บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

ข้อสังเกตในการต่อสู้คดี นำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

ข้อสังเกตในการต่อสู้คดี นำข้อมูลเท็จเข้าสู้ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

รู้หรือไม่ การโพสข้อความด่าผู้อื่นในเฟซบุ๊คหรือเว็บบอร์ด ไม่ผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เสมอไป ?

ทุกวันนี้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องการโพสข้อความต่างๆ อันมีลักษณะเป็นการด่าทอหรือกระทบกระทั่งกันในเฟซบุ๊ค หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่นเว็บบอร์ด หรือแอพพลิเคชั่นไลน์ นั้นเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีคดีทำนองนี้ขึ้นสู่ศาลบ่อยครั้ง ซึ่งผู้เสียหายมักต้องการให้ทนายความหรือพนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับฝ่ายตรงข้ามในความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มากกว่าดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท เพราะคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีอัตราโทษที่สูงกว่าและมีอายุความที่ยาวกว่า ซึ่งความจริงแล้ว การโพสหรือเขียนข้อความด่าทอกันในเฟซบุ๊คหรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆนั้นมิได้ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เสมอไป

ทั้งนี้ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

ซึ่ง คำว่า“ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม” หมายถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีการทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นของผู้อื่น ไม่ใช่ข้อมูลของผู้นำข้อมูลเข้าสู้ระบบคอมพิวเตอร์หรือผู้โพสเอง ตัวอย่างเช่น นาย ก. ทำเฟซบุ๊คปลอมของนาย ข. ขึ้นมาแล้วโพสข้อความต่างๆ เพื่อให้ผู้คนเข้าใจว่านาย ข. เป็นคนโพสข้อความนั้นๆ เช่นนี้ข้อมูลที่นาย ก.โพสในนามของ นาย ข. ย่อมเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีการดัดแปลงแก้ไขข้อมูลบางส่วน เพื่อให้ข้อมูลนั้นผิดไปจากต้นฉบับเดิม เช่น นาย ก. ดัดแปลงข้อความบางส่วนของนาย ข. ที่นายข. ได้โพสไว้ในเฟซบุ๊คของตน โดยทำการบิดเบือนข้อความนั้นๆ แล้วนำข้อความที่ถูกดัดแปลงดังกล่าวไปเผยแพร่ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ว่า นาย ข.เป็นผู้โพสข้อความที่ถูกบิดเบือน เช่นนี้ข้อความที่ถูกบิดเบือนนั้นย่อมเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ส่วนคำว่า“ข้อมูลคอมพิวเตอร์เท็จ” หมายถึง ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ตรงความจริง เช่น ความจริงแล้ว นาง ก. ไม่ได้เป็นชู้กับนาย ข. แต่นาย ค.ไปโพสข้อความว่า นาง ก. เป็นชู้กับนาย ข. ลงในเฟซบุ๊คของตน หรือในเว็บบอร์ด เช่นนี้โพสของนาย ค. ย่อมเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมกับข้อมูลคอมพิวเตอร์เท็จนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ โดยข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมอาจเป็นความจริง และไม่ถือเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เท็จก็ได้ เช่นความจริงแล้ว นาย ก. และนาย ข. เป็นชู้กัน แต่นาย ค. มิได้ทราบเรื่องดังกล่าวแต่อย่างไร ต่อมานาย ง. ได้สร้างเฟซบุ๊คปลอมของ นาย ค. และโพสข้อความว่า นาย ก.และนาย ข. เป็นชู้กัน ในนามของนาย ค. ดังนี้ข้อมูลที่ว่านาย ก.และนาย ข. เป็นชู้กันนั้นย่อมไม่ใช่ข้อมูลเท็จ เพราะถูกต้องกับความจริง แต่ข้อมูลที่โพสนั้นก็ยังถือว่าเป็นข้อมูลปลอม เพราะความจริง นาย ค.มิได้เป็นผู้โพสข้อมูลนั้น ทั้งนี้ในความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ก็เช่นเดียวกับความผิดอาญาทั่วไป ที่ผู้กระทำความผิดจะต้องมี “เจตนา” คือต้องรู้ว่าข้อความนั้นเป็นข้อความเท็จหรือเป็นข้อความปลอมด้วย อีกทั้งการกระทำดังกล่าวจะต้องมีพฤติการณ์ประกอบการกระทำผิดคือ การกระทำดังกล่าวจะต้อง “น่าจะทำให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”

จะเห็นได้ว่า การที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) ได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ ข้อมูลที่ผู้กระทำผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องเป็นข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จ ซึ่งการโพสข้อความในเว็บไซต์ต่างๆ หรือเว็บบอร์ด หรือการส่งข้อความผ่านโปรแกรมไลน์ ถือว่าเป็นวิธีการหนึ่งของการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งการโพสหรือส่งข้อความด่าว่าผู้อื่น ซึ่งจะถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มาตรานี้ ก็จะต้องได้ความว่าข้อความนั้นเป็นข้อความปลอมหรือเท็จ หากข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตราดังกล่าวแต่อย่างใด ถึงแม้ถ้อยคำนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่น หรือการใช้ถ้อยคำจะไม่สุภาพหรือไม่สมควรอย่างไรก็ตาม ซึ่งแตกต่างกับความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เพราะในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ถึงแม้ข้อความที่หมิ่นประมาทเป็นความจริง ผู้กระทำก็ยังมีความผิดอยู่ดี ตามหลักที่ว่า “ยิ่งจริงยิ่งผิด” ดังนั้นการโพสข้อความด่าผู้อื่นในเฟซบุ๊คหรือสื่อออนไลน์ต่างๆนั้นอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ก็ได้

ทั้งนี้ความจริงแล้ววัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) นั้นบัญญัติขึ้นป้องกันการหลอกลวงประชาชนของมิจฉาชีพโดยอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยวิธีนำเข้าสู่ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลปลอม เพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งมอบเงินหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่ตนโดยทุจริต เช่น เช่นมิจฉาชีพประกาศขายสินค้าผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทั้งๆที่ไม่มีสินค้าจริงๆ โดยใช้วิธีหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินแล้วไม่ส่งสินค้าให้ผู้เสียหาย หรือ การปลอมหน้าเว็บไซต์ให้ผู้ใช้เข้าใจผิดเพื่อขโมยข้อมูลของผู้ใช้ หรือที่เรียกว่า Phishing และยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายสำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารในระบบกระดาษและการปลอมแปลงข้อมูลหรือข้อความที่จัดทำขึ้นในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพราะแต่เดิมคำว่า “เอกสาร” ในประมวลกฎหมายอาญามีความหมายเฉพาะกระดาษหรือวัตถุอื่นใดที่มีรูปร่างและจับต้องได้เท่านั้น ยังไม่สามารถตีความให้ครอบคลุมการปลอมแปลงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งโดยรวมแล้ว พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มาตราดังกล่าววัตถุประสงค์ในป้องกันปราบปรามการเผยแพร่โฆษณาหลอกลวงต่างๆผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นต้องการป้องกันประโยชน์สาธารณะ แต่ปรากฎว่าในทางปฎับัติกฎหมายดังกล่าวกลับถูกนำมาปรับใช้กับเรื่องการทะเลาะหรือกระทบกระทั่งกันในสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวและมีกฎหมายโดยเฉพาะรองรับอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ลำพังเพียงการโพสข้อความในเฟซบุ๊คหรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีการอื่นๆ เช่นการโพสข้อความในระบบเว็บบอร์ดต่างๆ หรือส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ โดยใช้ถ้อยคำในลักษณะการด่าทอด้วยคำหยาบหรือถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ใช้ถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม แสดงความอาฆาตมาดร้าย ยังไม่ถือว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด เพราะข้อมูลดังกล่าวถึงแม้จะใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม แต่ข้อมูลดังกล่าวยังมิอาจเรียกได้ว่าเป็น “ข้อมูลเท็จ” เป็นเพียงการด่าทอหรือกระทบกระแทกกันด้วยอารมณ์เท่านั้น ตัวอย่างเช่น นาย ก. โพสข้อความด่า นาย ข. ว่าไอ้สัตว์ ไอ้เหี้ย ไอ้กระจอก ฯลฯ ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แต่อย่างใด เว้นแต่การด่าทอนั้นมีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าไปปะปนอย่างเรื่องเป็นราว เช่น นายก. ด่าว่า นาง ข. ลักลอบเป็น เป็นชู้กับนาย ค. หรือ นาย ก.ด่าว่า นาย ค. โกงเงินนาย ข. ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น เช่นนี้ นาย ก. ย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) ทั้งนี้การโพสข้อความลงในเฟซบุ๊คหรือเว็บบอร์ดต่างๆเพื่อเล่าข้อเท็จจริงต่างๆในลักษณะที่เป็นการเปิดโปงหรือตีแผ่ความจริงเรียกว่าเป็นการ “แฉ” หากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความจริง ผู้โพสย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เช่นกัน ถึงแม้การนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่นก็ตาม

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น