บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ฟ้องร้องต่อสู้คดี แจ้งความเท็จ – แจ้งความเท็จ – ให้การเป็นพยานเท็จ ฉบับสมบูรณ์

ชนะคดีแล้วจะฟ้องกลับฝ่ายตรงข้ามข้อหา แจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ ได้หรือไม่ ? 

แจ้งความ – ฟ้องคดี – เบิกความเป็นพยานที่ศาล แล้วศาลพิพากษาให้ฝ่ายเราแพ้คดี จะถูกฟ้องกลับข้อหา ฟ้องเท็จ แจ้งความเท็จ เบิกความเท็จ หรือไม่ ?

คำถามเหล่านี้ที่เป็นคำถามที่ทนายความจะต้องถูกลูกความถามอยู่เสมอ

และการจะตอบคำถามดังกล่าวได้นั้น มีปัจจัยที่จะต้องพิจารณาปัจจัยประกอบหลายประการ ไม่ใช่คำถามที่เราจะตอบได้ทันที

ในวันนี้ผมจึงจะมาอธิบายถึงเรื่องดังกล่าวโดยละเอียดครับว่า การจะฟ้องกลับหรือถูกฟ้องกลับนั้น มีปัจจัยอะไรที่จะต้องพิจารณาบ้าง 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เมื่อมีคดีเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ย่อมจะต้องเข้าสู่กระบวนการสืบพยาน ให้ศาลเป็นคนตัดสิน 

สุดท้ายแล้ว ย่อมมีทั้งผู้แพ้คดี และผู้ชนะคดี  ซึ่งฝ่ายที่แพ้คดี  และพยานบุคคลฝ่ายที่แพ้คดี ไม่ใช่ว่าจะมีความผิดฐาน ฟ้องเท็จ แจ้งความเท็จ หรือ เบิกความเท็จ เสมอไป

ในทำนองเดียวกัน หากท่านเป็นฝ่ายชนะคดี ไม่ใช่ว่าท่านจะสามารถฟ้องกลับฝ่ายตรงข้าม หรือพยานฝ่ายตรงข้ามได้ทุกคดี 

แต่การพิจารณาว่าจะฟ้องกลับได้หรือไม่หรือจะถูกฟ้องกลับหรือไม่นั้น จะต้องดูพฤติการณ์แห่งคดีโดยรวมประกอบกัน 

ซึ่งวันนี้ผมรวบรวมประเด็นที่ต้องพิจารณา ในคดีความผิดฐาน แจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ และ เบิกความเท็จ  เพื่อที่ท่านจะได้เข้าใจและเป็นหลักในการพิจารณา ในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีครับ

ประเด็นแรก ไม่รู้ว่าเป็นความเท็จ

1. “ ไม่รู้ว่าเป็นความเท็จ “

ในการแจ้งข้อเท็จจริงต่อเจ้าพนักงานก็ดี การบรรยายฟ้องคดีอาญาก็ดี หรือการเบิกความในชั้นพิจารณาของพยานหรือตัวคู่ความเองก็ดี 

ถ้าปรากฎว่าบุคคลดังกล่าว ไม่รู้ว่าข้อความพิพาทที่ตนเองบรรยายในคำฟ้อง หรือเบิกความ หรือที่แจ้งความต่อเจ้าพนักงาน นั้นเป็นความเท็จ และได้กระทำการไปโดยเชื่อสุจริตว่าข้อความดังกล่าวเป็นความจริง

 ถึงแม้ภายหลังปรากฎความจริงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความเท็จ ย่อมถือได้ว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีเจตนากระทำผิด และไม่มีความผิดฐาน แจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ หรือ เบิกความเท็จ  ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่อย่างใด

โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ที่วินิจฉัยทำนองนี้  เช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 771 – 777/2515 การเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177แม้จะไม่ได้บัญญัติว่า ผู้เบิกความจะต้องรู้ถึงความจริงเท็จแห่งข้อความที่ตนเบิกนั้นไว้ด้วยก็ตาม แต่การที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ผู้กระทำผิดก็จะต้องกระทำโดยเจตนาคือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่ตนนำมาเบิกความนั้นเป็นเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4162/2536 ความผิดฐานฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175นั้น นอกจากผู้กระทำจะต้องเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่าได้กระทำความผิดอาญาแล้วผู้กระทำจะต้องรู้ว่าความที่นำมาฟ้องนั้นเป็นเท็จ จำเลยทั้งสองร่วมกันฟ้องโจทก์ว่า โจทก์กระทำความผิดอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ใช้ชายหลายคนให้ทุบทำลายผนังตึกกำแพงด้านหลัง อาคาร ของจำเลยทั้งสองเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเข้าใจว่ากำแพงพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่รู้ว่าความที่นำมาฟ้องโจทก์นั้นเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดเจตนาที่จะทำให้เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1032/2534 ความผิดฐานฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175ต้องเป็นกรณีที่จำเลยเอาความเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดทางอาญา และจำเลยต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59โดยต้องรู้ว่าความที่นำมาฟ้องนั้นเป็นเท็จ เมื่อการกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ถอนต้นยูคาลิปตัสของจำเลย จำเลยย่อมไม่รู้ว่าความที่นำมาฟ้องโจทก์ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์นั้นเป็นเท็จการที่จำเลยฟ้องโจทก์โดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นการกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาและไม่มีมูลความผิดฐานฟ้องเท็จและการที่จำเลยฟ้องกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่ดินของจำเลย เมื่อโจทก์ได้เข้าไปในที่ดินของจำเลยจริง ฟ้องดังกล่าวจึงไม่เป็นความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4784/2529 การที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จนั้น ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยมีเจตนา คือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่ตนนำมาเบิกความนั้นเป็นความเท็จ

โจทก์ซึ่งเป็นกำนันท้องที่ใช้รถแทรกเตอร์ขุดดินเพื่อบูรณะหนองน้ำสาธารณะที่ ก.แจ้ง ส.ค.1 ไว้ว่าเป็นของตน การที่จำเลยเบิกความว่าโจทก์บุกรุกที่ดินของ ก. เป็นการเบิกความไปตามหลักฐานการแจ้งการครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จในความผิดฐานบุกรุก ส่วนที่จำเลยเบิกความว่า โจทก์ตัดฟันต้นจากสาคูของ ก. โดยที่โจทก์มิได้ตัดฟันนั้น ย่อมเป็นการเบิกความเท็จในข้อสำคัญในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2512 จำเลยที่ 2 เรียงคำฟ้องและรับว่าความในหน้าที่ของทนายความ.ข้อความที่ปรากฏในคำฟ้องเป็นข้อความที่ได้จากคำบอกเล่าของจำเลยที่ 1(ซึ่งเป็นลูกความ) และจะเป็นความเท็จหรือความจริง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทนายความย่อมไม่มีโอกาสจะทราบได้นอกจากจะปรากฏตามหลักฐานที่นำสืบ. หากในเวลาภายหน้าความปรากฏขึ้นว่า คำฟ้องมีข้อความอันเป็นเท็จ. ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็คือจำเลยที่ 1 หาใช่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแต่ผู้เรียงคำฟ้องตามคำบอกเล่าในหน้าที่ของทนายความไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2560 คดีนี้ เป็นเรื่องแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้กับบุคคลภายนอก โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานว่าตนเองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยขณะนั้นจำเลยมีคดีความถูกฟ้องเรื่องเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว และภายหลังจำเลยถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงพิพาท

ศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด เนื่องจากขณะนั้นจำเลยยังมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท และยังเข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12479/2547 จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ได้แจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่า น่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้นในสหกรณ์ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้เรียกประชุมคณะกรรมการและได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับสินค้าของผู้เสียหายจริง และได้สรุปความเห็นว่าโจทก์ทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 เบิกความไปตามข้อเท็จจริงตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และตามผลการตรวจสอบที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้เสียหายให้ความเห็นไว้ โดยโจทก์ยอมรับว่าได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายสำหรับสินค้าของผู้เสียหายที่ขาดหายไปบางส่วนด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลทั่วไปไม่เฉพาะจำเลยที่ 1 มีความเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ยักยอกสินค้าและเงินของผู้เสียหายกับปลอมเอกสารต่าง ๆ คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงมีลักษณะเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นตามข้อเท็จจริงมิใช่เป็นกรณียืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์กระทำความผิดแต่อย่างใด ส่วนคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ก็เป็นเพียงการแสดงความเห็นตามข้อเท็จจริงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์กระทำผิดเช่นกัน เพราะจำเลยที่ 2 เบิกความโดยใช้ถ้อยคำว่า จึงเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เบิกความอธิบายถึงเหตุที่เชื่อเช่นนั้นว่า เพราะเอกสารใบเบิกเงินอยู่ในความครอบครองของโจทก์โดยตลอด ซึ่งโจทก์ยอมรับว่าโจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบเอกสารทางบัญชีต่าง ๆ ของผู้เสียหายจริง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769 – 770/2539 การที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา177ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนาคือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่ตนนำมาเบิกความนั้นเป็นความเท็จจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกและเบิกความตามคำร้องนั้นโดยเชื่อตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่ดินและความเห็นของทนายความโดยไม่มีเจตนาที่จะเบิกความเท็จการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ กองมรดกยังมีหนี้สินตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1736ต้องถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการซึ่งมีสาระสำคัญว่าตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทมิได้ที่จำเลยยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่โจทก์จะฟังว่าเป็นการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ไม่ได้การที่จำเลยแบ่งขายที่ดินมรดกก็เป็นการปฏิบัติตามสัญญาที่เจ้ามรดกทำไว้ก่อนตายกับผู้ซื้อถือไม่ได้ว่าเป็นการยักยอกทรัพย์มรดกของโจทก์เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4431/2536 คดีนี้เป็นคดีเรื่องแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยจำเลยได้ไปคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยแจ้งความจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ถึงแม้ความจริงแล้วจำเลยไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท แต่จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ก็ถือว่าไม่เป็นความผิดเนื่องจากขาดเจตนา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1435/2531 คดีนี้เป็นเรื่องแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน จำเลยไม่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลย เนื่องจากคดีพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยกำลังต่อสู้คดีกันอยู่ที่ชั้นศาล ยังเป็นการไม่แน่นอนว่าจำเลยจะเป็นหนี้โจทก์จริงหรือไม่ ถึงแม้ภายหลังจำเลยจะถูกศาลคดีแพ่งพิพากษาให้ชำระหนี้ ก็ไม่เป็นความผิด เพราะขณะนั้นจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าไม่ได้เป็นหนี้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2129/2516 จำเลยยื่นเอกสารที่มีเนื้อหาอันเป็นเท็จ ต่อหน่วยงานราชการ โดยไม่รู้ว่าเนื้อหาในเอกสารนั้นเป็นเอกสารเท็จ  จำเลยย่อมไม่มีความผิด

 

ประเด็นที่สอง เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงไปตามที่รู้เห็น

2.เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงไปตามที่ตนเองรู้เห็น ไม่ได้บิดเบือนข้อเท็จจริง

ในการแจ้งข้อเท็จจริงต่อเจ้าพนักงาน การบรรยายฟ้องคดีอาญา หรือการเบิกความต่อศาล หากปรากฏว่าบุคคลดังกล่าว ได้ให้การ – บรรยายข้อเท็จจริง หรือเบิกความ ไปตามความจริงที่ตนเองรู้เห็นจริง ตามที่ประสบเหตุการณ์มา หรือทำไปตามที่ตนเองได้รับข้อมูลมา 

โดยเชื่อโดยสุจริตว่าจะทำให้ฝ่ายตนเองชนะคดีแพ่งได้ หรือเชื่อโดยสุจริตว่าฝ่ายตรงข้ามกระทำความผิดอาญา หรือและให้การไปตามจริงเท่าที่ตนรู้เห็น ไม่ได้เสริมเติมแต่ง

และภายหลัง ปรากฎว่าศาลพิพากษาให้ฝ่ายตนเองแพ้คดี หรือเห็นว่าการกระทำของฝ่ายตรงข้ามไม่เป็นความผิดอาญา หรือไม่เพียงพอที่จะทำให้ชนะคดีส่วนแพ่ง ย่อมไม่ถือการให้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความผิดอาญาแต่อย่างใด

เพราะการ แจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ หรือ เบิกความเท็จ หมายถึงการ “แจ้งข้อเท็จจริง” ไม่ใช่แจ้งข้อกฎหมาย หรือไม่ใช่เพียงแต่แจ้งข้อเท็จจริงแล้วปรับข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน

แต่การจะเป็นความผิดได้นั้น ต้องเป็น “การบิดเบือนข้อเท็จจริง” โดยรู้อยู่แล้วว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ก็ยังบิดเบือน ต่อเติม หรือแต่งเรื่องราวอันเป็นเท็จขึ้นมา เพื่อหวังจะชนะคดี

หากบุคคลใดแจ้งข้อเท็จจริงไปตามความรู้เห็นและเข้าใจของตนเอง ถึงแม้อาจจะไม่เพียงพอให้ฝ่ายตนเองชนะคดี ก็ไม่เป็นความผิดฐาน แจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ หรือ เบิกความเท็จแต่อย่างใด

โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยในทำนองนี้  เช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9941/2553 ตามพฤติการณ์ทั้งโจทก์ ศ. และ น. ต่างมีความประสงค์ที่จะหาเงินเพื่อมาลงทุนค้าขาย เมื่อโจทก์รับว่าจำเลยเป็นผู้ให้กู้ยืมเงิน การที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในเวลาต่อมาไม่ว่าด้วยประการใดๆ ย่อมทำให้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงินย่อมต้องเข้าใจว่าการที่ ศ. สั่งจ่ายเช็คซึ่งบัญชีปิดแล้วและลายมือชื่อไม่ตรงตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารเป็นผลทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ ซึ่งเท่ากับมีผลทำให้จำเลยไม่ได้รับชำระหนี้เงินกู้ยืมจากโจทก์นั่นเอง บุคคลในสถานะเช่นจำเลยย่อมต้องเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อกู้ยืมเงินต้องมีส่วนรู้เห็นกับ ศ. ออกเช็คชำระหนี้ให้แก่จำเลย โดยมิพักต้องคำนึงว่าตัวโจทก์จะอยู่รู้เห็นในขณะที่ ศ. ออกเช็คนั้นหรือไม่ก็ตาม เมื่อ ศ. เป็นผู้ที่ติดต่อให้โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อประโยชน์ของ น. บุตรโจทก์ที่จะหาเงินร่วมลงทุนค้าขายกับ ศ. และเช็คนั้นก็เป็นเช็คที่สั่งจ่ายตามจำนวนเท่ากับที่โจทก์กู้ยืม และลงวันที่เดียวกับวันครบกำหนดที่โจทก์ต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนให้แก่จำเลยเช่นนี้ เช็คฉบับดังกล่าวจึงเป็นเช็คที่ ศ. ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินของโจทก์ในอันที่จะได้เงินจากจำเลยไปมอบให้แก่ น. เพื่อร่วมลงทุนค้าขายกับ ศ. เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทำให้จำเลยไม่ได้รับเงินที่ให้กู้ยืมคืน การที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์รู้เห็นกับ ศ. ในการสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องเข้าใจเช่นนั้น ฉะนั้น การที่จำเลยฟ้องคดีอาญาต่อโจทก์และ ศ. กล่าวหาโจทก์และ ศ. ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์และ ศ. ร่วมกันหลอกลวงเอาเงิน 1,100,000 บาท ไปจากจำเลยแล้วไม่คืนให้ตามที่ตกลงกันโดยจำเลยเชื่อว่าตนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีอาญาได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาที่จะทำให้เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ เมื่อจำเลยไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จแล้ว การที่จำเลยเบิกความไปตามที่ฟ้องนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2545  พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสามเกี่ยวกับการทำสัญญาจะขายที่ดินแก่จำเลยที่ 1 มีเหตุทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ว่าโจทก์ทั้งสามร่วมกันหลอกลวงจำเลยที่ 1 ทั้งข้อความที่จำเลยที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนก็เป็นการแจ้งข้อความไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และการที่จำเลยที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องโจทก์ทั้งสามเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีมูลความผิดฐานฟ้องเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2550 แม้ในคดีก่อนจำเลยเบิกความโดยเชื่อและสงสัยว่าโจทก์เป็นผู้ลักเอาทรัพย์ไป เนื่องจากขณะเกิดเหตุมีโจทก์และจำเลยอยู่ในบ้านพักจำเลยเพียง 2 คน แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน จำเลยหลงลืมสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองที่อ้างว่าได้หายไปไว้ที่บ้าน ร. โดยในวันรุ่งขึ้นจำเลยทราบทางโทรศัพท์จาก บ. และจำเลยไปรับทรัพย์ของจำเลยที่อ้างว่าได้หายไปคืนจาก บ. จากนั้นจำเลยก็ไปแจ้งให้พนักงานสอบสวนบันทึกเรื่องการได้รับทรัพย์คืนไว้เป็นหลักฐานในวันเดียวกัน ทั้งจำเลยยังไปขอโทษโจทก์และเป็นผู้ประกันตัวโจทก์ในระหว่างสอบสวน ต่อมาจำเลยก็พยายามบรรเทาผลร้ายดังกล่าวด้วยการเสนอชดใช้ค่าทำขวัญเป็นเงิน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์เรียกร้องเป็นเงินถึง 600,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยเข้าใจโจทก์คลาดเคลื่อนไปจากความจริง จึงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นคนร้ายลักทรัพย์ของจำเลยไป แม้หลังจากจำเลยรู้ความจริงแล้ว จำเลยมิได้ถอนคำร้องทุกข์ดังที่โจทก์ฎีกา ก็น่าจะเป็นเพราะจำเลยรู้ว่าคดีนั้นเป็นความผิดต่อแผ่นดินไม่อาจถอนคำร้องทุกข์ได้จึงไม่เป็นข้อพิรุธ ทั้งในคดีก่อนศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยว่าจำเลยปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำกล่าวหาโจทก์และคำเบิกความของจำเลยไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนเป็นข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1861/2526 ชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่าจำคนร้ายได้ตามพฤติการณ์ที่จำเลยเห็นคนร้ายครั้งแรกในลักษณะที่จำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมา ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะถูกปล้นทรัพย์ เมื่อรถคนร้ายแซงปาดหน้า จำเลยหักรถกลับหนีไปตามทางเดิม จึงเห็นคนร้ายในระยะสั้นมากและอยู่ในอาการรีบร้อน ดังนั้นที่จำเลยเบิกความต่อศาลว่าจำคนร้ายได้คลับคล้ายคลับคลาจึงเชื่อว่าเป็นความจริง จำเลยไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8520/2544 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะฟ้องโจทก์เป็นความผิดอาญาในข้อหาบุกรุกที่ดิน ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1โต้แย้งกันในที่ดินพิพาทโดยต่างอ้างว่าตนเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาท และโจทก์ได้ว่าจ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดที่ดินพิพาทดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์จึงสืบเนื่องมาจากที่จำเลยที่ 1เข้าใจโดยสุจริตในขณะนั้นว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และการที่โจทก์จ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดดินในที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 และก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย การฟ้องคดีของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องโดยสุจริตตามที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าตนเองมีสิทธิตามกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทแล้วนำข้อความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จไปฟ้องโจทก์แต่อย่างใด ส่วนข้อหาลักทรัพย์เสาปูนซิเมนต์จำนวน18 ต้นนั้น แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นอ้างแต่ว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เป็นพิรุธชวนให้สงสัยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่โจทก์กับพวก โดยศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าคำฟ้องของจำเลยที่ 1 ในข้อหาลักทรัพย์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์และคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงไม่มีมูล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2530 ความผิดฐานฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 นั้น นอกจากจะต้องเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่า กระทำผิดอาญาแล้ว ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ด้วย เมื่อปรากฏว่าเหตุผลที่จำเลยกล่าวอ้างในคำฟ้องในคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สนับสนุนและเครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้เพียงเล็กน้อย แม้จำเลยจะอ้างว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยประทับลงบนผ้าในผ้าและในฉลาก เป็นเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้ ก็ยังไม่พอฟังว่า จำเลยมีเจตนาฟ้องเท็จ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3800/2528 เช็คที่บริษัท อ.มอบให้บริษัทย. โดยระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินโดยบริษัท อ. ลูกหนี้และโจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายยอมรับว่ามีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ตามเช็ค จำเลยจึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ แม้เช็คพิพาทจะไม่ได้ลงวันที่จำเลยทำการโดยสุจริตย่อมมีอำนาจจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงได้ การที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาโดยอ้างว่าโจทก์ออกเช็คให้จำเลยเป็นการชำระหนี้ค่านายหน้าและแม้จำเลยจะลงวันที่ในเช็คก็ไม่เป็นการฟ้องเท็จ เพราะการนำสืบของโจทก์ก็ยังยอมรับว่าโจทก์และบริษัท อ. มีความผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินตามเช็คให้บริษัท ย. เมื่อจำเลยเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบและได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษายืนให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยตามเช็คจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จ และเมื่อจำเลยเบิกความไปตามคำฟ้องจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2542 แม้จะได้ความตามคำเบิกความของ ส. พยานโจทก์และคำวินิจฉัยของศาลล่างว่าพฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสองขาดเจตนา กระทำความผิดดังที่จำเลยฟ้อง แต่จำเลยก็ฟ้องโจทก์ทั้งสอง เป็นคดีอาญาไปตามความเข้าใจของจำเลยตามที่พบเห็นมา จึงเป็น การขาดเจตนากระทำผิดฐานฟ้องเท็จ การกระทำของจำเลยไม่เป็น ความผิดฐานฟ้องเท็จ คดีโจทก์ไม่มีมูล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2539 การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา175นอกจากจะต้องเอาข้อความเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่าการกระทำความผิดอาญาแล้วผู้กระทำจะต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา59ด้วยเมื่อปรากฏว่าหนังสือตามเอกสารหมายล.1ที่โจทก์ทำและนำไปปิดประกาศที่หน้าบ้านโจทก์ซึ่งบุคคลอื่นที่ผ่านไปมาสามารถพบเห็นได้โดยง่ายมีข้อความว่าป.ผู้เช่าบ้านของก. ภริยาโจทก์ซึ่งถูกฟ้องขับไล่ทนต่อความละอายไม่ได้ได้ออกจากบ้านเช่าไปอยู่ที่อื่นแล้วแต่จำเลยกับมารดาและน้องๆของจำเลยบริวารของป. ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านเช่าตามลำพังโดยไม่จ่ายค่าเช่าและจำเลยได้นำป้ายชื่อและอาชีพของตนไปติดไว้ที่ฝาบ้านโดยเปิดเผยแสดงเจตนาครอบครองบ้านเช่าเช่นนี้ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ใส่ความจำเลยต่อบุคคลที่สามโดยการโฆษณาด้วยเอกสารว่าแม้ผู้เช่าบ้านได้ยอมออกจากบ้านไปแล้วจำเลยซึ่งเป็นบริวารยังดื้อดึงอาศัยอยู่ในบ้านเช่าตามลำพังโดยไม่จ่ายค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าทั้งยังเอาป้ายชื่อและอาชีพของจำเลยไปติดไว้แสดงเจตนาครอบครองบ้านเช่าเป็นการกระทำที่น่าจะทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังและตามหนังสือเอกสารหมายล.1ก็เป็นหนังสือของโจทก์ถึงจำเลยโดยตรงข้อความที่ว่าป.ผู้เช่าได้ออกจากบ้านเช่าไปอยู่ที่อื่นแล้วนั้นก็มีความหมายอยู่ในตัวว่าป.ไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าบ้านอีกต่อไปผู้ที่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าบ้านคือผู้ที่อยู่ในบ้านเช่าซึ่งก็หมายถึงตัวจำเลยนั้นเองทั้งจำเลยได้แนบเอกสารหมายล.1เป็นเอกสารท้ายฟ้องของคดีอาญาที่โจทก์กล่าวหาเป็นฟ้องเท็จด้วยจำเลยจึงมิได้บรรยายฟ้องคดีหมิ่นประมาทโดยการบิดเบือนข้อเท็จจริงพฤติการณ์แห่งคดีไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาฟ้องเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 606/2537 เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้โดยแจ้งชัดว่าจำเลยมอบเงินจำนวน60,000 บาทให้โจทก์เพื่อการซื้อหวาย หรือเพื่อการลงทุนเข้าหุ้นส่วนทำไม้กันแน่ คงฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยและจำเลยยังไม่ได้รับเงินคืน การที่จำเลยใช้สิทธิทางศาลฟ้องโจทก์ฐานฉ้อโกงจึงไม่เป็นฟ้องเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3584/2524 จำเลยเป็นสารวัตรกำนันมีหน้าที่รับแจ้งการเกิดการตายเมื่อมีผู้มาแจ้งว่าพ.ตาย จำเลยก็ออกมรณบัตรให้ไว้โดยจำเลยไม่ทราบว่า พ.ได้ถึงแก่ความตายจริงหรือไม่ ต่อมาจำเลยได้เบิกความต่อศาลถึงเรื่องการตายของ พ.ตามที่มีผู้มาแจ้งและรับว่าจำเลยเป็นผู้ออกมรณบัตรดังนี้ เมื่อจำเลยไม่ได้เบิกความยืนยันถึงการตายของพ. และไม่ได้ยืนยันว่าเป็นความจริงตามคำของผู้มาแจ้งแม้ภายหลังปรากฏว่า พ. ยังมีชีวิตอยู่ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5236/2549 ที่ศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์กับพวกเป็นเหตุให้จำเลยเข้าใจได้ว่าเป็นการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ และทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามที่จำเลยแจ้ง และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ คดีของโจทก์จึงไม่มีมูล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2550/2529 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ได้ความว่า การที่จำเลยไปแจ้งว่าชายคนที่ไปร้านของจำเลยคือโจทก์นั้น ก็เป็นการแจ้งไปตามคำบอกเล่าของเด็กที่อยู่ในร้าน โจทก์มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงให้ปรากฏในคำฟ้องว่าเด็กในร้านมิได้บอกกับจำเลยเช่นนั้น อันจะทำให้เห็นว่าข้อที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นเท็จ เมื่อฟังไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นเท็จแล้ว การแจ้งความของจำเลยก็ไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353 – 354/2529 โจทก์รับราชการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจำเลยที่1เป็นลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาลจำเลยที่2ถึงที่7รับราชการเป็นนายแพทย์ประจำโรงพยาบาลโดยมีโจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่2ถึงที่7ได้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาคพร้อมส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งจำเลยที่1พูดยืนยันตามหนังสือร้องเรียนว่าโจทก์รับสินบนในการรับตนเข้าทำงานบกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาวและกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัยจำเลยที่1ที่2ที่3แจ้งต่อคณะกรรมการทำนองเดียวกับหนังสือร้องเรียนต่อมาหนังสือพิมพ์ลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยร้องเรียนจากฐานความจริงหรือเหตุการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติอยู่ทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้นโดยจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบอาจทำให้ราชการเสียหายและเป็นผู้บกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาวซึ่งผิดวินัยข้าราชการแล้วกระทำการดังกล่าวลงไปจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้กระทำการโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำจึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา329(1)(3)ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทและไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 138/2505 การที่จำเลยแจ้งความตำรวจว่า โจทก์ ทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในเขตบ้านจำเลยนั้น หากความจริงปรากฏว่าโจทก์ได้กั้นรั้วเสียเช่นนี้ จำเลยย่อมเสียสิทธิในการใช้ และเข้าใจว่าจำเลยถูกกลั่นแกล้งขัดขวางสิทธิ ฉะนั้น จะว่าจำเลยแจ้งความเท็จมีความผิดในทางอาญายังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1181/2502 โจทก์จำเลยทำสัญญากัน โดยจำเลยยอมให้เอาที่ดินของจำเลยให้โจทก์ยื่นคำร้องขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายใน 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญา ในการนี้โจทก์ตกลงให้เงินแก่จำเลยเป็นการตอบแทน ต่อมาพ้นเวลา 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาดังกล่าว จำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อพนักงานโลหกิจว่า จนบัดนี้ โจทก์ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดการทำเหมืองได้ จำเลยจึงขอคัดค้านการอ้างสิทธิของโจทก์โดยจำเลยไม่ยอมให้ใช้ที่ดินของจำเลย ฯลฯ เช่นนี้ แม้ความจริงโจทก์จะได้ยื่นคำร้องขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายใน 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญากันนั้นไว้แล้วก็ตาม แต่เมื่อข้อความในสัญญามีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจได้ดังคำร้องคัดค้านของจำเลยแล้ว โจทก์จะหาว่าจำเลยแจ้งความเท็จหาได้ไม่

ประเด็นสาม

 

3.ข้อความที่เป็นเท็จ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญในคดี – และไม่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลคดีได้  

ถึงแม้ข้อความในการแจ้งความ การฟ้อง หรือการเบิกความ จะมีข้อความ ถ้อยคำ หรือข้อเท็จจริง ที่ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อนผิดไปจากความเป็นจริง หรือแม้กระทั่งอาจจะเป็นถึงขั้นบิดเบือนข้อเท็จจริงก็ตาม 

แต่หากข้อความที่เป็นความเท็จนั้น ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญในคดี และไม่ส่งผลกระทบต่อการแพ้ชนะคดี ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในเชิงคดีโดยตรง ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคดีได้ การกระทำดังกล่าวก็ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด

เนื่องจากการกระทำที่จะเป็นความผิดฐาน แจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ และ เบิกความเท็จ  นั้น ข้อความเท็จดังกล่าวจะต้องเป็นข้อสาระสำคัญ ที่ส่งผลต่อการแพ้ชนะคดี อาจจะเปลี่ยนแปลงผลของคดีได้ หรืออาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น มิใช่แต่เป็นเพียงพลความหรือข้อปลีกย่อยเท่านั้น

โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินในทำนองดังกล่าว เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 669/2532 คำเบิกความของจำเลยซึ่งไม่มีน้ำหนักในการวินิจฉัยของศาลหรือจะมีผลให้แพ้ชนะคดีกันเป็นคำเบิกความที่ไม่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี แม้คำเบิกความดังกล่าวจะเป็นเท็จ จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1346/2561 ความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 นั้น ข้อความเท็จที่ได้เบิกความต่อศาลในการพิจารณาคดีจะต้องเป็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งหมายถึงต้องเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างแท้จริงถึงขนาดมีผลทำให้แพ้ชนะคดีกันได้โดยอาศัยคำเบิกความอันเป็นเท็จเท่านั้น ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงโดยวินิจฉัยถึงหน้าที่นำสืบของโจทก์ประกอบคำเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์และคำเบิกความของ พ. จำเลยในคดีดังกล่าวเป็นสำคัญ ส่วนคำเบิกความของจำเลยนั้น ศาลชั้นต้นไม่ได้นำมากล่าวถึง เพียงแต่นำมารับฟังประกอบข้อวินิจฉัยที่ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบกับคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยของโจทก์เท่านั้น แล้ววินิจฉัยถึงพฤติการณ์ต่างๆ ดังที่หยิบยกขึ้นมากล่าว โดยมิได้นำคำเบิกความของจำเลย มาเป็นข้อวินิจฉัยให้มีผลเป็นการแพ้ชนะกัน ข้อความที่จำเลยเบิกความดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเบิกความเท็จได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2407/2560 คดีที่จำเลยขอให้ถอดถอนโจทก์จากตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 129 เป็นเรื่องกล่าวหาการกระทำของโจทก์ขณะปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการมูลนิธิเป็นหลัก เมื่อได้ความว่าข้อความที่จำเลยเบิกความในคดีนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนโจทก์ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิ การที่จำเลยเบิกความจึงเป็นเพียงให้พฤติการณ์ของโจทก์ตามที่จำเลยกล่าวหาในขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเท่านั้น ลำพังพฤติการณ์ของโจทก์ตามที่จำเลยเบิกความยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังเป็นเหตุถอดถอนโจทก์ได้ ข้อความที่จำเลยเบิกความจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

เมื่อข้อความที่จำเลยเบิกความไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยว่าข้อความนั้นเป็นความเท็จหรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9330/2557 คดีก่อน บริษัท ย. ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้ว่า ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าที่ดินงวดเดือนกรกฎาคม 2551 ส่วนโจทก์ให้การต่อสู้ว่า ในทางปฏิบัติ บริษัท ย. จะต้องส่งใบแจ้งหนี้ก่อนแล้วโจทก์จึงจะชำระค่าเช่า แต่ในงวดดังกล่าวบริษัท ย. ไม่ได้ส่งใบแจ้งหนี้ ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่ายังค้างชำระค่าเช่าอยู่ จึงนำเงินไปชำระค่าเช่าในภายหลัง คำให้การของโจทก์ในคดีก่อนเท่ากับรับว่าตนชำระค่าเช่างวดเดือนกรกฎาคม 2551 หลังจากครบกำหนดชำระไปแล้ว แต่มีข้อเถียงโดยยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ว่า แม้โจทก์จะชำระล่าช้าแต่ก็มิได้ผิดนัดเพราะบริษัท ย. ยังไม่ได้ส่งใบแจ้งหนี้ให้แก่ตนตามที่เคยปฏิบัติ ฉะนั้นประเด็นแห่งคดีในคดีก่อนจึงมีว่า บริษัท ย. จะต้องออกใบแจ้งหนี้ค่าเช่างวดดังกล่าวให้แก่โจทก์เสียก่อนแล้วโจทก์จึงจะต้องชำระค่าเช่า หรือไม่ ดังนั้น คำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนที่ว่า โจทก์ชำระค่าเช่างวดเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 อันเป็นการผิดนัดชำระค่าเช่า ทำให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลง จึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21196/2556  คดีก่อนที่จำเลยทั้งสองฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินของเจ้ามรดก มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งสองหรือไม่ การที่โจทก์อยู่ในที่ดินโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ทำไว้กับเจ้ามรดกเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของเจ้ามรดก เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทผู้รับโอนมรดกต่อมาไม่ประสงค์ให้โจทก์อยู่ต่อไป โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินอีก สัญญาจะซื้อขายที่ดินนั้นจึงไม่ใช่ข้อสำคัญอันจะมีผลให้แพ้ชนะในคดี การที่จำเลยที่ 2 ไม่เบิกความถึงสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

ในคดีฟ้องขับไล่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องบอกกล่าวก่อนฟ้อง การบอกกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี การที่จำเลยที่ 2 เบิกความแตกต่างจากที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ จึงไม่เป็นความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8928/2556 ในคดีที่บริษัท อ. ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานหมิ่นประมาท บริษัท อ. บรรยายฟ้องว่า โจทก์กล่าวหา บริษัท อ. ยื่นเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อให้คณะกรรมการฯ เข้าใจเบื้องต้นว่าผลิตภัณฑ์ที่เสนอมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศ ทั้งที่ขาดคุณสมบัติและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการฯ ตัดสินว่า ครุภัณฑ์ที่นำเสนอมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนด ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ประการใด คณะกรรมการฯ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้สั่งการเช่นนั้น และไม่เคยมีคณะกรรมการทั้งของเขตการศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียน ศ. เรียกโจทก์หรือตัวแทนโจทก์เข้าไปชี้แจงรายละเอียดแต่ประการใด การกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการเต้าข่าวเป็นเท็จประสงค์ต่อผลทำให้บริษัท อ. ได้รับความเสียหายโดยตรง เป็นการใส่ร้ายใส่ความบริษัท อ. ต่อบุคคลที่ 3 อันมีเจตนาทุจริตจงใจทำให้บุคคลภายนอกเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัท อ. ไม่มีคุณภาพ ซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ดังนั้น ข้อสำคัญในคดีจึงมีว่า คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือคณะกรรมการสอบราคาของโรงเรียนบางเขตพื้นที่การศึกษาได้ตรวจสอบรายละเอียดของเอกสารและผลิตภัณฑ์ที่บริษัท อ. เสนอ และได้มีการเชิญตัวแทนของบริษัทดังกล่าวมาชี้แจงให้ถ้อยคำจนเป็นที่ประจักษ์ว่าบริษัท อ. ยื่นเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อให้คณะกรรมการฯ เข้าใจเป็นเบื้องต้นว่าผลิตภัณฑ์ที่เสนอมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศ ทั้งที่ขาดคุณสมบัติอันเป็นเหตุให้บริษัท อ. เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือไม่ การที่จำเลยในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท อ. และในฐานะทนายความโจทก์ เบิกความแต่เพียงว่า บริษัท อ. มีคุณลักษณะครบถ้วนตามที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด จึงได้ซื้อซองประกวดราคา จึงเป็นการเบิกความในภาพรวม ๆ มิได้ระบุเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับซอพต์แวร์หรือผลิตภัณฑ์ตามที่ระบุในเกณฑ์คุณลักษณะซอพต์แวร์สื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ข้อที่ 9 และข้อที่ 10 แต่ประการใด ทั้งยังเป็นการเบิกความถึงขั้นตอนของการซื้อซองประกวดราคาเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นมูลแห่งคดีและแตกต่างจากผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเท่านั้น คำเบิกความของจำเลยจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี แม้คำเบิกความของจำเลยจะเป็นเท็จก็ไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จในคดีอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2529 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงแห่งคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า’พยานโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเท็จ’นั้นเป็นการวินิจฉัยว่าพยานโจทก์ตามที่นำสืบมาไม่มีมูลในความผิดฐานฟ้องเท็จนั่นเองไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. ข้อสำคัญในคดีสำหรับความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา341คือหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงการเอาเช็คไปขอแลกเงินสดมิใช่เป็นการหลอกลวงให้ส่งทรัพย์ถึงโจทก์จะกระทำตามที่จำเลยเบิกความโจทก์ก็ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงดังนั้นแม้จำเลยจะรู้ว่าเช็คฉบับดังกล่าวเป็นเช็คที่โจทก์นำมามอบให้จำเลยเกี่ยวกับการเล่นการพนันสลากกินรวบแล้วจำเลยมาเบิกความว่าเป็นเช็คที่โจทก์นำไปขอแลกเงินสดจากจำเลยข้อที่จำเลยเบิกความดังกล่าวแม้จะเป็นความเท็จก็มิใช่เป็นข้อสำคัญในคดีสำหรับความผิดฐานฉ้อโกง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1460/2522 ความเท็จที่นำไปฟ้อง อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 นั้น ต้องเป็นความเท็จในเรื่องที่เป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดอาญา เมื่อจำเลยได้ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนกล่าวหาว่าโจทก์ออกเช็คและธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน องค์ประกอบของการกระทำที่จำเลยฟ้องโจทก์ คือการที่โจทก์ออกเช็คและธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น การที่โจทก์หรือผู้หนึ่งผู้ใดนำเอาเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค มิใช่เป็นองค์ประกอบในการกระทำความผิดที่จำเลยฟ้อง ดังนั้นการที่จำเลยกล่าวในฟ้องว่าจำเลยนำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แม้จะไม่เป็นความจริง จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จ แต่ในข้อหาฐานเบิกความเท็จนั้นในเรื่องที่ว่าผู้ใดนำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นย่อมเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะผู้นำเช็คไปเข้าบัญชีย่อมเป็นผู้ทรง เมื่อธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็ค ผู้นั้นย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องผู้ออกเช็คได้ฉะนั้น เมื่อจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จว่าเป็นผู้นำเช็คเข้าบัญชี ซึ่งความจริงจำเลยได้ขายลดเช็คนั้นไปแล้วจำเลยย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2557 การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้ ล.จะอนุญาตหรือให้ความยินยอม และเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกแนะนำให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ในเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 4 จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่ในความผิดฐานแจ้งความเท็จและความผิดฐานปลอมเอกสารนี้จะต้องได้ความด้วยว่าอยู่ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนหรือไม่ เมื่อได้ความจากโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อโอนลอยในคำร้องโอนสิทธิการเช่าสัญญาเช่าอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้สนใจว่าใครจะนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอย่างไร แสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมพอใจในราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าเสียมากกว่า หาใช่มีข้อตกลงโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเจาะจงแต่อย่างใดไม่ สอดคล้องกับที่ ส. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสตึก พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับคำร้องโอนสิทธิการเช่าเบิกความว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่ ล. ทั้งใบเสร็จรับเงินค่าคำร้องโอนสิทธิการเช่าอาคารตามเอกสารหมาย จ. 5 ก็ระบุว่าได้รับเงินจาก ล. จากพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ร่วมและเทศบาลตำบลสตึกไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานปลอมเอกสารตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2531 จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ในข้อหาดูหมิ่นหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยบรรยายฟ้องเป็นสองตอน คือตอนแรกเป็นข้อความที่อ้างว่าโจทก์เป็นผู้กล่าวซึ่งได้ระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศ ส่วนตอนหลังมีใจความเป็นการแปลหรืออธิบายความหมายของข้อความในตอนแรก ดังนี้ เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ประกอบด้วยแล้ว แสดงว่าข้อความที่พนักงานอัยการระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศ คือ ‘ถ้อยคำพูด’ ที่พนักงานอัยการต้องกล่าวไว้ในฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว และข้อความตอนหลังเป็นการอธิบายความหมายเท่านั้น เมื่อข้อความที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยบรรยายฟ้องอันเป็นความเท็จเป็นส่วนหนึ่งของคำบรรยายฟ้องในตอนหลังและมีลักษณะเป็นการอธิบายความหมายด้วยเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าข้อความที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จนั้นพนักงานอัยการมีความประสงค์จะอธิบายความหมายของถ้อยคำพูดของโจทก์เท่านั้น แม้จะใช้ถ้อยคำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้าง กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าพนักงานอัยการยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 และจำเลยย่อมไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์แต่อย่างใด กับไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 558/2548 ความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 ข้อความเท็จที่ได้เบิกความต่อศาลจะต้องเป็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งหมายถึงต้องเป็นข้อสำคัญฝนคดีอย่างแท้จริงถึงขนาดมีผลทำให้แพ้ชนะคดีกันได้โดยเบอกคำเบิกความอันเป็นเท็จนั้น

คดีแพ่งซึ่งโจทก์ถูก ท. ฟ้องเรียกเงินคืน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ท. ชนะคดีโดยอาศัยพยานเอกสารในคดีเป็นสำคัญ ส่วนคำเบิกความของพยานบุคคลเพียงแต่นำมารับฟังประกอบพยานเอกสารเท่านั้น และวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าโดยมิได้นำคำเบิกความของจำเลยมาเป็นข้อวินิจฉัยให้มีผลเป็นการแพ้ชนะกัน ข้อความที่จำเลยเบิกความจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเบิกความเท็จได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2187/2554 วันที่จำเลยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวันภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับ ดังนี้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องอันฟังได้ว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้อำนวยการเลือกตั้ง โดยปกปิดเรื่องที่จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา แต่โดยผลของ พ.ร.บ.ดังกล่าวถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษหรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาก่อน จำเลยจึงมิใช่บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 45 (5) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 การกระทำของจำเลยย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งหรือประชาชน กรณีไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยย่อมยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14785/2555 โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีขอแบ่งสินสมรส และบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรส แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันตามส่วน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายตามส่วนที่เป็นของตนเอง ส่วนการที่จำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2542 ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น หากจำเลยทั้งสองมีเจตนาก่อให้เกิดหนี้จริงก็เป็นหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีขอให้บังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติผิดข้อตกลงดังกล่าว ก็คงมีเพียงสิทธิบังคับคดีเอาจากสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อไม่พอจึงมีสิทธิบังคับเอาจากสินสมรสที่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 สิทธิในการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีผลกระทบสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในคดีที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ก็คงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงเฉพาะที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น หากแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลเกี่ยวกับมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ในคดีที่จำเลยที่ 2 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง ก็ไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้เลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2544 ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. ในวันที่ 10 สิงหาคม 2531 จำเลยไม่มีคู่สมรสเพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน ค. ไปก่อนแล้วจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452

จำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรส แม้จำเลยจะแจ้งว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกัน การที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับ ส. โดยเชื่อว่า จำเลยไม่เคยสมรสมาก่อน จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย และไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3252/2543 จำเลยแจ้งความต่อร้อยตำรวจโท อ. เพื่อเป็นหลักฐานหากจะมีข้อความบางส่วนเป็นเท็จหรือผิดความจริงไปบ้างก็ยังไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ร้อยตำรวจโท อ. ต้องทำการสอบสวนเนื่องจากไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7) เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาจะมอบเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ การแจ้งความของจำเลยจึงย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีเพื่อเอาผิดต่อจำเลยในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2528 โจทก์และจำเลยต่างก็เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นทายาทยื่นคำร้องต่อศาลขอให้จำเลยจ่ายเงินแก่ทายาท. จำเลยยื่นงบดุลกองมรดกต่อศาลแสดงจำนวนเงินเหลืออยู่มากกว่าจำนวนที่เหลืออยู่จริง แม้จะเป็นเท็จก็มิใช่เป็นข้อสำคัญในคดี. และโจทก์ซึ่งเป็นทายาทก็ไม่ได้รับความเสียหายเพราะไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินมรดกน้อยกว่าจำนวนที่เป็นจริง การกระทำของจำเลยไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2539 ในคดีก่อนประเด็นที่สำคัญของคดีก็คือโจทก์ในคดีดังกล่าวได้ครอบครองที่พิพาทไว้โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของที่ติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีหรือไม่จำเลยเบิกความแต่เพียงว่าผ.ยกที่พิพาทให้โจทก์ในคดีดังกล่าวแต่ผู้เดียวจึงเป็นข้อเท็จจริงในส่วนปลีกย่อยไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา177

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2537 ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524ผู้ให้เช่านาจะขายนาที่ให้เช่าได้ต่อเมื่อได้แจ้งความจำนงจะขายนาให้ผู้เช่านาทราบเป็นหนังสือ โดยระบุราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธานคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบล เพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบภายใน 15 วัน ถ้าผู้เช่านาไม่แสดงความจำนงจะซื้อนาภายในกำหนด 30 วัน หรือปฏิเสธเป็นหนังสือ หรือแสดงความจำนงจะซื้อนาแต่ไม่ชำระเงินในกำหนดเวลาที่ตกลงกันหรือเวลาที่คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลกำหนด จึงจะถือว่าผู้เช่านาหมดสิทธิที่จะซื้อนา เมื่อข้อเท็จจริงในคดีฟังเป็นยุติว่า ช. ผู้ให้เช่านาบอกขายนาให้แก่จำเลยโดยเป็นการบอกขายระหว่างกันเอง มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่ พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 กำหนดไว้ การที่ ช. ขายนาที่จำเลยเช่าให้แก่โจทก์จึงไม่ทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่านาหมดสิทธิที่จะซื้อนาแปลงดังกล่าวดังนั้นข้อความที่จำเลยเบิกความต่อศาลในคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องโจทก์ขอให้บังคับโจทก์ขายนาแก่จำเลย ในทำนองว่า ช. ไม่เคยบอกขายที่นาให้แก่จำเลย แม้จะเป็นความเท็จ แต่ข้อความดังกล่าวมิใช่ข้อสำคัญในคดีก่อนเพราะไม่อาจทำให้คู่ความแพ้ชนะกันในประเด็นแห่งคดีได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1011/2527 กรณีจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 นั้น นอกจากจะแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานแล้ว ข้อความที่แจ้งต้องอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์อาจได้รับความเสียหายอย่างไร แม้จะพิจารณาฟ้องโจทก์ทั้งเรื่องก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าโจทก์อาจได้รับความเสียหายอย่างไรจากการกระทำของจำเลย ในข้อที่โจทก์เป็นผู้เช่าตึกแถว เมื่อมีการโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือแม้แต่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในตึกแถวที่เช่าด้วย สิทธิของโจทก์ย่อมไม่กระทบกระเทือน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957/2518  เจ้าพนักงานที่ดินใช้ตรายางประทับที่ด้านหลังหนังสือสัญญาขายฝากมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าผู้รับซื้อฝากขอยืนยันว่า ในการทำนิติกรรมขายฝากที่ดินรายนี้ ข้าพเจ้าผู้รับซื้อฝากได้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง ได้มีการตกปากลงคำกันมาอย่างแน่นอนแล้วที่จะมาทำนิติกรรมสัญญาและขอจดทะเบียนรายนี้ หากเกิดการผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของผู้ขายฝาก ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น (ลงชื่อ) ผู้รับซื้อฝาก” และผู้รับซื้อฝากลงลายมือชื่อไว้ นั้น เมื่อปรากฏว่าบันทึกดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดินเพื่อป้องกันมิให้กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินถูกฟ้องให้รับผิดทางแพ่ง จึงมิใช่บันทึกตามนัยแห่งกฎหมายหรือตามหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แม้ความจริงผู้ขายฝากกับผู้รับซื้อฝากจะไม่รู้จักกัน ไม่เคยได้ติดต่อตกลงกันเลย ผู้รับซื้อฝากก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2054/2517 คำเบิกความของจำเลยซึ่งเท้าความไปถึงเรื่องระหองระแหงต่าง ๆ ระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีอาญาที่ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายโจทก์นั้น แม้จะเป็นความเท็จ ก็หาใช่ข้อสำคัญในคดีดังกล่าวไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75/2544 คดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ผู้ตายมีประเด็นว่า จำเลยเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่น คำร้องขอต่อศาลและมีเหตุที่จะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 หรือไม่ กับจำเลยเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1728 หรือไม่ส่วนข้อที่ว่า ม. มีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด ไม่ใช่ประเด็นในคดีดังกล่าว การที่จำเลยเบิกความเท็จว่า บ้านเป็นของ ม. จึงมิใช่ข้อสำคัญในคดี ไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3608/2540 คดีแพ่งที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 และ 1718 มีประเด็นข้อสำคัญในคดีว่า ผู้ร้องคือจำเลยในคดีนี้เป็นทายาทหรือมีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ มีเหตุจะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ และผู้ร้องเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายดังนั้น การที่จำเลยเบิกความในคดีแพ่งที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับจำนวนทายาท การให้ความยินยอมของทายาทและแสดงพยานหลักฐานบัญชีเครือญาติไม่ตรงต่อความจริง แม้จะเป็นความเท็จก็มิใช่เป็นข้อสำคัญในคดีอันอาจทำให้ผลของคดีร้องขอจัดการมรดกเปลี่ยนแปลงไป การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของความผิดดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2540 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ประเด็นแห่งคดีมีเพียงว่า มีเหตุที่จะแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ และจำเลยเป็นบุคคลต้องห้ามในการที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ดังนั้นแม้จำเลยเบิกความในคดีแพ่งดังกล่าวว่า เจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมไว้ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็ตาม คำเบิกความดังกล่าวก็หาใช่ข้อสำคัญในคดีนั้นแต่อย่างใดไม่เพราะสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นทายาทในการที่จะรับมรดกยังมีอยู่ แม้เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้วก็ตาม หากจำเลยละเลยหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ จำเลยย่อมถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ โจทก์ยังคงมีสิทธิรับมรดกอยู่เช่นเดิม คดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4498/2539 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของซ. เป็นคดีแพ่งให้ชำระเงินตามเช็คที่ซ. ได้สั่งจ่ายให้โจทก์ไว้ก่อนถึงแก่กรรมเป็นกรณีที่ศาลจะพิจารณาและวินิจฉัยในประเด็นสำคัญแต่เพียงว่าซ. เจ้ามรดกนำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจากโจทก์และยังไม่ได้ชำระหนี้ตามเช็คและซ. จะต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คหรือไม่เท่านั้นดังนั้นในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของซ.ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์มีอยู่แค่ไหนเพียงใดย่อมเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งในชั้นบังคับคดีแม้ข้อความที่จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของซ. จะเป็นความเท็จหรือไม่ก็ตามก็มิได้ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปและในคดีดังกล่าวศาลก็มิได้หยิบยกเอาคำเบิกความของจำเลยมาวินิจฉัยให้เป็นผลแพ้ชนะคดีคำเบิกความของจำเลยจึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดีจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา177

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 146/2536 ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 กับพวก ในข้อหาโกงเจ้าหนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์จะใช้หรือได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แม้คดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 เบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 กับ ม.หย่ากันเมื่อใดก็ตาม ศาลไม่ได้หยิบยกข้อความที่ว่าจำเลยที่ 1 หย่ากันม.ขึ้นวินิจฉัยเป็นข้อแพ้ชนะ อันจะเป็นข้อสำคัญในคดีจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ และนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5845/2533 ข้อความที่เป็นข้อสำคัญในคดีในความผิดฐานเบิกความเท็จจะต้องเป็นข้อความที่อาจทำให้คู่ความแพ้ชนะกันในประเด็นแห่งคดีได้ ประเด็นแห่งคดีในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น ได้แก่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่อย่างไรสำหรับคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ว่า ร้านวีดีโอที่โจทก์กับพวกตรวจค้นเป็นของ ว. เช่าจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็แจ้งโจทก์ว่าให้เช่าไปแล้วพร้อมกับนำสัญญาเช่าให้ดูด้วย แล้วโจทก์สั่งให้จำเลยที่ 1 ไปสถานีตำรวจ เมื่อไปถึงโจทก์ให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวจำเลยที่ 1 นั้น แม้เป็นความเท็จ ความจริงไม่มีการนำเอาเอกสารสัญญาเช่ามาแสดง การจับกุมก็กระทำที่ร้านนั่นเองมิใช่ตั้งข้อหาที่สถานีตำรวจ แต่คดีก็ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่มิชอบอย่างไร คงรับฟังได้แต่เพียงว่าโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1 แล้วว่า มีการให้เช่าร้านวีดีโอกันแล้วเท่านั้นมิได้หมายความเลยไปถึงว่า ความจริงเป็นดังที่จำเลยที่ 1 แจ้งแก่โจทก์ และโจทก์ทราบความจริงว่าเป็นเช่นนั้นแล้ว แต่ยังแกล้งตั้งข้อหาและจับกุมจำเลยที่ 1 ข้อความที่จำเลยที่ 2 เบิกความดังกล่าว จึงไม่เป็นข้อความที่อาจทำให้คู่ความแพ้ชนะกันในประเด็นแห่งคดีได้ คำเบิกความของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดีอันจะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2747/2523 จำเลยเบิกความในคดีที่โจทก์ถูกฟ้องข้อหากระทำผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้เพียงว่าจำเลยเคยจับโจทก์ในข้อหาว่ากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้มาหลายครั้งแล้ว โดยมิได้ยืนยันว่าโจทก์กระทำผิดในคดีที่จำเลยเบิกความนั้นแม้จำเลยจะเบิกความเช่นนั้นจริงก็เป็นเพียงพยานแวดล้อมไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอฟังลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีที่จำเลยเบิกความนั้นได้ข้อที่จำเลยเบิกความจึงมิใช่ข้อสำคัญในคดีอันจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2523 เมื่อประเด็นของคดีที่โจทก์ถูกฟ้องฐานกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษอยู่ที่โจทก์ครอบครองเฮโรอีนโดยมิได้รับอนุญาตจริงหรือไม่คำเบิกความของจำเลยผู้จับกุมโจทก์ที่ว่า ไม่เคยรู้จักกับโจทก์ หรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์และที่ว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยจับกุมคุมขังโจทก์ในข้อหามีกัญชา จึงหาเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าวไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2530 โจทก์ฟ้องว่า เดิม จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคลธุรการ ต่อมาโจทก์เลิกจ้างเพราะจำเลยใช้พนักงานรักษาความปลอดภัยละทิ้งหน้าที่ไปทำงานส่วนตัวให้จำเลยจำเลยจึงฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยโดยไม่เป็นธรรมในการพิจารณาคดีดังกล่าว จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จว่า ส. ได้รับแต่ง ตั้งเป็นหัวหน้ารักษาความปลอดภัย อยากได้รายได้พิเศษ จำเลยจึงฝาก ส. ทำงานที่ร้านอาหารโดยให้ไปทำในช่วงที่มิใช่เวลาทำงานของโจทก์ ฝากงานให้แล้ว ส. มาทำงานสายจำเลยได้ว่ากล่าวตักเตือนและเบิกความอันเป็นเท็จว่าจำเลยไม่เคยใช้ พ. ไปทำธุระส่วนตัวร้านอาหารที่จำเลยฝากงานให้ไปทำอยู่ที่ห้าง อ. เอกสาร ล.6 จำเลยเขียนฝากงานให้ ส. ทำที่โรงแรมจำเลยก็เบิกความเท็จว่าจำเลยเขียนฝากงานให้ทำที่ห้าง อ. เอกสาร ล.9 เป็นหนังสือที่จำเลยขอบใจ พ. เกี่ยวกับเรื่องงานที่จำเลยได้มอบหมายให้ไปทำและให้เก็บเป็นความลับ จำเลยก็เบิกความเท็จว่าเป็นหนังสือที่จำเลยขอบใจ พ.ที่ไปช่วยงานร้านอาหารโดยส. ขอร้องและจำเลยไม่รู้เรื่องข้อความที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเบิกความนี้เป็นข้อสำคัญในคดี จะอ้างว่าแม้จำเลยจะเบิกความเป็นเท็จก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปย่อมไม่ถูกต้อง ที่ศาลสั่งงดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505/2514 คำเบิกความต่อศาลในการพิจารณาคดีล้มละลายว่า “เห็นคนมาทวงหนี้ที่บ้านโจทก์หลายคน ทรัพย์สินเครื่องใช้ประจำสำนักงานก็ไม่เห็น คือ โต๊ะทำงาน ตู้เย็น โต๊ะเสมียน โทรศัพท์ ไม้และเหล็กเส้น เคยสืบทรัพย์อื่นของจำเลยไม่มี เห็นข้าวของในสำนักงานหายไปเรื่อง คือ พัดลม โต๊ะ ของก่อสร้าง เช่น ปูน ไม้ ดังนี้หาใช่เป็นข้อสำคัญในคดีล้มละลายที่จะฟังว่าผู้ถูกฟ้องล้มละลายไม่มีทรัพย์พอชำระหนี้ถึงขนาดเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่
เมื่อคำเบิกความของจำเลยต่อศาลไม่เป็นข้อสำคัญในคดี ฟ้องของโจทก์จึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 654 – 655/2513 จำเลยได้แจ้งขอเดินทางออกจากประเทศไทยและได้รับอนุมัติให้เดินทางออกนอกประเทศไทยได้ ต่อมาจำเลยได้แจ้งถอนคำขอดังกล่าวและขออยู่ต่อ ก็ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยต่อไปอีกชั่วคราวได้ การแจ้งข้อความเปลี่ยนแปลงเพิกถอนคำแจ้งความที่ขอเดินทางออกนอกประเทศไทยของจำเลยนั้นไม่ทำให้ผู้ใดได้รับความเสียหายจึงไม่เป็นผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137และการอยู่ต่อมาของจำเลยก็เป็นการอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2509 การที่ให้มีการรับรองในใบแต่งทนายว่าผู้แต่งทนายได้เซ็นใบแต่งทนายต่อหน้า ก็เป็นเพียงวิธีการอันหนึ่งที่จะให้เป็นหลักฐานว่าผู้แต่งทนายได้ลงชื่อเป็นผู้แต่งทนายตามนั้นจริง และเมื่อผู้แต่งทนายได้เซ็นใบแต่งทนายให้ไปจริง คำรับรองดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ไม่อาจเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284/2507  การที่จำเลยแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนว่า โจทก์ออกเช็คโดยไม่มีเงินในธนาคารนั้น แม้จำเลยจะแจ้งสถานที่ที่โจทก์ออกเช็คและมอบเช็คให้จำเลยผิดไปจากความจริง จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะถ้าเช็คนั้นมีการใช้เงินหรือขึ้นเงินจากธนาคารได้แล้ว การระบุสถานที่ออกเช็คและรับมอบเช็คนั้น แม้จะผิดไปจากความจริง ก็ไม่เป็นเหตุที่จะเกิดความผิดอันจะต้องมีการสอบสวน เหตุที่จะเกิดความผิดอยู่ที่ว่า เช็คนั้นขึ้นเงินไม่ได้ อันพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778/2526 จำเลยเบิกความต่อศาลในคดีอาญาซึ่งโจทก์ถูกฟ้องว่า จำเลยไม่เคยทำหนังสือเอกสารหมาย จ.1 ถึงโจทก์ แต่ศาลมิได้หยิบยกเอาคำเบิกความของจำเลยและข้อความในเอกสารหมาย จ.1 ขึ้นวินิจฉัย หากแต่ได้วินิจฉัยถึงพยานหลักฐานอื่น ๆ แล้วพิพากษาลงโทษโจทก์ ส่วนคำเบิกความของจำเลยและเอกสารหมาย จ.1 ไม่มีน้ำหนักในการวินิจฉัยของศาล หรือจะมีผลให้แพ้ชนะคดีกัน ดังนี้ คำเบิกความของจำเลยที่ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำเอกสารหมาย จ.1 ส่งให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2504 คณะกรรมการของมัสยิดซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ประชุมลงมติให้จำเลยซึ่งเป็นกรรมการผู้หนึ่งไปแจ้งต่ออำเภอว่าเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของมัสยิดเป็นการชั่วคราวเพื่อความสะดวกที่จะให้เช่าและกันคนอื่นถือสิทธิต่อไป จำเลยก็นำความไปแจ้งต่อปลัดกิ่งอำเภอว่า จำเลยเป็นเจ้าของหากว่าการแจ้งของจำเลยเช่นนี้ไม่มีเจตนาทุจริต เป็นที่รู้กันระหว่างจำเลยกับคณะกรรมการมัสยิดและมัสยิดหรือผู้ใดไม่ได้เสียหายหรืออาจเสียหายแต่ประการใดไม่มีผิดฐานแจ้งความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9696/2558 การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตาม ป.อ. มาตรา 175 ต้องเป็นการนำความเท็จในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาไปแกล้งฟ้องผู้อื่นให้รับโทษ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ส่วนเรื่องอายุความนั้น ป.อ. มาตรา 95 และมาตรา 96 ได้บัญญัติไว้ต่างหากเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการฟ้องคดี ซึ่งเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาโดยตรง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฟ้องคดีก่อนว่าคดีของจำเลยที่ 1 ยังไม่ขาดอายุความนั้นแม้จะไม่เป็นความจริง จำเลยทั้งหกก็หามีความผิดฐานฟ้องเท็จไม่

สรุป

สรุป

ลำพังเพียงการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไปแจ้งความ ฟ้องร้องดำเนินคดี หรือเบิกความต่อศาล และภายหลังศาลได้พิพากษาให้ฝ่ายนั้นแพ้คดี ไม่ได้แปลว่าจะเป็นความผิดฐาน แจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ หรือ เบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญาเสมอไป 

แต่จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยทั้ง 3 ประการดังกล่าวประกอบด้วยอยู่เสมอก็คือ 

1.ข้อความที่แจ้งเป็นความเท็จจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงไปตามที่ตนเองรู้เห็น หรือประสบพบมา 

2.หากข้อความที่แจ้งเป็นความเท็จ บุคคลดังกล่าวรู้หรือไม่ว่าข้อความพิพาทดังกล่าวเป็นความเท็จ หรือบุคคลดังกล่าวมีเหตุอันควรเชื่อโดยสุจริตว่าข้อความดังกล่าวเป็นความจริง 

3.หากข้อความที่แจ้งเป็นความเท็จ และบุคคลดังกล่าวรู้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความสำคัญที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเปลี่ยนแปลงผลคดีได้หรือไม่ 

หากขาดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งไป ย่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมายครับ ดังนั้นหากท่านเป็นฝ่ายโจทก์ที่ต้องการฟ้องร้องคดีในความผิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ท่านก็ต้องศึกษาข้อกฎหมายและตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวให้รัดกุม และหากท่านเป็นฝ่ายจำเลย ก็สามารถหยิบยกประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ครับ 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts