บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

ทำอย่างไรเมื่อถูกกีดกันไม่ให้พบบุตรผู้เยาว์ ?

กีดกันไม่ให้พบบุตร

ทำอย่างไรเมื่อถูกกีดกันไม่ให้พบบุตรผู้เยาว์  / ถ้าฟ้องคดีเรียกอำนาจปกครองบุตรแพ้แล้วจะไม่ได้เจอลูกจริงหรือ ?

ปัญหาคดีครอบครัวที่ขึ้นสู่ศาลเยาวชนและครอบครัวในทุกวันนี้ มีหลายคดีที่เกิดขึ้นจากการแย่งกันเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ระหว่างบิดาและมารดา โดยต่างฝ่ายต่างก็จะอยากจะเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ด้วยตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียว และกีดกันไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์

ซึ่งความจริงแล้วแล้วศาลมักจะไม่แยกบุตรผู้เยาว์ออกจากบิดาหรือมารดาโดยการถอนอำนาจปกครองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะศาลต้องการให้เด็กเติบโตมาอย่างมีพร้อมทั้งบิดาและมารดา ซึ่งจะส่งผลดีต่อบุตรผู้เยาว์มากกว่า ยกเว้นแต่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดมีพฤติกรรมที่ไม่สมควรจะให้เป็นใช้อำนาจปกครองบุตรจริงๆ ศาลจึงจะสั่งถอนอำนาจปกครองบุตรของบิดามารดาฝ่ายนั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1582 )

ซึ่งตัวอย่างพฤติกรรมการใช้อำนาจปกครองบุตรที่มิชอบ ที่ศาลอาจสั่งเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรของดามารดานั้น เช่น

1.บิดาหรือมารดาทิ้งบุตรผู้เยาว์ไปอยู่กับคนรักใหม่ตั้งแต่ผู้เยาว์เกิดโดยไม่เคยส่งเสียหรือกลับมาดูแลบุตรผู้เยาว์เลย (ฎ.4323/2540)

2.บิดาหรือมารดาดาลงโทษผู้เยาว์อย่างโหดร้ายทารุณ เกินสมควรกว่าเหตุ

3.บิดามารดากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจนได้รับโทษถึงจำคุก (ฎ.2653/2544)

4.บิดาหรือมารดาให้บุตรทำงานเสี่ยงอันตรายหรือผิดกฎหมาย

5.บิดาหรือมารดามีพฤติกรรมมั่วสุมกับการพนันหรือเสพยาเสพติดอยู่เป็นประจำ

หรือหากมีพฤติการณ์อื่นๆที่แสดงให้เห็นว่า หากให้บุตรผู้เยาว์อยู่กับบิดาหรือมารดาฝ่ายใดแล้ว จะกระทบต่อสวัสดิภาพหรืออนาคตที่ดีของบุตรผู้เยาว์ เช่น ปรากฏว่า บิดาหรือมารดาทำงานในลักษณะที่ไม่สามารถมีเวลามาดูแลบุตรผู้เยาว์ได้ หรืออยู่ในสังคมหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ศาลก็อาจสั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้กับบิดาหรือมารดาอีกฝ่ายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียวก็ได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดและอนาคตที่ดีของบุตรผู้เยาว์

ซึ่งปัญหาที่บิดามารดามักจะกลัวกันมากเมื่อคดีขึ้นสู่ศาล และเป็นข้อที่บิดาหรือมารดาหรือญาติของบิดาหรือมารดาแต่ละฝ่ายมักจะใช้ข่มขู่อีกฝ่ายหนึ่งกันเป็นประจำคือ “ถ้าแพ้คดีแล้ว จะไม่ให้ได้พบเจอพูดคุยกับลูกอีก” ซึ่งความจริงแล้วการกีดกันไม่ให้บิดามารดาฝ่ายที่ไม่ได้ใช้อำนาจปกครองพบเจอบุตรผู้เยาว์นั้น เป็นเรื่องที่มิอาจทำได้ เนื่องจาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1584/1 ได้วางหลักการไว้ว่า แม้บิดามารดาจะถูกถอนอำนาจปกครองบุตร หรือศาลสั่งให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ไม่จำกัดสิทธิของบิดามารดาฝ่ายที่มิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร จะมาเยี่ยมเยียนพบปะ หรือติดต่อสื่อสารกับบุตรผู้เยาว์กับผ่านทางโทรศัพท์หรือสื่ออื่นๆ หรือพาบุตรผู้เยาว์ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆหรือพาไปรับทานอาหาร พาไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือพาไปนอนค้างคืนในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทั้งนี้เพราะการที่บิดามารดาฝ่ายที่มิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรจะมาเยี่ยมหรือมาพบปะดูแลบุตรผู้เยาว์นั้น ย่อมส่งผลที่ดีต่อสภาพจิตใจของบุตรผู้เยาว์ ยกเว้นแต่บิดามารดาฝ่ายที่มิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองนั้น จะมาพบในลักษณะที่ไม่สมควร เช่น มาพบในเวลากลางคืนขณะมึนเมาสุรา พาบุตรไปในสถานที่ไม่สมควร บิดามารดาที่ใช้อำนาจปกครองจึงจะมีสิทธิห้ามปรามมิให้พบได้

ดังนั้นจึงควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า การกีดกันมิให้บิดาหรือมารดามาซึ่งมาพบหรือเยี่ยมเยียนบุตรผู้เยาว์ของตนโดยชอบตามสมควรแก่พฤติการณ์ มิว่าผู้ใดก็ไม่สามารถทำได้ หากผู้ใดกระทำการดังกล่าว ย่อมถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของบิดามารดาผู้นั้น และอาจถูกฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งหากศาลมีคำพิพากษามิให้กระทำการดังกล่าวแล้ว ยังไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา ก็อาจถูกบังคับคดีโดยศาลจะทำการออกหมายเรียกมาไต่สวนและตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา หากยังดื้อแพ่งต่อไปอีก ก็จะถูกจับกุมกักขังจนกว่าจะยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา (ครั้งละไม่เกิน 15วัน ) ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ 2553 มาตรา 161

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น