แนวทางการต่อสู้คดีข่มขืน ประเด็นเรื่อง ข่มขืนจริงหรือสมยอม ดูอย่างไร?
ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ความผิดฐานกระทำชำเรา อนาจาร พราก พาไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา หลายๆครั้งที่ผู้เสียหายสมยอมให้ผู้ต้องหากระทำแท้ๆ แต่ตอนแจ้งความกับตำรวจหรือเบิกความต่อศาลกลับบิดเบือนไปว่าตนเองถูกบังคับข่มขืนใจ ทั้งนี้ก็มีเหตุผลหลายประการที่ผู้เสียหายเบิกความบิดเบือนข้อเท็จจริงไปเช่นนั้น
ตัวอย่างเช่น ฝ่ายหญิงไปมีอะไรกับฝ่ายผู้ชายสมยอม เพราะคบกันเป็นแฟนกัน แต่บิดามารดาของฝ่ายหญิงไม่ชอบฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงจึงถูกบิดามารดาบังคับให้ไปแจ้งความ โดยบิดามารดาบังคับให้แจ้งว่าถูกข่มขืน เพื่อกีดกันไม่ให้ฝ่ายผู้ชายมายุ่งกับลูกสาวของตนอีก
หรือฝ่ายหญิงไปมีอะไรกับฝ่ายชายโดยสมยอมกัน และพ่อแม่ของฝ่ายหญิงจับได้ ครั้นในชั้นสอบสวน บิดามารดาของตนก็นั่งฟังการสอบสวนอยู่ด้วย ฝ่ายหญิงจึงอายหรือกลัวไม่กล้าบอกความจริงต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นเรื่องสมยอม เพราะกลัวบิดามารดาดุด่า ก็ต้องโกหกว่าถูกข่มขืน หรือเป็นเรื่องของการวางแผนมาตั้งแต่ต้นเพื่อ แบล็คเมล์กันเพื่อเรียกเงินจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ซึ่งเรื่องต่างๆที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมานี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในบ้านเรา ดังนั้นนักกฎหมายทั้งหลายไม่ว่าท่านทำหน้าที่ในฐานะ ตำรวจ ทนายความ อัยการ หรือ ผู้พิพากษา จะต้องสามารถแยกแยะว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงหรือสมยอม มิใช่จะถือว่าผู้เสียหายเป็นหญิงเป็นฝ่ายเสียหายแล้วจะเบิกความหรือให้การตามจริงเสมอไป
ทั้งนี้โดยต้องใช้หลักทั่วไปในการฟังคำให้การพยานบุคคลซึ่งเป็นพยานเดี่ยวมาวินิจฉัยคำให้การพยานนั้น
คือ 1.คำให้การนั้นต้องสมเหตุสมผล
2.คำให้การนั้นต้องไม่ขัดแย้งกับคำให้การครั้งก่อนของตนเอง
3.คำให้การนั้นต้องไม่ขัดกับวัตถุพยานหรือพยานแวดล้อม
โดยในคดีข่มขืนยังหลักมีหลักโดยสังเขปในการสังเกตว่าเป็นการข่มขืนหรือสมยอมหรือไม่ ดังนี้
1.เนื้อตัวของผู้เสียหายหรือจำเลยมีร่องรองฟกช้ำหรือแผลจากการต่อสู้ขัดขืนหรือไม่ ถ้าผู้เสียหายอ้างว่าถูกข่มขืนและตนเองได้ต่อสู้ขัดขืนกับจำเลยขณะที่มีการข่มขืน แต่กลับไม่มีร่องรอยฟกช้ำหรือบาดแผลใดๆเลยบนตัวจำเลยหรือผู้เสียหายแม้แต่น้อย เช่นนี้ข้ออ้างของผู้เสียหายย่อมฟังไม่ขึ้น
2.ผู้เสียหายกับจำเลยเคยรู้จักกันมาก่อนหรือไม่เพียงใด ถ้าผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนเลย ข้ออ้างที่ว่าผู้เสียหายถูกข่มขืนย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ แต่หากผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักหรือกำลังคบหากันเป็นคนรักกัน แม้จะไม่ใช้ข้อชี้ชัดว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยร่วมประเวณี แต่ก็เป็นจุดหนึ่งที่สามารถทำให้ข้ออ้างว่าถูกจำเลยข่มขืนก็มีน้ำหนักลดน้อยลง
3.ผู้เสียหายยินยอมไปกับจำเลยตั้งแต่ที่แรกหรือไม่ หากผู้เสียหายไม่ยินยอมไปกับจำเลยตั้งแต่แรกแล้ว ข้ออ้างที่ว่าถูกจำเลยข่มขืนย่อมง่ายที่จะรับฟัง แต่กรณีที่ผู้เสียหายยินยอมไปกับจำเลยตั้งแต่ทีแรกแม้ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าผู้เสียหายจะยินยอมร่วมประเวณีกับจำเลย แต่ก็เป็นข้อหนึ่งที่ทำให้ข้ออ้างที่ว่าถูกจำเลยข่มขืนมีน้ำหนักลดลง
4.ขณะที่เกิดเหตุการณ์ข่มขืนหรือขณะที่จำเลยพาตัวผู้เสียหายไปสถานที่ต่างๆนั้น ผู้เสียหายได้มีการพยายามขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นๆหรือไม่ โดยหากผู้เสียหายสามารถขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นๆได้ในขณะนั้น แต่กลับไม่ขอความช่วยเหลือ ข้ออ้างที่ว่าถูกข่มขืนย่อมมีน้ำหนักน้อย โดยในคดีเช่นนี้คนที่พยานมักจะเป็นพนักงานโรงแรมที่ให้บริการแก่ผู้เสียหายและจำเลย หรือผู้ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุการณ์ร่วมประเวณี
5. ประวัติความประพฤติทางเพศของผู้เสียหายเป็นอย่างไร หากประวัติความประพฤติทางเพศของผู้เสียหายนั้นไม่ค่อยดี เช่น เป็นผู้หญิงที่ชอบเที่ยวกลางคืน คบผู้ชายหลายคน ไม่เรียนหนังสือ แม้จะไม่สามารถตีความได้ว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยร่วมประเวณี แต่ข้ออ้างที่ผู้เสียหายถูกข่มขืนย่อมมีน้ำหนักเบาบางลง แต่หากผู้เสียหายมีประวัติความประพฤติทางเพศที่ดี ข้ออ้างที่ว่าผู้เสียหายถูกข่มขืนย่อมมีน้ำหนัก
ทั้งนี้หลักต่างๆเหล่านี้เป็นหลักโดยสังเขปเท่านั้น ในแต่ละคดีย่อมมีข้อเท็จจริงแตกต่างกันไปสุดที่จะวางหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมได้ ซึ่งทนายความจะต้องสามารถวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีว่าเป็นคุณหรือโทษแก่จำเลย เพื่อที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นคุณแก่จำเลยต่อศาล และทำลายน้ำหนักข้อเท็จจริงที่เป็นโทษได้อย่างถูกต้อง