บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง, คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

คดีบังคับไล่ออกต้องทำอย่างไร? คำอธิบายการขับไล่จำเลยและผู้ใต้บังคับบัญชาออกจากอสังหาริมทรัพย์ (ปวิป มาตรา 351-354) พร้อมตัวอย่างการปฏิบัติจากประสบการณ์จริง

บังคับคดีขับไล่ ต้องทำอย่างไร ?

เมื่อศาลมีคำพิพากษาขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจำเลยออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ หากจำเลยไม่ยอมออกจากอสังหาริมทรัพย์ตามคำพิพากษา

เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิบังคับคดีขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 351

การ บังคับคดีขับไล่ ลูกหนี้ตามคำพิพากษา -จำเลย- บริวาร ออกจากอสังหาริมทรัพย์ แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ

1.หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวาร ไม่ได้อยู่ในอสังหาริมทรัพย์พิพาทแล้ว

หากไม่มีใครอยู่ในอสังหาริมทรัพย์แล้ว ในกรณีเช่นนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถส่งมอบการครอบครองให้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ทันที

ถ้าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ล๊อกกุญแจ หรือมีสิ่งกีดกันขัดขวาง ทำให้ไม่สามารถเข้าไปได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีอำนาจทำลายสิ่งกีดขวาง หรือกุญแจ ล๊อก ต่างๆ ได้ตามความจำเป็น

เช่น หากมีโซ่เหล็กคล้องอยู่ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็อาจใช้คีมตัดโซ่เหล็กได้ ถ้ากุญแจบ้านล๊อกอยู่ ก็สามารถให้ช่างกุญแจมาไขเปลี่ยนกุญแจได้ ถ้าไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีอื่นๆ ก็อาจจะต้องทำลายสิ่งกีดขวางหรือประตู เพื่อเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์

ถ้ายังมีทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจำเลยอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีอำนาจเก็บไว้และแจ้งให้มารับภายในกำหนด

หากไม่มารับภายในกำหนด เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะนำทรัพย์สินออกขาย และเก็บเงินไว้ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจำเลยมารับต่อไป (ไม่ได้เก็บไว้ให้โจทก์)

หากจำเลยไม่มารับเงินภายใน 5 ปี เงินนั้นก็จะตกเป็นของแผ่นดิน

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 351 (1) ประกอบมาตรา 352 

ตัวบทกฎหมาย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 351 (1) มา ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง
(๑) ถ้าทรัพย์นั้นไม่มีบุคคลใดอยู่แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา 352

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 352   ในกรณีตามมาตรา 351 (1) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจส่งมอบทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วนให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองได้ทันที ถ้ามีสิ่งกีดขวางอันเป็นอุปสรรคต่อการส่งมอบ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจทำลายสิ่งกีดขวางดังกล่าวได้ตามความจำเป็น
ถ้ายังมีสิ่งของของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือของบุคคลใดอยู่ในทรัพย์นั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีสิ่งของนั้นไว้ และมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ถ้าสิ่งของนั้นมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ หรือมีสภาพอันจะก่อให้เกิดอันตรายได้ หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของสิ่งของนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจำหน่ายสิ่งของนั้นได้ทันทีโดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่เห็นสมควร และเก็บรักษาเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายไว้แทนสิ่งของนั้น หรือทำลายสิ่งของนั้น หรือดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงสภาพแห่งสิ่งของ ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย และประโยชน์สาธารณะ
(2) ถ้าสิ่งของนั้นมิใช่สิ่งของตามที่ระบุไว้ใน (1) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจนำสิ่งของนั้นมาเก็บรักษาไว้ หรือมอบให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้รักษา หรือฝากไว้ ณ สถานที่ใด หรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร แล้วแจ้งหรือประกาศให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าของสิ่งของมารับคืนไปภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าของสิ่งของไม่มารับหรือไม่ยอมรับสิ่งของนั้นคืนไปภายในเวลาที่กำหนด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตาม (๑) โดยอนุโลม
เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มาจากการจำหน่ายสิ่งของตามวรรคสอง (1) หรือ (2) ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าของสิ่งของไม่มาขอรับคืนภายในกำหนดห้าปีนับแต่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ในกรณีที่สิ่งของตามวรรคสองถูกยึด อายัด หรือห้ามโอน ยักย้าย หรือจำหน่ายตามวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาหรือเพื่อการบังคับคดีในคดีอื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจย้ายสิ่งของดังกล่าวไปเก็บไว้ ณ สถานที่อื่นได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีอื่นทราบด้วย
ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามมาตรานี้ และให้ถือว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีกันต่อไป

2.แต่หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารยังไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาท

หากยังมีคนดื้อแพ่ง ไม่ยอมออกจากอสังหาริมทรัพย์ ทั้งๆที่ศาลมีคำพิพากษาขับไล่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวจำเลยเอง หรือบริวารของจำเลย เช่น บิดา มารดา บุตร พี่น้อง ผู้เช่า เป็นต้น

กรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะขอศาลให้ออกหมายจับเพื่อทำการขัง ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวาร ที่ไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์

โดยอำนาจจับกุมกักขังนี้ ไม่ใช่เพียงแต่จะขอให้ขังตัวจำเลยได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้อื่นที่อยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลย ซึ่งถือเป็นบริวารของจำเลย

และเมื่อจับได้แล้ว ศาลมีอำนาจขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไว้เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

และระหว่างขังจำเลยไว้ที่เรือนจำนั้น ย่อมไม่มีผู้ใดมาขัดขวางการครอบครองทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะดำเนินส่งมอบทรัพย์สินที่พิพาทให้กับฝ่ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตามข้อ 1. ต่อไป

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 351 (2) ประกอบมาตรา 353 ,354 และ มาตรา 363

ตัวบทกฎหมาย 

              ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  351  ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง

(2) ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ออกไปจากทรัพย์นั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา 353

 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 353  ในกรณีตามมาตรา 351(2) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) รายงานต่อศาลเพื่อมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวาร และให้ศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังได้ทันที ในกรณีเช่นว่านี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๖๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(2) ปิดประกาศให้บุคคลที่อยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้นซึ่งอ้างว่ามิได้เป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศแสดงว่าตนมีอำนาจพิเศษในการอยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้น
               เมื่อมีการจับกุมลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารตาม (1) แล้ว หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวหลบหนีไปจากทรัพย์นั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา ๓๕๒

  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 354  เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 351 ให้ถือว่าบุคคลดังต่อไปนี้เป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(1) บุคคลที่อยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้นและมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 353 (2) หรือยื่นคำร้องต่อศาลแล้วแต่แสดงต่อศาลไม่ได้ว่าตนมีอำนาจพิเศษในการอยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้น
(2) บุคคลที่เข้ามาอยู่ในทรัพย์นั้นในระหว่างเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองทรัพย์นั้น

 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 363  ในกรณีที่ศาลสั่งกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลใดตามมาตรา 353 หรือมาตรา 361 บุคคลนั้นจะต้องถูกกักขังไว้จนกว่าจะมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรกำหนดว่าตนยินยอมที่จะปฏิบัติตามคำบังคับทุกประการ แต่ทั้งนี้ ห้ามไม่ให้กักขังแต่ละครั้งเกินกว่าหกเดือนนับแต่วันจับกุมหรือวันเริ่มกักขัง แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผิดสัญญาประกันตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา 362 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ทั้งนี้เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งมอบการครอบครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์พิพาทเรียบร้อยแล้ว หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจำเลยยังดื้อแพ่งกลับเข้าไปในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวอีก ก็จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตามกฎหมาย 


วันนี้ผมได้นำตัวอย่างการบังคับคดีขับไล่ ในทางปฏิบัติมาให้ดู 

คดีนี้เป็นเรื่องของฝ่ายผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด ซึ่งผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด มีสิทธิ์บังคับคดีขับไล่จำเลยและบริวารที่อาศัยอยู่ในที่ดินได้ เสมือนหนึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

ทั้งนี้โดยอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 334 ซึ่งผมเคยได้เขียนอธิบายอย่างละเอียดในบทความเรื่อง วิธีการขับไล่ของผู้ซื่้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด 

คดีนี้หลังจากลูกความผมซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้แล้วพบว่า จำเลยและบริวารยังไม่ยอมออกจากที่ดิน ลูกความผมจึงได้เจรจาพูดคุยให้จำเลยออกไปแต่โดยดี

โดยลูกความผมยินยอมให้เงินช่วยเหลือค่าขนย้ายอีกจำนวน 50,000 บาท เพราะไม่อยากจะมาเสียเวลาดำเนินการบังคับคดีขับไล่

แต่จำเลยดื้อแพ่งไม่ยอมออกไปจากที่ดิน ผมจึงต้องดำเนินการบังคับคดีขับไล่  ด้วยการยื่นคำร้องขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี 

หลังจากนั้นก็นำหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปรายงานต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขอหมายจับจำเลยและบริวารต่อศาล 

เมื่อศาลออกหมายจับแล้ว จำเลยได้เดินทางมาที่ศาลเพื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลจึงได้ถูกจับในวันนั้นเอง โดยผมไม่ต้องเสียเวลาไปตามจับ

หลังจากจำเลยถูกจับกุมแล้ว ศาลก็เมตตาให้จำเลยประกันตัวออกไป ในวงเงินเพียงประมาณ 5,000 บาท โดยกำชับว่าให้ออกไปจากที่ดินให้เสร็จเรียบร้อยภายในกำหนด 

คำสั่งให้ประกันครั้งแรก

คำสั่งให้ประกันครั้งแรก

หลังจากนั้นศาลก็นัดพร้อม เพื่อฟังผลการดำเนินการอีกครั้ง เพื่อฟังผลว่าจำเลยได้ออกไปจากที่ดินพิพาทเรียบร้อยแล้วหรือยัง 

ทั้งนี้เป็นเรื่องปกติในการบังคับคดีขับไล่ เมื่อศาลออกหมายจับตัวจำเลยมาแล้ว ธรรมดาแล้วศาลจะไม่ขังจำเลยโดยทันที

แต่ศาลจะอธิบายให้จำเลยเข้าใจข้อกฎหมาย และช่วยเจรจากับฝ่ายโจทก์ เพื่อให้โอกาสและให้เวลาจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปภายในเวลาที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ซึ่งจะเป็นผลดีกว่าการขังจำเลยไปเลยโดยไม่ให้ประกันตัว 

ซึ่งจำเลยส่วนใหญ่เมื่อถึงขั้นถูกออกหมายจับแล้ว ก็มักจะยินยอมออกไปจากที่ดินพิพาทตามเวลากำหนดแต่โดยดี 

แต่ปรากฏว่าจำเลยคดีนี้ก็ไม่ยอมออกจากที่ดิน  และไม่มาศาลตามกำหนด ทั้งยังท้าทายว่าทำอะไรตัวจำเลยไม่ได้ เพราะจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไว้แล้ว แน่จริงให้มาจับ 

 

จำเลยไม่มาศาลตามกำหนด ศาลจึงออกหมายจับจำเลยอีกครั้ง

จำเลยไม่มาศาลตามกำหนด ศาลจึงออกหมายจับจำเลยอีกครั้ง

ศาลจึงได้ออกหมายจับจำเลยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นลูกความและทางผมจึงได้ประสานกำลังตำรวจพื้นที่จับกุมจำเลยตามคำท้า 

เมื่อจำเลยถูกจับกุมคราวนี้ จำเลยก็ได้ยื่นคำขอประกันตัวออกไปอีกครั้งหนึ่ง แต่ปรากฏว่าคราวนี้ศาลไม่ยินยอมให้จำเลยประกันตัว

จำเลยจึงต้องถูกขังอยู่ที่เรือนจำ เพื่อรอเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการส่งมอบทรัพย์สินให้กับลูกความผม

ขอประกันตัวครั้งใหม่ศาลไม่ให้แล้วครับ เพราะประกันออกไปครั้งแรกไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล

ขอประกันตัวครั้งใหม่ศาลไม่ให้แล้วครับ เพราะประกันออกไปครั้งแรกไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล

ถูกขังที่เรือนจำทันทีเลยในวันนั้น

ถูกขังที่เรือนจำทันทีเลยในวันนั้น

ผมไม่อยากให้จำเลยต้องถูกคุมขังเป็นเวลานานจึงได้ไปติดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทันทีในวันรุ่งขึ้น เพื่อขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินให้กับลูกความผม ตามกระบวนการต่อไป

แต่เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีติดงานเป็นจำนวนมาก จึงไม่สะดวกและจะต้องนัดหมายส่งมอบการครอบครองเป็นอาทิตย์หน้า 

ผมจึงต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลขังจำเลยไว้ จนกว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะส่งมอบการครอบครองเสร็จสิ้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 352

เพราะหากปล่อยตัวจำเลยออกมาในตอนนี้ จำเลยก็จะกลับเข้าไปครอบครองทรัพย์สินที่พิพาทอีก แล้วผมก็คงจะต้องมานั่งจับจำเลยอีกรอบนึงไม่จบอยู่อย่างนี้ 

บังคับคดีขับไล่ เคสไม่ออกจากอสังหาริมทรัพย์ ละอองดาว_page-0006

สุดท้าย จำเลยจึงต้องถูกคุมขังอยู่ต่ออีกหลายวัน เพื่อรอการส่งมอบทรัพย์สินเสร็จสิ้น 

สาเหตุของคดีนี้เกิดจากการที่จำเลย เป็นคนดื้อไม่ยอมเชื่อฟังผู้อื่น เมื่อคดีแพ้จนถึงที่สุดแล้วก็ยังไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาท

 ประกอบกับได้คนยุยงส่งเสริม บอกว่าให้สู้คดีต่อได้เลยทั้งๆที่คดีถึงที่สุดไปแล้ว จึงได้พบจุดจบเป็นแบบนี้ แทนที่จะได้เงินค่าขนย้ายหลายหมื่นบาทกับจะต้องติดคุกอยู่หลายวัน 

ผมจึงได้นำตัวอย่างการบังคับคดีขับไล่ในทางปฏิบัติมาให้เพื่อนๆที่สนใจได้ศึกษา และได้เห็นภาพทางปฏิบัติโดยรวมในการทำงานครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆและผู้สนใจครับ

สรุป

การบังคับคดีขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอสังหาริมทรัพย์ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นตอนไว้อย่างชัดเจน

หากจำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ไปแล้ว ก็สามารถดำเนินการให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งการครอบครองทรัพย์สินได้เลย

หากจำเลยยังไม่ยอมออก ก็สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานศาลเพื่อขอออกหมายจับ และจับจำเลยไปคุมขังไว้

ระหว่างนั้นเราก็กลับเข้าไปครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้ทันที

ดังนั้นหากเราเข้าใจข้อกฎหมายและเทคนิคทางปฏิบัติ การบังคับคดีขับไล่ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts