บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

การต่อสู้คดีเมื่อถูกมิจฉาชีพนำบัตรประชาชนไปทำนิติกรรมต่างๆ

ปลอมเอกสารการต่อสู้คดีเมื่อถูกมิจฉาชีพปลอมบัตรประชาชนไปทำนิติกรรมต่างๆ

 

ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องการที่คนร้ายปลอมแปลงบัตรประชาชนของผู้อื่น ไปทำนิติกรรมต่างๆกับ บริษัทห้างร้านต่างๆหรือแม้กระทั่งธนาคาร ซึ่งโดยมากมักจะเป็นการทำสัญญาเช่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ และการกู้ยืมเงิน โดยคนร้ายจะใช้ ชื่อนามสกุลและข้อมูลเลขบัตรประชาชนของเจ้าของบัตรประชาชนที่แท้จริง แต่เปลี่ยนแปลงรูปถ่ายใบหน้าบนบัตรให้เหมือนหรือคล้ายกับหน้าตาของคนร้ายเพื่อไปทำสัญญากับผู้เสียหาย (ทั้งนี้เพราะหากรูปถ่ายใบหน้าในบัตรประชาชนปลอมไม่เหมือนกับใบหน้าคนร้ายที่ไปทำสัญญา บริษัทห้างร้านหรือธนาคารอาจจะจับได้) จากนั้นคนร้ายก็จะปลอมลายมือชื่อให้คล้ายกับลายมือชื่อของเจ้าของบัตรประชาชน โดยอาศัยตัวอย่างลายมือชื่อที่ปรากฏในสำเนาบัตรประชาชน

ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ มักจะมีสาเหตุจากการที่เจ้าของบัตรประชาชนตัวจริงได้เซ็นสำเนาบัตรประชาชนไว้ให้กับคนร้าย โดยไม่มีการกำกับข้อความไว้ว่าจะนำไปใช้ในกิจการใด หรือเกิดจากการทำบัตรประชาชนหาย ซึ่งเมื่อคนร้ายเหล่านี้ทำสัญญาเสร็จเรียบร้อยและได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากบริษัทห้างร้านหรือธนาคารฯ แล้วก็จะทำการประพฤติผิดสัญญา เช่นไม่ชำระหนี้ตามสัญญา หรือ นำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไปจำหน่ายและหลบหนีหายตัวไป ผู้เสียหายก็จะมาดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญาแล้วแต่กรณีเอากับเจ้าของบัตรประชาชนที่แท้จริง ซึ่งเป็นผู้มีชื่อปรากฏอยู่ในสัญญา ซึ่งทำให้เจ้าของบัตรประชาชนเสียหาย

ซึ่งเทคนิคอย่างหนึ่งของทนายความในการต่อสู้คดีประเภทนี้ เมื่อเรื่องขึ้นสู่ศาล คือ การขอหมายเรียกรูปถ่ายและตัวอย่างลายมือชื่อของเจ้าของบัตรประชาชน จากสำนักงานทะเบียนราษฎร มาประกอบการพิจารณาของศาล ซึ่งนับตั้งแต่ กฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2547 มีผลบังคับใช้ จะมีการเก็บตัวอย่างรูปถ่ายที่ใช้ประกอบการทำบัตรประชาชนของบุคคลทั่วไปทุกคนทุกครั้งที่ทำบัตรประชาชน ทั้งนี้เฉพาะที่ทำบัตรประชาชนหลังปี พ.ศ.2547 โดยจะเก็บไว้ ไว้ที่ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ซึ่งข้อมูลส่วนที่เป็นรูปภายนี้เป็นข้อมูลออนไลน์ที่เชื่อมโยงถึงกันได้ทั้งหมด ทนายความ จึงสามารถขอหมายเรียกไปยังสำนักงานทะเบียนได้ทั่วประเทศไทย แต่ข้อมูลส่วนที่เป็นตัวอย่างลายมือชื่อนั้นไม่ใช่ข้อมูลออนไลน์ จึงจะต้องขอหมายเรียกไปยังสำนักงานทะเบียนที่เจ้าของลายมือชื่อได้ไปทำบัตรประชาชน ซึ่งเมื่อนำรูปถ่ายในบัตรประชาชนของเจ้าของบัตรประชาชนที่แท้จริง กับรูปถ่ายในบัตรประชาชนปลอมมาเปรียบเทียบกันแล้ว เห็นว่ามีความแตกต่างกัน และยิ่งลายมือชื่อมีความแตกต่างกันแล้ว ก็ย่อมเชื่อได้ว่าเจ้าของบัตรประชาชนที่แท้จริงไม่ใช้เป็นผู้ทำนิติกรรมใดๆกับผู้เสียหาย

หวังว่าเทคนิคนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนทนายความ ซึ่งเทคนิคนี้สามารถนำไปปรับใช้ในคดีเรื่องอื่นๆได้ด้วยแล้วแต่รูปคดี และเป็นอุทาหรณ์แก่บุคคลทั่วไปว่า ควรจะต้องระมัดระวังเรื่องการเซ็นสำเนาถูกต้องในบัตรประชาชนมอบให้ผู้อื่น โดยจะต้องเขียนกำกับในบัตรประชาชนด้วยทุกครั้งว่าจะนำไปใช้เพื่อการใด

ซึ่งทางสำนักงานฯได้นำรูปถ่ายที่สำนักงานทะเบียนฯ ส่งมาที่ศาลตามหมายเรียกในคดีที่ทางสำนักงานฯ เคยรับว่าความให้ผู้ที่ถูกปลอมลายมือชื่อและบัตรประชาชน มาลงให้ดูเป็นตัวอย่างครับ ทั้งนี้รูปถ่ายจะปรากฏเฉพาะรูปที่ถ่ายหลังปี 2547 เป็นต้นไปเท่านั้นครับ ซึ่งในคดีนี้เมื่อผู้เสียหายได้เห็นพยานหลักฐานที่หมายเรียกมาและเข้าใจว่า จำเลยในคดีไม่ใช่คนร้ายตัวจริง ก็ยอมถอนฟ้องไปแต่โดยดีครับ

ปลอมเอกสาร 1 ปลอมเอกสาร 2

(คลิกที่รูปเพื่อดูภาพเต็ม)

 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น