บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

หมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา แบบเข้าใจง่าย และรวม 9 ประเด็นข้อต่อสู้ คดีหมิ่นประมาท ฉบับสมบูรณ์

Table of contents in the article

หมิ่นประมาท เป็นกฎหมายใกล้ตัวที่แทบทุกคนมีโอกาสจะได้พบเจอ และ คดีหมิ่นประมาท ก็เป็นคดีที่มีการฟ้องร้องและต่อสู้คดี กันในศาลในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก 

ในวันนี้ผมจึงได้ทำคำอธิบายเรื่องความผิดฐาน หมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 พร้อมทั้งรวบรวมข้อกฎหมายและแนวทางการต่อสู้ คดีหมิ่นประมาท เพื่อให้ศาลยกฟ้อง ทั้ง 9 ประการ 

เพื่อใช้ประกอบทำความเข้าใจข้อกฎหมายที่ถูกต้อง และเป็นคู่มือในการทำงาน ทั้งในการฟ้องและการต่อสู้คดี และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจครับ 


หมิ่นประมาท คืออะไร

ตัวบทกฎหมาย 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำอธิบาย 

ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326  กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของบุคคลในสังคมอย่างหนึ่ง คือสิทธิต่อ “เกียรติ ” 

ธรรมดาแล้วมนุษย์แต่ละคนนั้นอาจจะไม่เท่าเทียมในกันในเรื่องฐานะ หน้าตา หรือชาติกำเนิด แต่ตามกฎหมายแล้ว ถือว่าทุกคนมีเกียรติเท่าเทียมกัน

กฎหมายคุ้มครองจึงไม่ให้ผู้ใดมาลบหลู่เกียรติหรือลดคุณค่าของผู้อื่น  ด้วยการใส่ความ โดยไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมาย และหากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะมีโทษอาญาตามกฎหมาย 

องค์ประกอบความผิด ฐานหมิ่นประมาท 

  1. ผู้กระทำต้องมีการสื่อสารข้อมูลไปยังบุคคลที่สาม
  2. ข้อมูลที่สื่อสารเป็นการใส่ความผู้เสียหาย 
  3. การใส่ความน่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง


ผู้กระทำสื่อสารข้อมูลไปยังบุคคลที่สาม

ความผิดฐานหมิ่นประมาท ผู้กระทำจะต้องมีการส่งข้อมูล หรือสื่อสารข้อความ ไปยังบุคคลที่สาม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะด้วยการสื่อสารทางใดๆ ก็ตาม เช่น

การพูดคุยกันต่อหน้า ,การโทรศัพท์  ,การ video call การส่งข้อความทาง application สื่อสารเช่น LINE facebook messenger การโพสต์ข้อความใน facebook หรือ instagram 

การติดประกาศในสื่อต่างๆ การลงหนังสือพิมพ์ การให้สัมภาษณ์ การเขียนจดหมายการเขียนอีเมล การส่งโทรเลข รหัสมอส ภาษามือ คำใบ้ กริยาท่าทาง สัญลักษณ์

กล่าวคือ การสื่อข้อมูล จะกระทำอย่างไรก็ได้ ที่ทำให้บุคคลที่สาม สามารถรับทราบและเข้าใจข้อมูลของการของการสื่อสารนั้น ไม่จำกัดว่าจะใช้วิธีใด ภาษาใด 


ความผิดสำเร็จเมื่อใด

วามผิดฐานหมิ่นประมาทจะสำเร็จต่อเมื่อ ข้อความที่ส่งนั้นไปถึงยังบุคคลที่สามแล้ว 

แต่ถ้าข้อความที่ส่งไปนั้นไม่ถึง หรือไม่ได้รับข้อความ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็เป็นได้แต่เพียงการพยายามกระทำความผิดเท่านั้น 

การสื่อข้อความ จะต้องเกิดจากเจตนาของผู้กระทำ คือผู้กระทำต้องการสื่อสารให้บุคคลที่สามทราบ 

ไม่ใช่เป็นเพราะบุคคลที่สามเข้ามาทราบโดยบังเอิญ หรือเป็นเรื่องที่บุคคลที่สามแอบสอดเข้ามาทราบข้อความนั้นเอง เช่นนี้ย่อมถือว่าผู้กระทำขาดเจตนาส่งข้อมูล และไม่เป็นความผิด

ตัวอย่างเช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21627/2556 จำเลยเป็นผู้พิมพ์หนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย  แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำต่อบุคคลที่สาม กลับได้ความเพียงว่า ก. ไปพบหนังสือร้องเรียนดังกล่าวเอง การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

ข้อมูลที่สื่อสารเป็นการใส่ความ 

ข้อมูลที่ผู้กระทำความผิดส่งไปยังบุคคลที่สามนั้น จะต้องมีลักษณะเป็นการ “ใส่ความ” ผู้เสียหาย

คำว่า “ใส่ความ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร

แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึง พูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย

และมีนักกฎหมายอาญาผู้ทรงคุณวุฒิของไทย นิยามความหมายของคำว่า “ใส่ความ” ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ไว้ดังนี้

  • ใส่ความ คือ แสดงพฤติกรรมอันเป็นข้อเท็จจริงประการใดประการหนึ่งของผู้ถูกหมิ่นประมาท คือการเอาความ ไปใส่ให้กับเขา ความนั้นจะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ได้ (ศ.จิตติ ติงศภัทิย์)
  • ใส่ความ คือ ทำให้แพร่หลายซึ่งข้อเท็จจริงที่กระทบถึงเกียรติของผู้ถูกกระทำให้ปรากฏต่อบุคคลที่สาม (ศ.ดร.คณิต ณ.นคร)
  • ใส่ความ คือ การแสดงพฤติกรรมหรือยืนยันข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นถึงบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเท็จหรือจริง (ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ)
  • ใส่ความ มีความหมายต่างกับที่เข้าใจกันอยู่ตามธรรมดาสามัญ คือไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นการใส่ร้าย แต่หมายถึงการกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงถึงบุคคลอื่น เท็จหรือจริงก็เป็นการใส่ความทั้งนั้น  (ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย) 

จะเห็นได้ว่า คำว่า “ใส่ความ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 มีความหมายต่างจากความเข้าใจตามธรรมดาสามัญของคนทั่วไป 

เพราะคำว่า “ใส่ความ” ตามความเข้าใจของคนทั่วไป คือการนำความเท็จไปกล่าวหาบุคคลอื่น

ตัวอย่างคำว่าใส่ความ ตามความหมายของคนทั่วไป เช่น 

“ นายกิตติศักดิ์ใส่ความว่า นางขวัญลดาขโมยไอโฟนของตนเองไป ”  

โดยทั่วไปเราจะใช้คำว่า “ใส่ความ” ต่อเมื่อนางขวัญลดาไม่ได้ขโมยไอโฟนของนายกิตติศักดิ์ ไปจริง

เราจะไม่ใช้คำว่า “ ใส่ความ ” ถ้าหากเราทราบว่านางขวัญลดาได้ทำการขโมยไอโฟนของนายกิตติศักดิ์ ไปจริงๆ  

แต่เราอาจจะใช้คำว่า   “นายกิตติศักดิ์บอกว่านางขวัญลดาได้ขโมยไอโฟนไป” 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการใส่ความตามความหมายที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน กับการใส่ความตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา มีความหมายแตกต่างกันอย่างชัดเจน

เพราะการ ” ใส่ความ “ ตามประมวลกฎหมายอาญา หมายความถึง การที่ผู้กระทำ  สื่อสารข้อมูลไปให้บุคคลที่สาม ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นความจริงหรือเท็จ ถ้าข้อมูลนั้นน่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ก็ถือเป็นการใส่ความ 

ตัวอย่างเช่น 

นายกิตติกรเล่าให้นายชาคริตฟังว่า “ นางสาวสมใจ ท้องก่อนแต่ง จึงต้องรีบจัดงานแต่งงาน ให้นับเดือนดูตอนเด็กคลอดได้เลย “

ถ้านางสาวสมใจท้องก่อนแต่งจริง ความเข้าใจในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ถือว่าการกระทำของนายติติกร เป็นการใส่ความ เพราะเป็นเรื่องจริง 

แต่ตามกฎหมายอาญา ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือเท็จ หากน่าจะทำให้นางสาวสมใจ เสียชื่อเสียง ย่อมเป็นการใส่ความ

ในกรณีนี้ ถึงความจริง นางสมใจจะท้องก่อนแต่ง และต้องรีบแต่งงานจริง การกระทำของนายชาคริตก็ถือเป็นการใส่ความตามประมวลกฎหมายอาญา และนายชาคริตก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาท 

ข้อแตกต่างของคำว่าใส่ความ ในความหมายของกฎหมาย กับความหมาย เป็นข้อกฎหมายที่เข้าใจทั่วไปนี้ ที่เราจะต้องทำความเข้าใจให้ดี มิฉะนั้นเราอาจจะวินิจฉัยหรือเข้าใจข้อกฎหมายเรื่องหมิ่นประมาทคลาดเคลื่อนไปได้ 

การใส่ความ น่าจะทำให้ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือ ถูกเกลียดชัง 

คำว่าเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หมายถึง การที่ถูกลดคุณค่า หรือความน่าเชื่อถือ ความน่าคบค้าสมาคบจากคนอื่นๆในสังคม

ข้อความที่เป็นการใส่ความนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดผลทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ขึ้นจริงๆ 

ถึงแม้การใส่ความดังกล่าว จะไม่ทำให้บุคคลที่สามเชื่อเลย เพราะบุคคลที่สาม รู้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าเรื่องที่ใส่ความไม่ใช่เรื่องจริง ก็ยังถือว่าเป็นความผิด 

ดังนั้นผู้กระทำความผิด จึงไม่อาจอ้างได้ว่าผู้เสียหายชื่อเสียงดี ใส่ความอย่างไรก็ไม่มีคนเชื่อ ดังนั้นจึงถือว่าผู้เสียหายไม่น่าจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

เพราะหลักที่สำคัญก็คือ ข้อความที่เป็นการใส่ความ “น่าจะ” ทำให้ผู้เสียหายอาจจะ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง  ก็ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง

การใส่ความแบบไหนจะถือว่าน่าจะเป็นให้ผู้เสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ไม่ใช่ผลของการกระทำ  แต่เป็น ” พฤติการณ์ประกอบการกระทำ ”  ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ศาลสามารถวินิจฉัยและตีความได้เอง 

การตีความว่าข้อความของศาล จะต้องพิจารณาโดยใช้สามัญสำนึก ( common sense ) ของวิญญูชนทั่วไป ไม่ได้พิเคราะห์เอาจากความนึกคิดหรือความเข้าใจ ของผู้กล่าว , ผู้เสียหาย หรือพยานคนใดคนหนึ่ง

ทั้งนี้คำว่าวิญญูชนนั้น หมายถึงคนทั่วไปที่มีความรู้สึกนึกคิดในศีลธรรมอย่างเป็นกลางๆ ไม่ใช่คนที่มีศีลธรรมสูงเกินไปอย่างเช่นพระสังฆราช หรือต่ำเกินไปอย่างนักโทษคดีข่มขืน 

ดังนั้นถ้อยคำที่ผู้เสียหายหรือพยานฝ่ายผู้เสียหายเห็นว่าเป็นหมิ่นประมาท อาจจะไม่เป็นการหมิ่นประมาทในความเห็นวิญญูชนทั่วไปก็ได้ ดังนั้นจึงต้องยึดเอาตามรู้สึกของคนทั่วไป ไม่ใช่ความรู้สึกของโจทก์หรือจำเลย 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2562 ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวถึงนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาท น่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว

(  ฎ.4237/2532  , ฎ.1064/2531 , ฎ.3397-3398/2516  วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน) 

บุคคลที่เกี่ยวข้องในความผิดฐานหมิ่นประมาท 

ในความผิดฐานหมิ่นประมาทจะต้องมีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยกัน 3 ฝ่าย คือ

  1. ผู้กระทำ

หมายถึง บุคคล ซึ่งเป็นคนส่งข้อมูลไปยังบุคคลที่สาม 

ผู้กระทำอาจจะเป็นเพียงคนเดียว หรือมีผู้ร่วมกระทำหลายคนก็ได้ ตามแต่พฤติการณ์ 

ผู้กระทำ จะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ได้ ถ้าเป็นนิติบุคคล ธรรมดาแล้วการกระทำต้องแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ดังนั้นผู้แทนนิติบุคคลที่เป็นผู้กระทำ จะต้องเป็นตัวการร่วมในการกระทำผิดของนิติบุคคลด้วย 

  1. ผู้เสียหาย

 หมายถึง ผู้ถูกกล่าวถึงในการส่งข้อมูล หรือถูกใส่ความจากผู้กระทำ 

ผู้เสียหายในการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทครั้งหนึ่งนั้น อาจจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ และอาจจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ได้เช่นเดียวกัน 

  1. บุคคลที่สาม 

หมายถึง บุคคลที่ได้เป็นผู้ได้รับข้อมูลที่เป็นการใส่ความจากผู้กระทำ ซึ่งบุคคลที่สามนี้ จะต้องไม่ใช่ผู้เสียหายหรือผู้กระทำเสียเอง

บุคคลที่สามจะมีเพียงคนเดียว หรือมีหลายคน ก็ได้ และจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลกก็ได้เช่นเดียวกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 580/2505 หนังสือใส่ความผู้อื่นนั้นแม้จะส่งไปถึงนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวก็ถือว่าใส่ความต่อบุคคลที่ 3 ตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

การพิจารณาข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท 

การพิจารณาข้อความที่เป็นการใส่ความนั้น จะต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมด ประกอบบริบทของการกระทำ จะหยิบยกมาพิจารณาเฉพาะแต่คำใดคำหนึ่ง หรือตอนใดตอนหนึ่งไม่ได้

เพราะข้อความทั้งเรื่องย่อมเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แสดงให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงของข้อความทั้งหมด 

การจะเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท จะต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในอดีต หรือปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นเพียงการคาดเดา หรือคาดคะเน หรือทำนายอนาคต

แต่ถ้าเป็นการแสดงความเห็นว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นน่าจะเป็นอย่างนี้  โดยไม่สุจริต และเป็นการแสดงให้เห็นถึงปัจจุบัน ก็เป็นหมิ่นประมาทได้

ตัวอย่างเช่น แสดงความเห็นว่า นางสาว ส.น่าจะผ่านผู้ชายมาแล้วหลายคน เช่นนี้ ย่อมเป็นการชี้ให้เห็นว่านางสาวเป็นคนไม่ดี ย่อมเป็นหมิ่นประมาทได้

เรื่องที่ใส่ความนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ชัดเจนและเป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันหรือเรื่องจินตนาการ เรื่องเลื่อนลอย หรือเป็นความเชื่อเท่านั้น 

หมิ่นประมาท จะเป็นคำหยาบหรือคำสุภาพ ไม่ใช่ประเด็น

คำที่หมิ่นประมาทนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้คำที่ก้าวร้าวหยาบคาย แม้เป็นคำพูดสุภาพก็อาจจะเป็นหมิ่นประมาทได้ 

เช่น ไม่อุทิศเวลาให้ราชการ ,มาสายเป็นประจำ , รับเงินเขามาแล้วไม่ทำงาน ,ผ่านผู้ชายมาชาย

ในทำนองกลับกันข้อความที่เป็นการก้าวร้าวหยาบคายก็อาจจะไม่เป็นการหมิ่นประมาทแต่เป็นแค่เพียงดูหมิ่นก็ได้ 

เช่น ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ ไอ้ชาติหมา ไอ้ผีปอบ ไอ้เย็ดแม่ม


ประเภทของเรื่องหมิ่นประมาท ที่พบบ่อย 

1.กล่าวหาว่าประพฤติชั่วหรือทุจริต เช่นกล่าวว่า รับสินบน เป็นคนขี้โกง เป็นคนร้ายลักทรัพย์ เป็นคนขายชาติ

2.กล่าวหาว่าประพฤติเสื่อมเสียในทางประเวณี เช่นกล่าวว่าท้องก่อนแต่ง มีผัวมาแล้วหลายคน เป็นโจรข่มขืน บ้ากาม เป็นเมียน้อย เป็นกะหรี่ 

3.หน้าที่การงาน อาชีพหรือธุรกิจ เช่นกล่าวว่าเป็นทนายความรับเงินสองทาง ขายสินค้าหลอกลวง ใช้อำนาจในทางที่ผิด 

4.ฐานะการเงินไม่น่าเชื่อถือ เช่นกล่าวว่า ออกเช็คเด้งมาตลอด มีปัญหาเรื่องเงิน 


ข้อความที่ถือเป็นการหมิ่นประมาท

ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่นประมาท 

ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีรากฐานมาจากว่า ไม่ต้องการให้ใครด่ากันเองได้ในสังคมโดยไม่มีกฎเกณฑ์

ซึ่งสุดท้ายอาจจะก่อให้เกิดความโกรธแค้นและล้างแค้นกันไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด และหากเป็นการพูดเรื่องจริงก็จะยิ่งทำให้โกรธแค้นขึ้นมากเพราะเป็นการจี้ใจดำ (อ.จิตติ ติงศภัทิย์) 

ดังนั้นถึงพูดเรื่องจริงก็เป็นหมิ่นประมาทได้ ส่วนจะได้รับยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษหรือไม่นั้นก็ต้องไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2272/2527 เลยปิดประกาศภาพถ่ายโจทก์โดยมีข้อความภาษาอังกฤษกำกับแปลเป็นภาษาไทยว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลย 15,910 บาท ยังเรียกเก็บไม่ได้หรือยังไม่ได้ชำระ โดยจำเลยปิดประกาศดังกล่าวในสถานบริการของจำเลยซึ่งมีลูกค้าเข้าไปรับบริการ เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกล่าวหาเรื่องร้าย เป็นการใส่ความโจทก์อันจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนแม้ว่าเรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริงก็ไม่เป็นเหตุยกเว้นให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2499/2526 จำเลยนำข้อความไปลงในหนังสือพิมพ์รายวันว่า “ประกาศจับ ส.(โจทก์)ในข้อหาหรือฐานความผิดยักยอกทรัพย์ ผู้ใดพบเห็นหรือชี้แนะได้ให้นำส่งสถานีตำรวจ ช. (ผู้เสียหาย)” และลงรูปโจทก์ไว้ข้างข้อความดังกล่าว โดยปรากฏว่าขณะจำเลยนำข้อความตามฟ้องและรูปโจทก์ไปลงโฆษณานั้น จำเลยก็ทราบว่าโจทก์รับราชการมีที่อยู่ที่แน่นอน ซึ่งจำเลยอาจนำเจ้าพนักงานไปจับกุมโจทก์ตามหมายจับได้โดยง่าย ไม่มีความจำเป็นต้องลงโฆษณาประกาศจับทางหนังสือพิมพ์และข้อความที่ลงโฆษณาย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง เรื่องที่จำเลยลงโฆษณาก็เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แม้พนักงานสอบสวนจะออกหมายจับโจทก์จริง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

ไม่ระบุชื่อ  ไม่เอ่ยชื่อ ก็อาจเป็น หมิ่นประมาท 

การหมิ่นประมาท หรือการใส่ความั้น ถึงแม้ ไม่ได้ระบุชื่อ หรือ ไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่หากคนทั่วไปฟังแล้วเข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึงใคร เช่นนี้ก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ตัวอย่างเช่น

โพสเฟซบุ๊กว่า  ” ผอ.โรงเรียนชายล้วน ที่ตั้งที่อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ชอบกินเด็กผู้ชาย ขอมีเพศสัมพันธ์กับเด็กผู้ชายแลกเกรด “

ถ้าปรากฎว่า อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี มีโรงเรียนชายล้วนอยู่แห่งเดียว เช่นนี้คนทั่วไปฟังแล้วก็ทราบทันทีว่า ผอ.คนดังกล่าว คือใคร เช่นนี้ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

แต่ในทางกลับกัน

ถ้าโพสเฟซบุ๊กว่า  “ผอ.หญิง โรงเรียนหญิงล้วนชื่อดัง จังหวัดชลบุรี ท้องก่อนแต่ง “

ถ้าปรากฎว่า จังหวัดชลบุรี มีโรงเรียนหญิงล้วนอยู่ 3 แห่ง เช่นนี้คนทั่วไปฟังแล้ว ย่อมไม่ทราบว่า ผอ.คนดังกล่าวเป็นใคร ย่อมไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท 

การจะเป็นความผิด บุคคลสามจะต้องรู้ “ทันที” ว่าหมายถึงใคร 

หากบุคคลที่สามรับรู้ข้อความที่ผู้กระทำสื่อสารแล้ว รู้ได้ทันทีว่าผู้กระทำหมายถึงใคร ย่อมเป็นความผิด

แต่หากบุคคลที่สามรับรู้ข้อความแล้ว ไม่รู้ว่าหมายถึงใคร จึงไปสืบหาข้อมูลจนทราบภายหลัง ไม่ถือว่าเป็นความผิด

ตัวอย่างเช่น โพสเฟซบุ๊กว่า  “ผอ.หญิง โรงเรียนหญิงล้วนชื่อดัง จังหวัดชลบุรี ท้องก่อนแต่ง “

โดยจังหวัดชลบุรี มีโรงเรียนหญิงล้วนอยู่ 3 แห่ง ทุกแห่ง ผอ.เป็นผู้หญิงหมด

ผู้อ่านโพสในเฟซบุ๊ก ไม่รู้ว่า ผอ.ที่เอ่ยถึงคือใคร และกิดสงสัยว่า ผอ.คนดังกล่าวเป็นใคร จึงได้ไปสอบถามข้อมูลจากนักเรียนทั้งสามโรงเรียน จนได้ทราบว่า ผอ.โรงเรียน ก. ท้องก่อนแต่ง

เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะผู้รับข้อมูลไม่ได้ทราบจากโพสเฟสบุ๊กว่าใครคือ ผอ.คนดังกล่าว แต่ผู้รับข้อมูลไปสืบหาด้วยตนเอง

นอกจากนี้การรับรู้ตัวบุคคลที่ถูกหมิ่นประมาทว่าเป็นใครนั้น ต้องถือเอาตามความหมายเข้าใจของบุคคลทั่วไป ไม่ใช่ของตัวโจทก์

ดังนั้นถึงโจทก์อ่านข้อความแล้วรู้ว่า หมายถึงตัวโจทก์ แต่บุคคลทั่วไปอ่านแล้วไม่ทราบว่าหมายถึงใคร ก็ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3954/2539 ประเทศไทยมีกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศจำเลยให้สัมภาษณ์และลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับกองทัพโดยมิได้ระบุเจาะจงว่าเป็น กองทัพใด จะถือว่าจำเลยใส่ความหมิ่นประมาทกองทัพบกโดยเฉพาะหาได้ไม่ กองทัพบกจึงไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2551 ข่าวในหนังสือพิมพ์ระบุชื่อบุคคลที่ถูกใส่ความว่า ม. และโจทก์มีผู้เสียหายเพียงปากเดียวมาเบิกความว่าเป็นนามปากกาของผู้เสียหาย ม. แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายกับจำเลยเคยทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ ร. อันเป็นการยืนยันว่าจำเลยทราบดีว่าผู้เสียหายมีนามปากกาว่า ม. แต่เมื่อโจทก์ไม่มีพยานอื่นมาเบิกความยืนยันได้ว่ามีบุคคลที่สามทราบว่านามปากกา ม. ตามข้อความในหนังสือพิมพ์ ร. หมายถึงผู้เสียหาย ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยเป็นคนเขียนข้อความดังกล่าว การกระทำของจำเลยก็ยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเนื่องจากไม่มีบุคคลที่สามทราบว่า ม. เป็นผู้ใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551 การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใดข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใดชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใด

บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่ และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3717/2547 ข้อความที่จำเลยทั้งหกลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ในคอลัมน์ยุทธจักรแปดแฉก ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์นั้น เป็นข้อความทั่วๆ ไปที่วิจารณ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งสำคัญในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ควรเป็นบุคคลที่อุทิศตนเพื่อทางราชการ โดยไม่มีข้อความใดที่ทำให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เข้าใจว่า เจ้าพนักงานตำรวจที่ใช้เวลาราชการไปสะสางเรื่องส่วนตัวตั้งแต่เช้าจรดเย็นเป็นตัวโจทก์ บุคคลทั่วไปมิได้มีการรับรู้หรือเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความดังกล่าวว่าเป็นตัวโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2505 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328 โดยกล่าวในฟ้องว่า จำเลยได้โฆษณาด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อชุมนุมชนซึ่งมาประชุมกันว่า’ทนายความเมืองร้อยเอ็ดคบไม่ได้ เป็นนกสองหัวเหยียบเรือสองแคม เป็นมวยล้ม ว่าความทีแรกดี ครั้นได้รับเงินแล้วก็ว่าเป็นอย่างอื่น’ และได้กล่าวในฟ้องด้วยว่าทนายความจังหวัดร้อยเอ็ดมีอยู่ในวันที่จำเลยกล่าวข้อความนี้เพียง 10 คนและในขณะที่จำเลยกล่าว จำเลยได้เห็นโจทก์ซึ่งเป็นทนายความคนหนึ่งประกอบอาชีพว่าความอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ดเข้าประชุมอยู่ด้วยกับยืนยันมาในฟ้องว่าการที่จำเลยกล่าวเช่นนั้นก็โดยมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์และบรรดาผู้ประกอบอาชีพทนายความในจังหวัดร้อยเอ็ดทุกคนให้ได้รับความเสียหายดังนี้ เป็นฟ้องที่ควรให้มีการไต่สวนมูลฟ้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป (ประชุมใหญ่ ครั้งที่10/2505)

การตั้งคำถาม โดยไม่สุจริต

การตั้งคำถามแบบหาเรื่อง หรือการตั้งคำถามแบบรู้คำตอบในตัวอยู่แล้ว การตั้งคำถามแบบทำให้ผู้ฟัง รู้คำตอบอยู่ในตัว เช่นนี้ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท

ตัวอย่างเช่น ในวันแต่งงานแกล้งถามเจ้าสาวว่า  “ท้องก่อนแต่งใช่ไหม” ทั้งๆที่ตนเองก็รู้คำตอบอยู่แล้ว ว่าเจ้าสาวท้องก่อนแต่ง แสดงว่ามีเจตนาหมิ่นประมาท ต้องการให้คนอื่นๆรู้ว่าเจ้าสาวท้องก่อนแต่ง เป็นความผิดตามกฎหมาย

แต่การตั้งคำถามโดยสุจริต หรือตามที่ตนเองมีหน้าที่ หรือตามปกติธรรมดาตามสมควรแก่พฤติการณ์และมารยาทในสังคม ย่อมไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท 

ซึ่งการตั้งคำถามแบบไหนจะเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์จากพฤติการณ์เป็นเรื่องๆไป

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1352/2482 จำเลยโกรธจึงแกล้งถามโจทก์ว่าติดตรางด้วยเรื่องอะไร นั้นเป็นผิดฐานหมิ่นประมาท พฤตติการณ์ที่ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงในฟ้องต่างกับข้อเท็จจริงในทางพิจารณา.

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2531 จำเลยถาม ป. ว่า มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์จริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ให้เลิกเสีย ไม่ได้ยืนยันว่า ป. มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์ยังไม่เข้าลักษณะเป็นการใส่ความอันจะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าวเช่นนั้นต่อหน้าโจทก์จึงมิใช่เป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าอีกเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2531 การที่จำเลยถาม ป. ว่ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์หรือไม่จึงเป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยเท่านั้นมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังแต่ประการใดจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าววาจาต่อหน้าโจทก์ จึงไม่ใช่เป็นดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้า จำเลยไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้

การตอบคำถาม ไม่เป็นเหตุอ้างว่าไม่มีเจตนา

ถึงแม้ผู้กระทำจะไม่มีเจตนาพูดถึงเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ตอบคำถามไปตามที่ถูกสอบถามมา 

แต่หากถ้อยคำที่ตอบคำถามออกไปนั้นมีลักษณะเป็นการใส่ความ และน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้

ผู้กระทำไม่อาจอ้างว่าเพราะเขาถามมาจึงตอบไป เป็นเหตุยกเว้นการกระทำความผิดได้

 อย่างไรก็ตามถ้าตอบไปตามความสุจริต ตามหน้าที่ของตนเอง ตามความสมควร ก็อาจถือได้ว่าไม่มีเจตนา และไม่ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งจะต้องดูบริบทเป็นเรื่องๆไป คล้ายๆกับการตั้งคำถามครับ

 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2503 นางใยอาว์ของโจทก์เล่าให้จำเลยฟังว่า โจทก์ (เป็นนางสาว) กับนายอนันต์ซึ่งเป็นญาติของโจทก์ รักใคร่กันทางชู้สาวนอนกอดจูบกันและได้เสียกัน ต่อมานางสงวนมาถามจำเลยว่านางใยมาเล่าอะไรให้จำเลยฟังจำเลยก็เล่าข้อความตามที่นางใยเล่าแก่จำเลยให้นางสงวนฟัง นางสงวนได้เอาข้อความนั้นไปเล่าให้โจทก์ฟังอีกชั้นหนึ่งเช่นนี้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าว เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อย่างเห็นได้ชัด เมื่อจำเลยกล่าวออกไป แม้จะโดยถูกถามที่ก็ดี จำเลยควรต้องสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลการกระทำของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยจงใจกล่าวข้อความยืนยันข้อเท็จจริงโดยเจตนาใส่ความโจทก์

การเล่าต่อ หรือส่งต่อข้อความ ก็เป็นหมิ่นประมาท

การที่ทราบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใดมาจากบุคคลหนึ่ง หรือสื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วได้เล่าต่อ หรือส่งต่อข้อเท็จจริงนั้นไปยังบุคคลอื่น ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ไม่สามารถอ้างได้ว่า ตนได้รับฟังมาอีกทอด หรืออ้างว่าแค่เล่าต่อไม่ได้ยืนยันว่าเป็นความจริง

รวมถึงการแชร์ข้อความต่างๆในเฟซบุ๊ก แชร์ข้อความในไลน์ แชร์วีดีโอในยูทูป แคปหน้าจอส่งต่อให้คนอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าข้อความต้นฉบับเป็นหมิ่นประมาท ผู้ที่ส่งต่อย่อมมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องพิเคราะห์ข้อเท็จจริงและบริบทในการกระทำประกอบด้วย หากกระทำไปโดยสุจริต ตามหน้าที่ ตามสมควรแก่พฤติการณ์ก็อาจไม่เป็นความผิด ซึ่งจะต้องพิเคราะห์จากข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆไป

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 140/2509 จำเลยถูกพนักงานสอบสวนสอบสวนเป็นพยานในคดีที่โจทก์กับพวกเป็นจำเลยต้องหากระทำผิดวางเพลิง จำเลยให้การว่า “ข้าพเจ้าเองเมื่อนางแอ๊ดเล่าให้ฟังเช่นนี้มีความรู้สึกสงสัยอยู่เพราะข้าพเจ้าเองก็เคยทราบจากชาวตลาดล่ำลือกันอยู่แล้วว่านายห้างศรีอัมฤทธิ์ผู้นี้ได้จ่ายเงินห้าหมื่นบาทให้นายเสรี อิทธสมบัติ (โจทก์) เป็นค่าจ้างในการวางเพลิงครั้งนี้ แต่ข้าพเจ้าเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเป็นความจริงเพียงใด” ดังนี้ จำเลยกล่าวแต่เพียงว่าเป็นข่าวเล่าลือ ไม่ใช่ผู้หนึ่งผู้ใดรู้เห็นมาบอกเล่าจำเลย ไม่ใช่คำบอกเล่าที่กล่าวให้ผู้ฟังเชื่อตามคำจำเลย จำเลยถูกสอบสวนเป็นพยานจึงให้การต่อเจ้าพนักงาน ไม่กระทำให้ผู้อื่นเกิดความเข้าใจหรือเชื่อว่าโจทก์ได้รับเงินค่าจ้างวางเพลิงเผาตลาดได้ เพราะเป็นแต่ข่าวเล่าลือ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ตามมาตรา 326.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2515 การที่จำเลยแสดงข้อความในจดหมายที่ได้รับจากผู้อื่นให้บุคคลที่สามทราบโดยรู้อยู่ว่าจดหมายนั้นมีข้อความหมิ่นประมาทผู้เสียหาย นับว่าจำเลยได้ใส่ความผู้เสียหาย แล้วไม่ต่างอะไรกับที่จำเลยได้กล่าวด้วยถ้อยคำวาจา และเมื่อบุคคลที่สามเข้าใจข้อความในจดหมายนั้นแล้วการกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยจะได้กล่าวยืนยันข้อความนั้นว่าเป็นความจริงหรือไม่ ไม่เป็นข้อสำคัญ

ถ้อยคำธรรมดาที่มีความหมายแฝง ผิดไปจากธรรมดา

ถ้อยคำธรรมดาที่ปกติแล้วจะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท  ถ้ากล่าวในบริบทที่เป็นการใส่ความและมีความหมายแฝงก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้

แต่เรื่องของความหมายแฝงนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์จะต้องบรรยายให้ชัดแจ้ง และเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบ ให้ศาลเห็นว่า ถ้อยคำดังกล่าวมีความหมายแฝงว่าอะไร

ตัวอย่างเช่น ประโยคว่าผู้พิพากษากินไข่ เช่นนี้ตามบริบททั่วไปไม่เป็นหมิ่นประมาทอยู่แล้ว 

แต่หากในบริบทที่ โจทก์พูดหลังจากตัวเองพ้คดีว่าที่แพ้คดีนี้เพราะผู้พิพากษากินไข่ของจำเลย 

คำว่ากินไข่ในกรณีมีความหมายว่ากินสินบนจากฝ่ายตรงข้าม เช่นนี้ก็เป็นหมิ่นประมาทได้แต่โจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นเช่นนั้น ว่าเป็นการพูดโดยมีความหมายแฝง  

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2514 จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลอื่นว่า “นายกกินเนื้อของนายองุ่นวันละ 8 กิโลจึงอนุญาตให้ฆ่า ถ้าไม่กินเนื้อวันละ 8 กิโล เขาก็คงไม่อนุญาต” ซึ่งมีความหมายว่าโจทก์ร่วมนายกเทศมนตรีจังหวัดชัยภูมิร่วมรับสินบนของนายมะเดื่อ คำกล่าวเช่นนี้ถือเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ร่วมให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1348/2519  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใส่ความ ลงข้อความในหนังสือพิมพ์รายวันว่า ‘ชาวบ้านที่ไปติดต่อแผนกที่ดิน จังหวัดนครสวรรค์ ร้องกันอู้จู่ๆถูกสาวก้นแฉะทรงศรีใช้วจีไม่ค่อยรื่นหูเจตน์ สุวรรณ ที่ดินจังหวัดคนตงฉินได้ยินแล้วอบรมซะบ้าง’ เป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้นางสาวเหลืองโจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ว่าเป็นคนประพฤติไม่ดี ชอบร่วมประเวณีกับชายทั่วๆ ไปเป็นประจำไม่เลือกหน้า และได้จำหน่ายจ่ายแจกหนังสือพิมพ์ดังกล่าวไปทั่วทุกจังหวัดดังนี้เห็นได้ว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายและอธิบายความหมายของข้อความที่จำเลยลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เป็นการใส่ความในประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียหายต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งได้บรรยายให้เห็นว่าข้อความที่จำเลยลงพิมพ์ไปนั้น ได้แพร่หลายไปยังบุคคลที่สามอีกเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง ถือได้ว่าข้อความที่จำเลยลงพิมพ์ไปนั้นเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จึงไม่จำต้องแปลข้อความให้เห็นเป็นอย่างอื่นนอกเหนือที่จำเลยรับสารภาพ จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท


หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา 

ตัวบทกฎหมาย

มาตรา 328   ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

คำอธิบาย 

ในการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ถ้าผู้กระทำ มีเจตนาจะส่งข้อมูลให้บุคคลจำนวนมาก ด้วยวิธีการต่างๆที่ทำให้บุคคลอื่นสามารถพบเห็นข้อความได้ในวงกว้าง

เช่นโพสต์เฟซบุ๊ก แปะป้ายประกาศด้วยเอกสาร การทำภาพวาดปิดประกาศหรือ เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย การทำภาพยนตร์เผยแพร่ใน YouTube การกระจายเสียงโฆษณาทางวิทยุ พอดแคสต์ การโพสในสื่อออนไลน์ต่างๆ จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ที่ทำให้มีโทษหนักขึ้น 

หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา


หมิ่นประมาทผู้ตาย 

ตัวบทกฎหมาย 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327  ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น

คำอธิบาย

ความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 327 นี้จะต้องเกิดขึ้นหลังจากผู้ถูกใส่ความถึงแก่ความตายไปแล้ว ซึ่งธรรมดาแล้วคนที่ตายย่อมไม่มีการเสียชื่อเสียง เพราะว่าสิ้นสภาพบุคคลไปแล้ว ดังนั้นผู้ตายจึงไม่มีสภาพบุคคลและไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหาย 

แต่ถ้าการว่ากล่าวผู้ตายนั้นอาจส่งผลกระทบต่อบิดามารดาคู่สมรสหรือบุตรของผู้ตาย เช่นกล่าวว่าผู้ตายเป็นหญิงขายตัว  เช่นนี้ย่อมทำให้บุตรของผู้ตายได้รับความเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังไปด้วย 

ในกรณีเช่นนี้กฎหมายจึงกำหนดให้ บิดามารดาคู่สมรสหรือบุตรของผู้ตายเป็นผู้เสียหายด้วย แล้วผู้กระทำย่อมมีความผิดดังเช่นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2531  จำเลยที่ 1 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มีข้อความว่า”พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก” ข้อความดังกล่าวทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึงพรรค ป. และ ด. สามีโจทก์ ดังนี้ จำเลยที่ 1 มีเจตนาใส่ความผู้ตายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารอันน่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตายและบุตรเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อื่นได้ มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท

รวม 9 ประเด็นข้อต่อสู้ คดีหมิ่นประมาท ให้ศาลยกฟ้อง

คดีความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นคดีที่ประเด็นข้อต่อสู้ที่กว้างขวาง เพราะนอกจากจะมีประเด็นข้อต่อสู้ทั่วไปที่ใช้ในคดีอาญาตามปกติ เช่น ไม่มีเจตนา ไม่ใช่ผู้เสียหาย คดีขาดอายุความ หรือไม่ครบองค์ประกอบความผิด แล้ว

คดีหมิ่นประมาท ยังมีข้อกฎหมายเฉพาะ ที่วางหลักการยกเว้นความผิด (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329)  และการยกเว้นโทษ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330)

และยังมีแนวคำวินิจของศาลฎีกาที่ระบุว่าการกระทำแบบไหนบ้างที่ไม่เป็นความผิด ซึ่งผมได้รวบรวมไว้ทั้งสิ้น 9 แนวทางด้วยกัน


ไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหาย 

ประเด็นข้อต่อสู้นี้เป็นประเด็นในการต่อสู้คดีอาญาเกือบทุกคดี ที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว

และเนื่องด้วยคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้นแล้วหากผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด ย่อมไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีอำนาจฟ้องร้องหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลย

ตัวอย่างเช่น ผู้เสียหายเป็นคนเริ่มด่าตัวจำเลยก่อน หรือเป็นคนเริ่มหาเรื่องเป็นเหตุให้ตัวจำเลยด่าผู้เสียหาย หรือเป็นการด่ากันไปด่ากันมา เช่นนี้ย่อมไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎมหาย 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9435/2554 คำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาซึ่งคู่ความนำสืบกล่าวอ้างรับกันว่ามีการดำเนินคดีดังกล่าวจนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษานั้น ย่อมต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม และยังได้รับโอนสิทธิผลงานอุลตร้าแมนตามข้อตกลงมอบสิทธิ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวที่โจทก์กล่าวอ้างเพื่ออาศัยเป็นเหตุฟ้องจำเลยทั้งสองได้ยุติไปตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาว่า โจทก์มิใช่ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตั้งแต่เริ่มแรก และข้อตกลงมอบสิทธิเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับ กรณีย่อมต้องถือว่าโจทก์อ้างสิทธิโดยแอบอ้างการเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์และใช้เอกสารสิทธิปลอมโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่แรก แม้ข้อเท็จจริงนี้จะปรากฏขึ้นในชั้นพิจารณาของศาลฎีกา แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างมาตั้งแต่ต้น ศาลฎีกาก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2635/2529 โจทก์ร่วมใช้ให้น. พูดโทรศัพท์กับจำเลยแล้วจำเลยกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมทางโทรศัพท์การกระทำของโจทก์ร่วมไม่ถือว่ามีส่วนก่อให้เกิดการกระทำผิดของจำเลยดังนี้โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายตามป.วิ.อ.มาตรา2(4).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3745/2527 ศ.ได้นำเจ้าพนักงานไปดูสถานที่ซึ่ง ศ. กับพวกร้องเรียนว่าจำเลยใช้รถแทรกเตอร์ไถดินกลบลำเหมืองสาธารณะ ศ. กับจำเลยเกิดโต้เถียงกันและ ศ. ได้พูดว่าจำเลยก่อนว่า จำเลยจะโกงลำเหมือง จำเลยจึงพูดว่า ศ. ก็โกงที่เขามา ดังนี้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวนั้น เป็นถ้อยคำตอบโต้หรือย้อนคำ ศ. เป็นเรื่องต่างคนต่างว่าซึ่งกันและกันในการทะเลาะโต้เถียงกันจึงถือไม่ได้ว่า ศ. เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1545/2513 ฟ้องหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทใส่ความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นถ้อยคำตอบโต้หรือย้อนคำโจทก์ต่างคนต่างว่าซึ่งกันและกันในการทะเลาะโต้เถียงกัน จะถือเป็นถ้อยคำที่จำเลยเจตนาใส่ความอันเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ได้โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง


ไม่ได้เอ่ยชื่อ ไม่ได้ระบุชื่อ ไม่รู้ว่าคือใคร

อย่างที่อธิบายไปในตอนต้นแล้วว่าในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ข้อความที่เป็นหมิ่นประมาทจะต้องระบุตัวได้อย่างชัดเจนว่าหมายถึงใคร 

หากข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ที่ถูกหมิ่นประมาทได้  บุคคลที่ฟังไม่สามารถรู้ได้เลยว่า บุคคลที่ถูกใส่ความหมายถึงใคร 

ถึงแม้ภายหลัง ผู้ฟังจะได้ไปสืบหาข้อมูลหรือมีผู้มาบอกภายหลังว่าบุคคลที่ถูกใส่ความหมายถึงใครก็ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท (โปรดดูคำอธิบายในข้อ 2.2 ประกอบ)

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2522 จำเลยกล่าวถ้อยคำถึงราษฎร 2 อำเภอ ที่อพยพมาอยู่รวมกันในหมู่บ้านซึ่งมีจำนวนประมาณ 4,000 คน ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ดังนี้ คนธรรมดาสามัญย่อมไม่เข้าใจว่าเป็นการกล่าวพาดพิงหรือใส่ความบุคคลใด เพียงแต่โจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลที่รวมอยู่ในจำนวนคนเหล่านั้น จะว่าจำเลยใส่ความโจทก์ทั้งสองโดยตรงหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่เป็นผู้เสียหาย อันจะมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3901/2545 ข้อความหมิ่นประมาท ไม่มีตอนใดที่ระบุว่าเป็นโจทก์หรือทำให้เข้าใจว่าเป็นโจทก์ ทั้งโจทก์เองก็รับว่าก่อนเกิดเหตุหนังสือพิมพ์ข่าวสดลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยระบุตัวโจทก์ตรง ๆ ไม่ต้องแปลหรือทำความเข้าใจเองว่าหมายถึงใคร ดังนั้น หากจำเลยทั้งหกประสงค์จะให้ถ้อยคำดังกล่าวชี้ชัดเฉพาะเจาะจงเป็นการยืนยันว่าเป็นโจทก์ ก็น่าจะกล่าวถึงตัวโจทก์โดยระบุตรง ๆ เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ข้อความตามที่จำเลยทั้งหกลงพิมพ์ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2517 จำเลยลงภาพวาดมีข้อความกำกับในหนังสือพิมพ์ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ และมีสำนักงานอยู่ในเขตเทศบาลเมืองยะลากล่าวหาว่ามีการทุจริตในเทศบาล แต่หนังสือพิมพ์ของจำเลยลงข่าวเหตุการณ์และจำหน่ายทั่วไปในจังหวัดภาคใต้ มิได้จำหน่ายเฉพาะในเมืองยะลา และข้อความนั้นไม่มีตอนใดพาดพิงถึงเทศบาลเมืองยะลาโดยเฉพาะเจาะจงหรืออาจเข้าใจได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความนายกเทศมนตรีกับคณะเทศมนตรีเมืองยะลาในขณะนั้น ทั้งในช่วงระยะปีเศษก่อน มีการโฆษณาภาพและข้อความนั้น เทศบาลเมืองยะลาก็มีการเปลี่ยนคณะเทศมนตรีถึง 7 ชุด คณะเทศมนตรีเมืองยะลาในขณะนั้นจึงไม่เป็นผู้เสียหายอันจะฟ้องร้องให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาทได้

ฎ.3167/2545ถ้อยคำดังกล่าวมิได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใดถึงแม้จะระบุถึงกองปราบปรามอยู่ด้วย ก็เป็นกล่าวโดยรวม มิได้ระบุตัวเจ้าพนักงานตำรวจในกองปราบปรามคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ หรือตำรวจหน่วยใดในกองปราบปรามที่ระบุได้แน่นอน ดังนั้นเจ้าพนักงานตำรวจที่สังกัดกองปราบปรามคนใดคนหนึ่งจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าเป็นผู้เสียหายได้ โจทก์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ถึงแม้จะทำหน้าที่กำกับดูแลกองปราบปรามก็ไม่เป็นผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยได้


เป็นเพียงคำด่า คำไม่สุภาพ คำเลื่อนลอย ไม่ใช่การใส่ความ 

ในกรณีที่ถ้อยคำ เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพ ถ้อยคำไม่สมควร เป็นคำด่าว่า ไม่มีเนื้อหาโดยเฉพาะเจาะจงแน่นอน ยังไม่ถึงขั้นเป็นการใส่ความ

อย่างที่เคยอธิบายไว้แล้วในข้อ 1 เรื่ององค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทว่า การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ถ้าเนื้อหานั้น น่าจะ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ก็เป็นความผิดแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีคนเชื่อตามการใส่ความแต่อย่างใด

แต่ถ้าเนื้อหาของถ้อยคำดังกล่าว เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และไม่มีทางที่ใครฟังแล้วจะเชื่อว่าผู้เสียหาย เป็นไปตามที่ถูกว่าจริงได้เลย หรือเป็นเรื่องเลื่อนลอย เช่นด่าว่า ไอ้หน้าหมา ไอ้สัตว์  บักปอบ  ไอ้เหี้ย 

ช่นนี้ อาจจะเป็นความผิดก็เป็นเพียงความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า แต่ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะถือว่าไม่มีทางที่ใครจะเชื่อตามคำพูดดังกล่าวได้เลย 

ทั้งนี้ต้องแยกให้ออกระหว่าง

1.การใส่ความ ในเรื่องที่เป็นไปได้ เรื่องที่ชัดเจน เช่น ด่าว่าเป็นคนขี้โกง เป็นคนทุจริต เป็นโจรข่มขืน เช่นนี้ ถึงแม้ไม่มีคนเชื่อ ก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

2.การใส่ความ ในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่แน่นอน เช่น หาว่าเป็นปอบ ด่าว่าไอ้สัตว์ ไอ้เหี้ย เช่นนี้ ไม่มีวิญญูชนผู้ใดจะเชื่อว่าผู้เสียหายเป็นตามนั้นจริง ย่อมไม่เป็นความผิด

ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคำด่า คำไม่สุภาพ แล้วจะไม่เป็นหมิ่นประมาท ถ้าด่าแบบเป็นเรื่องเป็นราว เป็นใส่ความก็เป็นหมิ่นประมาท แต่ถ้าด่าแบบเลื่อนลอย ย่อมไม่เป็นหมิ่นประมาท (ฎ.621/2518)

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4425/2545 จำเลยชี้มือมาที่โจทก์แล้วพูดกับชาวบ้านที่เดินผ่านมาว่า ระวังทนายสกปรกจะเอาเรื่อง จากนั้นจำเลยก็เดินผ่านไป คำพูดของจำเลยดังกล่าวไม่มีข้อความประกอบให้เห็นว่าโจทก์ซึ่งมีอาชีพทนายความสกปรกในเรื่องอะไร แม้จะเป็นคำเสียดสีโจทก์ว่าเป็นคนน่ารังเกียจ แต่ไม่ถึงขนาดทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนคดโกงขาดความน่าเชื่อถือหรือน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังโดยสภาพของถ้อยคำดังกล่าวไม่เป็นการหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2550  คำฟ้องโจทก์อ้างเหตุประการแรกว่า จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ด้วยถ้อยคำว่า “โจทก์ยกที่ดินให้แล้ว ยังจะเอาคืน เสือกโง่เอง อย่าหวังว่าจะได้สมบัติคืนเลย” ข้อความนี้ เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2518 “พี่สาวเองมีผัวหรือยังควยกูนี่ใหญ่นะพี่สาวมึงคงชอบขอเย็ดสักทีสองทีได้ไหม” คำกล่าวที่ว่า “ควยกูนี่ใหญ่นะพี่สาวมึงคงชอบ” เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นหรือคาดคะเนของจำเลยเท่านั้น มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงอันน่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังส่วนคำกล่าวที่ว่า”ขอเย็ดสักทีสองทีได้ไหม” ก็มิใช่ถ้อยคำที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2522 การที่จำเลยพูดว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นข้าราชการว่า “ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ ไอ้ ห. โกงบ้านโกงเมือง” นั้น แม้ถ้อยคำที่ว่า อ้ายเหี้ย ไอ้สัตว์ จะเป็นเพียงการดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ถ้อยคำที่ว่าผู้เสียหายโกงบ้านโกงเมืองนั้น มีความหมายว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เบียดบังทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ทางราชการมาเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต เป็นการใส่ความผู้เสียหายโดยการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 72/2525 ถ้อยคำพูดของจำเลยที่กล่าวถึงโจทก์ต่อบุคคลอื่นว่า “บักคมเป็นตำรวจหมา ๆ บ่ฮู้จักอีหยัง ไปบอกมันแน่ ถ้ามันเว้าอีกกูสิเอาเรื่อง” เป็นเพียงถ้อยคำพูดไม่สุภาพที่จำเลยกล่าวติเตียนการกระทำของโจทก์เท่านั้น ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นตำรวจเลวหรือไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2529 คำพูดของจำเลยที่ด่าว่าผู้เสียหายต่อเด็กหญิงก. ว่า”ให้ไอ้อุ่มเอาควยตำหีตำแตด ครั้งก่อนเคยให้ไอ้อุ่มเอาควยตำหีตำปากไปทีหนึ่งแล้ว”และที่จำเลยพูดกับส. ว่า”เมื่อเช้าอีรุณ (หมายถึงผู้เสียหาย)มาแหกปากร้านลัดดากูเลยให้ลูกชายเอาควยทิ่มหีทิ่มปากกลับไป”มิใช่คำยืนยันใส่ความผู้เสียหายว่าเคยร่วมประเวณีกับนายม่วง นายม่วงที่กล่าวถึงก็เป็นบุตรของจำเลยและยังเป็นเด็กไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นชู้กับผู้เสียหายไม่ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจไปว่าผู้เสียหายมีความประพฤติไม่ดีเคยร่วมประเวณีกับนายม่วง ไม่หมิ่นประมาทตามป.อ.มาตรา326แต่เป็นคำด่าผู้เสียหายด้วยคำหยาบในที่ลับหลังผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามมาตรา393

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2324/2518  เมื่อโจทก์เดินออกมาจำเลยพูดว่า “ไอ้ทนายกระจอก ไอ้ทนายเฮงซวย” ดังนี้ การใช้ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการพูดดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ให้ได้รับความอับอายและเจ็บใจเท่านั้น หาใช่เป็นการใส่ความ โจทก์โดยประการที่จะทำให้โจทก์เสียชื่อเสีย ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังไม่ ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2522 กล่าวว่า “ผัวมึงซี่กูแล้ว” จึงไม่ยอมใช้หนี้ แสดงว่าโจทก์เคยได้เสียกับจำเลยมาก่อน แต่ไม่ยกย่องเป็นภริยาน้อย ไม่อ้างว่าโจทก์เสียชื่อเสียงเพราะจำเลยเป็นหญิงมีสามีอยู่แล้ว เป็นชู้กับโจทก์ ไม่เป็นหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3176/2516 การกล่าวถ้อยคำว่า “ขับรถยียวน ขอจับกุม เอาใบขับขี่มาเป็นเพียงคำพูดที่ไม่สมควรจะต้องกล่าวในเวลาจับกุมเท่านั้นไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 507/2539 ข้อความที่จำเลยกล่าวว่า”สำหรับอ.นั้นขอให้พิจารณาเป็นพิเศษด้วยเดินหากินจุ้นจ้านที่ศาลเพราะสำนักงานร้างไปแล้ว”คำว่า”จุ้นจ้าน”เป็นคำกริยาตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2525มีความหมาย2นัยนัยแรกคือเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสถานที่หรือนัยที่สองเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวจนน่าเกลียดเมื่อพิจารณาทั้งประโยคที่ว่า”เดินหากินจุ้นจ้านที่ศาล”จึงน่าจะมีความตามความนัยแรกคือโจทก์เข้าไปเดินหากินยุ่งเกี่ยวในศาลในลักษณะพลุกพล่านยุ่มย่ามจนน่าเกลียดเพราะสำนักงานร้างไปแล้วเมื่อได้ความว่าจำเลยได้ติดต่อให้โจทก์เป็นทนายความที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชและจำเลยเอาเงินค่าจ้างว่าความส่วนหนึ่งไปให้โจทก์ที่บ้านโดยไม่ได้ความชัดว่าโจทก์มีสำนักงานทนายความแยกจากบ้านที่พักอาศัยหรือไม่ส่วนจำเลยไม่เคยติดต่อโจทก์ที่สำนักงานทนายความของโจทก์ดังนั้นการที่จำเลยกล่าวว่าโจทก์ไปเดินหากินจุ้นจ้านที่ศาลเพราะสำนักงานร้างไปแล้วจึงเป็นการกล่าวไปตามความเข้าใจของจำเลยว่าโจทก์ไม่มีสำนักงานเป็นหลักแหล่งต้องใช้ศาลเป็นที่ทำมาหากิน มิได้มีความหมายไปในทางที่ว่าโจทก์เป็นทนายความที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรืออาศัยวิชาชีพหลอกลวงฉ้อโกงจำเลยหรือประชาชนจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาใส่ความโจทก์ให้เสียหายหรือถูกดูหมิ่นเกลียดชังคำกล่าวดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1034/2533 คำกล่าวที่ว่า ผู้เสียหายนามสกุลหมา ๆ นั้น เป็นแต่เพียงการดูหมิ่นเหยียดหยามเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการใส่ความผู้เสียหายโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1142/2516 การที่จำเลยพูดว่า “ตุ๊ อย่าเอาไม้ไปแหย่ขี้เลย” ในขณะที่โจทก์กำลังโต้เถียงกับนายทับทิมสามีจำเลย เมื่อคณะผู้พิพากษาพร้อมด้วยโจทก์จำเลยในคดีแพ่งไปตรวจดูสถานที่พิพาทนั้นแม้คำว่า ขี้จะหมายถึงตัวโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพเท่านั้นยังไม่พอถือได้ว่าเป็นการใส่ความตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326 จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1052/2555 ข้อความที่ว่าไอ้หรัดซึ่งหมายถึงผู้เสียหายเป็นเพียงคำเรียกหาที่ไม่สุภาพ ส่วนที่ว่าผู้เสียหายเคยยืมเงินจำเลยก็กล่าวตามข้อเท็จจริงซึ่งผู้เสียหายรับว่าเคยกู้ยืมเงินจากจำเลยจริง ทั้งการกู้ยืมเงินกันก็ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่มีข้อความกล่าวถึงกับว่าผู้เสียหายคดโกง ดังนี้ ตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆ ไปจึงไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงขนาดความเชื่อถือไว้วางใจ หรือความคดโกงชั่วร้าย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังแต่ประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2509 ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ต้องเป็นการแสดงข้อความให้คนฟังคนเห็นเชื่อ จึงจะเกิดความรู้สึกเกลียดชัง ดูหมิ่น ขึ้นได้ จำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นผีปอบ เป็นชาติหมา ความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดาไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นไปได้ จึงไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นอย่างใด และข้อความใดจะเป็นการทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ต้องถือตามความคิดของบุคคลธรรมดาผู้ได้เห็นได้ฟัง คำกล่าวของจำเลยจึงไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 200/2511 วินิจฉัยไปในทำนองเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426 – 427/2520  ที่กล่าวว่าเป็น ส. ส. ขบวนการปลาทูเป็นการเปรียบเทียบเลื่อนลอยไม่ยืนยันข้อเท็จจริงไม่เป็นหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 834/2510 ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์และพยานหลักฐานโจทก์จำเลยโดยตลอดแล้วเห็นว่า ข้อความหมิ่นประมาทนั้นอาจเป็นข้อความตามข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือถูกเกลียดชัง ส่วนคำดูหมิ่นไม่เป็นการกล่าวข้อเท็จจริงใด ๆ แต่เป็นคำกล่าวอันทำให้เป็นที่ดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม ด่าแช่ง ค่อนขอด ฯลฯ ตามฟ้องของโจทก์ได้ระบุว่า คำโฆษณาของจำเลยหยาบคาย ผิดวิสัยปัญญาชนชาวหนังสือพิมพ์พึงกระทำ เพราะคำว่า ” จิ้ง” นั้นใช้นำหน้าสำหรับเรียกสัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์สี่เท้าเท่านั้น เช่น จิ้งเหลน จิ้งจอก เป็นต้น คำว่า “เหลือง” ก็มีนัยหมายถึงโจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุนุ่งห่มผ้าเหลือง ทั้งนี้ เป็นการส่อสำแดงเหยียดหยามค่อนขอดโจทก์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2492 โจทก์เป็นนายกเทศมนตรีและเป็นทนายฝ่ายโจทก์ในคดีเรื่องหนึ่ง จำเลยเป็นทนายฝ่ายจำเลยในคดีนั้น ในระหว่างสืบพะยานจำเลยได้กล่าวว่า “ถามพะยานอย่างโง่ ถามอย่างนั้นไม่ได้ ไม่เกี่ยวกับประเด็นอะไร เป็นเทศมนตรีไม่เห็นดีอะไร” ดังนี้ เป็นถ้อยคำต่ำช้าอันสามัญชนไม่พึงกล่าว แต่ยังไม่ถึงขั้นใส่ความ หรือเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 106/2506 “ผู้อำนวยการคนนี้ ใครว่าดี เดี๋ยวนี้ดีแตกเสียแล้ว ไปติดต่อเรื่องคนไชข้ก็มาไล่ โรงพยาบาลเป็นของรัฐบาล ไม่ใช่ของผู้อำนวยการ ตึกบุญเลี่ยมเป็นของชาวเมืองเพชรสร้าง บ้านที่ผู้อำนวยการอยู่ก็ต้องอาศัยเขาอยู่ เป็นหมอควรจะใจเย็นแต่นี่ใจร้อนยังกับไฟ ใช้ไม่ได้ ถึงเจ็บก็ไม่มารักษาที่นี่ จะเอาเรื่องทุกอย่างไปลงสาส์นเพชร” และเห็นว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำเหล่านั้นด้วยความน้อยใจ ประกอบกับมีอารมณ์โกรธผู้เสียหายที่พูดไล่จำเลย จำเลยกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นต่อผู้เสียหาย ซึ่งเป็นนายแพทย์ ผู้มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอันเป็นการไม่สมควร เพราะเป็นการขาดคารวะ แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นหรือใส่ความอันจะเป็นการผิดกฎหมายดังโจทก์ฟ้อง พิพากษายืน


เนื้อหาไม่ทำให้น่าจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

ในกรณีที่เนื้อหาข้อความที่พิพาทนั้้น ตามมาตรฐานสังคมของทั่วไปแล้วไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหาย ไม่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรืิอถูกเกลียดชัง

ถึงแม้โจทก์ฟังแล้วไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ก็ไม่เป็นความผิด เพราะอย่างที่ได้อธิบายไว้แล้วในข้อ องค์ประกอบความผิดว่า การ”น่าจะ” เสียหาย นั้นเป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ

ซึ่งศาลมีอำนาจวินิจฉัยเอง ไม่ได้ถือเอาตามความเข้าใจหรือความพอใจของโจทก์ แต่จะต้องถือเอาตามมาตรฐานของวิญญูชน

อย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3015/2543  ข้อความที่จำเลยที่ 1 พูดนั้น เป็นการพูดเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งแปลความหมายได้ว่า โจทก์เป็นคนเจ้าชู้ จำเลยที่ 1 จึงลาออกจากงานเพราะกลัวตนเองจะเสียหาย โดยไม่ปรากฏข้อความใดที่กล่าวหาว่า โจทก์ได้กระทำการอันเป็นการลวนลามจำเลยที่ 1 โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม ข้อความที่แปลความหมายได้เพียงว่า โจทก์เป็นคนเจ้าชู้นี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของคำว่า “เจ้าชู้” หมายความถึงผู้ใฝ่ในการชู้สาว เมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ชาย ตามความรู้สึกของสังคมหรือคนทั่วไปที่ได้ยินข้อความที่จำเลยที่ 1 พูด ก็ไม่อาจมีความรู้สึกได้ว่าเป็นการใส่ความโจทก์ที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่เป็นเรื่องของผู้ชายซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะใฝ่ในทางชู้สาวได้ คำพูดของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2271 – 2272/2522 ประกาศหนังสือว่า โจทก์พ้นจากตำแหน่งรองประธานชมรมร้านขายยาแล้วถ้าผู้นี้ไปแอบอ้างชื่อชมรมทำการใด ๆชมรมไม่รับผิดชอบไม่เป็นหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 437/2474 ข้อความที่จำเลยโฆษนาในหนังสือพิมพ์ว่า “โจทก์ไม่ใช่คุณหญิง” นั้นไม่เป็นการใส่ความหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3957/2529 จำเลยกล่าวต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า ก่อนมีการประชุมคณะกรรมการพนักงานของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์จำเลย โจทก์เข้าไปพบจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ในขณะนั้น โจทก์ได้ต่อว่าจำเลยเรื่องการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนมีการโต้เถียงกันและโจทก์แสดงกิริยาไม่เหมาะสมโดยยืนเท้าโต๊ะทำกิริยาเหมือนขู่ตะคอกและเหมือนกับจะทำร้ายจำเลยนั้น แม้จะรับฟังว่าจำเลยกล่าวข้อความต่อคณะกรรมการดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงทำให้เห็นว่าโจทก์บันดาลโทสะที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากจำเลยในการพิจารณาเสนอเลื่อนขั้นเงินเดือน โจทก์จึงเข้าไปต่อว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา แสดงว่าโจทก์เพียงโกรธจำเลยที่ไม่ให้ความเป็นธรรมและแสดงกิริยาไม่เหมาะสมต่อจำเลยไปบ้าง ซึ่งบุคคลทั่วไปอาจเป็นเช่นโจทก์ได้ในภาวะเช่นนั้น หาจำเป็นต้องเป็นคนเลวร้ายแต่อย่างใดไม่ ข้อความดังกล่าวย่อมถือไม่ได้ว่าทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3481/2525 ข้อความที่จำเลยซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์รายวันลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนว่า โจทก์ไม่มีชื่อในสารบบนักข่าวหนังสือพิมพ์ดังกล่าวประจำจังหวัดไปแอบอ้างหลอกลวงที่ไหนให้แจ้งตำรวจจับ ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2340/2518 โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทจำกัดซึ่งจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยมีหนังสือไล่โจทก์ออกจาการเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ มีข้อความว่า “ข้าพเจ้าเสียใจว่าการที่ท่านปฏิเสธเช่นนั้น ทำให้เราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากไล่ท่านออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ โดยให้มีผลทันที………………เราแน่ใจว่าท่านคงเข้าในว่าเพราะธุรกิจของเรามีการแข่งขันกันอยู่มาก จึงเป็นการดีมากที่ท่านจะออกไปจากที่ทำการของบริษัทฯในวันนี้ ขอให้ท่านทิ้งทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทไว้รวมทั้งกุญแจสำหรับไขโต๊ะ ประตู หรือยานพาหนะใด ๆ ที่ท่านมีอยู่ในความครอบครอง และกระดาษและเอกสารทั้งหลายเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของบริษัทฯ เราขอเตือนท่านว่า ข่าวสารใดที่เป็นหนังสือหรือสิ่งอื่นใดที่ท่านได้มาในขณะที่ท่านเป็นลูกจ้างของบริษัทฯอันเกี่ยวเนื่องกับกิจการและนโยบายของบริษัทฯ ความสัมพันธ์กับลูกค้า และกิจการงานของลูกค้าของบริษัทฯนั้น ย่อมเป็นความลับ”

หนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงความจำนงของจำเลยซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทให้โจทก์ออกจากงานของบริษัทฯ ถึงแม้จะมีข้อความที่มิได้แสดงไมตรีต่อโจทก์ แต่ก็มิได้มีตอนใดแสดงว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์เป็นบุคคลที่น่ารังเกียจในวงสังคม เปิดเผยความลับของบริษัทและลูกค้า ข้อความในหนังสือดังกล่าวจึงหาใช่เป็นการใส่ความ โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2506 ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนว่าโจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำโจทก์เป็นคนมีหนี้สินเป็นแสนๆ ยังใช้หนี้เขาไม่หมด อวดมั่งมีคาดเข็มขัดทองไม่เป็นถ้อยคำที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326


ไม่มีเจตนา

การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนี้ ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา ” ใส่ความ ” ผู้เสียหาย หากมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า ผู้กระทำทำขาดเจตนากระทำผิด ย่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย

การพิเคราะห์ถึงเจตนานี้ จะต้องดูพฤติการณ์ในคดีโดยรวมมาประกอบว่า จำเลยมีเจตนาจะใส่ความผู้เสียหายหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเจตนาโดยเล็งเห็นผล หรือเจตนาประสงค์ต่อผล

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2531  การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานไปตามที่ทนายความซักถามว่า โจทก์ไม่ค่อยทำหน้าที่ธนาคารได้ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ 10 เปอร์เซ็นต์ ฐานไม่ค่อยมาทำงาน ซึ่งโจทก์ก็รับว่าเป็นความจริงเพียงแต่เลี่ยงไปว่าถูกลงโทษฐานออกไปนอกสถานที่นั้นจำเลยมีเจตนาจะให้ความจริงต่อศาลในการ พิจารณาคดีมิได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งใส่ความโจทก์ให้ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยเบิกความว่าโจทก์เป็นหัวหน้าแผนกประจำธนาคารนั้น โจทก์จะมีตำแหน่งที่แท้จริงเป็นหัวหน้าแผนกประจำกองหรือหัวหน้าแผนกประจำธนาคารวิญญูชนทั่วไปได้ยินได้ฟังแล้วหามีความเข้าใจในข้อแตกต่างของความหมายแห่งถ้อยคำของตำแหน่งหน้าที่ทั้งสองไม่ ผู้ได้ยินได้ฟังก็ไม่ถือหรือเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนไม่ดีอันเป็นการใส่ความ คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2962/2526 จำเลยไปทำงานต่างประเทศเพื่อหารายได้ส่งมาจุนเจือโจทก์และครอบครัวเป็นเวลาหลายปี เมื่อกลับมาโจทก์กลับเจรจาถึงเรื่องการหย่าซึ่งจำเลยระแวงอยู่แล้วว่าโจทก์ต้องการหย่าเพื่อไปแต่งงานกับหญิงอื่น จึงด่าโจทก์ขณะพูดโทรศัพท์ว่า “อ้ายบ้าอ้ายหน้าตัวเมีย กูจะหาเรื่องให้มึงออกจากงาน กูจะไปฟ้องผู้บังคับบัญชา และจะหย่ากันก็ได้ถ้าหาเงินสดมาให้” ดังนี้ เป็นการด่าโจทก์ด้วยอารมณ์วู่วาม ขาดความยั้งคิด อันเกิดจากความผิดหวังที่จำเลยต้องยากลำบากเพื่อความสุขของครอบครัวแต่กลับถูกโจทก์หาทางทอดทิ้งจำเลยจึงหาได้มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์จริงไม่ และที่จำเลยว่าบิดาของโจทก์ว่า “อ้ายเฒ่ามึงอย่าเสือกเรื่องของกู” นั้น ก็เป็นการต่อว่ากันทางโทรศัพท์ เป็นการกล่าวด้วยอารมณ์วู่วามที่ทราบว่าบิดาโจทก์และโจทก์ได้ร่วมกันดำเนินการให้มีการจดทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบิดาโจทก์ และเป็นเพียงคำไม่สุภาพ ขาดสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่ร้ายแรงถึงกับเป็นการหมิ่นประมาทบิดาโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 249/2510 คดีก่อน จำเลยถูกอ้างและหมายเรียกมาเป็นพยาน จำเลยถูกคู่ความคดีนั้นถามว่าพยานได้ปลุกปล้ำโจทก์ในคดีนี้หรือไม่จำเลยไม่เต็มใจตอบเกรงจะถูกฟ้องคดีอาญาแต่ศาลสั่งให้ตอบจึงตอบว่า ได้เสียกัน เป็นการตอบตามประเด็นที่คู่ความซักถาม ตอบไปตามหน้าที่ของพยาน มิใช่นอกเหนือหน้าที่ ทั้งไม่มีเจตนาตอบไปเพื่อหมิ่นประมาทโจทก์จึงไม่มีความผิด (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2510)

คำพิพากษาศาลฎีกา 1374/2503 มารดาถูกขว้างด้วยก้อนอิฐ บุตรไม่เห็นคนขว้างแต่ได้กล่าวต่อหน้าคนหลายคนว่า “ไม่มีใครนอกจากอ้ายแก้ว(โจทก์)อ้ายชาติหมา อ้ายฉิบหาย” ดังนี้พฤติการณ์ในคดีแสดงว่าไม่มีเจตนาใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2516 จำเลยมีจดหมายซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาทส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงโจทก์โดยตรงไปยังสำนักงานโจทก์ แสดงเจตนาของจำเลยว่าจะให้โจทก์เท่านั้นทราบข้อความในจดหมายมิใช่เจตนาเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม แม้เสมียนของโจทก์ทราบข้อความจากจดหมายที่จำเลยส่งไปถึงตัวโจทก์นั้น ก็เป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2545 ขณะที่ผู้พิพากษารออ่านรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งจำเลยอยู่ในภาวะถูกกดดันเป็นอย่างมาก การที่จำเลยกล่าวข้อความว่า “ทนายความคนนี้ใช้ไม่ได้ ทั้งประเทศไทยมีทนายความแบบนี้อยู่คนเดียว ชอบหาเรื่องกลั่นแกล้งจำเลย ประเทศชาติอยู่ไม่ได้แน่ ถ้ายังมีทนายความประเภทนี้ อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” และเมื่อ ผู้พิพากษาตักเตือน จำเลยยังกล่าวต่ออีกว่า “ท่านครับอย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” เป็นการระบายความรู้สึกของจำเลยที่มีต่อโจทก์และเป็นการวิจารณ์การทำงานในหน้าที่ทนายความของโจทก์ ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยในความรู้สึกว่าจำเลยถูกกลั่นแกล้ง หาใช่เป็นการใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังไม่ จึงไม่เป็นหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5797/2545 จดหมายที่จำเลยทั้งห้าทำขึ้นฉบับแรกเป็นจดหมายที่เขียนถึง ส. โดยเฉพาะเจาะจงไม่ประสงค์จะให้บุคคลอื่นล่วงรู้ และไม่มีข้อความพาดพิงถึงผู้เสียหายว่าร่วมกับ ส. ขโมยเศษทองแดงสายไฟฟ้าชำรุดของห้างฯ ไปขาย ไม่อาจถือว่าจำเลยทั้งห้าใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สาม ข้อความในจดหมายฉบับแรกนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2557 โจทก์และจำเลยทะเลาะโต้เถียงกันด้วยความโกรธ ต่างคนต่างว่าซึ่งกันและกัน ที่จำเลยพูดว่า “มึงโกงกู” เป็นคำโต้ตอบโจทก์เนื่องจากจำเลยไม่เชื่อว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้จำเลยแล้วโดยการโอนเงินผ่านธนาคาร จะถือว่าจำเลยเจตนาใส่ความโจทก์อันจะเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ได้


เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ได้รับยกเว้นความผิด

ตัวบทกฎหมาย

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329  ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(๑) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

(๒) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่

(๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ

(๔) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำอธิบาย

หากการพูดหรือกล่าวถ้อยคำอะไรไปก็จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ย่อมเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมขึ้น เช่นหากเห็นการทำผิดหรือทำเรื่องไม่ถูกต้องก็จะไม่มีสิทธิวิจารณ์ หรือโต้แย้งใดๆเลย 

ดังนั้นการติเพื่อก่อ การวิจารณ์ภายในกรอบอันสมควร การแสดงความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองหรือเรื่องที่ประชาชนมีส่วนร่วม กฎหมายจึงยกเว้นให้ไม่เป็นความผิด 

อย่างไรก็ตามข้อยกเว้นให้ไม่เป็นการกระทำความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต และจะต้องเป็นการแสดงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามอนุมาตรา 1 ถึง 4 เท่านั้น 

การแสดงความเห็นโดยสุจริตคืออะไร 

การแสดงความเห็นโดยสุจริต คือเป็นความคิดที่ผู้กระทำได้อาศัยข้อความที่ผู้กระทำเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นความจริง

ทั้งนี้ไม่ว่าความนั้นจะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ตาม ถ้าหากผู้กระทำได้เชื่อโดยสุจริตโดยมีเหตุอันควรให้ผู้กระทำเช่นนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต 

ดังนั้นแสดงความเห็นโดยสุจริต ที่จะเป็นข้อยกเว้นไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 นั้น ไม่จำเป็นว่าข้อความที่จะต้องเป็นเรื่องจริงถึงจะได้รับยกเว้นความผิด 

ถึงข้อความดังกล่าวจะเป็นความเท็จ แต่หากมีเหตุอันสมควรที่ทำให้ผู้กระทำเข้าใจผิดว่าเป็นความจริง ก็ได้รับยกเว้นความผิดตามกฎหมาย 

แต่หากเป็นการกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จ หรือโดยพฤติการณ์ควรจะรู้ได้ว่าเป็นความเท็จหากใช้ความระมัดระวังอย่างวิญญูชน เช่นนี้ย่อมถือว่าไม่สุจริตจะอ้างความคุ้มครองตามมาตรานี้ไม่ได้ 


แสดงความเห็นเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม 

คำว่าความชอบธรรม ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่เป็นความถูกต้องตามความคิดของสามัญชนทั่วไปก็เพียงพอแล้ว 

การป้องกันตน หมายถึงป้องกันความเสื่อมเสียไม่ให้เกิดจากตน ซึ่งการป้องกันตนและป้องกันส่วนได้เสียของตนตามกฎหมายนี้ไม่ใช่การป้องกันสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 และไม่ลบล้างบทบัญญัติมาตรา 68

คำว่าป้องกันตนนั้นยังขยายความต่อถึงส่วนได้เสียหรือประโยชน์เกี่ยวกับตนอีกด้วย นอกจากนี้ศาลยังตีความขยายความไปถึงการป้องกันส่วนได้เสียของผู้ที่มีสัมพันธ์กับตนเองอีกด้วย

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

วิจารณ์เรื่องการครองตนของบุคคลที่สาธารณะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2510 พระภิกษุในวัดเดียวกันทำหนังสือร้องเรียนต่อสังฆนายกว่าพระภิกษุเจ้าอาวาสประพฤติผิดธรรมวินัยโดยร่วมประเวณีกับหญิงแม้เรื่องที่ร้องเรียนกล่าวหานั้นจะไม่เป็นความจริง แต่ได้ร้องเรียนไปโดยสุจริต โดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นความจริง ดังนี้ ไม่มีผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะถือว่าเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อ ความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) 

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572/2532 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปกครองทางด้านการแสดงภาพยนตร์และเป็นเจ้าของไข้ของ จ. ได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์จำเลยที่ 2 ว่า ‘นอกจากไม่นับถือ ไม่เชื่อถือแล้วยังเห็นว่า ศิษย์ตถาคตผู้นุ่งเหลืองห่มเหลือง ประพฤติตัวไม่อยู่ในสมณวิสัยด้วย’ และ ‘ทุกๆ วันที่ปัญหาเดือดร้อนรำคาญมากกับหมอเถื่อนหมอดี ทั้งที่เป็นฆราวาส ทั้งห่มผ้าเหลือง วันหนึ่งๆ มีเป็นสิบๆ คนไปรออยู่หน้าห้อง กล้องถ่ายรูปก็พร้อม เราก็กันไว้ไม่ให้ไป เพราะการรักษาควรจะเป็นเรื่องของแพทย์ เปิ้ลจะหายหรือไม่ก็อยู่ที่หมอ ไม่ใช่อยู่กับคนที่ยืนสวดมนต์ชักลูกประคำพวกนี้ อยากจะบอกฝากไปถึงด้วยว่า ถ้าอยากดังนักก็ขอให้ไปดังที่อื่น คนป่วยของผมต้องการพักผ่อนอย่าได้ไปรบกวนกันเลย’ การที่จำเลยที่ 1 กล่าวเช่นนั้นเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุได้ไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้แก่ จ. ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขนาดแพทย์ห้ามเยี่ยมในห้องพักคนไข้ของโรงพยาบาลที่ จ. นอนพักรักษาตัวอยู่ชิดเตียงที่ จ. นอนป่วยอันเป็นสิ่งไม่ควรปฏิบัติตามวิสัยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา อันมีเหตุให้จำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่าการกระทำของโจทก์มิใช่กิจอันอยู่ในสมณวิสัยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุในศาสนาประจำชาติ อันเป็นวิสัยของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(1)(3) จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ลงข้อความดังกล่าวจึงไม่มีความผิดด้วย.(ที่มา-ส่งเสริม)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1547/2514, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2315/2524 วินิจฉัยไปในทำนองเดียวกัน 

วิจารณ์การประพฤติไปในทำนองทุจริต น่าสงสัย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10034/2555 การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม ออกแถลงการณ์เป็นหนังสือแจกจ่ายแก่ประชาชนว่า โจทก์ร่วมปลอมประกาศนียบัตรผ่านการอบรมงานด้านคอมพิวเตอร์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม และนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ในการสมัครเป็นพนักงานส่วนตำบลที่จังหวัดราชบุรี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียมไม่เคยฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่โจทก์ร่วม และการที่จำเลยประกาศด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงให้ประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้ข้อความนั้นจะมีลักษณะน่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่การกระทำของจำเลยมีเหตุให้เชื่อตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนที่มีความเห็นเชื่อว่าโจทก์ร่วมทำปลอมประกาศนียบัตร จึงถือได้ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 379/2505 การที่โจทก์ไปเก็บเงินมาจากพ่อค้าแม่ค้าโดยวิธีที่ไม่งามนอกเหนือระเบียบแบบแผนการบริหารราชการ ส่อให้เห็นไปได้ว่าโจทก์ทำการทุจริตในหน้าที่ จำเลยจึงร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงชี้ว่าจำเลยเจตนาร้าย กลั่นแกล้งตรงข้ามกลับฟังได้ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนผู้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลและราษฎรในเขตเทศบาลกรณีต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329ย่อมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9426/2539 ารกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยทั้งสองมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จำเลยทั้งสองทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้มีอำนาจเหนือกว่า ทำนองว่าโจทก์ใช้อิทธิพลบีบบังคับคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. เป็นผู้ได้งาน การที่โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาและเป็นผู้ชี้ขาดในการประชุมในความเข้าใจของบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยทั้งสองซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำของโจทก์ ย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและเสนอความคิดเห็นไปยังผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าโจทก์พิจารณาให้ความเป็นธรรมได้โดยเชื่อว่าโจทก์มีพฤติการณ์ตามนั้นจริง จึงเป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

พิพากษาศาลฎีกาที่ 353 – 354/2529 พฤติการณ์ที่จำเลยร้องเรียนจากฐานความจริงหรือเหตุการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติอยู่ ทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้นโดยจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบอาจทำให้ราชการเสียหายและเป็นผู้บกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาวซึ่งผิดวินัยข้าราชการ แล้วกระทำการดังกล่าวลงไป จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้กระทำการโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) (3) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทและไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2532  แม้โจทก์จะอ้างว่ามีอำนาจสั่งไม่ฟ้องนายองุ่นแต่การสั่งไม่ฟ้องมีพฤติการณ์ที่ทำให้น่าสงสัยหลายประการและจำเลยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับการร้องเรียนจากภริยาและมารดาผู้ตายว่าการที่โจทก์มีคำสั่งดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยเห็นว่าพฤติการณ์ในการสั่งไม่ฟ้องเป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นการไม่ชอบประกอบกับเป็นคดีที่มีอิทธิพลซึ่งประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชนให้ความสนใจเมื่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไปสัมภาษณ์ความเห็นของจำเลยจำเลยก็ให้สัมภาษณ์ไปตามความเห็นของตนแม้ถ้อยคำที่ใช้จะรุนแรงอยู่บ้างแต่ก็เห็นได้ว่าแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของจำเลยในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนและในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงกระทำเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2238/2520 จำเลยฟ้องผู้เสียหายกับพวกในข้อหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำร้ายร่างกายและทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ แล้วนำสำเนาคำฟ้องไปให้นักข่าวหนังสือพิมพ์ดูพร้อมกับเล่าให้ฟังว่า ผู้เสียหายมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยเป็นส่วนตัวแล้วแกล้งจับกุมและทำร้ายร่างกายจำเลย นักข่าวได้นำลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ได้ความว่าในขณะจำเลยไปเล่าเรื่องให้นักข่าวฟังนั้น จำเลยให้ดูบาดแผลที่ถูกทำร้ายด้วย และศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษพวกของผู้เสียหายคนหนึ่งฐานทำร้ายร่างกาย จำเลย (จำเลยถอนฟ้องผู้เสียหาย) ตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวทำให้เป็นที่สงสัยว่า ผู้เสียหายอาจมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยแล้วแกล้งจับกุมจำเลยดังที่จำเลยให้ข่าวในหนังสือพิมพ์ การกระทำของจำเลยเช่นนี้จึงเป็นการกล่าวข้อเท็จจริงโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3269/2533 , คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1972/2517  , คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1342/2517 ,คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1972/2517 , คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1342/2517 ,คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2525 ,คำคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4960/2533, วินิจฉัยไปในทำนองเดียวกัน

การป้องกันรักษาผลประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมาย ตอบโต้การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436-1439/2500 จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งมีนายเงินเป็นผู้รับมอบอำนาจได้ร่วมกันนำข้อความไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ว่า มีบริษัทหลายบริษัทได้ผลิตรองเท้ายางปลอมใช้ตราดาวของจำเลย ตรานี้จำเลยได้จดทะเบียนไว้ เมื่อเป็นดังนี้จึงจำเป็นต้องนำเจ้าหน้าที่ไปจับผู้ทำการดังกล่าวมาดำเนินคดี แล้วออกชื่อโจทก์ทั้ง 4 (ซึ่งความจริงโจทก์ได้ถูกจำเลยนำเจ้าพนักงานไปจับมาดำเนินคดีฐานจำหน่ายรองเท้ามีตราดาวปลอมจริง) ทั้งนี้เพื่อให้ข่าวแพร่หลายไป โดยประสงค์เพื่อกันมิให้ผู้อื่นที่จะกระทำการเลียนหรือปลอม มิได้เจตนาอย่างอื่น เช่นนี้ ถือว่า จำเลยเจตนาต่อสู้ป้องกันตนหรือเพื่อป้องกันประโยชน์ของตน จำเลยจึงไม่มีโทษฐานหมิ่นประมาท.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556 จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่าย และกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาล โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัด ไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2195/2521 ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การที่หนังสือพิมพ์ของโจทก์นำรูปจำเลยไปรวมอยู่ในกลุ่มคนร้ายและอาชญากรในหน้าปกหนังสือพิมพ์ เป็นการทำให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าจำเลยเป็นบุคคลประเภทเดียวกับคนร้ายและอาชญากรเหล่านั้น ทำให้จำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียง จำเลยย่อมมีสิทธิตอบโต้โดยสุจริตเพื่อให้การกระทำดังกล่าวของโจทก์ไร้ผล ไม่มีคนเชื่อ ดังนั้น การที่จำเลยกล่าวต่อหน้าสาธารณชนว่า “โจทก์เป็นบรรณธิการ จิตใจต่ำช้ามาก จิตใจเลวทรามต่ำช้ามาก …….. ไอ้คนปัญญาทรามอย่างนี้ ผมไม่มีวันไปร่วมด้วย” ย่อมทำให้ผู้ที่ได้รับฟังไม่เลื่อมใสโจทก์ อันมีผลทำให้ผลร้ายที่จำเลยได้รับจากการกระทำของโจทก์ลดน้อยถอยลง เป็นการป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนโดยสุจริตตามคลองธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1077/2504)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 770/2526 สัปบุรุษของมัสยิดเป็นผู้ที่มีสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของมัสยิดที่ตนสังกัดอยู่ จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ชอบที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่มัสยิด ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งเป็นสัปบุรุษของมัสยิดแสดงความคิดเห็นหรือร้องเรียนให้ข่าวต่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ถ้าผู้แสดงความคิดเห็นกระทำไปโดยสุจริต แม้จะเป็นการเข้าใจผิด แต่ก็เชื่อว่าความจริงเป็นดังที่ตนเข้าใจแล้ว ก็ได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้จำเลยหาจำต้องนำสืบว่าการกระทำของตนเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องรับโทษ เพราะในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องจึงจะลงโทษจำเลยได้ ฉะนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยกระทำไปโดยสุจริตหรือไม่ ศาลย่อมวินิจฉัยได้จากพยานหลักฐานและพฤติการณ์แห่งคดีที่โจทก์นำสืบ เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริตแล้ว ศาลก็ยกฟ้องโจทก์ได้โดยไม่จำต้องสืบพยานจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2554 การที่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการร้องขอจาก ห. ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องบุตรของ ห. ทะเลาะวิวาทกันเอง จึงไปที่บ้านของ ค. พบ ค. และบุตรของ ห. อีกหลายคน บรรดาบุตรของ ห. และจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ห. จึงปรึกษาหารือพูดคุยกับ ส. เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกเกรงว่า ห. จะถูกโจทก์ร่วมหลอกลวงเอาทรัพย์สินไปหมดจะทำให้จำเลยกับพวกเดือดร้อน ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถือได้ว่าในฐานะที่จำเลยเป็นลูกบ้านอยู่ในความปกครองของ ส. การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นการปรับทุกข์กับ ส. เพื่อให้ ส. หาทางช่วยแก้ไขปัญหาให้ครอบครัวของ ห. เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14401/2555  โจทก์เป็นภริยาที่ไม่จดทะเบียนสมรสของ ป. กำนัน บุตรชายโจทก์เปิดร้านเกมได้รับอนุญาตตามกฎหมายภายในบริเวณบ้านโจทก์ จำเลยทำหนังสือถึงสารวัตรใหญ่หัวหน้าสถานีตำรวจว่า มีเด็กนักเรียนมั่วสุมติดตู้เกมที่ร้านเกมซึ่งตั้งอยู่หน้าบ้านเมียน้อยกำนัน ข้อความที่จำเลยร้องเรียนนั้น เป็นการส่งหนังสือร้องเรียนไปถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อขอให้ดูแลกวดขันร้านเกมเพราะจำเลยเห็นว่ามีเด็กนักเรียนเข้าไปมั่วสุมติดเกมไม่สนใจการเรียน ไม่สนใจงาน อันเป็นการแสดงข้อเท็จจริงและความเห็นโดยสุจริตด้วยความชอบธรรมป้องกันตนและส่วนได้เสียของตน ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2532 โจทก์เขียนข้อความในหนังสือพิมพ์ของโจทก์กล่าวหา ส. หรือ น. หรือ มัคคุเทศก์หมายเลข ๑๑๖ ซึ่ง หมายถึง จำเลยว่า มีพฤติการณ์หลอกลวงต้มตุ๋นนักท่องเที่ยวชาว มาเลเซีย ชอบหาโสเภณีราคาถูกไปย้อมแมวว่าเป็นนางแบบ เรียกค่าตัวสูงลิ่วและชักชวนชาว มาเลเซียมาเปิดซ่อง ที่ หาดใหญ่ จำเลยย่อมเข้าใจโดยสุจริตว่า ข้อความในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเป็นข้อความที่กล่าวหาจำเลย น่าจะทำความเสื่อมเสียหรือกระทบกระเทือนต่อ อาชีพและฐานะ ของจำเลยซึ่ง ทำงานเป็นมัคคุเทศก์ การที่จำเลยมีจดหมายไปถึง นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ให้รับทราบพฤติการณ์ของโจทก์ว่าไม่ให้ความร่วมมือแก่สมาคมดังกล่าว และเป็นคนบ่อนทำลายเศรษฐกิจของชาติด้าน การท่องเที่ยว ควรหลีกเลี่ยงการสมาคมและให้ข่าวแก่โจทก์ เพราะอาจนำบทความไปเผยแพร่เกิดความเสียหายแก่วงการธุรกิจการท่องเที่ยว ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดย สุจริตเพื่อ ความชอบธรรมและเป็นการป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ตาม คลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๑) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาท.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 117/2529 โจทก์เป็นหัวหน้าแผนกบัญชีของบริษัทบริษัทให้ออกจากงานต่อมาจำเลยซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทได้ปิดประกาศไว้ที่สำนักงานของบริษัทแจ้งแก่พนักงานทุกคนมีใจความว่าแฟ้มเอกสารประวัติพนักงานได้ถูกทำลายและสูญหายไปเป็นการกระทำของอดีตหัวหน้าแผนกบัญชี(คือโจทก์)จึงขอความร่วมมือจากพนักงานทุกคนให้ร่วมกันจัดทำแฟ้มประวัติพนักงานการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2544 จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์เบียดบังเอาทรัพย์สินของทางราชการไปขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นการไม่ชอบทำให้ราชการเสียหายและอาจทำให้จำเลยซึ่งรับราชการในตำแหน่งเดียวกันกับโจทก์และปฏิบัติงานร่วมกันต้องร่วมรับผิดด้วยในการที่ทรัพย์สินของทางราชการขาดหายไป การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์เป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐาน หมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)


การแสดงความเห็นในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ 

คำอธิบาย การปฏิบัติงานในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายบางครั้งอาจจะต้องมีลักษณะของการหมิ่นประมาทในตัวเช่น การรายงานเหตุการณ์กระทำความผิด การแจ้งข้อมูลผู้กระทำความผิด การสอบสวน การสืบหาข้อมูล 

ซึ่งกฎหมายยกเว้นว่าไม่เป็นความผิด หากกระทำไปตามกรอบของกฎหมาย

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1661/2531 โจทก์ก่อสร้างตลาดผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและยังก่อสร้างต่อไปโดยไม่ขอต่ออายุใบอนุญาต จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าเขตให้โจทก์ปฏิบัติการให้ถูกต้องโจทก์ก็เพิกเฉย การที่จำเลยใช้เครื่องขยายเสียงพูดกับคนงานของโจทก์บริเวณที่ทำการก่อสร้างว่า “งานบริษัทนี้ (หมายถึงบริษัทโจทก์) พวกคุณไม่ต้องมาทำอีกต่อไปแล้วพวกคุณไม่ต้องมาอยู่คอย เพราะคอยแค่ไหนก็ไม่สามารถจะทำได้ พวกคุณไปทำงานที่อื่นได้แล้ว บริษัทอื่นที่ดีกว่านี้ยังมีอีกมาก บริษัทเลว ๆ อย่างนี้หากพวกคุณขืนอยู่คอยต่อไปพวกคุณก็อดตาย ขณะนี้ผู้จัดการบริษัทนี้ก็ได้หลบหนีไปแล้วและบริษัทนี้ก็ไม่มีใบอนุญาตด้วย” เป็นการกล่าวเพื่อชี้แจงให้คนงานทราบว่าการก่อสร้างผิดแบบแปลนและใบอนุญาตหมดอายุ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายคนงานอาจมีความผิดด้วย ขอให้คนงานหยุดก่อสร้างและอย่ารอทำงานเพราะกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน คำกล่าวเช่นนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ แม้การใช้ถ้อยคำจะไม่สมควรและเกินเลยไปบ้างก็ยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 858/2523 เจ้าพนักงานกล่าวแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 326

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2505 จำเลยซึ่งเป็นตำรวจไปจับแผ่นกระดาษจดหมายสลากกินรวบที่นางชบาเป็นผู้ขาย ก่อนจับได้ก็มีการยื้อแย่งกัน และจับได้บนบ้านของโจทก์ จำเลยพูดกับโจทก์ว่า “เดี๋ยวจับเป็นอันธพาลทั้งพ่อทั้งลูก” (โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรสาวของโจทก์ที่ 1) ดังนี้ ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานใส่ความหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เพราะจำเลยมิได้กล่าวว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลอันธพาล เป็นคำขู่เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าขัดขวางช่วยเหลือผู้กระทำผิดเท่านั้น


การติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ 

หมายความว่าเป็นการแสดงความเห็นหรือวิจารณ์ในเรื่องที่ประชาชนควรจะต้องสนใจเช่นเรื่องเกี่ยวกับราชการบ้านเมืองหรือท้องถิ่นกิจการขององค์การสาธารณะบริการของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับประชาชน

หรือที่เกี่ยวกับนักการเมืองที่เสนอตัวเข้าทำงานให้ประชาชน หรือสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นจำนวนมาก หรือบุคคลที่มีอิทธิพลหรือ influencer กับประชาชน 

อย่างไรก็ตามการติชมที่จะได้รับยกเว้นความผิดตามมาตรานี้จะต้องเป็นการกล่าวด้วยความเข้าใจว่าถูกต้องและสมควรตามความรู้สึกของคนทั่วไป ไม่ใช่กล่าวแบบบิดเบือน ตัดต่อหรือเสียดสี และต้องติชมในเรื่องที่เป็นสาระ มิใช่เรื่องส่วนตัว 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

บุคคลสาธารณะ ทำงานการเมือง งานส่วนรวม ต้องรับคำวิจารณ์ได้มากกว่าปกติ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1861/2561 ป.อ. มาตรา 329 เป็นบทบัญญัติยกเว้นการกระทำที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อมิให้ผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตต้องตกเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่กระทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ และเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลหรือสาธารณะ ขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์จะกระทำได้มากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากองค์ประกอบความผิดแล้ว ยังต้องพิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของผู้กระทำ ผู้เสียหาย สถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนมูลเหตุ และพฤติการณ์แวดล้อมอันเป็นที่มาแห่งการกระทำด้วย

แม้ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยที่ 2 กล่าวโจมตีโจทก์ แต่สถานะของโจทก์ที่เป็นนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้นำประเทศ ย่อมเป็นที่คาดหวังของสังคมทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศว่าต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีพฤติกรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกด้านของการกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะในมิติของกฎหมายหรือศีลธรรม ตลอดจนการดำรงตนในสังคมในทุกกรณีบุคคลสาธารณะในฐานะนักการเมืองเช่นโจทก์ ผู้มีส่วนได้เสียย่อมใช้สิทธิติชมได้โดยสุจริต และต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง 

ตามพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุดังวินิจฉัยเชื่อมโยงถึงขณะเกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 กล่าวถ้อยคำในการแถลงข่าว ทั้งเป็นการแถลงต่อสื่อมวลชนโดยเปิดเผยอันแสดงถึงเจตจำนงที่ต้องการให้สาธารณชนรับรู้ จึงเข้าเกณฑ์ข้อยกเว้นว่าเป็นการกระทำไปโดยสุจริต เพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นจำเลยที่ 2 ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ในนามของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 329 (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนถ้อยคำเปรียบเปรยหรือเสียดสีโจทก์เป็นผีปอบนั้น แม้เป็นการไม่สมควรกล่าวถึงโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเสียดสีในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ถ้อยคำส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4563/2544 โจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว จำเลยได้พูดผ่านเครื่องกระจายเสียงว่า โจทก์เป็นคนขี้โกงเอาที่สาธารณประโยชน์เป็นของตนเอง เพื่อให้ประชาชนต่อต้านการกระทำที่จำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการที่โจทก์เสนอตัวต่อประชาชนให้เลือกตน เป็นการแสดงว่าตนเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต ไว้วางใจให้เข้าไปมีส่วนร่วมบริหารกิจการแทนประชาชนได้ และการเรียกร้องเอาที่สาธารณประโยชน์คืนก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนและจำเลยเองด้วย จำเลยจึงมีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตลอดจนแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งการกระทำดังกล่าวอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้ขณะจำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าว โจทก์ยังไม่ถูกดำเนินคดีอาญา หากจำเลยเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งใส่ร้ายโจทก์และมีมูลอันควรเชื่อ ก็เป็นการกระทำโดยสุจริตแล้ว จำเลยไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3553/2550 ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีพลตรี ส. ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ทั้งพลตรี ส. และโจทก์เป็นผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามพฤติกรรมและย่อมวิพากษ์วิจารณ์ได้ เหตุคดีนี้เกิดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลตรี ส. โดยร้อยตำรวจเอก ฉ. เป็นผู้อภิปรายเสนอข้อมูลต่าง ๆ ว่ามีการวิ่งเต้นช่วยเหลือ อ. ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลในการอภิปรายดังกล่าวและเสนอข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีนี้ เป็นการตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของโจทก์ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือ อ. หรือไม่เท่านั้น กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ติชมและวิพากษ์วิจารณ์มิได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับสินบนแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงได้รับยกเว้นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) นั้นชอบแล้ว

มีพฤติกรรมที่ชี้ให้เห็นว่าน่าสงสัย และเป็นเรื่องสาธารณะ ย่อมวิจารณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 509 – 510/2553 ขณะเกิดเหตุ ต. ผู้เสียหายดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอเมืองนครสวรรค์ มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลในเขตท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ จำเลยที่ 1 เป็นราษฎร จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการเจ้าของและผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์ซึ่งออกจำหน่ายแก่ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ จำเลยทั้งสองร่วมกันเขียนข้อความลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2542 ในหนังสือพิมพ์ว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นนายอำเภอไม่ดำเนินการให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเรื่องที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ ส. ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วงว่า ส. ไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำในหมู่ที่ 2 ตำบลบางม่วงไม่น้อยกว่า 15 ปี และนำสำเนาทะเบียนบ้านปลอมเป็นเอกสารในการยื่นสมัครอันเป็นการแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม การที่ผู้เสียหายไม่ดำเนินคดีเรื่องที่จำเลยที่ 1 ร้องทุกข์กล่าวโทษมีลักษณะหน่วงเหนี่ยวส่อไปในทางที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเป็นการที่ผู้เสียหายละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเขียนข้อความลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์โดยจำเลยที่ 1 ได้ติดตามเรื่องราวขอทราบผลการร้องทุกข์กล่าวโทษจากผู้เสียหายก่อนแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ตอบ จำเลยที่ 1 เป็นประชาชนในตำบลบางม่วง ย่อมมีส่วนได้เสียในการดำเนินการขององค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง และการเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจในการบริหาร จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม และเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2537  การที่โจทก์ส่งมอบงานต่อทางราชการ โดยยังก่อสร้างไม่เสร็จย่อมทำให้ประชาชนรวมทั้งจำเลยที่ 2 เข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ทำงานไม่เรียบร้อย และผิดระเบียบของทางราชการ ส่วนที่โจทก์กับคณะกรรมการตรวจรับงานจะมีข้อตกลงกันเป็นพิเศษอย่างไรนั้นจำเลยที่ 2 ไม่อาจรู้ได้ เมื่อมีเหตุให้น่าสงสัยอันสมควร จำเลยที่ 2จึงได้ลงพิมพ์โฆษณาบทความวิพากษ์วิจารณ์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมว่า “สนามที่สร้างแบบสุกเอาเผากิน ทำเพียงไม่กี่วันก็เสร็จ” เพราะเชื่อโดยสุจริตว่ามีมูลความจริง ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2503 จำเลยซึ่งเป็นครูใหญ่ประชาบาลกล่าวว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นนายอำเภอว่าไม่เป็นประชาธิปไตย โดยบังคับให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเลือกคนที่ผู้เสียหายชอบ ถ้าใครไม่เลือกก็ไม่ขอเงินเดือนขึ้นให้ นั้น ถ้อยคำที่กล่าวนี้ ถ้าเป็นความจริง ก็ถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนเพราะการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอันเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
อนึ่ง ที่จำเลยกล่าวว่า “การทำทำนบผู้เสียหายไม่ทำตามคำพูด ทำงานไม่ขาวสอาด” นั้น เมื่อได้ความว่าผู้เสียหายเป็นกรรมการขุดบ่อน้ำ ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินขุดสระแต่ใช้ไปครึ่งเดียว จำเลยซึ่งเป็นกรรมการร่วมด้วยรวมทั้งผู้ใหญ่บ้านได้ขอให้ผู้เสียหายนำเงินที่เหลือมาทำทำนบเพื่อกักน้ำไว้บริโภคโดยผู้เสียหายตกลงจะซื้อปูนซิเมนต์ส่งมาให้ แต่ผู้เสียหายได้เอาเงินที่เหลือไปใช้จ่ายทางอื่นโดยมิได้ให้จำเลยทราบ การทำทำนบจึงไม่เสร็จ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงเป็นการกล่าวโดยสุจริตและอยู่ในวิสัยของการติชม ไม่เป็นผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2559การเปิดบ่อนที่มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์ พล.ต.อ. ส. ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1749/2534 จำเลยเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ทราบว่าไนท์คลับของโจทก์ที่ 2ยอมให้เด็กวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปมั่วสุมได้ จำเลยจึงเขียนข้อความตามที่โจทก์ฟ้องลงหนังสือพิมพ์ของจำเลย จำเลยเป็นประชาชนคนหนึ่ง เมื่อเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องย่อมติชมได้ อันเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้ข้อความบางตอนจะเป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรและเกินเลยไปบ้างก็เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย อยู่ในความหมายของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(3) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12460/2547 เวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่หลายคนแต่งกายนอกเครื่องแบบไปขอค้นบ้านจำเลยเพื่อพบและจับน้องชายของจำเลยในคดีเช็ค ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ แต่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยด้วยในฐานะที่เป็นบิดาของผู้เสียหายในคดีเช็คที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่งเครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์และจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

ติเพื่อก่อ วิจารณ์เพื่อให้มีการพิสูจน์ความจริง ป้องกันปัญหาในอนาคต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339 – 2340/2532 จำเลยนำแถบบันทึกเสียงที่ผู้ชายพูดกับผู้หญิงในลักษณะของการให้สัมภาษณ์เป็นใจความว่า ผู้เสียหายได้ลักลอบได้เสียกับพระภิกษุ ช. เจ้าอาวาสวัดจอมบึงซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอ มาเปิดให้บุคคลอื่นฟังที่บ้าน อ.และส. ซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถานเป็นทำนองปรึกษาหารือกันว่าควรจะดำเนินการอย่างใดเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ต่อพระพุทธศาสนา และหาทางขจัดความมัวหมองในพระพุทธศาสนาให้สิ้นไป หากพระภิกษุ ช. กระทำผิดจริงก็ควรจะสึกออกไป หากไม่จริงก็เอาผิดกับผู้พูดเรื่องนี้และต่อมาได้มีการร้องเรียนต่อศึกษาธิการอำเภอจอมบึงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของพระภิกษุ ช. และได้มีบันทึกเสนอต่อตามลำดับจนกระทั่งถึงเจ้าคณะภาคฝ่ายมหานิกายจังหวัดราชบุรีเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงจึงถือได้ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาใส่ความผู้เสียหายให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือเสียหายแต่เป็นการกระทำในการแสดงข้อความโดยสุจริตด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) ทั้งนี้เพื่อขจัดข่าวลือในทางที่จะทำให้พุทธศาสนาเสื่อมหมดสิ้นไป จำเลยไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2507 การที่จำเลยมีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโจทก์โดยมุ่งประสงค์ชี้แจงให้ทราบว่าจำเลยได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลแล้ว ขอให้หาทางป้องกันมิให้โจทก์ทำหลักฐานว่าในวันกล่าวหาโจทก์ปฏิบัติราชการอยู่ และหาทางป้องกันมิให้การกระทำผิดตามที่ได้ฟ้องไว้เกิดขึ้นอีกเช่นนี้เป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม เพื่อป้องกันส่วนได้เสียของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) แล้ว จำเลยไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101/2513 จำเลยซึ่งเป็นครู ได้มีหนังสือร้องเรียนขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนการเงินและการบริหารของโรงเรียน ผู้จัดการและอาจารย์ใหญ่เพื่อความบริสุทธิ์และเพื่อชื่อเสียงของสถาบันโรงเรียนว่ารายรับรายจ่ายถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ แม้คำร้องจะมีชื่อโจทก์ให้กรรมการสอบสวนบัญชีด้วยก็ตามคำร้องนั้นก็มิได้กล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตฉ้อโกงเงิน และก็ไม่ได้กล่าวหาว่าบุคคลทั้งสามนี้ร่วมมือกันทุจริตการเงินของโรงเรียน ไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง
จำเลยได้มีหนังสืออ้างถึงหนังสือฉบับแรก ขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนโดยด่วน และให้อายัดเอกสารต่าง ๆ ไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม เป็นการร้องเรียนด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่มีใครบังคับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อชื่อเสียงของโรงเรียน เป็นการแสดงข้อความและความคิดเห็นโดยสุจริตและชอบธรรมเพื่อให้การสอบสวนเป็นไปโดยยุติธรรม เพราะจำเลยได้ยื่นคำร้องเรียนไปนานแล้ว จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มีส่วนได้เสียโดยตรง มีหน้าที่รับผิดชอบ ย่อมวิจารณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8/2512 จำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียจากการเช่าที่ดินของวัด. ได้พูดกับโจทก์ว่าไปหลอกลวงพระ. โดยพูดต่อหน้าผู้ว่าราชการจังหวัด. ที่ให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยในเรื่องการปลูกสร้างตึกแถวในที่ดินของวัด. ดังนี้ ถือว่าเป็นการกล่าวในฐานะที่ตนมีส่วนได้เสียและเพื่อความเป็นธรรมในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนฝ่ายคู่พิพาทกับโจทก์.จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความที่ถูกกล่าวหาโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียของตน. จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6310/2539 จำเลยนำแถบบันทึกเสียงที่มีผู้สนทนากันกล่าวถึงผู้เสียหายทั้งสองมีพฤติกรรมในทางชู้สาวต่อกันที่โรงเรียนที่ผู้เสียหายทั้งสองสอนอยู่ไปเปิดให้นาย ส.ม.หัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอกับพวกฟังที่บ้านของนาย ส.ม.โดยเกิดจากการแนะนำของนาย ส.กับนายส.ม. และผู้ร่วมฟังแถบบันทึกเสียงก็เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาทั้งสิ้น ทั้งไม่ใช่เปิดในที่สาธารณสถานเป็นทำนองปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะหากผู้เสียหายทั้งสองกระทำการในทางชู้สาวจริง นอกจากจะผิดต่อศีลธรรมแล้วยังผิดในทางวินัยข้าราชการอีกด้วย เนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองต่างรับราชการเป็นครูและต่างมีสามีและภรรยาแล้ว ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึง

เรื่องสาธารณะประโยชน์ วิจารณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่8511/2554หมายเลขดำที่ พ.2/2543 ของศาลล้มละลายกลาง และคดีหมายเลขดำที่ 2450/2546 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อันเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง ทั้งข้อมูลดังกล่าวยังเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นศาลที่ดำเนินไปโดยเปิดเผย แม้ในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยจะเป็นการกล่าวสรุปโดยมิได้อ้างว่าเป็นเรื่องของการกล่าวอ้างของคู่ความฝ่ายตรงข้ามกับโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาล แต่ก็มิได้เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ และความผิดปกติต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นเรื่องที่วิญญูชนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าความจริงเป็นเช่นใดแน่ก็ตาม ประกอบกับเนื้อหาในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยโดยรวมมิได้กล่าวถึงการกระทำของโจทก์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกล่าวในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ความล้มเหลวของบรรษัทภิบาลในเอเชียหลังวิกฤตการณ์ด้านการเงินปี 2540 โดยกล่าวถึงการแก้ปัญหาของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซียและประเทศสิงคโปร์ด้วย ส่วนที่มีการกล่าวถึงบริษัท อ. เนื่องจากเป็นบริษัทได้รับผลกระทบที่เป็นผลร้ายมากที่สุดและมีข้อพิพาทรุนแรงที่สุดในเรื่องล้มละลาย ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ อันเป็นเรื่องประชาชนควรรู้ จึงไม่พอถือว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาร้าย หากแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2723/2522 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยลงข้อความโฆษณาในหนังสือพิมพ์ของจำเลยโดยอาศัยบทความที่เขียนโดยชาวต่างประเทศที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศฉบับหนึ่งซึ่งพิมพ์ออกจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา มีข้อความโดยย่อว่า ซีไอเอ ได้จ่ายเงิน 250 ล้านบาทอุดหนุนหน่วย “นวพล” ที่ซีไอเอ ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยบางคนตั้งขึ้นมาเพื่อกำราบประชาชนและนักศึกษาที่มีกิจกรรมต่อต้านสหรัฐฯโจทก์เป็นผู้เสนอโครงการ “นวพล” นี้โดยมีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของกระทรวงการต่างประเทศและกลาโหมของสหรัฐฯ มาก่อนเงินอุดหนุน “นวพล” นี้ เฉพาะตัวโจทก์ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 8 หมื่นบาท ดังนี้ แม้หากจะฟังว่าข้อความตามที่จำเลยลงโฆษณานั้นมีความหมายเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ก็ตามแต่การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตด้วยความเป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(3) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1716/2522 บุตรจำเลยถูกตำรวจจับข้อหาขับรถจักรยานยนต์ไม่มีใบขับขี่ไม่เสียภาษีขับรถเป็นที่น่าหวาดเสียว และรถถูกยึดไปไว้ที่สถานีตำรวจ จำเลยไปติดต่อกับโจทก์ซึ่งเป็นสารวัตรจราจร เพื่อขอรับรถคืน โจทก์เป็นเจ้าพนักงานที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่บุตรจำเลยต้องหา แทนที่จะพูดให้จำเลยเข้าใจ กลับพูดแรงไป การที่จำเลยส่งข้อความไปลงหนังสือพิมพ์ถึงอธิบดีกรมตำรวจซึ่งเป็นเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ มีใจความเป็นการแสดงความเสียใจน้อยใจของจำเลย และขอร้องให้ผู้ใหญ่ในกรมตำรวจสอดส่องตักเตือนตำรวจให้พูดจาแนะนำประชาชนในสิ่งที่ประชาชนไม่รู้อย่างสุภาพ เพื่อให้ตำรวจเข้ากับประชาชนได้ จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ และจำเลยลงข้อความนั้นโดยสุจริตตามเรื่องที่เกิดแก่จำเลย กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558 ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)


การแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินคดีในศาลหรือการประชุม 

หมายถึงการรายงานข่าวหรือการแจ้งข่าวเกี่ยวกับการดำเนินคดีในศาลหรือการประชุม เฉพาะเรื่องการดำเนินคดีหรือการประชุมที่เป็นเรื่องเปิดเผยให้คนอื่นทราบได้เท่านั้น 

ไม่หมายความรวมถึงคดีที่มีการพิจารณาเป็นการลับ หรือการประชุมเรื่องส่วนตัวหรือกิจการส่วนตัวของบุคคลใดหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนนึง 

การแจ้งข่าวที่จะได้รับยกเว้นความผิดตามมาตรานี้จะต้องเป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมคือแจ้งไปตามข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนไม่มีการบิดเบือนตัดต่อเสริมต่อให้เข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง 

หากเป็นการแจ้งข่าว แต่มีการบิดเบือนเนื้อหาให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดลงจริงบ้างไม่จริงบ้างนำเรื่องเท็จมาเสริมต่อก็ยังถือว่าเป็นความผิดไม่ได้รับยกเว้นความผิดตามมาตรานี้ 

พฤติการณ์ลักษณะดังต่อไปนี้ ถือว่าไม่สุจริต และไม่ได้รับยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2543 ข้อความที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยคำฟ้องของจำเลยที่ 1ที่จำเลยที่ 2 ได้นำไปพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. เป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลทั้งข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ตามที่ได้ความจากคำฟ้องของ โจทก์ในคดีนี้กับที่จำเลยที่ 2 นำไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. ก็ปรากฏว่าล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะหมิ่นประมาทโจทก์ หากแต่เพื่อประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 1 ที่ฟ้องโจทก์เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และข้อความที่จำเลยที่ 2 นำไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. นอกจากข้อเท็จจริงจะฟังได้ ตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ว่าเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลดังกล่าวแล้ว ยังได้ความอีกว่าการกระทำของ จำเลยที่ 2 เป็นการเผยแพร่คำฟ้องไม่มีข้อความอื่นนอกเหนืออันจะ ส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 นำข้อความดังกล่าวลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. จึงเป็น การรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีอาญาต่อ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990/2508 โจทก์ในคดีนี้ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร จำเลยในคดีนี้ได้นำข่าวลงในหนังสือพิมพ์ของจำเลยว่า “อดีตกำนันแนว 5 เป็นลมที่ศาลพยานระบุกลางศาลคบเขมร” และลงเนื้อข่าวต่อไปว่า”กำนันผู้ต้องหาขายชาตินำการเคลื่อนไหวของทางการตำรวจทหารไทยไปเปิดเผยให้เขมรเป็นลมฟุบกลางศาล เมื่อถูกพยานปากสำคัญให้การว่าถูกกำนันใช้ไปติดต่อทหารเขมร….” และดำเนินข่าวต่อไปว่า โจทก์คดีนี้ถูกตำรวจจับกุมและถูกฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา)ข้อความที่จำเลยลงข่าวนี้ เมื่ออ่านดูข้อความทั้งหมดแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นการรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์คดีนี้ถูกฟ้องในข้อหาว่ากระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร แม้จะเป็นการเขียนข่าวโดยใช้ถ้อยคำให้ผิดเพี้ยนจากที่โจทก์ถูกฟ้องไปบ้าง เช่นใช้คำว่า “แนว5″”คนขายชาติ” ก็ตาม แต่ก็เป็นถ้อยคำที่มีความหมายทำนองเดียวกับที่โจทก์ถูกฟ้องนั่นเอง ส่วนเรื่องที่จำเลยลงข่าวว่าโจทก์เป็นลมล้มพับลงกลางศาลนั้น ความจริงโจทก์เพียงแต่แถลงต่อศาลว่าปวดศีรษะมากจะเป็นลม แม้จำเลยจะได้แจ้งข่าวเกินเลยความจริงไปบ้างก็ตาม แต่ยังไม่พอที่จะถือได้ว่าจำเลยได้กระทำไปโดยไม่สุจริต ฉะนั้นเนื้อข่าวของจำเลยตอนนี้จึงถือได้ว่าได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 329(4) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

จำเลยลงภาพโจทก์และเขียนข้อความลงใต้ภาพของโจทก์ว่า”คนขายชาติอดีตกำนันยีตันยี คนไทยผู้ยอมเป็นลูกมือเขมรสืบราชการลับ เมื่อถูกตีแผ่ความผิดถึงกับเป็นลมกลางศาล” ข้อความในตอนนี้เป็นคนละตอนแยกออกต่างหากจากเนื้อข่าวที่กล่าวแล้วในตอนแรก และไม่ใช่เป็นการแจ้งข่าวเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล แต่เป็นถ้อยคำของหนังสือพิมพ์จำเลยเอง ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ย่อมเข้าใจ ได้ว่าโจทก์เป็นคนขายชาติเป็นคนไทยผู้ยอมเป็นลูกมือเขมรสืบราชการลับ ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง ความจริงโจทก์เพียงแต่ถูกฟ้องร้องต่อศาลเท่านั้น เมื่อโจทก์ลงข่าวโดยแสดงความเห็นเสียเองเช่นนี้ จึงเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ประกอบกับมาตรา 328 และการลงข่าวตอนนี้ไม่ใช่เป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลจำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2519 จำเลยที่ 2 ในฐานะเลขาธิการ ได้แจ้งข่าวการประชุมของสมาคมธนาคารไทย จำเลยที่ 1 ตามมติของที่ประชุม โดยทำเป็นหนังสือเวียนลับเฉพาะถึงสมาชิก แจ้งให้ทราบถึงพฤติการณ์ของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ไปขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจากธนาคารสมาชิก แล้วไม่มาติดต่อขอรับราชการไปรับของ ทำให้ธนาคารสมาชิกได้รับความเสียหาย โดยในหนังสือเวียนได้ระบุชื่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งมีชื่อโจทก์รวมอยู่ด้วย เพื่อมิให้ธนาคารสมาชิกได้รับความเสียหายดังที่มีมาอีก เช่นนี้ ถือได้ว่าการแจ้งข่าวดังกล่าวเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 329

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2976/2522 จำเลยโฆษณาข้อความในหนังสือพิมพ์ซึ่งจำเลยเป็นบรรณาธิการมีใจความว่าเทศบาลเมืองราชบุรีจะขายที่ดิน (ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลราชบุรี) ให้แก่โรงพยาบาลราชบุรี ถ้าทางโรงพยาบาลไม่ซื้อและไม่คืนที่ดินและอาคารให้เทศบาล เทศบาลดังกล่าวจะฟ้องขับไล่โรงพยาบาล และยึดที่ดินพร้อมด้วยอาคารมาดำเนินการเอง ซึ่งข้อความที่บันทึกไว้ในรายงานการประชุมสภาเทศบาลนั้น ตรงกับข้อความที่จำเลยโฆษณา จำเลยมิได้โฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยเป็นการโฆษณาข้อความเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในการประชุมโดยสุจริต และด้วยความเป็นธรรม จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6483/2531 การที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลายโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งจำเป็นต้องกล่าวในคำฟ้องเพื่อให้โจทก์เข้าใจข้อหาได้ชัดเจนนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331 ส่วนที่จำเลยนำข้อความเกี่ยวกับการฟ้องโจทก์เป็นบุคคลล้มละลายไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์นั้น เมื่อข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์เป็นข้อความที่ตรงกับที่จำเลยฟ้องโจทก์ มิได้มีข้อความอื่นนอกเหนือไปจากนั้น อันจะส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลย การที่หนังสือพิมพ์เสนอข้อความดังกล่าวจึงเป็นการรายงานเรื่องที่โจทก์ถูกฟ้องต่อศาลเป็นคดีล้มละลายถือได้ว่าจำเลยได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(4)จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท


ใส่ความในเรื่องส่วนตัว หรือนอกเรื่อง ไม่ได้รับยกเว้นความผิด

ข้อยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ไม่รวมถึงการใส่ความในเรื่องส่วน หรือเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ หรือบุคคลทั่วไป หรือเป็นการวิจารณ์นอกเรื่อง ไม่เกี่ยวกับส่วนได้เสียของตน

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 645/2503 โจทก์จำเลยเคยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลด้วยกัน จำเลยได้พิมพ์ใบปลิวมีข้อความว่า “โจทก์ทำการค้ากับร้านสหกรณ์สมัยนายเฉลิมเป็นผู้จัดการ รับนมและบุหรี่ไปขายแล้วไม่นำเงินมาให้ร้านสหกรณ์ 20,383 บาท และจ่ายเช็คไม่มีเงินให้ 13,878.85 บาท จำเลยเข้าไปรับงานผู้จัดการทีหลังรื้อเรื่องขึ้นมาฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกเงินให้ร้านสหกรณ์สำเร็จ ขณะนี้โจทก์ยังคงผ่อนชำระให้ร้านสหกรณ์ตามคำสั่งศาลอยู่” แล้วจำเลยโฆษณาแจกจ่ายใบปลิวเหล่านั้น แม้ตามความจริงโจทก์ได้ถูกร้านสหกรณ์ซึ่งจำเลยเป็นผู้จัดการฟ้องเรียกเงินต่อศาลและได้ยอมความกันก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นเจตนาใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ ไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3725/2538 การที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีจำเลยไม่ก่อให้จำเลยเกิดสิทธิที่จะเข้าไปกล่าวประจานโจทก์ในที่ทำงานของโจทก์ต่อหน้าเพื่อนร่วมงานของโจทก์ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์เห็นได้ว่าจำเลยมุ่งประสงค์เพื่อให้โจทก์อับอายและทำลายชื่อเสียงของโจทก์ดังนั้นจำเลยจะยกเหตุเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมขึ้นเพื่อปฎิเสธความผิดไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2522 ฝ่ายจำเลยและฝ่ายโจทก์ร่วมมีข้อโต้แย้งกันเรื่องแนวเขตรั้วที่จำเลยจะสร้างขึ้นใหม่ ขณะเจรจายังไม่ตกลงกันจำเลยได้กล่าวถ้อยคำต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจผู้มาทำการไกล่เกลี่ยว่าที่ต้องสร้างรั้วใหม่ เพราะไอ้คนนี้ (หมายถึงโจทก์ร่วม) มันเข้าไปข่มขืนคนในบ้านฉัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่วงเลยมาเป็นเวลานาน 2 ปีเศษแล้ว ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 329

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 782/2524 ข้อความที่จำเลยเขียนลงในหนังสือพิมพ์รายวันมีความหมายถึงโจทก์มีความว่า “เช็คเอย เช็คเด้ง แม้แต่เช็คเงิน3 พันบาทของอ้ายเสี่ยบ้ากามก็ยังเด้งมาแล้วดี.วัน.จันทร์. สะอื้นไห้ เฉียบ ชัยณรงค์ ไม่อยากจะเชื่อ เมื่อก่อนยังเป็นจับกัง ไอ้เสี่ยจ่ายเช็ค 3 พัน ก็เด้งเหมือนกันตำรวจไปตามจับ พี่แกโกยแนบไปกอดเมีย (เก่า) ร่ำไห้ด้วยความกลัวทุดส์ เรื่องของอ้ายเสี่ยบรรลัยมีมากมายเป็นพะเรอ คนรักใคร่ชอบพอมันทั้งน๊าน คอยส่งข่าวความสกปรกให้ฟังไม่ว่างเว้นซักที เฮ้อกูละเบื่อ” ข้อความที่ว่า “ไอ้เสี่ยบ้ากาม” ก็ดีและที่ว่า “เมื่อก่อนยังเป็นจับกังไอ้เสี่ยจ่ายเช็ค 3 พันก็เด้งเหมือนกัน” ก็ดี. มีความหมายทำให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังเกิดความรู้สึกนึกคิดและเข้าใจตัวโจทก์ว่าโจทก์เป็นคนมักมากในกามคุณผิดวิสัยปุถุชนทั่วไป เช็คที่ออกจำนวนเงินเพียง3,000 บาท ก็ไม่มีเงิน ไม่ผิดอะไรกับครั้งยังเป็นกุลีหาเช้ากินค่ำแสดงให้เห็นและเข้าใจไปได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีความประพฤติไม่ดีไม่ควรแก่การยกย่องสมาคม อันเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังโดยการโฆษณาด้วยเอกสารในเรื่องส่วนตัว ไม่มีลักษณะไปในทำนองของการติชมอย่างเป็นกลางและเป็นธรรมตามวิสัย เพื่อยังให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2523 จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์มีข้อความสำคัญว่าโจทก์จ่ายเช็คจำนวน 1 ล้านบาทให้แก่ธนาคาร ถึงกำหนดปรากฏว่าเช็คไม่มีเงิน ธนาคารแจ้งตำรวจขอให้จับโจทก์ดำเนินคดี ตามข้อความดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์มีฐานะการเงินไม่ดีไม่น่าเชื่อถือการลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีและประกอบการค้าโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ เสียชื่อเสียง ทั้งเรื่องที่โจทก์จ่ายเช็คไม่มีเงินและถูกธนาคารแจ้งความเป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์ ไม่เกี่ยวกับหน้าที่การงานของโจทก์ในตำแหน่งนายกเทศมนตรีอันจะถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จำเลยจะอ้างว่าข่าวนั้นเป็นความจริงเพื่อมิให้ต้องรับผิดหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2414/2530 จำเลยทั้งสองมีจดหมายแจ้งไปถึงเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนฮังการี เพื่อขอความร่วมมือจากสมาชิกคนหนึ่งในสมาคมจำเลยที่ 1 ให้ยกเลิกการสั่งจองห้องพักที่ทำไว้กับโจทก์ที่ 1มีข้อความว่า “…เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสมาคมของเรา ได้ดำเนินคดีต่อผู้บริหารกิจการโรงแรมเพรสิเดนท์คือบริษัทรีเจนท์ไทยแลนด์จำกัด เรา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านคงจะไม่ต้องมีประสบการณ์กับความกลับกลอกดัง ที่เรา ได้ประสบติดต่อกันมา…เจ้าของโรงแรมได้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อบริษัทรีเจนท์ไทยแลนด์ จำกัด เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากเมื่อปีที่แล้วนี้ ด้วยเหตุที่บริษัทผิดนัดไม่จดทะเบียนการเช่า ภายในระยะเวลาที่กำหนด…” คำว่ากลับกลอกมีความหมายในทางกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 1 ไม่น่าเชื่อถือไว้วางใจเป็นผู้ประพฤติผิดสัญญาทั้งโจทก์ที่ 1 ยังถูกฟ้องฐานผิดสัญญา ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกขาดความเชื่อ มั่นในการรักษาคำมั่นสัญญาของโจทก์ที่ 1เป็นการทำให้โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจการค้าได้รับความเสื่อมเสียในชื่อ เสียงและเกียรติคุณ หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อป้องกันตน หรือส่วนได้เสียตามคลองธรรมแต่อย่างใดไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2272/2527 จำเลยปิดประกาศภาพถ่ายโจทก์โดยมีข้อความภาษาอังกฤษกำกับแปลเป็นภาษาไทยว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลย 15,910 บาท ยังเรียกเก็บไม่ได้หรือยังไม่ได้ชำระ โดยจำเลยปิดประกาศดังกล่าวในสถานบริการของจำเลยซึ่งมีลูกค้าเข้าไปรับบริการ เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกล่าวหาเรื่องร้าย เป็นการใส่ความโจทก์อันจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนแม้ว่าเรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริงก็ไม่เป็นเหตุยกเว้นให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9884/2539 พูดถึงเรื่องข้าราชการของรัฐสภาผู้นี้เป็นนายหน้าจัดหาผู้หญิงให้แก่ ส.ส. ซึ่งกรณีนี้ข้าราชการหญิงผู้นี้เคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนมาแล้ว เมื่อพิจารณาประกอบการพาดหัวข่าวที่ว่า ลากไส้อีโม่ง กินงบ ค้ากามกลางสภาจะเห็นได้ว่าเป็นการพูดกล่าวหาโจทก์คนละเรื่องคนละตอนกัน สำหรับข้อความ ในตอนที่สองทำให้เข้าใจว่า โจทก์เป็นนายหน้าจัดหาเด็กผู้หญิงมาให้ ส.ส. ซึ่งได้มีการสอบสวนลงโทษโจทก์มานานแล้วก่อนที่จำเลยจะนำมาลงเป็นข่าว การลงข่าวดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่เป็นเรื่องที่ลงข่าวเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4295/2531 จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีที่ ซ. กับพวกยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทน.เพื่อสนับสนุนให้เห็นว่าบริษัทน.ประสบภาวะขาดทุนเพราะการบริหารงานของบริษัทหละหลวมไม่เป็นระเบียบ กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทไม่สุจริต และกรรมการบริหารของบริษัททุจริตทำให้การดำเนินงานของบริษัทไม่มีโอกาสจะฟื้นตัวเป็นการยืนยันว่าโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท น.ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของบริษัทโดยสุจริต และกระทำการทุจริตเป็นเหตุให้บริษัทขาดทุน จำเลยเบิกความในคดีดังกล่าวในฐานะพยาน มิใช่คู่ความ จำเลยมิได้เป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการบริษัทน.อันจะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งบริษัทน.ก็เป็นบริษัทเอกชน มิใช่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณะ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3)


ใส่ความโดยรู้หรือน่าจะรู้อยู่แล้วว่าไม่จริง ไม่ได้รับยกเว้นความผิด

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า การจะได้รับยกเว้นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 นี้ จะต้องเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต

ซึ่งคำว่าโดยสุจริต ไม่ได้หมายความว่า เรื่องที่แสดงความเห็นจะต้องเป็นเรื่องจริงเสมอไป อาจจะเป็นเรื่องไม่จริงก็ได้ แต่ถ้าผู้กระทำเชื่อหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ก็ไม่เป็นความผิด

แต่ในทางกลับกัน ถ้าผู้กระทำรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง หรือควรจะรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริงถ้าได้ตรวจสอบบ้าง แต่กลับไม่ตรวจสอบ แต่ได้เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นการใส่ความไป ย่อมถือว่าไม่สุจริต และไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

รู้หรืิอควรจะต้องรู้ ว่าเป็นเรื่องไม่จริง ถือว่าไม่สุจริต

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

ไม่ปรากฎเลยว่ามีสิ่งใดชี้ให้เห็นว่าน่าจะได้เชื่อโดยสุจริต ว่าความจริงเป็นเช่นนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 373/2532 จำเลยได้ลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด อุบลราชธานี มีข้อความว่า “ขอบใจที่ พล.อ. สิทธิ จิรโรจน์ ร.ม.ต.มหาดไทยกล่าวว่าทำไมผู้กำกับจึงมาร้องตอนนี้ ทั้ง ๆ ที่เรื่องมีมานานขุนช้างว่า คงพึ่งคิดวิธีทำอาญาให้เป็นแพ่งได้กระมัง จริงไหมครับพ.ต.อ. นิยม ไกรลาศ ” อันเป็นข้อความที่เกี่ยวโยงกับกรณีกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่การเงินกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัด อุบลราชธานีซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการจำนวนหลายล้านบาท ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปที่ได้อ่านข้อความที่จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเข้าใจว่าโจทก์ร่วมรู้เห็นในการทุจริตยักยอกเงินของทางราชการ ข้อความที่จำเลยลงโฆษณานอกจากจำเลยอ้างถึงข้อความที่พลเอก สิทธิ จิรโรจน์ กล่าวดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ได้อ้างถึงข้อความจริงอันใดให้จำเลยแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ทั้งผู้ได้อ่านก็ไม่ได้รู้ถึงความจริงอันควรเชื่อหรือไม่ว่าเป็นดังจำเลยกล่าว แต่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เชื่อว่าโจทก์ร่วมรู้เห็นในการทุจริต จึงไม่ใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำทั้งไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ ข้อความที่จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวจึงเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ และเมื่อเป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว ก็ไม่ต้องยกมาตรา ๓๒๖ ขึ้นปรับบทลงโทษอีก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2021/2517 จำเลยพูดกับบุคคลที่สามกล่าวหาว่าโจทก์ร่วม กับพวกลักเป็ดของจำเลยไปแกงกิน.โดยจำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะดำเนินคดีเอาความต่อโจทก์ร่วมกับพวกได้ คำพูดของจำเลยจึงไม่มีมูลความจริง แต่จำเลยกล่าวยืนยันประจานให้บุคคลอื่นหลงเชื่อเป็นความจริงว่าโจทก์ร่วมกับพวกลักเป็ดของจำเลยย่อมเป็นการใส่ความทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง รังเกียจต่อความประพฤติอันเสื่อมเสียของโจทก์ร่วมได้ จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386 – 387/2506 จำเลยกล่าวต่อหน้าลูกบ้านของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นคนไม่ดีไม่มีศีลธรรม ผู้ใหญ่บ้านหมาๆ บ้าๆ อย่างนี้ไม่ควรเป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไป เพราะราษฎรจะได้รับความเดือดร้อน ดังนี้ เห็นได้ว่าจำเลยมิได้อ้างถึงข้อความจริงอันใดที่จะให้จำเลยแสดงความคิดเห็นเป็นเช่นนั้น ทั้งผู้ได้ยินได้ฟังก็มิได้รู้ถึงความจริงอันควรจะเชื่อหรือไม่ว่าเป็นดังจำเลยกล่าว แต่กลับจูงใจให้เกิดความเชื่อว่าโจทก์ไม่ควรแก่ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านจึงไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตให้ผู้ฟังได้วินิจฉัยเอาเองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ลูกบ้านอาจเกลียดชัง ดูหมิ่นได้เป็นความผิดตามมาตรา 326 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2542 ข้อความที่จำเลยที่ 1 ลงพิมพ์โฆษณาว่าโจทก์เรียกเงิน 5 ล้าน ในการถ่ายภาพนู้ด นั้น จำเลยที่ 1 มิได้อ้างถึงข้อความ จริงอันใดเลยในการแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ทั้งไม่มีข้อความ ที่แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะปกป้องโจทก์ แต่กลับ เป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 มุ่งประสงค์ใส่ความ เพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ ทำให้ผู้ที่ไม่ทราบความจริง เข้าใจผิด ดูหมิ่น เกลียดชังโจทก์ อันส่งผลกระทบต่อเกียรติยศและสถานะในทางสังคมของโจทก์หาใช่เป็นการติ ชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่ จึงเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับการยกเว้นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 

รู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จ ถือว่าไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2537 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ถูกร้องเรียนว่ายักยอกเงินโครงการอาหารกลางวันและอื่น ๆ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น จำเลยได้พูดกับ พ.ผู้ช่วยสมุหบัญชีธนาคารว่า “ยักยอก ตามตัวไม่พบ” คำพูดดังกล่าวมีความหมายให้ พ. เข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการแล้วหนีไป จึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจึงเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท นอกจากนี้ถ้อยคำดังกล่าวก็เป็นความเท็จเพราะจำเลยทราบดีว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมอยู่ในระหว่างถูกผู้บังคับบัญชาตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและได้สั่งให้โจทก์ร่วมไปช่วยราชการที่อื่น หาใช่ว่าคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการเสร็จแล้วและลงความเห็นว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดวินัยและหลบหนีไปแต่อย่างใดไม่ การกล่าวถ้อยคำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2507 ข้อกล่าวหาของจำเลยที่ว่า นายหิรัญผู้พิพากษาได้ร่วมรับประทานเลี้ยงกับนางนิภาโจทก์ ซึ่งนายหิรัญตัดสินให้ชนะคดี ที่ร้านข้างศาลในตอนเย็นวันตัดสินนั้น เป็นความเท็จ และ จำเลยได้ร้องเรียนความดังกล่าวต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม และไปยืนยันให้ถ้อยคำต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชานายหิรัญในการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยแก่นายหิรัญ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการแจ้งข้อความเท็จโดยเจตนาซึ่งอาจทำให้นายหิรัญเสียหายเป็นความผิดตามมาตรา 137 ยิ่งกว่านั้นข้อความที่จำเลยแจ้งเท็จดังกล่าว ยังมีความหมายไปในทางหาว่านายหิรัญประพฤติตนไม่สมควร เป็นไปในทำนองพิพากษาคดีความไปโดยไม่สุจริตเป็นการหมิ่นประมาทนายหิรัญผู้พิพากษาในการพิพากษาคดีอันเป็นความผิดตามมาตรา 198 และเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความแก่นายหิรัญตามมาตรา 326 อีกด้วย กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตาม มาตรา 329(1) เพราะจำเลยมีเจตนาแกล้งกล่าวข้อความเท็จโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2520โจทก์ร่วมเคยให้หนังสือพิมพ์ลงพิมพ์เกี่ยวกับจำเลยมีข้อความทำนองว่าจำเลยไปแจ้งความเท็จแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหาว่าโจทก์ร่วมลักทรัพย์ เป็นการพยายามทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ฯลฯไปรับเงินสายหนังมาก็ปลอมลายมือโจทก์ร่วมว่ารับเงินจากจำเลยแล้ว จำเลยจึงเขียนข้อความส่งไปลงพิมพ์โฆษณาโต้ตอบในหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์ร่วมเป็นเมียน้อยของจำเลย ทั้งๆ ที่จำเลยรู้อยู่ว่าโจทก์ร่วมมีสามี เป็นผลให้สามีโจทก์ร่วมเข้าใจผิด ดังนี้ การกระทำของจำเลยหาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความใดโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมอันเกิดจากการที่โจทก์ร่วมให้หนังสือพิมพ์ลงพิมพ์เกี่ยวกับจำเลยไม่ จำเลยไม่อาจอ้างข้อนี้ขึ้นเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1203/2520 บริษัทโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันแนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์มีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้อำนวยการ จำเลยที่ 2 เป็นห้วหน้ากองบรรณาธิการ จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการข่าวในประเทศ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีเงินสวัสดิการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในกองบรรณาธิการรวมหนึ่งล้านเก้าแสนแปดหมื่นเจ็ดพัน บาทเศษ และบริษัทโจทก์ยังไม่ได้แบ่งรายได้ค่าโฆษณาเข้าสมทบอีก 1,247,402 บาท 40 สตางค์ จำเลยที่ 2, 3 กับเจ้าหน้าที่ในกองบรรณาธิการหลายสิบคนเข้าชื่อกันมีหนังสือถึงโจทก์ที่ 2 ให้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเข้าสมทบเงินสวัสดิการ โจทก์ไม่ยอมจ่าย เพราะเกรงว่าจำเลยที่ 2 จะเอาไปจ่ายให้เฉพาะผู้ที่ออกจากงานพร้อมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเหตุที่จะอ้างเช่นนั้นได้ และต่อมาก็ปรากฏว่าเงินสวัสดิการหนึ่งล้านเก้าแสนบาทเศษที่อยู่ที่จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ได้จ่ายให้ผู้ที่ออกจากงานพร้อมกับจำเลยที่ 2 จนหมดสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องโจทก์บิดพลิ้วไม่ยอมจ่ายเงิน ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 เขียนข้อความลงในหน้าหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ จำหน่ายโฆษณาแก่ประชาชนทั่วราชอาณาจักรกล่าวหาว่าโจทก์โกงแม้กระทั่งเงินสวัสดิการของออฟฟิสบอยและคนถู-บ้านก็ดี โจทก์มีเหลี่ยมโกงและทำความระยำก็ดี ตลอดจนเปลี่ยนนามสกุลโจทก์ที่ 2 เป็นเบี้ยตระกูล ซึ่งคำว่าเบี้ยวนี้ จำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าหมายถึงฉ้อโกง ดังนี้ก็ดี หาเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อป้องกันสวนได้เสียของตน หรือเป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมไม่ แต่เป็นเรื่องจำเลยที่ 2 มุ่งใส่ความโจทก์ทั้งสองให้ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เขียนและบรรณาธิการจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบด้วยมาตรา 326

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418/2523 จำเลยประพันธ์และนำพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2521 เมื่ออ่านแล้วได้ความว่า รถยนต์คันที่โจทก์นั่งมาเป็นฝ่ายผิด เจ้าพนักงานตำรวจเข้าปฏิบัติหน้าที่ต่อคู่กรณีตามความเป็นจริงกลับถูกโจทก์ตะคอกด่าว่า”โง่ทำงานไม่เป็น” แล้วโจทก์สั่งให้คนขับรถขับรถยนต์หนีไป โจทก์เป็นคนขนาดเคยเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยกลับเหยียดหยามกฎหมาย ดังนี้ จำเลยจะอ้างว่าข้อความที่จำเลยประพันธ์เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม2521 หาได้ไม่ เพราะมีการยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์ด่าว่าเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ทั้ง ๆ ที่รถยนต์ที่โจทก์นั่งมาเป็นฝ่ายผิดแล้วโจทก์ยังให้คนขับรถยนต์หนีไป ซึ่งข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ไม่ได้ด่าว่าเจ้าพนักงานตำรวจ และไม่ได้สั่งให้คนขับรถยนต์หนีไปจึงเป็นการใส่ความโจทก์อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808 – 1809/2531 ส่วนข้อความที่ลงพิมพ์ว่า ‘เหตุไฉนรัฐมนตรีบัญญัติจึงพูดบิดเบือนความจริง เรื่องศาลากลาง สนามกีฬา ทำไมไม่พูดเรื่องกัญชาข้อหาฉกรรจ์เพราะประชาชนข้องใจ แต่ที่จำได้ ส.ส. ขี่ควายไม่อายเท่าใด ส.ส. ค้ายาเสพติดนั่นคือสิ่งที่ประชาชนสนใจ’ นั้นประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ย่อมเข้าใจได้ว่า รัฐมนตรีบัญญัติผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรค้ายาเสพติดให้โทษคือกัญชาซึ่งไม่ตรงกับความจริง จำเลยหาได้ติชมด้วยความเป็นธรรมหรือโดยความสุจริตใจแต่อย่างใดไม่และมิใช่ข้อความที่ไม่เหมาะสม แต่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายค้ายาเสพติดให้โทษ จึงเป็นข้อความที่ใส่ความผู้เสียหายด้วยการแพร่ข่าวสารทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบจริงเท็จได้ แต่ไม่ตรวจสอบ ถือว่าไม่สุจริต 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312/2542 จำเลยลงพิมพ์โฆษณาใส่ความโจทก์ในหนังสือพิมพ์ ด.ฉบับที่ 153,154 และ 156 โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายของผู้ที่ตกเป็นข่าว หลังจากที่โจทก์ทราบข่าวที่จำเลยเสนอในฉบับที่ 153 แล้ว ธนาคาร ก. ได้ออกแถลงการณ์2 ฉบับ ยืนยันว่าไม่ได้ไล่โจทก์ออกและโจทก์ไม่มีพฤติการณ์เสื่อมเสียในการทำงาน แต่ได้ปฏิบัติงานด้วยความวิริยะอุตสาหะตลอดมา แต่จำเลยก็ยังลงข่าวในฉบับที่ 154 ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นแถลงการณ์ปลอม และยังคงยืนยันใส่ความโจทก์เพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ จำเลยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่นอนก่อนที่จะพิมพ์โฆษณาข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข่าวเสียก่อน โดยมุ่งแต่จะจำหน่ายหนังสือพิมพ์ให้ได้จำนวนมากเป็นสำคัญ ข้อความที่จำเลยลงพิมพ์โฆษณาตามฟ้อง จึงเป็น ข้อความที่จำเลยมิได้แสดงโดยสุจริต การกระทำของจำเลย จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ที่จะไม่มีความผิด และไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 วรรคแรก ที่จะไม่ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2525 โจทก์เป็นผู้ควบคุมการสร้างท่อประปาที่สี่แยกคลองโพธิ์อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย การก่อสร้างท่อประปาดังกล่าวไม่ถูกแบบแปลนและไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด แต่ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่ามีการทุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 1 ได้เขียนข้อความลงในหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์เป็นข้าราชการที่เคยคดในข้องอในกระดูก ฉ้อราษฎร์บังหลวงทุจริตโกงกินในการสร้างท่อประปาเป็นเหตุให้บ้านเมืองฉิบหายพร้อมกับสาปแช่งโจทก์ดังนี้ ข้อความที่จำเลยที่ 1 เขียนดังกล่าวเป็นการใส่ความโจทก์ต่อผู้อ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการเสนอข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของหนังสือพิมพ์จะพึงกระทำ หรือเป็นการลงข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นข่าวที่จำเลยที่ 1 เขียนดังกล่าวจึงเป็นการหมิ่นประมาทและละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14169/2557  เมื่อพิจารณาข้อความที่ จ. เขียนเห็นได้ว่า ความหมายของข้อความเป็นการแสดงว่าผู้เขียนยืนยันข้อเท็จจริงและเชื่อตามหนังสือร้องเรียนที่ จ. อ้างว่าได้รับจากชาวบ้านว่า โจทก์เป็นคนนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งแก่ผู้จำหน่าย โดยผู้เขียนและจำเลยที่ 3 ไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบว่า เป็นความจริงและจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด

จ. ผู้เขียนข่าวไม่รู้จักโจทก์ ไม่รู้ว่าดาบ ก. มีตัวตนหรือไม่ ไม่ได้ตรวจสอบว่าหนังสือร้องเรียนเป็นความจริงหรือไม่ และไม่ได้เก็บหนังสือร้องเรียนไว้ แสดงว่า ผู้เขียนไม่ได้มีข้อมูลหรือพฤติการณ์ใด ๆ ที่จะส่อแสดงว่า ที่อำเภอปะคำมีตำรวจชื่อดาบ ก. นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้ชาวบ้านจำหน่าย ในฐานะเป็นสื่อมวลชน เมื่อมีหนังสือร้องเรียนซึ่งไม่ได้ลงชื่อผู้ร้องเรียนเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ข้อมูลในการกล่าวหาโจทก์ที่ได้มาเพียงเท่านี้ วิญญูชนย่อมทราบได้ว่าอาจมีการกลั่นแกล้งกัน จำเลยที่ 3 ต้องใช้ความระมัดระวังในการเสนอข่าวมากเป็นพิเศษ จะถือว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วจะเสนอข่าวอย่างใดก็ได้นั้นมิได้  การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิด


มีวิธีดำเนินการตามกฎหมายได้หลายช่องทาง แต่ใช้วิธีประจาน ไม่ได้รับยกเว้นความผิด 

การได้รับยกเว้นความผิด จะต้องเป็นการกระทำโดยสุจริต แต่ถ้าเป็นการกระทำโดยพยายามอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย รู้อยู่แล้วว่าตนเองมีสิทธิดำเนินการตามกฎหมายอย่างไร แต่ไม่ดำเนินการกลับใช้วิธีประจาร

เช่น เจ้าหนี้เงินกู้โพสประจานลูกหนี้ที่กู้ยืม ทั้งๆที่ตนเองก็มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้อยู่แล้ว เช่นนี้ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13622/2555จำเลยแจกจ่ายแผ่นปลิวโฆษณามีข้อความว่า “เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรี ผู้สื่อข่าว และท่านที่ใจเป็นธรรมทุกท่านทราบ เนื่องจาก อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม มีพื้นที่ต่ำบางส่วนเป็นทางรองรับน้ำ… ระบายออกทางแม่น้ำมูล… ต่อมาความเจริญเริ่มเข้ามา ที่ดินเริ่มมีราคาแพง ทำให้ผู้ที่มีที่ดินติดกับทางระบายน้ำโบราณบุกรุกโดยถมดินและก่อสร้าง… เป็นสาเหตุทำให้น้ำระบายได้ช้า เกิดน้ำท่วม… เรื่องนี้ทางราชการทราบดีแต่ไม่กล้าแก้ไข คงกลัวอิทธิพล… ส่วนอีกราย เป็น ส.ส. เจ้าของโรงสีใหญ่ อยากได้ที่ดินมาก ล้อมรั้วคอนกรีตฮุบหนองน้ำสาธารณะผนวกเข้ากับที่ตัวเองอย่างหน้าด้านที่สุด แปลกจริงหนอเศรษฐีอยากได้ที่ดินใช้วิธีที่น่าละอายที่สุด เข้าข่ายผู้มีอิทธิพลทางด้านใช้อำนาจบุกรุกที่สาธารณะ…” ให้แก่ผู้ที่อยู่ในงาน เป็นการใส่ความว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม ใช้อิทธิพลฮุบเอาสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของตนโดยมิชอบอย่างไม่มีความละอายแก่ใจ ที่วิญญูชนอ่านแล้วย่อมรู้สึกดูหมิ่นและเกลียดชังผู้เสียหายได้ในทันที อันเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายอย่างชัดเจน แม้หากจำเลยไปพบเห็นข้อความในแผ่นปลิวโฆษณา ไม่ว่าข้อความดังกล่าวจะเป็นความจริงดังจำเลยอ้างหรือไม่ แต่ก็มีวิธีการที่จำเลยจะดำเนินการหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบได้อีกหลากหลายวิธีโดยไม่มีเหตุที่ต้องไปละเมิดต่อสิทธิของบุคคลใด จึงไม่มีความจำเป็นใดเลยที่จำเลยจะต้องแจกจ่ายเผยแพร่แผ่นปลิวโฆษณาข้อความหมิ่นประมาทผู้เสียหายในสภาพการซึ่งผู้เสียหายนั่งอยู่ในงานที่มีทั้งนักการเมืองระดับสูงและข้าราชการผู้ใหญ่และประชาชนจำนวนมาก การกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ามีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าโดยมีเจตนาที่ต้องการประจานผู้เสียหายให้ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างมาก ทั้งต่อ ส., ช. ข้าราชการผู้ใหญ่ และประชาชนในพื้นที่ซึ่งไปร่วมงานจำนวนมากนั่นเอง จึงเป็นการใส่ความผู้เสียหายในประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแล้ว หาใช่มีเจตนาเพียงต้องการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ อันจะทำให้จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1101/2530 การที่จำเลยทำหนังสือส่งไปยังประธานคณะกรรมการตุลาการและกรรมการตุลาการอื่นทุกคนกล่าวหาว่า โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการคนหนึ่งผูกใจเจ็บแค้นมารดาจำเลยเพราะมีคดีเรื่องบุกรุกและหาเหตุกลั่นแกล้งจนมารดาจำเลยถึงแก่กรรม แล้วโจทก์ยังมาฟ้องกล่าวหาจำเลยในมูลละเมิดโดยใช้อิทธิพลในฐานะเป็นกรรมการตุลาการทำให้ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีเกิดความกลัวบีบบังคับให้จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและไม่ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยในการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว อันทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งที่จำเลยรู้ดีว่าไม่มีมูลความจริง ย่อมแสดงให้เห็นในเบื้องต้นถึงเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ของจำเลย ทั้งจำเลยก็ไม่อาจแก้ตัวได้ว่ากระทำการดังกล่าวเพื่อป้องกันผลประโยชน์อันชอบธรรมของตนหรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) เพราะในคดีแพ่งที่โจทก์จำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับมูลละเมิด จำเลยก็มีทนายช่วยแก้ต่างจำเลยจึงย่อมทราบดีกว่าขั้นตอนของกระบวนวิธีพิจารณาเป็นอย่างไรและควรปฏิบัติอย่างไรหากเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในปัญหาที่พิพาทกับโจทก์มิใช่ร้องเรียนไปยังบรรดาบุคคลซึ่งจำเลยทราบดีว่าไม่อาจบันดาลใด ๆ ในทางคดีได้แต่กลับเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งว่า จำเลยมุ่งประสงค์ใส่ความเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ และเป็นการกระทำที่มีลักษณะให้ข้อความหมิ่นประมาทดังกล่าวแพร่หลายไปในวงการของนักกฎหมายและบุคคลอื่น เพื่อให้ผู้ที่ไม่ทราบความจริงเกิดเข้าใจผิดดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์อันส่งผลกระทบต่อเกียรติและสถานะในทางสังคมของโจทก์โดยตรงสมดังเจตนาอันแท้จริงของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

 


เป็นเรื่องจริง หรือเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นเรื่องจริง

ตัวบทกฎหมาย

มาตรา 330  ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

คำอธิบาย

ในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น อธิบายไปแล้วว่าถึงเป็นเรื่องจริงก็เป็นหมิ่นประมาทได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องจริง อาจเป็นเหตุได้รับยกเว้นให้ไม่เป็นความผิด

โดยมีเงื่อนไขก็คือผู้กระทำจะต้องพิสูจน์ว่าข้อความที่ตนกล่าวเป็นความจริง

และการจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้นั้น ข้อความที่กล่าวจะต้องไม่ใช่ข้อหมิ่นประมาทในเรื่องส่วนตัว และ จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

ทั้งนี้เงื่อนข้อห้ามพิสูจน์นั้นจะต้องครบทั้งสองประการ กล่าวคือ

ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่อาจจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เช่น บุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลสาธารณะ ก็ไม่ต้องห้ามให้พิสูจน์ความจริง

หรือการพิสูจน์อาจไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แต่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เช่นนี้ก็ไม่ต้องห้ามให้พิสูจน์ความจริงเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1072/2507 โจทก์เป็นเจ้าคณะอำเภอ ฟ้องหาว่าจำเลยกล่าวคำหมิ่นประมาทใส่ความว่าโจทก์เข้าหานางชีที่ห้องวิปัสสนา เป็นเหตุให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังนั้น จำเลยขอพิสูจน์ความจริงได้ เพราะการพิสูจน์ความจริงของจำเลยย่อมเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เนื่องจากประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ผู้เป็นศาสนิกชนย่อมหวงแหนที่จะมิให้ผู้ใดมาทำลายหรือทำความมัวหมองให้แก่พุทธศาสนาที่ตนนับถือ ยิ่งเมื่อจำเลยมาพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์ต่อศาลได้ ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้คนทั่วไปที่จะได้ไม่มัวหลงเคารพเลิ่อมใสโจทก์ต่อไป

(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 24/2507)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7435/2541 การที่จำเลยตีพิมพ์การกระทำหรือพฤติกรรมของโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดตามคำสั่งกรมตำรวจนั้น แม้เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว เพราะเป็นเรื่องตีแผ่สิ่งประพฤติชั่วร้ายและกระทำหน้าที่มิชอบของโจทก์ขณะเป็นข้าราชการตำรวจเพื่อให้ประชาชนรับทราบและให้ผู้ประพฤติชอบพึงสังวรณ์ไว้ ย่อมเป็นข้อความที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งจำเลยมีสิทธิพิสูจน์ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 วรรคท้าย ดังนั้นเมื่อจำเลยได้ตีพิมพ์ข่าวในหนังสือฉบับพิพาทเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ตามความเป็นจริง จำเลยย่อมไม่ต้องรับโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16275/2557 เชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของ ด. เป็นแกนนำในการจัดกำลังพนักงานพิทักษ์ป่าและเคลื่อนกำลังไปชนกับกลุ่มของ ส. ที่ชุมนุมกันอยู่ ทำให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบขึ้นกับบ้านเมืองจริงตามข้อความที่จำเลยเขียน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าโจทก์เป็นแกนนำกระทำการดังที่จำเลยกล่าวใส่ความจริง แต่จำเลยสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง จำเลยย่อมได้รับยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 62 ประกอบมาตรา 330 และปัญหาว่า การกระทำของจำเลยได้รับยกเว้นโทษเพราะสำคัญผิดในข้อที่หาว่าหมิ่นประมาท เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2514 ผู้เสียหายทั้งสองมีหน้าที่ปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการจราจรและในการปฏิบัติราชการตามหน้าที่นี้ ผู้เสียหายทั้งสองได้รีดไถเงินทองหรืออีกนัยหนึ่งก็คือเรียกหรือรับสินบนจากผู้กระทำผิดจราจรเช่นนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ การที่จำเลยทั้งสองหมิ่นประมาทผู้เสียหายทั้งสองด้วยข้อความดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการที่จำเลยทั้งสองรู้เห็นการกระทำของผู้เสียหายทั้งสองและออกโฆษณาเป็นการตักเตือนไปเช่นนั้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อการที่จะให้ผู้เสียหายสังวรต่อการกระทำเช่นนั้นเมื่อจำเลยมาพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์ต่อศาลได้ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่มีอาชีพหรือหน้าที่เกี่ยวกับการขับขี่ยวดยานในท้องถนนหลวงที่จะไม่ถูกผู้เสียหายทั้งสองกระทำการเช่นดังกล่าวแล้วได้อีก ศาลฎีกาเห็นว่า การพิสูจน์ความจริงของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นประโยชน์แก่ประชาชนจำเลยทั้งสองจึงขอพิสูจน์ความจริงได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2508 จำเลยเป็นสมาชิกเทศบาล ทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับเรื่องที่ภริยาของโจกท์ (โจทก์ เป็นปลัดเทศบาล) ตั้งเบิกจ่ายค่าพาหนะเดินทางย้ายว่า “การเบิกจ่ายที่ผ่านไปได้ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริงหรือการทุจริตนี้วิญญูชนก็ต้องเข้าใจว่า คงกระทำไปด้วยความแนะนำรู้เห็นเป็นใจของโจทก์ผู้สามีอย่างแน่นอน เพราะต่างก็ทำงานร่วมกันและอยู่ในบ้านพักเดียวกัน การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการผิดกฎหมายและวินัยของราชการอย่างร้ายแรง” และ “แทนที่โจทก์จะปฏิบัติหน้าที่และวางตนให้สมกับตำแหน่ง โจทก์กลับจะกลายมาเป็นผู้แสวงหาประโยชน์จากเทศบาลโดยวิธีที่ไม่ชอบ ทั้งมีความประพฤติส่วนตัวที่ไม่สมควรมากมายหลายอย่าง จนพนักงานเทศบาลและประชาชนขาดความเคารพนับถือ สำหรับความประพฤติส่วนตัวที่เลวร้ายของโจทก์นั้นจำเลยจะยังไม่ขอกล่าวในโอกาสนี้” ดังนี้ ข้อความที่กล่าวว่าโจทก์มีความประพฤติเลวร้ายแต่มิได้กล่าวว่าเลวร้ายอย่างใดนั้น ก็น่าจะเข้าใจได้ว่า การกระทำที่เป็นทุจริตอย่างจำเลยกล่าวหาโจทก์ เป็นความประพฤติที่เลวร้ายได้ และเมื่อปรากฏว่าคำร้องเรียนของจำเลยเป็นความจริง จำเลยก็ไม่ต้องรับโทษเพราะได้รับความยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330.


มีกฎหมายให้อำนาจจะทำได้

ตัวบทกฎหมาย

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 331  คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 124 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคําใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนําไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดๆ มิได้เอกสิทธิ์

ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคําในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใด หากถ้อยคําที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภาและการกล่าวถ้อยคํานั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่
รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น

คำอธิบาย

ในกรณีที่กฎหมายให้อำนาจบุคคลใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แม้ในการกระทำการดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทหรือใส่ความผู้เสียหายก็ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด เพราะเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ 

กฎหมายที่ให้อำนาจไว้ อาจจะเป็นการให้ไว้โดยชัดแจ้งอย่างเช่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 331 หรือเรื่องเอกสิทธิ์ในการอภิปรายของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนญมาตรา 124 

หรืออาจจะเป็นสิ่งที่กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ แต่ศาลฎีกาตีความว่าเป็นอำนาจที่กระทำได้ หากกระทำโดยสุจริต เช่น การเบิกความเป็นพยานในศาล การตอบคำถามของพนักงานสอบสวน การร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นต้น

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2557 การใช้สิทธิอุทธรณ์เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เนื้อหาในฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ทนายความผู้เรียงอุทธรณ์ เป็นการดำเนินการเพื่อต่อสู้คดีของจำเลยที่ 2 เพื่อให้พ้นความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น การยื่นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการที่คู่ความหรือทนายความของคู่ความแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 331

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2530 การที่จำเลยให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับบัญชาของจำเลยแต่งตั้งขึ้นเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้กล่าวหา ส. ว่าประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกล่าวว่า จำเลยได้ยิน ข่าวเล่าลือว่า ส. กับโจทก์เดิน ด้วยกันนอกโรงเรียนและมีความสัมพันธ์ถึงขั้นได้เสียกับโจทก์นั้น เป็นการกล่าวในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวม และเป็นการกล่าวไปตามข่าวลือ ไม่ยืนยันว่าเป็นความจริง และไม่ตั้งใจให้ผู้ฟังเชื่อ ว่าโจทก์มีพฤติกรรมตามข่าวลือนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3247/2516 โจทก์ที่ 1 เป็นหนี้จำเลยที่ 1, 2 อยู่ ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้ซึ่งจำเลยที่ 1, 2 จะต้องเตือนให้โจทก์ที่ 1 ชำระก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคแรก จึงจะมีสิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ได้ โจทก์ที่ 1 ไปทำงานที่อื่น จำเลยที่ 1, 2ไม่มีโอกาสเตือนให้ชำระหนี้ได้ เมื่อไปทวงหนี้จากโจทก์ที่ 2ซึ่งเป็นภริยาโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ก็ไม่ยอมชำระ เมื่อมีหนังสือเตือนให้โจทก์ที่ 1 ชำระโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ไม่มีผู้ใดรับจำเลยที่ 2 ไปทวงหนี้จากโจทก์ที่ 2 อีก และบอกว่าหากไม่ชำระให้จะเอาประกาศปิดให้เสียชื่อเสียง โจทก์ที่ 2 กลัว จึงรับปากว่าจะชำระ แต่แล้วก็ไม่ชำระให้ จำเลยที่ 1, 2 จึงมอบให้จำเลยที่ 3ผู้เป็นทนายความทำประกาศบอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ชำระหนี้แล้วให้จำเลยที่ 4 นำไปให้ตำรวจปิดในที่เปิดเผย 3 แห่งการที่จำเลยที่ 2 บอกโจทก์ที่ 2 ว่าหากไม่ชำระหนี้จะปิดประกาศทวงหนี้ก็ได้ การทำประกาศบอกกล่าวให้ชำระหนี้ไปปิดไว้ก็ดีเป็นการเตือนให้โจทก์ที่ 1 ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 204 วรรคแรก ทั้งข้อความก็ตรงกับความจริงไม่มีข้อความอันเป็นการใส่ความ หรือดูหมิ่นโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 309,326, 328, 337, 338, 392, 393 ดังที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1739/2523 เดิมห้างโจทก์กับบริษัทจำเลยที่ 1 ติดต่อค้าขายกันมาหลายปีโดยโจทก์ซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์เลิกซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 และยังค้างชำระค่าสินค้าจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 1 ได้ทวงถามโจทก์ให้ชำระหนี้หลายครั้งแล้ว โจทก์ไม่ชำระ จึงได้มีประกาศโฆษณาลงในหนังสือพิมพ์ข้อความว่า ให้โจทก์จัดการชำระหนี้ที่ค้างจำเลยที่ 1 ภายใน7 วันมิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมาย ดังนี้ แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และส่วนตัว เป็นผู้จัดให้มีการประกาศข้อความดังกล่าวก็ตามข้อความที่ประกาศนั้นก็เป็นเรื่องคำเตือนให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย ทั้งข้อความที่ประกาศก็ไม่มีข้อความใดที่เป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3963/2529 จำเลยในฐานะคู่ความคดีอื่นได้ยื่นคำร้องอันเป็นมูลให้ถูกฟ้องคดีนี้ ไว้ในคดีนั้น แม้จะมีถ้อยคำกล่าวพาดพิงถึงโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดี แต่ก็เป็นข้อความที่จำเลยยื่นต่อศาลเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331 จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3017/2531 จำเลยให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนเนื่องจากถูกเรียกไปให้ถ้อยคำในฐานะเป็นพยานในกรณีที่ ส. ผู้บังคับบัญชาจำเลยถูกกล่าวหาว่าปกิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของ ส. จำเลยกล่าวถ้อยคำเพื่อประโยชน์แก่ราชการอันเป็นส่วนรวมและมีมูลความจริง แม้ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจะพาดพิงไปถึงโจทก์ ก็เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2818/2531 การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเป็นเจ้าพนักงานในเทศบาลผู้หนึ่งได้กล่าวอภิปรายในที่ประชุมสมาชิกสภาเทศบาลนั้นมิใช่เป็นการกระทำในหน้าที่ราชการของนายกเทศมนตรี และถ้อยคำที่จำเลยกล่าวก็เป็นการกล่าวติชมด้วยความเป็นธรรมในฐานะที่จำเลยเป็นผู้เสนอญัตติ และเพื่อให้สมาชิกสภาเทศบาลรับทราบเรื่องที่จำเลยได้เสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 91/2503 การที่จำเลยแจ้งความว่าโจทก์ได้สมคบกับพวกจ้างคนให้ไปยิงจำเลยเป็นการที่จำเลยกระทำตามกฎหมาย เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนจับกุมโจทก์กับพวกมาดำเนินคดีและเพื่อขอให้ตำรวจช่วยคุ้มครองความปลอดภัยแก่ตัวจำเลยเองด้วย

และแม้ว่าจำเลยจะไปเล่าให้คนอื่นฟังเพื่อให้ช่วยสอบถามโจทก์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ทั้งๆที่ได้แจ้งความไว้แล้วก็เป็นเรื่องที่จำเลยมีความชอบธรรมที่จะแสวงหาพยานหลักฐานมาฟ้องร้องโจทก์ได้ จำเลยมิได้มีเจตนาใส่ความโจทก์เพื่อให้เสียชื่อเสียงการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4111/2532 ทนายความของคู่ความได้ทำคำแถลงการณ์ปิดคดียื่นต่อศาลอันเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนโดยมิได้มุ่งประสงค์ที่จะหมิ่นประมาทบุคคลอื่น จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 331 ฟ้องโจทก์หยิบยกเพียงแต่ข้อความส่วนน้อยในคำแถลงการณ์ของจำเลยมาแสดงเพื่อให้เห็นว่าเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์โดยมิได้บรรยายให้เห็นอย่างละเอียดว่า คำแถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อความอย่างไรบ้าง ทั้งมิได้แนบสำเนาคำแถลงการณ์ของจำเลยมาท้ายฟ้องด้วย เช่นนี้ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2536 จำเลยบรรยายฟ้องในคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยขอให้เพิกถอนโจทก์จากการเป็นผู้อนุบาลของ จ. และตั้งจำเลยเป็นผู้อนุบาลแทนว่าโจทก์เล่นการพนัน ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้อนุบาลจ. แม้ในคดีดังกล่าวศาลจะมิได้ตั้งประเด็นเรื่องคุณสมบัติของโจทก์ไว้โดยตรง แต่ก็มีข้อที่จะต้องพิจารณาว่าโจทก์หรือจำเลยควรจะเป็นผู้อนุบาลของ จ. การที่จำเลยเบิกความว่า บ้านของโจทก์ตั้งเป็นบ่อนการพนันก็เพื่อสนับสนุนคดีของจำเลยในข้อที่ว่าจำเลยเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นผู้อนุบาลของ จ. ส่วนโจทก์ไม่เหมาะสม ถือได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2515 คำร้องคัดค้านที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนั้น แม้ว่าผู้พิพากษาจะเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ หากจะฟังว่าตามคำร้องคัดค้านนั้นเป็นเท็จก็ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดและจะนำมาตรา 137 ประมวลกฎหมายอาญามาบังคับไม่ได้และเมื่อการยื่นคำร้องคัดค้านดังกล่าว เป็นการแสดงข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของจำเลยแม้ข้อความนั้นจะเป็นหมิ่นประมาทโจทก์ กรณีก็ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331 จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์


ขาดอายุความแล้ว 

ข้อกฎหมาย

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 96 ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 333  “ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย”

คำอธิบาย

คดีหมิ่นประมาททุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทธรรมดา หรือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หมิ่นประมาทผู้ตาย ล้วนแต่เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ 

ดังนั้นผู้เสียหายจึงจะต้องแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องร้องดำเนินคดีภายใน 3 เดือนนับจากวันที่รู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด 

หากผู้เสียหายไม่แจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องร้องดำเนินคดีภายในกำหนดย่อมถือว่าคดีขาดอายุความ

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3870/2562 โจทก์ทราบว่า จำเลยทั้งห้าร้องเรียนโจทก์ว่าทุจริตต่อหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ประกอบกับได้ความจากคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่า เคยเรียกโจทก์และจำเลยทั้งห้ามาพูดคุยไกล่เกลี่ยในปี 2557 เนื่องจากเห็นว่าโจทก์และจำเลยทั้งห้าเป็นเพื่อนร่วมงานกัน จึงเชื่อว่าโจทก์ทราบมูลความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าเป็นจำเลยทั้งห้าตั้งแต่วันที่มีการร้องเรียนในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม ป.อ. มาตรา 326 และ 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่โจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด โดยโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากมีการร้องเรียนแล้วกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกา 2272/2527 การปิดประกาศโฆษณาหมิ่นประมาทนั้น เป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะมีการปลดป้ายประกาศออกไป ซึ่งถือได้ว่าการกระทำอันเป็นมูลแห่งความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ยุติลง อายุความย่อมจะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการปลดป้ายประกาศออก ดังนั้นแม้จำเลยติดป้ายประกาศหมิ่นประมาทโจทก์ก่อนวันที่โจทก์ไปร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเกิน 3 เดือนแต่เมื่อโจทก์ร้องทุกข์และฟ้องคดีไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันปลดป้ายประกาศโฆษณาหมิ่นประมาทออกคดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10111/2532 อายุความในการร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ กฎหมายหาได้บัญญัติให้นับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดไม่จำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2528 และต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2528หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ ต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 13 เมษายน 2528 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินสามเดือนแต่ยังอยู่ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 95 คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่4311/2548 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272, 326 และ 328 ต่างเป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเสียภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตามมาตรา 96 โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 แต่ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2545 เกินกว่า 3 เดือน โดยมิได้ร้องทุกข์ไว้ก่อน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แม้โจทก์จะเคยฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดธัญบุรีภายในอายุความ แต่ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลจังหวัดธัญบุรีจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีเกินกำหนดอายุความตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2530 หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าจำเลยให้สัมภาษณ์โดยมีข้อความซึ่งอ่านแล้วรู้ได้ทันทีว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ ถือได้แล้วว่า โจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่โจทก์ได้อ่านข่าวตามหนังสือพิมพ์นั้น ไม่จำต้องรอแสวงหาหลักฐานเพื่อฟ้องคดีหรือสืบสวนจนเป็นที่แน่ใจโจทก์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดก่อนจึงจะร้องทุกข์ดำเนินคดี เมื่อโจทก์ไม่ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2552 ผู้อำนวยการกองการศึกษาอาชีพมีหนังสือถึงโจทก์ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมกับแนบหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของจำเลยที่ 2 อันมีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ไปให้โจทก์ทราบด้วย หนังสือดังกล่าวได้ส่งถึงวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับหนังสือไว้แทนโจทก์ และได้ทำบันทึกนำเสนอโจทก์พร้อมลงวันที่กำกับในวันเดียวกัน โจทก์ไม่นำสืบว่าวันนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับหนังสือตามที่เจ้าหน้าที่เสนอ และไม่นำสืบว่าเหตุใดจึงเพิ่งเกษียณส่งหนังสือในวันที่ 2 มีนาคม 2542 แม้โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบและสั่งการให้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 2 มีนาคม 2542 ก็เป็นวิธีการดำเนินการตามระบบราชการเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 และโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันเดียวกัน คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์และฟ้องคดีนี้ภายใน 3 เดือน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96


สรุป

ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นกฎหมายที่เหมือนจะง่าย และได้พบเจอและใช้อยู่เป็นประจำ แต่ความจริงแล้วข้อกฎหมายเรื่องหมิ่นประมาทมีความละเอียดลึกซึ้ง มีหลักและข้อยกเว้นที่จะต้องทำความเข้าใจเป็นจำนวนมาก 

ดังนั้นในการฟ้องหรือต่อสู้คดีหมิ่นประมาท ตัวความหรือทนายความจะต้องทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ องค์ประกอบการกระทำความผิด ข้อยกเว้นความผิด ข้อยกเว้นโทษ รวมถึงประเด็นข้อต่อสู้ตามกฎหมายให้ละเอียด 

การฟ้องร้องดำเนินคดีและการต่อสู้คดี จึงจะมีประสิทธิภาพที่สุดครับ 

ตำราอ้างอิงประกอบการเขียนบทความ 

  • กฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 2 และภาค 3 จิตติ ติงศภัทิย์
  • กฎหมายอาญา ภาค 2-3 ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย
  • คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคความผิดและลหุโทษ ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์
  • คำอธิบายกำหมายอาญา ภาคความผิด ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ. นคร

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น