ถูกฟ้องคดีอาญา หรือ ถูกออกหมายเรียกผู้ต้องหาจากตำรวจ จะต้องทำอย่างไร ?
กระบวนการชั้นศาลเป็นอย่างไรบ้าง ต้องประกันตัวไหน ต้องขึ้นศาลกี่ครั้ง จะติดคุกไหม ?
และหากเราจะต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา เราจะต้องรับมืออย่างไร ?
วันนี้ผมจะตอบทุกคำถาม พร้อมอธิบายให้ฟังถึงขั้นตอนการรับมือเมื่อถูกดำเนินคดีอาญา โดยละเอียดครับ
การถูกดำเนินคดีอาญา อาจจะมาจากช่องทางไหน ?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การยื่นฟ้องคดีอาญาในประเทศไทยนั้น ผู้ที่มีอำนาจยื่นฟ้องคดีอาญามีด้วยกัน 2 ประเภท คือ
1.พนักงานอัยการ
กระบวนการฟ้องคดีของพนักงานอัยการนี้จะเกิดขึ้นจาก
- ผู้เสียหายจะแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน พร้อมนำพยานบุคคลและพยานเอกสารต่างๆไปให้พนักงานสอบสวนพิจารณา (ป.วิ.อ.ม.123)
- มีผู้เกี่ยวข้องกล่าวโทษ ว่ามีการกระทำความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวน เช่นมีคนแจ้งว่านาย ก. ค้ายาเสพติด (ป.วิ.อ. ม.127)
- จากการจับกุมการกระทำความผิดซึ่งหน้า เช่นตำรวจเห็นนาย ก. กำลังทำการปล้นทรัพย์อยู่ จึงจับกุมนาย ก. ฐานปล้นทรัพย์ และกล่าวหาว่านาย ก. กระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ (ป.วิ.อ. ม.80)
เมื่อมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษว่ามีผู้กระทำผิดอาญา และพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วเห็นว่า ฝ่ายผู้ต้องหาน่าจะกระทำความผิดก็จะออกหมายเรียกผู้ต้องหา มารับทราบข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวน (ป.วิ.อ.ม.134 ว.2)
ถ้าเป็นคดีที่มีความร้ายแรง หรือคดีที่ผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี พนักงานสอบสวนอาจจะไม่ออกหมายเรียกผู้ต้องหา แต่จะขอหมายจับต่อศาลทันทีเลยก็ได้ ( ป.วิ.อ.ม.66)
หลังจากออกหมายเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาและสอบคำให้การแล้ว หรือหลังจากจับตัวผู้ต้องหาและ ได้พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การของผู้ต้องหาแล้ว
พนักงานสอบสวนก็จะส่งสรุปสำนวนความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา และส่งสำนวนสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ (ป.วิ.อ. ม.142)
จากนั้นพนักงานอัยการก็จะพิจารณาว่าควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ หากเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง และไม่มีความเห็นแย้ง คดีก็จะสิ้นสุดลง ( ป.วิ.อ.ม.143 ,145)
แต่หากพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้อง พนักงานอัยการก็จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล และผู้ต้องหาก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นจำเลย ในวันที่อัยการยื่นฟ้องนั่นเอง
ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะทราบเรื่องว่าตนเองถูกดำเนินคดี หรือจะ ถูกฟ้องคดีอาญา ได้ใน 3 กรณีคือ
- พนักงานสอบสวนโทรศัพท์มาแจ้งให้ไปพบ และไปรับทราบข้อกล่าวหา
- ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน ให้ไปพบที่สถานีตำรวจและให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา
- ถูกออกหมายจับและถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวตามหมายจับ
2.ผู้เสียหาย
กรณีที่ 2 นี้ ฝ่ายผู้เสียหาย จะไม่แจ้งความร้องทุกข์ เพื่อผ่านกระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรือการกลั่นกรองของพนักงานอัยการก่อนแต่ผู้เสียหายจะยื่นฟ้องคดีเองโดยตรงต่อศาลเลย
ซึ่งหลังจากศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ศาลจะยังไม่ประทับรับฟ้องเลย แต่ศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อน (ป.วิ.อ.ม. 162 อนุ1)
สามารถอ่านรายละเอียดเรื่องกระบวนการไต่สวนมูลฟ้อง ได้ในบทความนี้เลยครับ
วิเคราะห์เจาะลึกทุกประเด็นเรื่อง “การไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแบบใหม่”
ซึ่งระหว่างที่ศาลยังไม่สั่งประทับรับฟ้องนั้นถึงแม้จำเลยจะถูกฟ้องแล้ว แต่สถานะตามกฎหมายยังคงไม่ถือว่าเป็นจำเลย เพราะถือว่ายังไม่ผ่านการกลั่นกรองเบื้องต้นจากพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการก่อน ว่าควรจะประทับรับฟ้องหรือไม่
โดยในการไต่สวนมูลฟ้องนั้น ศาลจะส่งหมายนัดแจ้งการไต่สวนมูลฟ้องให้กับจำเลยทราบ และในวันดังกล่าวจำเลยมีสิทธิส่งทนายเข้ามาร่วมการถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โดยที่ตัวจำเลยไม่จำเป็นต้องมาศาล เนื่องจากยังไม่ถือว่าเป็นจำเลยตามกฎหมาย (ป.วิ.อ. ม.165 วรรคสาม)
หากศาลไต่สวนมูลฟ้องเสร็จแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูลเพียงพอที่จะรับไว้พิจารณา หรือพูดจาภาษาชาวบ้านก็คือเรื่องที่โจทก์ฟ้องนั้น มันไม่ใช่คดีอาญาหรือไม่มีหลักฐานว่าจำเลยกระทำความผิด ศาลก็จะพิพากษายกฟ้อง (ป.วิ.อ. ม.167)
แต่หากศาลเห็นว่าคดีของโจทก์มีมูลเพียงพอว่าจำเลยจะได้กระทำความผิดอาญา ศาลก็จะสั่งประทับรับฟ้อง และออกหมายเรียกตัวจำเลยมา สอบคำให้การต่อไป ว่าจะปฏิเสธหรือรับสารภาพตามฟ้อง (ป.วิ.อ. ม.167)
ทั้งนี้การที่ศาลสั่งประทับรับฟ้อง ไม่ได้แปลว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาจริงเพียง แค่มีหลักฐานเบื้องต้นว่าคดีพอจะรับไว้พิจารณาได้เท่านั้น
กรณีที่ผู้เสียหายใช้วิธีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเองโดยตรงต่อศาล ฝ่ายที่จำเลยจะทราบเรื่องว่าตนเอง ถูกฟ้องคดีอาญา ล่วงหน้าก่อนถึงวันนัด เพราะศาลจะส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องมาแจ้งให้เราทราบล่วงหน้าก่อนถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง
ทั้งนี้ในคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีด้วยตนเองนั้น เราจะไม่มีทางถูกออกหมายจับโดยไม่รู้ตัว เหมือนกรณีที่ผู้เสียหายแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด
เพราะก่อนที่ศาลจะประทับรับฟ้อง ศาลจะออกหมายนัดแจ้งให้เราทราบถึงวันไต่สวนมูลฟ้องก่อนเสมอ
ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา
ขึ้นศาลกี่ครั้ง ?
เมื่อเรา ถูกฟ้องคดีอาญา และศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาแล้ว กระบวนการชั้นศาลในคดีอาญานั้น อาจแบ่งออกเป็นแต่ละกระบวนการได้ดังนี้
1.วันนัดพร้อม สอบคำให้การ / สมานฉันท์ / คุ้มครองสิทธิ
ธรรมดาแล้วในคดีต่างๆนั้น ศาลจะพยายามไกล่เกลี่ยให้คู่ความทุกฝ่าย หาทางออกร่วมกัน ด้วยการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่าการต่อสู้คดีจนถึงที่สุด
รวมถึงในคดีอาญาเช่นเดียวกัน โดยก่อนจะเริ่มกระบวนการต่อสู้คดี ศาลจะเรียกผู้เสียหาย โจทก์ และจำเลยมาศาล เพื่อเจรจาหาทางออกร่วมกัน
โดยศาลจะเรียกนัดนี้ว่านัดพร้อม / นัดสอบคำให้การ /นัดสมานฉันท์ / หรือนัดคุ้มครองสิทธิ แล้วแต่ศาลใช้ถ้อยคำ แต่ความหมายและการดำเนินกระบวนพิจารณาคล้ายคลึงกัน คือการที่ศาลนัดให้ทุกฝ่ายมาพบเจอกันและหาทางออกร่วมกัน
การเจรจาหาทางออกร่วมกันนั้น ตัวอย่างเช่น ในคดีความผิดยอมความได้ หากจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นที่พอใจแก่ผู้เสียหายหรือโจทก์แล้ว โจทก์สามารถยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีต่อศาลได้
หรือหากว่าเป็นความผิดยอมความไม่ได้ แต่ไม่ใช่คดีที่ร้ายแรงมาก หากมีการชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจของผู้เสียหาย และจำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดมาก่อน ก็มีโอกาสสูงที่ศาลจะรอการลงโทษจำคุกจำเลย
หรือหากฝ่ายจำเลยมีพยานหลักฐานที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และสามารถอธิบายต่อฝ่ายโจทก์จนเข้าใจได้ ฝ่ายโจทก์ก็อาจจะยื่นคำร้องขอถอนฟ้องต่อศาลไปเลยก็ได้
2.วันนัดตรวจพยานหลักฐาน
หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ในนัดแรก ศาลก็จะกำหนดวันตรวจพยานหลักฐาน หรือบางครั้งศาลอาจจะกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานไปพร้อมกับวันนัดไกล่เกลี่ยสมานฉันท์พร้อมกันเลย
ซึ่งวันตรวจพยานหลักฐาน ก็คือวันที่ทั้งสองฝ่ายจะมาแถลงแนวทางการนำสืบพยานของแต่ละฝ่าย มีพยานกี่ปากจะนำสืบไปในแนวทางไหนใช้เวลากี่วัน และมีพยานหลักฐานอะไรบ้างที่จะใช้นำสืบ
รายละเอียดเกี่ยวกับวันตรวจพยานหลักฐานสามารถอ่านรายละเอียดได้บทความนี้เลยครับ
ทั้งนี้ในบางคดี ศาลอาจจะไม่ได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งวันนัดตรวจพยานหลักฐานจะเป็นวันนัดที่จะทำให้ก่อให้เกิดกับฝ่ายจำเลยเป็นอย่างมาก
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายเราที่จะต้องขอให้ศาลมีกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในทุกคดี อ่าน คำร้องขอให้ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน
3.วันสืบพยาน
ธรรมดาแล้ว ศาลจะกำหนดวันนัดสืบพยานภายหลังจากวันนัดตรวจพยานหลักฐานประมาณ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของคดีในศาลนั้นๆ
ถ้าหากเป็นคดีของศาลที่มีความหนาแน่นในการพิจารณาคดีสูง เช่น ศาลอาญารัชดา อาจจะกำหนดวันนัดสืบพยาน หลังจากวันตรวจพยานหลักฐานเป็นเวลาเกือบปีทีเดียว
การสืบพยานนั้นจะใช้เวลาตั้งแต่ประมาณ 1 ถึง 3 วัน หรืออาจจะนานกว่านั้นก็ได้หากเป็นคดีที่มีความสลับซับซ้อนมีพยานเป็นจำนวนมาก
ซึ่งในคดีอาญาฝ่ายโจทก์จะต้องนำสืบก่อนเสมอ เพราะฝ่ายโจทก์มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยกระทำความผิด
ธรรมดาแล้วฝ่ายโจทก์จะใช้เวลานำสืบประมาณ 1 ถึง 2 วันแล้วแต่รูปคดี และหากเป็นคดีที่มีความซับซ้อนอาจจะใช้เวลานานกว่านั้น
ส่วนฝ่ายจำเลยมักจะสืบพยานเพียงแค่ไม่เกิน 1 วัน เพราะธรรมดาแล้วคดีอาญาจะต้องเป็นคดีที่ดูพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์เป็นหลัก
หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะทำการสืบพยานจำเลยต่อไป ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นการนำสืบต่อเนื่องกันไปเลยประมาณ 2-3 วันติดกัน เช่น สืบโจทก์ 2 วันสืบจำเลย 1 วัน
4.วันฟังคำพิพากษา
หลังจากทำการสืบพยานตาสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว ศาลจะกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา ซึ่งจะอยู่ประมาณ 1-2 เดือนนับจากวันที่สืบพยานเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ตามกฎหมายแล้ววางหลักว่าศาลจะต้อง นัดฟังคำพิพากษาภายใน 3 วันนับจากวันที่สืบพยานเสร็จสิ้น
แต่ทางปฏิบัติแล้ว การกำหนดนัดฟังคำพิพากษาเร็วขนาดนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะศาลจะต้องพิจารณาคดีอื่นเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นแล้วศาลจึงมักจะนัดฟังคำพิพากษาประมาณ 1-2 เดือนนับจากวันที่สืบพยานจำเลยเสร็จสิ้น เพราะศาลต้องใช้เวลาในการอ่านและวิเคราะห์พยานหลักฐาน และถ้อยคำของพยานบุคคลในสำนวน ก่อนตัดสินคดี
หลังศาลพิพากษาแล้วเป็นอย่างไร ?
หากศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลจะปล่อยตัวจำเลยไปทันที
หากจำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำก็จะถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำในวันนั้น
หากจำเลยไม่ได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ คือได้ประกันตัวออกมาสู้คดี จำเลยก็จะสามารถขอคืนหลักประกันได้วางไว้กับศาลได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องแต่ศาลก็ยังมีอำนาจสั่งให้ขังจำเลยไว้ก่อนระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้ ( ปวิอ. ม.185)
ซึ่งโดยมากการขังจำเลยไว้หลังศาลพิพากษายกฟ้องแล้วนั้น มักจะใช้ในคดีที่ ศาลยกฟ้องแต่ก็ยังมองว่าจำเลยไม่บริสุทธิ์ 100% และมีโอกาสที่ศาลสูงจะพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
หากศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิ์อุทธรณ์ฎีกาได้ และจำเลยก็มีสิทธิที่จะขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสู้คดีชั้นอุทธรณ์ฎีกาได้ เช่นเดียวกัน
ในบางคดีศาลพิพากษาจำคุกจำเลยแต่ให้รอการลงโทษไว้ และกำหนดเงื่อนไขต่างๆให้จำเลยปฏิบัติตาม ในกรณีเช่นนี้จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอย่างเคร่งครัด
ต้องประกันตัวตอนไหน ?
ในกรณีที่ผู้เสียหายใช้วิธีการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน
หากพนักงานสอบสวนไม่ได้ออกหมายจับผู้ต้องหาในทันที พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหามาพบเพื่อสอบคำให้การ
หากผู้ต้องหาไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจับตัวผู้ต้องหาไว้ได้ แต่หากมีเหตุจำเป็นอื่นๆที่พนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรจะฝากขังจำเลยไว้ระหว่างการสอบสวน
พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสั่งให้เราไปศาล และขออำนาจศาลฝากขังเราได้ทันที ซึ่งหากศาลมีคำสั่งให้ขังเราไว้ระหว่างการสอบสวนเราก็ต้องยื่นประกันตัวทันที (ปวิอ ม.134 วรรคท้าย)
แต่ธรรมดาแล้วในคดีทั่วไปที่ไม่ใช่คดีร้ายแรง ส่วนใหญ่แล้วพนักงานสอบสวน ก็มักจะเพียงแต่แจ้งข้อกล่าวหา แล้วปล่อยตัวผู้ต้องหาไปโดยไม่ขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหาแต่อย่างใด (เพราะส่วนใหญ่คดีร้ายแรงก็มักจะขอออกหมายจับตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว)
ในกรณีที่พนักงานสอบสวน ไม่ได้ขออำนาจศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวนดังกล่าวข้างต้น ผู้ต้องหาจะยังไม่ต้องประกันตัวหรือใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัว จนกว่าพนักงานอัยการจะยื่นฟ้องคดีต่อศาล
โดยผู้ต้องหาจะต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัว เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วเท่านั้น (ปวิอ. ม.88)
และหากในวันที่พนักงานอัยการจะยื่นฟ้อง ผู้ต้องหายังไม่มีหลักทรัพย์ที่จะใช้ในการประกันตัว และคดียังไม่ใกล้จะขาดอายุความ ผู้ต้องหาก็สามารถขอเลื่อนวันส่งฟ้องตัวกับพนักงานอัยการออกไปได้เป็นระยะเวลาสั้นๆเพื่อหาหลักทรัพย์ประกันตัว
แต่หากเป็นกรณีที่ถูกออกหมายจับ เช่นนี้เราจะต้องประกันตัวต่อศาลทันทีเลยครับ
ในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องคดีโดยตรงต่อศาล
ในนัดศาลครั้งแรก เราจะยังไม่จำเป็นต้องไปศาล โดยในกรณีเช่นนี้เราจะต้องประกันตัวก็ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วเท่านั้น (ปวิอ. ม.88)
วงเงินประกันตัวอยู่ที่เท่าไหร่ ?
ก่อนจะทราบวงเงินประกันตัว เราต้องรู้ก่อนว่าเราถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอะไรและพนักงานอัยการจะยื่นฟ้องข้อหาอะไร ซึ่งตรงส่วนนี้เราสามารถถามได้กับพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน และผู้ที่จะให้คำตอบเรื่องเงินประกันตัวได้แน่นอนที่สุดก็คือเจ้าหน้าที่ศาลนั้นๆ
เพราะระเบียบหรือดุลพินิจของแต่ละศาลในประเทศไทย บางครั้งก็ไม่ค่อยเหมือนกัน ดังนั้นการตรวจสอบวงเงินประกันที่แน่นอนที่สุดคือการสอบถามไปยังศาลนั้นๆครับ
จะต่อสู้คดีอย่างไร ?
ธรรมดาแล้วในคดีอาญานั้น เมื่อเราตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ย่อมมีสิทธิปรึกษาและแต่งตั้งทนายความให้คำปรึกษาและต่อสู้คดี
ซึ่งการต่อสู้คดีอาญาของทนายความนั้น จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การสอบข้อเท็จจริงหรือรวบรวมข้อเท็จจริง ทั้งจากตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเองและจากพยานคนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเอกสารหลักฐานและพยานวัตถุต่างๆ
เมื่อประมวลข้อเท็จจริงได้แล้ว ทนายความจะนำข้อเท็จจริงที่ได้จากท่าน และจากพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุอื่นๆ และมาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย
หลังจากนั้นทนายความก็จะ หาตัวอย่างคดีหรือคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงกัน หรือสามารถเปรียบเทียบกันได้ มาใช้ประกอบการวางรูปคดีและการทำงาน
จากนั้นทนายความก็จะตั้งรูปการต่อสู้คดี ไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว
ประเด็นข้อต่อสู้ในคดีอาญานั้นมีกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น
- ไม่ได้เป็นผู้ลงมือกระทำความผิด
- ไม่ได้เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด
- ไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด
- การกระทำไม่ครบองค์ประกอบการกระทำความผิด
- เป็นการป้องกันสิทธิโดยชอบ
- เป็นการกระทำโดยจำเป็น
- คดีขาดอายุความแล้ว
ซึ่งกระบวนการต่อสู้คดีนั้นควรจะต้องเริ่มทำตั้งแต่ เนิ่นๆ กล่าวคือ ควรจะเริ่มตั้งรูปคดีตั้งแต่ไปพบพนักงานสอบสวนครั้งแรก หรือตั้งแต่วันนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดแรก
หากเราไม่ได้วางรูปคดี หรือตั้งประเด็นการต่อสู้คดีไว้ตั้งแต่ต้น การให้การครั้งแรกหรือการถามค้านครั้งแรก อาจจะขัดแย้งกับแนวต่อสู้คดีในภายหลัง
ส่วนกระบวนการต่อสู้คดีให้เป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ มีกระบวนการหลายขั้นตอน เช่น
1.การให้การในชั้นสอบสวน อ่านรายละเอียดเรื่อง การให้การในชั้นสอบสวนได้ในบทความนี้ครับ
2.การขอให้พนักงานสอบสวนสอบข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง
3.การขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพยานบุคคลหรือพยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่เกี่ยวข้อง
4.การร้องขอความเป็นธรรมหรือขอชี้แจงข้อเท็จจริงในคดีกับพนักงานอัยการ
5.การทำคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง อ่านรายละเอียดได้ในบทความนี้ครับ
6.การทำคำแถลงการณ์เปิดคดี
7.การถามค้านพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณา
8.การนำสืบพยานจำเลยในชั้นพิจารณา
9.การขอหมายเรียกพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุมานำสืบในชั้นศาล
10.การขอเรียกสำนวนสอบสวนมาประกอบการพิจารณาของศาล อ่านรายละเอียดได้ในบทความด้านล่างนี้ครับ
11.การทำคำแถลงการณ์ปิดคดี
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากระบวนการต่อสู้คดีนั้น เป็นเรื่องที่ทนายความจะต้องวางแนวทาง ศึกษาค้นคว้า และต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญให้เป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ครับ
ใช้เวลาสู้คดีนานแค่ไหน ?
ธรรมดาแล้วระยะเวลาในการต่อสู้คดีในชั้นศาลตั้งแต่เริ่มคดี จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษานั้นใช้เวลาตั้งแต่ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
ส่วนการอุทธรณ์นั้นศาลอุทธรณ์ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
ส่วนในชั้นฎีกานั้นศาลจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีขึ้นไป
รับสารภาพแล้วจะติดคุกหรือไม่ ?
ธรรมดาแล้วคดีอาญาส่วนใหญ่จะมีมาตรฐานโทษ หรือที่เรียกว่า “ยี่ต๊อก” อยู่แล้ว
ในคดีประเภทที่ไม่ร้ายแรงมาก คดีทำร้ายร่างกายบาดเจ็บเล็กน้อยไม่ถึงสาหัส คดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย คดีหมิ่นประมาท คดีแบบนี้ทนายความจะทราบดีว่าเมื่อรับสารภาพแล้วศาลก็จะพิพากษารอการลงโทษจำคุก หรือลงโทษเพียงแค่โทษปรับเท่านั้น
ส่วนคดีบางประเภทเป็นคดีร้ายแรงหรือคดีนโยบาย เช่นคดีข้อหาฆ่าโดยเจตนา คดีข้อหาจำหน่ายยาเสพติด คดีแบบนี้ทนายความก็จะทราบดีว่าถึงรับสารภาพไปก็ไม่มีโอกาสที่ศาลจะรอการลงโทษ
ดังนั้นแล้วการที่รับสารภาพแล้วศาลจะรอการลงโทษหรือไม่นั้น จะต้องดูเป็นรายคดีไปว่าเป็นคดีประเภทไหน พฤติกรรมในคดีมีความร้ายแรงเพียงใด ผู้เสียหายยังติดใจให้จำเลยได้รับโทษถึงจำคุกหรือเปล่า
ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?
เมื่อคุณรู้ว่าตนเองถูกดำเนินคดีอาญา หรือกำลังจะถูกดำเนินคดีอาญา สิ่งที่คุณควรต้องทำ ต้องทำมีดังนี้
1.ทบทวนว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ที่เป็นมูลเหตุของการที่จะทำให้เราถูกดำเนินคดีอาญาเป็นอย่างไร
2.จดบันทึกและเรียบเรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะการรวบรวมและเรียบเรียงเรื่องราวตั้งแต่ช่วงระยะเวลาเริ่มต้นใกล้เวลาเกิดเหตุ จะเป็นช่วงที่เราจำเรื่องราวต่างๆได้ดีที่สุด เราควรจดบันทึกไว้เพราะคดีอาญานั้นกว่าจะเริ่มคดีจนกระทั่งถึงที่สุด ต้องใช้เวลานานเกือบปีหรือนานกว่านั้น ภายหลังเราอาจลืมรายละเอียดต่างๆซึ่งเป็นเรื่องสำคัญได้ ดังนั้นการจดบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในตอนที่เรายังจำเหตุการณ์ได้สดๆ จะเป็นประโยชน์มาก
3.รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในทันที เช่นหลักฐานจากอีเมล จากโปรแกรมสนทนา facebook หรือ LINE กล้องวงจรปิดในบริเวณที่เกี่ยวข้อง และพยานเอกสารหรือพยานวัตถุอื่นที่น่าจะเกี่ยวข้อง เพราะหากปล่อยการเนิ่นช้าไปพยานหลักฐานดังกล่าวอาจจะสูญหายได้
4.นำข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นัดหมายมาพบเพื่อปรึกษากับทนายความ เพื่อวางรูปต่อสู้คดี และหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์
ทนายความจะวิเคราะห์ว่า ตามรูปคดีและพยานหลักฐานดังกล่าวนี้จะสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ หากจะต่อสู้จะต่อสู้ไปในแนวทางใด ดังที่ได้อธิบายข้างต้นแล้ว
หากดูรูปคดีแล้วไม่สามารถต่อสู้ได้ ทนายความก็จะแนะนำให้รับสารภาพ และพยายามเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหายรวมทั้งหาเหตุบรรเทาโทษต่างๆ ครับ
เรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณต้องห้ามโกหกทนายความของคุณเด็ดขาด
โดยโปรดจำไว้ว่าทุกสิ่งที่คุณปรึกษากับทนายความนั้นเป็นความลับ ทนายความไม่สามารถเผยแพร่เรื่องราวของคุณได้
ดังนั้น คุณไม่ต้องกังวลว่าหากปรึกษาทนายความ แล้วทนายความไม่ช่วยเหลือ หรือไม่รับคดี จะทำให้ความลับของคุณรั่วไหล
หากคุณโกหกทนายความ หรือเล่าเรื่องเท็จให้ทนายความฟัง เพื่อหวังจะให้ช่วยเหลือทางคดี และความจริงไปปรากฎในชั้นศาล คุณเองจะได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก
หากคุณเล่าความจริงทั้งหมดให้ทนายความฟังตั้งแต่ต้น ทนายความจะหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับคุณเองครับ เพราะฉะนั้น อย่าโกหกหรือปิดบังความจริงกับทนายความเด็ดขาดครับ เพราะจะเป็นผลเสียกับคุณเองในภายหลัง
ค่าใช้จ่ายในการสู้คดีเท่าไหร่ ?
ค่าวิชาชีพในการต่อสู้คดีอาญานั้น ไม่มีกำหนดตายตัว แต่สำหรับตัวผมเอง มีปัจจัยในการคิดหลายประการ เช่น
1.คดีมีความหนักเบาแค่ไหน
2.พยานหลักฐานเป็นอย่างไร
3.โดยรูปคดีแล้วมีความยากง่ายแค่ไหน
4.จะใช้เวลาดำเนินคดีประมาณเท่าไร
5.เป็นคดีที่เกิดศาลไหนต้องใช้เวลาเดินทางมากแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม สามารถกำหนดราคาโดยสังเขปคร่าวๆได้คือกรณีที่เป็นการรับสารภาพขอบรรเทาโทษต่อผู้เสียหายค่าทนายความจะอยู่ที่ประมาณ 30,000+ บาท
โดยค่าวิชาชีพดังกล่าวจะรวมการให้คำปรึกษาและการแนะนำในการดำเนินคดี การต่อรองและเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหาย การทำคำแถลงประกอบคํารับสารภาพ
แต่หากเป็นการต่อสู้คดี ค่าวิชาชีพจะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทถึง 100,000+ บาทขึ้นไป โดยอยู่กับปัจจัยดังกล่าวข้างต้น
โดยค่าวิชาชีพดังกล่าวจะรวมการให้คำปรึกษา การเป็นทนายความในชั้นสอบสวน ชั้นอัยการและชั้นพิจารณา
สรุป สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกเมื่อรู้ว่าต้องคดีอาญา
เมื่อเรารู้ว่าถูกดำเนินคดีอาญา ไม่ว่าจะรู้เพราะตำรวจโทรแจ้งให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา หรือเป็นเพราะได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน หรือได้รับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องจากศาล
สิ่งแรกที่เราควรทำก็คือ การนัดหมายเข้าไปพูดคุยกับทนายความ เพื่อปรึกษาหาทางออกที่ดีที่สุด
กระบวนการทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับผู้เสียหาย การให้การกับพนักงานสอบสวน การถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง การเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหาย และการต่อสู้คดีทุกขั้นตอน ล้วนแต่ต้องอาศัยทนายความในการให้คำปรึกษาและวางแผนการณ์
ผมแนะนำอย่างยิ่งว่า ไม่ควรคิดเองทำเอง เช่นไปหาตำรวจคนเดียวโดยไม่เอาทนายความไปด้วย หรือไปขึ้นศาลโดยไม่เอาทนายความไปด้วย เพราะจะทำให้คุณเสียเปรียบในเชิงคดีเป็นอย่างมาก
จะเห็นได้ว่ากระบวนการขั้นตอนต่างๆ ทั้งก่อนขึ้นศาลหรือภายหลังขึ้นศาลไปแล้วล้วนแต่จะเป็นกระบวนการที่จะต้อง อาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและมีประสบการณ์ด้านการดำเนินคดีในการวางรูปคดีและให้คำแนะนำ
ดังนั้นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกเมื่อรู้ตนเองว่าถูกคดีอาญา คือการนัดหมายเข้าไปปรึกษาทนายความพร้อมกับนำเอกสารหลักฐาน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปให้ทนายความวิเคราะห์เพื่อวางรูปคดีครับ
คำแนะนำสุดท้ายของผม สำหรับคนที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาอยู่ก็คือ อย่าคิดเองทำเอง อย่าปรึกษาคนอื่นที่ไม่ใช่ทนายความ หรือเปิด google แล้วไปดำเนินการเอาเอง
เมื่อคุณป่วยคุณต้องไปหาหมอ เพื่อวินิจฉัยโรค และหาแนวทางรักษา ไม่ใช่เปิด google แล้วหาซื้อยากินเอง
และถ้าคุณถูกฟ้อง คุณก็ต้องมาพบทนายความเพื่อวางรูปคดีและหาแนวทางที่เป็นประโยชน์กับคุณที่สุดครับ
ตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญาที่น่าสนใจ จากประสบการณ์จริง
ผมได้คัดเลือกตัวอย่างบางส่วนของการต่อสู้คดีของตัวผมเอง และทางทีมงานทนายความของ สำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ที่น่าสนใจมาให้ท่านได้ศึกษา และเป็นตัวอย่างแนวทางในการทำงานและต่อสู้คดีครับ
โดยทั้งหมดล้วนมาจากประสบการณ์จริง จากตัวผมเองและทีมงานทนายความของสำนักงานของเราครับ
สามารถคลิกเพื่ออ่านเนื้อหาในแต่ละคดีได้เลยครับ (บางอันลงไว้ในเพจ และบางอันลงไว้ในเว็บไซต์ครับ)
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “พยายามฆ่า” ถูกกล่าวหาใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย สู้ประเด็นว่าพยานไม่สามารถจดจำจำเลยได้ ศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ร่วมกันฆ่า” ถูกจับพร้อมอาวุธปืนที่ใช้ยิง มีพยานยืนยันว่าเป็นคนยิงสามปาก ทำไมศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “พยายามฆ่า” ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกใช้มีดฟันผู้เสียหาย สู้ประเด็นการชี้ตัวชั้นสอบสวนไม่ชอบ และไม่สามารถจดจำตัวจำเลยได้ ศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “พยายามฆ่า” ตอน จับแพะเพราะผมยาว ถูกกล่าวหาว่าใช้มีดปากคอผู้เสียหาย สู้ประเด็นเรื่องการสืบหาตัวจำเลยไม่น่าเชื่อถือ ศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ทำร้ายร่างกาย” ตอน การป้องกันโดยชอบและไม่มีเจตนากระทำผิด ศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ปล้นทรัพย์” สู้ประเด็นไม่ได้เป็นตัวการร่วม ศาลพิพากษายกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ลักทรัพย์” สู้ประเด็นไม่รู้เห็นในการกระทำผิดของคนอื่นๆ ศาลพิพากษายกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ข่มขืน” เมื่อพ่อถูกกล่าวหาว่าข่มขืนลูกในใส่ ศาลพิพากษายกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “พรากผู้เยาว์ อนาจาร “ ตอน หนูแต่งเรื่องโกหกแม่ แต่คนซวยคือจำเลย
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ยักยอกทรัพย์มรดก” สู้ประเด็นเรื่องอุทลุม ศาลพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวน
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ยักยอกทรัพย์ “ ถูกปลอมบัตรประชาชนไปทำสัญญา คดีขอแรง ศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ยักยอกทรัพย์” ประเด็นเรื่องโจทก์อธิบายเรื่องการขนย้ายทรัพย์ของกลางไม่ได้ ศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ยักยอกทรัพย์” คดีมีทุนทรัพย์ 25 ล้านบาท สู้ประเด็นเรื่องแบ่งทรัพย์กันแล้ว ศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ฉ้อโกง” ตอนฉ้อโกงหรือแค่ผิดสัญญา มีหลักในการวินิจฉัยอย่างไร ศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ฉ้อโกง “ ท้าวแชร์ฟ้องลูกแชร์ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวน
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ฉ้อโกง” ผิดสัญญาซื้อขายแต่เอามาฟ้องเป็นคดีอาญา ศาลยกฟ้องชั้นไต่สวน
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ฉ้อโกง” โต้แย้งเรื่องคุณภาพงานตามสัญญาว่าจ้าง แต่เอามาฟ้องเป็นคดีอาญา ศาลยกฟ้องชั้นไต่สวน
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ฉ้อโกง-แชร์” ตอน แชร์เป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งไม่ใช่ฉ้อโกง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ฉ้อโกง-แชร์” ตอน ลูกแชร์ไม่ส่งค่าแชร์ไม่ผิดฉ้อโกง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวน
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค “ ศาลพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวน
- ตัวอย่างการต่อสู้ “คดียาเสพติด” ตอน ” แทงสนุ๊กเกอร์อยู่ดีๆ พี่ก็เกมส์ ” ศึกษาแนวทางการต่อสู้คดีอาญา ประเด็นจำเลยไม่มีเจตนาครอบครองสิ่งผิดกฎหมาย จากประสบการณ์จริง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ยาเสพติด” ตอนจับมั่ว ตบทรัพย์ ซ้อมรับสารภาพ จับกุมเจ้าของบ้านไม่ได้เลยจับกุมคนอื่นแทน ซ้อมให้รับสารภาพ สุดท้าศาลยกฟ้อง
- ตัวย่างการต่อสู้คดี “ยาเสพติด” ตอน ยัดยาบ้า 400 เม็ด จับกุมจำเลยไม่พบของกลาง เลยจัดยาเสพติดให้ สุดท้ายศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ยาเสพติด” จับลูกไม่ได้งั้นก็จับแม่แทน จะมาจับลูก แต่ลูกไม่อยู่เลยจับแม่ไปแทน สุดท้ายศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี ” ยาเสพติด “ อ้างว่าจำเลยกระทำผิด แต่พยานโจทก์เบิกความไม่น่าเชื่อถือ ขัดต่อเหตุผล ศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ยาเสพติด” ตอน เมื่อผู้จับการเป็นผู้จำหน่าย และเมื่อตำรวจกลายเป็นคนขายยา
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ยาเสพติด” ประเด็นว่าไม่ได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ep.1
- ตัวอย่างการต่อสู้ “คดียาเสพติด “มีไว้เพื่อเสพ ไม่ได้จำหน่าย ep.2
- ตัวอย่างการต่อสู้ “คดียาเสพติด “มีไว้เพื่อเสพ ไม่ได้จำหน่าย ep3.
- ตัวอย่างการต่อสู้ “คดียาเสพติด” มีไว้เพื่อเสพ ไม่ได้จำหน่าย ep4.
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน” ตอน ติดร่างแหการเมือง ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “พกพาอาวุธปืน” ตอน ผิดแค่ไหนรับโทษแค่นั้น
- ตัวอย่างการต่อสู้คดี “พกพาอาวุธปืน” ตอน มีเหตุพกพาโดยชอบ ไม่เป็นความผิด ศาลยกฟ้อง
- ตัวอย่างการสู้คดีอาญา ข้อหา นำข้อมูลลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ( พ.ร.บ.คอม ฯ มาตรา 14 (4 )) ศึกษาข้อกฎหมาย และตัวอย่างจากประสบการณ์จริง
- ตัวอย่างการสู้คดีอาญา ความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค ตอน เช็คค้ำประกัน
- ตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญา ตอน “ฟ้องซ้อน”
- ตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญา ข้อหา “เบิกความเท็จ