บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

การชี้ตัวผู้ต้องหา ต้องทำอย่างไร – คำอธิบายเรื่องระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการชี้ตัวผู้ต้องหา ฉบับสมบูรณ์

การชี้ตัวผู้ต้องหา

การชี้ตัวผู้ต้องหา คือการจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานยืนยันว่า คนร้ายที่กระทำความผิดคือใคร 

เป็นวิธีหนึ่งในการสอบสวนของพนักงานสอบสวน เพื่อสืบหาตัวผู้กระทำผิด ซึ่งใช้กันมาแต่โบราณ

แต่อย่างไรก็ตาม การชี้ตัวผู้ต้องหา กลับเกิดข้อบกพร่องและผิดพลาดได้บ่อยครั้ง จนนำไปสู่การดำเนินคดีผู้ต้องหาผิดคน ทำให้ผู้บริสุทธิ์ได้รับความเดือดร้อน

ซึ่งสาเหตุหนึ่งของการที่มีการดำเนินคดีผู้ต้องหาผิดคนนั้น ก็มาจากการที่พนักงานสอบสวน ไม่จัดทำการชี้ตัวผู้ต้องหาให้ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติ จึงทำให้เกิดความผิดพลาดในการชี้ตัว และนำมาสู่การดำเนินคดีแก่ผู้บริสุทธิ์

ซึ่งในรายของผู้ต้องหาที่พอมีกำลังทรัพย์หรือคดีเกิดเป็นที่สนใจเป็นข่าวโด่งดัง ก็พอที่จะหาทนายความต่อสู้คดี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมได้ แต่ก็ต้องเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา และบางคนก็ต้องสูญเสียหน้าที่การงานหรือครอบครัวแตกแยกไปด้วย

แต่ในหลายๆรายที่ไม่มีกำลังทรัพย์หรือพบเจอกับทนายความที่มีความสามารถไม่เพียงพอ ก็ต้องรับโทษในความผิดที่ตนเองไม่ได้ก่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของไทยมาเป็นเวลานานแล้ว และปัจจุบันก็ยังเกิดเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นอยู่เสมอๆ

        ทั้งนี้ตามระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดีบทที่ 8 ว่าด้วยการชี้ตัวและชี้รูปผู้ต้องหา ข้อ 260-261นั้น ได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆเกี่ยวกับการชี้ตัวและชี้รูปผู้ต้องหาไว้ เพื่อให้การชี้รูปและชี้ตัวผู้ต้องหาเป็นไปโดยถูกต้องและยุติธรรม

เนื่องจากการชี้ตัวผู้ต้องหา เป็นกระบวนที่สำคัญที่จะทำให้ทราบว่า ผู้กระทำผิดที่แท้จริงเป็นใคร และการจดจำตัวคนร้ายของผู้เสียหายหรือพยานนั้น มีความแตกต่างกันไปตามวุฒิภาวะของแต่ละคน

โดยเฉพาะกรณีที่เหตุการณ์เกิดชึ้นเร็วมาก หรือเกิดในเวลากลางคืน เป็นช่วงชุลมุน ผู้เสียหายอาจจะจดจำคนร้ายได้ไม่ชัดเจน และด้วยความที่ผู้เสียหายอยากจะให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวคนร้ายให้ได้ จึงอาจเกิดความผิดพลาดในการชี้ตัวได้ง่าย

ดังนั้นจึงได้มีการออกระเบียบการชี้ตัวผู้ต้องหาขึ้นมาว่า การจัดให้ผู้เสียหายหรือพยาน ชี้ตัวผู้ต้องหานั้น มีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อป้องกันการชี้นำ อคติ การจูงใจ หรืออุปาทาน ของผู้เสียหายหรือพยาน ในการชี้ตัวผู้ต้องหาของผู้เสียหายหรือพยาน

การชี้ตัวผู้ต้องหา ตามระเบียบว่าด้วยการชี้ตัว ฯ อาจอธิบายได้ดังนี้ คือ

1.”ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่สืบสวน (เช่นตำรวจชุดจับกุม) หรือผู้ที่เป็นปฏิปักษ์แก่ผู้ต้องหา (เช่นผู้เสียหายหรือญาติของผู้เสียหาย) เข้าไปเกี่ยวข้องในการชี้ตัว “

ทั้งนี้เหตุที่ห้ามก็คงเป็นเพราะบุคคลเหล่านี้มีส่วนได้เสียกับคดี หรือเป็นปรปักษ์อยู่กับผู้ต้องหา หรือบางคนเองก็มีความเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิดอยู่แล้ว ดังนั้นหากให้เข้าไปร่วมในการชี้ตัวอาจจะไปชี้นำพยานหรือผู้เสียหายให้ชี้ตัวผู้ต้องหาได้

2.“ก่อนทำการชี้ตัว อย่าให้ผู้จะทำการชี้ตัวมีโอกาสติดต่อกับผู้ใดที่เห็นว่าจะก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมแก่คดีได้ ทั้งอย่าให้เห็นตัวผู้ต้องหาหรือรูปหรือตำหนิรูปพรรณของผู้ต้องหาก่อนการชี้ “

ทั้งนี้เหตุที่ห้ามก็คงเป็นเพราะหากให้ผู้เสียหายหรือพยานเห็นตำหนิหรือรูปผู้ต้องหาก่อน หรือได้ติดต่อพูดคุยกับบุคคลอื่นๆที่เชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิด อาจก่อให้เกิดอุปปาทานหรือการชี้นำให้ชี้ตัวผู้ต้องได้

3.“จัดให้ผู้ต้องหาสวมเสื้อคล้ายคลึงกับเวลาเกิดเหตุ และจัดให้บุคคลอื่นซึ่งมีเพศ รูปร่าง ขนาด อายุ และการแต่งกายคล้ายคลึงกับผู้ต้องหา อยู่ร่วมกับผู้ต้องหาในที่เดียวกันไม่น้อยกว่า 5 คน “

ซึ่งหลักข้อนี้จัดว่าเป็นหลักสำคัญ เพราะหากไม่มีการจัดให้มีบุคคลอื่นๆอยู่ด้วยในการชี้ตัวแล้ว ย่อมเป็นการชี้นำให้ผู้ต้องหาหรือพยานชี้ตัวผู้ต้องหาแต่เพียงคนเดียว และจำนวน 5 คนนี้จัดขึ้นเพื่อให้ตรงกับหลักการชี้ตัวตามมาตรฐานสากล ซึ่งจำนวนของบุคคลอื่นๆ จำนวน 5 คนนั้นจัดว่าไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป

4..ต้องสอบถามผู้ต้องหาว่า การจัดให้มีการชี้ตัวนี้เป็นที่ถูกต้องพอใจหรือไม่ มีสิ่งใดที่ต้องการให้ผ่อนผันหรือจัดการให้หรือไม่

5.”ต้องจัดการให้พยานหรือผู้กล่าวหาชี้ตัวผู้ต้องหาทีละคน ”

ทั้งนี้เพราะหากปล่อยให้พยานหรือผู้กล่าวหาร่วมกันชี้ตัวผู้ต้องหาร่วมกันหลายๆคนแล้ว อาจเกิดการชี้นำหรือชักจูงกันและกัน ทำให้การชี้ตัวเป็นไปโดยไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงได้

6.ต้องบันทึกลักษณะการชี้ตัวของพยานหรือผู้กล่าวหาไว้โดยละเอียด กล่าวคือ จะต้องขณะที่พยานชี้ตัวนั้น ชี้โดยถูกต้องมั่นใจ หรือแสดงอาการไม่มั่นใจ หรือชี้ตัวผิด หรือไม่ยอมชี้ หรือมีรายละเอียดอื่นๆที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดีในชั้นศาล

7. “เมื่อพยานคนแรกออกไปจากที่ชี้ตัวผู้ต้องหาแล้ว อย่าให้ไปรวมหรือมีโอกาสติดต่อกับผู้กล่าวหาหรือพยานคนอื่นๆที่ยังไม่ได้ทำการชี้ตัวผู้ต้องหา “

ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พยานคนแรกไปชี้นำพยานคนอื่นๆให้ชี้ตัวผู้ต้องหาคนเดียวกับตนนั่นเอง

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าในการสอบสวนของพนักงานสอบสวนโดยส่วนมากนั้น มักจะละเลยการปฏิบัติตามระเบียบเหล่านี้ เช่น

  1. ปล่อยให้พยานหลายๆคนเข้าไปชี้ตัวผู้ต้องหาร่วมกัน
  2. มีการแสดงข้อมูลหรือรูปถ่ายของผู้ต้องหาให้พยานดูก่อน
  3. การให้เจ้าหน้าที่จับกุมสืบสวนหรือบุคคลอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องเช่นนักข่าว หรือญาติของผู้เสียหายอยู่ด้วยในการชี้ตัวผู้ต้องหา
  4. การนำตัวผู้ต้องหามาให้ผู้เสียหายชี้เพียงคนเดียวโดยไม่จัดบุคคลอื่นๆมาอยู่รวมปะปนด้วย

ซึ่งเมื่อคดีไปถึงชั้นศาล ก็เป็นหน้าที่ของทนายความที่จะตรวจสอบว่าพนักงานสอบสวนได้จัดให้มีทำการชี้ตัวโดยถูกต้องตามระเบียบหรือไม่

ซึ่งหากการชี้ตัวนั้นไม่ได้เป็นไปตามระเบียบ ก็ต้องถามค้านและนำสืบให้เป็นประเด็นไว้ ซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือในการชี้ตัวนั้นลดน้อยลง จนศาลไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้

ทั้งนี้โปรดจำไว้ว่า ระเบียบต่างๆเหล่านี้เป็นข้อกฎหมายลำดับรองซึ่งไม่ใช่ข้อกฎหมายที่ศาลรู้ได้เอง แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ทนายความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ดังนั้นในการนำสืบว่าพนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามระเบียบเหล่านี้จึงจะต้องนำสืบถึงการมีอยู่ของระเบียบเหล่านี้ประกอบด้วย

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น