เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถตรวจสอบบัญชีเงินฝากในธนาคารของลูกหนี้ เพื่อใช้ตั้งเรื่องยึดทรัพย์ได้หรือไม่ ?
ในคดีเกี่ยวกับเรื่องการฟ้องร้องเรียกให้ชำระหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ชนะคดีในชั้นศาลแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่จะดำเนินการเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ก็สืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อยึดเอามาชำระหนี้ต่อไป เพราะหากไม่ดำเนินการบังคับคดี คำพิพากษาที่ได้มาก็มีค่าแค่เศษกระดาษเท่านั้น
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทรัพย์สินที่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย ได้แก่ ทรัพย์สินประเภทบ้าน ที่ดิน รถยนต์ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวนั้นเมื่อยึดได้มาแล้ว ก็จะต้องมีการนำเอาไปขายทอดตลาดนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต่อไป ซึ่งบางครั้งกว่าจะขายทรัพย์ได้ก็ใช้เวลานานมาก อีกทั้งทรัพย์สินประเภทรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เองการตามยึดก็ต้องใช้ทุนทรัพย์ และเวลาจำนวนมาก ตั้งแต่การสืบหาว่ารถยนต์นั้นอยู่ที่ใด ค่าช่างกุญแจรถยนต์ ค่ารถลาก ค่าเก็บรักษา ค่าจ้างตำรวจและคนคุ้มกันระหว่างทำการยึดรถยนต์ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้การบังคับคดีเป็นไปโดยลำบาก แต่ยังมีทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่สามารถทำการยึดอายัดได้โดยง่าย นั่นคือบัญชีเงินฝากธนาคารต่างๆของลูกหนี้
แต่ปัญหาก็คือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะสามารถสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีบัญชีเงินฝากอยู่ในธนาคาร โดยอาศัย พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ได้หรือไม่ ?
ซึ่งก่อนอื่นต้องบอกว่าธนาคารที่จะตกอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 นั้นเฉพาะธนาคารที่เป็นรัฐ หรือ เป็นรัฐวิสาหกิจ เท่านั้น ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 4 ดังนั้นธนาคารเอกชนต่างๆจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของกฎหมายนี้แต่อย่างใด ดังนั้นธนาคารเอกชนจึงมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ได้ ซึ่งธนาคารต่างๆที่ตกอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทย เป็นต้น
ธนาคารดังกล่าวเหล่านี้ มีหน้าที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด แต่บัญชีเงินฝากของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น จะถือว่าเป็นข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐมีสิทธิไม่เปิดเผยตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร มาตรา 15 ได้หรือไม่นั้น มีแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ที่ สค 129/2550 วางหลักไว้ว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยให้เหตุผลว่า
“ ข้อมูลข่าวสารที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอ คือบัญชีเงินฝากของลูกหนี้ จำนวน 3 ราย ว่าบุคคลทั้ง 3 มีบัญชีเงินฝากประเภทใด เลขบัญชีใด สาขาใด และมีเงินฝากเป็นจำนวนเท่าใด เป็นข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ผู้อุทธรณ์ต้องการทราบข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเพื่อบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นหนี้อันเกิดจากการประกอบธุรกิจของผู้อุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์จึงควรจัดระบบหลักประกันการชำระหนี้ให้มีประสิทธิภาพ และในกรณีนี้ไม่มีเหตุอันสมควรที่ผู้อุทธรณ์จะได้ทราบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลดังกล่าว เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนแต่อย่างใด การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงเป็นการรุกล้ำสิทธิของเจ้าของข้อมูลโดยไม่สมควร นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 กำหนดห้ามิให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าที่อยู่ในความครอบครองของธนาคาร เพราะอาจมีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของธนาคารได้ แม้ว่าจะเป็นธนาคารของรัฐก็ตาม ดังนั้นเมื่อพิเคราะห์ถึงหลักการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว ข้อมูลข่าวสารที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอ จึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่อาจเปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้ “
ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวเท่าไหร่ เนื่องจากเห็นว่า การผลักภาระให้แก่เจ้าหนี้ให้หาหลักประกันอันสมควรเอาเองในการประกอบธุรกิจ แทนที่จะให้โอกาสเจ้าหนี้สืบทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โดยนัยยะ เป็นการเปิดช่องและสนับสนุนให้ลูกหนี้หลบเลี่ยงการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล และมีผลเกี่ยวเนื่องทำให้คำพิพากษาของศาลไม่ศักสิทธิ์และทำให้กระบวนการยุติธรรมทางแพ่งขาดประสิทธิภาพ โดยมีข้อสังเกต คือ หากหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเป็นหนี้อย่างอื่น ที่ไม่ใช่หนี้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ เช่น หนี้มูลละเมิด หนี้ที่เกิดจากการกระทำผิดอาญา เช่นการยักยอก ฉ้อโกง หนี้ที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย เช่นหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าทดแทน ค่าเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายครอบครัว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่างๆเหล่านี้ น่าจะใช้สิทธิตรวจสอบบัญชีเงินฝากของลูกหนี้ได้ ซึ่งหากธนาคารปฎิเสธไม่เปิดเผย ทนายความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็ควรใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ธนาคารมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูล ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 18 เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป