บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

คดีอุทลุม คืออะไร ? คำอธิบายเรื่องอุทลุม ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิช มาตรา1562 ฉบับครบถ้วนสมบูรณ์

คดีอุทลุม คืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร ?

คำว่า “อุทลุม”  ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีความหมายว่า ผิดประเพณี ผิดธรรมะ นอกแบบ นอกทาง 

ส่วน “คดีอุทลุม”  คือคดีที่ลูกหลานฟ้องบุพการีของตนต่อศาล โดยเรียกลูกหลานที่ฟ้องบุพการีของตนต่อศาลว่า “คนอุทลุม” โดยกฎหมายโบราณบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเปนคนอุทลุมหมีได้รู้คุณบิดามานดาปู่หญ้าตายาย แลมันมาฟ้องร้องให้เรียกบิดามานดาปู่ญ่าตายายมัน ท่านให้มีโทษทวนมันด้วยลวดหนังโดยฉกัน แล้วอย่าบังคับบัญชาว่ากล่าวคดีของมันนั้นเลย. (กฎหมายตราสามดวง).

จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายแต่โบราณ หากลูกหลานนำคดีมาฟ้อง บิดา มารดา ปู่ ย่าตา ยาย นอกจากศาลจะไม่รับฟ้องไว้พิจารณาแล้ว ผู้ฟ้องยังจะต้องถูกลงโทษเฆี่ยนตีไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ฐานเป็นผู้ไม่รู้คุณอีกด้วย 

ดังนั้นคำว่า “ คดีอุทลุม “ คือคดีที่ลูกหลาน ฟ้องบิดามารดาหรือผู้บุพการีของตนเองต่อศาลเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญานั่นเอง 

ตัวบทฎหมายสมัยปัจจุบัน ไม่ได้ใช้คำว่า “คดีอุทลุม” เหมือนกฎหมายเก่าคือกฎหมายตราสามดวงแล้ว

แต่ข้อห้ามเรื่อง ลูกหลานฟ้องบิดามารดาหรือผู้บุพการีก็ยังมีอยู่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ที่วางหลักว่า “ ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ “ 

และนักกฎหมายก็ยังนิยมเรียกคดีประเภทนี้ว่า “ คดีอุทลุม “ กันอยู่จนถึงปัจจุบัน


ใครบ้างที่ถูกห้ามไม่ให้ฟ้อง คดีอุทลุม ?

ผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดี  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 คือ “ผู้สืบสันดาน” ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ 

ซึ่งกฎหมายเรื่องการห้ามฟ้องคดี เป็นกฎหมายเรื่องการจำกัดสิิทธิ ที่ต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งศาลฎีกาถือว่า การเป็นผู้สืบสันดานดังกล่าว จะต้องเป็นผู้สืบสันดานโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

ดังนั้น บุตรนอกกฎหมาย ที่บิดามารดาไม่ได้สมรสกัน ไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร ไม่ได้รับรองโดยพฤตินัยว่าเป็นบุตร ย่อมฟ้องบิดาได้ ไม่ถือเป็นคดีอุทลุม

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

คำพิพากศาลฎีกาที่ 1320/2506 บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องบิดาเรียกทรัพย์ที่ยืมไปคืนได้ไม่เป็นอุทลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2548 จำเลยที่ 1 กับมารดาโจทก์ทั้งสองอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2480 อันเป็นเวลาภายหลังใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงเป็นเพียงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงต้องถือว่าข้อห้ามดังกล่าวเป็นการห้ามเฉพาะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2554 การห้ามฟ้องบุพการีเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิจำต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า กรณีของผู้สืบสันดานชั้นบุตรหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3019/2541 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งหมายความว่าห้ามเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้นโจทก์เป็นบุตรที่จำเลยรับรองแล้วแต่จำเลยและมารดาโจทก์มิได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยต่อเมื่อจำเลยและมารดาโจทก์สมรสกันภายหลังหรือจำเลยได้จดทะเบียนว่าโจทก์เป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547เมื่อไม่มีการดำเนินการดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีไม่ได้ขอให้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง20 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตาราง 1 ข้อ 2(ก) เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลดังกล่าวเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์

การเป็นบุตรบุญธรรมนั้น ไม่ถือเป็นผู้สืบสันดานของผู้รับบุตรบุญธรรม ดังนั้น บุตรบุญธรรมจึงมีอำนาจฟ้องผู้รับบุตรบุญธรรมได้ 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา 294/2538 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1598/28ที่บัญญัติว่าบุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมและในวรรคที่2ที่บัญญัติว่าให้นำบทบัญญัติในลักษณะ2หมวด2แห่งบรรพนี้(ตั้งแต่มาตรา1561ถึงมาตรา1584/1)มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้นหมายความเพียงว่าให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรมาใช้บังคับแก่บุตรบุญธรรมโดยอนุโลมเท่านั้นไม่ได้บังคับว่าจะต้องนำทุนมาตรามาใช้บังคับทั้งหมดส่วนบทบัญญัติในมาตรา1562ที่บัญญัติว่าผู้ใดจะฟังบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้นั้นเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคลจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา29เดิม(มาตรา28ที่แก้ไขใหม่)ให้ความหมายของคำว่าผู้บุพการีไว้ว่าหมายถึงบิดามารดาปู่ย่าตายายทวดและผู้สืบสายโลหิตกันโดยตรงขึ้นไปตามความเป็นจริงจำเลยเป็นเพียงผู้รับโจกท์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ใช่บิดาโจทก์จึงไม่ใช่ผู้บุพการีของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1562

การเป็นญาติด้วยการสมรส เช่น ลูกเขย ลูกสะใภ้ ก็ไม่ถูกจำกัดสิทธิให้ฟ้อง พ่อตา แม่ยาย หรือญาติฝั่งพ่อตา แม่ยาย แต่อย่างใด  

ตัวอย่างเช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 255/2496 ลูกสะใภ้มีสิทธิฟ้องบิดาของสามีได้ ไม่เป็นอุทลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2501 บุตรเขยฟ้องมารดาของภริยาให้โอนที่ดินกองทุนได้ไม่เป็นอุทลุม

นอกจานี้การเป็นญาติโดยพฤตินัย เช่น การเป็นลูกเลี้ยง หรือเป็นลูกติด ก็ไม่ถูกจำกัดสิทธิให้ฟ้อง พ่อเลี้ยง หรือแม่เลี้ยงแต่อย่างใด 

ตัวอย่างเช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2493 บุตรที่ติดแม่มาอยู่กับบิดาเลี้ยง กับแม่นั้น เมื่อไม่มีการแสดงออกรับรองเป็นบุตรบุญธรรมต่อกันแต่อย่างใดแล้ว ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นบุตรบุญธรรมของบิดาเลี้ยง คงเป็นอย่างสามัญทั่วไป คือเป็นลูกติดแม่เท่านั้นเองดังนี้ บิดาเลี้ยงนั้นจึงมิใช่เป็นบุพการีของบุตรบุตรจึงมีสิทธิฟ้องบิดาเลี้ยงได้ ไม่เป็นอุทลุมตามกฎหมาย


ผู้ที่กฎหมายคุ้มครองไม่ให้ถูกฟ้อง 

ผู้ที่กฎหมายคุ้มครองไม่ให้ถูกฟ้อง   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 คือ “ผู้บุพการี” ได่แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และทวด 

แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงบุคคลอื่นๆนอกเหนือจากนี้ เช่น ป้า น้า อา ลุง พ่อตา แม่ยาย พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง เป็นต้น 


คดีอุทลุม ห้ามฟ้องคดีอะไรบ้าง ?

การต้องห้ามฟ้องคดีอุทลุมนี้ เป็นการต้องห้ามฟ้องทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา

ซึ่งรวมถึงการทำคำให้การและฟ้องแย้ง หรือแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องมาในภายหลัง หรือการเข้ามารับมรดกความด้วย  (ฎ.1551/2494

แต่หากบิดามารดาร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยในคดีเอง หรือศาลเป็นคนสั่งให้เข้ามาในคดี โดยไม่เกี่ยวกับตัวโจทก์ ก็ไม่ถือว่าเป็นคดีอุทลุม (ฎ.734/2482 ฎ.2412/2527)

หรือเป็นคดีฝ่ายเดียว และบิดามารดาเข้ามาคัดค้านในคดีเอง ทำให้คดีกลายเป็นคดีมีข้อพิพาท ก็ไม่ถือเป็นคดีอุทลุม( คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2494  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6181/2533 )


ข้อยกเว้นในการฟ้อง คดีอุทลุม

อย่างที่บอกไปแล้วว่า การจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีของบุคคลใดนั้น เป็นการกระทบสิทธิของเขาเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงจะต้องตีความโดยเคร่งครัด

การที่ผู้สืบสันดานฟ้องผู้บุพการีในคดีแพ่ง เป็นการฟ้องผู้บุพการีในฐานะอื่นไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว ที่จะถือได้ว่าเป็นการพิพาทกันระหว่างผู้อุปการีและผู้สืบสันดานก็ไม่ถือว่าเป็นคดีอุทลุม 

ตัวอย่างเช่น บุตรอาจจะฟ้องมารดาของตนเองเป็นจำเลยในคดีแพ่ง ในฐานะที่มารดาเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อให้แบ่งทรัพย์มรดกก็ได้ เพราะไม่ได้เป็นการฟ้องมารดาในฐานะส่วนตัวแต่เป็นการฟ้องมารดาในฐานะผู้จัดการมรดก 

หรือบุตรอาจจะฟ้องมารดาของตนเองเป็นจำเลยในคดีแพ่ง ในฐานะที่มารดาเป็นกรรมการบริษัทให้ชดใช้เงินให้แก่บริษัทมิได้ชดใช้เงินให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัว 

โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยไปในทำนองดังกล่าว คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1707/2515 โจทก์ซึ่งเป็นบิดาจำเลย ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจำเลยย่อมฟ้องแย้งในฐานะผู้จัดการมรดกได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534(ประชุมใหญ่ครั้งที่18/2515)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2516 บุตรเป็นโจทก์ฟ้องมารดาในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นจำเลยได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 31/2515)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2505/2515 จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย มิได้ฟ้องแย้งในนามทายาทซึ่งเป็นบุตรโจทก์ไม่เป็นอุทลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4757/2533 โจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นภรรยาเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล ขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งสินสมรสและมรดกของผู้ตายแก่โจทก์ในฐานะคู่สมรส ทายาทและผู้จัดการมรดก เพื่อแบ่งปันแก่บุตรผู้เยาว์ของผู้ตายต่อไปหาใช่ฟ้องในฐานะภรรยาหรือทายาทอย่างเดียวไม่ และโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้แบ่งมรดกแก่บุตรผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทได้กรณีไม่เป็นการฟ้องคดีแทนบุตรอันจะเป็นอุทลุม ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์สินพิพาทให้โจทก์โดยมิได้ระบุว่าแบ่งให้โจทก์ในฐานะอะไรบ้างนั้น ยังไม่ชอบเพราะอาจเกิดความเสียหายแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนของผู้ตายอันเป็นทายาทได้ ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรแก้ไข.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2550 ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้…” อันเป็นบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดฟ้องบุพการีของตน จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 โดยระบุว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท และจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการของบริษัท จำเลยทั้งสามอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะเป็นกรรมการของบริษัท ร่วมกันจงใจทำหลักฐานอันเป็นเท็จว่า บริษัทเป็นหนี้เงินกู้ยืมจากกรรมการ เพื่อนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่บริษัท โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวร่วมกันกรรมการอีก 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ชดใช้เงินให้แก่บริษัท มิได้ให้ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัว ทั้งจำนวนเงินตามฟ้องหากรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหาก็เป็นเงินของบริษัทมิใช่เงินของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13044/2558 โจทก์ยื่นฟ้องในคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ย. ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. กลับคืนเข้าสู่กองมรดกจึงเป็นกรณีการฟ้องของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หาใช่โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะเป็นบุตรของจำเลยที่ 3 ไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อติดตามเอาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนเข้าสู่กองมรดกอันเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1642/2534 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์ แม้จำเลยที่ 1เป็นยาย ของโจทก์ แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการที่จำเลยที่ 1โอนทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ให้ตนเองและให้จำเลยที่ 2 นั้น เป็นกรณีพิพาทระหว่างโจทก์กับกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก หาได้ฟ้องในฐานะส่วนตัวที่จำเลยที่ 1 เป็นยาย อันจะพึงถือว่าเป็นกรณีพิพาทระหว่างหลานกับยาย ไม่ แม้จำเลยที่ 1ได้ถึงแก่กรรมในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทน ก็ไม่เป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์กลายเป็นฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว จึงไม่ต้องห้ามตามป.พ.พ. มาตรา 1562. โจทก์เป็นทายาทของผู้ตาย ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายว่าจัดการมรดกโดยไม่ชอบขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกของผู้ตาย จำเลยที่ 1 ตกอยู่ ในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททั้งหมด จึงไม่อาจยกอายุความมรดก1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ทรัพย์พิพาทมิใช่มรดกของผู้ตาย เพราะจำเลยที่ 1 และสามีซื้อทรัพย์พิพาททั้งสองแปลง โดยใส่ชื่อผู้ตายและบุคคลอื่นไว้แทนแต่จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ การกำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับหรือไม่ อยู่ในดุลพินิจ ของศาลที่จะพิพากษาเช่นนั้นได้.

แต่การฟ้องคดีอาญานั้น ถือเป็นคดีอุทลุมแบบเด็ดขาด

เพราะการฟ้องคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องข้อพิพาทในฐานะส่วนตัว หรือเป็นการฟ้องข้อพิพาทในฐานะอื่น ก็ล้วนต้องห้ามทั้งสิ้น เพราะวัตถุประสงค์ของการดำเนินคดีอาญา ก็คือต้องการให้ฝ่ายจำเลยได้รับโทษ และการรับโทษนั้น จำเลยก็ต้องรับโทษเองเป็นการส่วนตัว จะรับในฐานะอื่นไม่ได้ ดังนั้นการฟ้องคดีอาญาต่อผู้บุพการี จึงเป็นการห้ามโดยเด็ดขาด ไม่สามารถกระทำได้เลย

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8651/2558 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้” เช่นนี้ แม้โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายและมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้โจทก์ทั้งสามตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องรับโทษเป็นการส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2558 การที่โจทก์ซึ่งเป็นหลานฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของตนนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้” เช่นนี้ แม้โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของจ่าสิบเอก ม. ผู้ตายแทนที่ร้อยตำรวจตรี น. บิดาของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย และมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 352, 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องเป็นการรับโทษเป็นส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225


สรุป เรื่องคดีอุทลุม

สรุปแล้ว คดีอุทลุม ก็คือคดีที่ลูกหลาน หรือผู้สืบสันดานฟ้องบิดามารดาปู่ย่าตายายหรือผู้บุพการี 

ซึ่งตามหลักแล้วกฎหมายห้ามไม่ให้ฟ้องคดีแพ่งหรือคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562 

อย่างไรก็ดีการห้ามไม่ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีนั้น เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิ์ของบุคคลจึงจะต้องตีความโดยเคร่งครัด 

ดังนั้นจึงบางกรณีที่ ผู้สืบสันดานอาจจะฟ้องผู้บุพการีได้ ดังนั้นในการดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลยหากมีประเด็นข้อพิพาทเหลืองเกี่ยวกับเรื่องอุทลุม ก็ต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการดำเนินคดีครับ 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น