Lawyer's operating manual

“ คำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล “ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา165/2 รวม 5 เทคนิคเคล็ดลับในการจัดทำพร้อมตัวอย่างจากประสบการณ์จริง

คำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล คืออะไร?

นับแต่ประมาณปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม กระบวนการในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความยุติธรรมในการดำเนินกระบวนพิจารณา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองสิทธิ์ของจำเลยที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากราษฎรด้วยกันเอง เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งฟ้องร้องดำเนินคดีโดยไม่มีมูล ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “วิเคราะห์เจาะลึกทุกประเด็น เรื่อง การไต่สวนมูลฟ้องตามกฎหมายใหม่”

ซึ่งหนึ่งในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว ก็คือการเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 165/2 ที่วางหลักว่า

“ในการไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยอาจแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล และจะระบุในคำแถลงถึงตัวบุคคล เอกสาร หรือวัตถุที่จะสนับสนุนข้อเท็จจริงตามคำแถลงของจำเลยด้วยก็ได้ กรณีเช่นว่านี้ศาลอาจเรียกบุคคล เอกสาร หรือวัตถุดังกล่าวมาเป็นพยานศาลเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งคดีได้ตามที่จำเป็นและสมควรโดยโจทก์และจำเลยอาจถามพยานศาลได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล”

ซึ่งหมายความว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยมีสิทธิ์ที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ให้ศาลทราบว่าคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้นไม่มีมูลเพียงพอที่จะทำให้ศาลรับไว้พิจารณา และจำเลยมีสิทธิ์ที่จะขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานบุคคลพยานเอกสารหรือพยานวัตถุเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนก็ได้ 

ซึ่งต่างจากข้อกฎหมายเดิม ที่ถือว่าการไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างโจทก์และศาลเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับตัวจำเลย ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิ์ชี้แจงหรือแสดงพยานหลักฐานใดๆ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

ซึ่งสำหรับตัวผมเอง ก็ได้ใช้ข้อกฎหมายตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดีอาญามาแล้วหลายคดี ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

เพราะเมื่อศาลได้อ่านข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายและได้เห็นพยานหลักฐานของจำเลย ก็จะทำให้ศาลท่านเข้าใจรูปคดีและข้อต่อสู้ของจำเลย และมีโอกาสมากขึ้นที่ศาลจะพิพากษาสั่งว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

ซึ่งวันนี้ผมได้รวบรวมเทคนิคทางปฏิบัติในการจัดทำ คำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 165/2ดังนี้

1.ควรจะยื่นเวลาไหน ?

ถึงแม้ตามกฎหมายจะไม่ได้ระบุไว้ว่า การยื่นคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าไม่มีมูลจะต้องยื่นเวลาไหน แต่จากประสบการณ์ของผมแล้วเห็นว่า ควรจะยื่นก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องไม่น้อยกว่า 7 – 15 วัน ไม่ควรที่จะยื่นในวันนัดทีเดียวเลย  

เพราะต้องเข้าใจว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นวันนัดในวันจันทร์ ศาลจะมีคดีต่างๆเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้นในวันนัดศาลมักจะไม่มีเวลาอ่านคำแถลงของเราโดยละเอียดในวันนัด เพราะจะมีคดีต่างๆที่ศาลจะต้องวินิจฉัยหรืออ่านคำร้องคำแถลงต่างๆเป็นจำนวนมาก 

ดังนั้น เราจึงควรยื่นคำแถลงฯ ก่อนวันนัดไม่น้อยกว่า 7 -15 วันเพื่อให้ศาลได้มีเวลาอ่านและทำความเข้าใจรายละเอียดในคำแถลงฯของเรา ซึ่งในบางคดีผมเห็นเพื่อนๆหรือน้องๆทนายความบางคน ไปยื่นคำแถลงฯในวันนัดเลย ซึ่งปรากฏว่าศาลก็ไม่ได้อ่านคำแถลงฯ เพราะไม่มีเวลา และก็ได้ไต่สวนมูลฟ้องไปและสั่งว่าคดีมีมูลไปในวันเดียวกัน ทำให้จำเลยไม่ได้ประโยชน์จากการใช้ข้อกฎหมายตรงนี้เลย

2.ความยาวของเนื้อหา

เนื้อหาในคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล ไม่ควรจะมีความยาวมากเกินไป เพราะจะพาลทำให้ศาลไม่อยากอ่าน หรือไม่เข้าใจเนื้อหาหรือประเด็นอันสำคัญได้ เราควรจะเขียนเนื้อหาให้กระชับรัดกุม  ไม่วกวน เข้าใจง่าย และที่สำคัญจะต้องสามารถจูงใจให้ศาลเห็นว่าคดีของโจทก์ที่ฟ้องมานั้นไม่มีมูลจริงๆ 

ทั้งนี้เป็นศิลปะอย่างหนึ่งของทนายความ ที่จะต้องใช้ถ้อยคำที่กระชับ แต่ก็ยังสามารถจูงใจให้ผู้อ่านเห็นคล้อยตามเนื้อหาได้ ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนอยากแนะนำให้เพื่อนทนายความหาอ่านหนังสือเรื่อง “ภาษากฎหมายไทย” ของอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งแนะนำหลักการเขียนเอกสารทางกฎหมายได้อย่างดีครับ 

สำหรับตัวผู้เขียนเองในการทำคำแถลงฯ จะพยายามใช้ความยาวไม่เกิน 3-6 หน้าแบบฟอร์มศาล (ไม่ใช่หน้ากระดาษ a4 นะครับ ) ซึ่งผู้เขียนเองเห็นว่าเป็นความยาวที่เหมาะสมคือไม่น้อยเกินไปจนเสียเนื้อหา และไม่มากเกินไปจนเยิ่นเย้อและทำให้ศาลไม่อยากอ่านครับ

3.รูปแบบการเขียน

รูปแบบในการเขียนคำแถลงฯ ตามสไตล์ของผม คือ การสรุปประเด็นแบบสั้นๆ ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำผิดอาญา มีประเด็นอย่างไรบ้าง และหลังจากนั้น ก็จะชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องไม่เป็นความจริง หรือจำเลยไม่กระทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โดยอธิบายเป็นข้อๆไป ตัวอย่างเช่น

คดีฉ้อโกง  บรรยายเริ่มต้นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยอ้างว่าจำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า…..  และบรรยายต่อไปว่า ซึ่งความจริงแล้วข้อความที่โจทก์อ้างว่าเป็นความเท็จนั้น เป็นเรื่องจริงโดยมีเอกสารหลักฐานและข้อมูลดังนี้…

คดีหมิ่นประมาท  บรรยายเริ่มต้นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยจำเลยกล่าวข้อความว่า… . และบรรยายต่อไปว่า ซึ่งความจริงแล้ว ที่จำเลยกล่าวข้อความดังกล่าว เป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยโดยชอบธรรม เนื่องจาก…

4.ควรแนบพยานเอกสารและพยานวัตถุที่เกี่ยวข้องเข้าไปท้ายคำแถลงฯ เลย

ถึงแม้ตามกฎหมายจะใช้ถ้อยคำทำนองว่า ให้ศาลมีอำนาจเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ มาประกอบการพิจารณาได้ แต่ทางปฏิบัติ ศาลมักไม่ค่อยใช้อำนาจเรียกพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ มาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซักเท่าไหร่ เพราะจะทำให้การไต่สวนมูลฟ้องล่าช้าออกไป ดังนั้นถ้าพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวมีอยู่ในความครอบครองของเราอยู่แล้ว ไม่ควรจะต้องรอให้ศาลมีคำสั่งเรียกก่อนจึงค่อยแสดงให้ศาลดู แต่เราควรจะแนบไปท้ายคำแถลงฯไปพร้อมกันเลย เพื่อให้ศาลได้มีโอกาสเห็นพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวตั้งแต่ต้น

ซึ่งหากพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว เป็นพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ก็จะทำให้ศาลเข้าใจรูปคดีของฝ่ายจำเลย และเห็นพ้องกับข้อต่อสู้ของจำเลยได้โดยง่าย และศาลก็จะได้ใช้อำนาจเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวเข้ามารับฟังในสำนวนได้เลย หรือเราอาจจะใช้พยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวถามค้านฝ่ายโจทก์เพื่อให้ยอมรับข้อเท็จจริง เพื่อให้พยานหลักฐานดังกล่าวเข้าสู่สำนวนก็ได้ 

ดังนั้นแล้ว ถ้ามีพยานเอกสารหรือพยานวัตถุอยู่ในความครอบครองของเราอยู่แล้วเช่นรูปถ่าย คลิปวีดีโอ บันทึกยอมรับผิด บันทึกประจำวัน เอกสารหลักฐานอื่นๆ ก็ควรแนบไปท้ายคำแถลงเลยไม่ต้องรอให้ศาลมีคำสั่งเรียกครับ 

5.แนบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้องไปด้วย

หากข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เรากล่าวอ้างในคำแถลงฯ มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้อง หรือมีบทความทางวิชาการ ตำรา หรือทฤษฎีทางกฎหมาย หรือตัวบทกฎหมายที่ต่ำกว่าระดับพระราชบัญญัติเช่นกฎกระทรวง ข้อบังคับ ต่างๆที่เกี่ยวข้อง และสามารถสนับสนุน หรือเพิ่มน้ำหนักให้กับคำแถลงฯ ของเราได้ เราก็ควรแนบคำพิพากษาศาลฎีกา หรือเอกสารดังกล่าวไปท้ายคำแถลงไปพร้อมกันเลย เพื่อให้ศาลจะได้อ่านและรับทราบไว้เป็นข้อมูล ประกอบการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก หากศาลเห็นพ้องด้วยกับแนวข้อกฎหมายหรือคำพิพากษาศาลฎีกาที่เราแนบไป 

ตัวอย่างการทำงานจากประสบการณ์จริง 

ทั้งนี้ ผมได้นำตัวอย่างคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165/2  ซึ่งมาจากคดีความจริง ซึ่งผมได้เคยปฏิบัติงานมาบางส่วนมาลงมาให้ดูตามลิ๊งท้ายบทความนี้ครับ สามารถกดเข้าไปดูได้เลย

เพื่อนๆสามารถนำแนวทางดังกล่าวและตัวอย่างคำแถลงฯไปปรับใช้ในคดีของตัวเองได้ตามความเหมาะสมครับ และสุดท้ายนี้ผมหวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆและผู้สนใจทุกคนครับ 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts