ค่าเลี้ยงดูบุตร คืออะไร ?
ธรรมดาแล้วบิดาและมารดาย่อมมีหน้าที่ในการให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ ตั้งแต่เด็กเริ่มคลอดจนกระทั่งเด็กบรรลุนิติภาวะ (ป.พ.พ.1564 )
ในกรณีที่บิดาหรือมารดาอีกฝ่าย ไม่ยอมส่งเสียหรือให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตามหน้าที่ของตน
การบังคับบิดามารดามาให้มาทำการอุปการะเลี้ยงดูบุตรและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ไม่สามารถทำได้โดยสภาพ
ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้ คือการเรียก ” ค่าเลี้ยงดูบุตร ” หรือที่ตามกฎหมายเรียกว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดู เอาจากบิดามารดาที่ไม่ยอมปฎิบัติตามหน้าที่ (ป.พ.พ.1958/38 )
ซึ่งวันนี้ผมได้รวบรวมคำถาม-คำตอบที่พบบ่อย ในการฟ้องคดีเพื่อเรียก ค่าเลี้ยงดูบุตร เพื่อไว้เป็นข้อมูลสำหรับผู้สนใจครับ
ใครเป็นผู้มีอำนาจฟ้องเรียก ค่าเลี้ยงดูบุตร ?
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1562 ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้
มาตรา 1565 การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา 1562 แล้ว บิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้
คำอธิบาย
กรณีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบิดา-มารดา บุตรไม่มีสิทธิจะไปฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากบิดา-มารดาได้โดยตรง เนื่องจากกฎหมายห้ามมิให้บุตรฟ้องคดีเอาแก่บิดามารดาของตน ( คดีอุทลุม )
คดีอุทลุม คืออะไร ? คำอธิบายเรื่องอุทลุม ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิช มาตรา1562 ฉบับครบถ้วนสมบูรณ์
ดังนั้นการฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร จะต้องร้องขอให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีแทนตน หรืออาจให้บิดามารดาอีกฝ่ายหนึ่งที่ดูแลบุตรอยู่ ดำเนินการฟ้องร้องเอาแก่บิดามารดาที่ไม่ยอมส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูก็ได้
ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมใช้วิธีให้บิดาหรือมารดาที่ดูแลเด็กเป็นคนฟ้องมากกว่าการขอให้อัยการเป็นผู้ฟ้อง เพราะมีความสะดวกรวดเร็วมากกว่า
แต่ในกรณีที่บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบิดาเพื่อขอรับรองบุตรหรือฟ้องให้รับว่าเป็นบุตร พร้อมกับเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรมาด้วย กฎหมายวางหลักไว้โดยเฉพาะว่า การรับรองบุตร ให้บุตรสามารถฟ้องคดีบิดาเองได้โดยไม่เป็นคดีอุทลุม
ดังนั้นการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ที่ทำพร้อมการฟ้องขอให้รับรองบุตร เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน จึงไม่เป็นคดีอุทลุมไปด้้วย (ฎ.2268/2533)
สรุป
การฟ้องคดีเพื่อเรียก ค่าเลี้ยงดูบุตร โดยหลักแล้ว ควรให้บิดาหรือมารดาผู้ที่เป็นฝ่ายที่เลี้ยงดูบุตรเป็นผู้ฟ้องจะสะดวกที่สุด
ภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส/บุตรนอกกฎหมาย จะฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรจากบิดาได้หรือไม่ ?
กรณีสามีภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันบุตรย่อมถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่ฝ่ายเดียว ไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา
การที่บิดาจะถือว่าเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องผ่านกระบวนการจดทะเบียนรับรองบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร หรือบิดามารดาได้มาจดทะเบียนสมรสภายหลัง อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความด้านล่าง
ขั้นตอนการจดทะเบียนรับรองบุตร – การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร ฉบับเข้าใจง่าย
การฟ้องบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ผู้ฟ้องคดีสามารถฟ้องขอให้รับรองบุตรไปพร้อมกันด้วยในคดีเดียวกันเพื่อความรวดเร็ว โดยไม่มีความจำเป็นจะต้องฟ้องขอรับรองบุตรก่อนแล้วจึงค่อยมาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทีหลัง (ฎ.1998/2519)
สรุป
ถึงไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ก็สามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากบิดาได้ โดยการยื่นฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไปพร้อมกับการฟ้องรับรองบุตรเป็นคดีเดียวกัน
ขั้นตอนการฟ้องเป็นอย่างไร ?
คดีประเภทนี้จะต้องฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัว โดยคุณอาจยื่นฟ้องคดีด้วยตนเอง โดยให้เจ้าหน้าที่ศาลช่วยดำเนินการให้ก็ได้ หรือให้ทนายความเป็นคนยื่นฟ้องให้ก็ได้
แต่อย่างไรก็ตามทางปฏิบัติแนะนำเป็นอย่างยิ่งว่า ควรจะให้ทนายความเป็นผู้ฟ้องร้องดำเนินคดีจะดีที่สุด
ธรรมดาแล้วคดีประเภทนี้เป็นคดีที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เมื่อคุณเซ็นสัญญาว่าจ้างทนายความเพื่อยื่นฟ้องแล้ว จะใช้เวลาเตรียมคำฟ้องไม่นานไม่เกิน 7 วัน ทนายความก็สามารถยื่นฟ้องได้
หลังจากทนายความยื่นฟ้องแล้ว ศาลจะนัดขึ้นศาลครั้งแรกเพื่อทำการไกล่เกลี่ยกัน ประมาณ 2 เดือนนับจากวันที่ยื่นฟ้อง
โดยก่อนวันนัดที่จะไปศาลนั้น ทนายความจะทำการนัดหมายกับเจ้าหน้าที่สถานพินิจ เพื่อนัดหมายตัวบิดาหรือมารดา ผู้เลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และตัวผู้เยาว์ไปให้การต่อสถานพินิจ
ธรรมดาแล้วคดีเรื่องเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นเท่าที่ผมทำมาประมาณเกินกว่า 90% มักจะจบกันที่การเจรจาไกล่เกลี่ยในนัดแรกหรือนัดที่ 2 ไม่ค่อยมีคดีไหนที่จะไปถึงขั้นจะต้องสืบพยานต่อสู้กัน
เพราะธรรมดาแล้วหากผมเป็นฝ่ายโจทก์ผมก็พยายามจะบอกกับฝ่ายโจทก์ว่าให้เรียกเงินในจำนวนอัตราที่เหมาะสมและพอสมควรไม่เรียกร้องให้มากเกินไป
หากเป็นฝ่ายจำเลยผมก็จะพยายามพูดคุยว่าให้ส่งมอบเงินค่าเลี้ยงดูให้กับฝ่ายโจทก์ตามเหมาะสมควรอย่าคิดต่อสู้คดีหรือจะไม่ชำระ เพราะอย่างไรก็เป็นลูกของเรา
ดังนั้นแล้วในคดีประเภทนี้จึงมักจะไม่ค่อยได้ต่อสู้คดีอย่างยืดเยื้อกันสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถคุยกันจบก็จะเข้าสู่กระบวนการสืบพยานต่อไป ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมถึงกระบวนการดำเนินคดีแพ่งได้ในบทความนี้ครับ
ใช้เวลานานไหม
อย่างที่บอกไปแล้วว่าคดีเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นมักจะจบกันได้ โดยเฉพาะคดีที่ผมทำนั้นมากกว่า 90% มักจะจบในชั้นไกล่เกลี่ย
ดังนั้นแล้วโดยเฉลี่ยแล้วคดีประเภทนี้ผมมักจะจบคดีได้ในเวลาประมาณ 2 ถึง 4 เดือนครับ เพราะมักจะเจรจาจบในนัดแรกหรือนัดที่สอง
แต่หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ การต่อสู้คดีตั้งแต่เริ่มคดีจนกระทั่ังคดีถึงที่ จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน – 2 ปี ขึ้นอยู่กับรูปคดีครับ
ต้องขึ้นศาลกี่ครั้ง
ธรรมดาแล้วหาคดีสามารถตกลงกันได้คุณจะต้องเดินทางประมาณ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือไปสถานพินิจส่วนครั้งที่ 2 คือไปศาล
แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ต้องขึ้นศาลสืบพยานเพื่อต่อสู้คดีซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ครั้งโดยรวมตั้งแต่เริ่มจนเสร็จคดี
ค่าเลี้ยงดูบุตร เรียกได้เท่าไหร่ ?
ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นกฎหมายไม่ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ตายตัวว่าจะต้องกำหนดเป็นตัวเลขเท่าไหร่
ธรรมแล้วศาลจะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรโดยคำนึงถึงฐานะทางการเงินและรายได้ของบิดามารดาและบุตร รายจ่ายตามความเป็นจริงและจำเป็นของบิดามารดาและบุตร
ซึ่งย่อมแตกต่างกันไป ตามอายุ ระดับการศึกษา สภาพของสังคมว่าอยู่ในเมืองหรือชนบท และพฤติการณ์อื่นๆแห่งคดี ประกอบกัน
( ตัวอย่างเช่น ฎ.1393/2495 , ฎ.303/2488 , ฎ.3596/2546 , ฎ.1605/2534 , ฎ.5554/2531 , ฎ.4141/2535 , ฎ.9017/2538)
โดยสรุปแล้วหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร โดยสังเขปคือ
- ฐานะ อาชีพ รายได้ และความสามารถของจำเลย
- สถานะ อาชีพ รายได้ ของบิดาหรือมารดาฝ่ายที่เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์
- สถานะอาชีพรายได้ของบุตรผู้เยาว์
- ความจำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวันการศึกษาตามสมควรแก่ฐานานุรูป
ตามธรรมดาแล้วที่เห็นต่ำที่สุดจะอยู่ตัวเลขประมาณ 5,000 บาท ในกรณีที่จำเลยเป็นพนักงานหาเช้ากินค่ำ หรือสูงสุดเท่าที่เห็นอาจจะอยู่ที่ 70,000 บาท กรณีทีฝ่ายจำเลยเป็นชาวต่างชาติและมีรายได้เป็นจำนวนมาก ่จำเลยเป็นชาวต่างชาติหรือผู้บริหารที่มีรายได้เป็นจำนวนมาก
นอกจากการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแล้ว ศาลอาจกำหนดให้บุตรได้รับการอุปการะ เลี้ยงดูโดยประการใด ๆ นอกจากที่คู่กรณีตกลงกัน หรือนอกจากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอก็ได้
เช่นให้ไปอยู่ในสถานการศึกษาหรือวิชาชีพ โดยให้บิดามารดาผู้ที่มีหน้าที่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูออกค่าใช้จ่ายในการนี้ หรือให้ผู้เยาว์เป็นผู้ได้รับประโยชน์ในกิจการของบิดา หรือให้บิดามารดาออมเงินฝากไว้จำนวนหนึ่งในบัญชีของบุตร
ซึ่งกฎหมายกำหนดขอบเขตนี้กว้างขวางและน่าสนใจมากในทางปฎิบัติ ซึ่งในส่วนนี้เป็นกฎหมายใหม่ที่น่าสนใจ ที่ทนายความและศาลควรนำมาปรับใช้ตามสมควรแก่รูปคดีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เยาว์
(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/38 มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 )
เรียกเงินค่าเลี้ยงดูบุตรได้จนเด็กอายุกี่ปี ?
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์
บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้
คำอธิบาย
ค่าเลี้ยงดูบุตรนั้นสามารถเรียกได้จนกระทั่งบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ซึ่งผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะต่อเมื่อครบอายุ 20 ปี หรืออาจจะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้นก็ได้ หากไม่มีการจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย
ยกเว้นแต่บุตรที่บรรลุนิติภาวะนั้น ทุพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ เช่น พิการ หรือ ผิดปกติทางสมอง เช่นนี้บิดามารดามีหน้าจะต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรต่อไปจนกว่าบุตรจะพ้นจากอาการดังกล่าว หรือฝ่ายดังใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการที่บิดามารดาส่งเสียถึงอายุ 20 ปี อาจจะไม่เพียงพอตามสภาพแห่งความเป็นจริง
เพราะธรรมดาแล้วทุกวันนี้เด็กแทบจะทุกคนต้องการที่จะศึกษาจนจบชั้นปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ ดังนั้นในคดีฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรอาจจะสามารถตกลงกันได้ว่าจะอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จนถึงจบปริญญาตรีก็ได้
เรียกค่าเลี้ยงดูบุตรเป็นเงินก้อนครั้งเดียวเลยได้ไหม ?
ข้อกฎหมาย
มาตรา 1598/40 ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นให้ชำระเป็นเงินโดยวิธีชำระ เป็นครั้งคราวตามกำหนด เว้นแต่คู่กรณีจะตกลงกันให้ชำระเป็นอย่างอื่น ถ้าไม่มีการตกลงกันและมีเหตุพิเศษ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอและ ศาลเห็นสมควรจะกำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นอย่างอื่นหรือโดย วิธีอื่น โดยจะให้ชำระเป็นเงินด้วยหรือไม่ก็ได้
คำอธิบาย
ธรรมดาแล้วค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นศาลจะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงงดูบุตรให้เป็นรายงวดไป เช่นทุกเดือน ทุกสามเดือน หรือทุกปี ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมและสอดคล้องกับรายได้ของบิดามารดาผู้มีหน้าที่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู
ยกเว้นคู่ความจะตกลงกันให้จ่ายเป็นเงินก้อนเดียวครั้งเดียว ด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายหากคู่ความไม่ตกลงกันศาลจะกำหนดให้ชำระเป็นเงินก้อนเดียวครั้งเดียวไมได้
ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลสองประการคือ
1.ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นเป็นหนี้ที่ไม่แน่นอนอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม การลด หรืออาจระงับไปด้วยความตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
2.การชำระเงินเป็นก้อนในครั้งเดียวอาจทำให้เงินนั้นหมดไปโดยเร็ว ไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้เยาว์ จึงไม่สมควรที่ศาลจะกำหนดเงินดังกล่าวให้เป็นก้อนในคราวเดียว เว้นแต่คู่ความประสงค์เช่นนั้น
อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ในบทความ เรื่อง “การเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรเป็นเงินก้อนคราวเดียวเยอะๆ ทำได้หรือไม่ ? “
เรียกค่าเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังได้ไหม ?
หน้าที่ในการ ให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรของบิดามารดานั้นเกิดขึ้นตั้งแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารกจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะหรือถึงแก่ความตาย
ดังนั้นแล้วในการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้ฟ้องคดีย่อมสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังตั้งแต่เด็กเกิดได้ หากบิดาหรือมารดาไม่เคยให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรเลย
แต่อย่างไรก็ตาม นี่เข้าประการะเลี้ยงดูบุตรนั้นมีอายุความเพียง 5 ปีเท่านั้น ดังนั้นหากจำเลยเข้ามาต่อสู้คดีและให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องอายุความก็จะสามารถเรียกค่าบริการรับเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังได้เพียง 5 ปีเท่านั้น
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2697/2548 การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไปซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12
สรุป ฟ้องย้อนหลังได้ แต่มีอายุความ 5 ปี
ทำข้อตกลงกันแล้ว หรือศาลตัดสินไปแล้ว สามารถขอปรับเพิ่มหรือลดเงิน ค่าเลี้ยงดูบุตร ได้ไหม ?
ข้อกฎหมาย
มาตรา 1598/39 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้
ในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเหตุแต่เพียงอีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ในขณะนั้น หากพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้องอาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งในคดีนั้นใหม่ได้
คำอธิบาย
หากศาลกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายงวดและภายหลังหากปรากฏว่า ฐานะทางการเงินของบิดามารดาหรือฐานะหรือความจำเป็นในการใช้เงินของบุตร หรือพฤติการณ์อื่นๆแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
ผู้มีส่วนได้เสีย เช่นตัวบิดามารดาหรือตัวบุตร ก็อาจยื่นคำร้องแสดงหลักฐานต่อศาล เพื่อให้ศาลก็อาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูใหม่ โดยอาจกำหนดให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้
ซึ่งก็เป็นการยุติธรรม เพราะบางครั้งเมื่อเวลาผ่านไป บิดาหรือมารดามีรายได้มากขึ้น และบุตรมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น การกำหนดอัตราค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่าเดิมตลอดไปย่อมไม่มีความยุติธรรมกับตัวบุตรผู้เยาว์
ในทางกลับกัน หากบิดาหรือมารดานั้นมีความฝืดเคืองทางการเงิน หรือตัวบุตรหรือมีฐานะทางเงินดีขึ้น สามารถทำมาหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว การที่จะให้บิดามารดานั้นจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูในอัตราเท่าเดิมตลอดไปย่อมไม่เป็นธรรมต่อตัวบิดามารดา
ตัวอย่าง
ดูตัวอย่างการขอปรับเพิ่ม-ลด ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ในบทความเรื่อง “ตัวอย่างการปรับเพิ่ม-ลด ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรภายหลังศาลมีคำพิพากษา”
หากตกลงกันแล้วหรือศาลพิพากษาแล้วไม่ยอมจ่ายต้องทำยังไง
หากศาลพิพากษาให้จ่ายแล้วจำเลยไม่ยอมจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมาย ฝ่ายโจทก์ย่อมสามารถดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สิน ของจำเลยเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ตัวอย่างเช่นยึดบ้าน ยึดรถ อายัดเงินเดือน อายัดเงินฝากในบัญชี อายัดหุ้น อายัดทรัพย์สินต่างๆ
ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น หากบิดามารดาเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการ โจทก์ก็สามารถยึดอายัดเงินเดือนหรือเงินอื่นๆ เช่น บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด ที่ทางราชการจ่ายให้แแก่บิดามารดาได้
ซึ่งเป็นข้อยกเว้นหลักกฎหมายทั่วไปที่ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดหรืออายัดเงินเดือนของข้าราชการหรือลูกจ้างของราชการ ทั้งนี้เนื่องจากหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูมีลักษณะเป็นหนี่้ที่เกิดขึ้นจากหน้าที่ตามกฎหมาย และเป็นหนี้ทีความสำคัญต่อตัวบุตรผู้เยาว์มาก (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนฯ มาตรา 154 มาตรา 155 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 286)
นอกจากนี้หากฝ่ายจำเลยจงใจไม่ยอมจ่ายโดยไม่มีเหตุผล ทั้งๆที่ตนเองมีความสามารถที่จะจ่ายได้ จำเลยอาจจะถูกศาลเรียกมาตักเตือน ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาและหากยังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาอีก อาจถูกจับกุมกักขังได้ ตาม มาตรา 162 ของ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชน์
ข้อกฎหมาย
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553มาตรา 162
ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำเงินมาวางศาลตามเงื่อนไข หรือระยะเวลาที่ศาลกำหนด ในกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษามีรายได้ประจำ ศาลอาจสั่งให้อายัดเงินเท่าจำนวนที่จะชำระเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือค่าเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน แล้วให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินดังกล่าวนำเงินมาวางศาลแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา
เมื่อความปรากฏต่อศาลเองหรือผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพร้องต่อศาลว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลเรียกตัวมาสอบถาม หากปรากฏเป็นความจริงให้ศาลว่ากล่าวตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
ในกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของศาลตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจออกหมายจับและสั่งให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้จนกว่าลูกหนี้จะนำเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพมาชำระหรือวางศาล แต่ห้ามมิให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ละครั้งเกินกว่าสิบห้าวันนับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว
ค่าทนายความอยู่ที่เท่าไหร่ ต้องเสียเงินในการฟ้องคดีสักเท่าไหร่
คดีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นคดีที่ไม่ยากและไม่ซับซ้อน แล้วส่วนใหญ่จะจบลงได้ด้วยการเจรจามากกว่าการต่อสู้คดีกัน
ซึ่งค่าทนายความของแต่ละสำนักงานย่อมมีหลักเกณฑ์ในการคิดที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับผมเองในคดีประเภทนี้จะคิดค่าวิชาชีพไม่สูงมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นคดีที่ไม่ยากและใช้เวลาการทำงานไม่นาน อีกทั้งมักจะเกิดความเห็นใจบิดาหรือมารดาฝ่ายที่เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรแต่เพียงผู้เดียว
ดังนั้นในกรณีที่ลูกความเป็นคนไทยผมมักจะคิดค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 25,000-30,000 บาท ครับ
ส่วนค่าธรรมเนียม ค่าส่งหมาย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติมทั้งสิ้นครับ