รถที่ถูกยึดจากการนำไปแข่งในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต (เด็กแว๊น) เจ้าของรถตัวจริงจะรถคืน ได้หรือไม่ และศาลมีหลักเกณฑ์ในการสั่งคืนอย่างไร ?
ตอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์สิน เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินที่ศาลพิพากษาให้ริบนั้นได้ ภายใน1ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ศาลจะคืนทรัพย์สินให้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลางโดยสุจริตหรือไม่ มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดด้วยหรือไม่ และผู้ร้องขอเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงหรือไม่
ซึ่งการร้องขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 มีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาจำนวนมากที่ยกคำร้อง โดยเหตุที่ศาลยกคำร้องนั้นมีตัวอย่างดังนี้
1.กรณีเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ และผู้เช่าซื้อเป็นผู้กระทำผิด หากปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อได้ผิดสัญญาไม่ชำชำระเงินค่าเช่าซื้อหลายงวด แต่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ดำเนินการบอกเลิกสัญญา และติดตามนำรถยนต์กลับคืน แต่กลับปล่อยให้จำเลยครอบครองรถยนต์ต่อไปอีกเป็นเวลานาน จนกระทั่งจำเลยนำไปกระทำผิด แสดงว่าผู้ร้องไม่ได้ใส่ใจใยดีในรถยนต์ของตน เป็นการปล่อยปละละเลยให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ไปใช้อย่างไรก็ได้ ถือได้ว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิด ตัวอย่างเช่น ฎ.8376/2549 , 2389/2533, 3819/2533 , 2030/2547
2.กรณีเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ และผู้เช่าซื้อเป็นผู้กระทำผิด เมื่อผู้ให้เช่าซื้อราบว่าจำเลยนำรถยนต์ไปกระทำผิดจนถูกยึด แต่กลับไม่ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเสียก่อนมายื่นคำร้องขอคืนกลางต่อศาล หรือยังรับค่าเช่าซื้อรถยนต์ต่อมาหลังจากทราบว่าจำเลยกระทำผิด หรือได้กระทำการมอบอำนาจให้จำเลยมาเป็นผู้ยื่นคำร้องขอคืนของกลางต่อศาล แสดงให้เห็นว่า เมื่อเจ้าของทรัพย์สินได้รถยนต์คืนแล้ว ย่อมจะนำรถยนต์ไปให้จำเลยใช้และเรียกเก็บค่าเช่าซื้อต่อไปอีก เจ้าของทรัพย์สินไม่ได้ต้องการรถยนต์คืนอย่างแท้จริง แต่ต้องการนำรถยนต์ไปให้จำเลยเช่าซื้อต่อไป เป็นการขอคืนรถยนต์เพื่อประโยชน์ของจำเลย หาใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ให้เช่าซื้อโดยลำพัง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตัวอย่างเช่น ฎ. 4778/2549 , 1653/2542, 4085/2539 ,4791/2533, 3726/2525 , 1144/2550
3.กรณีเจ้าของทรัพย์สินเป็นบิดามารดา และผู้กระทำผิดเป็นบุตร หากรถยนต์ของกลางมีการดัดแปลงสภาพจนเห็นได้ว่าผิดปกติไปจากรถยนต์ธรรมดา บิดามารดาย่อมสมควรรู้ว่าบุตรน่าจะนำรถยนต์ไปทำผิดกฎหมาย และหากไม่มีการควบคุมการใช้รถยนต์ โดยปล่อยปละเก็บกุญแจรถยนต์ไว้ในลักษณะที่บุตรจะนำไปใช้เมื่อไรก็ได้ แสดงว่าบิดามารดาอนุญาตโดยปริยายให้บุตรนำรถยนต์ไปใช้อย่างไรก็ได้ โดยไม่สนใจว่าจะนำไปใช้ในกิจการใด ถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด ตัวอย่างเช่น ฎ.1759/2551, ฎ.1679/2550 , 9090/2549, 5827/2549 ,2222/2549 ,1619/2549 ,3268/2548