แบ่งยากันเสพ เป็นการจำหน่าย หรือไม่ ?
เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2560) มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ซึ่งการแก้ไขข้อที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือ การแก้ไขเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการครอบครองยาเสพติด ในกรณีที่ครอบครองยาเสพติดเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด เช่น กรณีมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองเกิน 15 หน่วยการใช้ หรือมีสารบริสุทธิ์เกิน 0.375 กรัม จากเดิมถือเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าครอบครองครองเพื่อจำหน่ายโดยกฎหมาย(เดิม)ใช้คำว่า ”ให้ถือว่า… มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย” แต่กฎหมาย (ใหม่) ใช้เป็นข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด โดยใช้คำว่า “ให้สันนิษฐานว่า…มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย”
หมายความว่า ถ้าผู้ต้องหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด เช่นมีไว้เกิน 15 หน่วยการใช้ หรือมีสารบริสุทธิ์เกิน 0.375 กรัม ในกรณียาเสพติดให้โทษประเภท 1 เช่นยาบ้า ยาไอซ์ จะไม่ถือเด็ดขาดว่าผู้ต้องหามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยที่ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิสู้คดีแบบกฎหมายเดิม แต่อย่างไรก็ดี กรณีแบบนี้ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและเป็นหน้าที่ของฝ่ายผู้ต้องหาที่จะต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่า ตนเองไม่ได้มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ดังนั้นต่อจากนี้ไป คงมีการต่อสู้คดีในลักษณะที่ว่า ไม่มีเจตนาครอบครองเพื่อจำหน่ายมากขึ้น
ซึ่งในกรณีที่พบเจอยาเสพติดจำนวนมาก เช่น มีจำนวน เกิน 100 หน่วยการใช้ หรือมีสารบริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก คงเป็นการยากที่จะสู้คดีในลักษณะนี้ แต่ในกรณีที่พบเจอยาเสพติดไม่มาก เช่น เจอแค่ 3-4 หน่วยการใช้ แต่บังเอิญมีสารบริสุทธิ์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงต้องสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เช่นนี้ย่อมถือว่ามีแนวทางต่อสู้คดีอยู่ว่า มีไว้เพื่อเสพเองหรือมีไว้เพื่อแบ่งกันเสพกับบุคคลอื่น
ซึ่งคดีลักษณะนี้มีข้อกฎหมายที่น่าสนใจอยู่ เพราะคำว่า “จำหน่าย” ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2552 มาตรา 4 มิได้หมายความแต่เพียง การขายตามที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่หมายความรวมทั้ง การขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน หรือให้
ซึ่งในกรณีที่ผู้ต้องหาครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อแบ่งกันเสพกับบุคคลอื่นๆ หรือร่วมกันซื้อยาเสพติดมาแล้วแบ่งกันเสพกับบุคคลอื่นๆนั้น จะถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่
ประเด็นนี้มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาสองแนวด้วยกัน คือ
1.กรณีที่ผู้กระทำผิดซื้อยาเสพติดมาเพื่อเสพร่วมกันกับบุคคลอื่นๆ หรือซื้อยาเสพติดมาให้บุคคลอื่นเสพร่วมกัน ถือเป็นการกระทำให้ยาเสพติดให้โทษแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นๆด้วยการ จ่าย แจก แลกเปลี่ยน อันเป็นการจำหน่ายตาม บทนิยามของคำว่า จำหน่าย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 2522 มาตรา 4 ดังนั้นการร่วมกันซื้อยาเสพติดมาแบ่งกันเสพจึงถือเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยมีแนวคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยทำนองนี้ เช่น 3741/2553 ,2316/2544 ,2947/2543
2.ในกรณีที่ผู้กระทำผิดซื้อยาเสพติดมาเพื่อแบ่งกันเสพกับบุคคลอื่นๆ ซึ่งบุคคลอื่นนั้นมีเจตนาจะเสพยาเสพติดกับผู้กระทำผิดมาตั้งแต่ต้น หรือแบ่งกันเสพกับบุคคลที่ร่วมกันออกเงินเพื่อซื้อยาเสพติดมาเสพด้วยกัน ถือเป็นการมอบยาเสพติดให้ผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน มิได้มีเจตนาแจก จ่าย ขาย จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้ ให้แก่บุคคลภายนอก จึงไม่มีความผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะคำว่าจำหน่าย จะต้องหมายถึงการจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่ผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน โดยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยเช่นนี้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2559 , 13605/2555 ,3578/2553 ,7471/2551 ,5288/2549 ,224/2549 ,4776/2545
ทั้งนี้ตามหลักการตีความกฎหมายอาญานั้น นอกจากจะต้องตีความตามตัวอักษรแล้ว ยังต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอีกด้วย ดังจะเห็นได้ว่า แต่เดิมศาลฎีกาเคยตีความคำว่า “ผลิต” ตาม พ.ร.บ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งตามมาตรา 4 คำว่า “ผลิต” ให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย
ซึ่งแต่เดิมศาลฎีกาเคยตีความเคร่งครัดตามลายลักษ์อักษรว่า การแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ถือเป็นการผลิตเสมอ ถึงแม้จะมียาเสพติดจำนวนน้อยเท่าใด หรือถึงแม้ทำไว้เพื่อความสะดวกในการเสพยาเสพติดของตนเอง ไม่ได้มีเจตนาเพื่อการจำหน่ายก็ถือว่าเป็นการผลิต เช่น ถ้าผู้กระทำผิดมียาเสพติดอยู่ 2 เม็ด ทำการแบ่งบรรจุใส่หลอดกาแฟไว้ เพื่อติดตัวเอาไปเสพเอง ก็ถือเป็นการผลิต ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึงตลอดชีวิต โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยทำนองนี้ เช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2532 , 1798/2540 4183/2540 ซึ่งการตีความเช่นนี้ก่อให้เกิดผลประหลาดเป็นอย่างมาก
แต่ต่อมาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ ได้ตีความคำว่า “แบ่งบรรจุและรวมบรรจุ ” โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมาประกอบด้วย โดย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9167/2544 วินิจฉัยว่า “ การแบ่งบรรจุยาเสพติดให้โทษเพื่อความสะดวกในการใช้หรือเสพของผู้แบ่งบรรจุเอง มิใช่เพื่อจำหน่ายจ่ายแจกแก่บุคคลทั่วไป ไม่ใช่การแบ่งบรรจุซึ่งมีลักษณะเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมในทำนองเดียวกับการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป และสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “ผลิต” ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันผลิตหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2544) ,และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9239/2544 (โปรดดูหมายเหตุท้ายฎีกา โดยท่านศิริชัย วัฒนโยธิน)
ดังนั้นแล้ว ตามความเห็นของผู้เขียน จึงมีความเห็นพ้องด้วยกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแนวที่สองว่า โดยเห็นว่า การตีความคำว่า “จำหน่าย” ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ มาตรา ย่อมจะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมาประกอบด้วย โดยผู้เขียนเห็นว่า การ จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ ยาเสพติด ตามมาตราดังกล่าว จะต้องมีลักษณะเป็นการกระทำในลักษณะที่ทำให้ให้ยาเสพติดแพร่กระจายไปยังบุคคลภายนอก มิใช่เป็นการ จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ ระหว่างผู้ที่มีเจตนาร่วมกระทำผิดด้วยกันมาตั้งแต่ต้น
ตัวอย่างเช่น นาย ก.ร่วมกันออกเงินกับเพื่อนเพื่อไปซื้อยาเสพติดมาเพื่อแบ่งกันเสพ เมื่อนาย ก.ได้ยาเสพติดมาแล้ว ก็มอบให้กับเพื่อนเพื่อแบ่งกันเสพด้วยกัน เช่นนี้ย่อมไม่ถือว่าการกระทำของ นาย ก. เป็นการจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เพราะเป็นการส่งมอบยาเสพติดให้ผู้ที่ีมีเจตนาร่วมกันกระทำผิดด้วยกันมาตั้งแต่ต้น แต่หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปว่า เพื่อนของ นาย ก. ไม่ได้มีเจตนาเสพยาเสพติดมาตั้งแต่ต้น หรือไม่ได้ร่วมกันออกเงินซื้อยาเสพติด แต่นาย ก.นำยาเสพติดมา จำหน่าย จ่าย แจก เพื่อให้เพื่อนเพื่อเสพร่วมกัน ถึงแม้จะไม่ได้คิดเงิน เป็นการให้ฟรีๆ ก็ย่อมถือเป็นการจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ