บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง, คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

การขออนุญาตยื่นคำให้การ  ฉบับสมบูรณ์ รวมคำอธิบายข้อกฎหมาย คำอธิบาย พร้อมคำพิพากษาศาลฎีกา และเทคนิคตัวอย่างทางปฏิบัติในการทำงาน

การขออนุญาตยื่นคำให้การ มีหลักเกณฑ์อย่างไร ต้องบรรยายคำร้องแบบไหน ต้องเตรียมตัวอย่างไร และศาลมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร ? 

วันนี้ผมจะมาอธิบายแบบละเอียด พร้อมเทคนิคการทำงานในทางปฏิบัติ และตัวอย่างการทำงานจากคดีความจริง สำหรับใช้เป็นคู่มืออ้างอิงประกอบการทำงานและศึกษาค้นคว้าครับ 

ทั้งนี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่อ้างอิงในบทความนี้ หากท่านต้องการอ่านตัวเต็ม ท่านสามารถกดคลิกที่ตัวเลขคำพิพากษาเพื่ออ่านฉบับเต็มได้เลย ผมจะไม่นำคำพิพากษาฉบับเต็มมาใส่ในบทความ เพื่อไม่ให้บทความยาวและอ่านยากโดยไม่จำเป็นครับ 

การขออนุญาตยื่นคำให้การ คืออะไร 

การขออนุญาตยื่นคำให้การนั้น อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือการที่จำเลยขอโอกาสต่อศาล เพื่อยื่นคำให้การต่อสู้คดีอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การในเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว  

ทั้งนี้ในคดีแพ่งสามัญ เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องของโจทก์แล้ว จำเลยมีหน้าที่จะต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ( ป.วิ.พ.ม.177 ) 

หากครบกำหนดยื่นคำให้การแล้วจำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ย่อมถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคําให้การ (ป.วิ.พ.ม.197)

เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ย่อมทำให้จำเลยเสียเปรียบในรูปคดีเป็นอย่างมาก

กล่าวคือการพิจารณาคดีของศาล ก็จะเป็นไปในลักษณะของการฟังพยานหลักฐานของโจทก์ไปเพียงฝ่ายเดียว

เพราะจำเลยจะไม่มีสิทธินำสืบพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานเอกสารฝ่ายของตนให้ศาลพิจารณา  เพราะจะมีแต่เพียงประเด็นตามคำฟ้องของโจทก์เท่านั้น

จำเลยจะมีสิทธิเพียงถามค้านพยานของฝ่ายโจทก์ เพื่อให้เห็นว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลน่าเชื่อถือตามคำฟ้องเท่านั้น 

ส่วนประเด็นข้อต่อสู้อื่นๆของจำเลย หากไม่ใช่ข้อกฎหมายเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยไม่สามารถยกขึ้น และศาลก็ไม่มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเองได้

ตัวอย่างเช่น ถึงคดีขาดอายุความแล้ว แต่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลก็ไม่อาจหยิบยกข้อกฎหมายเรื่องอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยได้ ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1261/2547

จะเห็นได้ว่า หากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ย่อมทำให้มีโอกาสสูงมากที่จำเลยจะแพ้คดี เว้นแต่รูปคดีของโจทก์จะไม่มีมูล หรือเป็นฟ้องที่ขัดต่อกฎหมายแบบชัดเจนจริงๆ ศาลจึงจะใช้ดุลยพินิจยกฟ้องโจทก์ได้  ( ป.วิ.พ.ม.198ทวิ )

ดังนั้นแล้ว เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ กฎหมายจึงให้โอกาสจำเลยอีกครั้งหนึ่ง ที่จะร้องขอต่อศาล เพื่อขออนุญาตยื่นคำให้การ เพื่อให้กลับมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเสียเปรียบในการต่อสู้คดี (ตาม ป.วิ.พ.ม.199 )

หลักเกณฑ์ การขออนุญาตยื่นคำให้การ

การขออนุญาตยื่นคำให้การนั้น  ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยขอมาแล้วศาลก็จะอนุญาตให้เสมอไป  เพราะหากศาลอนุญาตให้ยื่นคำให้การได้เสมอ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ กฎหมายก็คงไม่มีสภาพบังคับ เพราะจำเลยก็คงไม่ยอมยื่นคำให้การภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยหวังว่าจะมาขออนุญาตยื่นคำให้การในภายหลัง

ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดหลักเกณฑ์ ว่า การขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลย นั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 

1.จำเลยจะต้องแจ้งศาลในโอกาสแรกที่มาศาล ว่าตนเองประสงค์จะยื่นคำให้การ 

หมายความว่า หากจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดี เมื่อจำเลยมาศาล  จำเลยก็ต้องแจ้งต่อศาลทันทีในโอกาสแรกว่าตนเองประสงค์จะต่อสู้คดี 

ไม่ใช่ว่าจำเลยมาศาลแล้วไปขอเจรจาไกล่เกลี่ยกับโจทก์ หรือขอต่อรองหนี้สินโจทก์ โดยไม่แจ้งต่อศาลเลยว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ถูกต้องอย่างไร 

ภายหลังเมื่อตกลงกันไม่ได้แล้วจึงค่อยมาขออนุญาตยื่นคำให้การ หรือแจ้งต่อศาลว่าตนเองประสงค์จะต่อสู้คดี 

เช่นนี้ กฎหมายมองว่าลักษณะคล้ายกับการประวิงคดี และไม่มีเจตนาจะต่อสู้คดีอย่างจริงจัง ศาลก็จะตัดสิทธิไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การ

 ทั้งนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1865/2517   ,  คำพิพากษาศาลฎีกา 1435/2521  ,คำพิพากษาศาลฎีกาที่4084/2528

2.การขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยจะต้องไม่เป็นไปโดยจงใจ 

หมายความว่า การที่จำเลยจะขออนุญาตยื่นคำให้การได้นั้น การขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลย จะต้องไม่ใช่เกิดจากเจตนาที่จะไม่ยื่นคำให้การภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด 

หากจำเลยขาดนัดยื่นคําให้การ เพราะคิดว่าไม่ต้องไปสู้คดีก็ชนะอยู่แล้ว หรือคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ต้องไปยื่นคำให้การก็ได้ หากเป็นเช่นนี้ย่อม ถือเป็นการขาดนัดโดยจงใจ ซึ่งศาลก็อาจจะไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การ (ยกเว้นแต่จะเข้ากรณีตามข้อ 3 )

ตัวอย่างการขาดนัดโดยไม่จงใจมีหลายอย่าง เช่น

  • จำเลยย้ายที่อยู่ โดยที่อยู่ปัจจุบันไม่ตรงกับทะเบียนราษฎร์ ทำให้ไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องคดี 
  • จำเลยพักอาศัยอยู่ที่คอนโด หรือหมู่บ้านจัดสรร มีบุคคลอื่นรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแทนจำเลยไว้แต่กลับไม่แจ้งให้จำเลยทราบ 
  • จำเลยหรือทนายความจำเลย เกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วยกระทันหัน หรือมีเหตุฉุกเฉินทำให้ยื่นคำให้การไม่ทันภายในกำหนด 
  • จำเลยเป็นบุคคลยากจน ไม่มีความรู้ หลังจากถูกฟ้องคดีก็ต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อสู้คดี จึงไม่สามารถยื่นคำให้การได้ทันกำหนด 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่2212/2535 /คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1121/2535/ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 268/2506 / คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2888-2889/2531 /คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7527/2541 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่891/2538/ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 107/2521 /คำพิพากษาศาลฎีกาที่3567/2524 /คำพิพากษาศาลฎีกาที่2902/2538/คำพิพากษาศาลฎีกาที่7040/2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่2606_2536 /คำพิพากษาศาลฎีกาที่296-297/2552/คำพิพากษาศาลฎีกาที่4247_2539 /คำพิพากษาศาลฎีกาที่2888/2531

3.มีเหตุสมควรที่จะให้จำเลยยื่นคำให้การ 

หมายความว่า คดีดังกล่าว เป็นเรื่องสำคัญหรือมีเหตุที่ศาลไม่ควรที่ศาลจะด่วนตัดสินคดีความไปฝ่ายเดียว แต่ควรจะรับฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายจำเลยมาประกอบด้วย 

ดังนั้นถึงแม้จำเลยจงใจขาดนัดยื่นคําให้การ แต่หากรูปคดีมีเหตุสมควร ศาลก็สามารถอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การได้

ตัวอย่างเหตุอันสมควร มีหลายอย่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลเป็นคดีๆไป เช่น

  • คดีมีทุนทรัพย์สูงหลายล้านบาท
  • เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิสภาพในครอบครัว
  • คดีเกี่ยวด้วยตัวบุตรผู้เยาว์
  • เป็นคดีที่จะกระทบกระเทือนต่อประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนมาก 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่1146/2497/คำพิพากษาศาลฎีกาที่1383/2506/ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2539 /คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6844/2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่3574/2538 / คำพิพากษาศาลฎีกาที่1492/2562

4.จะต้องไม่เป็นผู้ต้องห้ามไม่ให้ยื่นคำร้องอนุญาตยื่นคำให้การ

ผู้ต้องห้ามไม่ให้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การตตามกฎหมาย มีด้วยกัน 3 ประเภท คือ

4.1 จำเลยที่เคยขออนุญาตยื่นคำให้การมาแล้วครั้งหนึ่ง แล้วศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยื่นคำให้การภายในกำหนดแล้ว แต่ก็ยังขาดนัดยื่นคำให้การอีก (ป.วิ.พ.ม.199 วรรคสาม)

4.2 จำเลยที่ไม่แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนเองประสงค์จะต่อสู้คดี หรือจำเลยที่เคยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การมาแล้ว แต่ศาลไม่อนุญาต เพราะเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นเป็นไปโดยจงใจ หรือไม่มีเหตุอันสมควร (ป.วิ.พ.ม.199 วรรคสาม)

4.3 จำเลยที่แพ้คดีไปแล้ว และมาขอพิจารณาคดีใหม่ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ และให้จำเลยยื่นคำให้การในเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่ยื่นคำให้การภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด (ป.วิพ. ม.199 ตรี ,199 เบญจ วรรคสาม ประกอบมาตรา 199 วรรคสาม)

กล่าวโดยสรุปง่ายๆก็คือ การขออนุญาตยื่นคำให้การ ไม่ว่าศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ก็ทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถมาขอใหม่ได้

หลักการบรรยายคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ

หลักโดยสังเขป ในการบรรยายคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การมีดังนี้ 

ข้อ 1. บรรยายว่า คดีนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการอะไร แล้วบรรยายต่อไปว่าปัจจุบันจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด 

ตัวอย่างเช่น

คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดนัดไกล่เกลี่ยหรือสืบพยานโจทก์ในวันนี้ โดยจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด 

ข้อ 2.บรรยายว่า เหตุใดจำเลยจึงไม่ได้ยื่นคำให้การภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด และย้ำโดยใช้ถ้อยคำตามตัวบทกฎหมายแปลว่าที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การนั้นไม่เป็นไปโดยไม่จงใจ 

ตัวอย่างเช่น 

ตัวอย่างที่ 1

จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่…. เนื่องจากทนายโจทก์โทรมาแจ้งให้ทราบ โดยจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ไม่ตรงกับที่อยู่ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์ และที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ของจำเลยนั้นไม่มีผู้พักอาศัยอยู่

ทั้งนี้เนื่องจากจำเลยมาทำงานอยู่ที่ต่างจังหวัด และพักอาศัยอยู่ที่ต่างจังหวัดเป็นประจำ ปีหนึ่งจะกลับไปที่พักตามทะเบียนราษฎร์แค่ปีละครั้งหรือสองครั้ง รายละเอียดปรากฏตามสัญญาเช่าคอนโด หรือหอพักและหนังสือรับรองการทำงานเอกสารท้ายคำร้อง 

จำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ที่ไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดเป็นเพราะไม่ทราบว่าถูกฟ้องคดีนี้ 

ตัวอย่างที่ 2

จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ ….. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลโทรมาแจ้งให้ทราบ เพราะจำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้เช่าที่ทำการประกอบธุรกิจและได้ย้ายสถานที่เช่าไปก่อนที่จะได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องคดีนี้แล้ว รายละเอียดปรากฏตามรูปบริษัทของจำเลย รูปที่ทำการตามคำฟ้อง สัญญาเช่าฉบับเก่าและฉบับใหม่ 

จำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ที่ไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดเป็นเพราะไม่ทราบว่าถูกฟ้องคดีนี้ 

ตัวอย่างที่ 3

จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่….. เนื่องจาก จำเลยเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ และบ้านของจำเลยไม่มีผู้พักอาศัยอยู่ เมื่อเดินทางกลับมา กลับมาเห็นมีหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง แปะไว้อยู่ในที่หน้าที่พักของจำเลย 

จำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ที่ไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดเป็นเพราะไม่ทราบว่าถูกฟ้องคดีนี้ 

ซึ่งการบรรยายคำร้องในส่วนนี้ย่อมจะต้องปรับไปตามข้อเท็จจริงในแต่ละคดีไป 

ข้อ 3.บรรยายว่า มีเหตุสมควร ที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การอย่างไร 

ตัวอย่างเช่น 

ตัวอย่างที่ 1

คดีนี้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์สูงถึง 10 ล้านบาท และจำเลยมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้ชนะคดีได้ ดังนั้นจึงควรเปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ 

ตัวอย่างที่ 2

คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจำเลยพักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว และจำเลยมีพยานหลักฐานที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท  ดังนั้นจึงควรเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

ตัวอย่างที่ 3

คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ และกระทบถึงความผาสุกและสวัสดิภาพของบุตรผู้เยาว์  จึงสมควรให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ 

ตัวอย่างที่ 4

โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต นำพยานหลักฐานปลอมมาฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งจำเลยได้แจ้งความดำเนินคดีจะจดไว้แล้วและพนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับโจทก์คดีนี้ไว้แล้ว  จึงควรเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

ซึ่งการบรรยายคำร้องในส่วนนี้ย่อมจะต้องปรับไปตามข้อเท็จจริงในแต่ละคดีไป 

ข้อ 4.อาจจะบรรยายเพิ่มเติมว่า เราได้ยื่นต่อศาลภายในโอกาสแรกที่มาศาลแล้ว 

ตัวอย่างเช่น

คดีนี้โจทก์ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตคำให้การทันทีที่ได้มาศาลในนัดนี้ 

ข้อ5. บรรยายคำขอว่า เราขออนุญาตยื่นคำให้การ เพื่อต่อสู้คดีต่อไป

ตัวอย่างเช่น

ด้วยเหตุดังจำเลยประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และให้ศาลได้ทราบข้อเท็จจริง โดยละเอียดครบถ้วนรอบด้าน จึงขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีต่อไป 

เทคนิคทางปฏิบัติในการ ขออนุญาตยื่นคำให้การ

เทคนิคทางปฏิบัติในการขออนุญาตยื่นคำให้การ จากประสบการณ์ของผม มีดังนี้

1.การร้องขออนุญาตยื่นคำให้การสามารถแถลงด้วยวาจาที่ศาลเลยก็ได้ หรือทำเป็นคำร้องไปก็ได้ แต่ทางปฏิบัติแล้ว ควรต้องทำเป็นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การเป็นหนังสือเข้าไปจะได้ผลดีกว่า 

เพราะเราจะสามารถชี้แจงเหตุผลข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานต่างๆให้ศาลรับทราบได้ครบถ้วนมากกว่าการแถลงด้วยวาจา

2.จำไว้ให้ดีว่า การยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ จะต้องยื่นใน “วันที่จำเลยหรือทนายความจำเลยมาศาลครั้งแรก” เท่านั้น  เพราะตาม ป.วิ.พ.ม.199 วางหลักไว้ว่าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การจะต้องแจ้งศาลใน”โอกาสแรก”ว่าตนเองประสงค์จะต่อสู้คดี

 ดังนั้นหากในนัดแรกที่จำเลยหรือทนายความจำเลยมาศาล ไม่ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ แต่ไปไกล่เกลี่ยอย่างเดียว ภายหลังจะมายื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การไม่ได้แล้ว เพราะถือว่าไม่ได้แจ้งศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี ดังนั้นจุดนี้จึงเป็นจุดที่จำเลยและทนายความจำเลยจะต้องระวังให้ดี

3.ทางปฏิบัติ หากสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานได้ครบถ้วนพร้อมทำคำให้การแล้ว เราสามารถจัดทำคำให้การยื่นไปพร้อมกันกับคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การเลย 

เพราะศาลจะได้อ่านคำให้การของเราไปพร้อมกัน และหากคำให้การของเรามีเหตุผล น่าเชื่อถือ มีพยานหลักฐานต่างๆยืนยันชัดเจน ก็จะมีโอกาสทำให้ศาลเห็นว่าคดีของเรามีเหตุสมควรที่จะอนุญาตยื่นคำให้การได้ 

ถ้าหากศาลมีคำสั่งอนุญาตยื่นคำให้การแล้ว ศาลก็จะสั่งรับคำให้การของเราไปในคราวเดียวกัน

4.ถ้าฝ่ายโจทก์ไม่คัดค้านการขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลสามารถอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การได้เลย 

แต่หากฝ่ายโจทก์คัดค้าน ศาลจะต้องไต่สวนคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การก่อน

 ซึ่งศาลมักจะนัดไต่สวนในวันนัดครั้งหน้า ซึ่งในการไต่สวนคำร้องควรเตรียมคำเบิกความไปให้พร้อม และนำพยานหลักฐานต่างๆที่ชี้แจงว่าการขาดนัดยื่นคำให้การเป็นโดยไม่จงใจหรือมีเหตุสมควรมาแสดงต่อศาลในวันนัดไต่สวน

5.คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน ดังนั้นแล้วหากศาลไม่อนุญาตให้เรายื่นคำให้การ เราจะต้องโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้เพื่อใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์ฎีกาเมื่อศาลมีคำพิพากษาต่อไป หากไม่โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ จะอุทธรณ์ ฎีกา คัดค้านในภายหลังไม่ได้ ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1261/2547 ,คำพิพากษาศาลฎีกาที่8269/2538

 

ตัวอย่างคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ 

ตัวอย่างที่ 1

ข้อ 1 คดีนี้ศาลได้โปรดนัดชี้สองสถาน และกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์ ในวันนี้

ข้อ 2.จำเลยที่ 1 ขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ และมีเหตุอันควรให้จำเลยที่ 1ยื่นคำให้การ โดยมีรายละเอียดดังนี้

เนื่องจากจำเลยที่ 1  ไม่ได้ประกอบกิจการบริษัท ทามะ ฟู้ด เซอร์วิสเซส จำกัด แล้ว และ จำเลยที่1 ก็ไม่ได้ทำการเช่าที่อยู่ เลขที่ 173/36 หมู่ที่ 2 ตำบล สุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี  ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นที่ตั้งบริษัทของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ยื่นคำร้องขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 อันปรากฏในสำนวนแล้วนั้น เนื่องจากจำเลยที่1 อยู่ในระหว่างจดทะเบียนเลิกบริษัท และสัญญาเช่าอาคารที่ทำการดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 นั้นมีกำหนดระยะเวลาเช่า 1 ปี 2 เดือนโดยนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนถึง1 มีนาคม 2563 ซึ่งหลังจากครบกำหนดสัญญาเช่าดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ก็มิได้ประกอบกิจการ และมิได้ต่อสัญญาเช่า ณ ที่ทำการดังกล่าวต่อ ทำให้จำเลยที่ 1 และบริวารของจำเลยที่ 1  มิได้อาศัยและประกอบกิจการ ณ สถานที่ดังกล่าวอีกรายละเอียดปรากฏตามหนังสือสัญญาเช่าบ้าน ฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 และภาพถ่าย บ้านเลขที่ 173/36 หมู่ที่ 2 ตำบลสุรศักด์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ณ ปัจจุบัน เพื่อแสดงว่า จำเลยที่ 1 และบริวาร มิได้อาศัย หรือประกอบกิจการ เอกสารแนบท้ายคำร้องฉบับนี้ หมายเลข 1-2

รวมทั้งโจทก์ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามและใบตอบรับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ของจำเลยที่ 1ตามเอกสารท้ายคำฟ้องโจทก์หมายเลข 6-7 เลขรหัสไปรษณีย์ ED092962501TH ซึ่งส่งให้แก่จำเลยที่ 1 นั้นตามใบติดตามสถานะสิ่งของตามเลขรหัสไปรษณีย์ ED092962501TH แจ้งว่าเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ”นำจ่ายไม่สำเร็จ(ย้าย/ไม่ทราบที่อยู่ใหม่)” เอกสารแนบท้ายคำร้องฉบับนี้ หมายเลข 3

อีกทั้ง นางถวิล พงษ์พิชัย ผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่าฉบับดังกล่าว ก็มิได้แจ้ง ถึงเรื่องหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 จึงมิได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ของโจทก์ ซึ่งได้ส่งมาด้วยวิธีการปิดหมาย เมื่อวันที่  18 กันยายน 2564  โดยจะครบกำหนดยื่นคำให้การ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2564  จำเลยที่ 1 จึงไม่ทราบถึงการมีอยู่ของหมายเรียก และ สำเนาคำฟ้องของโจทก์  ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถได้ยื่นคำให้การตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้ทัน    อีกทั้งทนายความความจำเลยที่1เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นทนายความของจำเลยที่ 1 ในวันนี้

จำเลยที่1มีความประสงค์จะต่อสู้คดีซึ่งคดีนี้มีเหตุอันควรให้จำเลยยื่นคำให้การดังต่อไปนี้ กล่าวคือ

1.คดีนี้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์สูงถึง 809,278 บาท 48 สตางค์ จำเลย ที่ 1 จึงขอความเมตตาศาลที่เคารพได้โปรดให้โอกาสจำเลยที่ 1 ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

2.คดีนี้หากจำเลย ที่ 1 ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีแล้ว มีโอกาสที่จะชนะคดีได้ กล่าวคือ ตามฟ้องโจทก์ที่กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์ โดยสั่งซื้อสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบกิจการร้านอาหารของจำเลยที่1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีการสั่งซื้อสินค้า และ รับสินค้าจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง รายละเอียดเบื้องต้นปรากฏตามคำให้การที่แนบมาพร้อมกันนี้

ข้อ 3.ด้วยเหตุดังกล่าวที่จำเลยที่1 ประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ ชี้ให้เห็นว่า การขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นไปโดยจงใจ และมีเหตุอันสมควรจะให้จำเลยที่1 ยื่นคำให้การ จึงขอ

ศาลที่เคารพโปรดไต่สวนคำร้องของจำเลยที่1และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีต่อไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลที่เคารพได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ตัวอย่างที่ 2

ข้อ 1.คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดมีคำสั่งนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 13 กันยายน 2564 และศาลโปรดมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว

ข้อ 2. จำเลยขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า จำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ และมีเหตุอันควรให้จำเลยยื่นคำให้การ ดังมีรายละเอียดดังนี้

จำเลยมีความประสงค์จะต่อสู้คดี และจำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ เนื่องจาก จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ เพราะเหตุที่ ปัจจุบันจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ ณ เลขที่ 2/11 หมู่ 8 ซอยรัตนาธิเบศร์ 17 ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี  ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้ว เนื่องจากนับแต่วันทำสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นมาจนถึงวันส่งมอบงานแก่โจทก์ ในปี 2563 เป็นเวลาเกือบ 1 ปี โจทก์กับจำเลยได้มีการติดต่อกันมาโดยตลอด ซึ่งจำเลยทราบดีว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด แต่ปรากฎว่าโจทก์กลับขอให้ศาลนำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ณ เลขที่ 29/35 หมู่ที่ 7 ตำบลพิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาปัจจุบันของจำเลย อันเป็นเหตุทำให้จำเลยไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องคดีนี้ของโจทก์ และไม่อาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีนี้ไม่ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งคดีนี้มีเหตุอันควรให้จำเลยยื่นคำให้การดังต่อไปนี้

1.คดีนี้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์สูงถึง 1,166,139.50 บาท และยังมีการเรียกร้องดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี อันคำนวณเป็นเงินถึง ปีละ 87,460.46 บาท จำเลยจึงขอความเมตตาศาลโปรดให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

2.คดีนี้หากจำเลยทั้งสามได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีแล้ว มีโอกาสที่จะชนะคดีได้ กล่าวคือ จำเลยไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากจำเลยได้ก่อสร้างอาคารพิพาทได้ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ และได้มาตรฐานตามสัญญาตามที่ตกลงกันกับโจทก์แล้ว โจทก์ไม่ได้ระงับการชำระงวดสุดท้ายเนื่องจากโจทก์ก่อสร้างอาคารพิพาทไม่ได้มาตรฐานตามสัญญา เพราะเหตุที่จำเลยได้ส่งมอบงานก่อสร้างอาคารพิพาท ให้แก่โจทก์แล้ว โดยโจทก์ได้ทำการตรวจรับงานแล้ว ซึ่งโจทก์ยอมรับว่างานก่อสร้างอาคารพิพาท ก่อสร้างตรงตามที่ตกลงกันตามสัญญาแล้ว ซึ่งรายละเอียดจำเลยจะนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป

เมื่อโจทก์ได้รับการส่งมอบงานก่อสร้างอาคารพิพาทจากจำเลยแล้ว ทำให้ โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระเงินงวดสุดท้ายให้แก่จำเลย การที่โจทก์ได้รับการส่งมอบงานก่อสร้างอาคารพิพาทจากจำเลยแล้ว

แต่โจทก์กลับไม่ชำระเงินงวดสุดท้ายให้แก่จำเลย อันถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา  ทั้งนี้การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยเข้ามาแก้ไขงานก่อสร้างอาคารพิพาท เป็นการติดต่อให้จำเลยแก้ไขงานก่อสร้างอาคารพิพาท ภายหลังจากที่จำเลยได้ส่งมอบงานแก่โจทก์เสร็จสิ้นเรียบร้อย ซึ่งถือเป็นการขอแก้ไขงานก่อสร้างอาคารพิพาท โดยใช้สิทธิจากการรับประกันงานจำเลยไม่ใช่การขอแก้ไขงานก่อสร้างอาคารพิพาท ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาระหว่างการทำงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงไม่ชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายแก่จำเลย ซึ่งรายละเอียดจำเลยจะนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป

การขอแก้ไขงานก่อสร้างอาคารพิพาท เป็นการขอแก้ไขงานก่อสร้างอาคารพิพาทโดยใช้สิทธิจากการรับประกันงานจำเลย แต่เพราะเหตุที่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายแก่จำเลย ซึ่งจำเลยได้แจ้งกับโจทก์แล้วว่าให้โจทก์ชำระเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้แก่จำเลยก่อน จำเลยจึงจะเข้าทำการแก้ไขงานก่อสร้างอาคารพิพาทให้ แต่โจทก์กลับปฏิเสธไม่ชำระเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ไม่ชำระเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้แก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิปฏิเสธไม่เข้าแก้ไขงานก่อสร้างอาคารพิพาทดังกล่าว

ทั้งนี้เหตุที่งานก่อสร้างอาคารพิพาทก่อสร้างไม่เสร็จภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ไม่ได้เกิดจากความผิดของจำเลย เนื่องจากระหว่างการก่อสร้างอาคารพิพาทโจทก์ได้มีการเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมงานก่อสร้างอาคารพิพาท นอกจากที่ตกลงกันตามสัญญาเป็นเหตุทำให้งานเกิดความล่าช้า ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้วขณะก่อสร้างอาคารพิพาทว่างานที่โจทก์ขอให้จำเลยเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมดังกล่าวนั้น ทำให้งานก่อสร้างอาคารพิพาทตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เกิดความล่าช้า ประกอบกับวันที่จำเลยส่งมอบงานให้แก่โจทก์ โจทก์ก็มิได้ทักท้วงในเรื่องระยะเวลาการทำงานของจำเลย อันถือได้ว่าโจทก์มิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญาฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เป็นสำคัญ

และเมื่อจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องแต่อย่างใด  ด้วยเหตุดังจำเลยประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ ชี้ให้เห็นว่า การขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยไม่ได้เป็นไปโดยจงใจ และมีเหตุอันสมควรจะให้จำเลยยื่นคำให้การ จึงขอศาลที่เคารพโปรดไต่สวนคำร้องของจำเลยและมีคำสั่งให้จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ตัวอย่างเพิ่มเติมจากประกบการณ์จริง

ผมได้นำตัวอย่างการขออนุญาตยื่นคำให้การ จากประสบการณ์จริงมาให้ผู้สนใจได้ติดตามอ่านกัน สามารถกดอ่านได้ตามลิ๊งด้านล่างเลยครับ

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น