การด่าว่าผู้อื่นทางโทรศัพท์ ผู้ด่าจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ ? ปัญหาดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่จะต้องพิจารณาคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 (ความผิดฐานหมิ่นประมาท) และมาตรา 393 (ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า)
ทั้งนี้ในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ตามตัวบทกฎหมายวางหลักไว้ว่า “มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “
ซึ่งจะเห็นได้ว่าในความผิดฐานหมิ่นประมาทจะต้องมี “บุคคลที่สาม” เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับฟังหรือได้ยินถ้อยคำที่ผู้ต้องหาได้พูดใส่ความผู้เสียหายด้วยเสมอ ทั้งนี้ผู้ต้องหาจะตั้งใจพูดให้บุคคลที่สามนั้นได้ยินโดยเฉพาะ หรือผู้ต้องหาตั้งใจด่าว่าผู้เสียหายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ตั้งใจพูดให้บุคคลที่สามได้ยินถ้อยคำที่ตนด่า แต่โดยพฤติการณ์แล้วผู้ต้องหาย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าถ้อยคำที่ตนเองพูดด่านั้นจะมีบุคคลที่สามจะได้ยินข้อความอย่างแน่นอน ก็ย่อมถือว่าผู้ต้องหามีความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งสิ้น ตัวอย่างเช่นผู้ต้องหาพูดจาด่าผู้เสียหายในสถานที่สาธารณะที่มีบุคคลอื่นอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ผู้ต้องหาจะพูดด่าผู้เสียหายด้วยความโกรธ ตั้งใจด่าผู้เสียหายอย่างเดียว ไม่ตั้งใจให้บุคคลอื่นได้ยิน แต่เมื่อโดยสภาพและพฤติการณ์แล้ว ผู้ต้องหาสามารถเล็งเห็นผลได้ว่าจะมีบุคคลที่สามได้รับฟังถ้อยคำที่ผู้ต้องหาว่ากล่าวนั้นด้วยอย่างแน่นอน ผู้ต้องหาย่อมมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยเจตนาเล็งเห็นผล
แต่ในกรณีที่ผู้ต้องหาพูดด่าผู้เสียหายทางโทรศัพท์นั้น จะเห็นได้ว่ามีผู้เกี่ยวข้องเพียงสองคนเท่านั้น คือตัวผู้เสียหายและผู้ต้องหา ไม่มีบุคคลที่สามเข้ามารับฟังถ้อยคำที่ผู้ต้องหาพูดด่าผู้เสียหาย ดังนั้นการด่าผู้เสียหายทางโทรศัพท์ ถึงแม้ถ้อยคำที่ด่าจะเป็นถ้อยคำที่ร้ายแรง เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อย่างใด ผู้ต้องหาก็ไม่มีความผิด เพราะผู้ต้องหามีเจตนากล่าวกับผู้เสียหายเพียงคนเดียว ไม่มีเจตนาให้บุคคลที่สามเป็นผู้รับฟังถ้อยคำนั้น และถึงแม้ผู้เสียหายจะเปิดลำโพงให้บุคคลอื่นรับฟังถ้อยคำที่ผู้ต้องหาด่าผู้เสียหาย และมีบุคคลอื่นได้รับฟังที่ผู้ต้องหาด่าผู้เสียหาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องนอกเจตนาของผู้ต้องหา เพราะผู้ต้องหาไม่มีเจตนาให้บุคคลที่สามรับฟังถ้อยคำที่ตนเองด่าว่าผู้เสียหาย และไม่สามารถเล็งเห็นผลได้ว่าจะมีบุคคลที่สามรับฟังถ้อยคำที่ตนเองด่าว่าผู้เสียหาย ผู้ต้องหาย่อมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่อย่างใด (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2516 ซึ่งมีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกัน) ยกเว้นแต่ว่า ผู้ต้องหาจะรู้อยู่แล้วขณะพูดจาด่าผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้เปิดลำโพงโทรศัพท์และมีบุคคลอื่นร่วมรับฟังถ้อยคำที่ผู้ต้องหาด่าว่าผู้เสียหายด้วย ซึ่งทางปฏิบัติแล้ว การนำสืบประเด็นว่าผู้ต้องหารู้ว่าผู้เสียหายเปิดลำโพงโทรศัพท์และมีบุคคลอื่นร่วมฟังอยู่ด้วย ย่อมเป็นไปได้ยากมาก
ส่วนในความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้านั้น ตามตัวบทกฎหมายวางหลักไว้ว่า “มาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งในความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้านั้น แต่เดิมตามแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกานั้นถือว่าการด่ากันทางโทรศัพท์ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20593/2556 ) แต่ปัจจุบันมาศาลฎีกามีแนวคำวินิจฉัยไปในทำนองที่ว่า การกระทำความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหายเพราะบทบัญญัติมาตรานี้ มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าวดูหมิ่น ดังนั้นการพูดจาด่ากันทางโทรศัพท์โดยที่ผู้เสียหายและผู้ต้องหาอยู่ห่างกันคนละที่ จึงไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น “ซึ่งหน้า” จึงไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711/2557) ซึ่งแนวคำพิพากษาศาลฎีกานี้ตรงกับความเห็นของนักวิชาการทางกฎหมายหลายท่าน เช่นรองศาสตราจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ดังนั้นจึงน่าจะถือได้ว่า แนวคำพิพากษาหลังนี้กลับแนวคำพิพากษาเดิมแล้ว
ดังนั้นกล่าวโดยสรุปแล้ว ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาขณะนี้ การพูดจาด่าว่าผู้เสียหายทางโทรศัพท์ ถึงแม้ถ้อยคำที่ด่าว่าจะรุนแรงอย่างไร ผู้พูดย่อมไม่มีความผิดอาญาแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ผู้พูดรู้อยู่แล้วว่า ขณะที่คุยโทรศัพท์กับผู้เสียหายอยู่นั้น ผู้เสียหายได้เปิดลำโพงโทรศัพท์และมีบุคคลอื่นร่วมฟังอยู่ด้วย…