บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

สาระน่ารู้เกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์

ค่าอุปการะเลี้ยงดู

สาระน่ารู้เกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์

บิดาและมารดามีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรและให้การศึกษาแก่บุตรตามสมควร ซึ่งหากบิดามารดาไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตามกฎหมาย บุตรก็ไม่มีสิทธิจะไปฟ้องร้องเอาแก่บิดามารดาให้ปฏิบัติตามหน้าที่ได้โดยตรง เนื่องจากกฎหมายห้ามมิให้บุตรฟ้องคดีเอาแก่บิดามารดาของตน (คดีอุทลุม) บุตรทำได้เพียงแต่ร้องขอให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีแทนตน หรือบิดามารดาอีกฝ่ายหนึ่งจะดำเนินการฟ้องร้องเอาแก่บิดามารดาที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมใช้วิธีหลังมากกว่า เพราะมีความสะดวกรวดเร็วมากกว่า (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562 มาตรา1564 มาตรา1565)

ทั้งนี้จะต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งในการยื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นโจทก์ได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลและฤชาธรรมเนียมทั้งปวงซึ่งรวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีด้วย อีกทั้งในการบังคับคดีตามคำพิพากษาให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น หากบิดามารดาเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการ โจทก์ก็สามารถยึดอายัดเงินเดือนหรือเงินอื่นๆ เช่นบำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด ที่ทางราชการจ่ายให้แก่บิดามารดาได้ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นหลักกฎหมายทั่วไปที่ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดหรืออายัดเงินเดือนของข้าราชการหรือลูกจ้างของราชการ ทั้งนี้เนื่องจากหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูมีลักษณะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากหน้าที่ตามกฎหมาย และเป็นหนี้ทีความสำคัญต่อตัวบุตรผู้เยาว์มาก (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนฯ มาตรา 154 มาตรา 155 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 286)

การบังคับบิดามารดามาให้มาทำการอุปการะเลี้ยงดูบุตรและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ไม่สามารถทำได้โดยสภาพ จึงสามารถทำได้เพียงเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเอาแก่บิดามารดาที่ไม่ยอมปฏิบัติตามหน้าที่ และหากเป็นการฟ้องบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ผู้ฟ้องคดีสามารถฟ้องขอให้รับรองบุตรไปพร้อมกันด้วยในคดีเดียวกันเพื่อความรวดเร็ว โดยไม่มีความจำเป็นจะต้องฟ้องขอรับรองบุตรก่อนแล้วจึงค่อยมาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทีหลัง (ฎ.1998/2519)

สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นศาลจะกำหนดให้โดยคำนึงถึงฐานะทางการเงินและรายได้ของบิดามารดาและบุตร รายจ่ายตามความความเป็นจริงและจำเป็นของบิดามารดาและบุตร ซึ่งย่อมแตกต่างกันไป ตามอายุ ระดับการศึกษา สภาพของสังคมว่าอยู่ในเมืองหรือชนบท และพฤติการณ์อื่นๆแห่งคดี ประกอบกัน ( ตัวอย่างเช่น ฎ.1393/2495 ฎ.303/2488 ฎ.3596/2546 ฎ.1605/2534 ฎ.5554/2531ฎ.4526/2533 ฎ.4141/2535 ฎ.9017/2538 ฎ.1367/2540)

โดยศาลจะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้เป็นรายงวดไป เช่นทุกเดือน ทุกสามเดือน หรือทุกปี ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมและสอดคล้องกับรายได้ของบิดามารดาผู้มีหน้าที่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู ยกเว้นคู่ความจะตกลงกันให้จ่ายเป็นเงินก้อนเดียวครั้งเดียว หากคู่ความไม่ตกลงกันศาลจะกำหนดให้ชำระเป็นเงินก้อนเดียวครั้งเดียวไมได้ ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลสองประการคือค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นเป็นหนี้ที่ไม่แน่นอนอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม การลด หรืออาจระงับไปด้วยความตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการชำระเงินเป็นก้อนในครั้งเดียวอาจทำให้เงินนั้นหมดไปโดยเร็ว จึงไม่สมควรที่ศาลจะกำหนดเงินดังกล่าวให้เป็นก้อนในคราวเดียว เว้นแต่คู่ความประสงค์เช่นนั้น ซึ่งหากศาลกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายงวดและภายหลังหากปรากฏว่า ฐานะทางการเงินของบิดามารดาหรือฐานะหรือความจำเป็นในการใช้เงินของบุตร หรือพฤติการณ์อื่นๆแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ผู้มีส่วนได้เสีย เช่นตัวบิดามารดาหรือตัวบุตร ก็อาจยื่นคำร้องแสดงหลักฐานต่อศาล เพื่อให้ศาลก็อาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูใหม่ โดยอาจกำหนดให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ซึ่งก็เป็นการยุติธรรม เพราะบางครั้งเมื่อเวลาผ่านไป บิดาหรือมารดามีรายได้มากขึ้น และบุตรมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น การกำหนดอัตราค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่าเดิมตลอดไปย่อมไม่มีความยุติธรรมกับตัวบุตรผู้เยาว์ ในทางกลับกัน หากบิดาหรือมารดานั้นมีความฝืดเคืองทางการเงิน หรือตัวบุตรหรือมีฐานะทางเงินดีขึ้น สามารถทำมาหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว การที่จะให้บิดามารดานั้นจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูในอัตราเท่าเดิมตลอดไปย่อมไม่เป็นธรรมต่อตัวบิดามารดา

ทั้งนี้นอกจากการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแล้ว ศาลอาจกำหนดให้บุตรได้รับการอุปการะ เลี้ยงดูโดยประการใด ๆ นอกจากที่คู่กรณีตกลงกัน หรือนอกจากที่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอก็ได้ เช่นให้ไปอยู่ในสถานการศึกษาหรือวิชาชีพ โดยให้บิดามารดาผู้ที่มีหน้าที่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูออกค่าใช้จ่ายในการนี้ หรือให้ผู้เยาว์เป็นผู้ได้รับประโยชน์ในกิจการของบิดา หรือให้บิดามารดาออมเงินฝากไว้จำนวนหนึ่งในบัญชีของบุตร ซึ่งกฎหมายกำหนดขอบเขตนี้กว้างขวางและน่าสนใจมากในทางปฏิบัติ ซึ่งในส่วนนี้เป็นกฎหมายใหม่ที่น่าสนใจ ที่ทนายความและศาลควรนำมาปรับใช้ตามสมควรแก่รูปคดีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เยาว์ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/38 มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 )

หน้าที่การชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าวจะหมดไปเมื่อบุตรบรรลุนิติภาวะ ไม่ว่าจะบรรลุนิติภาวะตามปกติ(อายุครบ 20ปีบริบูรณ์) หรือบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ยกเว้นแต่บุตรที่บรรลุนิติภาวะนั้น ทุพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ เช่น พิการ หรือ ผิดปกติทางสมอง เช่นนี้บิดามารดามีหน้าจะต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรต่อไปจนกว่าบุตรจะพ้นจากอาการดังกล่าว หรือฝ่ายดังใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น