การต่อสู้คดีในศาล ผลแพ้-ชนะคดี ย่อมจะต้องตัดสินกันด้วยพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ
ในกรณีที่เรามีพยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ ที่จำเป็นจะต้องใช้อยู่แล้ว เราก็สามารถนำพยานเอกสารหรือพยานวัตถุนั้น อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้เลย
แต่ในกรณีที่เราไม่สามารถนำพยานเอกสาร-พยานวัตถุ ที่เป็นประโยชน์แก่คดีของเรามาได้ เราก็สามารถขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว มาเพื่อใช้ประกอบการต่อสู้คดีของเราได้
วันนี้ผมจะมาอธิบายขั้นตอนและวิธีการในการขอออกหมายเรียกพยานเอกสารและพยานวัตถุ เพื่อประกอบการต่อสู้คดี หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆและผู้สนใจทุกคนครับ
ขอหมายเรียกได้ตอนไหน
การขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ เพื่อประกอบการต่อสู้คดีนั้น สามารถเริ่มขอได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
ต้องบอกว่าการจะเริ่มขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุได้เมื่อไหร่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่า เรามีสถานะเป็นอะไรในคดีดังกล่าว และคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการอะไร
โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
คดีแพ่ง
กรณีเราเป็นฝ่ายโจทก์
ถ้าเป็นคดีแพ่งที่เราเป็นฝ่ายโจทก์ เราสามารถขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ได้ตั้งแต่เริ่มยื่นฟ้องเลย โดยสามารถแนบไปพร้อมกับคำฟ้องพร้อมกันเลย
โดยธรรมดาแล้วในคดีแพ่งเมื่อยื่นฟ้องคดีแล้ว ศาลจะนัดไกล่เกลี่ย /ชี้สองสถาน /สืบพยาน ในวันเดียวกัน ซึ่งเราสามารถขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ และให้บุคคลที่ได้รับหมายเรียกส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุมาในวันดังกล่าวได้เลย
ซึ่งในบางกรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุโดยเร็ว เช่นกันขอหมายเรียกคลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอจากบุคคลภายนอก ซึ่งหากเนิ่นช้าไป คลิปเสียงหรือคลิปวิดีโอดังกล่าวอาจจะไม่ได้ถูกเก็บไว้แล้ว หรือสูญหายไป
กรณีเราเป็นฝ่ายจำเลย
ส่วนคดีแพ่งที่เราเป็นฝ่ายจำเลย หากเรายังไม่ได้ยื่นคำให้การ เราก็ยังไม่สามารถขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุได้ เพราะการที่จะขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ จะต้องมีการตั้งประเด็นต่อสู้คดีเข้าไปเสียก่อน
ดังนั้นในคดีแพ่งที่เราเป็นฝ่ายจำเลย เราจะขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุได้ เมื่อเรายื่นคำให้การต่อสู้คดีแล้วเท่านั้น
คดีอาญา
กรณีเราเป็นฝ่ายโจทก์ที่ยื่นฟ้องคดีเอง
ในคดีอาญาที่เราเป็นฝ่ายโจทก์ ก็เหมือนกับคดีแพ่ง เราสามารถขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุไปพร้อมกับการยื่นฟ้องคดีได้เลย
โดยในคดีอาญาเมื่อเรายื่นฟ้องแล้ว ศาลก็จะกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันเดียวกัน และเราสามารถขอให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุมาภายในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องได้เลย
กรณีเราเป็นฝ่ายโจทก์ร่วม
ในคดีอาญาที่เราเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ เรามีสิทธิ์ขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุได้ ก็ต่อเมื่อเรามีการยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและศาลอนุญาตแล้วเท่านั้น
เพราะหากศาลยังไม่อนุญาตให้เราเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ก็ยังไม่ถือว่าเราเป็นคู่ความในคดี เราจึงยังไม่มีสิทธิ์ขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ
กรณีเราเป็นฝ่ายจำเลยที่ถูกผู้เสียหายฟ้องคดีเอง
กรณีราเป็นจำเลยในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องด้วยตนเอง โดยผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีเองโดยตรงโดยไม่ผ่านกระบวนการสอบสวนและการฟ้องคดีของพนักงานอัยการ
ในกรณีเช่นนี้จะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อน และตราบใดที่ศาลยังไม่สั่งประทับรับฟ้องจึงยังไม่ถือว่าเราเป็นจำเลย (ปวิอ. 165 วรรคท้าย)
มาตรา ๑๖๕๒ วรรคท้าย
ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้อง โดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มา แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น
เมื่อเรายังไม่ถือว่าเป็นจำเลย เราจึงยังไม่มีสิทธิ์ขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ มาประกอบการต่อสู้คดีแต่อย่างใด
ดังนั้นในคดีที่เราถูกฟ้องเป็นจำเลยโดยที่ ผู้เสียหายเป็นคนยื่นฟ้องคดีเองโดยตรง เราจึงยังไม่มีสิทธิ์ขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุจนกว่าศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว
และภายหลังหากศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้วและมีการกำหนดวันนัดตรวจพยานฐานแล้ว เราและทนายความของเราจึงจะมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุมาอ้างส่งในชั้นตรวจพยานหลักฐานต่อไป
อย่างไรก็ตามถึงเราไม่มีสิทธิ์ขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุมาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แต่เราก็ยังมีสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 165/2 ที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเอกสารหรือวัตถุมาประกอบการไต่สวนมูลฟ้องได้
ซึ่งผมเคยได้อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้วติดตามได้ในบทความด้านล่าง
กรณีเราเป็นฝ่ายจำเลยถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้อง
ส่วนในคดีอาญาที่เราถูกพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในกรณีนี้จะถือว่าเราเป็นคู่ความในคดีทันทีที่อัยการยื่นฟ้อง
แล้วธรรมดาแล้วหลังจากถูกยื่นฟ้องศาลก็จะกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งเราสามารถขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุมาอ้างส่งในชั้นตรวจพยานหลักฐานได้ทันที
พยานเอกสาร -พยานวัตถุอะไรบ้างที่ขอหมายเรียกได้
พยานเอกสารหรือพยานวัตถุอะไรบ้าง ที่เราจะสามารถขอให้ศาลออกหมายเรียกจากผู้ครอบครองให้นำมาส่งเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล ?
ก็ต้องบอกเลยว่า อำนาจในการออกหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุของศาลนั้น กฎหมายกำหนดวางหลักไว้อย่างกว้างขวางมาก
ดังนั้นแล้ว พยานเอกสารหรือพยานวัตถุแทบทุกชนิด ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้อพิพาท และสามารถพิสูจน์ได้ว่าเรื่องราวข้อเท็จจริงในคดีเป็นอย่างไรและเป็นข้อสาระสำคัญในคดี ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ไม่ว่าพยานเอกสารหรือพยานวัตถุนั้น จะอยู่ในความครอบครองของเอกชน เช่น โรงแรม รีสอร์ท โรงเรียน วัด บริษัทเอกชน โรงพยาบาล ที่ทำการไปรษณีย์ ขนส่งเอกชน
หรือพยานเอกสารหรือพยานวัตถุนั้นจะอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เช่น กระทรวงทบวงกรมต่างๆ อบตเทศบาล สถานีตำรวจ ที่ว่าการอำเภอ ค่ายทหาร
หรือแม้กระทั่งอยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายข้าม หรือคู่กรณีของเรา ก็สามารถขอให้ศาลออกหมายเรียกมาได้ทั้งหมด
ตัวบทกฎหมาย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123
ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ในความครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสำเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสำคัญ และคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกำหนด ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีต้นฉบับเอกสารอยู่ในครอบครองไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเช่นว่านั้น ให้ถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่ผู้ขอจะต้องนำสืบโดยเอกสารนั้น คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้ยอมรับแล้วถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกหรือภายในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นำบทบัญญัติในวรรคก่อนว่าด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคำขอและการที่ศาลมีคำสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้างต้องส่งคำสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 93 (2)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 239
เอกสารใดซึ่งคู่ความอ้าง แต่มิได้อยู่ในความยึดถือของเขา ถ้าคู่ความนั้นแจ้งถึงลักษณะและที่อยู่ของเอกสารต่อศาล ให้ศาลหมายเรียกบุคคลผู้ยึดถือนำเอกสารนั้นมาส่งศาลมาตรา 173/1 เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรมในคดีที่จำเลยไม่ไห้การหรือปฏิเสธ เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอหรือศาลเห็นสมควรศาลอาจกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานก็ได้ โดยแจ้งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วันก่อนวันตรวจพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นรับไปจากเจ้าพนักงานศาล และถ้าคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ให้ยื่นต่อศาลก่อนตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้นการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคสองจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อผู้ร้องขอแสดงเหตุอันสมควรว่าไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานนั้นหรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
ถ้าพยานเอกสารหรือพยานวัตถุใดอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ให้คู่ความที่ประสงค์จะอ้างอิงขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวมาจากผู้ครอบครองโดยยื่นคำขอต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน เพื่อให้ได้พยานเอกสารหรือพยานวัตถุนั้นมาก่อนวันตรวจพยานหลักฐานหรือวันที่ศาลกำหนด
ตัวอย่างพยานเอกสาร ที่สามารถขอให้ศาลออกหมายเรียกได้ เช่น
1.นิติกรรมสัญญา
2.รายงานการประชุม
3.บันทึกการเข้าออกสถานที่ต่างๆ
4.รายการเดินบัญชีหรือ statement ธนาคาร
5.หลักฐานการขอบัตรประชาชนหรือขอเอกสารราชการต่างๆ หรือการติดต่อเกี่ยวกับหน่วยงานราชการต่างๆที่มีการเซ็นเอกสารไว้
6.หลักฐานการสนทนาผ่าน line facebook อีเมล
7.บันทึกประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานหรือบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี
8.เอกสารต่างๆที่อยู่ในสารบบของกรมที่ดิน หรือหน่วยงานราชการอื่นๆที่เราไม่สามารถขอคัดถ่ายได้เอง
9.เอกสารหลักฐานในสำนวนคดีอื่นๆที่เราไม่สามารถขอคัดถ่ายได้เอง
ตัวอย่างพยานวัตถุ ที่สามารถขอให้ศาลออกหมายเรียกได้ เช่น
1.คลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดที่อยู่ในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หรือสถานที่ของเอกชนหรือของส่วนตัว
2.คลิปเสียงการสนทนาที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ
3.รูปถ่ายที่เกี่ยวข้องกับคดีซึ่งเราไม่ได้มีอยู่ในครอบครองหรือไม่สามารถขอคัดถ่ายได้
4.หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีเช่นอาวุธมีด ปืน เสื้อผ้า ซึ่งเราไม่สามารถนำมาศาลด้วยตนเองได้
ซึ่งตามที่ผมกล่าวถึงข้างต้นนั้น เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ที่ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกให้ผู้ครอบครองจัดส่งในชั้นศาลได้เท่านั้น
ความจริงแล้วในแต่ละคดีอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องขอหมายเรียกพยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ มาเพื่อใช้ประกอบการต่อสู้คดีแตกต่างกัน
พยานเอกสาร -พยานวัตถุอะไรบ้างที่ไม่สามารถขอหมายเรียกได้
ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกได้อย่างกว้างขวาง ยกเว้นแต่เป็นพยานเอกสารหรือพยานวัตถุบางอย่างตามที่จะกล่าวต่อไปเท่านั้น
พยานหลักฐานที่ กฎหมายห้ามไม่ให้ออกหมายเรียกมีดังนี้
1พยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่เป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายกำหนด
หมายความว่าเป็นพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ที่ตามกฎหมายแล้วระบุว่าเป็นความลับไม่สามารถเปิดเผยได้ เช่นข้อมูลส่วนบุคคลบางประเภท สำนวนการสอบสวนคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด คำให้การพยานในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด เอกสารที่เป็นความลับของทางราชการที่เปิดเผยไปแล้วจะเป็นผลกระทบต่อความมั่นคง เป็นต้น
2ความลับที่ทนายความหรือเอกสารที่ทนายความได้จากลูกความ
ธรรมดาแล้วทนายความมีหน้าที่ในการรักษาความลับของลูกความในการให้คำปรึกษาทางกฎหมายในการดำเนินคดี
ดังนั้นในบรรดาเอกสารหรือข้อความต่างๆที่ทนายความได้รับจากลูกความ จึงเป็นเอกสิทธิ์ที่ห้ามไม่ให้เปิดเผย หากศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวมา ทนายความผู้ครอบครองเอกสารก็สามารถปฏิเสธไม่ส่งมอบได้
3งานประดิษฐ์หรือสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่ให้เปิดเผย
งานประดิษฐ์หรือสิ่งประดิษฐ์บางอย่าง อาจจะมีความลับทางการค้า ทางทรัพย์สินทางปัญญา ที่กฎหมายคุ้มครองไว้โดยเฉพาะที่ไม่ห้ามไม่ให้เปิดเผยนั้นย่อมกระทบสิทธิ์ หรืออาจถูกลอกเลียนได้
4พยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้อพิพาทในคดี
การที่ศาลจะออกหมายเรียกพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ มาใช้ในชั้นพิจารณาได้นั้นจะต้องได้ความว่าพยานดังกล่าว เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทในคดี สามารถพิสูจน์ความจริงที่เป็นประเด็นสำคัญในคดีได้
หากการขอออกหมายเรียกพยานดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทในคดีเลย ไม่สามารถนำมาใช้พิสูจน์ความจริงในคดีในประเด็นข้อสำคัญได้ ศาลจะไม่ออกหมายเรียกพยานบุคคลหรือพยานเอกสารรวมทั้งพยานวัตถุให้
5พยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ที่เราสามารถนำมาศาลเองได้อยู่แล้ว หรือสามารถไปขอคัดถ่ายมาได้เองอยู่แล้ว
ในกรณีพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ที่ถึงแม้จะเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดี สามารถใช้พิสูจน์ความจริงในคดีได้ แต่เราสามารถคัดถ่ายสำเนา หรือสามารถใช้สำเนาที่เจ้าหน้าที่รับรองความถูกต้อง มาใช้ประกอบสำนวนคดีได้อยู่แล้ว ในกรณีเช่นนี้ศาลจะไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุให้เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่นพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ที่อยู่ในสำนวนคดีอื่นที่เราเป็นคู่ความอยู่แล้ว หรือเอกสารที่อยู่ในกรมที่ดิน หรือสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หรือหน่วยงานราชการอื่นๆ เฉพาะในส่วนที่เราสามารถคัดได้อยู่แล้ว
ตัวบทกฎหมาย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 92 ถ้าคู่ความหรือบุคคลใดจะต้องเบิกความหรือนำพยานหลักฐานชนิดใด ๆ มาแสดง และคำเบิกความหรือพยานหลักฐานนั้นอาจเปิดเผย
(1) หนังสือราชการหรือข้อความอันเกี่ยวกับงานของแผ่นดิน ซึ่งโดยสภาพจะต้องรักษา
เป็นความลับไว้ชั่วคราวหรือตลอดไป และคู่ความหรือบุคคลนั้นเป็นผู้รักษาไว้ หรือได้ทราบมาโดย
ตำแหน่งราชการ หรือในหน้าที่ราชการหรือกึ่งราชการอื่นใด
(2) เอกสารหรือข้อความที่เป็นความลับใด ๆ ซึ่งตนได้รับมอบหมายหรือบอกเล่าจาก
ลูกความในฐานะที่ตนเป็นทนายความ
(3) การประดิษฐ์ แบบ หรือการงานอื่น ๆ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่ให้
เปิดเผย
คู่ความหรือบุคคลเช่นว่านั้นชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมเบิกความหรือนำพยานหลักฐานนั้น ๆ
มาแสดงได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้เปิดเผยได้
การบรรยายคำร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสาร-พยานวัตถุ
การที่เราจะขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุได้นั้น ทางปฏิบัติแล้วเราจะต้องยื่นคำร้องขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุต่อศาล โดยทำเป็นคำร้องขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุบรรยายเนื้อหาให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
โดยหลักในการบรรยายคำร้องขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุนั้น มีหลักสำคัญว่า ในเนื้อหาจะต้องอธิบายให้ศาลเข้าใจว่า พยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่ต้องการขอออกหมายเรียกนั้น มีความสำคัญหรือเกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทในคดีอย่างไร เหตุใดจำเป็นถึงจะต้องขอออกหมายเรียก
โดยสามารถสรุปวิธีการบรรยายคำร้องขอออกหมายเรียกพยานวัตถุและพยานเอกสารได้ดังนี้
- บรรยายยืนยันว่าเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลของใคร
- บรรยายว่าพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว มีความสำคัญต่อคดีอย่างใด
- บรรยายว่าเราไม่สามารถนำมาศาลด้วยตนเองได้
- บรรยายว่า จะรับหมายไปส่งเองหรือจะให้เจ้าหน้าที่ศาลเป็นคนส่งหมาย
ตัวอย่าง
คำร้องขอหมายเรียกพยานเอกสาร (เสตทเม้นท์ธนาคาร)
คดีนี้ศาลที่เคารพได้โปรดนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 23 พฤษภาคม 2565
ข้อ 2. เนื่องจากคดีนี้จำเลยได้ยื่นบัญชีพยานจำเลยในชั้นไต่สวนคำร้อง/พิจารณาคดี เพิ่มเติมครั้งที่ 1 ต่อศาลแล้ว แต่พยานเอกสารตามบัญชีพยานดังกล่าว อันดับที่ 1 ของจำเลยเป็นพยานเอกสารที่อยุ่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ทำให้จำเลยไม่อาจนำพยานเอกสารดังกล่าวมาสืบในชั้นไต่สวนคำร้อง/พิจาราณาคดีของศาลได้ อีกทั้งพยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานเอกสารที่เป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยมีความจำเป็นต้องนำมาใช้ประกอบการสืบพยานในชั้นไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลย เพื่อแสดงว่าจำเลยอาจเป็นฝ่ายชนะคดีนี้ได้
ซึ่งพยานเอกสารดังกล่าว คือ อันดับที่ 1 ต้นฉบับ/สำเนารับรองความถูกต้อง คำขอเปิดบัญชี และรายการเดินบัญชี(statement) ของโจทก์ ธนาคารA สาขาA เลขที่บัญชี ——– ชื่อบัญชี นาย ก. นับแต่ปี 2562 – จนถึงปัจจุบัน(ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตู้—-)
โดยพยานเอกสารดังกล่าว เป็นบัญชีที่โจทก์โอนเงินจำนวน 3,700,000 บาท ให้จำเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่เงินของโจทก์จริง แต่เป็นเงินที่ได้มาจากนาย ข. หรือบริษัทในเครือของนาย ข. และเป็นการที่โจทก์เป็นเพียงตัวแทนหรือพนักงานหรือนอมินี ของนาย ข.
ข้อ 3. ด้วยเหตุนี้ ผู้ร้องจึงมีความประสงค์ขอศาลที่เคารพได้โปรดมีคำสั่งให้มีหมายเรียกพยานเอกสาร ตามบัญชีพยานจำเลยในชั้นไต่สวนคำร้อง/พิจารณาคดี เพิ่มเติมครั้งที่ 1 อันดับที่ 1 ไปยัง ธนาคาร A เลขที่บัญชี — ชื่อบัญชี นาย ก. ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตู้ —
อนึ่ง ในการส่งหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว ผู้ร้องมีความประสงค์ขอให้ศาล
มีคำสั่งให้จำเลย หรือตัวแทนจำเลยเป็นผู้นำส่งด้วยตนเอง ขอศาลที่เคารพได้โปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
คำร้องขอหมายเรียกพยานวัตถุ (กล้องวงจรปิด)
ข้อ 1. คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลในวันนี้
ข้อ 2. เนื่องจากโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานต่อศาลแล้ว แต่พยานเอกสารตามบัญชีพยาน อันดับที่ 8-10 ของโจทก์ กล่าวคือ ต้นฉบับ/สำเนาบันทึกภาพหรือวีดีโอ (ภาพเคลื่อนไหว) จากกล้องวงจรปิดบริเวณต่างๆ ของห้าง B ซึ่งตั้งอยู่ที่ — อันเป็นหลักฐานที่จำเลยกับสามีโจทก์เดินทางไปซื้อของที่ห้างดูโฮมดังกล่าวด้วยกัน ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เวลาประมาณ 18.11-19.30 นาฬิกา , ต้นฉบับ/สำเนาบันทึกภาพหรือวีดีโอ (ภาพเคลื่อนไหว) จากกล้องตรวจวัดอุณหภูมิของห้าง B ซึ่งตั้งอยู่ที่ — ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เวลาประมาณ 18.11-19.30 นาฬิกา และต้นฉบับ/สำเนาบันทึกภาพหรือวีดีโอ (ภาพเคลื่อนไหว) จากกล้องวงจรปิดบริเวณต่างๆ ของหมู่บ้าน C ซึ่งตั้งอยู่ที่ — ย้อนหลัง 30 วัน โดยพยานวัตถุดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการแสดงตนเป็นชู้โดยเปิดเผยของจำเลยกับสามีโจทก์ และเป็นที่ทราบของบุคคลทั่วไปที่พบเห็น
อีกทั้งยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องขอออกหมายเรียก เนื่องจากพยานหลักฐานดังกล่าว คือ ภาพบันทึกและวีดีโอกล้องวงจรปิด จะมีระยะเวลาบันทึกได้ไม่เกิน 7-30 วันเท่านั้น โดยพยานวัตถุดังกล่าวนั้นอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่อาจนำพยานวัตถุดังกล่าวมาสืบในชั้นพิจารณาของศาลได้
ข้อ 3. ด้วยเหตุดังผู้ร้องประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพข้างต้น ผู้ร้องจึงมีความประสงค์ขอศาลที่เคารพได้โปรดมีคำสั่งให้มีหมายเรียกพยานเอกสารและพยานวัตถุ ตามบัญชีพยานของโจทก์ อันดับที่ 8-10 ไปยัง B ซึ่งตั้งอยู่ที่ — และหมู่บ้าน C ซึ่งตั้งอยู่ที่ —
อนึ่ง ในการส่งหมายเรียกพยานเอกสารและพยานวัตถุดังกล่าว ผู้ร้องมีความประสงค์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์หรือตัวแทนโจทก์เป็นผู้นำส่งด้วยตนเอง ขอศาลที่เคาพโปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
การส่งหมายเรียกพยานเอกสาร-พยานวัตถุ
หลักกฎหมาย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 บรรดาคำฟ้อง หมายเรียกและหมายอื่น ๆ คำสั่ง คำบังคับของศาลในกรณี
ต้องส่งคำบังคับ ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งให้แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง แต่ว่า
(1) หมายเรียกพยาน ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานนั้นเป็นผู้ส่งโดยตรง เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น
หรือพยานปฏิเสธไม่ยอมรับหมาย ในกรณีเช่นว่านี้ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่ง
อธิบาย
เมื่อศาลออกหมายเรียกตามที่เราร้องขอให้เรียบร้อยแล้ว ศาลก็จะลงลายมือชื่อและประทับตราของศาลในหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ
หลังจากนั้นจะต้องมีกระบวนการส่งหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว ไปให้ผู้ครอบครองเอกสารหรือวัตถุ
ซึ่งกระบวนการในการส่งหมายเรียกนั้น แบ่งออกเป็น 2 วิธีด้วยกัน
รับหมายไปส่งด้วยตนเอง
กระบวนการนี้เป็นกระบวนการปกติ ธรรมดาแล้วเมื่อเราขอหมายเรียกพยานเอกสาร พยานวัตถุ หรือพยานบุคคล ไปแล้ว และศาลอนุมัติตามคำร้องขอออกหมายเรียกของเราแล้ว เรามีหน้าที่รับหมายเรียกดังกล่าวไปส่งให้กับพยานหรือผู้ครอบครองพยานวัตถุหรือพยานเอกสารด้วยตนเอง
ซึ่งทางปฏิบัติ เราก็จะถือหมายเลขดังกล่าวไปส่งให้กับผู้ครอบครองพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ และให้เขาเซ็นรับในหมายเรียก และหลังจากนั้นเราก็จะนำใบรับหมายเรียกของไปรายงานต่อศาล
ธรรมดาแล้วหากเราต้องการรับหมายเรียกไปส่งเอง เราจะต้องเขียนไว้ในคำร้องขอออกหมายเรียกเลยว่า เรามีความประสงค์จะรับหมายเรียกไปส่งเอง ซึ่งธรรมดาแล้วศาลอาจจะให้รับหมายเรียกภายในวันเดียวกับวันที่เรายื่นคำร้องขอหมายเลย หรือในกรณีที่ศาลอาจจะงานยุ่งอยู่ ก็ใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน
ขอให้เจ้าหน้าที่ศาลส่ง
ในกรณีที่เราพยายามนำหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ไปส่งให้กับผู้ครอบครองพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวแล้ว แต่บุคคลดังกล่าวไม่ยอมรับหมายเรียก หรือไปตกแล้วไม่พบบุคคลที่จะต้องรับเอกสารตามหมายเรียกและไม่มีคนอื่นรับไว้แทน
ในกรณีเช่นนี้ เราสามารถขอให้เจ้าหน้าที่ศาลเป็นคนส่งหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุแทนเราได้ หรือกรณีเรามีเหตุจำเป็นหรือไม่สะดวกอย่างอื่นที่ไม่สามารถส่งหมายเรียกด้วยตัวเองได้ เราก็สามารถขอให้ศาลสั่งให้เจ้าหน้าที่ส่งหมายเรียกพยานแทนเราได้โดยเสียค่านำส่งหมายตามระเบียบ
ตัวอย่างคำร้องขอให้เจ้าหน้าที่ศาลเป็นคนส่งหมายเรียกพยานเอกสารและพยานวัตถุแทน
คดีนี้ โจทก์ขอหมายเรียกพยานเอกสารคือ …………
เนื่องจากโจทก์ได้รับหมายเรียกและได้นำเอาหมายเรียกดังกล่าวไปส่งให้กับนาย ก. ผู้ครอบครองพยานเอกสารดังกล่าวแล้ว แต่บุคคลดังกล่าวปฏิเสธไม่ยอมรับหมาย และโจทก์ไม่มีทางอื่นจะดำเนินการส่งหมายเรียกพยานเอกสารได้
ด้วยเหตุดังโจทก์ประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ โจทก์จึงขอศาลที่เคารพโปรดมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาล ดำเนินการส่งหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวให้กับ นาย ก. และหากเจ้าหน้าที่ศาลไม่สามารถส่งได้เนื่องจากนาย ก.ไม่ยอมรับหมายหรือไม่เหตุใดก็ตาม ขอให้ศาลส่งโดยวิธีการปิดหมายไปพร้อมกันด้วย โดยโจทก์ได้แนบทะเบียนราษฎร์ของนายกมาพร้อมกันนี้แล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
เทคนิคทางปฏิบัติ
ในการขอหมายเรียกพยานเอกสารและพยานวัตถุ มีเทคนิคทางปฏิบัติที่ควรต้องทราบ ดังต่อไปนี้
- ก่อนการขอออกหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุการขอหมายเรียกจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานไปพร้อมกันเสมอ
- ในคำร้องขอหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ควรจะต้องบอกว่าเอกสารหรือวัตถุ ที่จะขอออกหมายเรียกเป็นตามบัญชีระบุพยานฉบับลงวันที่เท่าไหร่ลำดับไหน เพื่อให้ความสะดวกแก่สารในการที่จะตรวจสอบก่อนขอออกหมายเรียก
- เนื้อหาในบัญชีระบุพยาน ต้องระบุชัดเจนว่า เอกสารหรือวัตถุที่จะขอหมายเรียกคืออะไร และอยู่ในความครอบครองของใคร เพื่อป้องกันความสับสน เวลาคนที่รับหมายจะได้รู้ได้ทันทีว่าเอกสารหรือว่าถูกที่เราต้องการให้ส่งต่อศาลคืออะไร
- ทางปฏิบัติเราจะต้องพิมพ์ตัวหมายเรียกไปให้ศาลลงนามเลย ซึ่งจะทำให้ได้รับหมายเรียกโดยรวดเร็ว และถูกต้องครบถ้วนตามความต้องการของเรา ดีกว่าให้เจ้าหน้าที่ศาลเป็นคนพิมพ์ให้
- เมื่อส่งหมายเรียกให้กับผู้ครอบครองเอกสารหรือวัตถุ ต้องคอยติดตาม สอบถาม ให้ผู้ครอบครองเอกสารและวัตถุส่งหมายเรียกต่อศาลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
- การส่งต้องมีเวลาให้ผู้ครอบครองเอกสารหรือว่าถูกรู้ล่วงหน้าพอสมควรไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อใช้ในการค้นหาเอกสารและเตรียมตัว
สุดท้ายหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆและผู้สนใจทุกคน ที่มีคดีความ จะสามารถลองนำไปปรับใช้ ศึกษาและเป็นคู่มือการทำงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รูปคดีต่อไปครับ