เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ศาลรอการลงโทษไว้ สามารถรับราชการได้หรือไม่ ?
คุณสมบัติในการเข้ารับราชการในทุกๆหน่วยงาน มักจะมีคุณสมบัติ2 ข้อ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ปรากฏรวมอยู่ด้วยเสมอ คือ
1. ไม่เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
2. ต้องไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม ไม่มีประวัติที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย
ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 36 ,กฎ ก.ตร.ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547,พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. 2523 มาตรา 23 เป็นต้น ซึ่ง กฎหมายเหล่านี้ต่างบัญญัติคุณสมบัติเหล่านี้ไว้คล้ายๆกันโดยอาจจะมีถ้อยคำที่ต่างกันเล็กน้อย แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายเหล่านี้ล้วนเหมือนกัน คือต้องการให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นข้าราชการมีประวัติและความประพฤติที่ดี
ซึ่งในส่วนของคุณสมบัติข้อ 1. ที่ว่า “ไม่เป็นผู้เคยรับโทษจำคุก “นั้น ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขเสร็จที่ 78/2490 เรื่องการตีความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน วินิจฉัยว่า ผู้เคยรับโทษจำคุกตามกฎหมายดังกล่าว หมายความถึง ผู้ที่เคยได้รับโทษจำคุกจริงๆแล้วเท่านั้น ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษไว้ เพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นคนดี ย่อมไม่ถือว่าบุคคลนั้นเคยได้รับโทษจำคุกตามกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ให้รอการลงโทษบุคคลใดไว้ ย่อมไม่ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการรับราชการ ในฐานะบุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ซึ่งแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองก็ศาลยุติธรรม ก็ต่างยืนตามหลักการนี้ตลอดมา
อย่างไรก็ดี การที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกบุคคลใดถึงแม้จะรอการลงโทษจำเลยไว้โดยให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นคนดี ก็อาจเป็นเหตุให้พิจารณาได้ว่า บุคคลนั้นเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม หรือมีประวัติที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย ซึ่งอาจจะทำให้บุคคลนั้นขาดคุณสมบัติในข้อที่ 2.
แต่ทั้งนี้อย่าเพิ่งเหมารวมไปว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยรอการลงโทษบุคคลใดในคดีที่ไม่ใช่คดีความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ แล้ว จะถือว่าบุคคลที่ขาดคุณสมบัติในการรับราชการในทุกกรณี เพราะการที่จะพิจารณาว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่บกพร่องในศีลธรรมอันดีหรือมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงข้อหาฐานความผิด และพฤติการณ์ในคดีนั้นๆประกอบด้วย ถึงแม้เป็นความผิดที่กระทำโดยเจตนาและมิใช่เป็นความผิดลหุโทษ แต่ลักษณะของความผิดเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรง และพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรน่าเห็นใจ บุคคลนั้นย่อมไม่ถือว่าเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติต้องห้าม ซึ่งตัวอย่างความผิดเล็กน้อยที่ถึงแม้ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกและรอการลงโทษไว้ ก็ไม่ถือว่าบุคคลนั้นเป็นมีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น การกระทำผิดอาญาข้อหาขับรถขณะเมาสุรา การกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีโดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังได้แต่งงานอยู่กินกับเด็กนั้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทในเรื่องไม่ร้ายแรงมาก เป็นต้น ส่วนความผิดที่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงถึงแม้รอการลงโทษ ก็ยังถือว่าบุคคลนั้นมีคุณสมบัติต้องห้าม ตัวอย่างความผิดที่ร้ายแรง เช่นความผิดฐานกระทำชำเราผู้อื่นโดยผู้นั้นไม่ยินยอม ความผิดฐานปลอมเอกสาร ความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นต้น
ทั้งนี้มี คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.482/2556 วินิจฉัยถึงประเด็นดังกล่าวไว้ มีรายละเอียดคือ
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีสอบติดนายสิบตำรวจ แต่ถูกคณะกรรมการสอบตัดสิทธิในการรับราชการเพราะผู้ถูกฟ้องคดีเคยถูกลงโทษจำคุกในข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพกพาอาวุธปืนโดยไมได้รับอนุญาต โดยในคดีดังกล่าวศาลรอการลงโทษจำคุกผู้ถูกฟ้องคดีไว้
ผู้ฟ้องคดีจึงมาฟ้องเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการสอบ โดยอ้างว่าตนเองไม่เป็นบุคคลต้องห้าม เพราะไม่เคยได้รับโทษจำคุกจริงๆ เนื่องจากศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกไว้ แล้วยังอ้างอีกว่า ยังผู้สมัครคนอื่นซึ่งเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกในข้อหาเมาแล้วขับ (ไม่ใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาทและไม่ใช่ความผิดลหุโทษ) แต่คณะกรรมการกลับไม่ตัดสิทธิบุคคลนั้น แต่กลับมาตัดสิทธิตนเอง จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่า
“การที่บุคคลกระทำความผิดอาญา ข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพกพาอาวุธปืนไป ในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะไม่ต้องรับโทษอาญาแต่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้กระทำความผิดดังกล่าวดำเนินชีวิตในลักษณะที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเองและบุคคลอื่น ซึ่งวิญญูชนทั่วไปที่ประพฤติตนในกรอบของกฎหมายและศีลธรรมย่อมไม่มีความประพฤติเช่นนั้น จึงเห็นว่า การกระทำความผิดกฎหมายอาญาดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีประวัติที่มีความประพฤติ เสื่อมเสีย ประกอบกับการสอบแข่งขันเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ในการ รักษาความสงบเรียบร้อยแก่บ้านเมืองและประชาชน บุคคลที่มีประวัติความประพฤติเสื่อมเสียดังกล่าว ย่อมไม่เหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่นี้ การที่คณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขันและผู้ถูกฟ้องคดีตัดสิทธิ ผู้ฟ้องคดี โดยเห็นว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติเนื่องจากมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีจึงเป็นการใช้ดุลพินิจภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดและเหมาะสมแล้ว ประกาศกองบัญชาการศึกษา ลงวันที่ 11 เมษายน 2550 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและภาคความเหมาะสม กับตำแหน่ง จึงชอบด้วยกฎหมาย