บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

รู้หรือไม่ ? บังคับให้ลูกหนี้ออกเช็คชำระหนี้ อาจมีความผิดอาญาตามกฎหมาย

cnkรู้หรือไม่ ? บังคับให้ลูกหนี้ออกเช็คชำระหนี้ อาจมีความผิดอาญาตามกฎหมาย

เช็คเป็นตราสารประเภทหนึ่งที่สามารถใช้ชำหนี้แทนเงินสด ผู้ที่ได้รับเช็คหรือที่เรียกว่าผู้ทรงเช็คจะสามารถนำเช็คไปขึ้นเงินต่อธนาคารตามวันที่ที่ปรากฏในเช็คได้ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเมื่อระบบการใช้เช็คได้แพร่หลายในประเทศไทย และยังไม่มีกฎหมายควบคุมการสั่งจ่ายเช็ค บรรดาลูกหนี้จำนวนมากก็สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้โดยที่รู้อยู่แล้วว่าเช็คนั้นไม่สามารถขึ้นเงินได้ เพราะตัวเองไม่มีเงินในบัญชีธนาคารเพียงพอที่จะชำระหนี้ ทำให้ปรากฏว่ามีเช็คเด้งเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ตราสารประเภทเช็คไม่เป็นที่เชื่อถือในวงการค้า ดังนั้นรัฐจึงต้องออกกฎหมายมาควบคุมการสั่งจ่ายเช็คโดยกำหนดว่า ผู้ที่ออกเช็คเพื่อชำระหนี้โดยที่รู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีเงินในบัญชีพอที่จะชำระในเช็คได้นั้น จะมีความผิดอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี (พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 4 )

ปรากฏว่าหลังจากที่มีกฎหมายดังกล่าวออกมาควบคุมการสั่งจ่ายเช็ค ก็มีเจ้าหนี้ที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ใช้เช็คเป็นเครื่องต่อรองให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ด้วยวิธีการจูงใจหรือบังคับลูกหนี้ โดยอาศัยอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า  บีบบังคับลูกหนี้จำใจออกเช็คเพื่อเป็นประกันหนี้  เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด ก็จะนำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินต่อธนาคาร ซึ่งเช็คย่อมไม่สามารถขึ้นเงินได้ จากนั้นก็จะดำเนินคดีอาญาเอาแก่ลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้ก็ต้องขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้ให้ได้ เพราะหากไม่ชำระก็จะมีโทษถึงจำคุก ซึ่งด้วยปัญหาการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายบีบบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าว  รัฐจึงได้ออกกฎหมายมาเพื่อคุ้มครองลูกหนี้ คือ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้บัญญัติข้อกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตามมาตรา 13 อนุมาตรา 2 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยได้วางหลักไว้ว่า “ห้ามผู้ทวงหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมดังต่อไปนี้ (2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ “ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมาตราดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทตามมาตรา 39

ทั้งนี้การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มาตรา 13 อนุมาตรา 2 จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้

  1. ผู้กระทำผิดต้องมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งมีฐานะเป็น “ผู้ทวงถามหนี้” ตาม พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ 2558  ซึ่งได้แก่ เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค  ผู้จัดให้มีการเล่นพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการเล่นพนัน และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย”  ซึ่งหากเป็นเจ้าหนี้ประเภทอื่นซึ่งไม่อยู่ในฐานะเป็น “ผู้ทวงถามหนี้” ตาม พ.ร.บ. ทวงหนี้ย่อมไม่มีความผิดตามมาตราดังกล่าวแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ไม่ได้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินเป็นอาชีพ และมีนาย ข. ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาขอยืมเงิน นายก.จึงได้ให้ยืมไปและพร้อมกันนี้นายก.ได้จูงใจให้นาย ข. ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ เงินกู้ดังกล่าว โดยนาย ก.รู้อยู่แล้วว่านาย ข. ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ภายในกำหนดได้ ดังนี้ ถึงแม้นาย ก. จะรู้อยู่แล้วว่า เช็คของ นาย ข. จะไม่สามารถขึ้นเงินได้อย่างแน่นอน นาย ก. ก็ไม่มีความผิด ตาม พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ เพราะ นาย ก. ไม่มีฐานะเป็นบุคคลซึ่งถือเป็น “ผู้ทวงหนี้” ตามกฎหมาย เพราะไม่ได้ประกอบกิจการให้กู้ยืมเป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระ
  2. เป็นผู้ทำการเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค ทั้งนี้การเสนอหรือจูงใจอาจกระทำโดยอาศัยอำนาจอิทธิพล อำนาจหน้าที่ อำนาจทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า หรือด้วยการหว่านล้อมด้วยวิธีการต่างๆก็ได้ แต่หากลูกหนี้เป็นผู้เสนอที่จะออกเช็คนั้นเอง ถึงแม้เจ้าหนี้จะรู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ และรับเช็คนั้นไว้ เจ้าหนี้ก็ไม่มีความผิดแต่อย่างใด
  3. รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่จะไม่สามารถชำระหนี้ตามเช็คได้ หรือพูดง่ายๆก็คือรู้อยู่แล้วเช็คนั้นจะไม่สามารถขึ้นเงินได้ ซึ่งพฤติการณ์อย่างไรจึงจะถือว่าเจ้าหนี้รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่อาจชำระหนี้ได้นั้น จะต้องอาศัยข้อเท็จจริงต่างๆระหว่างเจ้าหนี้และลูกลูกหนี้จะชี้ให้เห็นว่า เจ้าหนี้สามารถหยั่งรู้หรือคำนวณฐานะการเงินของลูกหนี้ได้หรือไม่ประกอบการพิจารณาตัวอย่างเช่น

3.1 มีการออกเช็คใบใหม่เพื่อเปลี่ยนกับเช็คใบเดิมหลายครั้ง เพราะหากพฤติการณ์ปรากฏว่า ลูกหนี้เคยออกเช็คชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระหนี้ตามเช็ค เจ้าหนี้ไม่นำเช็คไปขึ้นเงินต่อธนาคาร กลับให้ลูกหนี้เปลี่ยนเช็คใบใหม่ และลงวันที่ที่ถึงกำหนดชำระหนี้ใหม่ เป็นจำนวนหลายครั้ง ก่อนที่จะนำเช็คใบสุดท้ายไปขึ้นเงิน เช่นนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า เจ้าหนี้ทราบถึงฐานะทางการเงินของผู้สั่งจ่ายเช็คเป็นอย่างดีว่า ผู้สั่งจ่ายเช็คไม่สามารถที่จะชำระเงินภายในกำหนดได้

3.2 เจ้าหนี้และลูกหนี้ทำการค้าหรือธุรกิจกันมาเป็นเวลานาน หรือรู้จักฐานะทางการเงินกันเป็นอย่างดี และจำนวนเงินที่ปรากฏในเช็คนั้น มีจำนวนสูงมาก หรือมีจำนวนสูงเกินกว่าฐานะทางการเงินที่ลูกหนี้จะสามารถขวนขวายหามาชำระหนี้ได้ภายในกำหนดตามเช็ค

3.3 ลูกหนี้ไม่มีเช็คที่จะออกให้แก่ลูกหนี้ได้ เจ้าหนี้ก็พาลูกหนี้ไปเปิดบัญชีธนาคารและทำเรื่องขอเช็คจากธนาคาร เพื่อให้ลูกหนี้ออกเช็คให้แก่ตนโดยเฉพาะ

ซึ่งพฤติการณ์ต่างๆดังกล่าวข้างต้นเหล่านี้ ย่อมบ่งชี้ว่าเจ้าหนี้รู้อยู่แล้วว่า เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาในเช็ค ลูกหนี้ย่อมไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ก็ยังจูงใจหรือบังคับให้ลูกหนี้ออกเช็คให้แก่ตน เพื่อใช้คดีอาญาบีบบังคับให้ลูกหนี้ทำทุกวิถีทางที่จะขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้ให้แก่ตน

กล่าวโดยสรุปแล้ว ตามหลักกฎหมายทวงหนี้ฉบับใหม่ คือ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 การที่เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้ออกเช็คเพื่อค้ำประกันหนี้หรือเพื่อชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าก่อนหนี้จะถึงกำหนดนั้น ยังคงสามารถกระทำได้อยู่ มิใช่จะถือว่าเป็นความผิดอาญาเสมอไป ยกเว้นแต่เจ้าหนี้นั้นมีฐานะเป็น “ผู้ทวงถามหนี้” ตามกฎหมาย และเจ้าหนี้ได้รู้ถึงฐานะทางการเงินของลูกหนี้ดีอยู่แล้วว่า เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้ย่อมไม่สามารถชำระหนี้ได้อย่างแน่นอน แต่ก็ยังบังคับให้ลูกหนี้ออกเช็คชำระหนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะใช้เช็คนั้นดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น