บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

การกดไลค์ข้อมูลที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ในเว็บไซต์ Facebook มีความผิด ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์หรือไม่ ?

การกดไลค์ข้อมูลต้องห้ามในเฟสบุ๊ค มีความผิดหรือไม่ ?

การกดไลค์ข้อมูลต้องห้ามในเฟสบุ๊ค มีความผิดหรือไม่ ?

การกดไลค์ข้อมูลที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ในเว็บไซต์ Facebook มีความผิด ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์หรือไม่ ?

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา 14 และมาตรา 16 ได้กำหนดเนื้อหาที่ต้องห้ามที่มิให้นำเข้าหรือเผยแพร่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ไว้หลายประการ เช่น เนื้อหาที่มีลักษณะเป็นความเท็จหรือปลอม อันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน เนื้อหาที่มีลักษณะลามก เนื้อหาที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการตัดต่อรูปภาพของบุคคลอื่น ซึ่งความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

สำหรับผู้นำเข้าหรือเผยแพร่ซึ่งข้อมูลต้องห้ามดังกล่าวข้างต้น เช่น ผู้โพสข้อมูลหรือผู้กดแชร์ข้อมูลในเว็บไซต์เฟซบุ๊ค ย่อมถือเป็นผู้กระทำผิดโดยตรง แต่สำหรับผู้กดไลค์ข้อมูลต้องห้ามจะถือว่าเป็นผู้กระทำผิดด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ชัดเจน แต่หน่วยงานต่างๆที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายตัวนี้ เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยของนักการเมืองฝ่ายไหน มักจะประโคมข่าวตีความว่า ผู้กดไลค์ข้อความย่อมมีความผิดด้วย โดยให้เหตุผลว่า “คนกดไลค์ คือการร่วมลงชื่อรับรองข้อมูลอันเป็นความผิดดังกล่าว แม้มิได้มีเจตนาโดยตรง แต่ย่อมเล็งเห็นผลว่าการกดไลค์นั้นทำให้ข้อมูลได้รับความเชื่อถือมากขึ้น ย่อมเข้าองค์ประกอบความผิดในฐานะตัวการร่วมตาม ป.อาญา มาตรา 83 ที่ระบุว่า ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น “

ซึ่งตัวผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีนี้ เพราะการกดไลค์ย่อมเป็นเพียงการแสดงความรู้สึกว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจข้อความนั้นๆเท่านั้น และเป็นสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไปของประชาชนที่จะแสดงความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบของตนได้ ซึ่งความน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือของข้อมูลใด ย่อมเกิดจากเนื้อหาของข้อมูลนั้นเอง ลำพังเพียงการกดไลค์ของบุคคลอื่นยังไม่อาจทำให้ข้อมูลนั้นมีความน่าเชื่อถือขึ้นมาได้ โดยนัยนี้ผู้กดไลค์จึงไม่ใช่ตัวการร่วมกระทำผิดกับผู้นำเข้าหรือเผยแพร่ข้อมูล

แต่อย่างไรก็ดี การกดไลค์ข้อมูลใดๆนั้น ย่อมเป็นการเผยแพร่ข้อมูลนั้นไปในตัว เพราะข้อมูลที่ผู้กดไลค์ไปกดไลค์นั้นจะไปปรากฏในหน้าฟีดข่าวของเพื่อนๆในเฟซบุ๊คของผู้กดไลค์โดยอัตโนมัติ ถึงแม้ผู้กดไลค์จะไม่มีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะให้ข้อมูลดังกล่าวไปปรากฏต่อเพื่อนคนอื่นๆของตนก็ตาม แต่หากผู้กดไลค์เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊คมาเป็นเวลานานพอสมควร ย่อมทราบดีว่าข้อมูลที่ตนเองกดไลค์นั้นจะไปปรากฏในฟีดข่าวของเพื่อนของตนเองในเฟซบุ๊คโดยอัตโนมัติดังนั้น ผู้กดไลค์ข้อมูลต้องห้ามตามกฎหมายย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลโดยเจตนาเล็งเห็นผล

ดังนั้นการกดไลค์จะเป็นความผิดหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้กดไลค์ทราบหรือไม่ว่า ข้อมูลที่ตนเองกดไลค์จะไปปรากฎในฟีดข่าวของเพื่อนๆตนเองในเฟซบุ๊ค หากผู้กดไลค์ทราบย่อมถือว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยเล็งเห็นผล แต่ในทางกลับกันหากผู้กดไลค์ไม่ทราบ เช่นเป็นบุคคลสูงอายุ เพิ่งหัดเล่นเฟซบุค ไม่อาจรู้ได้ว่าข้อมูลที่ตนเองกดไลค์นั้น จะไปปรากฏเผยแพร่ให้กับเพื่อนของตนเองในเฟซบุคได้ ย่อมถือผู้กดไลค์ไม่มีความผิด เนื่องจากขาดเจตนากระทำผิด

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น