ข้อควรรู้ก่อนว่าจ้างทนายความ ฟ้องคดีเช็ค
ในบรรดาคดีอาญาที่ขึ้นสู่ศาลทั่วประเทศไทย ผู้เขียนเห็นว่าคดีเช็คน่าจะเป็นคดีอันดับต้นๆ เนื่องจากเป็นคดีที่เกิดขึ้นง่ายมาก แค่จ่ายเช็คแล้วเช็คขึ้นเงินไม่ได้ ก็เพียงพอที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว
ซึ่ง ผู้เขียนก็ได้รับเป็นทนายความว่าความคดีเกี่ยวกับความผิด ตาม พ.ร.บ เช็ค หลายคดีมาก ทั้งที่เป็นทนายฝ่ายเจ้าหนี้และทนายฝ่ายลูกหนี้ ซึ่งทุกคดีจะมีคำถามที่เจ้าหนี้เกือบทุกคนต้องถามผู้เขียนเป็นประจำ ดังนั้นผู้เขียนจึงได้รวบรวมคำถามและคำตอบในเรื่องที่เจ้าหนี้มักจะอยากรู้ เมื่อเช็คในมือขอตนเองนั้นเด้ง ดังต่อไปนี้ครับ
ข้อ 1. เมื่อเช็คเด้งแล้ว จะต้องแจ้งตำรวจหรือว่าจ้างทนายความฟ้องคดี ?
เมื่อเช็คในมือของเจ้าหนี้เด้งเรียบร้อยแล้ว สิ่งแรกที่เจ้าหนี้มักจะนึกถึงก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ นั่นเอง
ทั้งนี้ความจริงแล้วในคดีอาญาทุกคดี รวมทั้งคดีความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค นั้น การดำเนินคดีอาจแบ่งออกเป็นสองช่องทาง คือ การแจ้งความต่อตำรวจเพื่อมอบหมายคดีให้ตำรวจเป็นคนดำเนินการ จากนั้นตำรวจก็จัดการจัดทำสำนวนเสนอพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป กับอีกช่องทางหนึ่ง คือ การว่าจ้างให้ทนายความยื่นฟ้องคดีต่อศาลเองโดยตรง
สำหรับการแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจนั้น โดยหลักการแล้ว ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ รวมทั้งกระบวนการขั้นตอนของตำรวจ จะรวดเร็วกว่าว่าจ้างให้ทนายความฟ้อง เพราะหากทนายความฟ้อง ศาลจะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อน ว่าคดีมีมูลเพียงพอให้ศาลประทับฟ้องหรือไม่ ศาลจึงจะประทับฟ้องได้ หากศาลประทับฟ้องแล้ว ก็ออกหมายเรียกจำเลยมาศาล หากจำเลยไม่มาศาลตามหมายเรียก จึงจะออกหมายจับจำเลยได้ ขั้นตอนของทนายความทั้งหมดใช้เวลาโดยเฉลี่ยอย่างเร็วที่สุดประมาณ 3 เดือน จึงจะออกหมายจับจำเลยได้ แต่กรณีแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น หากตำรวจออกหมายเรียกสองครั้งแล้ว ไม่มาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็สามารถออกหมายจับได้เลย รวมๆแล้วใช้เวลาแทบไม่ถึงเดือน
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ก็คือ เมื่อแจ้งความแล้ว ตำรวจไม่ค่อยจะติดตามทำงานให้สักเท่าไหร่ บางทีเอาคดีไปดองไว้เป็นเวลาหลายๆเดือนหรือข้ามปีเลยก็มี หรือเจ้าหนี้บางราย เมื่อไปแจ้งความแล้ว ถูกเรียกค่าใช้จ่ายจากตำรวจ โดยแจ้งว่าถ้าให้ติดตามคดีให้ จะต้องมีค่าเสียเวลา และจะต้องมีเปอร์เซ็นต์แบ่งให้ถ้าติดตามเงินคืนได้ ซึ่งเจ้าหนี้หลายๆคนที่เคยแจ้งความ ก็น่าจะเคยประสบปัญหานี้
ปัญหาดังกล่าวจะโทษทางตำรวจอย่างเดียวอย่างเดียวก็ไม่ได้ ถ้าจะโทษ ก็คงต้องโทษระบบงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ทำให้ตำรวจที่ทำงานสอบสวน แทบจะไม่มีเวลาทำงาน และต้องออกค่าใช้จ่ายในการทำงานเองทั้งหมด ดังนั้นคดีเช็คแบบนี้เมื่อแจ้งความแล้วจึงไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าไหร่ เพราะตำรวจที่ทำงานสอบสวน มีภาระหน้าที่ต่างๆเยอะมากและรัดตัวอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่ตัวบุคคลไปเหมือนกัน ไปเจอตำรวจดีๆ ไฟแรง บางท่าน ท่านก็บริการอย่างดีและรวดเร็วทันใจ
ดังนั้นแล้วเมื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการแจ้งความและการจ้างทนายความ จึงมีดังนี้
การแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ข้อดี
-โดยหลักการไม่มีค่าใช้จ่าย
-โดยหลักการแล้วเร็วกว่าให้ทนายความยื่นฟ้อง
– มีพนักงานอัยการช่วยกลั่นกรองคดีให้ ก่อนยื่นฟ้อง
ข้อเสีย
-ทางปฏิบัติแล้ว แจ้งความแล้วคดีมักจะไม่ค่อยคืบหน้า ถ้าอยากจะคืบหน้า ต้องให้ผู้หลักผู้ใหญ่ฝากฝังกับตำรวจเจ้าของคดี หรือเสียค่าใช้จ่ายให้พนักงานสอบสวน หรือไม่ก็ต้องทำเรื่องร้องเรียนพนักงานสอบสวน
– เมื่อมีปัญหา ไม่สามารถปรึกษากับพนักงานสอบสวนได้โดยละเอียด
การว่าจ้างทนายความให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาล
ข้อดี
-ทนายความสามารถให้คำปรึกษา แนะนำข้อดี ข้อเสีย ข้อควรสู้ ควรถอย รวมทั้งช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกับฝ่ายตรงข้ามให้ได้ รวมทั้งช่วยติดตามกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด
-จ้างแล้วทนายความยื่นฟ้องให้ได้ทันที และสามารถติดตามความคืบหน้าได้ ถึงแม้โดยกระบวนการจะช้ากว่าของตำรวจ แต่เริ่มได้ทันที โดยไม่ต้องรอลุ้นเหมือนแจ้งความว่าเมื่อไหร่คดีจะคืบหน้า
ข้อเสีย
-โดยหลักการแล้ว กว่าจะได้ตัวผู้ต้องหามาศาลจะช้ากว่ากรณีของพนักงานตำรวจ
-ไม่ฟรี เสียค่าใช้จ่าย (จะกล่าวต่อไปว่าประมาณเท่าไหร่)
ข้อ 2. ฟ้องเช็ค เป็นคดีอะไรดี ?
เมื่อเช็คเด้งแล้ว หากมูลหนี้ในการออกเช็คนั้น เป็นมูลหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้เงินกู้ที่มีสัญญากู้ยืม หนี้ซื้อขายที่มีหลักฐานการซื้อขาย แบบนี้ลูกหนี้จะมีความผิดอาญา ตาม พ.ร.บ.เช็ค ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีได้ทั้งทางอาญาและทั้งทางแพ่ง หรือจะฟ้องทั้งสองอย่างก็ได้ แล้วแต่รูปคดีเป็นเรื่องๆไปว่าควรจะฟ้องทั้งสองแบบหรือไม่ แต่ที่นิยมฟ้องกันคือฟ้องเป็นคดีอาญาอย่างเดียว เพราะมีมาตรการบังคับที่รุนแรงกว่า คดีแพ่งอยู่แล้ว เพราะหากฟ้องคดีอาญาแล้วลูกหนี้ไม่จ่ายเงินตามเช็ค ลูกหนี้มีสิทธิติดคุก และการฟ้องคดีอาญาเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าการฟ้องคดีแพ่ง
ทั้งนี้เพราะตามหลักการง่ายๆ หากลูกหนี้มีทรัพย์สินมีเงิน คงจะต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ไม่ยอมติดคุก เพราะคดีอาญาถ้าไม่จ่ายเท่ากับต้องติดคุก และถ้าลูกหนี้ยอมติดคุกในคดีอาญา แสดงว่าไม่มีทรัพย์สินจริงๆ ดังนั้นถึงฟ้องคดีแพ่งไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วทนายความจึงมักแนะนำให้ฟ้องคดีอาญาอย่างเดียวมากกว่า แต่อย่างไรก็ต้องดูตามรูปคดีแต่ละคดีประกอบด้วย บางคดีลูกหนี้มีทรัพย์สินอยู่ในมือ มีความเสี่ยงที่อาจจะโอนทรัพย์สินหรือหนีหนี้และยอมติดคุก แบบนี้ก็ควรต้องฟ้องคดีแพ่งไปด้วย เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณา
ข้อ 3.ค่าทนายความประมาณเท่าไหร่ แบ่งจ่ายยังไง ?
การคิดค่าทนายความของทนายความแต่ละคน ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผู้เขียนยืนยันไม่ได้ แต่เท่าที่เห็นทนายความส่วนใหญ่รวมทั้งตัวผู้เขียนเองจะคิดค่าทนายความ อยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดเงินตามเช็ค ยกเว้นแต่เช็คจำนวนเงินน้อยมากๆ เช่น สองสามหมื่นบาท แบบนี้ถ้าคิดสิบเปอร์เซ็นต์ทนายคงอยู่ไม่ได้ และกรณี ยอดเงินตามเช็คสูงมากๆ เช่น ห้าล้านบาท สิบล้านบาท แบบนี้ จำนวนค่าจ้างอาจจะลดหย่อนมาเหลือประมาณ 5-7 เปอร์เซ็นต์
ส่วนวิธีการแบ่งจ่ายค่าทนายความของทนายความแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันเช่นกัน แต่จะแบ่งออกเป็นสองแบบกว้างๆ คือ
1.เรียกเก็บทั้งหมดก่อน แบ่งออกเป็น การจ่ายทั้งหมดก่อนยื่นฟ้อง หรือจ่ายทั้งหมดก่อนเสร็จสิ้นคดี วิธีการแบบนี้ ทนายความส่วนใหญ่ชอบ เพราะไม่ว่าคดีจะแพ้จะชนะลูกความจะได้เงินคืนหรือไม่ ทนายความก็ได้เงินค่าจ้างไปเต็มๆแล้ว ทนายความบางคนมีความรับผิดชอบ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ เมื่อได้รับค่าจ้างทั้งหมดแล้ว ก็ทำงานอย่างเต็มที่ แต่ทนายความบางคนพอได้เงินไปหมดแล้วทำงานแบบขอไปทีก็มี
2.การเรียกเก็บเป็นงวดๆตามความสำเร็จของงาน คือ เมื่อเรียกเก็บเงินคืนมาได้เท่าไหร่ ก็จะแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ทนายความเป็นครั้งๆตามจริงไป วิธีการแบบนี้ เป็นการการันตีว่าทนายความจะทำงานอย่างเต็มที่ เพราะถ้าลูกความไม่ได้เงินคืน ทนายความก็ไม่ได้เงินเหมือนกัน วิธีนี้ลูกความได้ประโยชน์แต่ทนายความไม่ค่อยชอบ เพราะถ้าตามเงินคืนไม่ได้ ทนายก็ไม่ได้เงิน และถึงแม้ตามเงินได้คืน ก็มีโอกาสถูกลูกความเบี้ยวไม่จ่ายค่าจ้างได้
ส่วนตัวผู้เขียนเองใช้แบบผสม คือเก็บค่าจ้างส่วนหนึ่งก่อนตอนรับคดี และอีกส่วนหนึ่งเมื่อติดตามหนี้คืนได้
ข้อ 4. เสียค่าธรรมเนียมศาลเท่าไหร่ ?
ถ้าฟ้องคดีอาญาอย่างเดียว ไม่มีค่าธรรมเนียมศาล มีแต่ค่าส่งหมายให้จำเลย โดยค่าส่งหมายให้กับจำเลยจะอยู่ที่ประมาณ 500-1,000 บาท ต่อจำเลยหนึ่งคน ยกเว้นถ้าจำเลยท่านอยู่ถิ่นธุรกันดารมาก หรืออยู่บนเกาะ แบบนี้จะเสียส่งหมายเยอะหน่อย ซึ่งค่าส่งหมายนั้นสามารถตรวจสอบได้ตามเว็บไซต์ของศาลอยู่แล้ว โดยทั่วไปแต่คดีจะต้องเสียค่าส่งหมายให้จำเลย ประมาณ 2 ครั้งเป็นอย่างต่ำ (ครั้งหนึ่งตอนฟ้อง อีกครั้งหนึ่งตอนศาลประทับฟ้องแล้ว)
ถ้าฟ้องคดีแพ่ง นอกจากต้องเสียค่าส่งหมายแล้ว ยังจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ ของยอดเงินที่ฟ้องคดี แต่รวมแล้วไม่เกินสองแสนบาท ยกเว้นหากทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีไม่เกิน 300,000 บาท จะเสียค่าธรรมเนียมเพียง 1,000 บาท
ข้อ 5. นานไหมกว่าจะได้เงินคืน จะได้เงินคืนทั้งหมดทีเดียวเลยไหม แล้วจะได้ดอกเบี้ยหรือไม่ ?
คดีเช็คส่วนใหญ่ที่ฟ้องคดีเองโดยตรงต่อศาล ต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเป็นขั้นต่ำกว่าจะได้ตัวจำเลยมาเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาล จากนั้นศาลจะไกล่เกลี่ยเจรจาให้คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันในเบื้องต้นก่อน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการสืบพยานต่อไป
หากยอดหนี้ของเจ้าหนี้เป็นยอดหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน คดีมักจะจบที่ชั้นไกล่เกลี่ย ซึ่งในการไกล่เกลี่ย มีโอกาสน้อยมากที่เจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ทั้งหมดในงวดเดียว เพราะถ้าลูกหนี้มีเงินก้อน คงไม่ปล่อยให้เช็คเด้งจนตนเองต้องถูกฟ้อง ส่วนใหญ่แล้วลูกหนี้ที่ถูกฟ้องมีปัญหาการเงินกันทั้งสิ้น ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วลูกหนี้มักจะขอผ่อนชำระหนี้ ดังนั้นแล้วศาลมักจะช่วยไกล่เกลี่ยให้ ฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงกันให้ลูกหนี้ผ่อนชำระภายในระยะเวลาที่สองฝ่ายพอใจ และที่ศาลเห็นสมควร โดยระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ มักจะอยู่ที่ระยะเวลา 6 เดือน หนึ่งปี หรือ หนึ่งปีเศษ ถ้านานกว่าระยะเวลาดังกล่าว ต้องปรึกษาผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะสำนักงานศาลยุติธรรม มีนโยบาย ไม่ต้องการให้คดีคั่งค้างที่ศาลเป็นเวลานานๆ ผู้พิพากษาบางท่านไม่นิยมให้กำหนดเวลาผ่อนชำระยาวนาน แต่ผู้พิพากษาบางท่านใจดีหน่อย ก็ให้โอกาสลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้เป็นเวลานานหน่อย
ดังนั้นแล้วโดยทัั่วไปแล้วกว่าจะเริ่มได้รับชำระหนี้คืน มักใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน และส่วนใหญ่จะได้คืนในรูปของการผ่อนชำระ ไม่ได้รับชำระเป็นเงินก้อนทีเดียวแต่อย่างใด ซึ่งผู้เขียนในฐานะทนายความอาชีพ จะอธิบายเจ้าหนี้เสมอว่า เมื่อฟ้องคดีแล้ว โอกาสที่ท่านจะได้รับชำระหนี้ก้อนเดียวทั้งหมดในคราวเดียวนั้น เป็นไปได้น้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการผ่อนชำระแทบทั้งสิ้น
ส่วนในเรื่องดอกเบี้ยนั้น ขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงกัน อาจจะคิดดอกเบี้ยระหว่างผ่อนชำระด้วยหรือไม่ก็ได้
ข้อ 6.ทำไมต้องให้ลูกหนี้ผ่อนชำระด้วย ?
มีเหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้เจ้าหนี้ควรให้โอกาสลูกหนี้ในการผ่อนชำระหนี้ ดังนี้
1.ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมให้ลูกหนี้ผ่อนชำระ เท่ากับเป็นการบีบบังคับลูกหนี้ให้สู้คดีไปในตัว ซึ่งหากลูกหนี้สู้คดีแล้วกว่าคดีจะจบในชั้นต้นก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนถึง 1 ปี หรือหากมีการอุทธรณ์ ฎีกา ต่อไป อาจใช้เวลารวมเป็น 2 – 3 ปี ดังนั้นการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ในระยะเวลา สัก 6 เดือน 1 ปี หรือ 1 ปีเศษ ย่อมดีกว่าการต่อสู้คดีกันไปเพราะใช้เวลาใกล้เคียงกันหรืออาจจะมากกว่า นอกจากนี้การสู้คดียังมีโอกาสทั้งแพ้และชนะ หากรูปคดีของท่านมีข้อบกพร่อง ท่านอาจจะแพ้คดีก็ได้ และหากท่านแพ้คดีขึ้นมาก ย่อมเป็นการยากที่จะติดตามหนี้สินกับลูกหนี้ต่อไปได้
แต่ถ้าหากเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ผ่อนชำระ ในการที่ลูกหนี้จะผ่อนชำระหนี้ ก็ต้องรับสารภาพในคดีอาญาเสียก่อน และขอให้ศาลเลื่อนการอ่านคำพิพากษาเพื่อรอฟังผลการชำระหนี้ไป ถ้าว่ากันตามตรง ก็เท่ากับว่าเจ้าหนี้ไม่ต้องเสี่ยงลุ้นผลแพ้ชนะคดีอีก
2.หากลูกหนี้มีเงินก้อนชำระท่าน คงไม่ปล่อยให้ตัวเองต้องถูกดำเนินคดีอาญา ส่วนใหญ่ลูกหนี้มักจะมีปัญหาการเงินทั้งสิ้น
ข้อ 7. ถ้าลูกหนี้ไม่ผ่อนชำระแล้วทำยังไงต่อไป ?
ถ้าลูกหนี้ตกลงจะผ่อนชำระหนี้แล้วไม่ชำระหนี้ ทนายความจะจัดการแจ้งเรื่องต่อศาล จากนั้นศาลจะออกหมายเรียกลูกหนี้มา และสอบข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้จริงหรือไม่ หากข้อเท็จจริงได้ความว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ศาลจะอ่านคำพิพากษาลงโทษจำคุกลูกหนี้ ส่วนโทษจำคุกเป็นจำนวนนั้น ต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงในคดีไป และหากลูกหนี้ไม่มาศาลตามกำหนดก็จะถูกออกหมายจับและยึดเงินประกันตัว
ข้อ 8.ข้อควรรู้อื่นๆ
1.หลังจากยื่นฟ้องและทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ศาลจะออกหมายเรียกลูกหนี้เปลี่ยนฐานะเป็นจำเลยเรียบร้อยแล้วมาศาล ซึ่งจำเลยต้องประกันตัว ด้วยเงินสดหรือหลักทรัพย์ เป็นยอดเงินประมาณ ⅓ ของจำนวนหนี้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งประกันตัวของจำเลยนี้สามารถตกลงกับจำเลยให้นำมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ ในหนี้งวดสุดท้าย
2.ถ้าท่านสะดวก ท่านควรไปศาลเองพร้อมทนายความเองทุกครั้ง ถึงแม้ท่านจะสามารถมอบอำนาจให้ทนายความไปศาลและเบิกความแทนท่านได้ แต่ตัวท่านเป็นผู้รู้ข้อเท็จจริงดีที่สุด ดังนั้นท่านควรไปเบิกความที่ศาลด้วยตนเอง นอกจากนี้การที่ไปศาล ยังจะทำให้ท่านได้ประโยชน์อื่นๆอีก เช่น ได้เห็นนิสัยใจคอของ ผู้พิพากษา ของทนายฝ่ายจำเลย รวมทั้งได้เจรจากับจำเลยเองโดยตรง
3.ถ้าลูกหนี้จ่ายไม่หมด ก็มีโอกาสไม่ติดคุกได้ ถ้าลูกหนี้ได้ชำระหนี้มาแล้วจนเกือบหมด เช่นชำระมา 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และมีข้อเท็จจริงที่ปรากฎว่า ลูกหนี้ได้พยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว ที่จะชำระหนี้แต่สุดกำลังจริงๆ ศาลอาจพิพากษาลงโทษลูกหนี้แต่รอการลงโทษเอาไว้ก็ได้ ดังนั้นในงวดท้ายๆ หากลูกหนี้พยายามผ่อนชำระแล้ว หาไม่ได้จริงๆ ลูกหนี้ขอเวลาเพิ่มอีกนิดๆหน่อย ก็ควรให้โอกาสลูกหนี้บ้างอย่าบีบเขาเกินไป