คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

5 เทคนิคและเคล็ดลับ ในการจัดทำ ” คำแถลงการณ์ปิดคดี ” เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพิจารณา

ภายหลังจากการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ทนายความมีสิทธิ คําแถลงการณ์ปิดคดี ยื่นต่อศาล เพื่อสรุป ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานต่างๆในสำนวนว่ามีเหตุผลใดที่ศาลควรตัดสินให้ฝ่ายตนจะต้องชนะคดี

หากทนายความประสงค์จะทำคำแถลงการณ์ปิดคดี จะต้องแจ้งความประสงค์ต่อศาลในวันที่สืบพยานเสร็จสิ้นว่าจะยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีภายในกี่วัน ธรรมดาแล้วศาลจะอนุญาตให้เป็นเวลาภายใน 7-15 วันภายหลังจากที่สืบพยานเสร็จสิ้น 

ผู้พิพากษาบางคนนิยมให้ทนายความทำคำแถลงการณ์ปิดคดี เพราะอยากฟังสรุปประเด็นข้อต่อสู้ และสรุปข้อกฎหมาย ของทุกฝ่ายก่อนตัดสินคดี 

แต่ผู้พิพากษาบางคนก็ไม่นิยมอ่านคำแถลงการณ์ปิดคดีของทนายความ ทนายความเขียนอย่างไรก็ไม่อ่าน ถ้ายื่นไว้เพียงแต่ติดสำนวนไว้อย่างนั้น เพราะเชื่อมั่นในความเห็นของตนเองอยู่แล้ว ไม่นิยมรับฟังความเห็นของคนอื่นมาประกอบ 

อย่างไรก็ตามถ้าเราเจอศาลที่รอบคอบฟังความทุกฝ่าย หากท่านได้อ่านข้อกฎหมายหรือข้อต่อสู้ของเราแล้วเห็นพ้องด้วย ก็เป็นการเพิ่มโอกาสที่ท่านจะตัดสินให้ฝ่ายเราชนะคดี ดังนั้นการเขียนคำแถลงการณ์ปิดคดีจึงเป็นสิ่งที่ทนายความควรจัดทำเมื่อสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว 

วัตถุประสงค์ของการทำ คำแถลงการณ์ปิดคดี

  1. ชี้ประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญในคดีให้ศาลทราบ ว่าคดีดังกล่าวศาลควรตัดสินให้ฝ่ายเราชนะคดีเพราะข้อกฎหมายใด พร้อมยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกควรจะแนบคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องไปด้วย
  2. ชี้ให้เห็นถึงน้ำหนักหรือความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานของฝ่ายเรา เช่นชี้ให้เห็นว่าคำเบิกความของพยานฝ่ายเราสอดคล้องต้องกัน เบิกความเป็นเหตุผลตามลำดับ  มีพยานเอกสารหรือพยานวัตถุมมาคำเบิกความ 
  3. ชี้ให้เห็นพิรุธหรือข้อบกพร่องของพยานหลักฐานของฝ่ายตรงข้าม เช่นชี้ให้เห็นว่าคำเบิกความพยานฝ่ายตรงข้ามขัดแย้งกับพยานบุคคลอื่น หรือขัดกับพยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือขัดแย้งกับเหตุผลความน่าจะเป็น หรือมีข้อพิรุธบกพร่องอื่นๆ 

หลักของการเขียนคำแถลงการณ์ปิดคดี ไม่มีกฎหมายระบุหลักเกณฑ์ไว้ และไม่มีแนวทางที่ตายตัว การจะเขียนแบบไหนขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละคดี 

แต่จากตำราของอาจารย์หลายๆท่าน และประสบการณ์ของผู้เขียน สามารถสรุปหลักสำหรับการเขียนคำแถลงการณ์ปิดคดีของทนายความได้ดังนี้

แนวทางการทำ คำแถลงการณ์ปิดคดี

  1. ต้องใช้ถ้อยคำที่สั้นกระชับได้ใจความ ไม่เยิ่นเย้อ ไม่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่มีอยู่ในสำนวนแล้ว พยานหลักฐานหรือการเบิกความของพยานทุกปากล้วนแต่มีอยู่ในสำนวนแล้ว การหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างให้หยิบยกแค่บางส่วนบางตอนที่ต้องการจะชี้ประเด็นเท่านั้น ไม่ใช่หยิบเอามาทั้งดุ้น พยายามสรุปให้สั้นและได้ใจความมากที่สุด เพราะธรรมดาแล้วศาลสามารถอ่านคำเบิกความและวิเคราะห์พยานหลักฐานต่างๆในสำนวนได้อยู่แล้ว เราไม่ควรไปสรุปพยานหลักฐานในสำนวนแทนศาล  เราเพียงชี้ประเด็นต่างๆที่เราต้องการสื่อให้ศาลเห็นเท่านั้น 
  2. ไม่อัางถึงข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนหรืออ้างถึงพยานหลักฐานนอกสำนวน  การทำคำแถลงการณ์ปิดคดีนี้ ควรอ้างอิงจากคำเบิกความพยานที่ปรากฎในสำนวน หรือเอกสารหรือวัตถุพยานที่อยู่ในสำนวน ไม่ควรอ้างอิงสิ่งที่อยู่นอกเหนือสำนวนหรือผิดไปจากสำนวน เพราะจะทำให้ศาลเห็นว่าเราตั้งใจบิดเบือนข้อเท็จจริงและไม่เชื่อฝ่ายเราไปเลย ยกเว้นแต่สิ่งที่รู้กันอยู่ทั่วไป เช่น วันใดเป็นวันหยุดราชการ พระอาทิตย์ขึ้นและตกเวลาใด ใครเป็นนายกรัฐมนตรี เหล่านี้ถึงแม้ไม่มีอยู่ในสำนวนแต่ก็สามารถอ้างอิงได้  
  3. ใช้ถ้อยคำสุภาพไม่เสียดสีฝ่ายตรงข้าม การเขียนคำแถลงการณ์ปิดคดี ย่อมจะต้องมีการมีให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือของพยานหลักฐานของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเราก็ต้องกระทำด้วยความสุภาพด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช้ถ้อยคำกระทบกระแทกแดกดันซึ่งจะทำให้ศาลมองเราในแง่ที่ไม่ดี 
  4. เนื้อหาจะต้องสามารถจูงใจศาลด้วยเหตุผลต่างๆได้ โดยการใช้เหตุผลโน้มน้าวให้ศาลเห็นคล้อยตามเรา หรือโดยการชี้ให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานฝ่ายเรา หรือความไม่น่าเชื่อถือของพยานหลักฐานฝ่ายตรงข้าม 
  5. แบ่งเนื้อหาในแต่ละช่วงเป็นข้อๆให้สามารถอ่านได้โดยเข้าใจง่าย  ถ้าต้องการชี้ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายประเด็นใด ควรระบุไว้เป็นข้อๆ และควรเขียนโดยลำดับตามเวลาหรือเหตุการณ์ ซึ่งจะทำให้ศาลอ่านเข้าใจได้โดยง่าย

เนื้อหาการเขียนคำแถลงการณ์ปิดคดีโดยสังเขป

  1. สรุปประเด็นข้อพิพาทในคดีสั้นๆ สำหรับตัวผู้เขียนเองไม่นิยอมลอกฟ้องและลอกคำให้การ หรือสรุปคำฟ้องคำให้การ เพราะเห็นว่าเยิ่นเย้อโดยใช่เหตุ และศาลสามารถสรุปเองได้อยู่แล้ว เราเพียงยกประเด็นข้อพิพาทในคดีมาเพื่อประกอบการเขียนคำแถลงการณ์ปิดคดีเท่านั้น
  2. ชี้ให้เห็นว่าศาลว่าพยานหลักฐานฝั่งเรามีน้ำหนักน่าเชื่อถืออย่างไร พยานหลักฐานฝ่ายตรงข้ามไม่น่าเชื่อถืออย่างไร
  3. ชี้ให้เห็นว่าข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์แก่รูปคดีเราเป็นอย่างไร และยกแนวคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบ
  4. สรุปว่าเราควรเป็นฝ่ายชนะคดีเพราะเหตุดังกล่าวทั้งหมด 

ทั้งนี้ถ้าทนายความเข้าใจวัตถุประสงค์ แนวทางและเนื้อหาโดยสังเขปในการทำคำแถลงการณ์ปิดคดีดังกล่าวแล้ว ย่อมสามารถนำไปปรับใช้ในคดีความของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปได้

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)