บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

รูปแบบการสอบสวนพยานหรือผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี

การสอบสวนเด็ก การสอบสวนเยาวชน

การสอบสวนเด็ก

รูปแบบการสอบสวนพยานหรือผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี

เนื่องจากพยานหรือผู้เสียหายที่เป็นเด็กนั้น ยังมีวุฒิภาวะรวมทั้งประสบการณ์ที่ต่ำกว่าผู้ใหญ่ การสอบสวนเด็กด้วยวิธีปกติ อาจทำให้ไม่สามารถได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและครบถ้วนจากเด็ก เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่นบรรยากาศในการสอบสวนที่ไม่เหมาะสม ทำให้เด็กตื่นกลัวการสอบสวนจนไม่กล้าให้ข้อเท็จจริง หรือเด็กไม่เข้าใจคำถามของพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนเองก็ไม่เข้าใจคำตอบของเด็ก และไม่รู้วิธีการสื่อให้เด็กเข้าใจคำถาม รวมทั้งปัญหาอื่นๆอีกมากมายที่ทำให้เด็กอาจให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน ประกอบกับกระบวนการสอบสวนในคดีอาญาที่มุ่งเน้นพิสูจน์ความจริงในคดี อาจส่งผลกระทบทางจิตใจต่อเด็ก โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับเพศที่เด็กเป็นผู้เสียหาย ดังนั้นการสอบสวนพยานหรือผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี กฎหมายจึงกำหนด “แบบ” การสอบสวนไว้เป็นพิเศษ แตกต่างจากการสอบสวนบุคคลธรรมดา

ทั้งนี้การสอบสวนพยานบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 130 นั้น พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนที่ใดก็ได้ และสามารถสอบสวนพยานหรือผู้เสียหายได้โดยลำพังโดยที่ไม่ต้องมีใครอยู่กับพยานหรือผู้เสียหายด้วย แต่การสอบสวนพยานหรือผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ในความผิดที่กฎหมายกำหนด คือคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ เกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ เกี่ยวกับเสรีภาพ กรรโชก ชิงทรัพย์ปล้นทรัพย์-ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ความผิดอื่นๆที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีร้องขอนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 133 ทวิ กำหนดไว้ว่าในการสอบสวนนั้นจะต้อง ทำให้ถูกต้องตาม “แบบ” ดังนี้

1.การสอบสวนจะต้องดำเนินการโดยแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสภาพที่เหมาะสม ดังนั้นพนักงานสอบสวนจะไปนั่งสอบสวนที่สถานีตำรวจที่มีคนพลุกพล่านเหมือนคดีปกติไม่ได้ ซึ่งทางปฏิบัติแล้วทุกวันนี้จะทำการสอบสวนเด็กที่สำนักงานอัยการประจำจังหวัดนั้นๆ เพราะพนักงานอัยการที่มีหน้าที่จะต้องเข้าร่วมการสอบสวนด้วย ไม่ค่อยสะดวกที่จะเดินทางมาร่วมการสอบสวนตามสถานีตำรวจต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล ประกอบกับเครื่องมือและบรรยากาศในสำนักงานอัยการพร้อมและเหมาะสมกว่าที่สถานีตำรวจ

2.เด็กสามารถร้องขอให้บุคคลที่ตนไว้วางใจ เข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือถามปากคำด้วย ซึ่งธรรมดามักจะเป็นบิดามารดา หรือผู้ปกครอง ซึ่งทนายความของผู้เสียหายหรือพยาน หากประสงค์เข้าร่วมการสอบสวนหรือถามปากคำ ย่อมใช้สิทธิตามาตรานี้เข้าร่วมฟังการให้ถ้อยคำหรือสอบสวนได้

3.ต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ เข้าร่วมในการสอบสวนหรือถามปากคำด้วย ทั้งนี้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ดังกล่าว จะต้องได้รับการอบรมและขึ้นทะเบียนตาม ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการขอและรับขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำหน้าที่นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

4.ต้องมีพนักงานพนักงานอัยการ เข้าร่วมในการสอบสวนหรือถามปากคำ

5. ต้องมีการบันทึกภาพและเสียงที่สามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันเหตุกรณี เด็กลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือไม่สามารถติดตามนำเด็กมาเบิกความได้ในชั้นศาลเพราะเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ศาลอาจรับฟังบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวเหมือนการเบิกความในชั้นพิจารณา และกรณีที่ศาลเห็นสมควรหรือเด็กหรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอโดยมีเหตุผลอันสมควร ศาลอาจสั่งให้เปิดบันทึกภาพและเสียงดังกล่าว แทนการเบิกความในชั้นศาลของเด็ก แล้วให้คู่ความถามค้านหรือถามติงเอาอย่างเดียวก็ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เด็กต้องเบิกความถึงเรื่องอันทำร้ายจิตใจของเด็กอีกเป็นซ้ำสอง (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 ตรี )

อนึ่งแบบของการสอบสวนผู้เสียหายหรือพยานเด็กดังกล่าวนำไปใช้กับการสอบสวนผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134/2 เพียงแต่การสอบสวนผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี นั้นจะมีบุคคลอีกคนหนึ่งที่ต้องเข้ามาร่วมในการสอบสวนเพิ่มเติมนอกจากพนักงานอัยการ นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ และบุคคลที่เด็กร้องขอ ก็คือ “ทนายความของผู้ต้องหา” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134/1

ซึ่งหากการสอบสวนเด็กนั้นไม่ทำให้ถูกต้องตามแบบดังกล่าว ย่อมทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของพยาน ผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหา ที่เป็นเด็กไม่อาจรับฟังได้ในชั้นศาลเนื่องจากเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226 แต่ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด จนทำให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจะถือเอาความบกพร่องของพนักงานสอบสวนมาทำให้คดีของผู้เสียหายไปทั้งคดีมิได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2549 , 1610/2551 , 10265/255 เป็นต้น

รูปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของบันการสอบสวนพยานเด็ก ซึ่งผู้เขียนขอนำมาลงให้ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งนี้ในคดีนี้พนักงานสอบสวนบกพร่องโดยบันทึกวีดีโอให้ปรากฎภาพขณะการสอบสวนไว้ แต่กลับไม่ได้บันทึกเสียงขณะมีการสอบสวนไว้ด้วย (มีแต่รูปไม่มีเสียง) ซึ่งไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 133 ทวิ

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น