ตัวอย่างการต่อสู้คดีแพ่งวันนี้ เป็นคดีของศาลแรงงาน เรื่อง เลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยคดีนี้ผมรับหน้าที่เป็นทนายความจำเลย ของบริษัทผลิตสีชื่อดังแห่งหนึ่ง
รายละเอียดในคดีเป็นอย่างไรติดตามรับชมได้เลย
สาเหตุแห่งการฟ้องร้องดำเนินคดี
จำเลยเป็นบริษัทผลิตสีชื่อดังของประเทศไทย แต่ดเดิมมีโรงงานการผลิตอยู่ที่จังหวัดนครปฐม
แต่เดิมตอนตั้งโรงงานเมื่อหลายสิบปีที่แล้วนั้นบริเวณดังกล่าวก็ยังเป็นสถานที่โล่งไม่มีชุมชนมากนัก เหมาะแก่การประกอบกิจการ
เวลาผ่านมาประมาณ 30 -40 ปี สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป เพราะปรากฎว่าเกิดชุมชนขึ้นล้อมรอบโรงงาน ทำให้การขยายกิจการ และขยายโรงงานเป็นไปได้ลำบาก
ประกอบกับสถานการณ์ของเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทางจำเลยมีความจำเป็นจะต้องสั่งเครื่องจักรและขยายโรงงาน เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันทางตลาดที่รุนแรงขึ้นทุกวัน
แต่บริเวณโรงงานเดิมไม่สามารถขยายต่อได้แล้ว สถานที่เดิมจึงไม่เหมาะอีกต่อไป
จำเลยจึงมีความประสงค์จะย้ายโรงงานไปยังสถานที่ที่เหมาะสม ก็คือที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมต่างๆอยู่เป็นจำนวนมาก มีสิทธิประโยชน์และความเหมาะสมในการสร้างโรงงานมากที่สุด
อย่างไรก็ตามในการย้ายโรงงานดังกล่าว จำเลยเข้าใจดีว่าจะส่งผลกระทบต่อพนักงานทุกคน โดยเฉพาะคนที่ทำงานมานาน จำเลยจึงได้เสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับพนักงานอย่างดีที่สุด
โดยพนักงานที่สมัครใจย้ายไปทำงานที่สถานที่ทำงานใหม่ จำเลยก็จะให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้เป็นจำนวนมาก
ส่วนพนักงานที่ไม่สมัครใจย้ายไปที่ทำงานแห่งใหม่ จำเลยก็จะจ่ายเงินชดเชยและเงินอื่นๆตามกฎหมายทั้งหมด นอกจากนี้ยังบวกเงินพิเศษนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสินน้ำใจแก่พนักงานอีกด้วย
โจทก์ไม่ประสงค์จะย้ายไปทำงานกับจำเลย จำเลยจึงได้เลิกจ้างโจทก์พร้อมกับจ่ายเงินค่าชดเชย เงินอื่นๆตามที่กฎหมาย รวมทั้งเงินพิเศษที่เป็นค่าน้ำใจอีกประมาณ 1 แสนบาทนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดให้จ่าย
รวมเป็นเงินที่โจทก์ได้ไปแล้วประมาณ 500,000 บาท แต่โจทก์ก็ยังไม่พอใจและได้มายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
คำฟ้องของโจทก์
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหาเรื่องเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ทำงานมาเป็นเวลานานถึง ประมาณ 26 ปีมีเงินเดือนเดือนสุดท้ายประมาณ 40,0000 บาท
จำเลยปิดบริษัทและยุบหน่วยงานของโจทก์เลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงขอเรียกเงินทดแทนจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นจำนวน 9,000,000 บาท
โดยสาเหตุที่เรียกเงินจำนวนดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ได้ทำงานมาเป็นเวลานาน จำเลยยังสามารถว่าจ้างโจทก์ต่อได้แต่ไม่ยอมทำการว่าจ้าง เป็นการผิดสัญญาและเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้มีงานทำและหางานใหม่ยากแล้ว เพราะมีอายุมาก
สำเนาคำฟ้องของโจทก์
ข้อกฎหมายในคดี เลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ตัวบทกฎหมาย
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติ ว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ ศาลคำนึงถึงอายุของ ลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อ ถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา”
คำอธิบาย
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หมายความถึงการที่นายจ้างเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ใช่สาเหตุทั่วไปหรือสาเหตุปกติ ตามธรรมดาของการประกอบธุรกิจ แต่มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติ
- การเลิกจ้างตามสาเหตุปกติ เช่น การเลิกจ้างเนื่องจากโรงงานประสบภาวะขาดทุน เลิกจ้างเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ เลิกจ้างเนื่องจากมีการยุบหน่วยงานบางสาขา ทำให้ไม่มีความจำเป็นจะต้องจ้างพนักงานคนนั้นอีกต่อไป เป็นต้น
- ส่วนการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เช่น การที่เลิกจ้างพนักงานทั้งทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิดอะไรแต่กลั่นแกล้งกันในเรื่องส่วนตัว การกลั่นแกล้งกล่าวหากันในเรื่องที่ไม่เป็นความจริงเพื่อให้ถูกเลิกจ้าง เป็นต้น
ซึ่งตามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้การเลิกจ้างของจำเลยนั้น เป็นการเลิกจ้างเนื่องจากมีความจำเป็นในด้านธุรกิจ ที่จะต้องย้ายสถานประกอบการไปที่จังหวัดชลบุรีเพื่อรองรับการขยายโรงงาน และมีความจำเป็นจะต้องทำเพื่อแข่งขันกันกับคู่แข่ง
ประกอบกับจำเลยเองก็ไม่ได้อยากจะเลิกจ้างโจทก์ได้เสนอเงื่อนไขต่างๆพร้อมทั้งประโยชน์ต่างๆให้โจทก์ เพื่อให้โจทก์ย้ายมาทำงานด้วยกันแล้ว แต่โจทก์ไม่ประสงค์จะย้ายมาเอง การเลิกจ้างของจำเลยจึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
คำพิพากษาฎีกา 4291- 4295/2528 การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้นต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นประการสำคัญ แม้การเลิกจ้างนั้นจะเป็นเหตุให้ผู้ถูกเลิกจ้างเดือดร้อน แต่เป็นความจำเป็นทางด้านนายจ้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้กิจการยังคงดำรงอยู่ต่อไปโดยหวังว่ากิจการจะมีโอกาสกลับฟื้นตัวได้ใหม่ อันจะเป็นประโยชน์แก่นายจ้างเอง และเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างส่วนใหญ่ ย่อมเป็นสาเหตุที่จำเป็นแก่การเลิกจ้างแล้ว แม้จำเลยมิได้ยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงานอยู่ ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1353/2542 หลักเกณฑ์การพิจารณาเรื่องการเลิกจ้าง ที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ศาลจำต้องพิจารณาว่ามีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ และสาเหตุดังกล่าวมีเหตุเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่ เป็นสำคัญ แม้การเลิกจ้างนั้นจะเป็นเหตุให้ลูกจ้างเดือดร้อน ก็ตาม แต่หากเป็นความจำเป็นทางด้านนายจ้าง ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้กิจการของนายจ้าง ยังคงดำรงอยู่ต่อไป โดยหวังว่ากิจการของนายจ้างจะมีโอกาสกลับฟื้นคืนตัวได้ใหม่ ย่อมเป็นสาเหตุที่จำเป็นและเพียงพอแก่การเลิกจ้างแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งแตกต่างจากหลักเกณฑ์เรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 123 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยประสบภาวะเศรษฐกิจลูกค้าของจำเลยลดการสั่งซื้อสินค้าทำให้การผลิตลดลงเป็นเหตุให้จำเลยต้องลดอัตรากำลังคนให้พอเหมาะแก่ปริมาณงานที่แท้จริง ทั้งก่อนจำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยก็ได้คัดเลือกโจทก์ออกจากงานตามหลักเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับโดยไม่เลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งโจทก์การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์กับลูกจ้างคนอื่น ๆ เพื่อต้องการพยุงกิจการของจำเลยให้อยู่รอดต่อไปได้ เช่นนี้จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีสาเหตุอันจำเป็นและเพียงพอแก่การเลิกจ้างแล้ว กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
คำให้การของจำเลย
จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว ผมได้จัดทำคำให้การต่อสู้คดีนี้ไป มีเนื้อหาดังนี้
คำให้การ
ข้อ1 จำเลยรับข้อเท็จจริงตามฟ้องข้อ 1-2
ข้อ 2. จำเลยยอมรับว่าได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 จริง ซึ่งการเลิกจ้างดังกล่าวไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง เพราะสาเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เกิดจากการที่จำเลยมีความจำเป็นจะต้องปิดโรงงานผลิตสินค้าและกิจการที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐมและกรุงเทพบางส่วน
สาเหตุเนื่องจากบริษัทในเครือของจำเลย คือบริษัท อ.จำกัดได้ลงทุนสร้างโรงงานใหม่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยใช้เทคโนโยลีแบบใหม่ในการผลิตสินค้า เพื่อรองรับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นและใน
โดยการนี้จำเลยจะทำการปิดบริษัทจำเลย และปิดโรงงานผลิตแห่งเดิมที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เพื่อย้ายฐานการผลิตไปยังโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดชลบุรีเพียงแห่งเดียว
และจำเลยจะทำการโอนย้ายพนักงานทั้งหมดของบริษัทจำเลย ไปทำงานยัง บริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ณ. โรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดชลบุรี
ในการย้ายฐานการผลิตไปยัง โรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดชลบุรี นั้นจำเลยได้เห็นคุณค่าของพนักงานทุกคนเนื่องจากทุกคนได้ทำงานให้บริษัทมาเป็นเวลานาน และมีความรู้ความเข้าใจงานเป็นอย่างดี จำเลยไม่ต้องการเลิกจ้างพนักงานคนใดแม้แต่คนเดียว
จำเลยจึงได้ให้สิทธิพนักงานของจำเลยทุกคนในการโอนย้ายไปทำงานที่ โรงงานผลิตแห่งใหม่ที่จังหวัดชลบุรี กับบริษัท บริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือจำเลย ซึ่งรวมทั้งตัวโจทก์ด้วย และจำเลยยังได้เสนอให้สวัสดิการที่ดีเป็นอย่างมาก แก่พนักงานที่จะย้ายไปทำงานยังที่ทำงานใหม่ทุกคน
ซึ่งรวมถึงตัวโจทก์ ก็ได้รับการเสนอสวัสดิการดังกล่าว เช่นเดียวกับพนักงานทุกคนๆ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
โดยสวัสดิการที่จำเลยได้เสนอให้กับพนักงานทุกคนๆ รวมทั้งตัวโจทก์ ที่มีความประสงค์จะย้ายไปทำงานยัง บริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือจำเลย ที่โรงงานใหม่ที่จังหวัดชลบุรี ได้แก่
1.นับอายุงานต่อจากอายุงานเดิมที่เคยทำงานกับจำเลย
2.สิทธิในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสิทธิประโยชน์ทุกประการเช่น โบนัส ค่าล่วงเวลา และสิทธิอื่นๆ เหมือนเดิมกับที่พนักงานเคยทำงานกับจำเลย
3.อาหารกลางวัน
4.บริการรถรับส่งไปยังที่ทำงานแห่งใหม่
5.ค่าเช่าบ้าน 2,000-5,000 บาทต่อเดือน
6.ค่าขนย้าย 30,000 บาท
7.ช่วยเหลือค่าเดินทางเดือนละ 1,000บาท เป็นเวลาสองปี
8.เงินช่วยเหลือพิเศษในการย้ายสถานที่ทำการใหม่ โดยจะจ่ายตามระยะเวลาการทำงานของพนักงานแต่ละคน ซึ่งสำหรับตัวโจทก์ซึ่งทำงานมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษในการย้ายสถานที่ทำงานใหม่เป็นจำนวน 10 เท่าของเงินเดือน หรือเป็นเงินประมาณ 425,200 บาท
รายละเอียดปรากฎตามประกาศเรื่องผลประโยชน์ของพนักงานในการย้ายสถานที่ทำงาน เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 ซึ่งคำแปลภาษาไทยจำเลยจะอ้างส่งในชั้นพิจารณาต่อไป
ข้อ 3. ซึ่งจำเลยได้แจ้งกับโจทก์ทราบล่วงหน้าแล้ว ในการประชุมพนักงานตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2558 ว่าทางจำเลยมีความจำเป็นต้องปิดโรงงานและกิจการที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมลง และมีความจำเป็นต้องย้ายโรงงานไปอยู่ที่จังหวัดชลบุรี
และเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 จำเลยได้เสนอให้โจทก์ย้ายมาทำงานที่โรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดชลบุรี พร้อมทั้งเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆดังกล่าวในข้อ 2. ให้กับโจทก์ แต่โจทก์ปฏิเสธไม่ตกลงและไม่ยอมรับที่จะย้ายไปทำงานยังสถานที่ทำงานแห่งใหม่
และโจทก์เองก็เซ็นรับทราบว่า โจทก์ทราบดีว่าจำเลยไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องเลิกจ้างโจทก์ รายละเอียดปรากฎตามหนังสือแสดงความประสงค์ย้ายสถานที่ทำงานเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2
ข้อ 4. เมื่อจำเลยมีความจำเป็นทางธุรกิจที่จะต้องปิดบริษัท และปิดโรงงานของจำเลย ที่จังหวัดนครปฐม และโอนย้ายพนักงานทั้งหมดไปยัง บริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลย และจำเลยได้ให้ให้สิทธิแก่โจทก์ในการย้ายไปทำงานยังบริษัทในเครือของจำเลย พร้อมทั้งยังให้สวัสดิการแก่โจทก์ในการย้ายไปทำงานไปยังบริษัทใหม่ ซึ่งสิทธิและสวัสดิการดังกล่าวนั้นเป็นคุณแก่โจทก์อย่างยิ่ง
แต่โจทก์กลับตัดสินใจที่จะไม่มาร่วมงานและไม่มาทำงานที่โรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดชลบุรีกับจำเลย ดังนั้น จำเลยไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากจะต้องเลิกจ้างโจทก์
ซึ่งในการเลิกจ้างโจทก์นั้น จำเลยได้จ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย รวมทั้งเงินพิเศษอื่นๆนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด เช่น เงินรางวัลที่ทำงานมาเป็นเวลานาน25 ปี ให้กับโจทก์ครบถ้วนแล้ว รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 582,913.00 บาท รายละเอียดปรากฎตามใบแจ้งรายได้ เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3
ดังนั้นการเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างเนื่องจากจำเลยมีสาเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และไม่มีทางเลือกอื่นใด และเกิดจากการที่โจทก์เองไม่ยอมรับข้อเสนอและสวัสดิการในการย้ายที่ทำงานใหม่ ทั้งๆที่จำเลยได้เสนอให้โจทก์โอนย้ายไปยังที่ทำงานใหม่และเสนอสวัสดิการที่ดีเป็นอย่างยิ่งในการโอนย้ายงานให้กัลโจทก์
การเลิกจ้างดังกล่าว จำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและขั้นตอนซึ่่งใช้กับพนักงานทุกๆคน มิได้เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ หรือเป็นการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยยังได้จ่ายเงินค่าชดเชยและเงินอื่นๆตามกฎหมายให้กับโจทก์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ได้เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามฟ้อง ดังนั้นจำเลยจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์แต่อย่างใด
ข้อ 5. ค่าเสียหายของโจทก์ตามข้อ 4.1- 4.2 สูงเกินสมควร และไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
ด้วยเหตุดังจำเลยประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ จึงขอศาลที่เคารพโปรดยกฟ้องโจทก์เสียทั้งสิ้น และให้โจทก์ชดใช้ค่าทนายความอย่างสูงแทนจำเลย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ จำเลย
คำให้การฉบับนี้ข้าพเจ้านายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์ ทนายความจำเลยเป็นผู้เรียง/พิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์
การพิจารณา
ความจริงแล้วตามข้อกฎหมาย ที่ผมได้อธิบายอย่างละเอียดแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่าจำเลยไม่จำเป็นจะต้องจ่ายเงินให้กับโจทก์สักบาทเดียว
เนื่องจากจำเลยจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดไปหมดแล้ว นอกนี้ยังจ่ายเงินช่วยเหลือนอกจากที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษอีกแสนกว่าบาท
อย่างไรก็ตามในคดีแพ่งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีแรงงานเช่นนี้ ผมมักจะหาแนวทางที่ทุกฝ่ายสามารถตกลงกันได้ และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย มากกว่าจะไปต่อสู้คดีกันจนถึงที่สุด
ด้วยมนุษยธรรมและความเห็นใจโจทก์ บริษัทจำเลยจึงยอมให้ยอดเงินช่วยเหลือโจทก์ถึง 330,000 บาท
แต่โจทก์ไม่ยินยอมเรียกร้องจะเอาเงินเพิ่มเติมอีก 600,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่จำเลยเสนอไปมาก
คดีจึงตกลงกันไม่ได้และเข้าสู่กระบวนการต่อสู้สืบพยานต่อไป
ผลคำพิพากษา
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหมดโดยศาลชั้นต้นให้เหตุผลว่า
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุจำเลยปิดกิจการที่จังหวัดนครปฐมและกรุงเทพฯบางส่วนส่งผลให้ตำแหน่งของโจทก์ถูกยุบ
โดยสาเหตุที่จะต้องย้ายกิจการเนื่องจากโรงงานที่จังหวัดนครปฐมมีพื้นที่ไม่เพียงพอบริเวณรอบโรงงานมีชุมชนมาล้อมรอบไม่สามารถขยายตัวเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตซึ่งจะต้องมีการแข่งขันทางธุรกิจ
ตอนที่จำเลยจะเลิกจ้างจำเลยได้จัดโครงการสมัครใจลาออกจัดประชุมชี้แจงสิทธิ์ต่างๆในการย้ายงานและลาออกไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือการแก้โจทก์
เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะย้ายไปทำงานในสถานที่ใหม่ตามที่จำเลยเสนอจำเลยเลิกจ้างจึงมีเหตุสมควรไม่ใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
ส่วนศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ ก็วินิจฉัยไปในทำนองเดียวกันโดยวินิจฉัย เพิ่มเติมว่า
การพิจารณาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่ามีเหตุการเลิกจ้างหรือไม่และเหตุดังกล่าวสมควรเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ
และศาลอุทธรณ์ก็วินิจฉัยว่าการเลิกจ้างในคดีนี้มีเหตุสมควรเพียงพอแล้วไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
และปัจจุบันคดีดังกล่าวก็ถึงที่สุดแล้ว
สรุป – อุทาหรณ์
ข้อกฎหมาย
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาความแรงงานมาตรา 49 นั้น จะต้องได้ความว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุ หรือเหตุในการเลิกจ้างไม่เพียงพอหรือเป็นการกลั่นแกล้งเลือกปฏิบัติกัน
หากเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรเพียงพอไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติย่อมไม่ใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
ข้อคิด
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าในการดำเนินคดีนั้นตัวโจทก์หรือทนายความโจทก์ควรจะต้องรู้จักการผ่อนหนักผ่อนเบารู้ว่ารูปคดีของตนเองได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร และจะต้องรู้จักพอเมื่อควรจะพอ
ความจริงแล้วคดีนี้ทางฝ่ายจำเลยได้เสนอเงินให้กับโจทก์เป็นเงินสูงถึง 330,000 บาทจ่ายก้อนเดียว
หากโจทก์พิจารณาสักนิดและเชื่อฟังตามที่ทนายความบอกแนะนำว่ารูปคดีไม่มีทางต่อสู้ได้และยอมรับเงินไปก็จะเป็นประโยชน์กับโจทก์มากกว่า
แต่ปรากฏว่าโจทก์ไม่ยอมและจะเอาจำนวนเงินตามที่ตนเองประสงค์โดยไม่ได้ดูรูปคดีว่ามีโอกาสแพ้ชนะมากน้อยเพียงใด
สุดท้ายโจทก์ก็ไม่ได้เงินกลับบ้านไปเลยและยังจะต้องเสียเงินค่าทนายความและค่าเสียเวลาต่างๆอีกโดยเปล่าประโยชน์ครับ