหรือขายดาวน์ต่อให้บุคคลอื่นได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3111/2539 , 5688/2545 ,7308/2545,7404/2547 , , 6862/2550 เป็นต้น การขายดาวน์รถที่เช่าซื้อมาให้ผู้อื่นจึงสามารถทำได้ ผู้ซื้อและผู้ขายไม่มีความผิดอาญาแต่อย่างใด และหากผู้ซื้อดาวน์นำรถไปขายหรือนำรถหนีหายไปไม่ยอมผ่อนต่อ ผู้เช่าซื้อย่อมเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีแพ่งหรือร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาหรือฟ้องคดีอาญากับผู้ซื้อดาวน์ได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551 ,7690/2551
2. ถ้าไม่ใช่การการขายดาวน์ แต่เป็นการขายขาดไปเลยหรือเอาไปจำนำโดยไม่คิดจะไถ่ถอน จะมีผลเป็นอย่างไร
ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ได้ทำการขายดาวน์รถยนต์ แต่เป็นการขายขาด คือเป็นการขายโดยรู้อยู่แล้วผู้ซื้อจะไปเอาไปผ่อนต่อ หรือเอารถยนต์ไปจำนำกับบุคคลอื่นโดยไม่มีเจตนาจะไถ่ถอนกลับมา (โดยมากผู้รับซื้อหรือรับจำนำรถลักษณะนี้มักเป็นนายทุนนอกระบบหรือผู้มีอิทธิพลมืด ซึ่งบรรดารถหลุดจำนำทั้งหลายที่มักมาประกาศขายถูกๆตามเว็บไซต์ก็มีที่มาจากการนี้ ) ซึ่งการการกระทำของผู้เช่าซื้อย่อมเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต เพราะกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังไม่ใช่ของผู้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อกลับนำรถยนต์ไปขายขาดหรือจำนำให้ผู้อื่น อันเป็นการแสดงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทุจริต ผู้เช่าซื้อมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1125/2507 , 7727/2544 , 6540/2548 ส่วนผู้รับซื้อหรือรับจำนำรถยนต์จากผู้เช่าซื้อ หากทราบดีอยู่แล้วว่าผู้เช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของรถแต่ก็ยังรับซื้อหรือรับจำนำไว้ ย่อมมีความผิดฐานรับของโจร ทั้งนี้ผู้รับซื้อหรือรับจำนำย่อมไม่มีสิทธิจะโต้แย้งใดๆหากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงคือผู้ให้เช่าซื้อจะมาตามยึดรถยนต์คืน ไม่ว่าตนเองจะรับซื้อหรือรับจำนำไว้โดยสุจริตหรือไม่ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2519
3. การขายดาวน์รถอาจทำให้เกิดปัญหาอย่างไรได้บ้าง
การขายดาวน์รถหรือการขายสิทธิเช่าซื้อแม้ตามทฤษฎีแล้วสามารถทำได้ แต่ทางปฏิบัติแล้วไฟแนนซ์ผู้ให้เช่าซื้อ จะระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อเสมอว่า “ห้ามไม่ให้ผู้เช่าซื้อนำรถไปขายให้บุคคลอื่นเช่าซื้อช่วงหรือขายสิทธิเช่าซื้อ…. หากผู้เช่าซื้อกระทำการดังกล่าวให้ถือว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาและผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเลิกสัญญาและยึดรถยนต์ดังกล่าวกลับเป็นของผู้ให้เช่าซื้อและริบเงินทั้งหมดที่ผู้เช่าซื้อชำระมา” ดังนั้นหากผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ไปให้บุคคลอื่นเช่าซื้อก็อาจจะถูกไฟแนนซ์ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและติดตามยึดรถคืนและริบเงินทั้งหมดที่ผู้เช่าซื้อชำระไป อีกทั้งยังอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกด้วย ทั้งนี้โดยผู้ซื้อดาวน์เองก็ไม่มีสิทธิยึดหน่วงหรือโต้แย้งใดๆหากผู้ให้เช่าซื้อจะมายึดรถเอาจากตน ทั้งนี้หากว่าไฟแนนซ์ผู้ให้เช่าซื้อได้บอกเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อแล้วนอกจากนี้ยังมีปัญหาที่พบบ่อยเช่น
3.1 ผู้ซื้อดาวน์ นำรถยนต์ไปแล้วไม่ยอมผ่อนหรือผ่อนไม่ตรง ผู้ให้เช่าซื้อก็ต้องเป็นผู้ผ่อนชำระกับไฟแนนซ์เอง เพราะตนเองเป็นคู่สัญญากับไฟแนนซ์ หากไมทำการผ่อนย่อมถูกไฟแนนซ์ฟ้องร้องหรือเสียเครดิต
3.2 ผู้ซื้อดาวน์เป็น 18 มงกุฎอาชีพ นำรถยนต์ไปขายขาดหรือจำนำกับบุคคลอื่น เช่นนี้ผู้เช่าซื้อก็ต้องไปติดตามฟ้องร้องเอากับผู้ซื้อดาวน์หรือผู้รับจำนำเอง บางครั้งติดตามไม่ได้ผู้เช่าซื้อก็ต้องผ่อนกุญแจกับไฟแนนซ์ไป ซึ่งกรณีนี้มักพบบ่อยกรณีที่นำรถยนต์ไปขายดาวน์ให้เต้นรถ แล้วเต้นรถนำไปให้บุคคลอื่นเช่าซื้อต่ออีกทอดหนึ่ง
3.3 ผู้ซื้อดาวน์นำรถไปทำกระทำผิด เช่นนำไปขนยาเสพติดหรือนำไปกระทำผิดอาญาอื่นๆ รถก็ต้องถูกยึดไว้ตรวจสอบและอาจถูกยึดเป็นหลวงเด็ดขาด ผู้ซื้อดาวน์ก็ต้องผ่อนกุญแจต่อไป
3.4 ด้านผู้ซื้อดาวน์ ก็มีปัญหาเช่นกัน คือเมื่อผ่อนชำระค่าเช่าซื้อครบแล้ว ปรากฏว่าผู้เช่าซื้อไม่ย่อมโอนรถให้ ตนเองก็ต้องไปติดตามฟ้องร้องผู้เช่าซื้อเอา
สรุปแล้ว การขายดาวน์รถนั้น ตามทฤษฎีแล้วสามารถทำได้ แต่ทางปฏิบัติแล้วมักมีปัญหาเกิดขึ้นได้หลายประการ ดังนั้นการซื้อขายดาวน์รถที่ถูกต้อง ควรจะต้องทำการเปลี่ยนสัญญากับไฟแนนซ์ให้ถูกต้องแม้จะยุ่งยากและเสียค่าธรรมเนียมบ้าง แต่ก็ดีกว่าเกิดปัญหาภายหลังครับ