บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

แนวทางการต่อสู้ คดีรับของโจร ศาลมีหลักโดยสังเขปในการพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดอย่างไร ?

คดีรับของโจร

ความผิดฐานรับของโจร

โดยเฉพาะกรณีที่จำเลยรับซื้อของกลางที่ได้มาจากการกระทำผิดนั้น เป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่จะต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่า จำเลยมีพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าได้รับซื้อของกลางโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากกระทำผิด

หากโจทก์นำสืบแต่เพียงว่าจำเลยเป็นผู้รับซื้อของกลางหรือแต่เพียงนำสืบว่าทรัพย์ของกลางอยู่ที่จำเลย แต่ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏถึงพฤติการณ์ประกอบต่างๆที่จะชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้รู้อยู่แล้วว่าทรัพย์สินของกลางนั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้

ทั้งนี้เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิด มิใช่หน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบว่าตนเองไม่รู้ว่าทรัพย์สินของกลางเป็นของที่ได้มากจากการกระทำผิด(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9620/2551 , ฎ.8753/2550 ,ฎ.193/2538 ,ฎ.129/2535, ฎ.5621/2534 ฎ.287/2540)

จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีรับของโจร อาจสรุปหลักโดยสังเขปในการพิจารณาว่าจำเลยรู้ว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดหรือไม่ ดังนี้

1.ราคาของทรัพย์สินที่รับซื้อ

หากราคาทรัพย์สินที่ผู้ซื้อรับซื้อไว้นั้นต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริงเป็นจำนวนมาก ย่อมชี้ให้เห็นว่าจำเลยรับซื้อไว้โดยไม่สุจริต ในทางกลับกันหากราคาที่รับซื้อนั้นเป็นไปตามราคาปกติของทรัพย์สินประเภทนั้นๆ และในการซื้อขายมีการออกใบเสร็จหรือบิลเงินสดอย่างถูกต้องย่อมชี้ให้เห็นว่าผู้ซื้อมีเจตนาสุจริต (ฎ.8228/2554 ,ฎ.2608/2548 ฎ.824/2535 ฎ.673/2540 ฎ.1935/2543)

แต่หากไม่ใช่การรับซื้อทรัพย์สินไว้ เป็นเพียงการรับจำนำ แม้ราคาที่รับจำนำจะต่ำกว่าราคาทรัพย์สินมาก ย่อมไม่ถือเป็นข้อพิรุธแต่อย่างใด เพราะการรับจำนำไม่ใช้การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ผู้จำนำเพียงรับทรัพย์สินนั้นไว้เป็นประกันหนี้เท่านั้น และราคาที่รับจำนำขึ้นอยู่กับผู้จำนำและผู้รับจำนำจะตกลงกัน ซึ่งอาจจะต่ำกว่าราคาทรัพย์สินเป็นจำนวนมากก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้เงินของผู้จำนำ ( ฎ.2923/2544 ฎ.558/2540)

2.ลักษณะการนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์

หากผู้ซื้อ นำทรัพย์สินที่รับซื้อไปใช้งานอย่างเปิดเผยหรือเก็บไว้ในสถานที่ที่เปิดเผย ไม่ได้ซุกซ่อน ย่อมเป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่าผู้ซื้อไม่รู้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด

แต่ในทางกลับกันหากผู้ซื้อมิได้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้งานแต่กลับนำไปขายต่อในราคาที่สูงกว่าราคาที่รับซื้อมากเป็นจำนวนมาก หรือนำทรัพย์สินนั้นไปซุกซ่อนอย่างมิดชิด หรือจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพของทรัพย์สินโดยเจตนาไม่ให้บุคคลอื่นจำได้ เช่นเปลี่ยนสีรถ นำหมายเลขทะเบียนปลอมมาสวมใส่ ย่อมบ่งชี้ว่าผู้ซื้อรู้อยู่แล้วว่าทรัพย์สินนั้นได้มาโดยมิชอบ (ฎ4111/2551 ,ฎ2923/2544, ฎ.5435/2543 ฎ.4751/2543, 4753/2539 ,2439/2539 , 2090/2536 , 284/2536 , ฎ.667/2535 ฎ.1935/2543 ฎ.252/2536 ฎ.4448/2540)

3.สภาพของทรัพย์สินที่รับซื้อ

หากสภาพของทรัพย์สินที่ซื้อมีลักษณะพิรุธ เช่น มีร่องรอยการขูดลบแก้ไขหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังรถยนต์ ไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน ไม่ติดแผ่นป้ายวงกลมเสียภาษี ไม่มีสมุดคือมือจดทะเบียนรถยนต์ หรือรถสภาพยังดีอยู่ ไม่น่าจะที่ทำการแยกชิ้นส่วนอะไหล่ขาย เหล่านี้ ถือว่าเป็นสภาพที่ผิดปกติจากการซื้อขายทรัพย์สินทั่วไป จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยรับซื้อไว้โดยไม่สุจริต (ฎ.10288/2554 ฎ.,3727/2538 ฎ.452/2536 ฎ.187/2541 )

4.อาชีพและฐานะของผู้ซื้อ

หากผู้ซื้อประกอบอาชีพเป็นผู้รับซื้อสินค้าประเภทนั้นๆ เช่นรับซื้อรถยนต์ หรือรับซื้อของเก่า โดยอาชีพอยู่แล้ว ศาลถือว่าผู้ซื้อย่อมมีความรู้ต่างๆเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่นราคากลาง ลักษณะพิรุธของทรัพย์สิน และผู้ซื้อจะต้องมีความระมัดระวังในการรับซื้อทรัพย์สินประเภทนั้นมากกว่าบุคคลทั่วไป ดังนั้นหากในการรับซื้อไม่มีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานทางทะเบียน หรือมีข้อพิรุธอื่นๆ เช่นรับซื้อในราคาต่ำ หรือรับซื้อโดยไม่ตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียน จะทำให้น่าเชื่อว่าไม่สุจริตมากกว่าบุคคลธรรมดา ฎ.3339/2552 ฎ.528/2550 ,ฎ.5439/2540)

5.อาชีพและฐานะของผู้ขาย

หากตามอาชีพและพฤติการณ์ของผู้ขายแล้ว ไม่ควรจะนำทรัพย์สินประเภทๆนั้นมาขายได้ ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ข้อหนึ่งว่าผู้ซื้อน่าจะรับซื้อไว้โดยไม่สุจริต เช่น ผู้ขายเป็นเด็กนำสุราจำนวนมากถึง 48 ขวดมาขาย ผู้ซื้อย่อมรู้ว่าเด็กไม่ได้นำเอาสุรามาโดยสุจริต (ฎ.7206/2540)

หรือผู้ขายเป็นเพียงลูกจ้างไม่ได้มีหน้าที่ในทำการขายสินค้าของนายจ้าง แต่กลับนำสินค้าของนายจ้างมาจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก ย่อมบ่งชี้ว่าผู้ซื้อรู้อยู่แล้วว่าผู้ขายลักทรัพย์นายจ้างมาจำหน่าย (3154/2533) หรือผู้ขายเป็นเด็กอายุเพียง 16 ปีแต่นำปืนของกลางมาจำหน่าย (ฎ.6771/2542) แต่หากผู้ขายมีอาชีพขายสินค้าประเภทนั้นๆอยู่แล้ว ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้รับซื้อรับซื้อไว้โดยสุจริต) แม้ราคาที่ขายจะต่ำกว่าราคาปกติไปบ้างก็ตาม( ฎ.1928/2534)

6.เวลาและสถานที่ที่ทำการซื้อขาย

หากในการซื้อขายได้ทำในสถานที่เปิดเผยมีบุคคลทั่วไปร่วมรับรู้ และในเวลาตามปกติในการซื้อขายทรัพย์สินประเภทนั้นๆ ย่อมทำให้น่าเชื่อว่าการซื้อทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยสุจริต (ฎ.1276/2530 ฎ.4901/2536)

แต่หากการซื้อขายได้ทำในเวลาที่ไม่ใช่เวลาตามปกติในการซื้อทรัพย์สินประเภทนั้นๆ ย่อมทำให้น่าเชื่อว่าผู้ซื้อรู้อยู่แล้วว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด เช่น ผู้ขายนำแหวนเพชรมาขายที่แผงลอยขายของ หรือนำมาปลาดุกเป็นจำนวนมากมาขายเสนอขายในเวลาดึก (ฎ.9401/2538 ฎ.427/2541)

7.พฤติการณ์ขณะพบเจอเจ้าหน้าที่

หากขณะพบเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ซื้อแสดงอาการตกใจ หรือพยายามหลบหนีการจับกุม หรือพยายามบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงว่าไม่ได้รับซื้อของกลางไว้ ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจำเลยรับซื้อไว้โดยไม่สุจริต

แต่หากจำเลยไม่ได้หลบหนีการจับกุม ทั้งยังให้ความร่วมมือในการตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียน หรือมอบทรัพย์สินให้แก่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยดี ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยรับซื้อทรัพย์สินไว้โดยสุจริต (ฎ.6602/2551 ฎ.2336/2533 ฎ.3098/2543 ,ฎ.21/2539 ฎ.429/2535 ฎ.98/2537)

 

อย่างไรก็ดี หลักต่างๆเหล่านี้เป็นหลักอย่างกว้างๆเท่านั้น ในคดีแต่ละคดีย่อมมีพฤติการณ์ที่แตกต่างกันไป พฤติการณ์แต่ละอย่างย่อมจะสามารถบ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดหรือไม่ และเป็นหน้าที่ของทนายความที่จะค้นหาและนำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีต่อศาล โดยอาศัยหลักเกณฑ์เบื้องต้นโดยสังเขปเหล่านี้เป็นแนวทาง

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น