การฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม หรือ ฟ้องแบ่งแยกที่ดิน เป็นอีกหนึ่งคดีที่ทนายความจะต้องพบเจออยู่บ่อยๆ
ทั้งนี้การถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตั้งใจร่วมกันซื้อที่ดินด้วยกันจึงได้ลงชื่อร่วมกัน เป็นการรับมรดกที่ดินมาโดยมีผู้รับมรดกหลายคนจึงต้องลงชื่อร่วมกัน หรือเป็นที่ดินสินสมรสระหว่างสามีภรรยา เป็นต้น
ธรรมดาแล้วเมื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนใดคนหนึ่ง ต้องการจะแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนของตนออกมา เพื่อให้พ้นจากการเป็นกรรมสิทธิ์รวม ย่อมสามารถทำได้เสมอ
เนื่องจากกฎหมาย วางหลักไว้ว่าหากเจ้าของรวม ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ทำการแบ่งทรัพย์สินกันได้ เพราะกฎหมายคำนึงว่า การที่บุคคลใดจะพัฒนาหรือทำให้เกิดความเจริญในทรัพย์สินใดนั้น บุคคลนั้นก็จะต้องเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวจึงจะกล้าลงทุนหรือจัดการทรัพย์สินดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ (ป.พ.พ. มาตรา 1363)
ดังนั้นหากบุคคลใดต้องการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะทำได้ เว้นแต่ จะเข้าข้อยกเว้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 คือมีนิติกรรมขัดอยู่ว่าห้ามแบ่ง หรือเป็นกรรมสิทธิ์รวมในลักษณะถาวร หรือเป็นการเรียกให้แบ่งในเวลาอันไม่สมควร
โดยมี ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 บัญญัติให้เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้โดยมิได้บังคับให้เจ้าของรวมผู้ประสงค์จะให้แบ่งทรัพย์สินต้องฟ้องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมทุกคน และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีนิติกรรมขัดอยู่ ทั้งวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทก็ไม่มีลักษณะเป็นการถาวร โจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมร่วมกับจำเลยบุคคลอื่นอีก จึงมีสิทธิเรียกขอให้แบ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่ตนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 การที่โจทก์เรียกให้แบ่งที่ดินพิพาทซึ่งอาจต้องดำเนินการแบ่งตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364กำหนดไว้นั้น มิใช่เป็นการเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรตามมาตรา 1363 วรรคสาม
ซึ่งวิธีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในกรณีเป็น ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น ตามธรรมดาแล้วเจ้าของรวมย่อมสามารถตกลงแบ่งกันตามความพอใจกันเองได้ หรือหากไม่รู้ว่าจะแบ่งกันยังไงใครจะได้ส่วนไหนก็สามารถตกลงขายทรัพย์สินแล้วนำเงินมาแบ่งกัน
แต่หากเจ้าของรวมไม่สามารถตกลงแบ่งที่ดินกันเองได้ ย่อมจะต้องใช้ศาลเป็นคนจัดการแบ่ง
ซึ่งกรณีที่จะต้อง ฟ้องแบ่งแยกที่ดิน จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ
1. ฟ้องแบ่งแยกที่ดิน ที่ยังไม่ได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน
กรณีนี้ เป็นกรณีที่ที่ดินแปลงดังกล่าว เจ้าของรวมแต่ละคนอาจจะยังไม่ได้เข้าไปอยู่อาศัย หรือแบ่งการครอบครองกันเป็นส่วนสัด ยังไม่มีการตกลงทั้งด้วยวาจา เอกสาร หรือการกระทำ ว่าใครจะเป็นเจ้าของที่ดินส่วนไหน
ในกรณีเช่นนี้ หากเจ้าของรวมไม่สามารถตกลงกันเองได้ว่าจะแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไร หากเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งขอให้ศาลแบ่ง ศาลอาจจะสั่งให้แบ่งโดย
ศาลกำหนดแบ่งให้เอง หากใครได้มากกว่า หรือเหลื่อมล้ำกันนิดหน่อย ก็ต้องจ่ายเงินทดแทนให้คนที่ได้น้อยกว่า ซึ่งวิธีนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมสักเท่าไหร่ เพราะเป็นการยากที่จะแบ่งให้ยุติธรรม หรือถูกใจทุกฝ่าย
นำที่ดินออกประมูลขายกันเอง หมายความว่า ให้สิทธิเจ้าของรวมประมูลซื้อส่วนของเจ้ารวมคนอื่นๆระหว่างกันเองก่อน ใครให้ราคาดีกว่า คนนั้นก็ได้กรรมสิทธิ์ไปทั้งแปลง ซึ่งศาลมักใช้วิธีนี้ก่อน เพราะวิธีนี้จะทำให้ทรัพย์สินไม่หลุดไปจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมทั้งหมด
นำที่ดินออกขายทอดตลาด หมายความว่า เมื่อเจ้าของร่วมประมูลกันเองไม่ได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากต่างคนก็ไม่อยากจะซื้อส่วนของคนอื่น หรือคนอื่นก็ไม่อยากจะขายให้กันเอง ก็จะเอาที่ดินทั้งแปลงออกขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้มาแบ่งตามสัดส่วน
(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1364)
2.ฟ้องแบ่งแยกที่ดิน ที่แบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว
ในกรณีนี้ เป็นกรณีที่ที่ดินแปลงดังกล่าว เจ้าของร่วมแต่ละคนได้เข้าไปอยู่อาศัย และแบ่งแยกการครอบครองกันอย่างเป็นส่วนสัดแล้ว และรู้กันว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของที่ดินส่วนไหน เป็นจำนวนเท่าใด โดยมีพฤติการณ์แสดงออกให้เห็นว่าเจ้าของรวมแต่ละคนมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนแล้ว ทั้งนี้ อาจจะมีหรือไม่มีเอกสารหลักฐานเป็นหนังสือก็ได้
ในกรณีนี้จะใช้วิธีปกติ เหมือนอย่างข้อ 1. ไม่ได้ แต่การแบ่งจะต้องทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินไปตามสัดส่วนที่เจ้าของรวมแต่ละคนครองครอง และข้อตกลงที่แต่ละคนมีสิทธิ จะกลับไปใช้วิธีประมูลขายกันเอง ประมูลขายทั้งแปลง หรือให้ศาลแบ่งเองมิได้
ทั้งนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6034/2551 ผู้เป็นเจ้าของรวมกันในที่ดินจะมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน ถ้าแบ่งแยกการครอบครองออกเป็นสัดส่วนแล้ว ก็ต้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมไปตามที่มีการครอบครอง ซึ่งอาจไม่เท่ากันก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4324/2539 การแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกเป็นสัดส่วนถ้าหากให้เอาที่ดินประมูลหรือขายทอดตลาดแล้วเอาเงินแบ่งให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยตามส่วนแล้วจำเลยอาจจะต้องรื้อบ้านของจำเลยที่ปลูกสร้างอยู่แล้วออกไปเป็นการเดือดร้อนแล้วศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยได้ส่วนแบ่งทางด้านของที่ดินที่บ้านจำเลยตั้งอยู่ได้ไม่จำต้องสั่งให้ทำการประมูลหรือขายทอดตลาดที่ดินแล้วเอาเงินแบ่งกันดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6681/2542 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดว่าเจ้าของรวมแต่ละคนมีส่วนคนละเท่าใดเท่านั้น จึงให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมแต่ละคนมีส่วนเท่ากัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทต่างแบ่งแยกครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัด ย่อมแสดงให้เห็นว่าต่างประสงค์ที่จะยึดถือที่ดินส่วนที่ตนครอบครองเป็นของตนจึงไม่อาจนำข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับได้ การที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินร่วมกันก็ไม่ใช่ข้อที่จะฟังว่าจำเลยมิได้ครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัด กรณีต้องแบ่งที่ดินพิพาทตามส่วนที่แต่ละคนครอบครอง โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่ง แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง ศาลย่อมพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2) ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
วันนี้ผมได้นำตัวอย่าง การฟ้องคดีเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมมาให้เพื่อนๆดู
โดยคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งเป็นบิดา และทรัพย์สินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่าง บิดาโจทก์กับพี่น้องคนอื่นๆ
ที่ดินพิพาทในคดีนี้ได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว โดยบิดาโจทก์ได้ปลูกบ้านและแบ่งแยกการครอบครองกับคนอื่นอย่างชัดเจน
ต่อมาโจทก์ต้องการรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ตนเอง ออกมาเป็นโฉนดอีกแปลงหนึ่งเพื่อความสะดวกในการทำนิติกรรมต่างๆ แต่พี่น้องของบิดาคนอื่นไม่ยินยอม
เมื่อพยายามพูดคุยด้วยดีแล้วไม่รู้เรื่อง โจทก์จึงต้อง ให้ผมเป็นทนายความยื่นฟ้อง เพื่อขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ซึ่งการฟ้องคดีนี้ ก็จะต้องมีการบรรยายให้อย่างชัดเจนว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวมีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด แล้วฟ้องขอให้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามสัดส่วนที่โจทก์ครอบครอง
สุดท้ายคดีนี้เมื่อขึ้นไปสู่ศาล ทุกฝ่ายก็สามารถตกลงกันได้และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์ก็ได้รับการรังวัดแบ่งแยกที่ดินออกมาตามที่ต้องการครับ
สรุป เรื่อง ฟ้องแบ่งแยกที่ดิน
การฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน หรือฟ้องแบ่งแยกที่ดิน เป็นเรื่องไม่ยาก เพราะธรรมดาแล้วกฎหมาย ก็อนุญาตให้เจ้าของร่วมสามารถขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ได้อยู่แล้ว
เพียงแต่จะต้องพิจารณาและสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวมีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้วหรือไม่ แล้วต้องตั้งเรื่องฟ้องคดี ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง
หากยังไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองกันเป็นสัดส่วน ก็ต้องฟ้องขอให้ศาลสั่งแบ่งที่ดินพิพาท หรือให้นำที่ดินพิพาทออกประมูลขายกันเอง หรือขายทอดตลาด
หากมีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนกันแล้ว ก็ต้องฟ้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ตนเองครอบครอง หากจำเลยไม่ยอมไปก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
และธรรมดาแล้วคดีลักษณะนี้ มักจบลงด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความกันเสียเป็นส่วนใหญ่ครับ